LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเอกเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ได้เดินผ่านที่ดินมีโฉนดของนายโทเป็นเวลากว่า 10 ปี จนได้ภาระจํายอมโดยอายุความ แต่ไม่มีการจดทะเบียน ต่อมานายโทได้จดทะเบียนขายที่ดิน ของตนให้นายตรี โดยนายตรีไม่รู้มาก่อนว่านายเอกได้เดินผ่านที่ดินจนได้ภาระจํายอมไปแล้ว

ภายหลังนายตรีได้ปิดทางที่นายเอกเคยเดินผ่าน นายเอกจึงฟ้องศาลขอให้สั่งให้นายตรีเปิดทางเดินภาระจํายอมนั้น ท่านในฐานะผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ได้เดินผ่านที่ดินมีโฉนดของนายโท เป็นเวลากว่า 10 ปี จนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความนั้น ถือว่านายเอกเป็นผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามมาตรา 1299 วรรคสอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และต่อมาภายหลังการที่นายโทได้จดทะเบียนขายที่ดินแปลงเดียวกันนี้ให้นายตรี และนายตรี ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวได้ปิดกั้นทางเพื่อไม่ให้นายเอกผ่านอีกต่อไปนั้นย่อมไม่อาจทําได้ ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถ้าผู้ได้มายังมิได้จดทะเบียน จะยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วไม่ได้ตามมาตรา 1299 วรรคสองนั้น จะต้องเป็นการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิประเภท เดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น การได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความเป็นทรัพยสิทธิประเภทรอนสิทธิ ส่วนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการรับโอนเป็นทรัพยสิทธิประเภทได้สิทธิ จึงเป็นสิทธิคนละประเภทกัน นายตรีจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนั้น นายเอกจึงสามารถยกเอาการได้มาซึ่งภาระจํายอม ในที่ดินที่ยังมิได้จดทะเบียนซึ่งได้มาก่อนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันของนายตรีขึ้นต่อสู้นายตรีได้

โดยนายตรีย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยติดภาระจํายอมไปด้วย (คําพิพากษาฎีกาที่ 3984/2533 และ 3262/2548) ดังนั้น ในฐานะผู้พิพากษาจะสั่งให้นายตรีเปิดทางภาระจํายอมนั้น

สรุป ในฐานะผู้พิพากษาจะวินิจฉัยสั่งให้นายตรีเปิดทางภาระจํายอมนั้น

 

ข้อ 2 ดําสร้างบ้านพร้อมรั้วกําแพงลงในที่ดินของดําเอง โดยก่อนสร้างได้ขอให้เจ้าของที่ดินข้างเคียง มาชี้ระวางแนวเขตที่ดินของแต่ละแปลงแล้ว แต่เมื่อสร้างเสร็จจึงพบว่ารั้วกําแพงที่สร้างได้รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินแปลงติดกันซึ่งเป็นของเขียวเป็นแนวรั้วยาวตลอดประมาณ 50 เซนติเมตร เขียวจึงขอให้ดํารื้อถอนรั้วบ้านเพื่อแก้ไขมิให้เกิดการรุกล้ำ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าดําจะต้อง รื้อถอนรั้วที่รุกล้ำหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้น เป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจํายอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้ ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทําการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไปและทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

วินิจฉัย

การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตที่จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1312 นั้น จะต้องเป็นกรณีปลูกสร้างโรงเรือนทั้งหลัง แล้วส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ถ้าเป็นสิ่งอื่น ๆ ที่มิใช่โรงเรือนและไม่เป็นส่วนควบของโรงเรือน เช่น รั้วบ้าน กําแพง ท่อน้ำทิ้งหรือ เครื่องปรับอากาศ จะอ้างความคุ้มครองตามมาตรา 1312 ไม่ได้ แม้จะสร้างหรือทําโดยสุจริตก็ต้องรื้อถอน ออกไปจากที่ดินของผู้อื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดําสร้างบ้านพร้อมรั้วกําแพงลงในที่ดินของดําเอง โดยก่อนสร้างได้ขอให้ เจ้าของที่ดินข้างเคียงมาชี้ระวางแนวเขตที่ดินของแต่ละแปลงแล้ว แต่เมื่อสร้างเสร็จจึงพบว่ารั้วกําแพงที่สร้าง ได้รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินแปลงติดกันซึ่งเป็นของเขียวเป็นแนวรั้วยาวตลอดประมาณ 50 เซนติเมตรนั้น กรณี ดังกล่าวมิใช่เรื่องการสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่น แต่เป็นการสร้างสิ่งอื่น ๆ คือรั้วกําแพงรุกล้ำเข้าไป ในที่ดินของผู้อื่น และรั้วกําแพงก็มิใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโรงเรือน ดังนั้น แม้ดําจะได้สร้างรั้วกําแพงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเขียวโดยสุจริตเพราะได้มีการชี้ระวางแนวเขตที่ดินแล้วก็ตาม ดําก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 1312 เมื่อเขียวได้ขอให้รื้อถอนรั้วบ้านเพื่อแก้ไขมิให้เกิดการรุกล้ำ ดําจึงต้องรื้อถอนรั้วออกไปจากที่ดินของเขียว

สรุป ดำจะต้องรื้อถอนรั้วที่รุกล้าออกไปจากที่ดินของเขียว

 

ข้อ 3 แดงเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านในที่ดินมีโฉนดของขาวเพื่ออยู่อาศัยมาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว และได้ชําระค่าเช่าตรงต่อเวลาเสมอมา เมื่อขึ้นปีที่ 10 แดงมีปัญหาทางด้านการเงินจึงขอผ่อนผันการชําระค่าเช่ากับขาว โดยขอชําระค่าเช่าเพียงครึ่งเดียวเป็นเวลา 1 ปี พอขึ้นปีที่สิบเอ็ด สถานะทางการเงินของแดงไม่ดีขึ้น จึงบอกกับขาวว่าไม่ต้องมาเก็บค่าเช่าแล้ว และตนได้ครอบครองที่ดินของขาวติดต่อกัน จนครบ 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินของขาวโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว แต่ขาวไม่เห็นด้วย ขาวจึงฟ้องขับไล่แดงให้ออกจากที่ดินของตน ดังนี้ ระหว่างแดงกับขาวผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากัน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยน ลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านในที่ดินมีโฉนดของขาวเพื่ออยู่อาศัยนั้น ถือเป็นกรณีที่แดงยึดถือที่ดินแปลงดังกล่าวในฐานะผู้แทนของขาวเท่านั้น แม้แดงจะยึดถือเป็นเวลาติดต่อกันได้ 10 ปี แดงก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 แต่อย่างใด

การที่แดงเช่าที่ดินและปลูกบ้านอยู่อาศัยมาได้ 9 ปี เมื่อขึ้นปีที่ 10 แดงได้ขอผ่อนผันการชําระค่าเช่ากับขาวนั้น การผ่อนผันการชําระค่าเช่าดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวเพื่อเปลี่ยนลักษณะการยึดถือแต่อย่างใด แต่พอขึ้นปีที่สิบเอ็ด แดงได้บอกกับขาวว่าไม่ต้องมาเก็บค่าเช่าแล้ว และตนได้ครอบครองที่ดินของขาวติดต่อกัน จนครบ 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของขาวโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วนั้น ถือเป็นการบอกกล่าวว่าไม่มีเจตนา จะยึดถือทรัพย์สินแทนขาวแล้วตามมาตรา 1381 อายุความในการครอบครองที่ดินจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ปีที่สิบเอ็ด คือนับแต่วันที่บอกกล่าวเป็นต้นไป และเมื่อแดงยังครอบครองที่ดินของขาวไม่ครบ 10 ปี แดงจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ ในที่ดินของขาวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้น ขาวจึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่าแดง

สรุป ขาวมีสิทธิในที่ดินแปลงดังกล่าวดีกว่าแดง

 

ข้อ 4 นายหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินติดกับแม่น้ำท่าจีน ส่วนทางทิศตะวันตกดินติดกับที่ดิน น.ส.3 ของนายสอง ต่อมานายสองซึ่งมีอาชีพประมงได้ขออนุญาตใช้คูในที่ดินของนายหนึ่งเพื่อเก็บเรือที่ใช้ออกหาปลาโดยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไปไหนมาไหน อยากทราบว่า การใช้คูเพื่อเก็บเรือของนายสองก่อให้เกิดภาระจํายอมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

