LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  หาญต้องการฆ่าพล  หาญเห็นพลนั่งอยู่  หาญชักปืนออกจากเอวยังไม่ทันยกปืนเล็งไปที่พล  นพเห็นเข้าจึงเข้าไปปัดปืนเพื่อช่วยพล  ปืนลั่นกระสุนไปถูกเก่งตาย  ดังนี้  หาญและนพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  หาญและนพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของหาญ 

การที่หาญต้องการฆ่าพล  และได้ชักปืนออกจากเอวแต่ยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่พลนั้น  ถือว่าหาญยังไม่ได้ลงมือกระทำต่อพล  หาญจึงยังไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าพล  ดังนั้น  หาญจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อพล

แต่อย่างไรก็ตาม  ปืนเป็นอาวุธร้ายแรงซึ่งหาญต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  การชักปืนออกมาของหาญเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาญก็มิได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  เมื่อผลไปเกิดกับเก่ง  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของหาญ  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  และไม่ถือว่าผลที่เกิดขึ้นกับเก่งนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  ตามมาตรา  60  ทั้งนี้เพราะหาญมิได้กระทำโดยเจตนาต่อนพ  และผลไปเกิดขึ้นกับเก่งโดยพลาดไปแต่อย่างใด  ดังนั้น  หาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่งเพราะได้กระทำโดยประมาท

กรณีของนพ 

การที่นพปัดปืนที่หาญชักออกมาจากเอวเพื่อช่วยพล  และทำให้ปืนลั่น  กระสุนไปถูกเก่งตายนั้น  นพไม่ได้กระทำโดยประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ  จึงไม่ถือว่านพมีเจตนากระทำต่อเก่ง  และการกระทำของนพถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว  จึงไม่ถือว่านพได้กระทำโดยประมาทต่อเก่ง  ดังนั้นนพจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง

สรุป  หาญต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  ฐานกระทำโดยประมาท  ส่วนนพไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  เพราะมิได้กระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาท

 

ข้อ  2  แสนและสดใสเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  วันหนึ่งแสนกลับเข้าบ้านเปิดประตูห้องนอน  เห็นกล้ากับสดใสกำลังร่วมประเวณีกันโดยสดใสยินยอม  แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้าได้รับบาดเจ็บ  และกระสุนปืนยังทะลุฝาห้องไปถูกเฉิดโฉมที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  ดังนี้  แสนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะยกเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของแสนจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

การที่แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้าได้รับบาดเจ็บในขณะที่กล้ากับสดใส  ภริยาของแสนกำลังร่วมประเวณีกันอยู่นั้น  การกระทำของแสนเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแสนจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้ว  แสนจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การกระทำของแสนถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของแสนจึงเป็นการกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  แสนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อกล้า  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  80

และเมื่อการที่แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้านั้น  กระสุนปืนยังได้ทะลุฝาห้องไปถูกเฉิดโฉมที่นอนอยู่ในห้องติดกันตาย  การกระทำของแสนต่อเฉิดโฉมนั้นถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาโดยพลาดไป  ตามมาตรา  60  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของแสนนั้นเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  จึงเป็นผลที่เกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  ตามมาตรา  60  ประกอบมาตรา  68  ดังนั้นแสนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเฉิดโฉม

สรุป  แสนไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อกล้าและเฉิดโฉม  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  แม้นทำสวนทุเรียนมีช้างป่าเข้ามาทำลายต้นทุเรียนเพื่อกินผลทุเรียน  แม้นใช้ไม้ไล่ตีช้างป่า  ช้างป่าได้เข้ามาทำร้ายแม้น  แม้นวิ่งหนี  ช้างไล่ตาม  แม้นเห็นบ้านแจ้งซึ่งปิดประตูไว้  แม้นคิดว่าถ้าเข้าไปหลบซ่อนตัวในบ้านหลังนั้น  จะพ้นจากการถูกช้างทำร้าย  แม้นจึงพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้าน  แจ้งกลับมาเห็นแม้นพังประตูบ้านของตน  เข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์  จึงใช้ไม้ตีถูกแม้นได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  แม้นและแจ้งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะยกเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้นและแจ้งจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของแม้น

การที่แม้นพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้านของแจ้ง  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแม้นจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์ของแจ้ง  ตามมาตรา  59  วรรคสอง และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แม้นพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้านของแจ้งก็เพื่อให้พ้นจากการถูกช้างทำร้าย  การกระทำของแม้นจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  เพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  ตามมาตรา  67(2)  ดังนั้น  แม้นจึงไม่ต้องรับโทษทางอาญา

กรณีของแจ้ง

การที่แจ้งใช้ไม้ตีถูกแม้นได้รับบาดเจ็บนั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแจ้งจึงเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แจ้งใช้ไม้ตีแม้นนั้นเป็นเพราะว่าแจ้งสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า  แม้นเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์จึงได้กระทำเพื่อป้องกันตนเอง  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และแม้ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ดังนั้นแจ้งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อแม้นตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรก

สรุป  แม้นต้องรับผิดทางอาญาต่อแจ้ง  ฐานกระทำต่อทรัพย์โดยเจตนา  แต่ได้กระทำความผิดด้วยความจำเป็น  จึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แจ้งไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อแม้น  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  แดนต้องการฆ่ากร  แดนไปดักยิงกร  แดงเห็นกรเดินมา  แดนยกปืนเล็งไปที่กร  ก่อนลั่นไกปืน  แดนเห็นลูกของกรเดินตามหลังกร แดนเกิดความสงสารลูกของกรที่ต้องขาดพ่อ  จึงเก็บปืนไม่ยิง  ดังนี้  แดนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  82  ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น  แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่แดนต้องการฆ่ากรและได้ยกปืนเล็งไปที่กรนั้น  ถือว่าแดนได้ลงมือกระทำต่อกรแล้ว  และเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ดังนั้น  แดนจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อกร  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่เมื่อแดนได้เกิดความสงสารลูกของกรที่ต้องขาดพ่อ  จึงเก็บปืนไม่ยิงกร  การกระทำของแดนจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  แดนจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามกระทำความผิดต่อกร  ตามมาตรา  80

แต่อย่างไรก็ตาม  การลงมือกระทำความผิดของแดนที่ได้กระทำไปไม่ตลอดนั้น  เป็นเพราะแดนยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  ดังนั้น  แดนจึงไม่ต้องรับโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น  ตามมาตรา  82

สรุป  แดนต้องรับผิดทางอาญาต่อกรฐานพยายามกระทำความผิด  แต่แดนไม่ต้องรับโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น  เพราะได้ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ สอบซ่อมภาคฤดูร้อน/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอนกกับนายโกสินทำสัญญาเป็นหนังสือมีข้อความว่า  นายเอนกขายที่ดินมีโฉนดของตนหนึ่งแปลงในราคา  5,000,000  บาท  พร้อมกับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์  (น.ส. 3 )  ของตน  อีกหนึ่งแปลงราคา  700,000  บาท  ให้นายโกสินทร์  นายโกสินตกลงซื้อ

นายเอนกส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้นายโกสินทร์แล้ว  และนายโกสินทร์ชำระราคาค่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน  5,700,000  บาท  ให้นายเอนกครบถ้วน  ลงชื่อนายเอนกผู้ขาย  นายโกสินทร์ผู้ซื้อ  ต่อมาอีก  3  ปี  นายเอนกอยากได้ที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากนายโกสินทร์เพราะที่ดินทั้งสองแปลงมีราคาสูงขึ้นมาก

นายเอนกจึงมาเรียกที่ดินทั้งสองแปลงคืนจากนายโกสินทร์และขอให้นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดิน  นายโกสินทร์ไม่ยอมคืนอ้างว่าเป็นที่ดินของตน  ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้  นายเอนกยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง

ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลพิจารณาแล้วได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  ท่านจะมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างนายเอนกกับนายโกสินทร์เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และที่ดินทั้งสองแปลงที่ซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์  คู่สัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา  456  วรรคแรก  แต่ทั้งคู่ทำกันเป็นเพียงหนังสือ  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดย่อมตกเป็นโมฆะ  การที่นายเอนกส่งมอบที่ดินทั้งสองแปลงให้นายโกสินทร์ ย่อมถือว่านายเอนกสละสิทธิครอบครอง  และที่ดิน น.ส.3  มีเพียงสิทธิครอบครอง  นายโกสินทร์ย่อมได้สิทธิครอบครอง  ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกจากที่ดิน น.ส.3  แปลงนี้ไม่ได้  ส่วนที่ดินมีโฉนดเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์  แม้นายโกสินทร์จะมีสิทธิครอบครอง  แต่กรรสิทธิ์ยังเป็นของนายเอนก  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  ข้าพเจ้าจะมีคำพิพากษาให้ขับไล่นายโกสินทร์ออกไปจากที่ดินแปลงที่มีโฉนด

 

ข้อ  2  นายไก่นำนาฬิกาข้อมือมูลค่า  1  ล้านบาท  ไปขายฝากไว้กับนายไข่ในราคาเพียง  3  แสนบาท  มีกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน  3  ปี และมีข้อตกลงกันว่าในระหว่างติดสัญญาขายฝากห้ามมิให้นายไข่นำนาฬิกาเรือนดังกล่าวไปจำหน่ายจ่ายโอน  และเวลาไถ่คืนให้ประโยชน์  15%  ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หลังจากรับซื้อฝากไว้แล้วนายไข่กลับนำนาฬิกาไปขายให้นายแดงในราคา  5  แสนบาท

หลังจากซื้อมาได้เพียง  1  เดือน  นายแดงจึงทราบว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นนาฬิกาซึ่งนายไก่นำมาขายฝากนายไข่ไว้หลังจากนั้นนายไก่ก็มาขอไถ่นาฬิกาคืนจากนายแดง  นายแดงปฏิเสธไม่ให้ไถ่คืนถ้าอยากได้คืนก็ต้องไถ่คืนในราคา  6  แสนบาท

1)    นายไก่มีสิทธิไถ่นาฬิกาคืนจากนายแดงได้หรือไม่  และข้ออ้างของนายแดงรับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    นายไก่จะฟ้องร้องให้นายไข่รับผิดต่อตนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  493  ในการขายฝาก  คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้  ถ้าและผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้  ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใดๆ  อันเกิดแต่การนั้น

มาตรา  498  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้  คือ

(1) ผู้ซื้อเดิม  หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม  หรือ

(2) ผู้รับโอนทรัพย์สิน  หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น  แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอน  ว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน

วินิจฉัย

1)    นายไก่มีสิทธิไถ่นาฬิกาคืนจากนายแดงได้ตามมาตรา  498  เพราะนายแดงเป็นผู้รับโอนมีหน้าที่ต้องรับไถ่  แต่นาฬิกาเป็นสังหาริมทรัพย์  นายไก่จะใช้สิทธิไถ่คืนจากนายแดงได้ต่อเมื่อในขณะหรือก่อนนายแดงซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวมาจากนายไข่นั้น  นายแดงรู้ว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวติดสัญญาขายฝาก  แต่ตามข้อเท็จจริงนายไข่ไม่ได้แจ้งให้นายแดงทราบและนายแดงมาทราบภายหลังจากซื้อมาแล้ว  นายแดงจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้นายไก่ไถ่คืนได้ตามมาตรา  498(2)  ข้ออ้างของนายแดงที่ว่าถ้าอยากได้คืนก็ต้องไถ่คืนในราคา  6  แสนบาทนั้น  รับฟังได้  เพราะเมื่อเขาเป็นเจ้าของนาฬิกาเขาจะขายคืนราคาเท่าใดก็ได้

2)    นายไก่สามารถฟ้องให้นายไข่ต้องรับผิดต่อตนได้ในความเสียหายใดๆอันเกิดจากการที่นายไข่นำนาฬิกาไปขายให้นายแดง เพราะนายไก่และนายไข่มีข้อตกลงกันไม่ให้นายไข่จำหน่ายนาฬิกาซึ่งรับซื้อฝากไว้จากนายไก่  และการกระทำของนายไข่ก็เป็นการฝ่าฝืนสัญญาซึ่งได้ตกลงกันไว้แล้วตามมาตรา  493 

สรุป 

(1) ข้ออ้างของนายแดงรับฟังได้

(2) นายไก่ฟ้องให้นายไข่รับผิดต่อตนได้

 

 

ข้อ  3  นายใจได้ซื้อเครื่องซักผ้าเครื่องหนึ่งจากห้างของนายแจ่ม  โดยเครื่องซักผ้าเครื่องนั้นเป็นเครื่องที่ห้างไว้สำหรับตั้งโชว์และทดลองให้ลูกค้าดู  เมื่อตกรุ่นห้างจึงนำมาลดราคาโดยถือเป็นของที่ใช้แล้วไว้กลางห้าง  จากเดิมของใหม่ราคา  ห้าพันบาท  เหลือเพียงสามพันบาท

เมื่อทดลองเครื่องที่ห้างก็พบว่าเครื่องทำงานได้เป็นปกติ  นายใจจึงตกลงซื้อแต่เมื่อพนักงานของห้างนำเครื่องมาส่งที่บ้านและทดลองดูกลับพบว่าบางระบบของเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ  ปั่นแห้งไม่ได้  เดินเครื่องไประยะหนึ่งเครื่องจะหยุดทำงานไปเฉยๆ  นายใจจะเรียกร้องให้ห้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

วินิจฉัย

นายใจได้ซื้อเครื่องซักผ้าเครื่องหนึ่งจากห้างของนายแจ่ม  โดยเครื่องซักผ้าเครื่องนั้นเป็นเครื่องที่ห้างไว้สำหรับตั้งโชว์และทดลองให้ลูกค้าดู  เมื่อตกรุ่นห้างจึงนำมาลดราคาโดยถือเป็นของที่ใช้แล้วไว้กลางห้าง  จากเดิมของใหม่ราคา  ห้าพันบาท  เหลืองเพียงสามพันบาท เมื่อทดลองเครื่องที่ห้างก็พบว่าเครื่องทำงานได้เป็นปกติ  นายใจจึงตกลงซื้อแต่เมื่อพนักงานของห้างนำเครื่องมาส่งที่บ้านและทดลองดูกลับพบว่าบางระบบของเครื่องไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ  ปั่นแห้งไม่ได้  เดินเครื่องไประยะหนึ่งเครื่องจะหยุดทำงานไปเฉยๆ  ดังนั้นนายใจจะเรียกร้องให้ห้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้เพราะเป็นการเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติตามมาตรา  472

สรุป  นายใจสามารถเรียกร้องให้ห้างรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ สอบซ่อมภาค 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์ขายรถยนต์คันหนึ่งให้นายอังคารในราคา  300,000  บาท  แล้วคิดเสียดายที่ขายในราคาต่ำเกินไป  นายจันทร์ไปขอร้องให้นายอังคารขายคืนให้  นายอังคารบอกว่าถ้าจำเป็นต้องขายจะขายในราคา  350,000  บาท  นายจันทร์ให้นายอังคารจดข้อความดังกล่าวไว้และลงลายมือชื่อ

ส่วนนายจันทร์ก็จดข้อความว่าตกลงซื้อและลงลายมือชื่อนายจันทร์  แต่เมื่อนายจันทร์จะชำระราคา  นายอังคารกลับไม่ยอมขายให้  นายจันทร์ว่าจะไปดำเนินการฟ้องร้องนายอังคาร  นายอังคารกลับถึงบ้านกลัวว่านายจันทร์จะฟ้องตน  นายอังคารจึงมีจดหมายไปถึงนายจันทร์ตอบตกลงขายให้ในราคา  350,000  บาท  นายจันทร์เขียนจดหมายตอบตกลงซื้อพร้อมกับแนบเช็คจำนวน  350,000  บาท  ส่งไปให้นายอังคาร

ก่อนที่จดหมายมาถึงนายอังคาร  คืนนั้นเกิดเพลิงไหม้บ้านข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้บ้านนายอังคาร  เป็นเหตุให้รถยนต์คันนี้ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งคัน  ต่อมาจดหมายพร้อมกับเช็คมาถึงนายอังคาร  นายอังคารนำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารได้เงินมา  350,000  บาท

นายจันทร์ทราบข่าวก็มาขอเงินคืน  นายอังคารไม่ยอมคืนให้อ้างว่าเมื่อทำสัญญาแล้วรถยนต์คันนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายจันทร์  และภัยพิบัติอันเกิดกับรถยนต์ก็โทษนายอังคารไม่ได้  บาปเคราะห์ย่อมตกเป็นพับแก่นายจันทร์  ตนจึงหมดหน้าที่ส่งมอบ  แต่นายจันทร์ยังต้องชำระราคา  ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้

ดังนี้  นายจันทร์กับนายอังคารมาขอให้นักศึกษาเป็นผู้ชี้ขาดตัดสินพิพาทนี้  นักศึกษาจะตัดสินให้นายอังคารคืนเงิน  350,000  บาท  ให้แก่นายจันทร์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  453  อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่าผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง  เรียกว่าผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

วินิจฉัย

ตามมาตรา  453  ซื้อขายคือสัญญาที่คำเสนอคำสนองจะต้องมีข้อความชัดเจนแน่นอนว่าจะซื้อขายกันจริง  แต่การแสดงเจตนาของนายอังคารที่บอกว่าถ้าจำเป็นต้องขายจะขายในราคา  350,000  บาทนั้น  ยังไม่มีข้อความชัดเจนว่าจะขายจริง  จึงยังไม่เป็นคำเสนอ  แม้นายจันทร์ตกลงจะซื้อจริงก็ไม่ใช่เป็นคำสนองแต่เป็นคำเสนอขึ้นใหม่  เมื่อนายอังคารบอกปัดไม่ยอมขาย  คำเสนอซื้อรถยนต์ของนายจันทร์ย่อมสิ้นความผูกพัน  ต่อมานายอังคารมีจดหมายไปถึงนายจันทร์อีกครั้งตกลงขายรถยนต์ให้ในราคา  350,000  บาท  จึงเป็นคำเสนอขึ้นใหม่  นายจันทร์ตอบตกลงซื้อพร้อมแนบเช็คจำนวน  350,000  บาท  แต่ก่อนที่จดหมายไปถึงนายอังคาร  รถยนต์ถูกไฟไหม้เสียหายก่อนจดหมายมาถึง  เมื่อจดหมายมาถึงแม้จะเกิดสัญญาแต่รถยนต์ที่ตกลงซื้อขายไม่มีอยู่  เมื่อรถยนต์ที่ตกลงซื้อขายไม่อยู่  วัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายจึงเป็นพ้นวิสัยตกเป็นโมฆะตามมาตรา  150  คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม  นายอังคารต้องคืนเงิน  350,000  บาท  ที่รับไว้ให้นายจันทร์ฐานลาภมิควรได้

สรุป  นายอังคารต้องคืนเงิน  350,000  บาท  แก่นายจันทร์ตามหลักกฎหมายและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น

 

 

ข้อ  2  นายสำลีกำลังจะย้ายบ้าน  จึงได้นำสิ่งของบางอย่างในบ้านออกขายเลหลังที่สนามหน้าบ้าน  มีทั้งที่เป็นเฟอร์นิเจอร์  ทีวี คอมพิวเตอร์  มือถือ ฯลฯ  นาสีได้ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจากการขายครั้งนั้นของนายสำลี  ในราคา  3,000  บาท  ทั้งนายสาลีและนายสีไม่ทราบว่ามือถือเครื่องนั้นเป็นของนายเสาร์ที่ถูกขโมยมา  

นายสีได้นำมาให้ร้านซ่อมมือถือเช็คเครื่องดูพบว่าเครื่องใช้ได้แต่มีรอยตำหนิอยู่ที่กระจกหน้าตัวเครื่อง  ใช้น้ำยาทำความสะอาดแล้วก็ยังไม่ออก  นายสีเสียค่าเปลี่ยนกระจกหน้าจอมือถือและค่าแรงไป  800  บาท  แต่ร้านซ่อมจำได้ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นเป็นของที่ร้านขายให้นายเสาร์

และนายเสาร์ทำหาย  จึงแจ้งให้นายเสาร์ทราบ นายเสาร์ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจมาเรียกคืนจากนายสี  นายสีจึงคืนให้นายเสาร์ไป

เมื่อคืนโทรศัพท์มือถือให้นายเสาร์ไปได้  4  เดือน  ถ้านายสีจะมาฟ้องร้องให้นายสาลีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นและค่าซ่อมเปลี่ยนจอมือถือ  800  บาท  จากนายสาลี  นายสาลีจะต้องรับผิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  481  ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม  หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก  หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด  หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ  หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นที่หนึ่ง

นายสาลีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรอนสิทธิหรือไม่  ตามปัญหา  นายสีได้ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งจากการขายเลหลังของนายสาลีในราคา  3,000  บาท  ทั้งนายสาลีและนายสีไม่ทราบว่ามือถือเครื่องนั้นเป็นของนายเสาร์ที่ถูกขโมยมา  นายสาลีได้นำมาให้ร้านซ่อมมือถือเช็คเครื่องดู

แต่ร้านซ่อมจำได้ว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นเป็นของที่ร้านขายให้นายเสาร์  และนายเสาร์ทำหาย  จึงแจ้งให้นายเสาร์ทราบ  นายเสาร์ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจมาเรียกคืนจากนายสี  นายสีจึงคืนให้นายเสาร์ไป  จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อ (นายสี)  ถูกรบกวนขัดสิทธิโดยบุคคลภายนอก  (นายเสาร์)  ไม่ให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองทรัพย์สิน  (โทรศัพท์มือถือ)  โดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายโดยชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งตามหลักทั่วไปแล้วผู้ขาย (นายสาลี)  ต้องรับผิดแม้จะไม่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธิก็ตาม  ตามมาตรา 475  แต่การที่นายสีได้คืนโทรศัพท์มือถือให้นายเสาร์ไปได้  4  เดือน  แล้วจึงจะมาฟ้องร้องให้นายสาลีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการรอนสิทธินั้น  เป็นกรณีที่นายสีผู้ซื้อยอมตามที่บุคคลภายนอก  (นายเสาร์)  เรียกร้อง  ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือน  นับแต่วันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้อง  ตามมาตรา  481  ดังนั้น  นายสาลีจึงมีสิทธิอ้างอายุความดังกล่าวยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดได้

