การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อใด  จงอธิบายหลักกฎหมาย  ข้อยกเว้น  และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

อธิบาย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำ  ซึ่งการกระทำ  หมายถึง  การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจนั่นเอง  และการกระทำยังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกด้วย  ดังจะเห็นได้จากมาตรา  59  วรรคห้า  ซึ่งบัญญัติว่า  การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

และโดยหลักทั่วไป  การกระทำซึ่งจะทำให้บุคคลผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญานั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา  คือ  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคสอง

การกระทำโดยเจตนา  แบ่งออกเป็น  2  กรณี  คือ

1       การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ซึ่งจะประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการคือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  หมายถึง  การรู้ถึงการเคลื่อนไหวหรือการไม่เคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง  และ

(2) ในขณะกระทำ  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  ในขณะกระทำ  นอกจากจะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกแล้ว ผู้กระทำยังมีความประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นๆตามที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้เกิดขึ้นด้วย

ตัวอย่าง  แดงต้องการฆ่าดำ  จึงใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้การที่แดงใช้ปืนยิงไปที่ดำถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  และความตายของดำถือว่าเป็นผลที่แดงประสงค์จะให้เกิดขึ้น

2       การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการ  คือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และ

(2) ในขณะกระทำผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  เป็นการกระทำที่ผู้กระทำมิได้ประสงค์ต่อผล  กล่าวคือ  มิได้มุ่งหมายให้เกิดผลขึ้น  แต่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง  แดงเชื่อว่าดำเป็นคนอยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้า  จึงทดลองใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้  การที่แดงใช้ปืนยิงดำ  แดงไม่มีความประสงค์จะให้ดำตายเป็นเพียงการทดลองความอยู่ยงคงกระพันเท่านั้น  แต่การกระทำของแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่า  ถ้ากระสุนถูกดำย่อมทำให้ดำตายได้  จึงถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าดำโดยย่อมเล็งเห็นผล

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  มีข้อยกเว้นว่า  บุคคลอาจจะต้องรับผิดในทางอาญา  แม้จะมิได้กระทำโดยเจตนาก็ได้  ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยประมาท  เช่น  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เป็นต้น  หรือ

(2) เป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง  ให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  (ความผิดเด็ดขาด)  เช่น  การกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร  เป็นต้น  หรือ

(3) เป็นการกระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้  แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  ก็เป็นความผิด  เว้นแต่  ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น  (มาตรา  104)

 

ข้อ  2  อย่างไร  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  จงอธิบายหลักกฎหมาย  และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

อธิบาย

ตามบทบัญญัติมาตรา  68  การกระทำที่จะถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะมีผลทำให้ผู้กระทำไม่มีความผิด  ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์  ดังต่อไปนี้  คือ

1       ต้องมีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  หมายความถึง  ภยันตรายนั้นจะต้องเกิดจากการประทุษร้ายและการประทุษร้ายจะมีได้เฉพาะแต่การกระทำของบุคคลเท่านั้น

ภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย  หมายความว่า  เป็นภัยอันเกิดจากการกระทำของบุคคลโดยไม่มีอำนาจอันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งก็ได้

2       ภยันตรายนั้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

ภยันตรายที่ใกล้จะถึงนี้  มีความหมายอยู่ในตัวว่าไม่จำเป็นที่จะต้องให้ภัยนั้นเกิดขึ้นแก่ตัวผู้ที่จะต้องประสบเสียก่อน  การป้องกันเป็นการกระทำเพื่อมิให้ภัยนั้นเกิดขึ้นจริงแก่ผู้ต้องประสบภัยตามที่ผู้ก่อภัยประสงค์จะกระทำ  กล่าวคือ  ถ้าไม่กระทำการป้องกันเสียแต่ขณะใดภัยอาจเกิดขึ้นแล้ว  ก็ย่อมป้องกันได้ตั้งแต่ขณะนั้น

3       ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน  หรือของผู้อื่น  ให้พ้นภยันตรายนั้น

จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น  คำว่า  สิทธิ  หมายความถึงประโยชน์อันบุคคลมีอยู่โดยกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้  สิทธินี้อาจจะเกี่ยวกับชีวิต  ร่างกาย  ทรัพย์สิน  เสรีภาพ  หรือเกียรติยศชื่อเสียงก็ได้  เพราะบุคคลย่อมมีสิทธิในอันจะไม่ให้ผู้ใดมาละเมิดในสิ่งดังกล่าวของตน 

