การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายอาทิตย์ต้องการซื้อภาพวาดจากงานประมูล Art and Design เพื่อนํามาใช้ตกแต่งอาคาร สํานักงานใหม่ของตน ซึ่งภาพวาดที่นายอาทิตย์สนใจนั้นมีหลายภาพ และเป็นภาพที่ผู้จัดงาน ประมูลให้รายละเอียดว่าเป็นของศิลปินผู้สร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงนามว่า “นายศิลปะ สรรสร้าง”ที่ขณะนี้ถึงแก่กรรมไปแล้ว นายอาทิตย์ทราบว่านายสดใสที่เป็นเพื่อนของตนนั้นเป็นจิตรกร และยังเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของนายศิลปะ สรรสร้าง อีกด้วย จึงโทรศัพท์ไปติดต่อขอให้นายสดใส ช่วยเข้าร่วมประมูลภาพวาดของนายศิลปะ สรรสร้าง ที่มีทั้งหมดห้าภาพในงานครั้งนี้แทนตน และตกลงให้บําเหน็จภาพละ 10,000 บาท ในวันประมูลนายสดใสไปที่งานประมูลสาย ทําให้ ไม่สามารถเห็นภาพวาดก่อนการประมูลและไม่สามารถประมูลภาพวาดสองภาพแรกได้ทัน แต่นายสดใสได้ประมูลภาพวาดของนายศิลปะ สรรสร้าง อีกสามภาพที่เหลือในราคาภาพละ 250,000 บาท หลังจากงานประมูล นางสาวแสงจันทร์เห็นว่านายสดใสสนใจภาพวาดของ นายศิลปะ สรรสร้าง จึงเสนอขายภาพที่ตนประมูลได้สองภาพแรกในราคาภาพละ 250,000 บาท จากราคาที่ตนประมูลได้มา 200,000 บาท นายสดใสตกลงซื้อและชําระราคา เพราะเห็นว่า ถ้าไม่รีบตกลง นายอาทิตย์จะไม่มีภาพไปตกแต่งอาคารสํานักงาน หรือนางสาวแสงจันทร์อาจจะ เปลี่ยนใจในภายหลัง ประกอบกับนายอาทิตย์เองก็มอบอํานาจให้นายสดใสเข้าซื้อภาพเหล่านี้แทน อยู่แล้ว และตนได้เห็นภาพที่นางสาวแสงจันทร์ประมูลได้ จึงแน่ใจว่าเป็นของนายศิลปะ สรรสร้าง จริง ต่อมานายสดใสได้นําภาพทั้งหมดไปส่งมอบให้นายอาทิตย์ แต่พบว่าภาพหนึ่งในสามที่ได้จาก การประมูลไม่ใช่ภาพที่เป็นผลงานของนายศิลปะ สรรสร้าง เป็นเพียงภาพเลียนแบบเท่านั้น และ บุคคลที่ดูงานศิลปะเป็นประจําสามารถรู้ได้ทันที ดังนี้ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏข้างต้น นายสดใส ทําชอบด้วยหน้าที่ของการเป็นตัวแทนหรือไม่ และมีสิทธิได้รับบําเหน็จหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 807 “ตัวแทนต้องทําการตามคําสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคําสั่ง
เช่นนั้น ก็ต้องดําเนินตามทางที่เคยทํากันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทําอยู่นั้น….