ประเด็นที่สอง

นายสาลีจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องหรือไม่  ตามปัญหา  เมื่อนายสีซื้อโทรศัพท์มือถือจากการขายเลหลังของนายสาลีแล้วได้นำมาให้ร้านซ่อมมือถือเช็คเครื่องดูพบว่า  เครื่องใช้ได้แต่มีรอยตำหนิอยู่ที่กระจกหน้าตัวเครื่อง  ใช้น้ำยาทำความสะอาดแล้วก็ยังไม่ออก  นายสีเสียค่าเปลี่ยนกระจกหน้าจอมือถือและค่าแรงไป  800  บาท  ดังนี้  นายสาลีไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องตามมาตรา  472  เพราะนายสีซื้อโทรศัพท์มือถือที่เป็นของเก่าจึงไม่เสื่อมราคา  และไม่เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ  ประโยชน์มุ่งหมายโดยสัญญา  เพราะโทรศัพท์มือถือที่นายสีซื้อจากนายสาลีนั้นยังสามารถใช้ได้  เพียงแต่มีตำหนิที่กระจกหน้าตัวเครื่องเท่านั้น  ไม่ทำให้โทรศัพท์ชำรุดบกพร่อง

สรุป  นายสาลีไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้น  และค่าซ่อมเปลี่ยนจอมือถือ  800  บาท

 

 

ข้อ  3  นายไก่นำบ้านและที่ดินไปขายฝากไว้กับนายไข่ในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  10  ปี  ในราคา  2,150,000  บาทถ้วน  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หลังจากทำสัญญาได้ครบ  1  ปี  นายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิในการไถ่  พร้อมนำเงิน  1,150,000  บาท  แต่นายไข่ปฏิเสธว่ายังไม่ครบกำหนด  10  ปี  และสินไถ่ไม่ครบ

1)    นายไก่จะใช้สิทธิไถ่เมื่อเวลาผ่านไปเพียง  1  ปี  ได้หรือไม่

2)    ข้ออ้างของนายไข่ที่จะปฏิเสธไม่รับไถ่รับฟังได้หรือไม่ว่า  สินไถ่ไม่ครบ  และยังไม่ถึงกำหนดเวลาไถ่

ธงคำตอบ

มาตรา  491  อันว่าขายฝากนั้น  คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ  โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  499  วรรคสอง  ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

1)    นายไก่ขายฝากบ้านและที่ดินแก่นายไข่ในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  10  ปี  ในราคา  2,150,000  บาท  โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกำหมาย  เมื่อเวลา  ผ่านไป  1  ปี  นายไก่ได้ใช้สิทธิไถ่บ้านและที่ดินดังกล่าว  นายไข่จะปฏิเสธว่ายังไม่ครบกำหนด  10  ปี  จึงไม่ให้ไถ่ย่อมทำไม่ได้  เพราะนายไก่จะใช้สิทธิไถ่เมื่อไรก็ได้นับแต่ทำสัญญาขายฝาก  หากกำหนดระยะเวลาในการขายฝากยังไม่สิ้นสุด  (บ้านและที่ดินเป็นอสังหาริมทรัพย์  จึงมีกำหนดเวลาไถ่คืน  10  ปีนับแต่เวลาซื้อขาย)  และสินไถ่พร้อมตามมาตรา  491  และมาตรา  194(1)

2)    ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้ในกรณีสินไถ่ไม่ครบ  เพราะตามสัญญาได้กำหนดไถ่คืน  10  ปี  กฎหมายกำหนดไว้ว่า  ถ้าหากราคาขายฝากและสินไถ่แตกต่างกันก็ให้ผู้รับซื้อฝากคิดประโยชน์ได้ไม่เกิน  15%  ตามมาตรา  499  วรรคสอง  ในกรณีตามโจทย์คู่สัญญากำหนดสินไถ่โดยถูกต้องตามกฎหมาย  ซึ่งได้ให้สิทธิไว้คือประโยชน์  15%  ภายใน  10  ปีก็เป็นเงิน  1,150,000  บาท  ซึ่งรวมราคาขายสินไถ่ที่ถูกต้องจะต้องเป็น  2,150,000  บาท  แต่จะอ้างว่าการไถ่ต้องครบกำหนดเวลา  10  ปี  รับฟังไม่ได้  เพราะนายไก่จะขอใช้สิทธิไถ่เมื่อใดก็ได้

สรุป

1)    นายไก่ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนได้แม้เวลาผ่านไปเพียง  1  ปี

2)    ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้ในกรณีสินไถ่ไม่ครบ  ส่วนข้ออ้างที่ว่ายังไม่ถึงกำหนดเวลาไถ่ฟังไม่ขึ้น 

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์  ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย  จำเลยได้รับสำเนาฟ้องแล้ว  จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยกับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด  หาใช่สัญญาจะซื้อจะขายไม่  และสัญญาก็ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินย่อมตกเป็นโมฆะ  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์

ต่อมาศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วได้ข้อเท็จจริงว่า  จำเลยได้ขายบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ในราคา  5  ล้านบาท  โดยจำเลยยอมเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอน  ทั้งจำเลยได้รับเงินราคาค่าบ้านพร้อมที่ดินจากโจทก์ไว้ก่อน  500,000  บาท  หลังจากนั้น  จำเลยนำเงิน  500,000  บาทมาขอคืนให้โจทก์  และไม่ขายบ้านพร้อมที่ดินให้โจทก์ 

แต่โจทก์ไม่ยอมรับและขอให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนให้โจทก์อ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ  ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินที่พิพาทให้โจทก์ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  ให้โจทก์ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายซื้อขายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  453  อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง  เรียกว่าผู้ขาย  โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

วินิจฉัย

สัญญาซื้อขายตามมาตรา  453  เป็นสัญญาที่ผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ขายให้กับผู้ซื้อ  และผู้ซื้อตกลงว่าจะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน  แม้ตามข้อเท็จจริงสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยจะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  แต่ก็สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้  เพราะได้มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว  เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย  ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน ศาลก็ต้องมีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาค่าบ้านพร้อมที่ดินที่ยังขาดอยู่ให้แก่จำเลยด้วย  แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแต่เพียงให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินที่พิพาทให้โจทก์  หาได้มีคำพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาค่าบ้านพร้อมที่ดินให้จำเลยด้วย  คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายซื้อขายซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน

 

ข้อ  2  นายไก่ตกลงขายรถยนต์ซึ่งตนซื้อมาจากการขายทอดตลาดให้แก่นายไข่ในราคา  3  แสนบาท  ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวนายไก่ทราบดีว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟมาโดยตลอด  แต่ไม่ได้แจ้งให้นายไข่ทราบ  ในการตกลงซื้อขายกันครั้งนี้นายไก่ผู้ขายได้ระบุไว้ในสัญญาว่าถ้าเกิดความชำรุดบกพร่องอย่างใดๆขึ้น  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบอย่างใดๆทั้งสิ้น  เมื่อส่งมอบรถยนต์แล้วนายไข่เพิ่งจะทราบว่ารถยนต์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟจึงมาเรียกร้องให้นายไก่ผู้ขายรับผิดชอบแต่นายไก่ปฏิเสธอ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ได้มาจากการขายทอดตลาดของศาลตนไม่ต้องรับผิดชอบ

คำปฏิเสธของนายไก่รับฟังได้หรือไม่  และนายไข่จะฟ้องนายไก่ให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  483  คู่สัญญาซื้อขายตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา  485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองรับผิดผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

นายไก่ขายรถยนต์ที่ตนซื้อมาจากการขายทอดตลาดแก่นายไข่ในราคา  3   แสนบาท  เมื่อส่งมอบรถยนต์แล้ว  นายไข่จึงทราบว่ารถยนต์มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟ  และได้เรียกร้องให้นายไก่รับผิดชอบ  แต่นายไก่อ้างว่าเป็นรถยนต์ที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาด  ตนจึงไม่ต้องรับผิด  เช่นนี้คำปฏิเสธของนายไก่รับฟังไม่ได้  เพราะถึงแม้ว่านายไก่ จะซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาด  แต่การซื้อรถยนต์ระหว่างนายไก่และนายไข่นั้นไม่ใช่การขายทอดตลาด  นายไข่จึงฟ้องนายไก่ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นได้  ตามมาตรา  472  แม้จะมีการตกลงยกเว้นไว้ในสัญญาว่าถ้าเกิดความชำรุดบกพร่องอย่างใดๆ ขึ้น  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดก็ตาม  เพราะข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้นไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วปกปิดเสีย  ดังนั้น  เมื่อนายไก่ไม่สุจริตทราบถึงเหตุความชำรุดบกพร่องอยู่แล้วไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบ  แต่ยังมายกเว้นความรับผิดชอบของตนอีก  จึงไม่พ้นความรับผิด  ยังต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามมาตรา  483, 485

สรุป  คำปฏิเสธของนายไก่รับฟังไม่ได้  และนายไข่ฟ้องนายไก่ให้รับผิดชอบในความชำรุดปกพร่องในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันได้

 

ข้อ  3  นายพานได้จำนองที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  200  ตารางวาไว้กับนายพัดในราคาสี่แสนบาท  ที่ดินแปลงนั้นราคาตารางวาละ  10,000  บาท  และนายพานยังได้ให้ทำเอกสารเป็นหนังสือยกที่ดินแปลงนั้นให้นายพุธ  โดยให้นายพุธไปไถ่จำนองจากนายพัดเอง

แต่ที่ดินแปลงนั้นมีนายผันครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อยู่ห้าสิบตารางวา  และกำลังยื่นฟ้องต่อศาลขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์  แต่นายพุธไม่ทราบ  นายพุธมาทราบภายหลังจากไถ่จำนองและจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้มาเรียบร้อยแล้ว  และถูกนายผันขับไล่ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวที่ดินในส่วนที่นายผันครอบครองปรปักษ์

นายพุธจึงต้องการให้นายพานชดใช้เงินที่ตนไปไถ่จำนองที่ดินแปลงนั้น  แต่นายพานไม่ยอม  ถ้านายพุธมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำแนะนำกับนายพุธอย่างไร  นายพุธจะเรียกร้องให้นายพานรับผิดได้หรือไม่ในกรณีใด

ธงคำตอบ

มาตรา  530  ถ้าการให้นั้นมีค่าภาระติดพัน  ท่านว่าผู้ให้ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ขาย  แต่ท่านจำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพัน

วินิจฉัย

นายพานได้จำนองที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง  200  ตารางวา  ไว้กับนายพัดในราคาสี่แสนบาท  ที่ดินแปลงนั้นราคาตารางวาละ  10,000  บาท  และนายพานยังได้ให้ทำเอกสารเป็นหนังสือยกที่ดินแปลงนั้นให้นายพุธโดยให้นายพุธไปไถ่จำนองจากนายพัดเอง  เอกสารเป็นหนังสือนี้เป็นสัญญาให้ที่มีค่าภาระติดพันในทรัพย์สินที่ให้  แต่ที่ดินแปลงนั้นมีนายผันครอบครองปรปักษ์จนได้กรรมสิทธิ์อยู่ห้าสิบตารางวา และกำลังยื่นฟ้องต่อศาลขอจดทะเบียนกรรมสิทธิ์  แต่นายพุธไม่ทราบ  นายพุธมาทราบภายหลังจากไถ่จำนองและจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้มาเรียบร้อยแล้ว  จึงเป็นกรณีที่นายพุธถูกรบกวนขัดสิทธิโดยบุคคลภายนอก  (นายผัน)  ไม่ให้เข้าครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลนั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  และเป็นการรอนสิทธิที่เกิดก่อนสัญญาให้  นายพุธจึงสามารถเรียกร้องให้นายพานชดใช้เงินจำนวนสี่แสนบาทค่าไถ่ถอนจำนองได้  เพราะในสัญญาให้ที่มีค่าภาระติดพันผู้ให้ต้องรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเช่นเดียวกับผู้ขายแต่จำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพันตามมาตรา  530

สรุป  ถ้านายพุธมาปรึกษาข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำกับนายพุธโดยบอกให้นายพุธฟ้องร้องให้นายพานรับผิด  ในกรณีที่มีการรอนสิทธิในทรัพย์สินที่ให้และมีค่าภาระติดพัน  (ที่ดินแปลงดังกล่าว)  ดังนั้นนายพุธเรียกให้นายพานรับผิดชดใช้เงินจำนวนสี่แสนบาทได้  แต่ไม่เกินจำนวนค่าภาระติดพัน

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ ภาคฤดูร้อน/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายดำและนายแดงได้ทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินของนายดำให้นายแดงในราคา  500,000  บาทโดยนายดำจะส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายแดงเมื่อนายแดงชำระราคาเรียบร้อย

แต่เมื่อก่อนถึงกำหนดวันส่งมอบและชำระราคา  นายขาวได้มาบอกนายดำว่าที่ดินแปลงนี้ทางจังหวัดกำลังจะย้ายสถานที่ราชการมาอยู่ใกล้ๆ  และจะมีถนนตัดผ่านที่ดินจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากยังไม่ควรขายตอนนี้เมื่อนายแดงได้ชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้นายดำ

นายดำก็รับแต่กลับไม่ยอมส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายแดงเพราะเชื่อนายขาว  นายแดงจะฟ้องร้องบังคับให้นายดำโอนส่งมอบที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และสัญญาซื้อขายระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด

ธงคำตอบ

มาตรา  456  วรรคแรก  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

วินิจฉัย

นายดำและนายแดงได้ทำสัญญาเป็นหนังสือขายที่ดินของนายดำให้นายแดงในราคา  500,000  บาท  โดยนายดำจะส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายแดงเมื่อนายแดงชำระราคาเรียบร้อย  สัญญาฉบับนี้เป็นสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์หรือเสร็จเด็ดขาด  เพราะคู่สัญญาเจตนาทำสัญญาให้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อขณะทำสัญญาโดยไม่มีข้อตกลงจะไปดำเนินการทางทะเบียนในภายหลัง  แต่เมื่อก่อนถึงกำหนดวันส่งมอบและชำระราคา  นายขาวได้มาบอกนายดำว่าที่ดินแปลงนี้ทางจังหวัดกำลังจะย้ายสถานที่ราชการมาอยู่ใกล้ๆ  และจะมีถนนตัดผ่านที่ดินจะมีราคาเพิ่มขึ้นอีกมากไม่ควรขายตอนนี้  เมื่อนายแดงได้ชำระราคาที่ดินทั้งหมดให้นายดำ  นายดำก็รับแต่กลับไม่ยอมส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายแดงเพราะเชื่อนายขาว  นายแดงจะฟ้องร้องบังคับให้นายดำโอนส่งมอบที่ดินแปลงนี้ไม่ได้  เพราะเมื่อเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์แต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  456  วรรคแรก

สรุป  สัญญาซื้อขายระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  และนายแดงจะฟ้องร้องบังคับให้นายดำส่งมอบที่ดินแปลงนี้ไม่ได้

 

ข้อ  2  นายไก่ซื้อรถยนต์ซึ่งนายไข่ขโมยจากนายแดงแล้วนำมาดัดแปลงหมายเลขรถ  ตบแต่งสีจนสวยงามและนำไปขายให้แก่นายมดโดยนายมดไม่เคยรู้เรื่องที่มาของรถยนต์คันดังกล่าวแต่อย่างใด  ในการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ครั้งนี้นายไก่และนายมดมีข้อตกลงระหว่างกันว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องหรือการรอนสิทธิ  หลังจากทำสัญญาและส่งมอบชำระราคาแล้ว  นายแดงได้นำตำรวจมาติดตามเอารถยนต์ของตนซึ่งถูกขโมยคืนจากนายมด ๆ  ก็ยอมคืนให้

1)    นายมดฟ้องให้นายไก่รับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และ

2)    หากฟ้องได้  นายมดต้องฟ้องให้นายไก่รับผิดชอบในกำหนดอายุความเท่าใด

ธงคำตอบ

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  481  ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม  หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก  หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการรอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด  หรือนับแต่วันประนีประนอมยอมความ  หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น

มาตรา  483  คู่สัญญาซื้อขายตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา  485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองรับผิดผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

1)    นายมดฟ้องให้นายไก่รับผิดว่าตนถูกรอนสิทธิได้แม้จะมีข้อตกลงยกเว้นไว้ว่าหากเกิดการรอนสิทธิผู้ขายไม่ต้องรับผิดก็ตาม เพราะข้อสัญญาว่าไม่ต้องรับผิดนั้นไม่อาจคุ้มครองความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเองหรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย  ตามมาตรา  485  ประกอบมาตรา  475  และมาตรา  483  ดังนั้น  เมื่อผู้ซื้อไม่ทราบถึงเหตุแห่งการรอนสิทธินั้น  แต่ผู้ขายทราบดีแต่ไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบ  ผู้ขายจึงต้องรับผิด

2)    นายมดต้องฟ้องให้นายไก่รับผิดในกรณีที่ตนถูกรอนสิทธิภายใน  3  เดือนนับแต่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายแดงเจ้าของที่แท้จริงไป  ตามมาตรา  481

 

ข้อ  3  นายเงินขายรถบรรทุกของนายเงินคันหนึ่งให้นายทองในราคา  300,000  บาท  และในสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกันนั้นก็มีข้อความตกลงให้นายนาคซึ่งเป็นบุตรของนายเงินมีสิทธิซื้อรถบรรทุกคันนั้นกลับคืนได้ภายใน  4  ปี  ในราคา  300,000 บาท  เท่าราคาขาย

เมื่อตกลงแน่นอนแล้ว  นายเงินได้ส่งมอบรถบรรทุกให้นายทองแลละรับเงินค่าราคาขายมา  300,000  บาท  ขายไปได้  3  ปี  นายนาคได้นำเงิน  300,000  บาท  มาขอซื้อรถบรรทุกคันนั้นกลับคืนจากนายทอง

นายทองจะไม่ยอมขายคืนรถบรรทุกคันนั้นให้นายนาคได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(2) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  495  ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น  ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตามประเภททรัพย์

มาตรา 497  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้  คือ

(3) บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้

 วินิจฉัย

นายเงินขายรถบรรทุกของนายเงินคันหนึ่งไว้กับนายทองในราคา  300,000  [ท  เมื่อในสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกันนั้นก็มีข้อตกลงให้นายนาคมีสิทธิซื้อรถบรรทุกคันนั้นกลับคืนได้ภายใน  4  ปี  ในราคา  300,000  บาทเท่าราคาขาย  และรับเงินจริงจำนวน  300,000  บาทสัญญาซื้อขายระหว่างนายเงินและนายทองเป็นสัญญาขายฝากสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีกำหนดเวลาไถ่คืนเกินกว่ากำหนดเวลาไถ่ตามมาตรา  494(2)  คือเกินกว่า  3  ปี  นับแต่เวลาซื้อขาย  ตามมาตรา  495  ถ้ากำหนดเกินกว่านั้นให้ลดลงมาเป็น  3  ปี  ต่อเมื่อขายไปได้  3  ปี  นายนาคซึ่งเป็นบุคคลในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้  ตามมาตรา  497(3)  ได้นำเงิน  300,000  บาท  มาขอซื้อรถบรรทุกคันนั้นกลับคืน  นายทองต้องยอมให้นายนาคไถ่รถบรรทุกคันนั้นคืน

สรุป  นายทองจะไม่ยอมขายคืนรถบรรทุกคันนั้นให้นายนาคไม่ได้

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์จดทะเบียนขายที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา  10  ล้านบาท  และนายอังคารมีหนังสือให้นายจันทร์ฉบับหนึ่ง  ให้นายจันทร์มีสิทธิไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้ในราคา  20  ล้านบาท

ต่อมาอีก  12  ปี  ที่ดินแปลงนี้มีราคาสูงขึ้นมาก  นายอังคารจึงจดทะเบียนโอนขายให้นายพุธในราคา  50  ล้านบาท  หลังจากนั้นอีก  6 เดือน  นายจันทร์นำเงิน  20  ล้านบาทมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคาร  แต่นายอังคารกลับปฏิเสธและอ้างว่านายจันทร์มาขอไถ่เกิน  10  ปี  นายจันทร์ย่อมหมดสิทธิไถ่คืนและตนก็ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายพุธไปแล้ว

ดังนี้  นายจันทร์มาถามนักศึกษาว่า  ตนมีสิทธิเรียกร้องที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพุธได้หรือไม่  และจะให้นายอังคารรับผิดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  454  การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้น  จะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไปและคำบอกกล่าวเช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว

ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอควร  และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในกำหนดนั้นก็ได้  ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่  ถ้าไม่ตอบเป็นนานอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้  คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารหาใช่สัญญาขายฝากไม่  (เพราะสัญญาขายฝากคือ  สัญญาซื้อขายบวกกับข้อตกลงพิเศษ  ข้อตกลงนั้นคือ  ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้  ข้อตกลงนี้จึงต้องมีขึ้นขณะทำสัญญาซื้อขาย  ถ้าได้ตกลงภายหลังเมื่อมีสัญญาซื้อขายกันแล้ว  ข้อตกลงนั้นย่อมเป็นคำมั่นว่าจะขายคืน)  และหนังสือที่นายอังคารให้ไว้กับนายจันทร์เป็นคำมั่น (ว่าจะขายคืน)  ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อนายจันทร์ยังไม่ตอบรับคำมั่น  กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของนายอังคารจนกว่าจะเกิดสัญญาซื้อขายตามมาตรา  454  วรรคแรก  นายจันทร์ยังไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้  ดังนั้นนายจันทร์จะเรียกที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพุธไม่ได้