วินิจฉัย

“ภาระจํายอม” ตามมาตรา 1387 เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งที่ตัดทอนอํานาจกรรมสิทธิ์ โดยทําให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันหนึ่งเรียกว่า “ภารยทรัพย์” ต้องรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบกระเทือนถึงทรัพย์สินของตน หรือทําให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์อื่น ที่เรียกว่า “สามยทรัพย์” คือจะทําให้ตัวสามยทรัพย์ได้รับประโยชน์ หรือได้รับความสะดวกขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่ง ซึ่งทางทิศตะวันออก ของที่ดินติดกับแม่น้ำท่าจีน ส่วนทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดิน น.ส.3 ของนายสอง และต่อมานายสองซึ่งมีอาชีพประมงได้ขออนุญาตใช้คูในที่ดินของนายหนึ่งเพื่อเก็บเรือที่ใช้ออกหาปลาโดยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจร ไปไหนมาไหนนั้น ถือเป็นกรณีที่นายสองได้ขอใช้อสังหาริมทรัพย์ของนายหนึ่งเพื่อประโยชน์ของตัวบุคคล ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของอสังหาริมทรัพย์อื่น แม้จะมีการเอาเรือเข้าออกคูก็ไม่ต้องด้วยลักษณะของภาระจํายอม ตามมาตรา 1387 ดังนั้น การใช้เพื่อเก็บเรือของนายสองจึงไม่ก่อให้เกิดภาระจํายอมแต่อย่างใด

สรุป

การใช้ดูเพื่อเก็บเรือของนายสองไม่ก่อให้เกิดภาระจํายอม

LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 แมวครอบครองที่ดินมีโฉนดของหมูเพื่อปลูกข้าว จนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของหมูโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ แต่ยังไม่ได้นําไปจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาหมูได้ทราบเรื่องดังกล่าว หมูจึงวางแผนกับนกซึ่งเป็นเพื่อนสนิทว่าตนเองจะยกที่ดินแปลงดังกล่าวของตนให้แก่นก โดยสัญญาให้ทําถูกต้องตามแบบของกฎหมายทุกประการ (ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) เมื่อนกได้รับที่ดินมาแล้วนกจึงไปฟ้องขับไล่แมว

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า แมวจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมู ขึ้นต่อสู้ กับนกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคสอง “ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แมวได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของหมูโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ถือว่าแมวเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามมาตรา 1299 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าแมวยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าว แมวจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ และสิทธิอันยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น แมวจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า การที่หมูได้จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นกซึ่งเป็นเพื่อนสนิทนั้น เป็นการทําสัญญาให้โดยที่นกไม่ได้เสียค่าตอบแทนแต่อย่างใด และนกก็ทราบอยู่แล้วว่าแมวได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมูจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว จึงจะถือว่านกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินนั้น มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหาได้ไม่ ดังนั้น นกจึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และเมื่อนกไปฟ้องขับไล่แมว แมวจึงสามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดิน ของหมูขึ้นต่อสู้กับนกได้

สรุป แมวสามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมูขึ้นต่อสู้กับนกได้

 

ข้อ 2 เอ บี และซีเป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวขนาด 3 คูหาแห่งหนึ่ง โดยทั้งเอ บี และซีมีสัดส่วน ความเป็นเจ้าของในที่ดินและตึกแถวนั้นเท่า ๆ กัน ในวันหนึ่ง เอพบว่าฝ้าเพดานภายในตึกแถวนั้น ผุพังและอาจถล่มลงมาทําให้เกิดความเสียหายได้ เอจึงเรียกช่างให้มาซ่อมแซมฝ้าเพดานโดย ไม่ได้ปรึกษาบีและซี และชําระค่าซ่อมเพดานไปเป็นจํานวนเงิน 15,000 บาท เอจึงมาเรียกเก็บค่าซ่อมฝ้าเพดานกับบีและซี บีและซีปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่าเอไม่ได้มาปรึกษาพวกตนก่อนการซ่อมฝ้าเพดาน

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า เอจะสามารถเรียกเก็บค่าซ่อมฝ้าเพดานจากบีและซีได้หรือไม่ เป็นจํานวนเงิน เท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1356 “ถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติในหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1358 “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันในเรื่องจัดการตามธรรมดา ท่านว่าพึงตกลงโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางจัดการตามธรรมดาได้ เว้นแต่ฝ่ายข้างมากได้ตกลงไว้เป็นอย่างอื่น แต่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจทําการเพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอ

ในเรื่องจัดการอันเป็นสาระสําคัญ ท่านว่าต้องตกลงกันโดยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นต้องมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์สิน

การเปลี่ยนแปลงวัตถุที่ประสงค์นั้น ท่านว่าจะตกลงกันได้ก็แต่เมื่อเจ้าของรวมเห็นชอบทุกคน”

มาตรา 1362 “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ จําต้องช่วยเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตามส่วนของตนในการ ออกค่าจัดการ ค่าภาษีอากร และค่ารักษา กับทั้งค่าใช้ทรัพย์สินรวมกันด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอ บี และซี เป็นเจ้าของรวมในที่ดินและตึกแถวขนาด 3 คูหาแห่งหนึ่ง โดยทั้งเอ บี และซีมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในที่ดินและตึกแถวเท่า ๆ กัน เมื่อเอพบว่าฝ้าเพดานภายในตึกแถวนั้น ผุพังและอาจถล่มลงมาทําให้เกิดความเสียหายได้ เอจึงเรียกช่างให้มาซ่อมแซมฝ้าเพดาน ในการซ่อมฝ้าเพดานนั้น ถือว่าเป็นการทําการเพื่อรักษาทรัพย์สินคือตึกแถวให้อยู่ในสภาพดี ดังนั้น เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจทําการ เพื่อรักษาทรัพย์สินได้เสมอตามมาตรา 1358 วรรคสองตอนท้าย เอจึงสามารถซ่อมฝ้าเพดานได้โดยไม่ต้องปรึกษา บีและซีก่อน และเมื่อได้จัดการไปแล้ว เจ้าของรวมคนอื่น ๆ ทุกคนก็จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายนั้น ตามส่วนของตนตามมาตรา 1362 และเมื่อเอได้ชําระค่าซ่อมฝ้าเพดานไปเป็นจํานวนเงิน 15,000 บาท เอจึง สามารถเรียกให้บีและซีช่วยออกค่ารักษาทรัพย์สินที่ตนได้ชําระไปแล้วได้คนละ 5,000 บาท

สรุป เอสามารถเรียกเก็บค่าซ่อมฝ้าเพดานจากบีและซีได้คนละ 5,000 บาท

 

ข้อ 3 กุมภาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของมีนาที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ติดต่อกันได้ 7 ปี และบอกกับชาวบ้านในบริเวณที่ดินนั้นว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยที่มีนาไม่ทราบเรื่องดังกล่าว พอขึ้นปีที่ 8 เมษาได้มาชักชวนให้กุมภาไปทํางานที่กรุงเทพฯ กุมภาตอบตกลงไปทํางานที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 เดือน แล้วถูกเลิกจ้างเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี กุมภาจึงกลับมาทํานาในที่ดินแปลงเดิมของมีนา มีนารู้เรื่องจึงแจ้งให้กุมภาออกไปจากที่ดินนั้น แต่กุมภาอ้างว่าตนเองไม่มีงานอื่นทําแล้ว จึงขอครอบครองที่ดินเพื่อทํานาหาเลี้ยงชีพต่อไปโดยจะให้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้บางส่วนแก่มีนาเป็นการตอบแทน มีนาสงสารจึงตอบตกลง เมื่อกุมภาทํานาในที่ดินของมีนาและส่งมอบข้าวให้มีนาอย่าง ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี กุมภาก็เลิกส่งมอบข้าวให้มีนา เมื่อมีนามาทวงถาม กุมภาจึงอ้างว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว ดังนั้น ตนจึงไม่จําเป็นต้องส่งข้าวให้มีนาเพื่อเป็นการตอบแทนการใช้ที่ดิน อีกต่อไป มีนาโกรธมากจึงฟ้องขับไล่กุมภา

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ระหว่างกุมภากับมีนาผู้ใดมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากัน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1368 “บุคคลอาจได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยผู้อื่นยึดถือไว้ให้”

