การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2545

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2032 (LA 232),(LW 103) ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อุทลุมคืออะไร  ในพระอัยการลักษณะกู้หนี้และพระอัยการลักษณะพยานบัญญัติเรื่องอุทลุมไว้อย่างไร  และแตกต่างกัลป์บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  2525  ได้ให้ความหมายของคำว่า  อุทลุม  หมายความถึง  ผิดประเพณี  ผิดธรรมมะ  นอกแบบ  นอกทาง  เช่น  ผู้ใดเป็นอุทลุม  มิรู้คุณบิดามารดา  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ท่านให้มีโทษทวนด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์  ตามพระอัยการลักษณะกู้หนี้  ในกฎหมายตรา  3  ดวง  บัญญัติว่า  ถ้าหากบิดามารดากู้ยืมบุตรแล้วไม่มีเงินใช้คืน  ห้ามบุตรฟ้องบิดามารดา  ณ  โรงศาลใดๆ  เพราะเป็นอุทลุม  ถือว่าไม่รู้คุณบิดามารดา  ให้ว่ากล่าวกันตามปกติ  ในพระอัยการลักษณะรับฟ้องในกฎหมายตรา  3  ดวง  ห้ามลูกหลานฟ้องบิดามารดา  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา  เหลนฟ้องทวดได้  ไม่เป็นอุทลุม  แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1562  บัญญัติว่า  ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรืออาญามิได้  แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ  อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้  บุพการี  หมายถึง  บิดามารดา  ปู่  ย่า  ตายาย  และทวดด้วย  ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ลูกหลาน  เหลน  จะฟ้อง  พ่อ  แม่  ปู่  ย่า  ตา  ยาย  และทวดไม่ได้ 

 

ข้อ  2  หลักอินทภาษคืออะไร  การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหลักอินทภาษมีผลอย่างไร  อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักอินทภาษ  เป็นค่ำสั่งสอนที่พระอินทร์มีต่อบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นตุลาการว่า  การจะเป็นตุลาการที่ดีจะต้องไม่มีอคติ  4  ประการ  คือ  ฉันทาคติ  (รัก)  โทสาคติ  (โกรธ)  ภยาคติ  (กลัว)  โมหาคติ  (หลง)  และต้องตัดสินความตามพระธรรมศาสตร์โดนคลองธรรมอันเป็นจัตุรัส  ซึ่งหมายความว่า  พลิกยากไม่ใช่เป็นไปตามอารมณ์ของตุลาการ  การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมีผลต่อตุลาการผู้นั้นคือ  ถ้าตัดสินความโดยปราศจากอคติดังกล่าวแล้ว  อิสริยยศ   และบริวารยศแห่งบุคคลผู้นั้นก็จะเจริญรุ่งเรือง  เปรียบประดุจเดือนข้างขึ้น  ถ้าผู้ใดตัดสินโดยมีอคติ  4  ประการดังกล่าว  อิสริยยศ  และบริวารยศ  ก็จะเสื่อมสูญไปเปรียบประดุจเดือนข้างแรม

ที่ว่าให้ผู้พิพากษาปราศจากฉันทาคตินั้น  หมายถึง  ให้ทำจิตใจให้ปราศจากความโลภ  อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง  อย่าเข้าข้างด้วยฝ่ายโจทย์หรือจำเลย  เพราะเหตุจะได้ทรัพย์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แม้ว่าผู้ต้องคดีจะเป็นบิดามารดาก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง

การทำใจให้ปราศจากโทสาคติ  หมายถึง  อย่าตัดสินความโดยความโกรธ  พยาบาท  อาฆาต  เพราะผู้นั้นเป็นปฏิปักษ์แก่ตน 

การพิจารณาโดยปราศจากภยาคติ  คือ   ให้ผู้พิพากษาทำจิตใจให้มั่นคง  ไม่หวั่นไหว  กลัวฝ่ายโจทย์หรือจำเลย  เพราะเป็นผู้มีอำนาจราชศักดิ์  หรือเป็นผู้มีกำลังพวกพ้องมาก