นายอังคารหาได้ใช้สิทธิตามมาตรา  454  วรรคสอง  คือ  กำหนดเวลาพอสมควร  และบอกกล่าวไปยังนายจันทร์ให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้น  ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่  ดังนั้นคำมั่นไม่มีกำหนดเวลาย่อมมีผลผูกพันกับนายอังคารอยู่  แม้จะล่วงเลยมา  12  ปีก็ตาม  เมื่อนายจันทร์ตอบรับคำมั่น  แต่นายอังคารได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้นายพุธไปแล้วย่อมเป็นการผิดคำมั่น  นายจันทร์ชอบที่จะเรียกร้องให้นายอังคารรับผิดฐานผิดคำมั่นได้

สรุป  นายจันทร์ไม่มีสิทธิเรียกร้องที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพุธ  แต่นายจันทร์เรียกร้องให้นายอังคารรับผิดฐานผิดคำมั่นได้

 

ข้อ  2  นายฟ้าได้นำรถยนต์ออกประมูลขายทอดตลาด  นายตะวันประมูลซื้อรถยนต์คันนั้นมาได้ในราคา  200,000  บาท  แล้วได้ขายต่อให้นายเมฆไปในราคา  300,000  บาท  โดยนายตะวันทราบว่ารถยนต์คันนั้นของนายฟ้าเป็นรถยนต์ที่ถูกขโมยมาแล้วมาปลอมทะเบียนขาย  แต่นายเมฆไม่รู้

ในหนังสือสัญญาซื้อขายนายตะวันจึงได้ตกลงยกเว้นความรับผิดในการรอนสิทธิของผู้ขายเอาไว้  ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้มายึดรถยนต์คันนั้นจากนายเมฆไป  นายเมฆจะฟ้องให้นายตะวันให้รับผิดในการรอนสิทธิได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  479  ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุการณ์รอนสิทธิก็ดี  หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา  หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้  หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย  หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้นและซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

มาตรา  485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองรับผิดผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

นายฟ้าได้นำรถยนต์ออกประมูลขายทอดตลาด  และนายตะวันประมูลซื้อรถยนต์คันนั้นมาได้ในราคา  200,000  บาท  แล้วได้ขายต่อให้นายเมฆไปในราคา  300,000  บาท  โดยนายตะวันทราบว่ารถยนต์คันนั้นของนายฟ้าเป็นรถยนต์ที่ถูกขโมยมาแล้วมาปลอมทะเบียนขาย  แต่นายเมฆไม่รู้  ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้มายึดรถยนต์คันนั้นจากนายเมฆไปจึงเป็นกรณีที่นายเมฆถูกรอนสิทธิตามมาตรา  475  และ  479  นายเมฆจะฟ้องให้นายตะวันให้รับผิดในการรอนสิทธิได้แม้จะมีการตกลงยกเว้นความรับผิดในการรอนสิทธิของผู้ขายไว้ก็ตามเพราะเป็นผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายรู้อยู่แล้วปกปิดเสีย  ข้อยกเว้นความรับผิดนั้นจึงใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา  485

สรุป  นายเมฆฟ้องนายตะวันให้รับผิดในการรอนสิทธิได้

 

ข้อ  3   นายพรทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งของนายพรกับนายพัด  แต่ที่ดินแปลงนี้ของนายพรติดสัญญาขายฝากไว้กับนายพิศอยู่  ต่อมานายพรไม่ยอมไปไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพิศทั้งๆที่กำหนดเวลาไถ่คืนยังไม่สิ้นสุดและไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้กับนายพัด

นายพัดจึงได้มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพิศ  โดยนำเงินค่าสินไถ่ทั้งหมดไปขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพิศภายในกำหนดเวลาไถ่คืนแต่นายพิศไม่ยอมให้ไถ่  โดยอ้างว่านายพัดไม่มีสิทธิที่จะไถ่ที่ดินแปลงนี้คืน

ข้ออ้างของนายพิศรับฟังได้หรือไม่  ถ้านายพัดมาขอคำแนะนำจากท่าน  ถ้ายังอยู่ในกำหนดเวลาไถ่คืน  ท่านจะให้คำแนะนำกับนายพัดอย่างไร  นายพัดจะต้องทำอย่างไรถ้านายพิศไม่ยอมรับการไถ่

ธงคำตอบ

มาตรา  492  วรรคแรก  ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์สินที่ได้วางไว้  ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่  แล้วแต่กรณี

มาตรา  497  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้  คือ

(2) ผู้รับโอนสิทธินั้น

วินิจฉัย

นายพรทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่งของนายพรกับนายพัด  แต่ที่ดินแปลงนี้ของนายพรติดสัญญาขายฝากกับนายพิศอยู่  ต่อมานายพรไม่ยอมไปไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพิศทั้งๆที่กำหนดเวลาไถ่คืนยังไม่สิ้นสุดและไม่ยอมโอนที่ดินแปลงนี้ให้กับนายพัด  นายพัดจึงได้มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพิศ  โดยได้นำเงินค่าสินไถ่ทั้งหมดไปขอที่ดินแปลงนี้คืนจากนายพิศภายในกำหนดเวลาไถ่คืน  นายพิศจะไม่ยอมให้ไถ่ไม่ได้เพราะนายพัดเป็นผู้รับโอนสิทธิไถ่ตามสัญญาจะซื้อจะขาย  ตามมาตรา  497(2)  ข้ออ้างของนายพิศรับฟังไม่ได้  ถ้ายังอยู่ในกำหนดเวลาไถ่คืน  นายพัดจะต้องนำเงินค่าสินไถ่ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่วางตามมาตรา  492 วรรคแรก

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำกับนายพัด  ดังกล่าวข้างต้น

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายจันทร์ซื้อรถยนต์คันหนึ่งมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในราคา  300,000  บาท  ต่อมานายจันทร์ทราบว่ารถยนต์คันนี้ไม่ใช่ของนายแดง  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  แต่เป็นของนายอาทิตย์  นายจันทร์ไม่อยากได้รถยนต์คันนี้ไว้และขายต่อให้นายอังคารในราคา  250,000  บาท

นายอังคารซื้อมาได้เพียง  1  เดือน  ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ไปเพื่อคืนให้นายอาทิตย์ตามที่ได้แจ้งความไว้  หลังจากนั้นอีก  6 เดือน  นายอังคารมาขอให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธินายจันทร์กลับปฏิเสธความรับผิด

ดังนี้นายอังคารมาถามนักศึกษาว่า  นายอังคารมีสิทธิเรียกร้องให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธิได้หรือไม่  นักศึกษาจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  482  ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดังกล่าวต่อไปนี้คือ

(1) ถ้าไม่มีการฟ้องคดี  และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของผู้ซื้อเอง

มาตรา  1330  สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น  ท่านว่ามิเสียไป  ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษาหรือผู้ล้มละลาย

วินิจฉัย

นายจันทร์ซื้อรถยนต์มาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี  นายจันทร์ย่อมได้รับความคุ้มครองโดยมาตรา  1330  แม้รถยนต์คันนี้จะไม่ใช่ของนายแดงลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม  นายจันทร์ก็ไม่เสียสิทธิในรถยนต์คันนี้  นายจันทร์ขายต่อให้นายอังคาร  นายอังคารก็มีสิทธิในรถยนต์คันนี้เช่นเดียวกับนายจันทร์  แม้รถยนต์คันนี้จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปเพื่อคืนให้นายอาทิตย์  นายจันทร์ย่อมพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของนายอังคารได้สูญไปเพราะความผิดของนายอังคารเอง  ตามมาตรา  482  (1)  นายอังคารจะเรียกร้องให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

สรุป  นายอังคารจะเรียกร้องให้นายจันทร์รับผิดในการรอนสิทธิไม่ได้

 

ข้อ  2  นายไก่นำรถยนต์ซึ่งตนเก็บสะสมไว้จำนวน  20  คัน  ออกประมูลขายทอดตลาด  ในการขายครั้งนี้นายไก่แจ้งให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบโดยทั่วกันว่า  นายไก่ผู้ขายจะไม่รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิที่เกิดในรถยนต์ที่ผู้ซื้อประมูลได้ไป  นายไข่ประมูลชนะได้รถยนต์ไป  2  คัน

ซึ่งคันหนึ่งนายไก่ทราบดีว่าเป็นรถยนต์ที่ตนได้มาจากรถที่ถูกขโมยมาขายให้ตน  และอีกคันหนึ่งนั้นเครื่องยนต์ไม่ดีหลังจากนายไข่ซื้อรถยนต์ทั้ง  2  คัน  จากการขายทอดตลาดไปแล้ว  คันหนึ่งเจ้าของที่แท้จริงก็มาติดตามเอารถยนต์คืนโดยมีเอกสารแสดงชัดเจน  อีกคันหนึ่งเครื่องยนต์ก็เสียต้องซ่อมแซมอย่างใหญ่

นายไข่จะฟ้องให้นายไก่ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่อง  และการรอนสิทธิที่เกิดแก่รถยนต์  2  คันที่ซื้อทอดตลาดมาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

มาตรา  475  หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข  เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี  เพราะความผิดของผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น 

มาตรา  483  คู่สัญญาซื้อขายตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา  485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองรับผิดผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขายตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิด  ถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสม  และต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของผู้ซื้อ

อย่างไรก็ดีผู้ขายก็ไม่จำต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องได้  หากเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  473

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้รถยนต์ที่นายไข่ซื้อมาจะชำรุดบกพร่อง  แต่นายไข่จะฟ้องร้องให้นายไก่ผู้ขายรับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  เพราะเป็นการซื้อจากการขายทอดตลาด  ตามมาตรา  473  (3)  ประกอบมาตรา  472  ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้ตรวจดูทรัพย์สินก่อนซื้อขาย

ส่วนการรอนสิทธินั้นเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันอยู่ในเวลาซื้อขาย  มาขัดสิทธิให้ผู้ซื้อไม่สามารถครองทรัพย์สิโดยปกติสุขได้  ตามมาตรา  475  กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดเพราะเหตุการณ์รอนสิทธินั้น  แต่ทั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายอาจทำความตกลงกันว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพราะการรอนสิทธิก็ได้  ตามมาตรา  483

อย่างไรก็ตามข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มครองผู้ขายได้  หากการรอนสิทธินั้นเกิดขึ้นเพราะการกระทำของผู้ขายเอง  หรือผู้ขายรู้ความจริงแห่งการรอนสิทธิแล้วปกปิดเสีย  ตามมาตรา  485

