LAW4002 การว่าความ 1/2557

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. กรณีมีลูกความมาพบท่านเพื่อขอให้ฟ้องขับไล่บุคคลที่มาบุกรุกที่ดินของลูกความ ท่านมีหลักเกณฑ์ในการสอบถามถึงข้อเท็จจริงอะไรบ้างเพื่อจะทําการฟ้องขับไล่ต่อไป ให้ยกตัวอย่างหลักเกณฑ์มา อย่างน้อย 4 ประการ

ธงคําตอบ

เมื่อมีลูกความมาพบข้าพเจ้าเพื่อขอให้ฟ้องขับไล่บุคคลที่เข้ามาบุกรุกที่ดินของลูกความนั้น ก่อนที่ข้าพเจ้าจะดําเนินการฟ้องขับไล่บุคคลดังกล่าว ข้าพเจ้ามีหลักเกณฑ์ในการสอบถามถึงข้อเท็จจริงในเรื่อง ต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1 ที่ดินดังกล่าวมีชื่อผู้ใดเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์

2 ที่ดินดังกล่าวได้มาเมื่อใด

3 ผู้ใดเป็นผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าว

4 ผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าวได้บุกรุกตั้งแต่เมื่อใด

5 เจ้าของที่ดินได้รู้ถึงการบุกรุกตั้งแต่เมื่อใด

6 ได้มีการบอกกล่าวให้ผู้บุกรุกออกไปจากที่ดินดังกล่าวแล้วหรือไม่

หมายเหตุ ให้นักศึกษายกตัวอย่างการสอบถามถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อย 4 ประการ

 

ข้อ 2.นายคงเดช ใจเย็น เป็นเจ้าของร้านขายจักรยานออนไลน์นําเข้าจากต่างประเทศ ชื่อร้าน Bike Today โดยทําการรับสั่งสินค้าและชําระราคาเป็นมัดจําก่อนล่วงหน้า และพอสินค้านําเข้ามาสําเร็จและ พร้อมจัดส่งลูกค้า จะมีการแจ้งวันส่งมอบสินค้าและให้ลูกค้าชําระราคาส่วนที่เหลือในวันรับมอบสินค้าทันที ร้านสิงห์นักปั่นเป็นร้านขายจักรยานและอะไหล่จักรยานตั้งอยู่ที่อําเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ร้านสิงห์นักปั่นได้สั่งซื้อรถจักรยานนําเข้าจากต่างประเทศจากร้าน Bike Today จํานวน 10 คัน ราคารวมทั้งสิ้น 850,000 บาท โดยการสั่งซื้อดังกล่าวได้มีการสั่งซื้อกัน ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และในการสั่งซื้อครั้งนี้มีกําหนดส่งมอบในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 โดยให้ร้านสิงห์นักปั่นชําระราคาก่อน 500,000 บาท ในวันที่ 15 มิถุนายน 2557 และส่วนที่เหลืออีก 350,000 บาท ให้ชําระในวันส่งมอบจักรยานโดยถือเอาจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ ระหว่างกันทางการค้า ครั้นเมื่อถึงกําหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2557 ร้านสิงห์นักปั่นจึงได้ทําการโอนเงิน จํานวน 500,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายคงเดชฯ โดยมีหลักฐานการโอนเงินเป็นหนังสือ จากธนาคารกรุงไทย ครั้นถึงกําหนดวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 ร้านสิงห์นักปั่นไม่ได้รับการติดต่อ เพื่อส่งมอบรถจักรยานตามสัญญา จึงได้ทําการติดต่อทางร้าน Bike Today แต่ไม่สามารถติดต่อทาง ร้านฯ ได้ ดังนั้นวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 ร้านสิงห์นักปั่นจึงได้เข้าแจ้งความกับทางสถานีตํารวจภูธร อําเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกันนั้น ร้านสิงห์นักปั่นได้ส่งหนังสือทวงถาม ลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับไปยังร้าน Bike Today และนายคงเดชฯ ขอยกเลิกสัญญาซื้อขายและเรียกคืนมัดจําที่ชําระไว้ทั้งหมดพร้อมค่าเสียหายจํานวน 10,000 บาท จากร้าน Bike Today และ นายคงเดชฯ แต่ร้าน Bike Today และนายคงเดชฯ กลับเพิกเฉยไม่สามารถติดต่อได้เป็นเวลาล่วงเลย มาจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ร้านสิงห์นักปั่นจึงได้มาพบท่าน แต่งตั้งให้ท่านเป็นตัวแทนร้านสิงห์ นักปั่นเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ และเป็นทนายความดําเนินคดีนี้ ดังนั้นให้ท่านในฐานะทนายความทําการร่างคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องคดีนี้ให้กับร้านสิงห์นักปั่น โดยไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. โจทก์เป็นร้านขายจักรยานและอะไหล่จักรยานใช้ชื่อว่า “ร้านสิงห์นักปั่น” ตั้งอยู่ที่ อําเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบอํานาจให้ (ชื่อนักศึกษา) เป็นโจทก์ฟ้องและดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 1

จําเลยเป็นร้านขายจักรยานออนไลน์นําเข้าจากต่างประเทศ ชื่อร้าน Bike Today โดยทําการรับสั่งสินค้าและชําระราคาเป็นมัดจําก่อนล่วงหน้า และพอสินค้านําเข้ามาสําเร็จและพร้อมจัดส่งลูกค้า จะมีการแจ้งวันส่งมอบสินค้าและให้ลูกค้าชําระราคาส่วนที่เหลือในวันรับมอบสินค้าทันทีโดยมีนายคงเดช ใจเย็น เป็น เจ้าของร้าน

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์ได้สั่งซื้อรถจักรยานนําเข้าจากต่างประเทศจากจําเลย จํานวน 10 คัน ราคารวมทั้งสิ้น 850,000 บาท (แปดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) โดยการสั่งซื้อดังกล่าวได้มีการสั่งซื้อกันทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และมีกําหนดส่งมอบในวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 โดยให้โจทก์ชําระราคาก่อน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ในวันที่ 15 มิถุนายน 2557 และส่วนที่เหลืออีก 350,000 บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ให้ชําระในวันส่งมอบจักรยานโดยถือเอาจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ระหว่างกันทางการค้า รายละเอียดปรากฏตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2557 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 2

ข้อ 3. ครั้นเมื่อถึงกําหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2557 จําเลยจึงได้ทําการโอนเงินจํานวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) เข้าบัญชีธนาคารของนายคงเดช ใจเย็น เจ้าของร้านค้าจําเลย โดยมีหลักฐาน การโอนเงินเป็นหนังสือจากธนาคารกรุงไทย รายละเอียดปรากฏตามหลักฐานการโอนเงินเป็นหนังสือจาก ธนาคารกรุงไทยเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 3

ครั้นถึงกําหนดวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 โจทก์ไม่ได้รับการติดต่อเพื่อส่งมอบรถจักรยานตามสัญญา จึงได้ทําการติดต่อทางจําเลยแต่ไม่สามารถติดต่อทางจําเลยได้

วันที่ 20 กรกฎาคม 2557 โจทก์จึงได้เข้าแจ้งความกับทางสถานีตํารวจภูธรอําเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกันนั้นโจทก์ได้ส่งหนังสือทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับไปยังจําเลย ขอยกเลิกสัญญาซื้อขายและเรียกคืนมัดจําที่ชําระไว้ทั้งหมดจํานวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) และค่าเสียหาย จํานวน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) คืน แต่จําเลยกลับเพิกเฉยไม่สามารถติดต่อได้เป็นเวลาล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และ 5

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะตกลงกับจําเลยได้อีก จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. โจทก์ขอเลิกสัญญาซื้อขายและให้จําเลยคืนมัดจําและค่าเสียหายจํานวน 510,000 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) แก่โจทก์

ข้อ 2. ขอให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินมัดจําทั้งหมดนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระคืนให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น

ข้อ 3. ขอให้จําเลยชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

 

ข้อ 3. ข้อเท็จจริงในสํานวนการสอบสวนคดีเรื่องหนึ่งได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา นายสมคิดกับนายสมควร ได้งัดประตูบ้านเข้าในบ้านพักเลขที่ 231 แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร แล้วลักเอารถจักรยานยนต์ จํานวน 1 คัน ราคา 45,000 บาท ของนายสุชาติ อยู่ยืน ซึ่งจอดอยู่ในบ้านดังกล่าวไป ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2557 เวลาประมาณ 16.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานจับนายสมคิดได้พร้อมกับยึดรถจักรยานยนต์ที่นายสมคิด กับนายสมควรร่วมกันลักเอาไปดังกล่าวเป็นของกลางนําส่งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวน ชั้นสอบสวนนายสมคิดให้การรับสารภาพพนักงานสอบสวนได้นําตัวนายสมคิดไปฝากขังไว้ที่ศาลอาญา ตามคดีหมายเลขดําที่ ฝ.3339/2557 เสร็จแล้วสรุปสํานวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา ส่วนนายสมควรยังจับตัวไม่ได้

ข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น…ไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐาน…

มาตรา 335 ผู้ใดลักทรัพย์

(1) ในเวลากลางคืน

(8) ในเคหสถาน…

(7) โดย…หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป ต้องระวางโทษ…

ให้นักศึกษาในฐานะพนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา ผู้รับผิดชอบดําเนินคดีนี้ ซึ่งมีคําสั่งฟ้อง นายสมคิดในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ เรียงคําฟ้องคดีนี้เฉพาะเนื้อหาคําฟ้อง โดยไม่ต้องคํานึงถึง แบบพิมพ์คําฟ้องแต่ประการใด

ธงคําตอบ

ในฐานะพนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา ผู้รับผิดชอบดําเนินคดีนี้ ข้าพเจ้าจะเรียงคําฟ้อง นายสมคิดในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ดังนี้

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยนี้กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันงัดประตูบ้านอันเป็นการทําอันตรายสิ่งกีดกั้นสําหรับบุคคลหรือทรัพย์ แล้วเข้าไปในบ้านพักอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายสุชาติ อยู่ยืน ผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุอันควร แล้วลักเอารถจักรยานยนต์ จํานวน 1 คัน ราคา 45,000 บาท (สี่หมื่นห้าพันบาทถ้วน) ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต

เหตุเกิดที่ แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2. ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2557 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจําเลยนี้ได้พร้อมกับยึด รถจักรยานยนต์ที่จําเลยกับพวกร่วมกันลักเอาไปดังกล่าวในฟ้องข้อ 1.เป็นของกลางนําส่งพนักงานสอบสวน ทําการสอบสวน

ชั้นสอบสวนจําเลยให้การรับสารภาพ

รถจักรยานยนต์ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้

ระหว่างสอบสวน จําเลยได้ถูกควบคุมตัวมาโดยตลอด ขณะนี้ต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลนี้ ในคดีหมายเลขดําที่ ฝ.3339/2557 ขอศาลเบิกตัวจําเลยมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

LAW4008 กฎหมายที่ดิน S/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4008 กฎหมายที่ดิน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเดชครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2494 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน เมื่อประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ นายเดชก็ไม่ได้เปแจ้งการครอบครองแต่อย่างใด ใน พ.ศ. 2538 ได้มีประกาศเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินนายเดชได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้ไปนําพนักงาน เจ้าหน้าที่ทําการรังวัดที่ดินใน พ.ศ. 2550 นายเดชได้ขายที่ดินนั้นให้แก่นายสิงห์โดยทําหนังสือสัญญา ซื้อขายกันเองแล้วส่งมอบที่ดินให้นายสิงห์ครอบครองตลอดมา ขณะนี้นายสิงห์มีความจําเป็นจึงนํา ที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดิน ดังนี้ อยากทราบว่านายสิงห์จะขอออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 27 ตรี “เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการสํารวจ ตามมาตรา 58 วรรคสอง ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับโดยไม่มี หนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวล กฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือผู้ซึ่งรอคําสั่งผ่อนผันจากผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 27 ทวิ แต่ได้ครอบครองและ ทําประโยชน์ในที่ดินนั้นติดต่อมาจนถึงวันทําการสํารวจรังวัดหรือพิสูจน์สอบสวน ถ้าประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น ให้แจ้งการครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ ที่ดินนั้นตั้งอยู่ภายในกําหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ถ้ามิได้แจ้งการครอบครองภายในกําหนดเวลาดังกล่าว แต่ได้มานําหรือส่งตัวแทนมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการ สํารวจรังวัดตามวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกําหนด ให้ถือว่ายังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินนั้น

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

มาตรา 59 ทวิ “ผู้ซึ่งครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและมิได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่งม่รวมถึงผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี ถ้ามีความจําเป็นจะขอออก โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์เป็นการเฉพาะราย เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นสมควร ให้ดําเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ประมวลกฎหมายนี้กําหนด แต่ต้องไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกําหนด

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย”

วินิจฉัย

ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ ได้กําหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่จะขอออกโฉนดที่ดินแบบ เฉพาะราย ไว้ดังนี้

1 จะต้องเป็นผู้ครอบครองก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญ แสดงการการครอบครองตาม พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ มาตรา 5 และ เถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอง และทําประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวด้วย

2 ต้องไม่ใช่ผู้ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี กล่าวคือ ผู้ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรี จะไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา 59 ทวิ ไม่ได้

3 มีความจําเป็นต้องออกโฉนดที่ดิน และพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควร แต่ต้องมีเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ ถ้าเกิน 50 ไร่ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเดชครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่ง ตั้งแต่ พ.ศ. 2494 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน กรณีถือว่านายเดชเป็นผู้ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน วันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีประกาศของทางราชการเพื่อเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่นั้น การที่ นายเดชได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ทําการสํารวจรังวัดที่ดิน กรณีเช่นนี้ต้องถือว่า นายเดชเป็นผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา 27 ตรีแล้ว แม้นายเดชจะไม่ได้ไปนําพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทําการสํารวจ รังวัดที่ดิน อันทําให้ไม่ได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 วรรคสามก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าตามมาตรา 27 ตรี ใช้คําว่า “หรือ” แสดงว่า ให้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ระหว่างให้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือมานําพนักงานเจ้าหน้าที่ ไปทําการสํารวจรังวัดที่ดิน ดังนั้น นายเดชจึงเป็นบุคคลผู้มีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้ตามมาตรา 59 ทวิ วรรคหนึ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 นายเดชได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายสิงห์ กรณีจึงถือว่า นายสิงห์ เป็นผู้ครอบครองและทําประโยชน์ต่อเนื่องมาจากนายเดชตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น นายสิงห์จึงสามารถนําที่ดินไปยื่นขอออกโฉนดแบบเฉพาะรายได้ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 59 ทวี วรรคหนึ่ง เพราะต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังกลาวข้างต้น

สรุป

นายสิงห์ขอออกโฉนดที่ดินแบบเฉพาะรายได้ตามมาตรา 59 ทวิ

 

ข้อ 2. นายบุญหลายครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2513 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดิน ใน พ.ศ. 2532 นายบุญหลายได้ยกที่ดินนั้นตีใช้หนี้ให้แก่นางจันทร์ นางจันทร์ ครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดิน ต่อมาใน พ.ศ. 2542 นางจันทร์ก็ถึงแก่ความตายโดยมี นายเอกบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อเนื่องมา ใน พ.ศ. 2559 นายเอกได้รับโฉนดที่ดินจากทางราชการ ขณะนี้นายเอกตกลงขายที่ดินให้แก่นางโท ดังนี้ อยากทราบว่านายเอกจะจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 58 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคห้า “เมื่อได้สํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์ สอบสวนการทําประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา 58 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรอง การทําประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครอง เป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้

บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้คือ

(3) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทําประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ บุคคลตามวรรคสอง (3) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชําระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบุญหลายครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2513 โดยไม่มีหนังสือสําคัญแสดงสิทธิในที่ดินนั้น ถือว่านายบุญหลายเป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการ ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (ภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497) เมื่อนายบุญหลายได้ยกที่ดินนั้น ที่ใช้หนี้ให้แก่นางจันทร์ในปี พ.ศ. 2532 และนางจันทร์เข้าครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นตลอดมา ก็ถือว่านางจันทร์เป็นผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับด้วย

และเมื่อปรากฎว่าในปี พ.ศ. 2542 นางจันทร์ถึงแก่ความตายและนายเอกบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้เข้าครอบครองและทําประโยชน์ในที่ดินต่อจากมารดา ดังนี้ นายเอกซึ่งเป็นทายาทก็ย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับ นางจันทร์ คือ ให้ถือว่านายเอกเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินโดยพลการภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดิน ใช้บังคับเช่นเดียวกัน และต่อมาการที่นายเอกครอบครองและทําประโยชน์ต่อเนื่องมาจนได้รับโฉนดที่ดินจาก ทางราชการใน พ.ศ. 2559 นั้น กรณีเช่นนี้ ถือว่านายเอกเป็นผู้ได้รับโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นผู้ครอบครองที่ดินและ ทําประโยชน์ในที่ดินภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับและไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐาน ว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (3) นายเอกจึงอยู่ในบังคับห้ามโอนที่ดินภายในกําหนด 20 ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินตามประมวล กฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 58 ทวิ วรรคห้าตอนท้าย

ดังนั้น การที่นายเอกประสงค์จะจดทะเบียนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นางโท จึงไม่สามารถทําได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคห้า เพราะเป็นการโอนภายในกําหนดเวลา 10 ปีนับแต่ได้รับโฉนดที่ดิน ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย เพราะมิใช่การโอนโดยการตกทอดทางมรดกแต่อย่างใด

สรุป

นายเอกจะจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นางโทไม่ได้

 

ข้อ 3. นางน้อยเป็นเจ้าของที่ดิน 2 แปลง เนื้อที่ติดต่อกัน ขณะนี้นางน้อยต้องการจดทะเบียนรวมที่ดินทั้ง 2 แปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันเพื่อที่จะได้ถือโฉนดที่ดินฉบับเดียว ที่ดินนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา แต่นางน้อยมีภูมิลําเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่สะดวกที่จะเดินทางไปจังหวัดสงขลา นางน้อย จึงนําเอกสารหลักฐานไปยืนต่อสํานักงานที่ดินที่กรุงเทพมหานครเพื่อให้ส่งเรื่องไปที่สํานักงานที่ดิน ที่จังหวัดสงขลาดําเนินการจดทะเบียนรวมที่ดินให้ ดังนี้ อยากทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจะรับดําเนินการให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรา 72 “ผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้คู่กรณีนําหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินมาขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 71

การขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง สําหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดินใบไต่สวนหรือหนังสือ รับรองการทําประโยชน์ คู่กรณีอาจยื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดิน หรือสํานักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 ดําเนินการจดทะเบียนให้ เว้นแต่การจดทะเบียนที่ต้องมีการประกาศ หรือต้องมีการรังวัด”

วินิจฉัย

ผู้ที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ นอกจากจะมายื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 แล้ว บทบัญญัติมาตรา 72 วรรคสอง ยังให้สิทธิ์คู่กรณีอาจจะมายื่นคําขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กรมที่ดินหรือสํานักงานที่ดินแห่งใดแห่งหนึ่ง ก็ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1 ที่ดินที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หรือหนังสือรับรอง การทําประโยชน์ กล่าวคือ ถ้ามีเอกสารอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาจะยื่นคําขอไม่ได้

2 การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการประกาศก่อน กล่าวคือ กรณีใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะต้องทําเรื่องประกาศก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจะมาใช้มาตรา 72 วรรคสองไม่ได้

3 การจดทะเบียนนั้นจะต้องไม่มีการรังวัดก่อน

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องการจดทะเบียนรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 79 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 72 ดังกล่าว ข้างต้น แม้ที่ดินที่นางน้อยจะรวมเข้าด้วยกันนั้นจะเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน และการจดทะเบียนดังกล่าวจะไม่ต้อง มีการประกาศก่อนก็ตาม แต่การจดทะเบียนรวมที่ดินหลายแปลงเข้าเป็นแปลงเดียวกันนั้น บทบัญญัติมาตรา 79 ให้นํามาตรา 69 ทวิ มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ จะต้องมีการรังวัดสอบเขตที่ดินก่อน กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 72 วรรคสอง ดังนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานที่ดินกรุงเทพฯ จะรับดําเนินการให้ไม่ได้ นางน้อย จะต้องยื่นคําขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานที่ดินจังหวัดสงขลาเท่านั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 71

สรุป

พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงานที่ดินกรุงเทพฯ จะรับดําเนินการให้ไม่ได้

 

LAW4007 นิติปรัชญา S/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. The Rule of Law not the Rule of Man ของอริสโตเติล เกี่ยวข้องกับแนวความคิดปรัชญาทางกฎหมายใด แนวความคิดนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง และให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วย หรือไม่หากจะปฏิรูปกฎหมายไทยโดยอาศัยแนวความคิดของอริสโตเติลเพื่อเป็นที่มาของกฎหมาย