มาตรา 818 “การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทํามิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บําเหน็จ”

มาตรา 823 “ถ้าตัวแทนกระทําการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอํานาจก็ดี หรือทํานอกทําเหนือ
ขอบอํานาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเอง เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือทํานอกเหนือขอบอํานาจ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ได้มอบหมายให้นายสดใสเป็นตัวแทนไปประมูลภาพวาด ของนายศิลปะ สรรสร้าง ที่มีทั้งหมด 5 ภาพแทนตน เพราะเห็นว่านายสดใสเป็นจิตรกร และยังเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด ของนายศิลปะ สรรสร้างนั้น นายสดใสจึงต้องทําหน้าที่ตัวแทนในการเข้าประมูลภาพวาดทั้ง 5 ภาพ โดยใช้ความ ระมัดระวังในการพิจารณาเช่นคนที่เป็นจิตรกรและลูกศิษย์ใกล้ชิดของศิลปินพึงกระทํา ดังนั้น การที่นายสดใส ไปที่งานประมูลสายทําให้ไม่สามารถเห็นภาพวาดก่อนการประมูล ทําให้ได้ภาพเลียนแบบมา 1 ภาพ จึงเป็นการ กระทําไม่ชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 807 แล้ว และนอกจากนี้การที่นายสดใสได้ซื้อภาพวาดอีก 2 ภาพ ที่ตนเข้าร่วมการประมูลไม่ทันจากนางสาวแสงจันทร์ก็ถือว่าเป็นกรณีของการไม่ทําตามคําสั่งของตัวการ ซึ่งเป็น การกระทําไม่ชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 807 ที่ให้เข้าร่วมประมูลภาพทั้ง 5 ภาพ และยังเป็นการกระทํา นอกเหนือขอบอํานาจที่ตัวการได้ให้ไว้ตามมาตรา 823 วรรคหนึ่งอีกด้วย

สําหรับกรณีที่นายสดใสมีสิทธิจะได้รับบําเหน็จที่นายอาทิตย์ตกลงให้ภาพละ 10,000 บาท หรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้คือ

1 กรณีภาพวาดทั้ง 3 ภาพที่นายสดใสเข้าประมูลด้วยตนเองนั้น เมื่อปรากฏว่าได้ภาพเลียนแบบ มา 1 ภาพ เพราะนายสดใสไม่ได้ดูภาพวาดที่มีการนําเข้าประมูลก่อน ทั้งที่บุคคลที่ดูงานศิลปะเป็นประจําสามารถ รู้ได้ทันที จึงเป็นการที่ไม่ใช้ความระมัดระวังในการทําหน้าที่ตัวแทน ซึ่งเป็นการทํามิชอบด้วยหน้าที่ นายสดใส จึงไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จในส่วนนี้ตามมาตรา 818 คงได้บําเหน็จเฉพาะภาพวาดที่ประมูลได้อีก 2 ภาพ เป็นเงิน 20,000 บาทเท่านั้น

2 กรณีภาพวาดอีก 2 ภาพ ที่นายสดใสได้ซื้อจากนางสาวแสงจันทร์นั้น เมื่อนายสดใสไม่ได้ซื้อ จากการประมูลตามคําสั่งของนายอาทิตย์ จึงเป็นการทํามิชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนทําให้ไม่ได้รับบําเหน็จใน ส่วนนี้เช่นกันตามมาตรา 818

สรุป

นายสดใสได้ทําการมิชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนในการประมูลภาพเลียนแบบ 1 ภาพ และ ภาพวาดที่ซื้อจากนางสาวแสงจันทร์อีก 2 ภาพ จึงไม่ได้รับบําเหน็จในส่วนนี้ แต่มีสิทธิได้รับบําเหน็จจากการประมูล ภาพวาดอีก 2 ภาพ เป็นเงิน 20,000 บาท

ข้อ 2 นายเอกเป็นผู้ผลิตรองเท้าวิ่งมาราธอนของตน รุ่น SEA-148 ได้ส่งมอบรองเท้าดังกล่าวจํานวน 100 คู่ ไปให้นายโทซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า “มิววอกกี้” โดยมีข้อตกลงกันว่าให้ขาย ในราคาคู่ละ 5,000 บาท หากขายรองเท้าได้จะให้บําเหน็จแก่นายโทคู่ละ 1,000 บาท และให้ สัญญานี้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกําหนดสัญญานายโทแจ้งว่า รองเท้าจํานวน 10 คู่ เสียหายเนื่องจากถูกหนูกัด จึงไม่สามารถขายได้ และนายโทได้ขายรองเท้า ในราคา 4,500 บาท ไปจํานวน 10 คู่ ให้กับนายตรีซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของนายโท ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก สัญญาระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาประเภทใด มีลักษณะสําคัญอย่างไร