ดังนั้นนายไข่สามารถฟ้องให้นายไก่รับผิดในกรณีฯรอนสิทธิได้  เพราะนายไก่ผู้ขายทราบว่าเป็นรถยนต์ที่ตนได้มาจากรถที่ถูกขโมยมาขายให้ตน  แล้วปกปิดมิแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ  แล้วยังมาทำข้อตกลงยกเว้นว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิอีก  ถือว่าผู้ขายไม่สุจริต  จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

สรุป  นายไข่ฟ้องนายไก่ให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องไม่ได้  แต่ฟ้องให้รับผิดในกรณีรอนสิทธิได้

 

ข้อ  3  นายมดนำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายปลวก  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปี  ในราคา  1  ล้านบาท  และกำหนดสินไถ่ไว้เป็นราคา  2  ล้านบาท  เมื่อเวลาผ่านไปได้เพียง  5  เดือน  นายมดเห็นว่าคงไม่มีความสามารถไถ่คืนได้ในเวลา  7  เดือนที่เหลือ  

จึงขอขยายระยะเวลาออกไปอีก  1  ปี  นายปลวกก็ยินยอมตกลงตามที่นายมดร้องขอ  เมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  10 เดือน  นับแต่ทำสัญญาขายฝากกัน  นายมดก็ไปขอไถ่บ้านและที่ดินคืนจากนายปลวกพร้อมนำเงินสินไถ่เป็นเงินหนึ่งล้านสามแสนบาทไปไถ่  นายปลวกปฏิเสธไม่ให้ไถ่คืนโดยอ้างว่า  (1)  เลยกำหนดระยะเวลาแล้ว และ  (2)  สินไถ่ไม่ครบถ้วนตามสัญญา

นายมดจะฟ้องบังคับให้นายปลวกรับไถ่โดยอ้างว่า  (1)  มีการตกลงขยายระยะเวลาในการไถ่  และ  (2)  สินไถ่ครบถ้วนแล้ว  จะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  496  การกำหนดเวลาไถ่นั้น  อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้  แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด  ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา  494  ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตามมาตรา  494

การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่  ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว  เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  499  สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันว่าเท่าใดไซร้  ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

(1) มีการตกลงขยายระยะเวลาในการไถ่จริง  และไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา  494  (1)  แต่จะฟ้องร้องบังคับคดีบังคับให้ผู้รับไถ่ปฏิบัติตามสัญญานั้นอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  และลงลายมือชื่อผู้รับไถ่เป็นสำคัญจึงจะยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับไถ่ได้  ดังนั้นนายมดจึงฟ้องให้นายปลวกรับไถ่ไม่ได้ตามมาตรา  496  วรรคสอง

(2)  สินไถ่นั้นเมื่อมีการกำหนดเกินกว่าราคาขายฝาก  กฎหมายให้สิทธิผู้รับซื้อฝากกำหนดได้ไม่เกินราคารับซื้อฝากบวกกับประโยชน์อีก  15%   เมื่อตกลงไว้  1  ปี  ขยายเป็น  2  ปี  ราคาขายฝาก  1  ล้านบาท  สินไถ่ก็ต้องเป็น  1  ล้าน  3  แสนบาท  นายปลวกจะอ้างว่าสินไถ่ไม่ครบเมื่อนายมดนำเงิน  1  ล้าน  3  แสนบาทไปขอไถ่บ้านและที่ดินคืนไม่ได้  ตามมาตรา  499  วรรคสอง

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ ภาคฤดูร้อน/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายดำไปเที่ยวทะเลเห็นที่ดินริมทะเลของนายแดงประกาศขาย  นายดำจึงได้ติดต่อนายแดงเจรจาขอซื้อ  นายแดงตกลงขายให้ในราคาสามล้านบาท  เมื่อตกลงแล้วนายดำได้ชำระราคาล่วงหน้าให้นายแดงไว้ก่อนหนึ่งแสนบาท

นายแดงก็ได้เขียนใบรับเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงนั้นให้นายดำไว้ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายทั้งคู่นัดกันอีกสองอาทิตย์  จะทำในวันที่ไปดำเนินการทางโอนจดทะเบียน  เนื่องจากนายดำจะต้องรีบกลับกรุงเทพฯ  ในเย็นวันนั้น

ต่อมาเมื่อถึงวันนัดทำสัญญาและโอนทะเบียนนายดำไปหานายแดงที่บ้านเพื่อจะรับนายแดงไปที่สำนักงานที่ดินด้วยกันจะดำเนินการจดทะเบียนโอนให้เรียบร้อย  แต่นายแดงกลับไม่ยอมโอนที่ดินแปลงนี้ให้นายดำ  ปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาขายที่ดินแปลงนี้กับนายดำแต่อย่างใด

นายดำจะฟ้องร้องบังคับให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  และสัญญาซื้อขายระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาซื้อขายประเภทไหน

 ธงคำตอบ

มาตรา  456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท  หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  456  วรรคแรก

แต่ถ้าเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์  ตามมาตรา  456  วรรคสองนั้น  จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด  หรือวางมัดจำ  หรือชำระหนี้บางส่วน  จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

หลักเกณฑ์การพิจารณา  ต้องดูว่าคู่กรณีมีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลังหรือไม่  ถ้าไม่มีเจตนาดังกล่าวก็เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  เมื่อไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาซื้อขายก็ตกเป็นโมฆะ  คู่สัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับตามสัญญาดังกล่าวไม่ได้  แต่ถ้าคู่กรณีมีเจตนาจะไปทำหนังสือและจดทะเบียนกันในภายหลังก็เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  ผู้ซื้อสามารถฟ้องบังคับให้ผู้จะขายไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนได้

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงตกลงขายที่ดินริมทะเลให้ในราคาสามล้านบาท  เมื่อตกลงแล้วนายดำได้ชำระราคาล่วงหน้าให้นายแดงไว้ก่อนหนึ่งแสนบาท  นายแดงก็ได้เขียนใบรับเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงนั้นให้นายดำไว้  ส่วนหนังสือสัญญาซื้อขายทั้งคู่นัดกันอีกสองอาทิตย์  จะทำในวันที่ไปดำเนินการทางโอนจดทะเบียน  เนื่องจากนายดำจะต้องรีบกลับกรุงเทพฯ  ในเย็นวันนั้น  ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย  เพราะคู่สัญญาไม่มีเจตนาที่จะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปในขณะทำสัญญาซื้อขายแต่มีเจตนาจะไปทำเป็นหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันในภายหลัง

ส่วนประเด็นที่ว่าจะฟ้องบังคับให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้หรือไม่  เห็นว่า  กรณีดังกล่าวนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่มีการชำระหนี้บางส่วนแล้ว  ทั้งมีใบรับเงินค่าซื้อขายที่ดินแปลงนั้นเป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือ  จึงใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีได้  ดังนั้นเมื่อนายแดงผิดสัญญาไม่ยอมไปโอนที่ดินแปลงนั้นให้นายดำ  และปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญาขายที่ดินนี้กับนายดำแต่อย่างใด  นายดำจึงฟ้องร้องให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้  ตามมาตรา  456  วรรคสอง

สรุป  นายดำจะฟ้องร้องบังคับให้นายแดงไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงนี้ได้  ตามมาตรา  456  วรรคสอง  สัญญาซื้อขายระหว่างนายดำและนายแดงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย

 

ข้อ  2  นายพันซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเครื่องไฟฟ้าแห่งหนึ่ง  เมื่อปีใหม่ร้านของนายพันจัดเทศกาลลดราคาประจำปี  นายพูนได้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องหนึ่งจากร้านของนายพันในเทศกาลปีใหม่นั้น  จากราคาป้ายของใหม่หนึ่งหมื่นบาทในเทศกาลนี้ร้านจะลดให้เหลือเพียงแปดพันบาท

เมื่อคนงานของนายพันนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องนั้นมาส่งที่บ้าน  นายพูนพบว่ามีรอยขีดข่วนอยู่ภายนอกและยังพบรอยบุบสองแห่งสภาพก็ดูเก่าเก็บเหมือนเอาเครื่องที่มีตำหนิมาขาย  แต่ระบบของเครื่องก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ  นายพูนจึงไม่ยอมรับนั้นและต้องการให้นายพันนำเครื่องใหม่มาให้ตน

แต่นายพันปฏิเสธนายพูนจะเรียกให้นายพันรับผิดและส่งมอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องใหม่ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  472  ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา  473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

วินิจฉัย

ความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินที่ขาย  ตามมาตรา  472  นั้น  ผู้ขายต้องรับผิด  ถ้าทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุขึ้น  ดังนี้

1       เสื่อมราคา

2       เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ

3       เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งหมายโดยสัญญา

ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิดนั้นต้องมีอยู่ก่อนหรือขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขายโดยผู้ซื้อไม่รู้ (ฎ. 459/2514)  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขาย  ตามมาตรา  473

กรณีตามอุทาหรณ์  ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวนายพูนผู้ซื้อพบเห็นเมื่อคนงานของนายพันนำเครื่องใช้ไฟฟ้ามาส่งที่บ้าน  ซึ่งมีรอยบุบสองแห่ง  สภาพดูเก่าเหมือนเอาเครื่องที่มีตำหนิมาขาย  แม้ระบบของเครื่องจะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติก็ตาม  นายพันผู้ขายก็ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องดังกล่าว  ตามมาตรา  472  วรรคแรก  เพราะความชำรุดบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขายโดยผู้ซื้อไม่รู้ว่ามีความชำรุดบกพร่องดังกล่าวในเวลาซื้อขาย  หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือที่มุ่งหมายโดยสัญญา  แม้ผู้ขายจะรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่  ตามมาตรา  472  วรรคท้าย  ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขายตามมาตรา  473  แต่อย่างใด

สรุป  นายพูนสามารถเรียกให้นายพันรับผิด  และส่งมอบเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องใหม่ได้  ตามมาตรา  472

 

ข้อ  3  นายไก่นำบ้านและที่ดินไปทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนขายฝากไว้กับนายไข่ในราคา  1  ล้านบาท  มีกำหนดไถ่คืนภายใน  1  ปี ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีกสิบห้าเปอร์เซ็นต่อปี  หลังจากขายฝากไปได้  6  เดือน  นายไก่ได้โทรศัพท์มาขอขยายระยะเวลาในการไถ่ถอนออกไปเป็น  2  ปี

นายไข่ไม่ตอบตกลงในทันทีแต่ขอเวลาไตร่ตรองสักระยะหนึ่งก่อน  ต่อมาอีกหนึ่งอาทิตย์นายไก่ก็ได้รับจดหมายจากนายไข่ตอบตกลงให้ขยายระยะเวลาในการไถ่เป็น  2  ปี  ตามคำขอ  เมื่อใกล้จะครบกำหนด  2  ปี  นายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิในการไถ่  พร้อมนำเงิน  1  ล้าน  1  แสน  5  หมื่นบาท  นายไข่ปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่โดยอ้างว่า (1)  กำหนดระยะเวลาตามสัญญาคือ  1  ปี  ได้สิ้นสุดลงแล้ว  และ  (2)  ถ้าว่ามีการซื้อขายเป็น  2  ปีจริง  สินไถ่ก็ไม่ครบ

