การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1106 ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
ข้อแนะนํา ข้อสอบนี้เป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายศาสนาอิสลามเกิดจากอะไร และมีอิทธิพลอย่างไรต่อกฎหมายไทยในยุคปัจจุบัน

Advertisement

ธงคําตอบ

ศาสนาอิสลามมีหลักการสอนให้มีความเชื่อว่า อัลลอฮ์ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวในสากลจักรวาล เป็นผู้สร้างโลกมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมอยู่ใต้อํานาจบันดาลของพระองค์ทั้งสิ้น ท่านนบีมูฮีมัดเป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาอิสลามและเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ ให้มาประกาศสั่งสอนหลักธรรมแก่มนุษย์โลก ดังที่ปรากฏข้อความในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งถือเป็นธรรมนูญสูงสุดและเป็นที่มาอันดับแรกของกฎหมายอิสลาม

กฎหมายอิสลามมีแหล่งกําเนิดที่นครมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในสมัยที่ท่านนบีมูฮ์มัด ได้ทรงประกาศศาสนาและเป็นผู้ปกครองประเทศ ต่อมาได้แพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ที่มีมุสลิมซึ่งถือหลัก ในการพิจารณากระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครอบครัว ผัวเมีย และการแบ่งปันมรดกของ
ชนชาวมุสลิม

ท่านอาจารย์เด่น โต๊ะมีนา ได้อธิบายว่า กฎหมายอิสลามมีที่มาจากหลักฐานทางศาสนาที่สําคัญ
อยู่ 4 ประการ คือ

1) พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ถือว่าเป็นพระอธิเทวราชโองการของอัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้า ที่ทรงประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมูฮัมัด ต่างกรรมต่างวาระที่พระองค์เห็นสมควร ปรากฏว่าภายหลังจากที่ท่าน นบีมูฮามัดได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว จึงได้มีการรวบรวมจากที่กระจัดกระจายอยู่ตามบันทึกที่มีการจดเป็นตัวอักษร ไว้ในใบปาล์มบ้าง หนังสัตว์บ้าง ตลอดถึงการจดจําของบรรดาผู้ใกล้ชิด และผู้เป็นสาวกนํามาเรียงลําดับก่อนหลัง จนครบถ้วนบริบูรณ์ รวมทั้งสิ้น 30 ภาค มี 114 บท จํานวน 6,000 กว่าโองการ จึงนับได้ว่าเป็นที่มาของกฎหมาย อิสลามอันดับแรกที่สําคัญที่สุด

2) พระคัมภีร์อัล-หะดีษ คือ ข้อบัญญัติจากการกระทําหรือปฏิบัติการต่าง ๆ และพระวัจนพจน์ ตลอดถึงการวินิจฉัยข้อปัญหากฎหมายบางเรื่องบางอย่าง รวมทั้งการดําเนินตามวิถีทางความเป็นอยู่ทุกอิริยาบถ ของท่านนบีมูฮัมัด ซึ่งได้มีการบันทึกและจดจําโดยผู้ใกล้ชิดและบรรดาสาวกทั้งหลาย เก็บรักษาไว้เป็นหลักการ ทางศาสนาและปฏิบัติกันตลอดมาที่เรียกว่า “ซุนนะห์”

3) อัล-อิจญ์มาร์ คือ มติธรรมของปวงปราชญ์ ซึ่งเป็นความเห็นอันเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมาย อิสลามที่สอดคล้องต้องกันของนักนิติศาสตร์ฝ่ายศาสนาอิสลาม ผู้ซึ่งเป็นสาวกของท่านนบีมูฮัมัด ในกรณีที่ไม่มี ข้อความอันใดปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรืออัล-หะดีษ ที่จะยกมาปรับกับปัญหาที่มีขึ้น

4) อัล-กิยาส คือ การเปรียบเทียบโดยอาศัยเหตุผลที่ต่อเนื่องด้วยหลักการแห่งที่มาของกฎหมาย อิสลามทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นนั้น แต่ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของสังคมมุสลิม จึงจําเป็นต้องใช้ วิธีการให้เหตุผลโดยอาศัยการเปรียบเทียบกับตัวบทกฎหมายที่ใกล้เคียง และไม่ขัดกับหลักการอันเป็นที่มาของ กฎหมายอิสลามทั้ง 3 ข้อที่กล่าวแล้วด้วย หรือถ้าหากยังไม่สามารถกระทําได้ก็ให้ดําเนินการวินิจฉัยตามหลักธรรม การปฏิบัติศาสนกิจหรือตามประเพณีนิยม (อัล-อุรฟ) ทั่วไปที่ไม่ขัดกับหลักธรรมหรือจริยธรรมของอิสลาม เช่น หลักกฎหมายอิสลามที่ใช้บังคับกับศาลชั้นต้นในเขต 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สตูล ยะลา ปัตตานี และ
นราธิวาส โดยคู่กรณีต้องเป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดดังกล่าว และต้องเป็นประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัวหรือมรดกเท่านั้น เนื่องจากหากมีการใช้มวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัว และมรดกบังคับใช้กับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในเขตจังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกนั้น มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักกฎหมายอิสลาม

 

ข้อ 2. จงอธิบายถึงอิทธิพลของการแบ่งชนชั้นของพระเจ้าฮัมมูราบีที่มีต่อกฎหมาย

ธงคําตอบ

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (The Code of Hammurabi) ซึ่งได้มีการจัดทําในสมัยของพระเจ้า ฮัมมูราบีกษัตริย์บาบิโลเนีย จะมีข้อความที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคมบาบิโลเนียในสมัยนั้นเป็นอย่างดี ทําให้ ทราบว่าชาวบาบิโลเนียประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ คือ พวกชนชั้นผู้ดี มีตําแหน่งหน้าที่สูงในทางศาสนาและบ้านเมืองพวกชนชั้นกลางหรือพ่อค้า พวกช่างฝีมือ กรรมกร พวกชนชั้นล่างหรือทาส นอกจากนี้การพิจารณาความหรือตัดสิน ข้อพิพาทต่าง ๆ ไม่ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องของครอบครัวหนึ่งครอบครัวใดโดยเฉพาะ แต่เป็นเรื่องของ บ้านเมืองที่จะบังคับให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีได้จัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งแบ่งแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กฎหมายมหาชน กฎหมายเอกชน และกฎหมายอาญา

ในส่วนของกฎหมายมหาชนนั้น การปกครองสมัยนั้นเป็นการปกครองโดยกษัตริย์ซึ่งถือว่าทําการปกครองบ้านเมืองในนามของเทพเจ้า สมัยของพระเจ้าฮัมมูราบีได้ทําการขยายอาณาเขตไปทางเหนือจนถึง ดินแดนแอสซีเรีย ผู้ซึ่งรับคําสั่งจากกษัตริย์คือข้าราชการ นอกนั้นเป็นพวกประชาชนธรรมดากับพวกทาส ยุคสมัยจักรวรรดิบาบิโลนได้มีการแบ่งวรรณะของประชาชนออกเป็น 3 พวก คือ

1. ชนชั้นสูง (Awellu) หรือชนชั้นปกครอง คือ พวกข้าราชการ

2. ชนชั้นกลาง คือ ประชาชนธรรมดา (Muskinu) หรือพวกเสรีชน (Freeman)

3. ชนชั้นล่าง (Ardu) หรือทาส

เมื่อมีการแบ่งชนชั้นของประชาชนเช่นนี้ การบัญญัติกฎหมายก็ต้องสอดคล้องตามไปด้วย เช่น การกระทําผิดต่อชนชั้นสูงต้องรับโทษหรือถูกปรับสูงกว่าอัตราปกติ นอกจากนี้การทะเลาะวิวาททําร้ายร่างกายกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม หากชนชั้นล่างทําร้ายร่างกายคนชั้นสูง ชนชั้นสูงสามารถ แก้แค้นตอบแทนอย่างเดียวกับที่ตนถูกทําร้ายได้ ในทางตรงข้าม หากชนชั้นสูงทําร้ายร่างกายชนชั้นล่าง ชนชั้นล่าง จะแก้แค้นตอบแทนไม่ได้ แต่ให้ชนชั้นสูงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชนชั้นล่าง

การเปลี่ยนสถานะของชนชั้นเกิดขึ้นได้ในกรณีทาสซึ่งเป็นชนชั้นล่างอาจไถ่ตัวเองให้เป็นเสรีชนหรือ
ชนชั้นกลางจากนายเงินซึ่งเป็นเจ้าของทาสนั้นได้ อย่างไรก็ตาม หญิงซึ่งเป็นเสรีชนหากแต่งงานกับชายซึ่งเป็นทาส บุตรที่เกิดมาจะถือว่าเป็นชนชั้นใด ตามประมวลกฎหมายพระเจ้าฮัมมูราบีกําหนดให้เป็นเสรีชน และทรัพย์สิน กึ่งหนึ่งตกเป็นของฝ่ายหญิง

 

ข้อ 3. กฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังรายคืออะไร มีความเหมือนและแตกต่างกับ กฎหมาย 3 เส้น 15 วาในกฎหมายลักษณะโจรของกฎหมายตราสามดวงอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

กฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังราย เป็นลักษณะของกฎหมายที่ให้ชุมชนช่วยกัน รับผิดชอบและป้องกันการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ กฎหมายไม่ยอมรับฟังข้อแก้ตัวการปฏิเสธความรับผิดชอบ
ในผลแห่งการที่มีการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ของเพื่อนบ้านที่ตนไม่ได้รู้เห็นด้วย โดยในกฎหมายได้บัญญัติมี ใจความว่า ในหมู่บ้านหนึ่งมี 16 หลังครัวเรือน ทุกบ้านมีความคุ้นเคยสนิทสนมกัน เมื่อมีคนร้ายเข้าไปลักวัวควาย และทรัพย์สินในบ้านหลังหนึ่ง อีก 15 ครัวเรือนต้องร่วมกันชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกลักไป จะแก้ตัวว่าตนเอง ไม่ได้รู้เห็นกับการลักทรัพย์นั้นไม่ได้ โดยกฎหมายให้เหตุผลว่าเพราะอยู่บ้านเดียวกัน ไม่สั่งสอนกัน ปล่อยให้ไป ลักของผู้อื่น และเมื่อได้ตัวคนร้ายในภายหลัง ให้พิจารณาดู หากเป็นคนดีก็ให้ใช้ราคาทรัพย์ 4 เท่า 6 เท่า หรือ 9 เท่า แล้วแต่กรณี แล้วให้ขับออกไปเสียจากบ้านไปอยู่ในระยะไกลขนาดตีกลองไม่ได้ยิน

และในกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าหากหมู่บ้านมีเพียง 6 หลังคาเรือน ผู้อาศัย อยู่ในหมู่บ้านนี้ย่อมมีความสนิทสนมกันมากกว่ากรณีแรก เมื่อมีโจรไปลักทรัพย์ในเรือนหลังหนึ่งจนหมดสิ้น รั้วและ ประตูบ้านไม่มีร่องรอยการถูกงัดแงะ ซึ่งแสดงว่าผู้เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านเป็นคนที่รู้จักทางเข้าออกบ้านหลังนี้เป็น อย่างดี หากหาตัวคนร้ายไม่ได้ ให้ชาวบ้านอีก 5 ครัวเรือนเป็นผู้ชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ถูกลักไปทั้งหมด ต่อมาภายหลัง ได้ตัวเพื่อนบ้านคนใดเป็นผู้กระทําผิด ให้ปรับไหมผู้นั้น 4 เท่า หรือ 9 เท่า แล้วให้ขับออกไปเสียจากหมู่บ้านนั้น

กฎหมาย 3 เส้น 15 วา ในกฎหมายลักษณะโจรของกฎหมายตราสามดวง เป็นกฎหมายที่กําหนด ความรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมู่เหล่าในชุมชนซึ่งจะเหมือนกับกฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังราย ที่ให้สมาชิกในหมู่บ้านร่วมกันชดใช้ราคาของที่บ้านหลังหนึ่งถูกลักขโมยไป โดยกฎหมาย 3 เส้น 15 วา จะปรากฏ อยู่ในบทที่ 15, 16, 114 และ 136 ในพระอัยการลักษณะโจร ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อมีการปล้นก็ดี ฆ่าคนตายหรือ ทําร้ายสัตว์ถึงตายก็ดี ถ้าการกระทําความผิดเหล่านี้เกิดขึ้นในอาณาบริเวณของหมู่บ้านใด ให้สมาชิกทุกคนของ หมู่บ้านนั้นมีหน้าที่ช่วยสืบค้นหาผู้ร้ายให้จงได้ และถ้าการปล้นนั้นเกิดขึ้นในขณะที่เพื่อนบ้านอยู่ด้วย เพื่อนบ้าน มีหน้าที่ช่วยต่อสู้ป้องกันโจรด้วย นอกจากนั้นความรับผิดชอบในความผิดที่เกิดขึ้นยังตกอยู่แก่ผู้อยู่ในระยะทาง 3 เส้น 15 วา วัดโดยรอบจากที่เกิดเหตุที่จะต้องช่วยกันจับโจรด้วย ผู้ใดไม่ช่วยจะต้องถูกลงโทษทวนด้วยลวดหนัง มากน้อยตามแต่ระยะทางที่ตนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้อยู่ในรัศมี 3 เส้น 15 วานี้ จะ พ้นความรับผิดไปเสียทีเดียว ยังต้องทําทัณฑ์บนไว้ว่า ถ้าภายหลังจับตัวผู้กระทําความผิดได้ และผู้กระทําความผิด ซัดทอดถึงผู้ใด ผู้นั้นอาจถูกลงโทษได้อ้า