มาตรา 1381 “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยน ลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอํานาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกําหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กุมภาครอบครองทํานาในที่ดินมีโฉนดของมีนาติดต่อกันได้ 7 ปี และบอกกับชาวบ้านในบริเวณที่ดินนั้นว่าตนเป็นเจ้าของที่ดิน โดยมีนาไม่ทราบเรื่องดังกล่าวนั้น ถือว่ากุมภาเป็นผู้ครอบครอง ที่ดินของผู้อื่นโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกันเพียง 7 ปี ดังนั้น กุมภาจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของมีนาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382

ในปีที่ 8 การที่กุมภาตกลงไปทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 6 เดือน ตามที่เมษาชักชวนนั้น ย่อมถือว่ากุมภามีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิการครอบครองของกุมภาจึงสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1384 และเมื่อกุมภากลับมาทํานาในที่ดินแปลงเดิมของมีนาอีกครั้ง จึงต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ แต่เมื่อมีนารู้เรื่องจึงแจ้งให้กุมภาออกไปจากที่ดินนั้น แต่กุมภาขอครอบครองที่ดินเพื่อทํานาโดย จะให้ข้าวแก่มีนาเป็นการตอบแทนนั้น จึงเป็นกรณีที่กุมภาได้รับอนุญาตจากมีนาในการครอบครองที่ดิน ทําให้กุมภาขาดเจตนาเป็นเจ้าของในการครอบครองที่ดินในคราวหลัง จึงไม่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองได้ เพราะถือว่ากุมภาเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินแทนมีนาตามมาตรา 1368 เท่านั้น

ต่อมา การที่กุมภาเลิกส่งมอบข้าวให้มีนาและเมื่อมีนาทวงถาม กุมภาจึงอ้างว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแล้วนั้น ถือเป็นกรณีที่กุมภาบอกเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือไปยังมีนาตามมาตรา 1381 และเมื่อกุมภาได้บอกเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือยังไม่ครบ 10 ปี กุมภาจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของมีนา โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ดังนั้น มีนาจึงมีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากุมภา

สรุป มีนามีสิทธิในที่ดินดังกล่าวดีกว่ากุมภา

 

ข้อ 4 นาคมีที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทางทิศตะวันออกติดกับที่ดินมีโฉนดของเพชรซึ่งเป็นพี่ชายของตนโดยนาคเดินผ่านที่ดินของเพชรด้วยความสนิทสนมกันฉันญาติมิตรเพื่อออกไปขึ้นรถโดยสารประจําทาง ที่ถนนใหญ่มาเป็นเวลา 12 ปีแล้วโดยไม่เคยขออนุญาตเพชรเลย ในปีที่ 13 เพชรต้องการย้ายทางเดินที่นาคเดินออกไปขึ้นรถโดยสารประจําทางไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินซึ่งทําให้นาคต้องเดิน เป็นระยะทางไกลกว่าเดิม และลดขนาดทางเดินจากเดิมกว้าง 1.5 เมตร เหลือเพียง 1 เมตร เนื่องจากเพชรต้องการสร้างสวนหย่อมในบริเวณที่เป็นทางเดินแต่เดิมนั้น นาคไม่ยินยอมให้เพชรย้ายทางเดินดังกล่าว

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ที่ดินของนาคจะได้สิทธิภาระจํายอมในทางเดินไปขึ้นรถโดยสารประจําทางบน ที่ดินของเพชรหรือไม่ และเพชรจะสามารถย้ายทางเดินดังกล่าวไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจําหน่ายทรัพย์สิน ของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1392 “ถ้าภาระจํายอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียก ให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตาม มาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็น เวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาคมีที่ดินมีโฉนดติดกับที่ดินมีโฉนดของเพชรซึ่งเป็นพี่ชายของตน และนาคได้เดินผ่านที่ดินของเพชรด้วยความสนิทสนมกันฉันญาติมิตรเพื่อออกไปขึ้นรถโดยสารประจําทางที่ถนนใหญ่ มาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว โดยไม่เคยขออนุญาตเพชรเลยนั้น ถึงแม้ว่าที่ดินของเพชรจะเป็นที่ดินมีโฉนด และแม้ทางเดินนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อที่ดินของนาคและใช้มาเกิน 10 ปีแล้วก็ตาม แต่การที่นาคเดินผ่านที่ดินของเพชร ด้วยความสนิทสนมกันฉันญาติมิตรนั้น ถือเป็นการเดินผ่านโดยวิสาสะโดยไม่เป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดิน ดังนั้น นาคจึงไม่ได้ภาระจํายอมในทางเดินไปขึ้นรถโดยสารประจําทางบนที่ดินของเพชร ตามมาตรา 1387 ประกอบ มาตรา 1401 และมาตรา 1382 และเมื่อนาคไม่ได้ภาระจํายอมบนที่ดินของเพชร เพชรจึงอาศัยสิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1336 ในการย้ายทางเดินดังกล่าวไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินได้โดยไม่ต้องคํานึงถึงความสะดวกของนาค ตามมาตรา 1392 แต่อย่างใด

สรุป

ที่ดินของนาคไม่ได้สิทธิภาระจํายอมในทางเดินไปขึ้นรถโดยสารประจําทางบนที่ดินของเพชร และเพชรสามารถย้ายทางเดินดังกล่าวไปอีกฟากหนึ่งของที่ดินได้

LAW2101 (LAW 2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ฮานส์เป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสวนมะม่วงในจังหวัดอ่างทองซึ่งอยู่ติดกับที่ดินว่างเปล่าของทิม ฮานส์เห็นว่าทิมย้ายไปทํางานที่กรุงเทพฯ เป็นเวลานาน ไม่เคยกลับมาที่จังหวัดอ่างทองเป็นเวลา เกือบสิบปีแล้ว ฮานส์จึงได้ปลูกต้นมะม่วงซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุกว่าสามปีลงในที่ดินของทิม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทิมแต่อย่างใด ภายหลังต่อมาเมื่อต้นมะม่วงโตได้สองปี ทิมทราบว่าฮานส์ ได้ปลูกต้นมะม่วงกว่า 300 ต้น ในที่ดินของตน จึงห้ามไม่ให้ฮานส์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับต้นมะม่วง ที่ปลูกในที่ดินของทิมอีกต่อไป ฮานส์อ้างว่าถึงแม้ตนจะไม่ได้รับอนุญาตจากทิมก่อน แต่ต้นมะม่วง ที่อยู่ในที่ดินของทีมเพิ่งมีอายุเพียงสองปีเท่านั้น จึงยังไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และทิมสามารถถอนต้นมะม่วงไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นได้

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าฮานส์หรือทิมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วงที่พิพาทดีกว่ากัน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 144 “ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณี แห่งท้องถิ่นเป็นสาระสําคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทําลาย ทําให้บุบสลาย หรือทําให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น”

มาตรา 145 วรรคหนึ่ง “ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ฮานส์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสวนมะม่วงและอยู่ติดกับที่ดินว่างเปล่าของทิม ได้ปลูกต้นมะม่วงซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุกว่าสามปีซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นลงในที่ดินของทิมกว่า 300 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทิมแต่อย่างใดนั้น ต้นมะม่วงย่อมถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทิมเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าฮานส์ได้ปลูกต้นมะม่วงไว้เพียงสองปีก็ตาม ดังนั้น เมื่อทิมทราบจึงห้ามไม่ให้ฮานส์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับต้นมะม่วงที่ปลูกในที่ดินของทิมอีกต่อไป ฮานส์จะอ้างว่าถึงแม้ตนจะไม่ได้รับอนุญาตจากทิมก่อน แต่ต้นมะม่วงที่อยู่ในที่ดินของทีมเพิ่งมีอายุเพียงสองปีเท่านั้น จึงยังไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และทิมสามารถถอนต้นมะม่วงไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นได้นั้นย่อมไม่อาจอ้างได้

สรุป ทิมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วงที่พิพาทดีกว่าฮานส์

 

ข้อ 2 นายปุ่มซื้อนาฬิกามือสองเรือนหนึ่งในราคา 150,000 บาท จากร้านขายและรับซ่อมนาฬิกาของนายตึกเพื่อนสนิทที่เปิดทําการอยู่ริมถนนรามคําแหง โดยมาเลือกซื้อในวันหยุดของร้าน และเข้าไปเลือกสินค้ากันในห้องรับแขกหลังร้าน หลังจากซื้อมาใช้ได้ 1 เดือน นายอั้มผู้เป็นเจ้าของนาฬิกา ที่แท้จริงได้ติดต่อมาที่นายปุ่มขอให้นายปุ่มนํานาฬิกามาคืนให้ตน มิฉะนั้นจะถือว่านายปุ่มและนายตึกเจ้าของร้านขายนาฬิการ่วมกันกระทําผิดฐานรับของโจรเนื่องจากเป็นนาฬิกาที่ถูกขโมยมา