การตัดสินโดยปราศจากโมหาคติ  หมายความว่า  จะต้องตัดสินคดีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์  คดีใดควรแพ้ก็ต้องให้แพ้  คดีใดควรชนะก็ให้ชนะ จะต้องเป็นผู้รอบรู้ในธรรมศาสตร์  จะต้องไม่ตัดสินคดีโดยหลง

การตัดสินคดีโดยมีอคติ  4  ประการนี้  นับว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง  กล่าวว่า  ถึงแม้จะฆ่าสิ่งมีชีวิตไปเป็นพันเป็นหมื่น  บาปกรรมนั้นก็ไม่เท่ากับบุคคลที่บังคับคดีไม่เที่ยงตรง

หลักอินทภาษ  มิใช่มีความสำคัญต่อผู้ทำหน้าที่เป็นตุลาการเท่านั้น  หากแต่ยังเป็นหลักที่ผู้มีหน้าที่ในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมด้วย

 

ข้อ  3  จงตอบคำถามตามลำดับต่อไปนี้

(1) เพราะเหตุใดจึงเกิดกฎหมายสาขาเอคควิตี้  (Equity)  ในประเทศอังกฤษ

(2) กฎหมายสาขาเอคควิตี้  (Equity)  กับกฎหมายคอมมอนลอว์  (Common  Law)  มีความแตกต่างกันอย่างไร

ธงคำตอบ

(1) กฎหมายสาขาเอคควิตี้ของประเทศอังกฤษมีกำเนิดมาจากการที่ศาลหลวงของกษัตริย์หรือศาลคอมมอนลอว์  ไม่อาจให้การเยียวยาแก่โจทย์อย่างเพียงพอ  กล่าวคือ  ศาลหลวงของกษัตริย์อาจให้การเยียวยาได้เฉพาะแต่เงินตราเท่านั้น  ไม่อาจบังคับให้จำเลยกระทำการเฉพาะสิ่ง  (Specific  Performance)  หรือจะห้ามมิให้จำเลยกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดมิได้  (Injunction)  อีกทั้งการฟ้องความในศาลคอมมอนลอว์ต้องใช้คำฟ้อง  (Writ)  ที่แตกต่างกันสำหรับคดีแต่ละประเภท  การใช้คำฟ้อง  (Writ)  ฟ้องผิดประเภทมีผลทำให้ศาลยกฟ้องคดีของโจทก์  ทำให้โจทก์ไม่ได้รับการเยียวยา  จึงร้องขอความเป็นธรรมจากกษัตริย์  กษัตริย์จึงมอบให้ราชเลขาธิการ  (Chancellor)  ไปทำการพิจารณาคดีโดยอาศัยหลักความยุติธรรม  จึงเป็นเหตุให้เกิดกฎหมายสาขาเอคควิตี้

 (2)  เอคควิตี้กับคอมมอนลอว์มีข้อแตกต่างกัน  ดังนี้

1  สภาพแห่งคดี 

–  เอคควิตี้บังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายของจำเลย

–  คอมมอนลอว์บังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลย

 2       การพิจารณาคดี

– ตามคอมมอนลอว์  มีการให้คณะลูกขุนเป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริง  ส่วนผู้พิพากษาเป็นผู้พิจารณาข้อกฎหมาย

–  ส่วนเอคควิตี้นั้นมีผู้พิพากษาเป็นผู้พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

3       การบังคับคดี

 –                    คอมมอนลอว์บังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลย  มีลักษณะเป็นการให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงินตรา

เอคควิตี้บังคับเอากับเนื้อตัวร่างกายของจำเลย  ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล  ถือเป็นการหมิ่นอำนาจศาล  ซึ่งศาลอาจสั่งขังจำเลยได้

Advertisement