ธงคําตอบ

“The Rule of Law not the Rule of Man” ของอริสโตเติลนั้นเกี่ยวข้องกับแนวคิดปรัชญา กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ที่ปรากฏตัวขึ้นในลักษณะที่เป็นการแสดงออกซึ่งความบันดาลใจของมนุษย์ ที่มุ่งมั่นจะค้นหาหลักการอันสูงส่งซึ่งเป็นกฎหมายอุดมคติที่จะคอยกํากับกฎหมายลายลักษณ์อักษรของมนุษย์ ในลักษณะที่เป็นอภิปรัชญา หรือที่เรียกว่า กฎหมายธรรมชาติ นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดตามหลักกฎหมายธรรมชาตินั้น เชื่อว่า มีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่แน่นอนอยู่ อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และความยุติธรรมภายในกฎหมาย ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการ ของกฎหมายธรรมชาติ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติตามความหมายในทางทฤษฎีจะแบ่งออกเป็น 2 นัย ได้แก่

ทฤษฎีแรก เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคโบราณจนถึงยุคกลาง ถือว่ากฎหมาย ธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมายอุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเอง ดังนั้น กฎหมายใด ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นแล้วขัดหรือแย้งต่อกฎหมายธรรมชาติย่อมไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมาย

ทฤษฎีที่สอง เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่าหลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียง อุดมคติของกฎหมายที่จะบัญญัติขึ้น ดังนั้นการบัญญัติหรือตรากฎหมายจึงควรให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับหลักกฎหมายธรรมชาติอาจถือว่าเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์ แต่ไม่ถึงกับ เป็นโมฆะหรือไม่มีค่าบังคับทางกฎหมายเสียเลย

พัฒนาการของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ได้แก่

1 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิตุส นักปรัชญา ชาวกรีกที่มีอายุในช่วง 540 – 480 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะความจริง เกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสาร ของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง ระเบียบ และเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 12 โดยประมาณ ส่วน ยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 16 โดยประมาณ ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น แบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคําสอนทางศาสนา หรือบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอํานาจเหนือฝ่ายอาณาจักร โดยยืนยันได้จากความคิดของเซนต์ ออกัสติน ที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป ฝ่ายอาณาจักร ขึ้นมามีอํานาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สําเร็จ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจาก คริสต์ศาสนาเช่นกัน รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม คล้าย ๆ กับปรัชญากฎหมายธรรมชาติใน ยุคกรีกโบราณ

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่มบทบาท ความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว โดยผ่านนักคิดหลาย ๆ คนในยุคนี้ เช่น พูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์ สปินโนซ่า, จอห์น ลอค, มองเตสกิเออ, รุสโซ, วูล์ฟ เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นําไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม, นําไปสู่ข้อยืนยันว่ากําลังหรืออํานาจไม่ใช่ ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่, สนับสนุนเรื่องความเสมอภาค ของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สําคัญคือเป็นที่มาหรือ รากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นยุคแห่งเหตุผล” เนื่องจาก อิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงําไปทั่วยุโรป

4 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาติรัฐนิยม

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้เป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งกฎหมาย ธรรมชาติในยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งเล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมนั้นเป็นเพราะว่า เกิดกระแสสูงของลัทธิชาตินิยมเข้ามาบดบังลัทธิปัจเจกนิยมที่เป็นแกนกลางสําคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ และเพราะ ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาทแบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานทําให้เกิด ลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่ง ได้รับความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่า จะเป็นกฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

ส่วนสาเหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือขึ้นมา อีกครั้งในตอนท้ายนั้นเป็นเพราะว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ปฏิฐานนิยม ทางกฎหมายก็ถูกนําไปใช้สนับสนุนเรื่องอํานาจนิยม การใช้อํานาจโดยมิชอบ ที่สําคัญก็คือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิด ๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติ หรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยม จึงปรากฏความสําคัญขึ้นอีกครั้ง

5 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในยุคปัจจุบันปรัชญากฎหมายธรรมชาติจะมีบทบาทอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ

1) ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการ ยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย หรือยืนยันในความเชื่อมั่น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จําต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่าง ๆ

2) ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สําคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอมมากขึ้น กล่าวคือ ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ ตามความคิดแบบเก่า ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฏจากความคิดของจอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย ที่บอกว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมาย ที่ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอํานาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ หน้าที่ทางศีลธรรม ที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจําต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จะนํามาซึ่ง ความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติทั้ง 5 ยุค จะเห็นได้ว่า ยุคโบราณนักปราชญ์พยายามค้นหาแก่นแท้ของกฎหมาย ซึ่งพอสรุปได้ว่ากฎหมายเป็นเหตุผลตามธรรมชาติ จนกระทั่งยุคต่อมาที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง หลักคิดของกฎหมายจึงอยู่ที่ความเป็นเอกภาพของโลกและจักรวาลกับ หลักกฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด ซึ่งถือว่ากฎหมายเป็นเสมือนโองการของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งภายหลังก่อให้เกิดข้อกังขาถึงการพิสูจน์ความเป็นกฎหมายที่แท้จริง ทําให้ปรัชญากฎหมายอื่นขึ้นมามีบทบาทสําคัญแทนที่ปรัชญากฎหมาย ธรรมชาติ จนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เป็นแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่มีแนวคิดในการให้ความสําคัญกับ วัตถุประสงค์ของกฎหมายและพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ให้ความสําคัญกับศีลธรรมและสิทธิมนุษยชน

จากการที่ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในอดีตมีส่วนที่ทําให้เห็นถึงการมองกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในฐานะ ที่มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีการปกครองโดยผู้ปกครองอาศัยอํานาจภายใต้การปกครองของตน สิ่งที่ประชาชน แสวงหาคือความเป็นธรรมและความยุติธรรม กฏเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กําหนดขึ้นในสังคมควรกําหนดโดยมีพื้นฐานจาก อํานาจหรือเหตุผลของมนุษย์ที่ถือเป็นธรรมชาติที่มนุษย์มีอยู่และสามารถเข้าใจได้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ จึงเป็นอุดมคติในทางกฎหมายที่เป็นมูลฐานสําคัญจากแนวคิดนักกฎหมายในยุคกรีกเป็นต้นมาจนมีพัฒนาการถึง 5 ยุค ในแต่ละยุคก็มีลักษณะที่ทําให้เห็นถึงแนวคิดทางกฎหมายที่นําไปกําหนดสร้างกฎหมายในการปกครอง บ้านเมืองในยุคสมัยนั้น ๆ และจากพัฒนาการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแนวคิดทางกฎหมายที่สําคัญและมีบทบาทต่อ การกําหนดสร้างกฎหมายในบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อมา

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยเป็นแนวคิดกฎหมายธรรมชาติที่มีการพัฒนาแนวคิดทางกฎหมาย ที่มีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกและโรมัน คือมีเนื้อหาและหลักการที่มี ความเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับวิธีคิดร่วมสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการเข้าสู่แนวคิดแบบชุมชนนิยมที่มีลักษณะก้าวหน้า แต่ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยยังคงลักษณะที่เป็น ทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรมและทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง โดยแนวคิดปรัชญากฎหมายธรรมชาติให้ความสําคัญกับสิทธิมาตั้งแต่ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันที่หลายประเทศให้ความสําคัญ และกําหนดอยู่ใน กฎหมายรัฐธรรมนูญ ในด้านอุดมคติเชิงจริยธรรม แสดงออกที่ความคิดและความเชื่อถือเรื่องอุดมคติที่อยู่เหนือกฎหมายของรัฐ หรือกฎหมายของรัฐควรบัญญัติให้สอดคล้องทั้งในด้านคุณธรรมและความยุติธรรมในฐานะที่เป็น จุดหมายปลายทางแห่งกฎหมาย ความสัมพันธ์กับกฎหมายและความยุติธรรม ความเป็นอุดมคติที่มีความแน่นอน เป็นสากล ใช้ได้ทุกสถานที่ ซึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ เป็นกฎหมายธรรมชาติในเชิงปฏิบัติ และ มีลักษณะของความผ่อนปรน ประนีประนอมมากขึ้นกว่ากฎหมายธรรมชาติอันมีลักษณะอุดมคติแบบเก่าในอดีต

The Rule of Law not the Rule of Man ในความหมายดั้งเดิมของกฎหมายและของอริสโตเติลนั้น จะมีความสัมพันธ์กับหลักนิติธรรมในยุคสมัยปัจจุบันในฐานะเป็นรากฐานความคิดในทางกฎหมายเป็นใหญ่ เป็นการปกครองด้วยกฎหมายไม่ใช่ด้วยบุคคล และพัฒนามาสู่การยอมรับต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลภายใต้ กฎหมาย รัฐรวมถึงผู้ปกครองที่ปกครองด้วยกฎหมายต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชน และทุก ๆ คน ต้องมีสถานะที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย กล่าวคือ แม้ตามหลักของการแบ่งแยกอํานาจของ อริสโตเติล ผู้ปกครองจะมีอํานาจอันชอบธรรมในการออกและบังคับใช้กฎหมายก็ตาม แต่ตัวผู้ปกครองหรือรัฐเอง ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่พวกเขาออกและบังคับใช้ด้วยเฉกเช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่น ๆ ในรัฐ เพื่อจะทําให้ การเมืองนั้นวางอยู่บนรากฐานของกฎหมาย และรัฐบาลนั้นเป็นรัฐบาลที่จํากัดโดยตัวกฎหมายเป็นสําคัญ

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าเราควรจะปฏิรูปกฎหมายไทยโดยอาศัยแนวความคิด The Rule of Law not the Rule of Man ของอริสโตเติลดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเพื่อเป็นที่มาของกฎหมาย

หมายเหตุ สําหรับในความเห็นของนักศึกษานั้น จะเห็นด้วยหรือไม่กับการปฏิรูปกฎหมายไทย โดยอาศัยแนวความคิดดังกล่าวของอริสโตเติลก็ได้ เพียงแต่ต้องอธิบายและแสดงความคิดเห็นประกอบด้วย

 

ข้อ 2. (ก) จงอธิบายแนวความคิดของ ซาวิญยี่ ที่ว่า “กฎหมายของชาติใดย่อมเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของชาตินั้น”

(ข) ความยุติธรรมคืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) แนวความคิดของซาวิญยี่ที่ว่า “กฎหมายของชาติใดย่อมเป็นไปตามประวัติศาสตร์ของชาตินั้น” มีที่มาจากสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์จากช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศสประกอบกับช่วงเวลาที่ให้ความสําคัญของชาติ ซึ่งจากแนวความคิดของซาวิญยี่ดังกล่าว เสดงให้เห็นความคิดของซาวิญยี่ที่ได้อธิบายว่า กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอํานาจ จะกระทําตามอําเภอใจ แต่กฎหมายนั้นเป็นผลผลิตต่อสังคมที่มีรากเหง้าในประวัติศาสตร์ของประชาชน กําเนิดและ เติบโตจากประสบการณ์และหลักความประพฤติทั่วไปของประชาชน ซึ่งปรากฏในรูปประเภทหรือจิตวิญญาณร่วมของประชาชน กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามใจชอบ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตัวของมันเองแล้วเติบโต เปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปตามประวัติศาสตร์ หรือลักษณะของชนชาติเหมือนกับต้นไม้ คนหรือสัตว์ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะค่อย ๆ เติบโตไปตามหลักเกณฑ์วิวัฒนาการ หรือกฎหมายเปรียบเสมือนภาษาประจําชาติ ซึ่งจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง วิวัฒนาการไป ทั้งนี้เพราะกฎหมายเป็นผลผลิตของชนชาติ กฎหมายของชนชาติใดย่อมเป็นไปตามความคิดความรู้สึก ของชนชาติหรือที่เรียกว่าจิตวิญญาณของชนชาติ โดยเขาอธิบายว่าชนชาติแต่ละชนชาติมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ความคิด ความรู้สึกหรือจิตใจย่อมแตกต่างกัน กฎหมายของแต่ละชนชาติเกิดจากจิตวิญญาณของชนชาติที่แสดงออก เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหรือเป็นกว่าหมายประเพณีเป็นสําคัญ

ดังนั้น ชาวิญยี่จึงเสนอว่า ในการบัญญัติกฎหมายจะต้องศึกษาถึงจารีตประเพณีของชนชาติก่อน ฉะนั้นก่อนที่จะมีประมวลกฎหมายจะต้องรู้จารีตประเพณีของชนชาติ ความคิดของซาวิญยี่จึงเน้นจารีตประเพณี และเน้นประวัติศาสตร์ของชนชาติ

(ข) “ความยุติธรรม” เป็นคําหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไร ก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง

1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมะ

3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีนักปราชญ่สมัยกรีกโบราณได้ให้นิยามของความหมายความยุติธรรมไว้ดังนี้

พิทากอรัส (Pythagoras) เป็นผู้เริ่มต้นอธิบายแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในแง่ของความเสมอภาค โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความยุติธรรมในการลงโทษ โดยอธิบายว่าความยุติธรรมนั้นเปรียบได้กับตัวเลขยกกําลังสอง กล่าวคือ มันให้เท่ากันคืนแก่สิ่งที่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นตัวคูณสองตัวที่เหมือนกัน ความยุติธรรมจึงบังคับ ให้ตอบแทนหรือให้รางวัลกรรมดีในระดับหรือปริมาณเดียวกับกรรมดีนั้น หรือในแง่ตรงข้ามหมายถึงการลงโทษบุคคล ให้สาสมเท่าเทียมกับความผิดที่ก่อขึ้น

เพลโต (Plato) ได้ให้คํานิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทํากรรมดีหรือการทําสิ่งที่ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสําคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรมอื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคม ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ ทุกคนไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบ ตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ

1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและ ความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกําเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลัง ๆ จนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสําคัญของสํานักปฏิฐานนียม ทางกฎหมายที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของ สํานักนี้ด้วย อาทิเช่น

ฮันส์ เคลเซ่น (Hens Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคําสั่งที่เป็นกฎหมาย โดยการปรับใช้คําสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม”

อัลฟ รอสส์ (AIf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง อันเป็น สิ่งตรงข้ามกับการกระทําสิ่งใดตามอําเภอใจ”

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คําพิพากษาเก่า ๆ และคําพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอ ๆ แต่คําที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคําไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกันตามนิสัย ซึ่งไม่เป็นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไรเป็นยุติธรรม ไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่ จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”

2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรมได้รับ การเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็นความคิด อุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรม ซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทํานองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้งเป็น วิธีคิดอุดมคตินิยมซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสาร ของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกํากับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มีมา ช้านานแล้ว ดังเช่น

คดีอําแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อําแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี ตุลาการ ก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคําพิพากษานี้ รวมทั้งกฎหมาย ที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชําระสะสางกฎหมายใหม่จนกลายเป็น กฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจาก บุคคลสําคัญของไทย เช่น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีแนวพระราชดําริต่อความยุติธรรมว่ามีสถานภาพ สูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษา ความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อน กฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมาย และได้ผลที่ควรจะได้”

ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายแนะนําไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของท่าน ไว้ว่า “การที่มีคําใช้อยู่ 2 คํา คือ “กฎหมาย” คําหนึ่ง “ความยุติธรรม” คําหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่ สิ่งเดียวกันเสมอไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฏหมาย ไม่คํานึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้น เป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”

 

ข้อ 3. (ก) หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยคืออะไร มีอะไรบ้าง จงอธิบาย

(ข) จงเปรียบเทียบหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยกับปรัชญากฎหมายของตะวันตก

ธงคําตอบ

(ก) หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยนี้เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสําคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทางกฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

หลักทศพิธราชธรรม คือ หลักธรรมอันสําคัญยิ่งสําหรับกษัตริย์หรือผู้ปกครอง 10 ประการ ดังนี้

1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและให้วิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลผู้อื่นและให้ประการอื่น ๆ เช่น กําลังกาย กําลังความคิด ตลอดจนคําแนะนําที่รวมแล้วเรียกว่า ธรรมทาน

2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4 อาซชวะ คือ ความซื่อตรง

5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน

6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสําเร็จโดยไม่ลดละ

7 อักโกระ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใคร

8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์เดือดร้อน

9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลําบาก ทั้งที่เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

หลักธรรมทั้ง 10 ประการนี้ อาจกล่าวว่าเป็นหลักธรรมทางกฎหมายในแง่พื้นฐานของการใช้อํานาจ ทางกฎหมาย ถึงแม้โดยเนื้อหา ทศพิธราชธรรม จะมีลักษณะเป็นจริยธรรมส่วนตัวของผู้ปกครองก็ตาม เพราะหากเมื่อ จริยธรรมนี้เป็นสิ่งที่ถือว่าควรอยู่เบื้องหลังกํากับการใช้อํานาจรัฐ โดยบทบาทหน้าที่ของธรรมะแล้วบทบาทดังกล่าว ย่อมอยู่เบื้องหลังการใช้อํานาจทางกฎหมาย ไม่ว่าจะในรูปของการนิติบัญญัติหรือการบังคับใช้กฎหมายด้วยเช่นกัน มองที่จุดนี้ ทศพิธราชธรรมย่อมดํารงอยู่ในฐานะหลักธรรมสําคัญในปรัชญากฎหมายของไทยอีกฐานะหนึ่งด้วย

(ข) หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1 กฎหมายได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายเห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางาฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

ซึ่งหลักการทั้ง 4 ประการนี้ ถือเป็นหัวใจสําคัญของปรัชญากฎหมายในพระธรรมศาสตร์ ซึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายธรรมชาติของฝ่ายตะวันตกแล้ว เปรียบเสมือนหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ในอุดมการณ์ทางกฎหมายของสังคมไทยสมัยโบราณ ภายใต้ปรัชญากฎหมายแบบพุทธธรรมนิยม โดยเรียกว่า “หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” ซึ่งมีอิทธิพลความสําคัญต่อสังคมไทยสมัยโบราณเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ และหลักทศพิธราชธรรมซึ่งเป็นหลักการข้อ 4 ของหลักจตุรธรรมก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนา จึงทําให้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมซึ่งทําให้ผู้คน ในบ้านเมืองสมัยนั้นอยู่กันอย่างสงบสุขร่มเย็น

และเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง “หลักจตุรธรรม” กับปรัชญากฎหมายของตะวันตก หรือกฎหมาย ธรรมชาติที่มีหลักการที่สําคัญ คือ “Lex iniusta non est lex” หรือ “กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่ถือเป็นกฎหมาย” แล้ว จะเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันตรงที่ว่า ตามหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย จะกําหนดให้พระมหากษัตริย์ จะต้องคํานึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ทุกคราวที่ตรากฎหมาย กล่าวคือ การตรากฎหมายจะต้องไม่ขัดแย้งกับ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เช่น กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจมีความแตกต่างกันได้ กล่าวคือ ถ้าในกรณีเกิดมีพระมหากษัตริย์ที่ไม่ทรง สนพระทัยต่อคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ตรากฎหมายโดยขัดแย้งกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์หรือขัดกับหลักจตุรธรรม แห่งปรัชญากฎหมายไทย เช่น ขัดกับธรรมะหรือศีลธรรม ทําให้กฎหมายไม่เป็นธรรม ดังนี้ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้สูง ที่จะมีการดึงดันให้กฎหมายนั้นยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายอยู่ แต่ย่อมมีผู้ถือว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรมหรือเป็น กฎหมายที่เลวอยู่บ้างอย่างเงียบ ๆ และคาดเดากันว่าจะเป็นกฎหมายที่อยู่ได้ไม่นานทั้งเป็นกฎหมายที่ไม่ควรเคารพเชื่อฟัง

 

LAW4007 นิติปรัชญา 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้นักศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้งในแง่ที่มาและเหตุผลพื้นฐานของบทสรุปที่ว่ากฎหมายเกิดจากเจตจํานง/จิตวิญญาณของประชาชาติ (Volksgeist) กับบทสรุปที่ว่ากฎหมายเป็นเจตจํานงหรืออาวุธ ของชนชั้นปกครองที่บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องอํานาจหรือผลประโยชน์ของตน ในทัศนะของนักศึกษา บทสรุปใดดังกล่าวมีความถูกต้องหรือสมจริงมากกว่ากันในยุคสมัยปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากบริบท ของสังคมไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ธงคําตอบ

บทสรุปที่ว่ากฎหมายเกิดจากเจตจํานง/จิตวิญญาณของประชาชาติ (Volksgeist) นั้น มีที่มาจาก “สํานักกฎหมายประวัติศาสตร์” ส่วนบทสรุปที่ว่ากฎหมายเป็นเจตจํานงหรืออาวุธของชนชั้นปกครองนั้น เป็น “ทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์” (The Marxist Theory of Law)

สํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical School of Law) มีแนวความคิดว่า กฎหมายไม่ใช่สิ่ง ที่ผู้มีอํานาจจะกระทําตามอําเภอใจโดยพลการ แต่กฎหมายเป็นผลผลิตของสังคมที่มีรากเหง้าหยั่งลึกลงไปในประวัติศาสตร์ของประชาชาติ กําเนิดและเติบโตจากประสบการณ์และหลักประพฤติทั่วไปของประชาชน ซึ่งปรากฏในรูปจารีตประเพณีหรือจิตวิญญาณร่วมของประชาชน กล่าวคือ สํานักคิดนี้อธิบายว่า กฎหมายคือ จิตวิญญาณร่วมกันของชนในชาติ และที่มาของกฎหมายคือ จารีตประเพณีนั้นเอง

เหตุผลที่แนวคิดของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์อธิบายเช่นนั้น เพราะพื้นฐานที่มาของเยอรมัน ในขณะนั้นได้รับอิสรภาพจากการปกครองของฝรั่งเศส ทําให้เกิดการปลุกกระแสความรักชาติด้วยอารมณ์ หัวใจและ จิตวิญญาณความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ และความพยายามสร้างกฎหมายที่กําเนิดและเกิดขึ้นมา จากประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาติที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของคนเยอรมัน โดยมีพื้นฐานที่เกิดขึ้นมา พร้อม ๆ กับจารีตประเพณีที่คนในชาติปฏิบัติกันมาตั้งแต่ต้น กําเนิดและเติบโตหยั่งลึกลงไปในจิตวิญญาณของ ชนในชาติที่พร้อมจะยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน กฎหมายของสํานักคิดนี้จึงถือเป็นจิตวิญญาณร่วมกันของคนในชาตินั้น และมีที่มาจากจารีตประเพณีที่มีความแตกต่างกับชาติอื่น ๆ และถือว่ากฎหมายของชาติหนึ่งจะนํากฎหมายของอีกชาติหนึ่งมาใช้ไม่ได้

มองโดยภาพรวมแล้วแนวความคิดของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ เน้นไปที่เรื่องราวของอดีต เกือบทั้งหมด แม้นกระทั่งสิ่งที่เรียกว่า “จิตสํานึกร่วมของประชาชน” (Common Consciousness of the People) การที่จะรู้ถึงจิตสํานึกร่วมของประชาชนได้ก็โดยการศึกษาถึงภูมิประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้น ๆ เป็นสํานัก ที่ยกย่องเชิดชูประวัติศาสตร์ รากฐานของสังคมในอดีต หรือการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะอารมณ์ แบบโรแมนติก (Romantic) ให้ความสําคัญกับอดีตมากเกินไปจนละเลยต่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงการละเลยถึงภูมิปัญญาของปัจเจกชน

ส่วน “ทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์” (The Marxist Theory of Law) เป็นทฤษฎีทาง กฎหมายของคาร์ล มาร์กซ์ ที่มองกฎหมายว่าเป็นเพียงกลไกเพื่อรับใช้ประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางชนชั้นที่มี อํานาจในสังคม มิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระในการใช้ประนีประนอมผลประโยชน์ขัดแย้งทั้งหลาย

 

เนื่องจากตัวมาร์กซ์เองแล้วเขาเป็นคนค่อนข้างจะเย้ยหยันต่อบทบาทของกฎหมายในระบบทุนนิยม จึงทําให้มีการสรุปธรรมชาติหรือบทบาทของกฎหมายเป็น 3 ประการ คือ

1 กฎหมายเป็นผลผลิตหรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น ๆ โดยมองว่า สังคม ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ล้วนถูกกําหนดโดยระบบการผลิตหรือระบบเศรษฐกิจ ที่เป็นอยู่ ซึ่งสมมติให้เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจหรือโครงสร้างส่วนล่าง ของสังคม ซึ่งกฎหมายก็ถือเสมือนว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายนั้น จะเป็นผลสะท้อนของระบบเศรษฐกิจหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

2 กฎหมายเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอํานาจของตน กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ของชนชั้นปกครอง เป็นข้อสรุปที่มาจาก “คําประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์” ที่มาร์กซ์ และเองเกลส์เขียนขึ้นเพื่อกล่าวเสียดสีกฎหมายของชนชั้นเจ้าสมบัติ จึงทําให้นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วไปมอง กฎหมายว่าไม่ได้เกิดจากเจตนาร่วมหรือเจตจํานงทั่วไปของประชาชน แต่กฎหมายนั้นเป็นเพียงการแสดงออก ซึ่งเจตจํานงของชนชั้นปกครอง

3 ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคม จะเหือดหาย (Writering Away) และสูญสิ้นไปในที่สุด เป็นการสรุปความเอาเองของบรรดาเหล่าสาวกของมาร์กซ์ ที่ตีความของบุคคลจากงานเขียนของเองเกลส์ ชื่อ “Anti-Dubring” ที่กล่าวพยากรณ์ว่า สังคมคอมมิวนิสต์ ในอนาคตรัฐหรือรัฐบาลของบุคคลจะเดือดหายไร้ความจําเป็นในการดํารงอยู่อีกต่อไป ซึ่งเองเกลส์พูดถึงแต่รัฐ เท่านั้นไม่ได้พูดถึงกฎหมาย

สําหรับในทัศนะของข้าพเจ้านั้น ในยุคสมัยปัจจุบันเมื่อพิจารณาจากบริบทของสังคมไทยที่อยู่ภายใต้ การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่า บทสรุปของ “ทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์” จะมีความถูกต้องหรือสมจริงมากกว่าทฤษฎีหรือแนวคิดของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จาก ในการออกกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ผู้ที่มีอํานาจในการจัดทํารัฐธรรมนูญก็เป็นคณะบุคคล ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมา บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็จะมีลักษณะเอื้ออํานวยแก่ คสช. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ อํานาจปกครองหรือในการบริหารราชการ รวมทั้งเมื่อบุคคลใน คสช. ต้องการจะสืบทอดอํานาจก็จะให้มีการกําหนด บทบัญญัติต่าง ๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกของตน เช่น นายกรัฐมนตรีไม่จําเป็นต้อง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือไม่จําเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ตนแต่งตั้ง ขึ้นมามีสิทธิออกเสียงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และที่สําคัญคือการกําหนดบทบัญญัติบางมาตราขึ้นมาเพื่อให้ ตนมีอํานาจกระทําการใด ๆ ได้โดยไม่ถือว่าการกระทํานั้น ๆ เป็นความผิด ทําให้ผู้มีอํานาจกระทําการใด ๆ ได้ ตามอําเภอใจ ทําให้ดูเสมือนว่าผู้มีอํานาจได้ออกกฎหมายมาแล้วนํากฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อกดขี่ประชาชน และเพื่อปกป้องอํานาจของตน โดยไม่สนใจถึงความรู้สึกและความต้องการของประชาชน และไม่เป็นไปตามหลักสากลที่นานาประเทศยอมรับ

หมายเหตุ นักศึกษาอาจมีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ โดยให้เหตุผลที่เหมาะสมตามทฤษฎีของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ และทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์

 

ข้อ 2. จงอธิบายความหมายพื้นฐานของความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) ทฤษฎีความยุติธรรมทางสังคมของรอลส์ (John Rawls) เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ อย่างไร และในทัศนะของนักศึกษา การมุ่งสร้างความยุติธรรมทางสังคมที่เข้มแข็งสมบูรณ์จัดเป็นการกระทําที่ขัดต่อหลักกฎแห่งกรรมในพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) หรือ “ความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน” หรือ “ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีทางจําแนกหรือแบ่งปันสิ่งซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์ หรือสิ่งอันมีคุณค่าในสังคม (เช่น ทรัพย์สิน, รายได้, ความสุข, การได้รับความพึงพอใจ, การได้รับการศึกษา) ให้แก่สมาชิกของสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออย่างเป็นธรรม ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญที่สุดในการ สร้างสรรค์และคงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ กลมกลืนของสังคมโดยรวม

จอห์น รอลส์ นําเสนอทฤษฎีความยุติธรรมทางสังคมไว้ในงานเขียนเรื่อง “ทฤษฎีความยุติธรรม” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เน้นความสําคัญของอิสรภาพของบุคคล

จอห์น รอลส์ นําเสนอโดยเริ่มจากการมองความยุติธรรมในฐานะที่เป็นความเที่ยงธรรมหรือ ความเที่ยงตรง ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากขั้นตอนหรือกระบวนการหาจุดยุติปัญหาที่เที่ยงธรรม ปราศจากอคติส่วนตัว โดยเขาได้จินตนาการถึงมนุษย์ในสถานการณ์ที่ทุกคนอยู่ใน “จุดเริ่มต้นภายใต้ม่านแห่งอวิชชา” ซึ่งเขาก็ได้กําหนดให้ มนุษย์ใน “จุดเริ่มต้น” รู้ว่าตนเองเป็นผู้มีเหตุผล มีอิสระ สนใจในผลประโยชน์ของตนเองและต่างมีความเสมอกัน พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ตระหนักว่า พ้นจากฐานะแรกเริ่มอันเสมอกันนั้น มนุษย์ก็มีผลประโยชน์ที่มีทั้งเหมือนและ ต่างกัน กล่าวคือ รู้ถึงภาวะที่อาจมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันและยังรู้ถึงข้อจํากัดของศีลธรรมและสติปัญญาของ มนุษย์ด้วยกันเอง

จอห์น รอลส์ ก็ให้พวกเขามืดบอดอยู่ภายใต้ “ม่านแห่งอวิชชา” กล่าวคือ ไม่ทราบถึง สถานะทางสังคมของตนที่ดํารงอยู่ ไม่ทราบถึงความสามารถโดยธรรมชาติ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณความดี ไม่รู้ถึง คุณสมบัติทางจิตวิทยา ไม่รู้ว่าตนอยู่ในสังคมยุคไหน เพียงทราบว่าตนอยู่ภายใต้ “เหตุแวดล้อมความยุติธรรม” ซึ่งหมายความว่า รู้ว่าอยู่ในสังคมที่ยังมีปัญหาเรื่องความยุติธรรมหรือรู้ว่าอยู่ในโลกแห่งความจํากัดขาดแคลน

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น จอห์น รอสส์ เชื่อว่ามนุษย์ตามมโนภาพเช่นนี้จะเป็นผู้ให้ คําตอบเกี่ยวกับหลักความยุติธรรมได้อย่างเที่ยงธรรม แท้จริง เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบถึงสถานะหรือตําแหน่ง ทางสังคมของตน ดังนั้นหากให้มนุษย์ในสถานการณ์นี้มาตกลงทําสัญญาประชาคมร่วมกัน มากําหนดหลักความ ยุติธรรมทางสังคม โดยธรรมชาติของการนึกถึงประโยชน์ของตนเอง ด้วยเหตุผล แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องคิด สร้างหลักความยุติธรรมอย่างรอบคอบที่สุดหรือยุติธรรมอย่างแท้จริง

จากที่ จอห์น รอลส์ นําเสนอไว้ข้างต้น เขาก็สรุปว่าหลักความยุติธรรมที่มนุษย์ในจุดเริ่มต้นจะ ประกอบด้วยหลักการสําคัญ 2 ประการ คือ

1 หลักอิสระเสรีภาพอันเท่าเทียม กล่าวคือ มนุษย์แต่ละคนจําต้องมีสิทธิเท่าเทียมกันใน เสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างมากที่สุด ซึ่งเทียบเคียงได้กับเสรีภาพอันคล้ายคลึงกันในบุคคลอื่น ๆ

2 หลักความเสมอภาคโอกาสอันเท่าเทียม กล่าวคือ ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและ สังคมต้องได้รับการจัดระเบียบให้เป็นธรรม

ทฤษฎีความยุติธรรมทางสังคมของ จอห์น รอลส์ ที่ประกอบด้วยหลักความยุติธรรม 2 ประการ ดังกล่าว จะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเฉพาะหลักในข้อ 2 ที่เน้นเรื่องความเสมอภาค ของโอกาสที่เป็นธรรม และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ

การมุ่งสร้างความยุติธรรมทางสังคมที่เข้มแข็งสมบูรณ์ ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยเหลือผู้ยากไร้ ด้อยโอกาสนั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่ขัดแย้งต่อหลักกฎแห่งกรรมในพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพราะกฎแห่งกรรม ตามคติของพุทธศาสนาเมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว ย่อมตระหนักได้ว่าเป็นสากลที่ใช้กับมนุษย์ทุกหมู่เหล่า โดยไม่มีข้อยกเว้น ถือว่าทุกคนเป็นทายาทแห่งกรรมหมด ใครทํากรรมสิ่งใดย่อมได้รับกรรมตามนั้น (แม้ไม่ได้รับ ในชาตินี้ก็ย่อมปรากฎเห็นได้ในชาติหน้า ไม่มีผู้อื่นใดจะมารับแทนได้) มิได้หมายความว่าเฉพาะความยากจนเท่านั้น ที่เป็นเรื่องผลของกรรมเก่าเพียงอย่างเดียว

 

ข้อ 3. หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมภายใต้กรอบคิดในพระธรรมศาสตร์ มีเนื้อหาสาระที่ส่งเสริมหรือให้ความสําคัญต่อสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน/ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค เท่าเทียมหรือไม่อย่างไร และนักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่เพราะเหตุใดต่อบทสรุปเรื่องทวิลักษณ์หรือ การมีมาตรฐานสองชั้น (Double Standard) ทางกฎหมาย/อํานาจในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม

ธงคําตอบ

“หลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทย” เป็นหลักบรรทัดฐานทางกฎหมายของพระธรรมศาสตร์ ที่สรุปอนุมานขึ้นมาจากเนื้อหาสาระสําคัญของพระธรรมศาสตร์ โดยอาจจะเรียกเป็นหลักบรรทัดฐานสูงสุดทาง กฎหมาย 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลักกฎหมายทั่วไป 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ หรือหลัก กฎหมายธรรมชาติ 4 ประการในพระธรรมศาสตร์ก็ได้สุดแท้แต่จะเรียก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ (หรือผู้ปกครอง) ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

และเมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าไม่มีเนื้อหาที่ส่งเสริมหรือให้ความสําคัญต่อสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค เท่าเทียมกันของราษฎรแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม จะต้องอยู่บน กระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะธรรมนิยม กล่าวคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทยอันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ และขณะเดียวกันก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็นจริยธรรมการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป

 

เมื่อความคิดเชิงธรรมนิยมหรืออํานาจนิยมในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม มุ่งเน้นศีลธรรมแบบดั้งเดิม และอนุรักษนิยมภายใต้โครงสร้างสังคมแบบศักดินา ซึ่งไม่มีการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อัน เท่าเทียมกัน ดังนั้นการก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเท่าเทียมกัน ในสังคมไทยสมัยใหม่ จึงไม่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมดังกล่าวนั้นแต่อย่างใด แต่จะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกตามแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก โดยเริ่มมีการปฏิรูปตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) ซึ่งเกี่ยวพันกับเหตุปัจจัยอันซับซ้อน ทั้งกระแสปฏิรูปความคิดทางพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยมและธรรมยุติกนิกาย อิทธิพลของวิทยาการตะวันตก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับจากการทําสัญญาเบาริงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับพลังกดดันจากมหาอํานาจ ตะวันตก ตลอดจนเหตุปัจจัยทางการเมืองภายในอันเกี่ยวกับอํานาจเสนาบดีตระกูลบุนนาค

ซึ่งการก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าว ทําให้เกิดแผนการปฏิรูปสังคมไทยให้เข้าสู่แบบวิถีสังคมสมัยใหม่แบบตะวันตก และแผนปฏิรูปสังคมนับว่าเป็นเหตุ ที่มาของการปฏิรูปสถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ตามมา รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการ การคลัง และโดยเฉพาะ การปฏิรูปกฎหมาย ทําให้ปรัชญากฎหมายไทยแบบเดิมที่อิงอยู่กับพระธรรมศาสตร์ได้เสื่อมลงอย่างมาก พร้อมกันนั้น ปรัชญากฎหมายตะวันตกก็เริ่มปรากฏตัวขึ้น

และเมื่อพิจารณาจากภาพรวมทางความคิดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นด้วยต่อบทสรุปเรื่องทวิลักษณ์หรือ การมีมาตรฐานสองชั้น (Double Standard) ทางอํานาจหรือกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ว่าตามหลักปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมนั้น จะตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะธรรมนิยม แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกทับซ้อนด้วยแนวความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช รวมทั้งแนวความคิดระบบศักดินา ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในสมัยอยุธยา จนทําให้การใช้ พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์หรือกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมมีลักษณะเป็นมาตรฐานสองชั้น ที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น ในสมัยอยุธยานั้น พระราชโองการของพระมหากษัตริย์จะไม่ใช่คําสั่งของมนุษย์ผู้มีอํานาจ สูงสุดในแผ่นดินอีกต่อไป แต่กลายเป็นเทวโองการที่มนุษย์ธรรมดาไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดแย้งหรือวิจารณ์หรือ แม้แต่จะแสดงความคิดเห็นไปในทางใดทั้งสิ้น เป็นต้น (นักศึกษาสามารถวิเคราะห์วิจารณ์ได้อย่างอิสระ โดยให้ เหตุผลที่เหมาะสม)

 

LAW4007 นิติปรัชญา S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบในคําถามต่อไปนี้

(ก) ปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism) คืออะไร

(ข) Futter และ Dworkin วิจารณ์ความคิดของ Hart ว่าอย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย หรือ Legal Positivism เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่เกิดขึ้น ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยคําว่า “ปฏิฐานนิยม” แปลโดยรวมคือ “แนวคิดที่มีหลักสวนกลับหรือโต้ตอบกลับ” ซึ่งในที่นี้ก็คือ “แนวคิดที่มีหลักสวนกลับหลักกฎหมายธรรมชาติ” ที่มีอยู่ก่อนแล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงลึกในเนื้อหาแล้วจะเห็นว่า ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายเป็นทฤษฎี ความเห็นซึ่งยืนยันว่ากฎหมายเป็นผลผลิตหรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยอํานาจปกครองในสังคม นักทฤษฎีปฏิฐาน นิยมทางกฎหมายจะยืนยันถึงการแยกจากกันโดยเด็ดขาดระหว่างกฎหมายกับจริยธรรม ศีลธรรมต่าง ๆ รวมทั้ง มีความโน้มเอียงที่จะชี้ว่าความยุติธรรม หมายถึง การเคารพปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่รัฐตราขึ้นอย่างเคร่งครัด

(ข) ทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในแบบฉบับของฮาร์ท

ฮาร์ท (Hart) ถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดย เกี่ยวข้องกับสังคมในสองความหมาย

ความหมายแรก มาจากการที่มันเป็นกฎเกณฑ์ปกครองการกระทําของมนุษย์ในสังคม

ความหมายที่สอง สืบแต่มันมีแหล่งที่มา และดํารงอยู่จากการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์ โดยเฉพาะ และไม่มีการเรียนการสอน

ฮาร์ทเห็นว่าเป็นความจําเป็นทางธรรมชาติที่ในทุกสังคมของมนุษย์จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่กําหนด พันธะหน้าที่ในรูปกฎหมาย ซึ่งจํากัดควบคุมความรุนแรง พิทักษ์รักษาทรัพย์สินหรือระบบทรัพย์สิน และป้องกัน ควบคุมการหลอกลวงกัน โดยฮาร์ทถือว่ากฎเกณฑ์ซึ่งจําเป็นเหล่านี้เป็นเสมือน “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของ กฎหมายธรรมชาติ” ที่ชี้ให้ยอมรับแก่นความหมายในแง่ดีของทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ จนถึงกับกล่าวว่าเป็น สิ่งสําคัญที่เวลาพิจารณากฎหมาย ต้องพิจารณาถึงสัจธรรมข้อนี้ด้วย ทําให้เกิดการคาบเกี่ยวบางเรื่องระหว่าง กฎหมายและศีลธรรม กลายเป็นการดํารงอยู่ของกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงทางสังคมที่ซับซ้อนหลาย ๆ ประการ ด้วยเหตุนี้กฎหมายทั้งหมดจึงเปิดช่องให้ทําการวิจารณ์เชิงศีลธรรมได้ แต่อย่างไรก็ตามจุดนี้เองที่ฮาร์ท ยอมรับอย่างเปิดเผยในท้ายที่สุดว่า “โดยพื้นฐานแท้จริงแล้ว การยึดมั่นของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายในบทสรุป ของแนวคิดเรื่องการแยกกฎหมายออกจากศีลธรรมนั้น ในตัวของมันวางอยู่บนเหตุผลทางศีลธรรม”