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายปุ่มจะต้องคืนนาฬิกาให้แก่นายอั้มหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือ จากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปุ่มได้ซื้อนาฬิกามือสองเรือนหนึ่งในราคา 150,000 บาท จากร้านขาย และรับซ่อมนาฬิกาของนายตึกเพื่อนสนิทที่เปิดทำการอยู่ริมถนนรามคําแหงนั้น ถือเป็นการซื้อสินค้าจากร้านที่ ประกอบกิจการขายสินค้าประเภทนาฬิกา ซึ่งอยู่ในความหมายของ “พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น” ตามนัยมาตรา 1332 แล้ว แต่อย่างไรก็ดี การที่นายปุ่มได้ไปซื้อนาฬิกาในวันที่ร้านหยุดและเข้าไปเลือกสินค้ากันในห้องรับแขก หลังร้านนั้น ย่อมถือว่าเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ดังนั้น นายปุ่มจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 นายปุ่ม จะอ้างมาตรา 1332 ขึ้นมาต่อสู้นายอั้มผู้เป็นเจ้าของนาฬิกาที่แท้จริงไม่ได้ นายปุ่มจึงต้องคืนนาฬิกาให้แก่นายอั้มโดยไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้ว่าตนไม่ต้องคืนจนกว่าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

สรุป นายปุ่มจะต้องคืนนาฬิกาให้แก่นายอั้ม

 

ข้อ 3 นายมืดและนายม้วนบุตรชายครอบครองปรปักษ์ทําเกษตรกรรมในที่ดินมีโฉนดในจังหวัดสุรินทร์ของนายสว่างมาได้ 5 ปี นายมืดก็ถึงแก่กรรม นายม้วนบุตรชายของนายมืดไม่สนใจที่จะทําเกษตรต่อ และอยากไปเปิดร้านอาหารที่จังหวัดเชียงใหม่ นายม้วนจึงไปเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่ตามที่ตั้งใจ เป็นเวลา 1 ปี โดยที่มิได้กลับมาดูแลที่ดินดังกล่าวเลย ต่อมาเศรษฐกิจตกต่ำและคู่แข่งร้านอาหาร มีมาก ร้านอาหารของนายม้วนขาดทุนจนต้องปิดกิจการ นายม้วนจึงคิดกลับมาทําเกษตรบนที่ดิน แปลงเดิมของนายสว่างต่อ เมื่อนายม้วนกลับมาปลูกข้าวบนที่ดินของนายสว่างไปได้เป็นเวลา 4 ปี นายสว่างทราบเรื่องจึงมาไล่นายม้วนออกจากที่ดินของตน นายม้วนไม่ยอมออกจากที่ดินของนายสว่าง จนเมื่อนายม้วนครอบครองที่ดินของนายสว่างโดยใช้ปลูกข้าวต่อไปอีก 1 ปี นายสว่าง จึงฟ้องขับไล่นายม้วน นายม้วนอ้างว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายสว่างเนื่องจากนายม้วนได้ครองครอบที่ดินของนายสว่างจนครบ 10 ปีแล้ว

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายม้วนจะอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายสว่างขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับนายสว่างได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมืดและนายม้วนบุตรชายครอบครองปรปักษ์ทำเกษตรกรรมในที่ดิน มีโฉนดในจังหวัดสุรินทร์ของนายสว่างมาได้ 5 ปีนั้น ถือว่านายมืดและนายม้วนเป็นผู้ครอบครองที่ดินของผู้อื่น โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เพียง 5 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 และเมื่อนายมืดถึงแก่กรรม นายม้วนบุตรชายของนายมืดไม่สนใจที่จะทําเกษตรต่อ จึงได้ไปเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่เป็นเวลา 1 ปี โดยมิได้กลับมาดูแลที่ดินดังกล่าวเลย ย่อมถือว่านายม้วนมีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิการครอบครองของนายม้วนจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1384

เมื่อนายม้วนกลับมาปลูกข้าวบนที่ดินของนายสว่างใหม่อีกครั้งจึงต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ และเมื่อปรากฏว่านายม้วนได้ครอบครองที่ดินในครั้งหลังนี้ได้เพียง 4 ปี ก็ถูกนายสว่างเจ้าของที่ดินมาไล่ แต่นายม้วนไม่ยอมออกจากที่ดินของนายสว่าง กรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนายม้วนครอบครองที่ดินของนายสว่างโดยใช้ปลูกข้าวต่อไปอีก 1 ปี รวมเป็นเวลา 5 ปี นายสว่างก็ฟ้องขับไล่ นายม้วน ดังนี้เมื่อนายม้วนได้ครอบครองที่ดินของนายสว่างได้เพียง 5 ปี นายม้วนจะอ้างว่าตนได้ครองครอบปรปักษ์ ที่ดินของนายสว่างครบ 10 ปีแล้ว และได้กรรมสิทธิ์ที่ดินของนายสว่างแล้วขึ้นต่อสู้นายสว่างไม่ได้

สรุป

นายม้วนจะอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายสว่างขึ้นเป็น ข้อต่อสู้นายสว่างไม่ได้

 

ข้อ 4 ลิซ่าเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของมินนี่ปลูกบ้านอยู่ โดยลิซ่าได้ใช้ทางผ่านที่ดินของซูซี่เพื่อนสนิทของตน ซึ่งมีที่ดินติดกันกับที่ดินของมินนี่เพื่อเดินไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ และยังใช้ทางเดินรถที่อยู่ใน ที่ดินของซูซี่เป็นทางผ่านในการขับรถออกไปทำงานด้วย โดยซูซี่อนุญาตให้ลิซ่าใช้ที่ดินของตน เพื่อการดังกล่าวได้ เมื่อลิซ่าใช้ที่ดินไปได้ 12 ปี ซูซี่ต้องการย้ายทางเดินรถให้ไปอยู่อีกฟากหนึ่ง ของที่ดินซึ่งจะทำให้ลิซ่าต้องใช้เวลานานขึ้นในการผ่านที่ดินของซูซี่ออกไปสู่ถนน

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าลิซ่าจะอ้างได้หรือไม่ว่าตนเองได้ภาระจํายอมโดยอายุความแล้ว และการย้ายทางเดินรถของซูซี่ทําให้ลิซ่าได้รับความสะดวกลดลง ซูซี่จึงมิอาจกระทําได้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1392 “ถ้าภาระจํายอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียก ให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ์นี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตาม มาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็น เวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลิซ่าเช่าที่ดินของมินนี่ปลูกบ้านอยู่ โดยลิซ่าได้ใช้ทางผ่านที่ดินของซูซี่ เพื่อนสนิทของตนเพื่อเดินไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อและใช้ทางเดินรถที่อยู่ในที่ดินของซูซี่เป็นทางผ่านในการขับรถ ออกไปทํางานโดยซูซี่อนุญาตนั้น ถึงแม้ว่าลิซ่าจะได้ใช้ที่ดินไปได้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี แต่ลิซ่าก็ไม่ได้ภาระจํายอม โดยการครอบครองปรปักษ์เพราะเป็นการใช้ทางโดยเจ้าของอนุญาตตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401 และมาตรา 1382 และเมื่อลิซ่าไม่ได้ภาระจํายอม ดังนั้น ซูซี่จึงสามารถย้ายทางเดินรถให้ไปอยู่อีกฟากหนึ่งของ ที่ดินได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคํานึงว่าลิซ่าจะได้รับความสะดวกน้อยลงหรือไม่ตามมาตรา 1392

สรุป

ลิซ่าจะอ้างว่าตนเองได้ภาระจํายอมโดยอายุความแล้ว และการย้ายทางเดินรถของซูซี่ทําให้ ลิซ่าได้รับความสะดวกลดลง ซูซี่มิอาจกระทําได้นั้นไม่ได้