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยขยายอาณาเขตของบุคคลผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการกระทําความผิดออกไปเป็น 5 เส้น จึงนิยมเรียกกันว่า
“กฎหมายโจรห้าเส้น”

กฎหมาย 16 หลังคาเรือนในกฎหมายพระเจ้ามังรายนั้น แม้จะมีลักษณะที่เหมือนกันกับกฎหมาย
3 เส้น 15 วา ในกฎหมายลักษณะโจรของกฎหมายตราสามดวง ตรงที่เป็นกฎหมายที่กําหนดความรับผิดชอบ ร่วมกันของคนในชุมชน (ในหมู่บ้าน) แต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันบางประการ เช่น

1. กฎหมาย 16 หลังคาเรือน จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่กฎหมาย 3 เส้น 15 ว่า จะเป็น ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย รวมทั้งการทําร้ายสัตว์ถึงตาย

2. โทษของกฎหมาย 16 หลังคาเรือน คือ การร่วมกันชดใช้ราคาของและการเนรเทศหรือขับ ออกจากเมือง แต่โทษของกฎหมาย 3 เส้น 15 วา คือ การทวนด้วยลวดหนังมากน้อยตามแต่ระยะทางที่ตนอยู่ห่าง จากที่เกิดเหตุ

3. ความรับผิดชอบของคนในชุมชนตามกฎหมาย 16 หลังคาเรือน จะเน้นจํานวนครัวเรือนที่ อยู่ในหมู่บ้านโดยไม่คํานึงถึงระยะทาง แต่ความรับผิดชอบของคนในชุมชนตามกฎหมาย 3 เส้น 15 ว่า จะเน้นที่ ระยะทาง คือต้องเป็นคนที่อยู่ในระยะทาง 3 เส้น 15 วาจากที่เกิดเหตุ โดยไม่คํานึงถึงจํานวนครัวเรือนแต่อย่างใด

 

ข้อ 4. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์คืออะไร และมีความสัมพันธ์กับกฎหมายตราสามดวงอย่างไร

ธงคําตอบ

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ คือ คัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์หรือผู้มีอํานาจเหนือบุคคลธรรมดาแต่ง เรียบเรียงขึ้น เป็นชุมนุมข้อบังคับหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามความยุติธรรม กฎเกณฑ์เหล่านี้อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ดังนั้น จึงย่อมใช้แก่มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้อํานาจการปกครองของกษัตริย์ และกษัตริย์เองก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ของพระธรรมศาสตร์ด้วย โดยลักษณะเช่นนี้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์จึงมีศักดิ์เทียบเท่ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกษัตริย์ของราชอาณาจักรไทยได้นําเอาคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาจากมอญมาเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย
ที่เรียกว่าพระราชศาสตร์มาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์มีความสัมพันธ์กับกฎหมายตราสามดวง ดังนี้คือ

กฎหมายตราสามดวง คือ กฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงให้บัญญัติมา เพื่อใช้ปกครองบ้านเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2347 (จ.ศ. 1166) เหตุที่มีการบัญญัติกฎหมายตราสามดวงขึ้นมาก็เนื่องจาก มีการร้องทุกข์ของนายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ว่าภรรยาของตนเองซึ่งมีชื่อว่าอําแดงป้อม ไปทําชู้กับราชาอรรถ แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่ศาลตัดรับให้หย่ากันได้ เพราะตามกฎหมายในขณะนั้น บัญญัติว่า เป็นหญิงหย่าชายหย่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หญิงนอกใจชายแล้วมา ฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษาให้หย่ากันนั้นหายุติธรรมไม่ จึงทรงให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งรวม 11 คน ให้ จัดการชําระบทกฎหมายทั้งหมด ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์เป็นต้นมาให้ถูกต้องตามความยุติธรรม และให้อาลักษณ์ เขียนเป็นฉบับหลวงจํานวน 3 ชุด ประทับตราคชสีห์ ราชสีห์ และบัวแก้ว อันตราของสมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเจ้าพระยาพระคลังไว้เป็นสําคัญ จึงได้เรียกในภายหลังว่ากฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง จะประกอบด้วย พระอัยการ (กฎหมาย) ลักษณะต่าง ๆ ถึง 29 ลักษณะ มีบทบัญญัติถึง 1,600 บท (มาตรา) เศษ โดยพระอัยการลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้จะอาศัยมูลคดีวิวาทในคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์มาเป็นหัวข้อในการตรากฎหมาย เพื่อใช้บังคับแก่ประชาชนในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่ง ได้มีการยกเลิกไปทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 2481

 

Advertisement