ฮาร์ทมองเห็นข้อจํากัดของการที่มีแต่กฎเกณฑ์ที่กําหนดพันธะหน้าที่เพียงลําพัง จึงได้สร้าง แนวคิดที่เรียกว่า “ระบบกฎหมาย” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 “กฎปฐมภูมิ” หมายถึง กฏเกณฑ์ทั่วไปซึ่งวางบรรทัดฐานการประพฤติให้คนทั่วไป ในสังคม และก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามในลักษณะเป็นกฎหมายเบื้องต้นทั่วไป

2 “กฎทุติยภูมิ” หมายถึง กฎเกณฑ์พิเศษที่สร้างขึ้นมาเสริมความสมบูรณ์ของกฎปฐมภูมิ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่โดยทั่วไปเหมือนกฎปฐมภูมิ แต่เป็นกฎ ที่ผู้ใช้กฎหมายต้องพิจารณาและคํานึงถึง (เป็นกฎของกฏเกณฑ์อื่น ๆ อีกชั้นหนึ่ง) ซึ่งฮาร์ทแยกองค์ประกอบของ กฎทุติยภูมิออกเป็น 3 กฏย่อย คือ

1) กฎกําหนดเกณฑ์การรับรองความเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ หรือเกณฑ์การพิสูจน์ การเรียน การว่ากฏใดคือกฎหมาย เช่น เรื่องความชัดเจนของกฎหมายหรือผลกระทบของความสมบูรณ์ของกฎหมายที่ออกโดยคณะปฏิวัติ เป็นต้น

2) กฎที่กําหนดเกณฑ์การบัญญัติและแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เช่น กรณีการตราหรือยกเลิกแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

3) กฏที่กําหนดเกณฑ์การวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี เป็นกฎที่เกี่ยวข้องกับการชี้ขาดปัญหาการละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงเรื่องเขตอํานาจของศาลด้วย

กฎปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิในทรรศนะของฮาร์ทถือว่าเป็นกฎหลักสองประการที่ทําให้กฏเกณฑ์ ทางกฎหมายมีความสมบูรณ์จนถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น “ระบบกฎหมาย” ที่สมบูรณ์และได้มาตรฐานอย่างแท้จริง

ข้อวิจารณ์ของฟุลเลอร์ (Fuller) ที่มีต่อระบบกฎหมายของฮาร์ท

ศาสตราจารย์ฟุลเลอร์ นักทฤษฎีฝ่ายกฎหมายธรรมชาติ ยอมรับข้อเสนอของฮาร์ทที่ว่า “กฎหมายคือระบบของกฎเกณฑ์” แต่ก็ยังยืนยันความสําคัญของเรื่องวัตถุประสงค์ภายในตัวกฎหมาย ฟุลเลอร์ กล่าวว่าเราไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า กฏเกณฑ์แต่ละเรื่องคืออะไร จนกว่าเราจะได้ทราบว่ากฎเกณฑ์นั้น ๆ มีจุดมุ่งหมาย อย่างไร อีกทั้งเราไม่อาจเข้าใจเรื่องระบบของกฎเกณฑ์ได้ ถ้าเรามองเพียงในแง่ข้อเท็จจริงทางสังคมล้วน ๆ จุดสําคัญ อยู่ที่ต้องพิจารณากฎเกณฑ์หรือระบบแห่งกฎเกณฑ์ในแง่ของการกระทําที่มีจุดมุ่งหมาย กล่าวคือ “การควบคุม การกระทําของมนุษย์ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์” เมื่อพิจารณากันในประเด็นนี้ก็จะเข้าใจได้ว่ากฎเกณฑ์นั้นไม่สามารถ ดํารงอยู่ได้โดยปราศจากคุณภาพทางศีลธรรมภายในตัวกฎนั้น คือ ฟุลเลอร์ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับการที่ฮาร์ทสรุปว่า กฎหมายเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ล้วน ๆ และไม่จําต้องเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมหรือหลักคุณค่านามธรรมเสมอไป กล่าวคือ ฟุลเลอร์เห็นว่า กฎหมายนั้น ต้องสนองตอบความจําเป็นหรือวัตถุประสงค์ทางศีลธรรม กฎหมายและศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ กฎหมายจะต้องมีสิ่งที่อาจเรียกว่า “ศีลธรรมภายในกฎหมาย” บรรจุอยู่เสมอ

นอกจากนี้ฟูลเลอร์ไม่เห็นด้วยกับฮาร์ทที่แยกกฏปฐมภูมิและกฎทุติยภูมิออกจากกันโดยเด็ดขาด เพราะในบางสถานการณ์กฎอันเดียวกันอาจให้ทั้งอํานาจและกําหนดหน้าที่ไม่จํากัดบทบาทเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่ต้องแปรผันไปตามสภาพแวดล้อม

ข้อวิจารณ์ของดวอร์กิ้น (Dworkin) ที่มีต่อระบบกฎเกณฑ์ของฮาร์ท

ดวอร์กิ้นวิจารณ์แนวคิดเรื่องระบบกฎเกณฑ์ของฮาร์ทแบบตรงไปตรงมา โดยดวอร์จิ้นเห็นว่า การถือว่ากฎหมายเป็นเพียงเรื่องระบบแห่งกฎเกณฑ์ตามความคิดของฮาร์ทนั้น เป็นข้อสรุปที่ไม่สมบูรณ์และ คับแคบเกินไป เพราะจริง ๆ แล้ว “กฎเกณฑ์” ไม่ใช่เนื้อหาสาระเดียวในกฎหมาย การมองกฎหมายว่าเป็นเรื่อง ของกฎเกณฑ์เท่านั้นไม่เป็นสิ่งเพียงพอ กฎเกณฑ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายเท่านั้น แท้จริงแล้วยังมีเนื้อหา สาระสําคัญอื่น ๆ ซึ่งประกอบอยู่ภายในกฎหมาย ที่สําคัญคือเนื้อหาสาระที่เป็นเรื่องของ “หลักการ ทางศีลธรรม หรือความเป็นธรรม

“หลักการ” นี้ ดวอร์กิ้นถือว่าเป็นมาตรฐานภายในกฎหมายซึ่งต้องเคารพรักษาไว้ หลักการ เป็นสิ่งที่มีความสําคัญเพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม ความเที่ยงธรรมหรือมิติทางคุณค่าด้านศีลธรรมอื่น ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง หลักการเป็นมาตรฐานอันพึงเคารพเนื่องจากเป็นสิ่งจําเป็นของความยุติธรรมหรือความเป็นธรรม เป็นสิ่งคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชน โดยหลักการที่ว่านี้อาจค้นพบได้ในคดีความ พระราชบัญญัติ หรือศีลธรรมของ ชาวชุมชนต่าง ๆ

ดวอร์กิ้น กล่าวว่า “หลักการ” ต่างกับ “กฎเกณฑ์” ตรงที่กฎเกณฑ์มีลักษณะใช้ได้ทั่วไปมากกว่า ขณะที่หลักการต้องเลือกปรับใช้ในบางคดี นอกจากนี้หลักการยังมีมิติเรื่องน้ําหนักหรือความสําคัญที่ต้องพิจารณา ในการปรับใช้ ขณะที่กฏเกณฑ์ไม่มีมิติเช่นนี้

 

ข้อ 2. จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบในคําถามต่อไปนี้

(ก) หลักนิติธรรม (Rule of Law) คืออะไร Dicey และ ICJ ได้อธิบายว่าสัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชนอย่างไร

(ข) ดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) คืออะไร Rawls ได้แสดงความเห็นว่าอย่างไรในเรื่องนี้

ธงคําตอบ

(ก) หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง “การเคารพเชื่อฟังต่อกฎหมาย หรือหมายถึง การที่ รัฐบาลต้องปกครองด้วยกฎหมายและอยู่ภายใต้กฎหมาย” ดังวลีสมัยใหม่ที่ว่า “รัฐบาลโดยกฎหมาย มิใช่โดย ตัวบุคคล” ซึ่งหลักนิติธรรมจะสัมพันธ์อยู่กับเรื่องกฎหมาย เหตุผลและศีลธรรม เสรีภาพของประชาชนและรัฐ ความยุติธรรม ความเสมอภาค และเป็นที่เข้าใจกันกว้าง ๆ ว่าหลักนิติธรรมเป็นเรื่องของการใช้เหตุผลและ ความเป็นธรรม

ไดซีย์ (Dicey) นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ของหลักนิติธรรม กับสิทธิมนุษยชน โดยนําเสนอในหนังสือ “Law of the Constitution” โดยไม่ได้ให้นิยามความหมายของ หลักนิติธรรมไว้โดยตรง แต่เขาบอกว่าหลักนิติธรรมนั้นแสดงออกโดยนัย 3 ประการ คือ (เป็นหลักนิติธรรมที่ สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะสําหรับระบบกฎหมายของอังกฤษ)

1 การที่ฝ่ายบริหารไม่มีอํานาจลงโทษบุคคลใดได้ตามอําเภอใจ เว้นแต่เพียงในกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง และการลงโทษที่อาจกระทําได้นั้นจะต้องกระทําตามกระบวนการปกติของกฎหมายต่อหน้าศาลปกติของแผ่นดิน

2 ไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าเขาจะอยู่ในตําแหน่งหรือเงื่อนไขประการใด ๆทุก ๆ คนล้วนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลเดียวกัน

3 หลักทั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นผลจากคําวินิจฉัยตัดสินของศาลหรือกฎหมายธรรมดา (ตรงนี้เฉพาะประเทศอังกฤษ) มิใช่เกิดจากการรับรองค้ำประกันเป็นพิเศษโดยรัฐธรรมนูญ ไดซีย์กล่าวอย่างน่าสนใจเอาไว้ว่า “หลักนิติธรรมนั้นตรงกันข้ามกับรัฐบาลทุกระบบที่บุคคล ผู้มีอํานาจสามารถใช้อํานาจจับกุมคุมขังบุคคลใดได้อย่างกว้างขวางโดยพลการหรือตามดุลพินิจของตนเอง

ส่วนคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists : IJ) มีแนวคิดเกี่ยวกับหลักนิติธรรมว่า หมายถึง หลักการ สถาบัน และกระบวนการที่ไม่จําต้องเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ คล้ายคลึงกันโดยทั่วไป ซึ่งจากประสบการณ์และประเพณีของนักกฎหมายในประเทศต่าง ๆ ในโลกซึ่งมีโครงสร้าง การเมืองและพื้นฐานทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า หลักการ สถาบัน และกระบวนการนี้เป็น สิ่งสําคัญต่อการปกครองปัจเจกบุคคลจากรัฐบาลที่ใช้อํานาจตามอําเภอใจ และทําให้เขาสามารถชื่นชมในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ได้ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ของการนิติบัญญัติในสังคมแห่งเสรีภาพภายใต้หลักนิติธรรมที่จะต้อง สร้างสรรค์และคงไว้ซึ่งเงื่อนไขที่จะส่งเสริมศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล ศักดิ์ศรีดังกล่าวมีเพียงเรียกร้อง ให้มีการยอมรับในสิทธิทางแพ่งและทางการเมืองเท่านั้น แต่หากหมายรวมถึงการสถาปนาเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการพัฒนาบุคลิกภาพในตัวมนุษย์อย่างเต็มที่

(ข) การดื้อแพ่งกฎหมาย (Civil Disobedience) หมายถึง การกระทําที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยสันติวิธี เป็นการกระทําเชิงศีลธรรม ในลักษณะของการประท้วงคัดค้านต่อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือต่อ การกระทําของรัฐบาลที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง

จอห์น รอลส์ (John Rawls) ให้นิยามการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนว่า คือการฝ่าฝืน กฎหมายด้วยมโนธรรมสํานึก ซึ่งกระทําโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นการกระทํา ในเชิงการเมืองที่ปกติมุ่งหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล

รอลส์ให้ความเห็นชอบในการซื้อแพ่งกฎหมายของประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่ง ความชอบธรรมตามที่กําหนดต่อไปนี้

1 ต้องเป็นการกระทําที่มีจุดประสงค์ของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคมอันเป็นการกระทําในเชิงการเมือง แต่ต้องมีใช่เป็นการมุ่งทําลายระบบกฎหมายทั้งหมดหรือรัฐธรรมนูญ (Constitution Theory of Civil Disobedience)

2 ต้องเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง อันฝ่าฝืนหลักธรรมขั้นพื้นฐานหรืออิสรภาพขั้นมูลฐาน เช่น เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม (Equal Liberty)

3 ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัติการซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

4 การต่อต้านกฎหมายต้องกระทําโดยสันติวิธีโดยเปิดเผย (Public Act)

 

ข้อ 3. จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบในคําถามต่อไปนี้

(ก) ความยุติธรรม (Justice) คืออะไร

(ข) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายว่าอย่างไร

ธงคําตอบ

(ก) “ความยุติธรรม” เป็นคําหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไร ก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง

1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมะ

3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนําเสนอความหมายไว้ที่สําคัญ ๆ ได้แก่

เพลโต (Plato) ได้ให้คํานิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทํากรรมดีหรือการทําสิ่งที่ ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสําคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรม อื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

– อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคม ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ ทุกคนไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น

(ข) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มีแนวพระราชดําริต่อ ความยุติธรรมว่ามีสถานภาพสูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมาย เป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้อง ถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ ความถูกผิดตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”

LAW4007 นิติปรัชญา 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้อธิบายแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีปฏิฐานนิยม (Legal Positivism) และให้อธิบายว่าแนวคิดปฏิฐานนิยมในอดีตที่ยืนยันการดํารงอยู่ของกฎหมายว่ามิได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมใด ๆ เป็นผลมาจากอะไร และการพิจารณากฎหมายกับศีลธรรมในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับ การพิจารณาประเด็นความยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง โดยเปรียบเทียบกับการนําเสนอความคิดเกี่ยวกับ ความยุติธรรมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) พอสังเขป และให้แสดงความคิดเห็นว่า นักศึกษามีความเห็นอย่างไรต่อแนวคิดของจอห์น ออสติน (John Austin) ที่ถือว่ากฎหมายคือ เจตจํานงหรือความประสงค์ของผู้สั่ง หรือคือคําสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่สั่งการบังคับกับประชาชนว่า เป็นส่วนหนึ่งของความคิดเกี่ยวกับกฎหมายกับศีลธรรมตามแนวของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย

ธงคําตอบ

แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism) ได้แก่

1 การยืนยันว่า การดํารงอยู่ของกฎหมายใด ๆ มิได้ขึ้นอยู่กับการที่มันตอบสนองหรือ สอดคล้องกับหลักคุณค่าทางศีลธรรมอันหนึ่งอันใดที่สามารถบรับใช้ได้อย่างเป็นสากลในทุก ๆ ระบบกฎหมาย

2 การยืนยันว่า การดํารงอยู่ของกฎหมายขึ้นอยู่กับการที่มันถูกสร้างขึ้นโดยผ่านการ ตกลงปลงใจของมนุษย์ในสังคม และแยกกฎหมายคืออะไร (IS) กับกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร (Ought) ออกจากกัน โดยเด็ดขาด

3 จุดยืนเกี่ยวกับภาคบังคับของกฎหมายที่ต้องมีสภาพบังคับหรือบทลงโทษ

ผลของแนวคิดปฏิฐานนิยมในอดีตที่ยืนยันการดํารงอยู่ของกฎหมายว่ามิได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมใด ๆ พิจารณาได้จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตะวันตก ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 การกําเนิดและขยายตัวฟื้นฟู ของรัฐชาติสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงของสังคม การรวมศูนย์อํานาจอธิปไตยภายในรัฐ ความเชื่อมั่นในความจําเป็น ของรัฐที่ต้องมีอํานาจเด็ดขาด ความชอบรรรมหรือความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดในการใช้อํานาจรัฐโดยอิสระไม่ต้องพึ่งพิง การสนับสนุนจากศาสนจักร และจากแนวคิดที่ว่า สิ่งที่กําหนดกฎหมายคือ อํานาจหาใช่สัจธรรมใด ๆ ไม่

การพิจารณากฎหมายกับศีลธรรมในลักษณะที่ยืนยันว่าการดํารงอยู่ของกฎหมายใด ๆ มิได้ ขึ้นอยู่กับการที่มันตอบสนองหรือสอดคล้องกับหลักคุณค่าทางศีลธรรม เป็นการยืนยันการแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด ของกฎหมายของรัฐกับจริยธรรม แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับการพิจารณาประเด็นความยุติธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า ความยุติธรรมคือความถูกต้องตามกฎหมาย เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย และถือว่าความสมบูรณ์ถูกต้องของ กฎหมายปรากฏจากสภาพบังคับของกฎหมาย กฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์ไม่อาจเป็นอยุติธรรมได้ เพราะสิ่งที่ถือว่าเป็น ความยุติธรรม ความอยุติธรรม หรือความถูกผิดเป็นสิ่งที่ถูกกําหนดโดยกฎหมายของรัฐ

เมื่อเปรียบเทียบกับการนําเสนอความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมของปรัชญกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) แล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกับแนวคิดของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย เพราะปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ให้ความสําคัญกับคุณค่าของศีลธรรมกับกฎหมาย โดยเชื่อว่าการดํารงอยู่และความสมบูรณ์ของกฎหมายมีรากฐานจาก กฎหมายธรรมชาติหรือบรรทัดฐานทางศีลธรรมซึ่งมีผลผูกมัดการกระทําของมนุษย์โดยธรรมชาติ ยืนยันว่าธรรมชาติของมนุษย์มีเหตุผลคือ มีความสามารถในการที่จะรู้ถึงระบบระเบียบทางศีลธรรมหรือความผิดชอบชั่วดีซึ่งเป็น กฎหมายธรรมชาติได้ กฎเกณฑ์ที่ใช้ในสังคมมนุษย์ กฎหมายบ้านเมือง เกิดมาจากเหตุผลของมนุษย์ที่เป็นส่วนของ กฎหมายธรรมชาติ กฏเกณฑ์นั้นจึงควรสอดคล้องกับเหตุผลธรรมชาติ หรือกฎหมายธรรมชาติ การนําเสนอประเด็น ความยุติธรรมตามกฎหมายธรรมชาติจึงถือเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย เป็นเสมือนเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย และเชื่อว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกับกฎหมายธรรมชาติซึ่งเป็นหลักความถูกต้อง หรือเกณฑ์อุดมคติที่เข้าถึงได้ โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์ จึงเป็นการยืนยันว่าความเป็นธรรม ความยุติธรรม และศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ อย่างใกล้ชิดกับกฎหมายบ้านเมือง

สําหรับแนวคิดของจอห์น ออสติน (John Austin) ที่ถือว่ากฎหมายคือเจตจํานงหรือความประสงค์ ของผู้สั่ง หรือคือคําสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่สั่งการบังคับกับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเกี่ยวกับกฎหมาย กับศีลธรรมตามแนวของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณา เกี่ยวกับกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับประชาชนในปัจจุบัน เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรต่าง ๆ แล้วจะเห็นได้ว่า เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอํานาจของรัฏฐาธิปัตย์ เท่านั้น โดยไม่คํานึงว่าประชาชนจะให้การยอมรับหรือไม่ หรือจะสอดคล้องกับศีลธรรมหรือเหตุผลทางธรรมชาติ หรือไม่ แต่เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยมีเนื้อหาที่เน้นอํานาจสูงสุดของผู้ปกครองในฐานะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์เป็นหลัก ทําให้ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ให้ความสนับสนุนระบบเผด็จการ จึงเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมที่ประชาชน จะยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรม ขาดการยอมรับจากประชาชน แต่เมื่อ เป็นกฎหมายหรือคําสั่งที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ประชาชนก็ต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจจะถูกลงโทษได้

* หมายเหตุ นักศึกษาอาจแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องแสดงความคิดเห็น โดยอาศัยทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของจอห์น ออสติน ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) มีแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไร การนําเสนอทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีผลประโยชน์ของรอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) อย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างแนวคิดนิติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) กับแนวคิดอรรถประโยชน์ (Utilitarianism) ของเยเรมี แบนแธม (Jeremy Bantam) พร้อมแสดงถึงข้อดี ข้อเสีย หากนําแนวคิดทั้งสอง มาประกอบการพิจารณาเป็นแนวทางเพื่อความเหมาะสมสําหรับการจัดทําร่างกฎหมายเกี่ยวกับ ผลประโยชน์สองฝ่ายของผู้ประกอบการ (นายจ้าง) และผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง)

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) มีแนวความคิดเกี่ยวกับ กฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก ในช่วงของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมที่มีการแข่งขัน การเอาเปรียบ ความเจริญทางวัตถุ การก่อตัวของชนชั้นแรงงาน และการก่อตัวของลัทธิมาร์กซิสต์ ก่อให้เกิดปัญหา ที่ต้องได้รับการแก้ไข จากการศึกษาของนักนิติศาสตร์ในช่วงนี้จึงมีแนวความคิดในการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมมากกว่าผลประโยชน์ของสังคม โดยการมองว่าวัตถุประสงค์เป็นผู้สร้างกฎหมาย กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนอง ความต้องการของสังคม วัตถุประสงค์ของกฎหมายจึงอยู่ที่การปกป้องผลประโยชน์ของสังคม กฎหมายจึงเป็น ส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากการศึกษาข้อเท็จจริงของสังคม และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของสังคม

การนําเสนอแนวคิดทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีผลประโยชน์ของ รอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) โดยที่ทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมถูกนําเสนอโดยพาวด์ที่อธิบายรายละเอียดวิธีการ อันเป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างกฎหมายที่เป็นการคานผลประโยชน์ด้วยการสร้างกลไกในการคานผลประโยชน์ต่าง ๆ (ได้แก่ ผลประโยชน์ปัจเจกชน ผลประโยชน์มหาชน ผลประโยชน์สังคม) ในสังคมให้เกิดความสมดุลโดยอาศัย กลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างใหม่อันมีประสิทธิภาพในการตอบสนอง ความต้องการของประชาชน

การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ (RosCoe Pound) กับแนวอรรถประโยชน์ (Utilitarianism) ของเยเรมี แบนแธม (Jeremy Bantam)

แนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ เป็นแนวคิดในการสร้างกลไกทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาโดยการมองผลประโยชน์ในภาพรวมของสังคมเป็นหลัก โดยวิธีการศึกษา ข้อเท็จจริงของสังคมในสถานการณ์ที่เป็นจริงแล้วสร้างกฎหมายที่จะตอบสนองต่อความปรารถนาและความต้องการ ของแต่ละฝ่ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดความสมดุล

แต่แนวคิดอรรถประโยชน์ของเยเรมี แบนแธม ให้ความสําคัญกับผลประโยชน์ในเชิงความสุข อันเป็นผลลัพธ์ในการตัดสินความถูกต้อง และเชื่อในความสุขหรือผลประโยชน์ของปัจเจกชนเป็นหลัก เป็นความคิด ในเชิงกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักอรรถประโยชน์ อันเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่บุคคลจํานวน มากที่สุด แนวคิดอรรถประโยชน์จึงเป็นแนวคิดในลักษณะสุขนิยม ปัจเจกนิยม หรือเน้นความมั่นคงของปัจเจกบุคคล อย่างสูงในฐานะเป้าหมายหลักในการกําหนดกฎหมาย

สําหรับข้อดี ข้อเสีย หากนําแนวคิดทั้งสองมาประกอบการพิจารณาแนวทางเพื่อความเหมาะสม สําหรับการจัดทําร่างกฎหมายที่เหมาะสมเกี่ยวกับผลประโยชน์สองฝ่ายของผู้ประกอบการ (นายจ้าง) และผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง) นั้น มีดังนี้

กรณีแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา

ข้อดีคือ การศึกษาปัญหา และข้อเท็จจริงของสังคม เพื่อสร้างกฎหมายที่เหมาะสมตามความ เป็นจริงและเน้นบทบาทของกฎหมายในการควบคุมระเบียบของสังคมให้เกิดความสมดุล

กรณีแนวคิดอรรถประโยชน์

ข้อดีคือ กฎหมายจะถูกกําหนดโดยพิจารณาจากความสุขหรือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สิ่งใดที่เป็นความสุขหรือผลประโยชน์ที่คนจํานวนมากต้องการ รัฐสามารถนํามากําหนดนโยบายและกฎหมายได้ โดยไม่ต้องพิจารณาความถูกต้องเชิงจริยธรรม

ข้อเสียคือ

1 ไม่ใส่ใจต่อความแตกต่างของบุคคล

2 ความไม่เป็นธรรมในการปรับใช้ โดยแนวคิดนี้ไม่นําพาว่าความสุขนั้นจะกระจายไปสู่สมาชิกในสังคมได้อย่างทั่วถึงหรือเสมอภาคเพียงใด

3 การปฏิเสธคุณค่าทางศีลธรรม

ดังนั้นหากนําแนวคิดอรรถประโยชน์มาปรับใช้ในการร่างกฎหมายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การพิจารณาผลประโยชน์จะตกแก่ลูกจ้างในฐานะที่เป็นคนส่วนใหญ่และจํานวนมาก ส่วนการนําแนวคิดนิติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยามาปรับใช้ในการร่างกฎหมายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การพิจารณาผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ อย่างสมดุลระหว่างสองฝ่ายที่จะพึงได้รับ

 

ข้อ 3. ให้นักศึกษาอธิบายลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยในอดีตเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมี พัฒนาการและลักษณะที่สําคัญ ดังนี้ คือ

ปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา เป็นปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมที่ยอมรับ ให้มีการปฏิเสธหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์

ลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐาน ในลักษณะธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมาย เทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทําให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง บ้านเมือง และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้ พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ ก็เพราะว่านอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรมแล้ว พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรมอันมีค่าเป็นธรรมะ 10 ประการ ที่ทําหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ด้วย

แต่อย่างไรก็ดี ปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา อาจมีลักษณะแตกต่างกันบ้าง บางประการ กล่าวคือ

ในสมัยสุโขทัย ระบบการปกครองเป็นแบบ “ปิตุราชา” (แบบพ่อกับลูก) ที่ผสมผสานวัฒนธรรม ทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดูไว้ด้วยกัน ในลักษณะที่ศาสนาพุทธมีอิทธิพลมากกว่า กฎหมายจะมีลักษณะผูกพันกับ ศาสนาพุทธที่ไม่เน้นความรุนแรง แต่จะเน้นความไว้เนื้อเชื่อใจและมาตรการทางศีลธรรมเป็นหลัก

แต่ในสมัยอยุธยา ระบบการปกครองเป็นแบบ “เทวราชา” (กษัตริย์เปรียบเสมือนเป็นตัวแทน แห่งเทพเจ้าที่อวตารลงมาสู่โลกมนุษย์) ที่แม้จะมีการผสมผสานวัฒนธรรมทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดูไว้ด้วยกัน แต่ฮินดูจะมีอิทธิพลมากกว่า กฎหมายจะมีลักษณะที่แน่นอนมากขึ้น แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้หลักตามคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นหลักทางศาสนาพุทธและหลักอินทภาษ ในลักษณะความผูกพันของส่วนประกอบ 3 ส่วน ที่สําคัญคือ พระธรรมศาสตร์ พระราชศาสตร์ (บทพระอัยการ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด) และหลักอินทภาษ

ส่วนปรัชญากฎหมายไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ

1 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4) จะมีลักษณะคล้ายกับใน สมัยอยุธยา เพียงแต่จะเน้นความผูกพันกับศาสนาพุทธเป็นหลักมากขึ้น อิทธิพลของฮินดูจะลดน้อยลงจนมีการสร้าง กฎหมายตราสามดวงขึ้นใช้บังคับ

2 สมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังปฏิรูปประเทศ (สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน) ลักษณะของ กฎหมายไทยนั้นมิได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมแต่อย่างใด แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิด จากการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกตามแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก ส่งผลกระทบให้เกิดการตีความ ธรรมะในกฎหมายให้มีลักษณะบริสุทธิ์ มนุษยนิยมมากขึ้น เกิดการคลายตัวของแนวคิดอํานาจนิยม-เทวราชา นับแต่สมัย ร.4 และทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการขยายตัวของกฎหมายที่ยอมรับสิทธิเสรีภาพ มากขึ้นนับจากการทําสัญญาเบาริงในสมัย ร.5 ที่ได้รับพลังกดดันจากอํานาจทุนภายนอก คือมหาอํานาจตะวันตก และทําให้กฎหมายไทยมีลักษณะความเป็นสากลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีการจัดทําประมวลกฎหมายและ ใช้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติตะวันตกเป็นหลัก

LAW4007 นิติปรัชญา 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา

ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. เพราะเหตุใดสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical School of Law) จึงคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อปรัชญากฎหมายธรรมชาติทั้งในแง่วิธีคิดและการปรับใช้ซึ่งมีมิติด้านอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง นักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ต่อข้อคัดค้านดังกล่าวโดยเฉพาะเมื่ออาศัยฐานคิดของ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย/สมัยใหม่ร่วมประกอบการพิจารณา

ธงคําตอบ

เหตุที่สํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical School of Law) คัดค้านไม่เห็นด้วยกับ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติทั้งในแง่วิธีคิดและการปรับใช้โดยมีมิติด้านอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น เป็นเพราะแนวคิดของกฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่ มีจุดเด่นในฐานความคิดแบบเหตุผลนิยม (มีเหตุผล) สากลนิยม (หลักสากลหรือประเทศต่าง ๆ ยอมรับ) มีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีศีลธรรมเชิง กระบวนการ (การมีศีลธรรมภายในกฎหมายหรือเป็นกฎหมายธรรมชาติในเชิงกระบวนการ) ซึ่งนักคิดที่มีแนวความคิด ดังกล่าวที่สําคัญ คือ ลอน ฟุลเลอร์ (Lon Futter)

ลอน ฟุลเลอร์ (Lon Futter) นักคิดคนสําคัญของปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย มีผลงาน เรื่อง “ศีลธรรมภายในกฎหมาย” กล่าวว่าสาระสําคัญที่ขาดไม่ได้ของกฎหมายจนกลายเป็น “วัตถุประสงค์” กํากับอยู่ก็คือความจําเป็นที่ต้องมีศีลธรรมดํารงอยู่ในกฎหมาย ดังเงื่อนไขสําคัญ 8 ประการที่ฟุลเลอร์ถือเสมือนว่า เป็นการมีศีลธรรมภายในกฎหมายหรือเป็น “กฎหมายธรรมชาติในเชิงกระบวนการ” ได้แก่

1 จะต้องมีลักษณะทั่วไป

2 จะต้องถูกตีพิมพ์เผยแพร่ให้ปรากฏแก่สาธารณะ

3 จะต้องไม่มีผลย้อนหลัง

4 จะต้องมีความชัดแจ้งและสามารถเข้าใจได้

5 จะต้องไม่เป็นการกําหนดบังคับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

6 จะต้องไม่มีความขัดแย้งกัน

7 จะต้องมีความมั่นคง แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป

8 จะต้องมีความกลมกลืนกันระหว่างกฎเกณฑ์ที่ถูกประกาศใช้กับการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นเรื่องของความสอดคล้องระหว่างการกระทําของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและตัวบทกฎหมายที่ประกาศใช้

ส่วนสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical School of Law) มีแนวคิดว่า กฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอํานาจจะกระทําตามอําเภอใจโดยพลการ แต่กฎหมายเป็นผลผลิตของสังคมที่มีรากเหง้าหยังลึก ลงไปในประวัติศาสตร์ของประชาชาติ กําเนิดและเติบโตจากประสบการณ์และหลักประพฤติทั่วไปของประชาชน ซึ่งปรากฏในรูปจารีตประเพณีหรือจิตวิญญาณร่วมของประชาชน กล่าวคือ สํานักคิดนี้อธิบายว่า กฎหมายคือ จิตวิญญาณร่วมกันของชนในชาติ และที่มาของกฎหมายคือ จารีตประเพณี นั่นเอง

เหตุผลที่แนวคิดของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์อธิบายเช่นนั้น เพราะพื้นฐานที่มาของเยอรมัน ในขณะนั้นได้รับอิสรภาพจากการปกครองของฝรั่งเศส ทําให้เกิดการปลุกกระแสความรักชาติด้วยอารมณ์ หัวใจ และจิตวิญญาณความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ และความพยายามสร้างกฎหมายที่กําเนิดและเกิดขึ้นมา จากประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาติที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของคนเยอรมัน โดยมีพื้นฐานที่เกิดขึ้นมา พร้อม ๆ กับจารีตประเพณีที่คนในชาติปฏิบัติกันมาตั้งแต่ต้น กําเนิดและเติบโตหยังลึกลงไปในจิตวิญญาณของ ชนในชาติที่พร้อมจะยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน กฎหมายของสํานักคิดนี้จึงถือเป็นจิตวิญญาณร่วมกันของคน ในชาตินั้น และมีที่มาจากจารีตประเพณีที่มีความแตกต่างกับชาติอื่น ๆ และถือว่ากฎหมายของชาติหนึ่งจะนํา กฎหมายของอีกชาติหนึ่งมาใช้ไม่ได้

มองโดยภาพรวมแล้วแนวความคิดของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ เน้นไปที่เรื่องราวของอดีต เกือบทั้งหมด แม้นกระทั่งสิ่งที่เรียกว่า “จิตสํานึกร่วมของประชาชน” (Common Consciousness of the People) การที่จะรู้ถึงจิตสํานึกร่วมของประชาชนได้ก็โดยการศึกษาถึงภูมิประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้น ๆ เป็นสํานักที่ยกย่อง เชิดชูประวัติศาสตร์ รากฐานของสังคมในอดีต หรือการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในลักษณะอารมณ์แบบโรแมนติก (Romantic) ให้ความสําคัญกับอดีตมากเกินไปจนละเลยต่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงการละเลยถึงภูมิปัญญาของปัจเจกชน

หมายเหตุ สําหรับทัศนะของนักศึกษานั้น จะเห็นด้วยหรือไม่ต่อข้อคัดค้านดังกล่าว เป็น อิสระทางความคิดของนักศึกษา เพียงแต่การแสดงออกควรเน้นถึงจุดเด่นและจุดด้อยของความคิดอนุรักษนิยม หรือชาตินิยมทางกฎหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับความคิดแบบสากลนิยม/มนุษยนิยมในปรัชญากฎหมายธรรมชาติ สมัยใหม่

 

ข้อ 2. สรุปอธิบายความหมายพื้นฐานของความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) จากการพิจารณาเปรียบเทียบข้อถกเถียงเรื่องความยุติธรรมทางสังคมของรอลส์ (John Rawls) และนอซิค (Robert Nozick) ในทรรศนะของนักศึกษา เราควรยึดตัวแบบความคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมของ ฝ่ายใดดังกล่าวเป็นหลักในการปรับใช้เพื่อการแก้ปัญหาสังคม เมื่อคํานึงถึงสภาพความเป็นจริงของ สังคมไทยที่มีปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสูง

ธงคําตอบ

ความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice) หรือ “ความยุติธรรมในการแบ่งสันปันส่วน” หรือ “ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีทางจําแนกหรือแบ่งปันสิ่งซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์ หรือสิ่งอันมีคุณค่าในสังคม (เช่น ทรัพย์สิน, รายได้, ความสุข, การได้รับความพึงพอใจ, การได้รับการศึกษา) ให้แก่สมาชิกของสังคมอย่างถูกต้องเหมาะสม หรืออย่างเป็นธรรม ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายสําคัญที่สุดในการ สร้างสรรค์ และคงไว้ซึ่งความสมานฉันท์/กลมกลืนของสังคมโดยรวม

สูตรต่าง ๆ ที่ใช้เป็นรากฐานหรือเกณฑ์การแบ่งสันปันส่วนนี้ ล้วนสะท้อนมาจากแนวความคิด หรือความเชื่อของนักปรัชญาแต่ละท่านซึ่งเชื่อว่าสูตรดังกล่าวจะนํามาซึ่งความสงบเรียบร้อย ความกลมกลืนหรือ ความยุติธรรมให้เกิดแก่สังคม ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้แก่แนวความคิดแบบอนุรักษนิยมของโรเบิร์ต นอซิค (Nozick) และแนวคิดแบบก้าวหน้าของจอห์น รอลส์ (John Rawls)

ความยุติธรรมทางสังคมแบบอนุรักษนิยม เป็นความยุติธรรมที่เน้นความสําคัญของระเบียบ แบบแผนสังคม กฎหมาย สิทธิส่วนบุคคลในแง่ของอิสรภาพ-ทรัพย์สิน ความเหมาะสมในแง่ผลงานความสามารถ หรือคุณธรรมบุคคลที่แตกต่างกัน โดยเน้นว่า บุคคลที่มีความสามารถมาก มีความขยันขันแข็งมาก มีผลงานมาก ย่อมมีรายได้-ทรัพย์สินมากกว่าบุคคลอื่น รัฐบาลไม่ควรไปเอาทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นเพื่อมาแบ่งสันปันส่วน ให้แก่คนจน ซึ่งตัวอย่างนักคิดที่ส่งเสริมเนวคิดแบบอนุรักษนิยมนี้ ได้แก่ โรเบิร์ต นอซิค (Robert Nozick) โดย นอซิคชี้ให้เห็นว่า มนุษย์จะมีความแตกต่างกัน ความเป็นเอกเทศของคนจะแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างกันของคน ย่อมทําให้คนมีที่มามีรายได้ที่แตกต่างกัน

ความยุติธรรมทางสังคมแบบก้าวหน้า เป็นแนวความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยมองว่าสังคมที่เป็นอยู่ไม่มีความยุติธรรมในเรื่องของรายได้ความมั่งคั่งต่าง ๆ ดังนั้นความยุติธรรมทางสังคม แบบก้าวหน้าจึงเน้นเรื่องความเสมอภาคหรือความต้องการอันจําเป็นที่เสมอเหมือนกันของมนุษย์ ดังนั้นรัฐหรือรัฐบาล ควรจะสนองตอบต่อความจําเป็นของมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องไปมองที่ความสามารถ ผลงาน หรือรายได้ ของบุคคล ซึ่งนักคิดที่ส่งเสริมแนวคิดแบบก้าวหน้านี้ได้แก่ จอห์น รอลส์ (John Rawls) โดยจอห์น รอลส์ มีความเห็นว่า ความยุติธรรมทางสังคมแบบอนุรักษนิยมที่มีลักษณะแบบตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ จะเป็นอันตราย ต่อสังคม และเขาก็ได้สรุปว่า หลักความยุติธรรมที่มนุษย์ควรได้รับจะต้องประกอบด้วยหลักการสําคัญ 2 ข้อ คือ

1 หลักอิสระเสรีภาพอันเท่าเทียม กล่าวคือ มนุษย์แต่ละคนจําต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างมากที่สุด ซึ่งเทียบเคียงได้กับเสรีภาพอันคล้ายคลึงกันในบุคคลอื่น ๆ

2 หลักความเสมอภาคโอกาสอันเท่าเทียม กล่าวคือ ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ และสังคมต้องได้รับการจัดระเบียบให้เป็นธรรม

หมายเหตุ จากการพิจารณาเปรียบเทียบเรื่องความยุติธรรมทางสังคมของรอลส์ (Rawts) และนอซิค (Nozick) เราควรยึดตัวแบบความคิดเรื่องความยุติธรรมทางสังคมของฝ่ายใดเป็นหลักในการปรับใช้ เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสูงนั้นเป็นอิสระทางความคิดของนักศึกษา โดยควรอธิบาย ให้เห็นว่าตัวแบบความคิดใดดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นมีแนวโน้มในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างแท้จริง

 

ข้อ 3. วิเคราะห์และวิจารณ์บทสรุปเรื่องทวิลักษณ์หรือการมีมาตรฐานสองชั้น (Double Standard) ทางกฎหมาย/อํานาจในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม และการเริ่มก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรม เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ/ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมไทยสมัยใหม่นับแต่ยุคสมัย ร.4 – ร.5 ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายดั้งเดิมดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

ลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะ ธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู หลักเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนียมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา เป็น ไปไม่ได้ และเมื่อพิจารณาจากภาพรวมทางความคิดแล้ว ข้าพเจ้าเห็นด้วยต่อบทสรุปเรื่องการมีมาตรฐาน สองชั้นหรือสองมาตรฐาน (Double Standard) ทางอํานาจหรือกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ทั้งนี้เพราะ ถึงแม้ตามหลักปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมนั้น จะตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะธรรมนิยม แต่ในขณะ เดียวกันก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช รวมทั้งแนวความคิดระบบศักดินา ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากในสมัยอยุธยา จนทําให้การใช้พระราชอํานาจของ พระมหากษัตริย์หรือกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมมีลักษณะเป็นมาตรฐานสองชั้นที่ซับซ้อน ตัวอย่างเช่น ในสมัยอยุธยานั้น พระราชโองการของพระมหากษัตริย์จะไม่ใช่คําสั่งของมนุษย์ผู้มีอํานาจสูงสุดในแผ่นดินอีกต่อไป แต่กลายเป็นเทวโองการที่มนุษย์ธรรมดาไม่อยู่ในฐานะที่จะขัดแย้งหรือวิจารณ์หรือแม้แต่จะแสดงความคิดเห็น ในทางใดทั้งสิ้น เป็นต้น (นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ วิจารณ์ได้อย่างอิสระ โดยให้เหตุผลที่เหมาะสม)

– สําหรับการก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อัน เท่าเทียมกันในสังคมไทยสมัยใหม่ มิได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมดังกล่าวนั้นแต่ อย่างใด แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกตามแนวคิดเสรีนิยม ตะวันตก ความคิดพุทธศาสนาแบบมนุษยนิยม สมัย ร.4) รวมทั้งบริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับจาก การทําสัญญาเบาริงในสมัย ร.5 ที่ได้รับพลังกดดันจากอํานาจทุนภายนอก คือ มหาอํานาจตะวันตก