LAW2101 (LAW 2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW 2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเอกใช้สิทธิฟ้องขับไล่นายโทออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายเอกกับนายโททําสัญญาประนีประนอมยอมความกันความว่า หากนายโทได้ปฏิบัติ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชําระเงินให้แก่นายเอกครบถ้วนแล้ว โดยผลแห่งข้อกําหนด ตามสัญญาระหว่างนายเอกและนายโทที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ย่อมตกเป็นของนายโท ศาล พิพากษาตามยอม ดังนี้ เมื่อนายโทชําระเงินให้แก่นายเอกครบแล้ว นายโทจะมีสิทธิเข้ายึดถือ ครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทได้หรือไม่ และนายโทจะมีสิทธิเรียกร้องให้นายเอก จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นายโทเพื่อให้บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทําเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้ จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อ บุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกใช้สิทธิฟ้องขับไล่นายโทออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายเอกกับนายโททําสัญญาประนีประนอมยอมความกันความว่า หากนายโท ได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชําระเงินให้แก่นายเอกครบถ้วนแล้ว โดยผลแห่งข้อกําหนดตามสัญญาระหว่างนายเอกและนายโทที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ย่อมตกเป็นของนายโทและศาลพิพากษาตามยอมนั้น เมื่อนายโทได้ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชําระเงินให้นายเอกครบถ้วนแล้ว ที่ดินย่อมตกเป็นของนายโท และถือเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมตาม มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง

และโดยผลแห่งนิติกรรมนี้แม้จะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หามีผลทําให้นิติกรรมการได้มาดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด เพียงแต่ทําให้การได้มาของนายโท ไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิเท่านั้น แต่ในระหว่างคู่กรณีย่อมมีผลผูกพันกันในฐานะบุคคลสิทธิ ทําให้นายโทมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินยันนายเอกได้

และเมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์คือโฉนดที่ดิน นายโทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้นายเอกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนเพื่อให้บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้

สรุป นายโทมีสิทธิเข้ายึดถือครอบครองใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาท และมีสิทธิเรียกร้องให้นายเอกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ตนเพื่อให้บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้

 

ข้อ 2 เอกเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คันหนึ่งจากร้านขายรถจักรยานยนต์ของโทที่เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์ มา 5 ปีแล้ว โดยตกลงผ่อนค่าเช่าซื้อ 30 งวด และงวดสุดท้ายจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์แก่ผู้เช่าซื้อ หลังจากที่เอกนํารถมาใช้และจ่ายค่าเช่าซื้อได้ 6 งวด ตรีผู้เป็นเจ้าของรถที่แท้จริงพบว่าเอกครอบครองรถจักรยานยนต์ของตนเองอยู่จึงขอให้เอกส่งคืนรถแก่ตน เอกต่อสู้ว่าเอกไม่ต้องคืนรถแก่ตรี เว้นแต่ ตรีจะจ่ายเงินค่าเช่าซื้อรถ 6 งวดคืนแก่เอกก่อน แต่ตรีอ้างว่าเอกทําสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มาไม่ใช่บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมา จึงไม่สามารถต่อรองให้ตรีชําระราคารถมอเตอร์ไซค์ได้ ดังนี้ ให้ท่าน วินิจฉัยว่าจากข้อต่อสู้ของเอกและตรี ผู้ใดถูกต้องและมีสิทธิในรถจักรยานยนต์คันนี้ดีกว่ากัน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากร้านขายรถจักรยานยนต์ของโทซึ่ง เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์มา 5 ปีแล้ว โดยตกลงผ่อนค่าเช่าซื้อ 30 งวด และงวดสุดท้ายจะโอนกรรมสิทธิ์ ในรถยนต์แก่ผู้เช่าซื้อนั้น เมื่อปรากฏว่าเอกได้นํารถมาใช้และได้จ่ายค่าเช่าซื้อไปเพียง 6 งวดเท่านั้น จึงยังไม่ถือ ว่าเอกได้รถจักรยานยนต์มาจากการซื้อทรัพย์สินตามนัยมาตรา 1332 เอกจึงไม่สามารถยกมาตรา 1332 ขึ้นมา เป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ตรีชดใช้ค่าเช่าซื้อรถ 6 งวดคืนแก่ตนได้ ดังนั้น ข้ออ้างของตรีที่ว่าเอกทําสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มา จึงไม่ใช่บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาจึงถูกต้อง เอกจึงต้องคืนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวให้แก่ตรี ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง

สรุป

ข้อต่อสู้ของตรีถูกต้องและตรีมีสิทธิในรถจักรยานยนต์ดีกว่าเอก

 

ข้อ 3 เต่าเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของวาฬซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ใด ๆ วันหนึ่งเต่าได้ล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ดินของวาฬโดยวาฬไม่รับทราบแต่เต่ามิได้เข้าครอบครองทําประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินของวาฬ อีก 10 ปีต่อมาเมื่อวาฬเข้ามาสํารวจที่ดินแล้วเห็นว่าเต่าได้ล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้ามาในที่ดินนั้น วาฬจึงบอกกล่าวให้เต่ารื้อถอนรั้วลวดหนามออกจากที่ดินของตน แต่เต่าอ้างว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่มีการล้อมรั้วลวดหนาม โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬแล้ว

ให้ท่านวินิจฉัยว่าเต่าจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการ ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬขึ้นต่อสู้กับวาฬได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เต่าเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งของวาฬซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใด ๆ และเต่าได้ล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ดินของวาฬโดยวาฬ ไม่รับทราบนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เต่ามิได้เข้าครอบครองทําประโยชน์อย่างอื่นอีกแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเต่าเข้าครอบครองที่ดินของวาฬด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ดังนั้น แม้เต่าจะล้อมรั้วลวดหนามรุกล้ำเข้าไป ในที่ดินของวาฬติดต่อกันนานถึง 10 ปีแล้วก็ตาม เต่าก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่มีการล้อมรั้วลวดหนามโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬตามมาตรา 1382 แต่อย่างใด เต่าจึงไม่สามารถอ้างการได้กรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬขึ้นต่อสู้กับวาฬได้

สรุป

เต่าจะอ้างการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของวาฬขึ้นต่อสู้กับวาฬไม่ได้

 

ข้อ 4 นายหนึ่งเดินผ่านที่ดินของนายสองออกสู่ทางสาธารณะในลักษณะปรปักษ์ต่อนายสองเจ้าของที่ดิน เพื่อให้ได้ภาระจํายอม ถึงแม้ว่านายสองจะห้ามมิให้นายหนึ่งเดินผ่าน นายหนึ่งก็ยังคงเดินต่อไป อย่างเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 14 ปี หลังจากที่นายหนึ่งยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อให้ตนได้มา ซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความแล้ว นายสองได้โต้แย้งอ้างว่าที่ดินของนายสองไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีโฉนดที่ดินเมื่อเป็นเพียงที่ดินมือเปล่า นายหนึ่งจึงไม่อาจได้ไปซึ่งภาระจํายอมในที่ดินนี้ได้ ดังนี้ ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังได้หรือไม่ ท่านในฐานะผู้พิพากษาจะวินิจฉัยคดีนี้เช่นไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

การได้ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตาม มาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็น เวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเดินผ่านที่ดินของนายสองออกสู่ทางสาธารณะในลักษณะปรปักษ์ต่อนายสองเจ้าของที่ดินเพื่อให้ได้ภาระจํายอม ถึงแม้ว่านายสองจะห้ามมิให้นายหนึ่งเดินผ่าน แต่นายหนึ่งก็ยังคงเดินต่อไปอย่างเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 14 ปีนั้น นายหนึ่งย่อมได้ภาระจํายอมบนที่ดินของนายสอง โดยอายุความแล้วตามมาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382 ดังนั้น นายหนึ่งย่อมมีสิทธิยื่นคําร้องขอต่อศาล เพื่อให้ตนได้มาซึ่งภาระจํายอมโดยอายุความได้

ส่วนการที่นายสองได้โต้แย้งว่าที่ดินของนายสองไม่ใช่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือมีโฉนดที่ดินเป็นเพียงที่ดินมือเปล่า นายหนึ่งจึงไม่อาจได้ไปซึ่งภาระจํายอมในที่ดินนี้ได้นั้น ข้อกล่าวอ้างของนายสองดังกล่าวย่อมรับฟัง ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งภาระจํายอมตามมาตรา 1387 นั้น ไม่ใช่กรณีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ที่ดินภารยทรัพย์จึงอาจเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือที่ดินมือเปล่าก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกับการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 ที่ที่ดินภารยทรัพย์ต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น (คําพิพากษา ฎีกาที่ 1568/2505)