(1) ข้ออ้างของนายไข่รับฟังได้หรือไม่  และ

(2) นายไก่จะฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่คืนเพราะมีการตกลงขยายระยะเวลาแล้วได้หรือไม่  และนายไก่จะต้องปฏิบัติอย่างไร  จึงจะได้ไถ่บ้านและที่ดินของตนคืน

ธงคำตอบ

มาตรา  492  ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์สินที่ได้วางไว้  ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่  แล้วแต่กรณี

มาตรา  494  ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์  กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา  496  กำหนดเวลาไถ่นั้น  อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้  แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมด  ถ้าเกินกำหนดเวลาตามมาตรา  494  ให้ลดลงมาเป็นเวลาตามมาตรา  494

การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว  เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา  497  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้  คือ

(1) ผู้ขายเดิม  หรือทายาทของผู้ขายเดิม  หรือ

มาตรา  498  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้  คือ

(1) ผู้ขายเดิม  หรือทายาทของผู้ขายเดิม  หรือ

มาตรา  499  สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันว่าเท่าใดไซร้  ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก

ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริงเกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี  ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย 

การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝาก  คู่สัญญาอาจตกลงกันก่อนถึงกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้  แต่ทั้งนี้กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสิบปี  ถ้าเกินกำหนดสิบปี  ให้ใช้บังคับได้เพียงสิบปีเท่านั้น  ตามมาตรา  494 (1)  และมาตรา  496  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่ากำหนดระยะเวลาไถ่ตามสัญญาคือ  1  ปีได้สิ้นสุดแล้ว รับฟังได้หรือไม่  เห็นว่า  หลังจากนายไก่จดทะเบียนขายฝากไปได้  6  เดือน  นายไก่ได้โทรศัพท์มาขอขยายระยะเวลาในการไถ่ออกเป็น  2  ปี  และนายไข่ก็ตอบจดหมายตกลงให้ขยายระยะเวลาไถ่ได้  ดังนี้จะเห็นว่านายไก่และนายไข่คู่สัญญาได้ตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ก่อนกำหนดเวลาไถ่เดิมโดยขยายเวลาไถ่ไปอีก  1  ปี  รวมเป็น  2  ปี  ซึ่งไม่เกิน  10  ปี  ตามมาตรา  494  (1)  ทั้งนี้มีจดหมายของนายไข่เป็นหลักฐานที่เป็นหนังสือชื่อนายไข่ผู้รับไถ่  การขยายกำหนดเวลาไถ่เป็น  2  ปี  จึงใช้บังคับตามกฎหมายได้  ตามมาตรา  496  ข้ออ้างของนายไข่ในประเด็นนี้จึงรับฟังไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่าถ้ามีการขยายเวลาไถ่เป็น  2  ปีจริง  สนไถ่ก็ไม่ครบ  รับฟังได้หรือไม่  ข้อเท็จจริงมีว่า  นายไก่จดทะเบียนขายฝากบ้านและที่ดินในราคา  1  ล้านบาทมีกำหนดเวลาไถ่คืนภายใน  1  ปี  ในราคาเดิมบวกประโยชน์อีกร้อยละ  15  ต่อปี  ซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา  499  วรรคสอง  ดังนั้นหากนายไก่ต้องการไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากภายใน  1  ปี  นายไก่จะต้องนำเงินสินไถ่มาไถ่ทรัพย์คืน  1,150,000  บาท  อย่างไรก็ดีเมื่อมีการขยายระยะเวลาในการไถ่เป็น  2  ปี  และการขยายเวลาไถ่ดังกล่าวใช้บังคับตามกฎหมายได้  หากนายไก่ต้องการไถ่ทรัพย์คืนต้องนำประโยชน์ตอบแทนอีกร้อยละ  15  ต่อปี  มาไถ่คืน  ดังนั้นนายไก่ต้องนำสินไถ่รวมทั้งสิ้น  1,300,000  บาท  มาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากคืน  หากไม่ครบ  นายไข่มีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมให้ไถ่ทรัพย์คืนได้  ข้ออ้างในประเด็นดังกล่าวจึงรับฟังได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  นายไก่จะฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่คืนเพราะมีการตกลงขยายเวลาไถ่แล้วได้หรือไม่  เห็นว่า เมื่อผู้ขายฝากได้ใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว  ผู้ซื้อฝากต้องรับการไถ่  ถ้าผู้ซื้อฝากไม่ยอมให้ไถ่ถอน  หรือไม่ยอมรับสินไถ่  ผู้ขายฝากมีสิทธิฟ้องร้องให้ผู้ซื้อฝากจดทะเบียนไถ่การขายฝากโอนที่ดินคืนให้ผู้ขายฝากได้  และถือว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่โดยชอบแล้ว  แต่กรณีตามอุทาหรณ์  นายไก่ได้ไปขอใช้สิทธิในการไถ่พร้อมนำเงิน  1,150,000  [ท  มาขอไถ่  ดังนี้แม้นายไก่ซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา  497 (1)  จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์คืนต่อนายไข่ผู้รับไถ่ตามมาตรา  498  (1)  ภายในกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายเป็น  2  ปีก็ตาม  แต่สินไถ่ที่นำมาไถ่คืนนั้นไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้  คือ  1,300,000  บาท  ถือว่ายังไม่เป็นการใช้สิทธิไถ่ทรัพย์โดยชอบ  จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่ทรัพย์คืนได้  (ฏ. 407/2540)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า  นายไก่จะต้องปฏิบัติอย่างไร  จึงจะได้ไถ่บ้านและที่ดินของตนคืน  เห็นว่า  นายไก่จะต้องนำสินไถ่  1,300,000  บาท  ไปแสดงเจตนาขอไถ่ทรัพย์คืนต่อนายไข่ผู้รับไถ่  ตามมาตรา  498  (1)  ภายในกำหนดเวลา  2  ปี  นับแต่เวลาขายฝาก  จึงจะเป็นการใช้สิทธิไถ่โดยชอบ  อย่างไรก็ตามหากนายไข่ผู้รับไถ่ไม่ยอมให้ไถ่ถอนหรือไม่ยอมรับสินไถ่  นายไก่ผู้ไถ่ก็มีสิทธิที่จะวางสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้  ในกรณีเช่นนี้ให้ทรัพย์สินที่ขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่  แล้วแต่กรณี

สรุป

1)    ข้ออ้างของนายไข่ที่ว่ากำหนดระยะเวลาตามสัญญาคือ  1  ปีนั้นสิ้นสุดลงแล้วรับฟังไม่ได้  แต่ข้ออ้างว่าสินไถ่ไม่ครบรับฟังได้

2)    นายไก่ไม่สามารถฟ้องให้นายไข่ยอมให้ตนไถ่ทรัพย์คืนเพราะมีการขยายระยะเวลาไถ่คืนได้และนายไก่ต้องนำสินไถ่  1,300,000  [ท  ไปขอไถ่กับนายไข่ภายในกำหนดเวลาไถ่  หรือวางสินไถ่  ณ  สำนักงานวางทรัพย์

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ สอบซ่อมภาค 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1.       นายจันทร์ขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) ของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคารในราคา 1 ล้านบาท  และนายจันทร์ได้ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารพร้อมกับรับชำระราคา  นายอังคารอยู่ในที่แปลงนี้มาได้ 1 ปี นายจันทร์นำที่ดินแปลงนี้ไปออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อนายจันทร์  และนายจันทร์ได้จดทะเบียนโอนขายให้นายพุธในราคา 3 ล้านบาท  นายพุธซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต นายพุธจะเข้าไปอยู่ในที่แปลงนี้แต่ถูกนายอังคารขัดขวาง  นายพุธขอให้นายอังคารออกไป มิฉะนั้นจะฟ้องขับไล่ นายอังคารไม่ยอมออก ทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้  และมาขอให้ท่านชี้ขาดตัดสินข้อพิพาท

ดังนี้  ตามข้อเท็จจริงนี้ ท่านจะตัดสินข้อพิพาทระหว่างนายอังคารกับนายพุธอย่างไร  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย 

มาตรา 456 วรรค 1 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรื่อมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย 

มาตรา 1378  การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แต่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 456 วรรค 1  แต่ที่ดิน นส.3 เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง นายจันทร์ส่งมอบให้นายอังคารถือว่านายจันทร์สละสิทธิครอบครอง และนายอังคารได้สิทธิครอบครองตามมาตรา 1378  นายจันทร์หาได้นำที่ดินของตนไปออกโฉนดที่ดินแต่นำที่ดินของนายอังคารไปออกโฉนดเป็นชื่อตน  

นายจันทร์ย่อมไม่มีสิทธิในที่แปลงนี้  แม้นายพุธจะซื้อโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต นายพุธก็มีสิทธิเพียงเท่าที่นายจันทร์มีอยู่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน นายพุธย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ดีกว่านายอังคาร  นายพุธต้องออกไปจากที่ดินแปลงนี้

 

ข้อ 2.       จันทร์กับอังคารจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงหนึ่งของจันทร์ให้อังคารในราคา 100,000 บาท  ตอนที่ตกลงเจรจาซื้อขายก่อนที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้กัน อังคารบอกกับจันทร์ว่า ตนรับซื้อที่ดินแปลงนี้เป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยจันทร์เรื่องเงินทองที่จันทร์กำลังมีปัญหาอยู่เท่านั้น

เมื่อขายให้ตนแล้วถ้าจันทร์มีเงินตามราคาที่ขายให้ตนเมื่อใดตนก็ยินดีที่จะให้จันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้ แต่ตอนที่โอนจดทะเบียนไม่ได้จดทะเบียนข้อตกลงนี้ด้วย  ต่อมาเมื่อจันทร์ขายที่ดินแปลงนี้ไปให้อังคารได้ห้าปี จันทร์ได้นำเงิน 100,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากอังคาร  อังคารจะไม่ยอมให้นายจันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้กลับคืนไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

มาตรา 456  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อหรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  หรือได้วางประจำไว้  หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้  ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท  หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

วินิจฉัย

จันทร์กับอังคารจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงหนึ่งของจันทร์ให้อังคารในราคา 100,000 บาท ตอนที่   ตกลงเจรจาซื้อขายก่อนที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้กัน อังคารบอกกับจันทร์ว่า ตนยินดีรับซื้อที่ดินแปลงนี้ชั่วคราง เพื่อช่วยจันทร์เรื่องเงินทองที่จันทร์กำลังมีปัญหาอยู่เท่านั้น เมื่อขายให้ตนแล้วถ้าจันทร์มีเงินตามราคาที่ขายให้ตนเมื่อใด ตนก็ยินดีที่จะให้จันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้ แต่ตอนที่โอนจดทะเบียนไม่ได้จดทะเบียนข้อตกลงนี้ด้วย ต่อมาเมื่อจันทร์ขายที่ดินแปลงนี้ไปให้อังคารได้ห้าปี นายจันทร์ได้นำเงิน 100,000 บาท มาขอไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนจากนายอังคาร นายอังคารจะไม่ยอมให้นายจันทร์ไถ่ที่ดินแปลงนี้กลับคืนไปได้ เพราะสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้เป็นสัญญาซื้อขาย (สำเร็จบริบูรณ์) เสร็จเด็ดขาดที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 456 วรรค 1 และไม่ใช่สัญญาขายฝาก เพราะข้อตกลงซื้อคืนนั้นไม่ได้จดไว้ในทะเบียนด้วย การให้สัญญาด้วยวาขาว่าจะขายคืนให้นั้นไม่เป็นคำมั่นที่จะใช้บังคับได้ตามมาตรา 456 วรรค 2