ซึ่งการก่อตัวหรือพัฒนาวัฒนธรรมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ดังกล่าว ทําให้เกิดแผนการปฏิรูปสังคมไทยให้เข้าสู่แบบวิถีสังคมสมัยใหม่แบบตะวันตก และแผนปฏิรูปสังคมนับว่าเป็น เหตุที่มาของการปฏิรูปสถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ตามมา รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการ การคลัง และโดยเฉพาะ การปฏิรูปกฎหมาย ทําให้ปรัชญากฎหมายไทยแบบเดิมที่อิงอยู่กับพระธรรมศาสตร์ได้เสื่อมลงอย่างมาก พร้อมกันนั้น ปรัชญากฎหมายตะวันตกก็เริ่มปรากฏตัวขึ้น

 

LAW4007 นิติปรัชญา S/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) คืออะไร มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ 5 ยุค อย่างไร จงอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบ พร้อมชี้ข้อดีและข้อด้อยขององค์ความรู้นี้

ธงคําตอบ

กฎหมายธรรมชาติสามารถอธิบายความหมายได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1 ความหมายทั่ว ๆ ไป กฎหมายธรรมชาติหมายถึง

– กฎหมายซึ่งบุคคลบางกลุ่มอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้มีโครงสร้างขึ้นเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือรัฐ และใช้ได้โดยทั่วไปอย่างไม่จํากัดกาลเทศะ

– กฏเกณฑ์ทางกฎหมายต่าง ๆ ในอุดมคติซึ่งอยู่เหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นซึ่งอาจค้นพบได้โดยเหตุผล

– กฎเกณฑ์อุดมคติที่มีขึ้นเพื่อจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างปัจเจกชนกับกลุ่มส่วนรวม หรือจัดให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเสมอภาคของทุกคน (เมื่อพิจารณาความหมายในแง่มุมทางอุดมการณ์)

2 ความหมายในทางทฤษฎี แบ่งเป็น 2 ทฤษฎี คือ

1) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติที่ปรากฏในยุคกรีกโบราณและโรมันถึงยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16) ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นหลักเกณฑ์ของกฎหมาย อุดมคติที่มีค่าบังคับสูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น กฎหมายใดที่มนุษย์บัญญัติขึ้นขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ จะไม่มีค่าบังคับเป็นกฎหมายเลย

2) เป็นทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ถือว่า หลักกฎหมายธรรมชาติเป็นเพียง อุดมคติของกฎหมายที่รัฐจะบัญญัติขึ้นเท่านั้น กล่าวคือ รัฐควรจะบัญญัติหรือตรากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการ ของกฎหมายธรรมชาติ แต่ถ้าตราขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติ กฎหมายนั้นก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่ไม่มีค่าทางกฎหมายโดยสมบูรณ์เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ผ่อนปรน ประนีประนอม มากขึ้นกว่าในยุคโบราณและยุคกลาง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ แบ่งออกเป็น 5 ยุค ดังนี้ 1 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคกรีกโบราณและโรมัน มีสาระสําคัญดังนี้

1) จุดก่อตัวและช่วงเวลา ยุคกรีกโบราณและโรมันอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ ซึ่งว่ากันว่ากฎหมายธรรมชาตินี้พบเป็นเรื่องเป็นราวจากเฮราคลิส นักปรัชญาชาวกรีกที่มีอายุในช่วง 540 – 480 ปีก่อนคริสตกาล โดยเขาไปค้นหาสัจจะเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะ ความจริงเกี่ยวกับแก่นสารของชีวิตและสิ่งที่เขาค้นพบและสรุปออกมาคือ ธรรมชาติคือความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง แก่นสารของชีวิตคือธรรมชาติและแก่นสารของชีวิตก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยจุดหมายปลายทาง ระเบียบและเหตุผลอันแน่นอนซึ่งไม่อาจผันแปรได้

2) การเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติ แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต (427 – 347 ปีก่อนคริสตกาล) อธิบายว่า เข้าถึงได้โดยการใช้ญาณปัญญา อันบริสุทธิ์ แต่ก็มีเพียงนักปราชญ์เท่านั้นที่เพลโตเห็นว่าจะเข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้

อริสโตเติล (384 322 ปีก่อนคริสตกาล) ศิษย์ของเพลโตเห็นว่า กฎหมายธรรมชาติ นั้นมนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยการใช้ “เหตุผลอันบริสุทธิ์” เนื่องจากอริสโตเติลพบว่าเหตุผลของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

สํานักสโตอิค (ก่อตั้งขึ้นศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลโดยเซโน) ยืนยันตามแนวคิด ของอริสโตเติลว่า “มนุษย์เข้าถึงกฎหมายธรรมชาติได้โดยการใช้เหตุผล” เหตุผลที่ว่านี้ก็อยู่ในฐานะเป็นพลังทางจักรวาล ซึ่งเข้าครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งเป็นพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรมด้วย

3) บทบาทความสําคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ แยกอธิบายได้ดังนี้

เพลโต ให้ความสําคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่าเป็นแบบหรือความคิดอันไม่มีวัน เปลี่ยนแปลง ที่ให้เป็นบรรทัดฐานต่อกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายใด ๆ ที่รัฐตราขึ้นต้องสอดคล้องกับแบบหรือ กฎหมายธรรมชาตินี้ มิเช่นนั้นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นกฎหมายได้

อริสโตเติล ให้ความสําคัญแก่กฎหมายธรรมชาติว่า เป็นกฎหมายที่เหมาะสม ในการปกครองสังคม แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกฎหมายที่รัฐตราขึ้นขัดกับกฎหมายธรรมชาติผลจะเป็นอย่างไร

โสฟิสต์บางกลุ่ม อ้างกฎหมายธรรมชาติขึ้นมาต่อต้านการปกครองที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งอ้างเพื่อผลักดันให้ยกเลิกระบบอภิสิทธิ์และระบบทาส (โสฟิสต์เป็นกลุ่มนักคิด ชอบใช้วาทะในการโต้เถียง มีในสมัยศตวรรษที่ 4 – 5 ก่อนคริสตกาล)

ในชั้นของอาณาจักรโรมัน ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนก็ถือว่า กฎหมายธรรมชาติมีส่วนในการพัฒนาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคคล ทรัพย์ หนี้ มรดกหรือลาภมิควรได้

2 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคมืดและยุคกลาง มีสาระสําคัญดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม ยุคมืดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 – 12 โดยประมาณ ส่วนยุคกลางอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 – 16 โดยประมาณ ในยุคนี้กฎหมายธรรมชาติถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น แบบคริสเตียน (คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติก็เปลี่ยนไปอิงอยู่กับคําสอนทางศาสนา หรือบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป็นยุคที่ฝ่ายศาสนจักรขึ้นมามีอํานาจเหนือฝ่ายอาณาจักร โดยยืนยันได้จาก ความคิดของเซนต์ ออกัสติน ที่ว่า “กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามกฎศาสนาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับไม่ได้”

2) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ เนื่องจากกฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้ เป็นแบบคริสเตียน จึงปรากฏงานนิพนธ์ของ เซนต์ โทมัส อไควนัส (ค.ศ. 1226 – 1274) เรื่อง “Summa Theologica” สรุปว่า “หลักธรรมหรือโองการหรือเจตจํานงของพระเจ้าคือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ” เป็นการหักมุมแนวคิด ของอริสโตเติลที่ว่า “มนุษย์สามารถค้นพบกฎหมายธรรมชาติได้โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์เอง” กล่าวคือ อไควนัส เห็นว่าเครื่องมือในการค้นหากฎหมายธรรมชาตินั้นปรากฏอยู่ใน “เหตุผลของพระเจ้า” ไม่ใช่เหตุผลของมนุษย์

3) คุณค่าความสําคัญของกฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ปรากฏในงานเขียนของอไควนัส ซึ่งเขาได้แบ่งกฎหมายออกเป็น 4 ประเภท กฎหมายธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น อไควนัสบอกว่า กฎหมายธรรมชาติ มนุษย์สามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยเหตุผลเหมือนกับอริสโตเติล แต่อไควนัสนั้นบอกว่า เหตุผลของมนุษย์เป็น คุณสมบัติธรรมชาติที่พระเจ้าประทานให้อีกทีหนึ่ง ไม่ใช่มีอยู่และในธรรมชาติเหมือนอริสโตเติลนําเสนอไว้

อไควนัส ถือว่า กฎหมายธรรมชาติเป็นเสมือนภาพสะท้อนอันไม่สมบูรณ์ซึ่งเหตุผล อันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า แต่กฎหมายธรรมชาตินี้ก็มีความสําคัญในฐานะเป็นหลักชี้นําการกระทําต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยมีหลักธรรมพื้นฐานคือ การทําดีและละเว้นความชั่ว ซึ่งกฎหมายธรรมชาตินี้ อไควนัสถือว่ามีค่าบังคับสูงกว่า กฎหมายที่มนุษย์หรือรัฐบัญญัติขึ้น กล่าวคือ ถ้าขัดหรือแย้งกับกฎหมายธรรมชาติก็จะไม่ถือว่ากฎหมายนั้น เป็นกฎหมาย แต่เป็นความวิปริตของกฎหมายไป

3 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป มีสาระสําคัญดังนี้

1) ช่วงเวลาและภาพรวม ยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 – 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ ยุคนี้สถานการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนไป ฝ่ายอาณาจักร ขึ้นมามีอํานาจและสลัดตัวออกจากศาสนจักรได้สําเร็จ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเองก็สามารถสลัดตัวออกจาก คริสต์ศาสนาเช่นกัน รูปแบบความคิดก็กลับไปเป็นแบบเหตุผลนิยม คล้าย ๆ กับที่อริสโตเติลหรือสํานักสโตอิค แห่งกรีกโบราณนําเสนอไว้

2) ที่มาของกฎหมายธรรมชาติ ว่าจะตราหรือบัญญัติกฎหมายอย่างไรขึ้นใช้ในสังคม ถูกนําเสนอโดยฮูโก โกรเซียส ชาวเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1583 – 1645) มีแนวคิดว่า “เหตุผลและสติปัญญาของ มนุษย์คือที่มาของกฎหมายธรรมชาติ” โดยถือว่าเหตุผลและสติปัญญานี้ปรากฏอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์เอง สิ่งที่โกรเซียสยืนยันก็คือ “ธรรมชาติของมนุษย์คือมารดาของกฎหมายธรรมชาติ และซึ่งจะคงปรากฏอยู่มาตร (แม้) ว่าจะไม่มีพระเจ้าแล้วก็ตาม”

3) ลักษณะและความสําคัญในเชิงบทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติในยุคนี้ถือว่ามีบทบาทที่สําคัญยิ่ง เริ่มที่โกรเชียสได้นําเอาหลักกฎหมายธรรมชาติ บางเรื่องไปเป็นรากฐานในการสร้างกฎหมายระหว่างประเทศ ควบคุมกิจการหรือกติกาในการทําสงครามระหว่างรัฐ จนได้รับยกย่องว่า เป็นบิดาของกฎหมายระหว่างประเทศเลยทีเดียว

ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคนี้มีการพัฒนาเรื่องสิทธิธรรมชาติของมนุษย์โดยการเพิ่ม บทบาทความคิดแบบปัจเจกชนนิยมมากขึ้นในตัว โดยผ่านนักคิดหลาย ๆ คนในยุคนี้ เช่น พูเฟนดอร์ฟ, โทมัส ฮอบส์, สปินโนซ่า, จอห์น สอค, มองเตสกิเออ, รุสโซ, วูล์ฟ เป็นต้น ซึ่งผลโดยรวมที่ได้ก็คืออิทธิพลโดยผ่านนักคิดเหล่านี้ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้นําไปสู่การเน้นเนื้อหากฎหมายที่เป็นธรรม, นําไปสู่ข้อยืนยันว่ากําลังหรืออํานาจไม่ใช่ ที่มาของกฎหมายหรือความถูกต้อง นับเป็นการเข้าไปต่อต้านเผด็จการหรือการกดขี่, สนับสนุนเรื่องความเสมอภาค ของบุคคลต่อหน้ากฎหมาย มีส่วนแก้ไขให้บทลงโทษทางอาญามีมนุษยธรรมมากขึ้น และที่สําคัญคือเป็นที่มา หรือรากฐานหรือหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ ยุคนี้ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นยุคแห่งเหตุผล” เนื่องจาก อิทธิพลความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ครอบงําไปทั่วยุโรป

4 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคชาติรัฐนิยม (ความเสื่อมและการฟื้นตัวของกฎหมาย ธรรมชาติ) มีสาระสําคัญดังนี้

1) ภาพโดยรวมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ยุคนี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 18 กฎหมายธรรมชาติยุคนี้ได้เสื่อมความนิยมลงในช่วงหนึ่งแล้วกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในตอนท้าย

2) เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติเสื่อมความนิยมลง มีสาเหตุหลัก 2 เรื่องคือ

– กระแสสูงของลัทธิชาตินิยม ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามและเข้ามาบดบังลัทธิ ปัจเจกชนนิยมที่เป็นแกนกลางสําคัญในปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

– ความเจริญก้าวหน้าอย่างมากทางวิทยาศาสตร์และวิธีคิดเชิงประจักษ์วาท แบบวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นฐานทําให้เกิดลัทธิอรรถประโยชน์และทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งมีแนวคิดตรงข้ามกับ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้ถูกผลักไสให้เป็นเรื่องของ ศาสนาหรือศีลธรรมมากกว่าจะเป็นกฎหมายอันแท้จริงของรัฐ

3) เหตุที่ทําให้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติได้รับการเชื่อถืออีกครั้ง สาเหตุที่ทําให้ กฎหมายธรรมชาติได้รับการนิยมขึ้นมาอีก เพราะวิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมได้ ปฏิฐานนิยม ทางกฎหมายก็ถูกนําไปใช้สนับสนุนเรื่องอํานาจนิยม การใช้อํานาจโดยมิชอบ ที่สําคัญก็คือสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ก็มีที่มาจากการเอาแนวคิดปฏิฐานนิยมไปใช้อย่างผิด ๆ ดังนั้นกระแสความคิดแบบเหตุผลนิยมของกฎหมายธรรมชาติ หรือระบบคิดแบบอุดมคตินิยมจึงปรากฏความสําคัญขึ้นอีกครั้ง

4) บทบาทของปรัชญากฎหมายธรรมชาติภายหลังที่ฟื้นตัวแล้ว พออธิบายได้ดังนี้

– สแตมม์เลอร์ ชาวเยอรมันประกาศความคิดเรื่อง “กฎหมายธรรมชาติซึ่งมี เนื้อหาอันเปลี่ยนแปลงได้ในฐานะเป็นหลักความยุติธรรม” ซึ่งสะท้อนความต้องการอันไม่แน่นอนของชนชาติหนึ่งใน ยุคสมัยหนึ่ง ๆ ขณะที่มาตรฐานแห่งความยุติธรรมเป็นการเน้นความกลมกลืนอย่างสมบูรณ์ระหว่างปัจเจกชนกับสังคม

– ปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ได้ถูกนําไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในระดับ ข้อเท็จจริงและวิกฤติการณ์ทางคุณค่าด้วย โดยเฉพาะในเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กฎหมายธรรมชาติได้ เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินคดีเพื่อลงโทษทหารนาซีเยอรมัน โดยถือว่ากฎหมายที่ขัดกับมนุษยธรรมที่นาซีบัญญัติขึ้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย นอกจากนั้นการปรากฏตัวขึ้นของปฏิญญาสากลว่าด้วยมนุษยชน ค.ศ. 1948 ก็เขียนขึ้นภายใต้ อิทธิพลของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

5 ปรัชญากฎหมายธรรมชาติยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในยุคปัจจุบัน ปรัชญากฎหมายธรรมชาติมีบทบาทอยู่ใน 2 ลักษณะ คือ

1) ในแง่ที่เป็นทฤษฎีกฎหมายที่สนับสนุนอุดมคติทางกฎหมายเชิงจริยธรรม คือ เป็นการยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องความยุติธรรมในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางของกฎหมาย หรือยืนยันในความเชื่อมั่น ในเรื่องความสัมพันธ์ที่จําต้องมีระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมหรือหลักศีลธรรมจริยธรรมต่าง ๆ

2) ในแง่ทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิซึ่งสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเน้นไปที่สิทธิ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ

ที่สําคัญคือ ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยนี้จะมีลักษณะที่ผ่อนปรนประนีประนอม มากขึ้น กล่าวคือ ไม่ยืนยันว่ากฎหมายที่ขัดกับหลักอุดมคติหรือหลักความยุติธรรมต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์ ตามความคิดแบบเก่า ซึ่งตรงนี้ก็ปรากฏจากความคิดของจอห์น ฟินนีส นักปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่ บอกว่า “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรมมิได้ตกเป็นโมฆะ ในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งซึ่งบุคคลไม่ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง กฎหมายที่ ไม่ยุติธรรมเพียงแต่ขาดสิ่งซึ่งเป็นอํานาจผูกมัดทางมโนธรรม” ซึ่งกฎหมายทั่วไปมีอยู่ตามปกติ หน้าที่ทางศีลธรรม ที่ต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงอาจจําต้องมีอยู่หากว่าการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จะนํามาซึ่ง ความอ่อนแอ ไร้เสถียรภาพในระบบกฎหมายซึ่งมีความเป็นธรรมเสียส่วนมาก

ข้อดีและข้อด้อยของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ

ข้อดีของปรัชญากฎหมายธรรมชาตินั้นมีหลายประการ เช่น ทําให้ผู้ที่ศึกษากฎหมายธรรมชาตินั้น พบว่า ธรรมชาตินั้นมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน และเชื่อว่ามีกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ที่แน่นอนอยู่ อันเป็น กฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาซึ่งจะต้องโยงไปสู่ศีลธรรม กฎหมายจึงต้องสอดคล้อง

 

กับศีลธรรม ดังนั้นปรัชญากฎหมายธรรมชาติจึงมีบทบาทสําคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบของกฎหมายและ การก่อให้เกิดกฎหมายใหม่ ๆ ขึ้นว่าจะต้องมีความเป็นธรรมและเป็นกฎหมายที่สังคมให้การยอมรับ เป็นต้น

ส่วนข้อเสียหรือข้อด้อยของปรัชญากฎหมายธรรมชาติก็มีอยู่หลายประการเช่นเดียวกัน เช่น กฎหมายธรรมชาติมีความคลุมเครือไม่เน่นอน ไม่ชัดเจน และมีความเป็นนามธรรมอย่างมากจนไม่น่าจะนํามา ถือเป็นรากฐานของกฎหมาย ขาดรูปแบบวิธีการคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ตรวจสอบความถูกต้องได้ และการเสนอความคิดเห็นมักจะนิยมใช้สามัญสํานึกซึ่งอาจเอนเอียงไปตามเหตุผลส่วนตัวได้ เป็นต้น

 

ข้อ 2. ความยุติธรรม (Justice) คืออะไร มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายและแสดงความเห็นของนักศึกษาว่า เห็นด้วยกับทฤษฎีใด เพราะอะไร

ธงคําตอบ

“ความยุติธรรม” เป็นคําหนึ่งที่ค้นหาความหมายที่เป็นรูปธรรมได้ยากพอสมควร แต่ถึงอย่างไร ก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ได้ให้ความหมายไว้เป็นแนวทางว่า ความยุติธรรม หมายถึง

1 ความเที่ยงธรรม หมายถึง การไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

2 ความชอบธรรม หมายถึง ชอบด้วยนิตินัย หรือชอบด้วยธรรมะ

3 ความชอบด้วยเหตุผล ซึ่งแล้วแต่มุมมองของใคร สังคมใดจะเห็นว่าชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีนักคิดทั้งหลายได้พยายามนําเสนอความหมายไว้ที่สําคัญ ๆ ได้แก่

เพลโต (Plato) ได้ให้คํานิยามของความยุติธรรมว่าหมายถึง “การทํากรรมดีหรือการทําสิ่งที่ ถูกต้อง” โดยเขามองความยุติธรรมเป็นเสมือนองค์รวมของคุณธรรม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมสําคัญที่สุดยิ่งกว่าคุณธรรม อื่นใด และโดยทั่วไปแล้วความยุติธรรมเป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นจะค้นพบได้

อริสโตเติล (Aristotle) มองความยุติธรรมว่าเป็นคุณธรรมเฉพาะเรื่อง หรือคุณธรรมทางสังคม ประการหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และคุณธรรมนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเมื่อมนุษย์ ได้ปลดปล่อยตัวเขาเองจากแรงผลักดันของความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง โดยอริสโตเติลได้แบ่งความยุติธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ หมายถึง ความยุติธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ใช้ได้ต่อมนุษย์ ทุกคนไม่มีขอบเขตจํากัด และอาจค้นพบได้โดย “เหตุผลบริสุทธิ์” ของมนุษย์