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาในคดีนี้จะวินิจฉัยว่า นายหนึ่งย่อมได้ไปซึ่งภาระจํายอมในที่ดินของนายสอง ข้อกล่าวอ้างของนายสองรับฟังไม่ได้

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1103 (LAW 1003) ป.พ.พ.ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเอกและนายโทต้องการซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง ทั้งคู่ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แปลงดังกล่าวที่สํานักงานที่ดิน แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถดําเนินการได้ เนื่องจากที่ดินอยู่ภายใน กําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้รัฐบาลมีอํานาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพ เป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตามพระราชบัญญัตินี้” และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ภายในกําหนด ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ด้วยเหตุนี้ ในวันเดียวกัน นายเอกและนายโทจึงตกลงทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินโดยทําเป็นหนังสือยึดไว้คนละฉบับ และไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากสัญญาประเภทนี้ไม่มีแบบบังคับให้ต้องจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด สัญญาเช่าซื้อมีข้อความตอนหนึ่งระบุถึงเงื่อนไขว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันเมื่อนายเอกได้ชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างนายเอกและนายโทมีวัตถุประสงค์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อนายเอกได้ชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว นายเอกจะยกสัญญาเข้าซื้อเพื่อบังคับนายโทให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในการตกลงทํานิติกรรมกันนั้น วัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้น จะต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จะต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย และจะต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้านิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทต้องการซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง แต่เมื่อทั้งคู่ได้ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวที่สํานักงานที่ดิน ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถดําเนินการได้ เนื่องจากที่ดินอยู่ภายในกําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ทั้งสองจึงได้ตกลงทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินโดยทําเป็นหนังสือยึดไว้คนละฉบับและไม่ได้จดทะเบียนต่อหนักงานเจ้าหน้าที่ และในสัญญามีข้อความตอนหนึ่งระบุถึงเงื่อนไขว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันเมื่อนายเอกชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายนั้น ย่อมถือว่าการกระทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวของนายเอกและนายโทในขณะที่อยู่ภายในกําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ซึ่งตามลักษณะของสัญญาก่อให้เกิดสิทธิ เรียกร้องในอันที่จะบังคับให้นายโทจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และเสียสิทธิการครอบครองที่ดิน ซึ่งขัดกับ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นเคหสถานและประกอบอาชีพ และตามพฤติการณ์ของนายเอกและนายโทก่อนทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินได้ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ไม่สามารถดําเนินการได้ เนื่องจากมีข้อห้ามโอนนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสองได้ทํานิติกรรมโดยมีเจตนาต้องการโอนที่ดินกัน แม้จะมีเงื่อนไขให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วน อันเป็นระยะเวลาภายหลังพ้นกําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายก็ตาม การกระทําของทั้งคู่ถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกําหนดห้ามโอนตามกฎหมาย

ดังนั้น นิติกรรมในรูปสัญญาเช่าซื้อของนายเอกและนายโท จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายและมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 150

และเมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างนายเอกและนายโทเป็นโมฆะ ดังนั้น เมื่อนายเอกชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว นายเอกจะยกเอาสัญญาเช่าซื้อขึ้นมาเพื่อบังคับให้นายโทโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ตนไม่ได้

สรุป สัญญาเช่าซื้อระหว่างนายเอกและนายโทมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และ มีผลเป็นโมฆะ นายเอกจะยกสัญญาเช่าซื้อขึ้นเพื่อบังคับนายโทให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ตนไม่ได้

 

ข้อ 2 นายจันทร์ทําสัญญาร่วมทุนกับนายอังคาร แต่เนื้อหาของสัญญาเป็นเรื่องเช่าทรัพย์อยากทราบว่าเป็นนิติกรรมอําพรางหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 155 กรณีที่จะเป็นนิติกรรมอําพรางนั้นจะต้องมีนิติกรรมที่คู่กรณีได้แสดง เจตนาทําขึ้นมา 2 นิติกรรม ได้แก่

นิติกรรมอันที่ 1 เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีได้ทําขึ้นมาและต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย แต่ได้ปิดบังหรืออําพรางไว้ไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นทราบ

นิติกรรมอันที่ 2 เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีได้ทําขึ้นมา แต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย เพียงแต่ทําขึ้นมาโดยเจตนาเพื่อลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าคู่กรณีได้ทํานิติกรรมอันนี้กัน ซึ่งนิติกรรมอันหลังนี้ตามกฎหมายถือว่าเป็นโมฆะ และให้คู่กรณีบังคับกันตามนิติกรรมอันแรกซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอําพราง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ทําสัญญาร่วมทุนกับนายอังคาร แต่เนื้อหาของสัญญาเป็นเรื่องเช่าทรัพย์นั้น เป็นกรณีที่นายจันทร์กับนายอังคารได้ทํานิติกรรมขึ้นมาเพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน เพียงแต่สัญญาร่วมทุนดังกล่าวมีเนื้อหาของสัญญาเป็นเรื่องเข่าทรัพย์ซึ่งไม่ตรงกับชื่อของสัญญาเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการเป็นนิติกรรมอําพรางตามมาตรา 150

สรุป

สัญญาร่วมทุนที่ทําขึ้นระหว่างนายจันทร์และนายอังคารไม่เป็นนิติกรรมอําพราง

 

ข้อ 3 นายมานะได้ทําสัญญากู้เงินนางมานี จํานวน 1 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 มีกําหนด ชําระหนี้คืนภายใน 2 ปี และนายมานะได้นําที่ดินหนึ่งแปลงไปจดทะเบียนจํานองเป็นประกันการชําระหนี้

ดังนี้ อยากทราบว่านายมานะจะต้องนําเงินจํานวน 1 แสนบาท ไปชําระหนี้ให้แก่นางมานีเมื่อใดจงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากําหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทําการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กําหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือน หรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะได้ทําสัญญากู้เงินนางมานีจํานวน 1 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 มีกําหนดชําระคืนภายใน 2 ปีนั้น ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง การเริ่มต้นนับระยะเวลา มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน แต่ให้นับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ดังนั้น วันที่ 20 สิงหาคม 2564 จึงเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา

และเมื่อวันเริ่มต้นคือวันที่ 20 สิงหาคม 2564 มิใช่วันต้นแห่งปี ดังนั้น ระยะเวลา 2 ปี ย่อมสิ้นสุดลง ในวันก่อนหน้าจะถึงปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นคือวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง นายมานะจึงต้องนําเงินจํานวน 1 แสนบาท ไปชําระหนี้ให้แก่นางมานี้ภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2566

สรุป นายมานะจะต้องนําเงินจํานวน 1 แสนบาท ไปชําระหนี้ให้แก่นางมานี ภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2566

 

ข้อ 4 นายฟ้าลั่นตกลงซื้อที่ดิน 3 ไร่ จากนายสมชาย เป็นเงิน 10,000,000 บาท โดยนายฟ้าลั่นและนายสมชายได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันและตกลงไปโอนกรรมสิทธิ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยังได้กําหนดว่า หากนายสมชายไม่อาจจะขายที่ดินให้แก่นายฟ้าลั่นได้เพราะความผิดของนายสมชายไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นายสมชายจะต้องชําระค่าปรับ ให้แก่นายฟ้าลั่นเป็นเงิน 500,000 บาท ปรากฏว่าก่อนถึงวันครบกําหนดโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 2 เดือน ทางภาครัฐได้เวนคืนที่ดินของนายสมชายทั้งแปลง เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของโครงการ ทางด่วนใหม่ที่จะมีการก่อสร้างขึ้น ต่อมาเมื่อถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ นายสมชายไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินให้แก่นายฟ้าลั่นได้ นายฟ้าลั่นจึงเรียกร้องให้นายสมชายชําระค่าปรับ 500,000 บาท จากเหตุที่นายสมชายไม่อาจขายที่ดินให้แก่ตนได้

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายสมชายต้องชําระค่าปรับแก่นายฟ้าลั่นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่ง เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

มาตรา 372 วรรคหนึ่ง “นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชําระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชําระหนี้ตอบแทนไม่”