ข ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในรองเท้าจํานวน 10 คู่ ที่ถูกหนูกัด จงอธิบาย

ค นายโทสามารถขายรองเท้าให้นายตรีจํานวน 10 คู่ ในราคาคู่ละ 4,500 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 659 วรรคสาม “ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จําต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขาย
หรืออาชีวะอย่างนั้น”

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา 837 “ในการที่ตัวแทนค้าต่างทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่น
ต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย”

มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ําไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ เป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”

มาตรา 842 วรรคหนึ่ง “เมื่อใดเขามอบหมายทรัพย์สินไว้แก่ตัวแทนค้าต่าง ท่านให้นําบทบัญญัติ ทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะฝากทรัพย์มาใช้บังคับอนุโลมตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้ผลิตรองเท้าวิ่งมาราธอนของตนรุ่น SEA-148 ได้ส่งมอบรองเท้า ดังกล่าวจํานวน 100 คู่ ไปให้นายโทซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า “มิววอกกี้” โดยมีข้อตกลงกันว่าให้ขาย ในราคาคู่ละ 5,000 บาท หากขายรองเท้าได้จะให้บําเหน็จแก่นายโทคู่ละ 1,000 บาทนั้น สัญญาระหว่างนายเอก

และนายโทเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่างตามมาตรา 833 ซึ่งเป็นสัญญาที่ตัวแทนค้าต่างทําการค้าขาย หรือประกอบ กิจการค้าอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ ทั้งนี้ ตัวการค้าต่างยังเป็นผู้มีสิทธิในสัญญาหรือต้องผูกพันตน ในสัญญาที่ทํากับบุคคลภายนอกด้วยตามมาตรา 837

ข. ตัวแทนค้าต่าง มีหน้าที่ในการใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินในระดับ ผู้มีวิชาชีพตามมาตรา 842 ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม ดังนั้น การที่นายโทเก็บรองเท้าไว้จึงต้องใช้ ความระมัดระวังในระดับผู้มีวิชาชีพการค้าขาย ซึ่งต้องเก็บรองเท้าไว้ให้ดีไม่ให้หนูเข้ามากัดทําลายสินค้าได้ แต่นายโทหาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นไม่ เมื่อรองเท้า 10 คู่เสียหายเนื่องจากถูกหนูกัดจึงไม่สามารถขายได้ นายโทจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 812

ค. การที่นายโทได้ขายรองเท้าให้แก่นายตรี 10 คู่ ในราคาคู่ละ 4,500 บาท ซึ่งต่ํากว่าราคาที่ ตัวการกําหนดนั้น ตามมาตรา 839 ได้กําหนดไว้ว่า หากตัวแทนรับใช้เศษที่ขาด ตัวการก็ต้องยอมรับการขาย ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อนายโทขายรองเท้าให้นายตรีในราคา 4,500 บาท นายโทย่อมสามารถทําได้ แต่นายโทต้องใช้ ส่วนที่ขาดคู่ละ 500 บาท จํานวน 10 คู่ ให้แก่นายเอก หากนายโทไม่ยอมชดใช้ส่วนที่ขาด นายเอกย่อมสามารถ เรียกให้นายโทชดใช้ส่วนที่ขาดได้ตามมาตรา 812

สรุป
ก สัญญาระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่าง
ข นายโทเป็นผู้รับผิดชอบในรองเท้าจํานวน 10 คู่ที่ถูกหนูกัด
ค นายโทสามารถขายรองเท้าให้นายตรีจํานวน 10 คู่ ในราคาคู่ละ 4,500 บาทได้ แต่นายโทต้องใช้ส่วนที่ขาดคู่ละ 500 บาทให้แก่นายเอก

