การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  แดนขับรถยนต์อยู่ช่องเดินรถทางซ้าย  ก้องขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์ของแดน  ก้องพยายามจะขึ้นแซงรถยนต์ของแดน  แต่แดนเบนรถยนต์มาทางขวา  ก้องแซงไม่ได้  พอได้จังหวะที่รถยนต์ของแดนอยู่ช่องเดินรถทางซ้าย

ก้องเร่งเครื่องยนต์แซงขวารถยนต์ของแดนแล้วแกล้งเบียดรถยนต์แดนจนรถยนต์ของแดนตกไหล่ทาง  ทำให้ชมพู่ที่นั่งมาในรถยนต์ของแดนได้รับบาดเจ็บ  และรถยนต์ของแดนเสียหลักไปชนรถจักรยานยนต์ที่ตุ้มขี่มาล้มลง  ตุ้มได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  ก้องต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ความรับผิดทางอาญาของก้อง  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของก้องต่อชมพู่ 

การที่ก้องเร่งเครื่องยนต์แซงขวารถยนต์ของแดนแล้วแกล้งเบียดรถยนต์แดนจนรถยนต์ของแดนตกไหล่ทาง  ทำให้ชมพู่ที่นั่งมาในรถยนต์ของแดนได้รับบาดเจ็บนั้น  ถือว่า  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  กล่าวคือ  ก้องย่อมเล็งเห็นได้ว่าการที่ตนแกล้งเบียดรถยนต์แดนจนรถยนต์ของแดนตกไหล่ทางนั้น  ย่อมทำให้ผู้ที่นั่งมาในรถยนต์ของแดนได้รับบาดเจ็บ  ดังนั้น  การกระทำของก้องจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ก้องจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อชมพู่ ตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของก้องต่อตุ้ม 

การที่รถยนต์ของแดนเสียหลักไปชนรถจักรยานที่ตุ้มขี่มาล้มลง  จนทำให้ตุ้มได้รับบาดเจ็บอีกด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่ก้องเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าก้องกระทำโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นด้วย  ดังนั้น  ก้องจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อตุ้ม  เพราะได้กระทำต่อตุ้มโดยเจตนาโดยพลาดไปตามมาตรา  60

สรุป  ก้องต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อชมพู่โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  และรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อตุ้มโดยเจตนาโดยพลาดไป  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  60

 

ข้อ  2  เสริมศักดิ์และสมศรีเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  เสริมศักดิ์ไปที่บ้านของสดใสมารดาของสมศรี  เห็นสร้อยคอทองคำเส้นหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้ง  เสริมศักดิ์ไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าเป็นสร้อยคอทองคำของสมศรีภริยาคงเอามาฝากมารดา  เสริมศักดิ์ต้องการลักทรัพย์ภริยาอยู่แล้ว  จึงเอาสร้อยคอทองคำเส้นนั้นไปขายเพื่อนำเงินมาเล่นการพนัน

ดังนี้  เสริมศักดิ์ต้องรับผิดและรับโทษทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริง  ตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า  การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

มาตรา  71  วรรคแรก  ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  334  ถึงมาตรา  336  วรรคแรก  และมาตรา  341  ถึงมาตรา  364  นั้น  ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา  หรือภริยากระทำต่อสามี  ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เสริมศักดิ์ลักเอาสร้อยคอทองคำของสดใสไปขายนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นคือ  สร้อยคอทองคำที่ตนลักไป  ดังนั้นการกระทำของเสริมศักดิ์จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งกรณีนี้เสริมศักดิ์จะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อสดใสไม่ได้  ตามมาตรา  61  เพราะสามีลักทรัพย์ของภริยาก็เป็นความผิดอยู่แล้ว  เพียงแต่ได้รับยกเว้นโทษตามมาตรา  71  วรรคแรก  ดังนั้น  เสริมศักดิ์จึงต้องรับผิดทางอาญาต่อสดใสฐานกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เสริมศักดิ์ลักเอาทรัพย์ของสดใสไปโดยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของสมศรีภริยาของตนนั้น  ถือเป็นกรณีที่เสริมศักดิ์สำคัญผิดในข้อเท็จจริง  กล่าวคือ  สำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของสมศรีซึ่งไม่มีอยู่จริง  แต่เสริมศักดิ์สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีอยู่จริงแล้วจะทำให้เสริมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษ  ตามมาตรา  71  วรรคแรก  ดังนั้น  เสริมศักดิ์จึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  62  วรรคแรก  แม้ความสำคัญผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยความประมาทของเสริมศักดิ์  เพราะไม่พิจารณาดูให้ดีก็ตาม  เสริมศักดิ์ก็ไม่ต้องรับโทษเพราะความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น  ตามมาตรา  62  วรรคสอง

สรุป  เสริมศักดิ์ต้องรับผิดทางอาญาต่อสดใสฐานกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเสริมศักดิ์สำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา  61  วรรคแรก

 