วินิจฉัย

มาตรา 372 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า ถ้าการชําระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชําระหนี้ได้ ลูกหนี้ก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชําระหนี้ตอบแทน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟ้าลั่นตกลงซื้อที่ดิน 3 ไร่ จากนายสมชายเป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยนายฟ้าลั่นและนายสมชายได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน และตกลงไปโอนกรรมสิทธิ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าและในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยังได้กําหนดว่าหากนายสมชายไม่อาจขายที่ดินแก่นายฟ้าลั่นได้เพราะความผิดของนายสมชายไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นายสมชายจะต้องชําระค่าปรับให้แก่นายฟ้าลั่น เป็นเงิน 5 แสนบาทนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายฟ้าลั่นและนายสมชายถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจํานวนเนื้อที่ที่จะซื้อสําหรับนายฟ้าลั่น และการรับชําระค่าที่ดินสําหรับนายสมชาย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนถึงวันกําหนดโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินประมาณ 2 เดือน ทางภาครัฐ ได้เวนคืนที่ดินของนายสมชายทั้งแปลงเนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของโครงการทางด่วนใหม่ที่จะมีการก่อสร้างขึ้น ทําให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งนายสมชายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายสมชายลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้นตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง และกรณีดังกล่าวถือได้ว่า การชําระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ตามมาตรา 372 วรรคหนึ่งด้วย ดังนั้น ในกรณีนี้นายสมชาย จะขอรับชําระค่าที่ดินไม่ได้ และนายฟ้าลั่นก็ไม่อาจจะเรียกค่าปรับจํานวน 5 แสนบาท จากนายสมชายได้ เช่นเดียวกัน เนื่องจากการชําระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยดังกล่าวนั้นเป็นเหตุให้นายสมชายไม่ต้องรับผิดชอบ

สรุป

นายสมชายไม่ต้องชําระค่าปรับแก่นายฟ้าลั่นด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

1 นายมานะได้ทําสัญญาเช่าที่ดินจากนางมานีมีกําหนดเวลา 10 ปี โดยสัญญาเช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่า เมื่อครบกําหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่านั้นให้ผู้เช่าอีก 10 ปี ตามสัญญาเช่าเดิมถ้าผู้เช่าต้องการ ต่อมาอีก 1 เดือนก่อนที่สัญญาเช่าจะครบกําหนด 10 ปี นางมานีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ซึ่งนายมานะก็รู้ว่านางมานีผู้ให้เช่านั้นตาย นายมานะจึงส่งจดหมายแจ้งความประสงค์เช่าที่ดินดังกล่าวนั้นต่อนางสาวชูใจทายาทของนางมานี เมื่อนางสาวชูใจได้รับจดหมายก็ได้ปฏิเสธในการให้นายมานะเช่าที่ดินดังกล่าวต่อ โดยบอกว่าคํามั่นในการให้เช่าของนางมานีนั้นไม่มีผลผูกพันแล้ว เนื่องจากก่อนที่นายมานะจะส่งจดหมายมาหา นางสาวชูใจนั้น นายมานะรู้อยู่แล้วว่านางมานีตาย ส่วนนายมานะก็ได้โต้แย้งว่ามีผลผูกพันต่อทายาทนางสาวชูใจต้องให้นายมานะเช่าต่อ

จงวินิจฉัยว่า นางสาวชูใจซึ่งเป็นทายาทของนางมานีต้องจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าอีก 10 ปี ให้นายมานะหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง “การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดง เจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ”

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนา อันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทํานิติกรรมนั้น เมื่อผู้แสดงเจตนา ได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนานั้นก็ไม่เสื่อมเสียไป (มาตรา 169 วรรคสอง) เว้นแต่จะขัดกับเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดง หรือหากก่อนมีการสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 360)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะได้ทําสัญญาเช่าที่ดินจากนางมานี้มีกําหนด 10 ปี โดยสัญญา เช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่าเมื่อครบกําหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่านั้นให้ผู้เช่า อีก 10 ปี ตามสัญญาเช่าเดิมถ้าผู้เช่าต้องการนั้น ถือเป็นการแสดงเจตนาในลักษณะคํามั่นจะให้เช่าของนางมานี ซึ่งถือเป็นคําเสนอของนางมานี้ผู้ใช้เช่า

เมื่อต่อมาอีก 1 เดือนก่อนสัญญาเช่าจะครบกําหนด 10 ปี และก่อนที่นายมานะจะทําคําสนองตอบ ต่อคํามั่นจะให้เช่าของนางมานีนั้น นางมานีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ซึ่งนายมานะก็รู้ว่านางมานีผู้ให้เช่าตาย

กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 360 ซึ่งมิให้นํามาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ จึงมีผลทําให้การแสดงเจตนาคือการให้คํามั่นจะให้เช่าของนางมานีเสื่อมเสียไป คํามั่นจะให้เช่าของนางมานีจึงไม่มีผลใช้บังคับ และเมื่อ นายมานะได้ส่งจดหมายแจ้งความประสงค์จะเช่าที่ดินดังกล่าวนั้นต่อนางสาวชูใจทายาทนางมานีจึงถือว่ามีแต่เพียงคําสนองของนายมานะแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้มีคําเสนอ เนื่องจากคําเสนอหรือคํามั่นจะให้เช่านั้นได้สิ้นผลไปแล้ว เมื่อนางมานีผู้แสดงเจตนาตาย ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่มีผลผูกพันนางสาวชูใจซึ่งเป็นทายาทของนางมานีแต่อย่างใด นางสาวชูใจจึงไม่ต้องจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าอีก 10 ปีให้นายมานะ

สรุป นางสาวชูใจซึ่งเป็นทายาทของนางมานี้ไม่ต้องจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าอีก 10 ปี ให้นายมานะ

 

ข้อ 2 นายเอกทําสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อจะดําเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โดยนายเอก ไม่ทราบเลยว่าที่ดินที่ตนซื้อไปนั้นอยู่ในเขตประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ภายหลังจากที่นายเอกซื้อที่ดินได้ไม่นาน นายเอกได้ยื่นขออนุญาตจากทางราชการ เพื่อทําการก่อสร้างโรงงานของตน แต่ทางราชการกลับแจ้งเป็นหนังสือให้ทราบว่านายเอก ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง เนื่องจากที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นายเอก รู้สึกหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะหากได้ทราบว่าที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นายเอกคงไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเลย

เช่นนี้ อยากทราบว่าสัญญาซื้อขายที่ดินมีผลทางกฎหมายเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ ความสําคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสําคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสําคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสําคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทําขึ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญาซื้อที่ดินเพื่อจะดําเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษโดยไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม

ถือว่านายเอกได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นสาระสําคัญ เพราะถ้านายเอก มิได้สําคัญผิด คือทราบความจริงดังกล่าว นายเอกก็คงจะไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดิน ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 ซึ่งนายเอกสามารถบอกล้างได้ และเมื่อนายเอกได้บอกล้างแล้ว สัญญาซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรก

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ เพราะนายเอกได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นสาระสําคัญตามมาตรา 157

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นายสมชายได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ 1 คัน จากบริษัท ไทยรถเช่า จํากัด เพื่อไปท่องเที่ยวที่จังหวัดสงขลาเป็นเวลา 20 วัน โดยตกลงค่าเช่าวันละ 4,000 บาท นายสมชาย ต้องนํารถยนต์มาคืนในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 พร้อมทั้งชําระเงินจํานวน 80,000 บาท หลังจากนายสมชายกลับมาจากจังหวัดสงขลาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 แล้ว นายสมชาย ไม่ยอมชําระค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ โดยอ้างว่ายังไม่มีเงินแล้วจะนํามาชําระให้ในภายหลัง ทางบริษัทฯ ได้ทวงถามเรื่อยมาจนกระทั้งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษจะครบกําหนด อายุความ 2 ปี นายสมชายได้นําเงินไปชําระให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจํานวน 8,000 บาท หลังจากนั้น ก็ไม่นํามาชําระให้อีกเลย จนกระทั้งวันที่ 1 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ ได้นําคดีมาฟ้องศาล นายสมชายต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว

อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายสมชายฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกําหนดอายุความ 2 ปี

(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการเช่าอสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ เมื่อเหตุที่ทําให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ 1 คัน จากบริษัท ไทยรถเช่า จํากัด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นเวลา 20 วัน โดยตกลงค่าเช่าวันละ 4,000 บาท เป็นจํานวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งนายสมชายต้องนํารถยนต์มาคืนในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 พร้อมทั้งชําระเงินจํานวน 80,000 บาท แต่เมื่อหนี้ถึงกําหนด นายสมชายไม่ได้นําเงินมาชําระ ดังนี้อายุความ 2 ปี จึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ตามาตรา 193/12 และจะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555