ข้อ 3 นายปอ มอบหมายให้นายโป้งขายที่ดินพื้นที่ 50 ไร่ให้นายปอ ตกลงว่าจะให้บําเหน็จนายหน้า นายโป้งนําเสนอขายนายป้อ นายป้อตกลงซื้อ นายโป้งจึงนัดให้นายปอและนายป้อผู้ซื้อมาพบกัน และเข้าทําสัญญาต่อกัน แต่ภายหลังทําสัญญาการซื้อขายเลิกกันเนื่องจากนายป้อไม่มีเงินมาชําระ ค่าที่ดินส่วนที่เหลือ

ดังนี้ นายโป้งยังจะได้ค่าบําเหน็จนายหน้าหรือไม่ เพราะเหตุใด

อีกกรณีหนึ่ง นายปอมอบหมายนายโป้งให้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้ และตกลงว่าจะให้ บําเหน็จนายหน้า นายโป้งได้นําข้อมูลไปนําเสนอเพื่อขายให้แก่นายป้อ นายป้อตกลงซื้อแต่มี เงื่อนไขบังคับก่อนว่า “ต้องมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงที่ดินที่กําลังทําสัญญาจะซื้อจะขายก่อน เมื่อมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงเมื่อใด การซื้อขายนี้จึงจะสมบูรณ์

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางโป้งจะได้ค่านายหน้าหรือไม่ และเมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญาซึ่ง บุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ
ค่าบําเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่สัญญาที่ทํานั้น เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กฎหมายห้ามมิให้มีการ เรียกค่านายหน้าจนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสําเร็จแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นายปอมอบหมายให้นายโป้งขายที่ดินพื้นที่ 50 ไร่ให้นายปอ โดยตกลงว่าจะให้ บําเหน็จนายหน้านั้น เมื่อปรากฏว่านายโป้งนําเสนอขายนายป้อ นายป้อตกลงซื้อ นายโป้งจึงนัดหมายให้นายปอ และนายป้อผู้ซื้อมาพบกัน และเข้าทําสัญญากัน ดังนี้ ถือว่านายโป้งได้ทําหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาภายหลังทําสัญญาการซื้อขายเลิกกันเนื่องจากนายป้อไม่มีเงินมาชําระค่าที่ดินส่วนที่เหลือก็ตาม นายโป้ง ก็ยังจะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าอยู่ตามมาตรา 845 ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 517/2494

กรณีที่ 2 การที่นายปอมอบหมายนายโป้งให้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้ และตกลงว่าจะให้ บําเหน็จนายหน้า นายโป้งได้นําข้อมูลไปนําเสนอเพื่อขายให้แก่นายป้อ นายป้อตกลงซื้อ แต่มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า “ต้องมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงที่ดินที่กําลังทําสัญญาจะซื้อจะขายก่อน เมื่อมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงเมื่อใด การซื้อขายนี้จึงจะสมบูรณ์นั้น กรณีนี้ แม้ว่านายปอและนายป้อจะได้เข้าทําสัญญาซื้อขายกันแล้วก็ตาม แต่เมื่อ สัญญาซื้อขายนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน นายโป้งจึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้า นายโป้งจะได้รับค่านายหน้า ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นสําเร็จแล้ว คือ ที่ดินแปลงนั้นมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว ซึ่งจะมีผลทําให้ สัญญาซื้อขายนั้นมีผลสมบูรณ์

สรุป
กรณีที่ 1 นายโป้งยังจะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า
กรณีที่ 2 นายโป้งยังไม่ได้รับค่านายหน้า จะได้รับค่านายหน้าก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อน ที่กําหนดไว้ในสัญญาซื้อขายนั้นสําเร็จแล้ว

 

Advertisement