ข้อ  3  เอกและหนึ่งทะเลาะมีปากเสียงกัน  เอกกล่าวต่อหนึ่งว่า  เอกจะฆ่าหนึ่ง  วันหนึ่งเอกไปดักยิงหนึ่ง  และบริเวณนั้นก็มีเก่งมาดักยิงนกอยู่ด้วย  เอกเห็นหนึ่ง  เอกใช้ปืนยิงไปที่หนึ่ง  หนึ่งได้ยินเสียงปืนจึงล้มตัวลง  กระสุนปืนไม่ถูกหนึ่ง  พอหนึ่งลุกขึ้นได้เห็นเก่งกำลังยกปืนเล็งไปที่นก  หนึ่งเข้าใจว่าเป็นเอกจะยิงซ้ำมาที่ตนอีก  หนึ่งจึงชักปืนยิงไปที่เก่ง  กระสุนปืนถูกเก่งตาย  แล้วยังเลยไปถูกยอดที่นั่งอยู่หลังพุ่มไม้ตายด้วย

ดังนี้  เอกละหนึ่งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะอ้างเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เอกและหนึ่งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะอ้างเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดได้บ้างนั้น  แยกพิจารณาได้ดังนี้  คือ

กรณีของเอก

การที่เอกใช้ปืนยิงไปที่หนึ่งนั้น  เอกได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และขณะเดียวกัน  ก็ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  คือความตายของหนึ่ง  การกระทำของเอกจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เมื่อปรากฏว่าเอกได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะหนึ่งล้มตัวหลบได้ทันจึงไม่ถึงแก่ความตาย  เอกจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

กรณีของหนึ่ง

การที่หนึ่งชักปืนยิงไปที่เก่ง  ถือว่าหนึ่งได้กระทำต่อเก่งโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การที่หนึ่งใช้ปืนยิงเก่งนั้น  เป็นเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเอกจะยิงซ้ำมาที่ตนอีก  ซึ่งหากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงตามที่หนึ่งเข้าใจแล้ว  การกระทำของหนึ่งย่อมไม่เป็นความผิด  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  กล่าวคือ  เป็นการที่หนึ่งกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  ดังนั้น  หนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรก

และเมื่อการกระทำของหนึ่ง  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  แม้กระสุนปืนจะเลยไปถูกยอดตาย  ซึ่งถือเป็นกรณีที่หนึ่งเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  และกฎหมายให้ถือว่าหนึ่งเจตนากระทำต่อยอดโดยพลาดไปตามมาตรา  60  ก็ตาม  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปย่อมถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรกด้วย  ดังนั้น  หนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อยอด

สรุป  เอกต้องรับผิดทางอาญาต่อหนึ่งฐานพยายามฆ่าหนึ่งตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

หนึ่งไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่งและยอด  เพราะหนึ่งกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62 วรรคแรก

 

ข้อ  4  กันต้องการฆ่าโต  กันโทรศัพท์ไปหาใหญ่เพื่อขอยืมอาวุธปืน  ระหว่างทางที่กันไปรับอาวุธปืนจากใหญ่  กันได้พบกับสมพร  สมพรได้จ้างให้กันไปฆ่าโต  โดยไม่ทราบว่ากันเองต้องการฆ่าโตอยู่ก่อนแล้ว  กันตอบตกลงและสมพรได้จัดหาอาวุธปืนให้กันด้วย  กันได้อาวุธปืนจากสมพรแล้ว  เดินทางไปฆ่าโต  กันเห็นโตจึงเดินตามหลังไป  พอได้ระยะที่จะยิงได้  กันชักปืนออกจากเอวเพื่อจะยิงโต  โดยยังมิทันยกปืนจ้องยิงไปที่โต  มีคนวิ่งมาชนกันเสียก่อน  กันจึงไม่ได้ยิงโต  ดังนี้  กันและสมพรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  กันและสมพรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของกัน

ตามบทบัญญัติมาตรา  59  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่าโดยปกติบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำการซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด  ซึ่งคำว่าได้มีการกระทำนี้  จะต้องเลยขั้นตระเตรียมการมาจนถึงขั้นลงมือกระทำแล้วแต่กรณีตามข้อเท็จจริง  ขณะที่กันชักปืนออกจากเอวเพื่อจะยิงโต  มีคนวิ่งมาชนกันเสียก่อน  โดยที่กันยังมิทันยกปืนจ้องยิงไปที่โต  การกระทำของกันจึงอยู่เพียงขั้นตระเตรียมการเท่านั้น  ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด  เพราะยังไม่ถือว่าใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จ  ดังนั้น  กันจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อโต ตามมาตรา  59  วรรคแรก

กรณีของสมพร

การที่สมพรได้จ้างให้กันไปฆ่าโตนั้น  ไม่ถือว่าเป็นการ  “ก่อ”  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการจ้าง  เพราะกันต้องการฆ่าโตอยู่ก่อนแล้ว  ดังนั้น  สมพรจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84 

ส่วนกรณีที่สมพรได้จัดหาอาวุธปืนให้กันนั้น  ถึงแม้จะเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการกระทำความผิด  แต่เมื่อปรากฏว่ากันยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิด  สมพรจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป  กันไม่ต้องรับผิดทางอาญา  สมพรไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้และผู้สนับสนุน

Advertisement