 

ข้อ 3.       บริษัทแห่งหนึ่ง ต้องการนำรถยนต์ของบริษัทบางคันที่เก่าแล้วออกประมูลขายทอดตลาด  จึงได้จ้างบริษัทขายทอดตลาดที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง ให้เป็นผู้ดำเนินการประมูลขายทอดตลาด  โดยบริษัทก็ทราบว่ารถยนต์ของบริษัททุกคันที่นำมาประมูลขายทอดตลาดนั้นเป็นรถที่เก่าและชำรุด ดำประมูลซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดครั้งนั้นได้คันหนึ่ง

เมื่อนำรถยนต์คันนั้นออกใช้จึงรู้ว่ารถยนต์มีความชำรุดมากถ้าจะซ่อมต้องเสียค่าซ่อมมาก  จึงได้นำรถยนต์คันนั้นออกขายต่อให้แดง  ดังนี้ อยากทราบว่าดำจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นำออกขายรับผิดได้หรือไม่ และแดงจะเรียกร้องให้ดำให้รับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด อายุความเท่าใด

แนวคำตอบ 

มาตรา 472  ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี  ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี  ท่านว่า  ผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้  ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน

(2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ  และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน

(3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

วินิจฉัย

บริษัทแห่งหนึ่ง ต้องการนำรถยนต์ของบริษัทบางคันที่เก่าแล้วออกประมูลขายทอดตลาด จึงได้จ้างบริษัทขายทอดตลาดโดยได้รับใบอนุญาตถูกต้องให้เป็นผู้ดำเนินการประมูลขายทอดตลาด โดยบริษัทก็ทราบว่ารถยนต์ของบริษัททุกคันนั้นที่นำมาประมูลขายทอดตลาดนั้นเป็นรถที่เก่าและชำรุด ดำประมูลซื้อรถยนต์จากการขายทอดตลาดครั้งนั้นได้คันหนึ่ง ดำจะเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของรถยนต์ที่นำออกขายรับผิดไม่ได้ ตามมาตรา 473(3) แม้ทรัพย์ที่ซื้อจะชำรุดบกพร่องก็ตาม แต่เมื่อดำนำรถยนต์คันนั้นออกขายต่อให้แดง ถ้าแดงไม่ทราบว่ารถยนต์คันนั้นชำรุดบกพร่อง และแดงได้ใช้ความระมัดระวังในการรับมอบทรัพย์สินในระดับวิญญูชน และเป็นความชำรุดบกพร่องที่ไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบและผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยไม่ได้อิดเอื้อน และสัญญาซื้อขายระหว่างแดงและดำไม่ใช้เป็นการขายทอดตลาด แดงจะเรียกร้องให้ดำให้รับผิดได้ตามมาตรา 472 และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 473 แดงจึงฟ้องให้ดำรับผิดเพื่อการชำรุดบกพร่องได้

LAW2005 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ 1/2551

การสอบไล่ภาคฤดู  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2005 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

 ข้อ 1.       นายจันทร์ขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) ของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคาร ในราคา 8 แสนบาท และนายจันทร์ได้ส่งมอบให้นายอังคารพร้อมกับรับชำระราคา นายอังคารอยู่ในที่แปลงนี้มาได้ 6 เดือน นายจันทร์ยังนำที่แปลงนี้ไปจดทะเบียนโอนขายให้นายพุธในราคา 1 ล้านบาทอีก นายพุธซื้อโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริต หลังจากนั้นอีก 2 วัน นายอังคารถูกนายพุธฟ้องขับไล่

ดังนี้ ถ้านายอังคารมาถามท่านว่า นายอังคารมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้หรือไม่ ท่านจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ            

หลักกฎหมาย  

มาตรา 456 วรรค 1  การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ  วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรื่อมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป  ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย 

มาตรา 1378  การโอนไปซึ่งการครอบครองนั้นย่อมทำได้โดยส่งมอบทรัพย์สินที่ครอบครอง

สัญญาระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  คู่สัญญาหาได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ  ถือว่าสัญญาเป็นอันไม่มีไม่เกิด และคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามมาตรา 456 วรรค 1   แต่ที่ดิน นส.3 เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง  นายจันทร์ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครอง  นายอังคารย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง  นายอังคารย่อมมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ ตามมาตรา 1378   

 

ข้อ 2.       แสงประมูลซื้อเครื่องถ่ายเอกสารของเสียง จากการทอดตลาดจำนวนสี่เครื่อง ราคาเครื่องละ 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายเสียงผู้ขายไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิในเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมด

เมื่อประมูลได้แล้วเสียงจึงจัดการส่งเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมดไปให้แสง แต่ขณะส่งของคนงานของเสียงได้ทำเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องหนึ่งชำรุด อีกเครื่องหนึ่งสี่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมายึดคืนไปโดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาจากร้านของสี่ แล้วนำมาขายต่อให้เสียงโดยเสียงเองก็ไม่รู้

และเสียงได้นำมาทอดตลาด แสงจึงได้รับเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสารเพียงสองเครื่อง ส่วนเครื่องที่ชำรุด แสงจะให้คนงานของเสียงกลับไปเปลี่ยนเอาเครื่องใหม่มาแทนได้หรือไม่ และแสงจะเรียกร้องเสียงในเครื่องที่ถูก   เจ้าพนักงานตำรวจยึดคืนไปได้เพียงใด

แนวคำตอบ            

มาตรา 483  คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้

มาตรา 484  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ย่อมไม่คุ้มผู้ขายให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา  เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา 485  ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้น  ไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขายได้กระทำไปเอง  หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้

ขายได้รู้อยู่แล้วและปกปิดเสีย

 มาตรา 473  ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(3)  ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด

แสงประมูลซื้อเครื่องถ่ายเอกสารของเสียง  จากการทอดตลาดจำนวนสี่เครื่อง ราคาเครื่องละ 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายเสียงผู้ขายไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิในเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมด  เมื่อประมูลได้แล้วจึงจัดการส่งไปให้แสง  แต่ขณะส่งของ คนงานของเสียงได้ทำเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องหนึ่งชำรุด  ในกรณีความชำรุดบกพร่องแม้มีข้อตกลงยกเว้นความรับผิด แต่เป็นการที่ผู้ขายหรือตัวแทนของผู้ขายได้กระทำไปเองซึ่งยังต้องรับผิดตามมาตรา 485  แต่เนื่องจากเป็นการขายทอดตลาด  ผู้ขายจึงไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่อง แต่เรียกร้องให้รับผิดในการส่งมอบทรัพย์ไม่เป็นไปตามสภาพในเวลาที่จะส่งมอบตาม ม. 32391  ถ้าทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาด ตามมาตรา 473 (3) 

ส่วนเครื่องถ่ายเอกสารอีกเครื่องหนึ่ง  สี่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมายึดคืนไปโดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาจากร้านของสี่  นายแสงจึงถูกรอนสิทธิ เมื่อมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดไว้ตามมาตรา 483  และไม่เข้าตามมาตรา 485   เสียงจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิต่อนายแสง  ดังนั้น แสงให้คนงานของเสียงกลับไปเปลี่ยนเอาเครื่องใหม่มาแทนไม่ได้  จะเรียกร้องให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ไม่ได้ตาม 473 (3) แต่เรียกร้องให้รับผิดตาม ม. 323 ว.1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  และจะเรียกร้องให้เสียงรับผิดในเครื่องที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดคืนไปก็ไม่ได้เช่นกัน  เพราะสัญญาซื้อขายมีข้อตกลงให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ และเสียงผู้ขายก็ไม่ทราบถึงการรอนสิทธินั้นๆ  แต่ไม่คุ้มผู้ขายให้ส่งเงินคืนตามราคา  มาตรา 1484  

 


ข้อ 3.       อาทิตย์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของอาทิตย์ไว้กับจันทร์ ในทะเบียนได้ระบุให้พุธเป็นผู้มีสิทธิไถ่คืน

ต่อมาทั้งจันทร์และพุธตาย ศุกร์ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของพุธได้นำเงินสินไถ่ทั้งหมดมาไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนกับพฤหัส ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของจันทร์เช่นกัน ในขณะที่กำหนดเวลาไถ่คืนยังไม่สิ้นสุด แต่พฤหัสไม่ยอมรับอ้างว่าศุกร์ไม่มีสิทธิไถ่ทรัพย์คืน

ศุกร์จึงได้นำเงินค่าสินไถ่ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ ก่อนที่จะพ้นกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่วางไว้ ศุกร์จะไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้หรือไม่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ได้โอนมายังศุกร์แล้วหรือยัง

แนวคำตอบ            

 มาตรา 492  ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์สินที่ได้วางไว้  ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่  แล้วแต่กรณี

มาตรา 497  สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้  คือ

(3)  บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้

มาตรา 498สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น  จะพึงใช้ได้เฉพาะบุคคลเหล่านี้  คือ

(1) ผู้ขายเดิม  หรือทายาทของผู้ขายเดิม  หรือ

                อาทิตย์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของอาทิตย์ไว้กับจันทร์  ในทะเบียนได้ระบุให้พุธเป็นผู้มีสิทธิไถ่คืน  พุธจึงเป็นผู้มีสิทธิไถ่คืนมาตรา 497 (3)  เมื่อพุธตาย สิทธิไถ่จึงตกไปยังทายาทของพุธคือศุกร์  ตามกฎหมายมรดกเพราะสิทธิไถ่เป็นสิทธิที่ตกทอดมรดกได้  เมื่อศุกร์นำสินไถ่ทั้งหมดมาไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนดเวลาไถ่  ศุกร์จึงมีสิทธิไถ่ต่อพฤหัสซึ่งเป็นทายาทของจันทร์ตามมาตรา 478 (1)  พฤหัสจึงต้องยอมให้ศุกร์ไถ่ที่ดินแปลงนั้นคืน  พฤหัสจะไม่ยอมรับไถ่โดยอ้างว่าศุกร์ไม่มีสิทธิไถ่ทรัพย์คืนไม่ได้  และเมื่อศุกร์ได้นำเงินค่าสินไถ่ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนที่จะพ้นกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่วาง  กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ได้โอนมายังศุกร์แล้วโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 492

WordPress Ads
error: Content is protected !!