พ้นจากภยันตราย  หมายความว่า  เมื่อมีผู้ก่อภัยขึ้น  ผู้ประสบภัยชอบที่จะกระทำการป้องกันเพื่อให้ภัยนั้นพ้นจากตัวผู้ประสบภัย  เช่น  ดำเงื้อมีดจะฟันแดง  แดงจึงใช้ไม้ตีข้อมือดำ  เพื่อให้มีดหลุดจากมือ  ดังนี้  การที่แดงใช้ไม้ตีข้อมือดำ  ก็เพื่อให้ภัยที่ดำก่อขึ้นพ้นไปจากตัวแดง

อย่างไรก็ดี  ตามหลักเกณฑ์ข้อ  3  ดังกล่าว  มีข้อยกเว้นอยู่  3  ประการที่ผู้กระทำอ้างป้องกันไม่ได้  คือ

1)    ผู้ที่เป็นต้นเหตุของภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย

2)    ผู้ที่สมัครใจวิวาทต่อสู้กัน

3)    ผู้ที่สมัครใจยินยอมให้ผู้อื่นกระทำความผิดต่อตน  และอ้างว่าจำเป็นต้องกระทำต่อผู้อื่นเพื่อป้องกันตนเองไม่ได้

4       ต้องได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

การกระทำป้องกันพอสมควรแก่เหตุ  ประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการคือ

1)    ผู้ป้องกันได้ป้องกันสิทธิของตน  หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายนั้นด้วยวิถีทางที่น้อยที่สุดเท่าที่จำต้องกระทำ  เช่น  ดำเป็นง่อยไปไหนไม่ได้  แดงจึงเขกหัวดำเล่น  โดยเห็นว่าดำไม่มีทางกระทำตอบได้  ดำห้ามปรามเท่าใดแดงก็ไม่เชื่อฟัง  ถ้าการที่ดำจะป้องกันมิให้แดงเขกหัวมีวิธีเดียวคือ  ใช้มีดแทงแดงต้องถือว่า  การที่ดำใช้มีดแทงแดงนี้เป็นการกระทำพอสมควรแก่เหตุเพราะเป็นวิธีทางน้อยที่สุดที่จะป้องกันได้

2)    ผู้ป้องกันได้กระทำการป้องกันโดยได้สัดส่วนกับภยันตราย  ให้พิจารณาว่าอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นถ้าหากไม่ป้องกันจะได้สัดส่วนกับอันตรายที่ผู้กระทำได้กระทำเนื่องจากการป้องกันนั้นหรือไม่  เช่น  คนเขาจะตบหน้าเราเราจะใช้มีดแทงเขาตายไม่ได้  เพราะความเจ็บอันเนื่องจากการถูกตบหน้า  เมื่อมาเทียบกับความตายแล้วไม่ได้สัดส่วนกัน  ฉะนั้นจึงถือว่าการเอามีดแทงเขาตายนี้เป็นการกระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ  จึงไม่มีอำนาจทำได้

 

ข้อ  3  วรชัยต้องการฆ่าเสรี  วรชัยทราบว่าบิดาของพลรถถูกฆ่าตาย  วรชัยจึงหลอกพลรบว่าเสรีเป็นคนฆ่าบิดาของพลรบเพื่อให้พลรบไปฆ่าเสรี  พลรบเชื่อตามที่วรชัยบอกจึงตกลงใจที่จะฆ่าเสรี

ปริสนาแอบได้ยินวรชัยกับพลรบคุยกัน  ปริสนาต้องการให้เสรีตายเช่นกัน  ปริสนาจึงฝากอาวุธปืนของตนกับธงชัยเพื่อนของพลรบเพื่อนำมาให้พลรบใช้ยิงเสรี  พลรบได้อาวุธของปริสนาจากธงชัยแล้วได้ไปซุ่มดักยิงเสรี  สมชาติเพื่อนของเสรีเดินผ่านมาพบพลรบได้ถามพลรบและทราบความประสงค์ของพลรบ

สมชาติจึงรับอาสาคอยดูต้นทางและให้สัญญาณ  สมชาติเห็นเสรีขับขี่รถจักรยานยนต์มาทางที่พลรบดักยิงอยู่จึงให้สัญญาณแก่พลรบ

พลรบเอื้อมมือไปหยิบอาวุธที่วางอยู่ข้างตัวเพื่อยิงเสรีบังเอิญนิ้วของพลรบไปถูกไกปืน  ปืนจึงลั่นกระสุนไปถูกเสรีตาย  และกระสุนยังเลยไปถูกบัวผันที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามเสรีมาตายด้วย

ดังนี้  พลรบ  วรชัย  ปริสนา  และสมชาติต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

 มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  พลรบยังมิได้ลงมือกระทำต่อเสรีโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การที่พลรบเอื้อมมือไปหยิบอาวุธปืนที่วางอยู่ข้างตัวบังเอิญนิ้วของพลรบไปถูกไกปืน  ปืนจึงลั่นกระสุนไปถูกเสรีตาย  และกระสุนยังเลยไปถูกบัวผันตายด้วย  การกระทำของพลรบดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  พลรบจึงต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสี่

การที่วรชัยหลอกพลรบว่าเสรีเป็นคนฆ่าบิดาของพลรบเพื่อให้พลรบไปฆ่าเสรี  ถือว่าวรชัยได้ก่อให้พลรบกระทำความผิดแล้ว  วรชัยจึงเป็นผู้ใช้ให้พลรบกระทำความผิด  และต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่พลรบกระทำได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของพลรบมิได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนา  จึงถือว่าความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทำลง  ดังนั้นวรชัยจึงต้องรับโทษหนึ่งในสามตามมาตรา  84  วรรคสอง

การที่ปริสนาฝากอาวุธปืนของตนไปให้พลรบ  ถือว่าปริสนาได้มีเจตนาที่จะช่วยเหลือพลรบกระทำความผิด  แต่เนื่องจากพลรบมิได้กระทำความผิดโดยเจตนา  ปริสนาจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

และการที่สมชาติอาสาคอยดูต้นทางและให้สัญญาณ  ถือว่าสมชาติเป็นตัวการ  เพราะได้ร่วมกระทำโดยแบ่งหน้าที่กันทำ  แต่เนื่องจากเสรีตายเพราะปืนลั่นซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทของพลรบ  ดังนั้นเมื่อพลรบมิได้กระทำโดยเจตนา  สมชาติจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป

พลรบ ต้องรับผิดทางอาญาเพราะได้กระทำโดยประมาท

วรชัย  ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้รับโทษหนึ่งในสาม

ปริสนา  ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

สมชาติ  ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ 

 

ข้อ  4  บัญชาวิ่งหนีสุนัขบ้าไล่กัดบัญชา  บัญชาเห็นบ้านสดใสเปิดประตูไว้  บัญชาต้องการเข้าไปหลบซ่อนในบ้านสดใส  แต่มีบุญคำยืนขวางประตูอยู่  บัญชาจึงผลักบุญคำล้มลงศีรษะแตก  บัญชาเห็นบุญคำศีรษะแตก  บัญชาตกใจจึงวิ่งหนี  คงมั่นบุตรชายบุญคำเห็นบิดาศีรษะแตกเพราะถูกบัญชาผลัก  คงมั่นวิ่งไล่ตามพอทันกัน  คงมั่นชักมีดแทงบัญชา  บัญชาหลบทัน  คงมั่นแทงซ้ำ  บัญชาหยิบไม้ที่มีอยู่ที่นั้นขึ้นตีถูกคงมั่นได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  บัญชา และคงมั่นต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก และวรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(2)  เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  บัญชาผลักบุญคำล้มลงหัวแตก  บัญชาได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการกระทำ  ขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือการที่บุญคำได้รับอันตราย  จึงถือว่าบัญชากระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่การที่บัญชากระทำความผิดก็เพราะต้องการให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ถูกสุนัขบ้าไล่กัด  จึงถือว่าบัญชากระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  ดังนั้น  บัญชามีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

และการที่บัญชาหยิบไม้ตีถกคงมั่นได้รับบาดเจ็บ  ถือว่าบัญชาเจตนากระทำต่อคงมั่นตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก  และบัญชาจะอ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันตนเองไม่ได้  เพราะบัญชาได้ก่อภยันตรายขึ้นก่อน  ตามมาตรา  68

ส่วนการที่คงมั่นชักมีดแทงบัญชา  ถือว่าคงมั่นเจตนากระทำต่อบัญชาตามมาตรา  59วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก  คงมั่นจึงต้องรับโทษทางอาญาสำหรับความผิดนั้น  แต่เนื่องจากคงมั่นกระทำไปโดยบันดาลโทสะ  เพราะเห็นบิดาหัวแตกเนื่องจากถูกบัญชาผลัก  ดังนั้นศาลจะลงโทษคงมั่นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้  ตามมาตรา  72

สรุป 

บัญชาต้องรับผิดทางอาญาต่อบุญคำแต่อ้างเหตุยกเว้นโทษได้  บัญชาต้องรับผิดทางอาญาต่อมั่นคงและอ้างเหตุยกเว้นความผิดไม่ได้

คงมั่นต้องรับผิดทางอาญาต่อบัญชาแต่อ้างเหตุลดหย่อนผ่อนโทษได้

Advertisement