2 ความยุติธรรมตามแบบแผน หมายถึง ความยุติธรรมซึ่งเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ของบ้านเมือง ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและความเหมาะสม เป็นต้น

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมายนั้น มีปรากฏรูปความสัมพันธ์ใน 2 แบบ ตามแนวคิดทางทฤษฎี คือ

1 ทฤษฎีที่ถือว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกันกับกฎหมาย ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายและ ความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน เนื่องจากล้วนมีกําเนิดมาจากพระเจ้า จนกระทั่งมาถึงยุคสมัยหลัง ๆ จนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีนี้ โดยมากจะแสดงออกผ่านการตีความเรื่องความยุติธรรมจากนักคิดคนสําคัญของสํานักปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ที่มุ่งยืนยันความเด็ดขาดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย รวมทั้งนักกฎหมายไทยที่ได้รับอิทธิพลของสํานักนี้ด้วย อาทิเช่น

ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการรักษาไว้ซึ่งคําสั่งที่เป็น กฎหมาย โดยการปรับใช้คําสั่งนั้นอย่างมีมโนธรรม”

อัลฟ รอสส์ AIf Ross) กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือการปรับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง อันเป็นสิ่งตรงข้ามกับการกระทําสิ่งใดตามอําเภอใจ”

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ตรัสว่า “ในเมืองไทย คําพิพากษาเก่า ๆ และคําพิพากษา เดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอ ๆ แต่คําที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคําไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกัน ตามนิสัย ซึ่งไม่เป็นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติ จะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไร เป็นยุติธรรมไม่ยุติธรรมทุกเมื่อ ทุกเรื่อง…”

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2473 “กฎหมายต้องแปลให้เคร่งครัดตามกฎหมายที่มีอยู่ จะแปลให้คล้อยตามความยุติธรรมไม่ได้”

2 ทฤษฎีที่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่ความยุติธรรม ได้รับการเชิดชูไว้สูงกว่ากฎหมาย ในแง่นี้ความยุติธรรมถูกพิจารณาว่าเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย หรือเป็น ความคิดอุดมคติซึ่งเป็นเสมือนเป้าหมายสูงส่งของกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ต้องเดินตามหลังความยุติธรรม ซึ่งเป็นการมองความยุติธรรมในภาพเชิงอุดมคติ อันเป็นวิธีคิดในทํานองเดียวกับปรัชญากฎหมายธรรมชาติ อีกทั้ง เป็นวิธีคิดอุดมคตินิยมซึ่งเคยมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณเช่นกัน หรือในชื่อที่เรียกกันว่า “ความยุติธรรมโดยธรรมชาติ” ที่ยืนยันว่ากฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือยุติธรรมโดยตัวของมันเอง ยังมีแก่นสาร ของความยุติธรรมที่อยู่เหนือและคอยกํากับเนื้อหาของกฎหมายในแบบกฎหมายเบื้องหลังกฎหมาย

แนวความคิดที่ว่าความยุติธรรมเป็นจุดมุ่งหมายของกฎหมายในปรัชญากฎหมายไทยเองก็มี มาช้านานแล้ว ดังเช่น

คดีอําแดงป้อม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่อําแดงป้อมมีชู้แล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี ตุลาการก็ให้หย่า เพราะกฎหมายในขณะนั้นบัญญัติว่า “หญิงหย่าชาย หย่าได้” ผลของคําพิพากษานี้ รวมทั้ง กฎหมายที่สนับสนุนอยู่ เหนือหัวรัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องมีการชําระสะสางกฎหมายใหม่ จนกลายเป็นกฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา

ในยุคปัจจุบัน แนวคิดในเรื่องความยุติธรรมเป็นหลักอุดมคติเหนือกฎหมายนี้ก็ยังปรากฏจาก บุคคลสําคัญของไทย เช่น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มีแนวพระราชดําริต่อ ความยุติธรรมว่ามีสถานภาพสูงกว่าหรือเป็นสิ่งที่เหนือกฎหมาย ใจความสําคัญตอนหนึ่งว่า “โดยที่กฎหมายเป็น แต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่า ความยุติธรรมมาก่อนกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิด ตามกฎหมายนั้นดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมาย จึงจะมีความหมายและได้ผลที่ควรจะได้”

จิตติ ติงศภัทิย์ ปรมาจารย์ทางด้านกฎหมายแนะนําไว้ในหนังสือหลักวิชาชีพกฎหมายของ ท่านไว้ว่า “การที่มีคําใช้อยู่ 2 คํา คือ “กฎหมาย” คําหนึ่ง “ความยุติธรรม” คําหนึ่ง ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าหาใช่สิ่ง เดียวกันเสมอไปไม่ การที่นักกฎหมายจะยึดถือแต่กฎหมาย ไม่คํานึงถึงความยุติธรรมตามความหมายทั่วไปนั้น เป็นความเห็นความเข้าใจแคบกว่าที่ควรจะเป็น”

สําหรับข้าพเจ้านั้น เห็นด้วยกับทฤษฎีที่ 2 โดยเห็นด้วยกับท่าน ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ ที่ว่า “กฎหมายกับความยุติธรรมมิใช่สิ่งเดียวกัน” ความยุติธรรมเป็นอุดมคติในกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องเดิน ตามหลังความยุติธรรม กฎหมายมิใช่กฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกต้องหรือยุติธรรมโดยตัวของมันเอง กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม จึงไม่ควรถือว่ากฎหมายมีความสําคัญยิ่งกว่าความยุติธรรม แต่ให้ถือว่าความยุติธรรมมีอยู่เหนือกฎหมายและคอยกํากับเนื้อหาของกฎหมาย การออกกฎหมายมาบังคับใช้ กับประชาชน จึงต้องคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นหลักเสมอ

* หมายเหตุ นักศึกษาอาจแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องแสดงความคิดเห็น โดยอาศัยทฤษฎีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับกฎหมาย 2 ทฤษฎีดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3 จงพรรณนาแนวพระราชดําริทางปรัชญากฎหมายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในประการต่าง ๆ

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ซึ่งพระองค์ทรงใสพระทัยอย่างสูงต่อเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระบรมราโชวาท และพระราชดํารัสของพระองค์ที่ทรงมีต่อนักกฎหมายหรือคณะบุคคลต่าง ๆ ในหลายวโรกาสได้สําแดงออก ซึ่งความคิดเชิงปรัชญากฎหมายอย่างลึกซึ้ง จนมีผู้เรียกขานว่าเป็น ปรัชญากฎหมายข้างฝ่ายไทย

แนวพระราชดําริทางปรัชญากฎหมายของพระองค์ประกอบด้วยประเด็นทางความคิดหลายเรื่อง เช่น เรื่องความยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับความยุติธรรมและเสรีภาพ, กฎหมายกับความเป็นจริง ในประชาสังคม, ความสําคัญของการปกครองโดยกฎหมาย, ปัญหาเรื่องความไม่รู้กฎหมายของประชาชนและ การปรับใช้กฎหมาย ตลอดจนเรื่องบทบาทของกฎหมายและนักกฎหมายในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม หัวใจแห่ง พระราชดําริคงอยู่ที่เรื่อง “กฎหมายกับความยุติธรรม” ซึ่งเชื่อมโยงโดยใกล้ชิดกับเรื่องกฎหมายกับความเป็นจริง ของชีวิตประชาชนในสังคม

ปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดําริของพระองค์นั้น ยึดถือธรรมหรือความยุติธรรม เป็นใหญ่เหนือกฎหมาย อันเป็นความคิดคนละขั้วกับปรัชญาปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่เน้นย้ํา แต่เรื่องความยุติธรรม ตามกฎหมายหรือถือเอากฎหมายเป็นตัวความยุติธรรม ในพระราชดําริของพระองค์ กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม โดยตรงและผู้ใช้กฎหมายซึ่งคํานึงถึงความยุติธรรมเป็นใหญ่ ก็ต้องไม่ติดอยู่กับตัวอักษรกฎหมายอย่างเดียว ในการ อํานวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริง ๆ ความเช่นนี้อาจพิจารณาได้จากพระบรมราโชวาทในหลาย ๆ พระวโรกาส เช่น

1 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่นักศึกษาผู้สําเร็จการศึกษาเป็น เนติบัณฑิต ณ เนติบัณฑิตยสภา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 ความว่า “โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษา ความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่ควรจะถือว่ามีความสําคัญไปยิ่งกว่ายุติธรรม หากควรต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อน กฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ โดยคํานึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายนั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จําต้องคํานึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ การใช้กฎหมายจึงจะมีความหมายและผลที่ควรจะได้”

2 พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต ณ อาคารใหม่สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2522 ความว่า “ผู้ที่ได้ผ่านสํานักอบรมศึกษากฎหมายทุกคน ควรจะได้รับ การชี้แจงเน้นหนักให้ทราบชัดว่า กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้ เพื่อรักษาความยุติธรรม จึงไม่สมควรจะถือว่าการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมีวงกว้างอยู่เพียงแค่ขอบเขตของ กฎหมาย จําเป็นต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามเป็นจริงด้วย”

ความที่พระองค์ทรงถือเอาความยุติธรรมเป็นใหญ่เหนือกฎหมายโดยนัยหนึ่งย่อมหมายถึง พระราชประสงค์ที่จะให้กฎหมายกําเนิดขึ้นหรือเป็นไปเพื่อความถูกต้องดีงาม หาใช่การปล่อยให้กฎหมายและการใช้ กฎหมายเป็นไปในลักษณะที่สวนทางกับความยุติธรรมหรือศีลธรรมจรรยา หรือหาใช่ปล่อยให้กฎหมายเป็นกลไก แห่งการกดขี่ของผู้ปกครองไป หลักคุณค่าเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองหรือเสรีภาพ นับเป็นวัตถุประสงค์แห่ง กฎหมายตามพระราชดําริของพระองค์ที่ว่า “เราจะต้องพิจารณาในหลักว่ากฎหมายมีไว้สําหรับให้มีความสงบสุข ในบ้านเมือง มิใช่ว่ากฎหมายมีไว้สําหรับบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายที่จะบังคับประชาชนก็กลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับบุคคลหมู่มาก ในทางตรงข้าม กฎหมายมีไว้สําหรับให้บุคคลส่วนมาก มีเสรีภาพและอยู่ได้ด้วยความสงบ” พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันระพี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ณ พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516

อนึ่ง ที่ละเว้นไปเสียมิได้เลยก็คือในพระบรมราโชวาทซึ่งทรงพระราชทานในหลายวโรกาส พระองค์ได้ตรัสพาดพิงไปถึงเรื่องการบุกรุกป่าสงวนของราษฎร ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งกันระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งของกฎหมายกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยรวมความตามแนวพระบรมราโชวาทแล้วก็มีสาระสําคัญว่า “กฎหมายกับความเป็นอยู่จริงอาจขัดกันได้ กฎหมายมีช่องโหว่มาก เพราะไปปรับปรุงกฎหมายและการปกครองโดยลอกแบบต่างชาติมาโดยไม่ดูว่าเหมาะสมกับ ความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ บางทีการปกครองก็ไปไม่ถึงชุมชนห่างไกล กฎหมายที่รัฐตราขึ้นเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทําให้เขาตั้งกฎหมายใช้กันเอง ซึ่งบางจุดก็ขัดกับกฎหมายของรัฐ การตราพระราชบัญญัติป่าสงวนที่ผ่านมา ปัญหา มันเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐนั่งเก้าอี้ขีดบนแผนที่ว่าตรงไหนเป็นป่าสงวน โดยไม่ลงพื้นที่ดูว่าเป็นอย่างไร ความจริงก็คือ มีราษฎรเขาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว อยู่ ๆ ก็ไปตราเป็นกฎหมาย ไปชี้ว่าเป็นป่าสงวน กลายเป็นว่าราษฎรบุกรุกป่าสงวน แน่นอนว่าถ้าดูตามกฎหมายราษฎรก็ผิดเพราะว่าตรามาเป็นกฎหมายโดยชอบธรรม แต่ว่าถ้าตามธรรมชาติแล้ว คนที่ทําผิดกฎหมายคือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปขีดเส้นว่าป่าที่ราษฎรอยู่เป็นป่าสงวน เพราะว่าราษฎรเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิในทางเป็นมนุษย์ ความหมายก็คือ ทางราชการนั้นแหละไปรุกราน บุกรุกราษฎรไม่ใช่ราษฎรบุกรุกกฎหมายบ้านเมือง” สาระสําคัญโดยรวมคือ เป็นแนวพระราชดําริที่ทรงเตือนสติ ให้คํานึงถึงเรื่องกฎหมายและความสอดคล้องกับความเป็นจริงของประชาสังคม ซึ่งโดยนัยแล้วก็ไม่แตกต่างกับที่ทรงย้ำว่ากฎหมายไม่ใช่ตัวความยุติธรรมหรืออย่ายึดติดอยู่กับถ้อยคําในกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมั่นว่า

ความยุติธรรมคือจุดหมายปลายทางแห่งการใช้อํานาจรัฐทางด้านกฎหมายและความยุติธรรมต้องผูกติดอยู่กับ ธรรมะ ความถูกต้อง และความเป็นจริง

LAW4007 นิติปรัชญา 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ปรัชญาปฏิฐานนิยมตามแนวความคิดของฮาร์ท (H.L.A. Hart) ที่ถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคม (System of Social Rules) มีความหมายอย่างไร ในส่วนของ ข้อสรุปเรื่อง “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” ของฮาร์ทเป็นการยอมรับต่อทฤษฎี กฎหมายธรรมชาติอย่างไร

ธงคําตอบ

ปรัชญาปฏิฐานนิยมตามแนวความคิดของฮาร์ท (H.L.A. Hart) ที่ถือว่า ระบบกฎหมายนั้น เป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคม (System of Social Rules)ฮาร์ทเป็นนักปฏิฐานนิยมรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 20 เป็นเจ้าของงานเขียนชื่อ “The Concept of Law” เป็นนักปรัชญากฎหมายร่วมสมัยที่วิเคราะห์ลักษณะภายในของหน้าที่ตามกฎหมาย และเห็นจุดบกพร่อง ในทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของจอห์น ออสติน

ฮาร์ทเป็นนักปฏิฐานนิยมทางกฎหมายที่ยืนยันว่า กฎหมายและศีลธรรมไม่จําเป็นต้องเกี่ยวโยง กันเสมอไป และการดํารงอยู่หรือความสมบูรณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากเรื่องความชอบหรือ ไม่ชอบธรรมภายในกฎหมายนั้น ๆ

ฮาร์ทถือว่าระบบกฎหมายนั้นเป็นระบบแห่งกฎเกณฑ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับ สังคมในสองความหมาย ความหมายหนึ่งมาจากการที่มันเป็นกฎเกณฑ์ที่ปกครองการกระทําของมนุษย์ในสังคม และอีกความหมายหนึ่งคือการมีแหล่งที่มาและดํารงอยู่จากการปฏิบัติทางสังคมของมนุษย์โดยเฉพาะ

กฎเกณฑ์ทางสังคมในทัศนะของฮาร์ทมีหลายประการ ได้แก่ กฎเกณฑ์ทางด้านจริยธรรม ศีลธรรม กฎเกณฑ์ที่เป็นกติกาการแข่งขัน ฯลฯ กฎเกณฑ์ที่สําคัญประการหนึ่งคือ กฎเกณฑ์ที่กําหนดพันธะหน้าที่ ซึ่งเป็นกฎที่บังคับหรือเรียกร้องให้คนปฏิบัติตามควบคู่กับแรงกดดันทางสังคมที่มีต่อคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นี้ อาจแบ่งออก ได้เป็นสองประเภทซึ่งแปรไปตามแรงกดดันทางสังคมที่แตกต่างกัน ประเภทแรกปรากฏในรูปกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษ ทางกายภาพต่อผู้ฝ่าฝืน ประเภทที่สองปรากฏในรูปศีลธรรมซึ่งไม่มีการลงโทษทางกายภาพใด ๆ ต่อผู้ฝ่าฝืน

ฮาร์ทมองข้อจํากัดของการมีแต่กฎเกณฑ์ที่กําหนดพันธะหน้าที่ จึงได้สร้างแนวความคิดเรื่อง ระบบกฎหมาย กฎปฐมภูมิ และกฎทุติยภูมิขึ้น

ข้อสรุปเรื่อง “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” หรือเรียกว่าแนวความคิด กฎหมายธรรมชาติทางสังคมวิทยา (Sociological conception of natural law) ในมุมมองของฮาร์ท

ฮาร์ทมองธรรมชาติของมนุษย์ที่มีลักษณะผสมผสานในตัวเอง บนพื้นฐานของสิ่งที่เป็น สัจธรรมสากลตามทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ โดยฮาร์ทเห็นว่าเป็นความจําเป็นทางธรรมชาติที่ในทุกสังคมมนุษย์ จะต้องมีกฎเกณฑ์ที่กําหนดพันระหน้าที่รูปกฎหมายซึ่งจํากัดควบคุมความรุนแรง พิทักษ์รักษาทรัพย์สินและป้องกัน ควบคุมการหลอกลวงกัน ฮาร์ทถือว่ากฎเกณฑ์ที่จําเป็นนี้เปรียบเสมือน “เนื้อหาอย่างน้อยที่สุดของกฎหมายธรรมชาติ” ซึ่งจะเรียกว่าเป็นแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติทางสังคมวิทยาก็ได้ ซึ่งฮาร์ทยอมรับแก่นความหมายในแง่ดีของ ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติเท่านั้น

 

ข้อ 2. ให้อธิบายความแตกต่างอันเป็นสาระสําคัญในแนวคิดทางกฎหมายของทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) และทฤษฎีกฎหมายของมาร์กซิสต์ (The Marxist Theory of Law) และให้เสนอความคิดเห็นต่อข้อสรุปตามความคิดของมาร์กซิสต์ที่ว่า “กฎหมายเป็นเสมือนหนึ่ง เครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้น เพื่อปกป้องอํานาจของตน/กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ ของชนชั้นปกครอง”

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอา สังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมาย อีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจาก การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิด นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการคือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้าง กฎหมายขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือ สําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุล

จากที่มาดังกล่าวมีส่วนสําคัญต่อการกําหนดกฎหมาย โดยมีบุคคลสําคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิด นิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาคือ รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง และรอสโค พาวด์ โดยเยียริ่งเน้นความสําคัญของวัตถุประสงค์ โดยถือว่าวัตถุประสงค์เป็นผู้สร้างกฎหมายทั้งหมด ไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใด ๆ ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ กฎหมาย ๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระทําของมนุษย์ ต้นเหตุสําคัญของกฎหมายอยู่ที่การเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนอง ความต้องการของสังคม วัตถุประสงค์ของกฎหมายอยู่ที่การปกป้องหรือขยายการปกป้องผลประโยชน์ของสังคม เยียริงแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภทคือ

– ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล

– ผลประโยชน์ของรัฐ

– ผลประโยชน์ของสังคม

บทบาทของกฎหมายในแนวของเยียริง จึงเป็นเรื่องของบทบาททางสังคมของกฎหมายในการสร้าง ความสมดุลหรือการจัดลําดับขั้นของความสําคัญระหว่างผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลกับผลประโยชน์ของสังคม

ในส่วนของรอสโค พาวด์ แนวความคิดทางกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงของสังคมอเมริกันที่มี ความเปลี่ยนแปลงจึงตระหนักต่อปัญหาบทบาทของกฎหมายในสังคม และรับอิทธิพลทางความคิดของเยียริ่งที่ เน้นบทบาทหน้าที่ของกฎหมาย และเห็นว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุล เขาอธิบายถึงวิธีการคานผลประโยชน์ด้วยการสร้างกลไกต่าง ๆ ซึ่งการคานผลประโยชน์ ในสังคมให้เกิดความสมดุลเหมือนการก่อสร้างหรือวิศวกรรมสังคม ซึ่งต่อมาเรียกว่า ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม พาวด์ แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภท คล้ายกับเยียริ่ง ได้แก่

– ผลประโยชน์ของปัจเจกชน

– ผลประโยชน์ของมหาชน

– ผลประโยชน์ของสังคม

วิธีการของการนํากฎหมายมาใช้ พาวด์มอบให้เป็นหน้าที่ของนักกฎหมายที่เกิดจากทฤษฎี วิศวกรรมทางสังคมของพาวด์ โดยเน้นภารกิจของนักกฎหมายในการจัดระบบผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้สมดุลโดย กลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างสังคมใหม่อันมีประสิทธิภาพในการ ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุดโดยให้เกิดการร้าวฉานหรือสูญเสียน้อยที่สุด

– ส่วน “ทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์” (The Marxist Theory of Law) เป็นทฤษฎี ทางกฎหมายของคาร์ล มาร์กซ์ ที่มองกฎหมายว่าเป็นเพียงกลไกเพื่อรับใช้ประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางชนชั้น ที่มีอํานาจในสังคม มิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระในการใช้ประนีประนอมผลประโยชน์ขัดแย้งทั้งหลาย

เนื่องจากตัวมาร์กซ์เองแล้วเขาเป็นคนค่อนข้างจะเย้ยหยันต่อบทบาทของกฎหมายในระบบ ทุนนิยม จึงทําให้มีการสรุปธรรมชาติหรือบทบาทของกฎหมายเป็น 3 ประการ คือ

1 กฎหมายเป็นผลผลิตหรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทาง เศรษฐกิจ โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น ๆ โดยมองว่าสังคม ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ล้วนถูกกําหนดโดยระบบการผลิตหรือ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ซึ่งสมมติให้เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจหรือ โครงสร้างส่วนล่างของสังคม ซึ่งกฎหมายก็ถือเสมือนว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม โดยที่รูปแบบและเนื้อหา ของกฎหมายนั้นจะเป็นผลสะท้อนของระบบเศรษฐกิจหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

2 กฎหมายเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอํานาจ ของตน กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ของชนชั้นปกครอง เป็นข้อสรุปที่มาจาก “คําประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์” ที่มาร์กซิสต์และเองเกลส์เขียนขึ้นเพื่อกล่าวเสียดสีกฎหมายของชนชั้นเจ้าสมบัติ จึงทําให้นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วไป มองกฎหมายว่าไม่ได้เกิดจากเจตนาร่วมหรือเจตจํานงทั่วไปของประชาชน แต่กฎหมายนั้นเป็นเพียงการแสดงออก ซึ่งเจตจํานงของชนชั้นปกครอง

3 ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคม จะเหือดหาย (Writering Away) และสูญสิ้นไปในที่สุด เป็นการสรุปความเอาเองของบรรดาเหล่าสาวกของมาร์กซ์ ที่ตีความของบุคคลจากงานเขียนของเองเกลส์ ชื่อ “Anti-Duhring” ที่กล่าวพยากรณ์ว่า สังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคต รัฐหรือรัฐบาลของบุคคลจะเหือดหายไร้ความจําเป็นในการดํารงอยู่อีกต่อไป ซึ่งเองเกลส์พูดถึงแต่รัฐเท่านั้นไม่ได้ พูดถึงกฎหมาย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยามีความแตกต่างจากทฤษฎีกฎหมายของ ฝ่ายมาร์กซิสต์ โดยทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจะมีฐานคิดทางกฎหมายแนวปฏิบัตินิยม กฎหมายเป็นพลัง ทางสังคม โดยเชื่อมั่นต่อกฎหมายว่าสามารถเป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ยและคานผลประโยชน์อันขัดแย้งใน สังคมให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมได้ ขณะที่ฝ่ายทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์ มีฐานคิดแนววัตถุนิยม เศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งไม่เชื่อถือศรัทธาต่อกฎหมายอันนําไปสู่บทสรุปที่เชื่อว่า เศรษฐกิจเป็นตัวกําหนดสําคัญ ต่อกฎหมาย กฎหมายคือการเมือง เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและความเชื่อต่อการเดือดหายของกฎหมาย ในท้ายสุดเมื่อเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์อันสมบูรณ์

 

ข้อ 3 ให้นักศึกษาอธิบายปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ว่ามีลักษณะที่สําคัญเป็นอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบคําอธิบายมาให้เข้าใจ

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา เป็นปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมที่ยอมรับให้มีการปฏิเสธหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์

ลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐาน ในลักษณะธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทําให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง บ้านเมือง และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้ พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ ก็เพราะว่านอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรมแล้ว พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรมอันมีค่าเป็นธรรมะ 10 ประการ ที่ทําหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ด้วย (อาจเรียกว่าเป็นราชธรรม 10 ประการก็ได้) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้อื่น

2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4 อาชชวะ คือ ความซื่อตรง

5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน

6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสําเร็จโดยไม่ลดละ

7 อักโกธะ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใคร ๆ

8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์เดือดร้อน

9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลําบาก ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม

10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ ทศพิธราชธรรมนี้ ก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนานั่นเอง จึงทําให้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมข้างต้นนี้ และรูปธรรมชัดเจนของข้อสรุปดังกล่าวก็คือหลักการ ในทศพิธราชธรรมก็ได้ถูกนําไปตราเป็นกฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 และ 113 ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ดังนี้

กฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 ความว่า “อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวดํารัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความ ประการใด ๆ ต้องกฎหมายประเวนี้เป็นยุติธรรมแล้วให้กระทําตาม ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทาน 1, 2, 3 ครั้ง ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไปให้ทูลในที่ระโหถาน ถ้าหมีฟังจึงให้กระทําตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทําตามพระอายการ ดังนี้ ท่านว่าผู้นั้นละมิดพระราชอาชญา”

กฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 นี้ก็เป็นการยืนยันหลักการทางทฤษฎีที่ถือเอาธรรมะหรือกฎหมาย เป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองอันเป็นการสอดรับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ อันหมายถึง การไม่ประพฤติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

ส่วนกฎมณเฑียรบาลบทที่ 113 ก็มีความว่า “อนึ่ง ธรงพระโกรธแก่ผู้ใด แลตรัสเรียกพระแสง อย่าให้เจ้าพนักงานยื่น ถ้ายื่นให้โทษถึงตาย” อันนี้ก็สอดรับกับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ ดังที่กล่าวแล้ว กับข้อที่ 7 คือ อักโกธะ อันหมายถึงการไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อผู้ใด

LAW4007 นิติปรัชญา 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. บทสรุปทางความคิด (หนึ่ง) ที่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญไทยต้องมีลักษณะเฉพาะสะท้อนเจตจํานง/จิตวิญญาณของประชาชนไทยหรือวัฒนธรรมความเป็นไทย ได้รับอิทธิพลความคิดของสํานักปรัชญา กฎหมายใด และบทสรุปทางความคิดดังกล่าวมีข้อดี และข้อด้อย/ความบกพร่องทางความคิดอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อคํานึงถึงกระแสความคิดสากลที่ให้ความสําคัญต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน/ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นส่วนสําคัญหนึ่งในปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย

ธงคําตอบ

บทสรุปทางความคิด (หนึ่ง) ที่เชื่อว่า รัฐธรรมนูญไทยต้องมีลักษณะเฉพาะสะท้อนเจตจํานง/ จิตวิญญาณของประชาชนไทย หรือวัฒนธรรมความเป็นไทยนั้น เป็นแนวความคิดที่ได้รับอิทธิพลทางความคิด ของสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ โดยสํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ มีแนวคิดว่า กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอํานาจจะ กระทําตามอําเภอใจโดยพลการ แต่กฎหมายเป็นผลผลิตของสังคมที่มีรากเหง้าหยั่งลึกลงไปในประวัติศาสตร์ของ ประชาชาติ กําเนิดและเติบโตจากประสบการณ์และหลักประพฤติทั่วไปของประชาชน ซึ่งปรากฏในรูปของ ประเพณี วัฒนธรรม หรือจิตวิญญาณร่วมของประชาชนในชาติแต่ละชาติ กล่าวคือ สํานักกฎหมายประวัติศาสตร์ ได้อธิบายว่า กฎหมายคือจิตวิญญาณร่วมกันของชนในชาติ และที่มาของกฎหมายคือ จารีตประเพณีนั่นเอง

แม้ว่าบทสรุปดังกล่าวจะมีข้อดีคือ การให้ความสําคัญต่อประวัติศาสตร์สังคมในกฎหมาย การบัญญัติกฎหมายจะมีความเป็นตัวของตัวเองที่มุ่งเชื่อมโยงถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตโดยตระหนักถึง จิตสํานึก/จิตวิญญาณของประชาชนในชาติก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องที่แฝงอยู่ในข้อวิจารณ์สํานักกฎหมาย ประวัติศาสตร์ที่เห็นว่าลึก ๆ แล้วมีความคิดคับแคบแบบอนุรักษนิยมและชาตินิยม ซึ่งมักจะอยู่ตรงข้ามและต่อต้าน แนวความคิดแบบสากลนิยมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัยที่จะเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนา สันติภาพ ฯลฯ และมีฐานความคิด แบบเหตุผลนิยม (มีเหตุผล) สากลนิยม (หลักสากลที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับ) อีกทั้งแนวความคิดของสํานักกฎหมาย ประวัติศาสตร์ยังมีปัญหาเรื่องความคลุมเครือของเรื่องจิตวิญญาณของประชาชน ตลอดจนปัญหาการเมืองหรือ อํานาจ (ผูกขาด) ในการกําหนดนิยามวัฒนธรรมความเป็นไทย หรือจารีตประเพณีต่าง ๆ ในสังคม

 

ข้อ 2 ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) ของ Roscoe Pound มี ความแตกต่างจากทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์ (Marxist Legal Theory) อย่างไร ทั้งในแง่ข้อพิจารณาเกี่ยวกับธรรมชาติของกฎหมาย และบทบาทของกฎหมายในสังคม

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) หมายถึง การนําเอาสังคมวิทยาไปใช้ในทางนิติศาสตร์ (นิติปรัชญา) เพื่อสร้างทฤษฎีกฎหมายและทฤษฎีที่ได้ก็จะนําไปสร้างกฎหมาย อีกชั้นหนึ่งนั่นเอง เป็นทฤษฎีทางกฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก มีที่มาจาก การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งความก้าวหน้าของสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคม โดยเฉพาะจากกลุ่มนายทุนและผู้ใช้แรงงาน มีการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ข่มเหง จึงทําให้เกิดแนวคิดนิติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยาขึ้น โดยมีหลักการคือ การนํากฎหมายมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยเฉพาะการสร้างกฎหมาย ขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมหรืออรรถประโยชน์ของสังคม และเป็นเครื่องมือสําหรับคาน ผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุล ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาในแนวความคิดของรอสโค พาวด์ (Roscoe Pound)

รอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) เป็นผู้ที่พัฒนาทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาให้มี รายละเอียดเพิ่มขึ้นในเชิงปฏิบัติ โดยพาวด์ได้สร้างทฤษฎีผลประโยชน์ (The Theory of Interest) ที่รู้จักกันในนาม ทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคม (Social Engineering Theory) ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสําหรับคานผลประโยชน์ต่าง ๆ ในสังคมให้เกิดความสมดุล

ทฤษฎีของพาวด์ให้ความสําคัญกับการแก้ไขปัญหาสังคมโดยมองปัญหาสังคมจากโครงสร้าง และฐานรากเดิมที่มีอยู่ โดยมุ่งปรับสังคมใหม่โดยการถ่วงดุลกันของผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายให้เกิดความสมดุล ดังนั้นพาวด์จึงสร้างทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมและทฤษฎีผลประโยชน์ โดยมอบหน้าที่ของนักกฎหมายให้ เปรียบเสมือนวิศวกรสังคมที่มีภารกิจในการที่จะต้องลงไปศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยมองที่โครงสร้าง ของสังคมปัจจุบัน และออกแบบโครงสร้างของสังคมใหม่ที่มีปัญหาน้อยที่สุด การศึกษาดังกล่าวต้องประกอบด้วย การศึกษาทฤษฎีผลประโยชน์ ได้แก่ ผลประโยชน์ของปัจเจกชน ผลประโยชน์ของมหาชน และผลประโยชน์ของสังคม ซึ่งเมื่อศึกษาและได้ทราบถึงผลประโยชน์ คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ ความคาดหมาย ของแต่ละฝ่ายแล้ว ต้องนํามาชั่งน้ำหนักเพื่อถ่วงดุลผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย โดยจะต้องให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่ง น้อยที่สุด และเติมเต็มผลประโยชน์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลงตัว

ส่วน “ทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์” (Marxist Legal Theory) เป็นทฤษฎีทางกฎหมาย ของคาร์ล มาร์กซ์ ที่มองกฎหมายว่าเป็นเพียงกลไกเพื่อรับใช้ประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางชนชั้นที่มีอํานาจในสังคม มิใช่เป็นกลไกที่มีความเป็นอิสระในการใช้ประนีประนอมผลประโยชน์ขัดแย้งทั้งหลาย

เนื่องจากตัวมาร์กซ์.องแล้วเขาเป็นคนค่อนข้างจะเย้ยหยันต่อบทบาทของกฎหมายในระบบ ทุนนิยม จึงทําให้มีการสรุปธรรมชาติหรือบทบาทของกฎหมายเป็น 3 ประการ คือ

1 กฎหมายเป็นผลผลิตหรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทาง เศรษฐกิจ โดยที่รูปแบบและเนื้อหาของกฎหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในสังคมนั้น ๆ โดยมองว่าสังคม ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของสังคม ล้วนถูกกําหนดโดยระบบการผลิตหรือ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ซึ่งสมมติให้เป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานของระบบเศรษฐกิจหรือ โครงสร้างส่วนล่างของสังคม ซึ่งกฎหมายก็ถือเสมือนว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม โดยที่รูปแบบและเนื้อหา ของกฎหมายนั้นจะเป็นผลสะท้อนของระบบเศรษฐกิจหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

2 กฎหมายเป็นเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อปกป้องอํานาจ ของตน กฎหมายเป็นเครื่องมือกดขี่ของชนชั้นปกครอง เป็นข้อสรุปที่มาจาก “คําประกาศของพรรคคอมมิวนิสต์” ที่มาร์กซิสต์และเองเกลส์เขียนขึ้นเพื่อกล่าวเสียดสีกฎหมายของชนชั้นเจ้าสมบัติ จึงทําให้นักทฤษฎีมาร์กซิสต์ทั่วไป มองกฎหมายว่าไม่ได้เกิดจากเจตนาร่วมหรือเจตจํานงทั่วไปของประชาชน แต่กฎหมายนั้นเป็นเพียงการแสดงออก ซึ่งเจตจํานงของชนชั้นปกครอง

3 ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคม จะเดือดหาย (Writering Away) และสูญสิ้นไปในที่สุด เป็นการสรุปความเอาเองของบรรดาเหล่าสาวกของมาร์กซ์ ที่ตีความของบุคคลจากงานเขียนของเองเกลส์ ชื่อ “Anti-Dubring” ที่กล่าวพยากรณ์ว่า สังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคต รัฐหรือรัฐบาลของบุคคลจะเดือดหายไร้ความจําเป็นในการดํารงอยู่อีกต่อไป ซึ่งเองเกลส์พูดถึงแต่รัฐเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงกฎหมาย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ มีความแตกต่างจากทฤษฎี เกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์ โดยทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ จะมีฐานคิดทางกฎหมายแนว ปฏิบัตินิยม กฎหมายเป็นพลังทางสังคม โดยเชื่อมั่นต่อกฎหมายว่าสามารถเป็นเครื่องมือในการไกล่เกลี่ยและคาน ผลประโยชน์อันขัดแย้งในสังคมให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรมได้ ขณะที่ฝ่ายทฤษฎีกฎหมายของฝ่ายมาร์กซิสต์ มีฐานคิดแนววัตถุนิยม เศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งไม่เชื่อถือศรัทธาต่อกฎหมายอันนําไปสู่บทสรุปที่เชื่อว่า เศรษฐกิจ เป็นตัวกําหนดสําคัญต่อกฎหมาย กฎหมายคือการเมือง เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและความเชื่อต่อการ เดือดหายของกฎหมาย ในท้ายสุดเมื่อเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์อันสมบูรณ์

 

ข้อ 3 ภายใต้บทวิพากษ์เรื่องการมีมาตรฐานสองชั้น/สองมาตรฐาน (Double Standard) ทางกฎหมาย/การใช้อํานาจในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม ปรัชญากฎหมายไทยดังกล่าวยอมรับให้มีการปฏิเสธ/ ยับยั้งหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะเหตุใด และ การปฏิรูปบ้านเมือง-กฎหมายในยุคสมัย ร.4 – ร.5 ส่งผลกระทบสําคัญต่อปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยอมรับให้มีการปฏิเสธยับยั้งหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพราะลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐานในลักษณะ ธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมายไทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตุรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร 4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลัก

ทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทําให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง บ้านเมือง และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้ พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ก็เพราะว่า นอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรมแล้ว พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม อันมีค่าเป็นธรรมะ 10 ประการ ที่ทําหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ด้วย (อาจเรียกว่า เป็นราชธรรม 10 ประการก็ได้) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1 ทาน คือ การสละวัสดุสิ่งของและวิชาความรู้เพื่อเกื้อกูลแก่ผู้อื่น

2 ศีล คือ การควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้เป็นปกติเรียบร้อย

3 ปริจจาคะ คือ การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

4 อาชชวะ คือ ความซื่อตรง

5 มัททวะ คือ ความสุภาพอ่อนโยน

6 ตบะ คือ ความเพียรพยายามในหน้าที่การงานจนกว่าจะสําเร็จโดยไม่ลดละ

7 อักโกธะ คือ ความไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อใคร ๆ

8 อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้ทุกข์เดือดร้อน

9 ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลําบาก ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุธรรมและนามธรรม 10 อวิโรธนะ คือ ความไม่ประพฤติปฏิบัติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

ด้วยเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณล้วนนับถือศาสนาพุทธ ทศพิธราชธรรมนี้ ก็มีรากฐานที่มาจากคัมภีร์ชาดกในพุทธศาสนานั่นเอง จึงทําให้พระมหากษัตริย์ไทยสมัยโบราณที่เลื่อมใสใน พระพุทธศาสนาต้องตั้งพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรมข้างต้นนี้ และรูปธรรมชัดเจนของข้อสรุปดังกล่าวก็คือหลักการ ในทศพิธราชธรรมก็ได้ถูกนําไปตราเป็นกฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 และ 113 ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ดังนี้

กฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 ความว่า “อนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวดํารัสตรัสด้วยกิจราชการคดีถ้อยความ ประการใด ๆ ต้องกฎหมายประเวนี้เป็นยุติธรรมแล้วให้กระทําตาม ถ้าหมีชอบจงอาจพิดทูลทัดทาน 1, 2, 3 ครั้ง ถ้าหมีฟังให้งดไว้อย่าเพ่อสั่งไปให้ทูลในที่ระโหถาน ถ้าหมีฟังจึงให้กระทําตาม ถ้าผู้ใดมิได้กระทําตามพระอายการ ดังนี้ ท่านว่าผู้นั้นละมิดพระราชอาชญา”

กฎมณเฑียรบาลบทที่ 106 นี้ก็เป็นการยืนยันหลักการทางทฤษฎีที่ถือเอาธรรมะหรือกฎหมาย เป็นใหญ่ในการปกครองบ้านเมืองอันเป็นการสอดรับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรธนะ อันหมายถึง การไม่ประพฤติผิดไปจากทํานองคลองธรรม

ส่วนกฎมณเฑียรบาลบทที่ 113 ก็มีความว่า “อนึ่ง ธรงพระโกรธแก่ผู้ใด และตรัสเรียกพระแสง อย่าให้เจ้าพนักงานยื่น ถ้ายื่นให้โทษถึงตาย” อันนี้ก็สอดรับกับหลักทศพิธราชธรรมข้อที่ 10 อวิโรจนะ ดังที่กล่าวแล้ว กับข้อที่ 7 คือ อักโกธะ อันหมายถึงการไม่แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นต่อผู้ใด

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บทวิพากษ์เรื่องการมีมาตรฐานสองชั้น/สองมาตรฐาน (Double Standard) ทางกฎหมาย ในปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมนั้น นอกเหนือจากพื้นฐานความคิดแบบธรรมนิยมทั่วไปแล้ว การดํารงอยู่ ของแนวคิดแบบอํานาจนิยมซึ่งสะท้อนอิทธิพลความคิดแบบฮินดู-พราหมณ์ คติเรื่องเทวราชา-เจ้าชีวิต รวมทั้ง ระบบศักดินา การยอมรับให้มีการปฏิเสรหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรม ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะ เกิดขึ้นในความเป็นจริง

สําหรับการปฏิรูปบ้านเมืองและกฎหมายในยุคสมัย ร.4 – ร.5 ในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ในสังคมไทยนั้น มิได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมแต่อย่างใด แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิด จากการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกตามแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก ส่งผลกระทบให้เกิดการตีความ ธรรมะในกฎหมายให้มีลักษณะบริสุทธิ์-มนุษยนิยมมากขึ้น เกิดการคลายตัวของแนวคิดอํานาจนิยม-เทวราชา นับแต่สมัย ร.4 และทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการขยายตัวของกฎหมายที่ยอมรับสิทธิเสรีภาพ มากขึ้นนับจากการทําสัญญาเบาริ่งในสมัย ร.5 ที่ได้รับพลังกดดันจากอํานาจทุนภายนอก คือมหาอํานาจตะวันตก

WordPress Ads
error: Content is protected !!