การที่นายสมชายได้นําเงินบางส่วนไปชําระหนี้ให้แก่บริษัท ไทยรถเช่า จํากัด เป็นจํานวนเงิน 8,000 บาท ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษจะครบกําหนดอายุความ 2 ปีนั้น การกระทําของนายสมชายลูกหนี้ดังกล่าวย่อมถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) ดังนั้น อายุความ 2 ปี จึงต้องเริ่มต้นนับใหม่ คือต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ตามมาตรา 193/15 และ จะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ไทยรถเช่า จํากัด ได้นําคดีมาฟ้องนายสมชาย ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จึงเป็นการฟ้องในขณะที่คดียังไม่ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องคดีไม่เกินวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566

การที่นายสมชายต่อสู่ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ข้อต่อสู้ของนายสมชายจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของนายสมชายที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายเอกทําจดหมายเสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายโทในราคา 2,000,000 บาทโดยข้อความตอนหนึ่งในจดหมายระบุว่า หากนายโทมีความประสงค์จะซื้อที่ดินตามคําเสนอนี้ ให้ตอบกลับมาภายใน 60 วัน เมื่อนายโทได้รับจดหมายแล้วจึงรีบโทรศัพท์ตอบกลับมายังนายเอก ความว่า นายโทตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่นายเอกได้เสนอขายมา แต่ขอลดราคาลงเหลือเพียง 900,000 บาท

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การตอบรับของนายโทภายในกําหนด 60 วันนั้น เป็นคําเสนอขึ้นใหม่หรือไม่ และสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายเอกและนายโทเกิดขึ้นแล้วหรือยัง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 357 “คําเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากําหนด ดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คําเสนอนั้น ท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป”

มาตรา 359 วรรคสอง “คําสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจํากัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่น ประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคําบอกปัดไม่รับทั้งเป็นคําเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ทําจดหมายเสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายโท ในราคา 2,000,000 บาท โดยมีข้อความตอนหนึ่งในจดหมายระบุว่า หากนายโทมีความประสงค์จะซื้อที่ดินตามคําเสนอนี้ให้ตอบกลับมาภายใน 60 วันนั้น ถือเป็นคําเสนอ และเมื่อนายโทได้รับจดหมายแล้ว จึงรีบโทรศัพท์ ตอบกลับมายังนายเอกว่า นายโทตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่นายเอกได้เสนอขายมา แต่ขอลดราคาลงเหลือเพียง 900,000 บาท ไม่เต็มตามราคาที่นายเอกเสนอนั้น ถือเป็นคําสนองที่มีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย จึงถือเป็นคําบอกปัดไม่รับคําเสนอของนายเอก ทําให้คําเสนอของนายเอกเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป และให้ถือว่าคําสนองดังกล่าวของนายโทเป็นคําเสนอขึ้นใหม่ด้วย ตามมาตรา359 วรรคสอง ประกอบมาตรา 357 ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายเอกและนายโทจึงยังไม่เกิดขึ้น สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายเอก และนายโทจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายเอกได้สนองรับคําเสนอขึ้นใหม่ของนายโทแล้ว

สรุป

การตอบรับของนายโทภายในกําหนด 60 วันนั้น เป็นคําเสนอขึ้นใหม่ และสัญญาจะซื้อจะขาย ระหว่างนายเอกและนายโทยังไม่เกิดขึ้น โดยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายเอกได้สนองรับคําเสนอขึ้นใหม่ของนายโทแล้ว

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายแดงทําสัญญาว่าจ้างนายดําให้ไปทําร้ายร่างกายนายเขียวซึ่งเป็นคู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท นายดําเกรงว่านายแดงจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลงกับนายแดง ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่ นายแดงและนายดําทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้นปรากฏภายหลังจากที่นายดําไปทําร้ายร่างกายนายเขียวแล้ว นายแดงกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายดําแต่อย่างใด ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดําสามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงทําสัญญาว่าจ้างนายดําให้ไปทําร้ายร่างกายนายเขียวซึ่งเป็นคู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท และนายดําเกรงว่านายแดงจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลงกับนายแดงให้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับหนึ่ง เพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่นายแดงและนายดําทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นกรณีของการทํานิติกรรมอําพรางตาม มาตรา 155 วรรคสอง กล่าวคือ ระหว่างนายแดงและนายดํานั้น ได้มีการทํานิติกรรมกัน 2 ฉบับ คือ สัญญาจ้าง และสัญญากู้ยืมเงิน

สัญญากู้ยืมเงินที่นายแดงและนายดําได้ทําขึ้นนั้น เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นนิติกรรมที่ทําขึ้นเพื่อต้องการปิดบังหรืออําพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งคือสัญญาว่าจ้าง ให้ทําร้ายร่างกายนายเขียว ดังนั้น นิติกรรมในรูปสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง โดยการสมรู้ร่วมคิดกันในระหว่างคู่กรณี และมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องนํานิติกรรมที่ถูก อําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายมาใช้บังคับระหว่างคู่กรณีตามมาตรา 155 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนิติกรรมที่ถูกอําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายนายเขียวนั้น ถือว่าเป็น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า นายดําได้ไปทําร้ายร่างกายนายเขียวแล้ว แต่นายแดงกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายดําตามสัญญาฯ นายดํา ก็ไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญาใด ๆ ได้เลย

สรุป นายดําไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้

 

ข้อ 2 นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลังหรือไม่จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 172 วรรคสอง “ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นําบทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “โมฆยกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นิติกรรมที่เป็นโมฆะจะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลัง ดังนี้ คือ

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ทําให้บุคคลใดหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิม เสมือนว่ามิได้เข้าทํานิติกรรมแต่ประการใดเลย

และในกรณีที่ต้องมีการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คู่กรณีฝ่ายที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เขาไปนั้น ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้

ตัวอย่าง ก. และ ข. ได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่งในราคา 100,000 บาท โดยทั้งสองได้ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ข. ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้กระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ดังนี้ ก. จะบังคับให้ ข. ส่งมอบที่ดินหรือ โอนที่ดินให้แก่ ก. ไม่ได้ และ ข. ก็จะบังคับให้ ก. ชําระราคาค่าซื้อขายที่ดินให้แก่ ข. ไม่ได้เช่นกัน

ในกรณีที่ ก. ได้ชําระราคาค่าที่ดินให้แก่ ข. แล้ว ดังนี้ ก. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ข. คืนเงินให้แก่ตนได้ หรือถ้า ข. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ ก. แล้ว ข. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินคืนจาก ก. ได้ โดยอาศัยหลักกฎหมาย ว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ เป็นนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอกล้าง ให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเสียเปล่าได้

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เมื่อมีการบอกล้างแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และ ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ต้องมีการคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ เช่น ทรัพย์สินที่จะต้องส่งคืนนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ฝ่ายที่ต้องส่งคืนนั้น ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินนั้น

ตัวอย่าง ก. ทํากลฉ้อฉลเอาแหวนทองเหลืองมาหลอกขายให้ ข. โดยหลอกลวงว่าเป็นแหวนทองคํา เมื่อ ข. รู้ความจริงจึงบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่เป็นโมฆยะ ดังนี้ ก. ก็ต้องใช้เงินราคาแหวนที่รับไปคืนให้ ข. และ ข. ก็ต้องคืนแหวนทองเหลืองให้ ก. หรือถ้าคืนไม่ได้ เช่น เป็นเพราะแหวนทองเหลืองนั้นสูญหายไปแล้ว ดังนี้ ข. ก็ต้องชดใช้ราคาแหวนทองเหลืองนั้นให้แก่ ก. ตามราคาของแหวนทองเหลือง

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2551 นายสมชายได้ทําสัญญากู้เงินจากนายสมปองจํานวน 1,000,000 บาท โดยมีนายสมคิดเป็นผู้ค้ำประกัน หนี้รายนี้มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 9 มีนาคม 2552 เมื่อหนี้ ถึงกําหนดชําระนายสมชายไม่มีเงินมาชําระหนี้ ซึ่งนายสมปองได้ติดตามทวงถามตลอดมาเป็นเวลา หลายปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 นายสมชายได้รับมรดกจากมารดา นายสมชายจึงได้นํา เงินไปชําระให้แก่นายสมปองจํานวน 500,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว อีกทั้งนายสมชายได้เขียนหนังสือให้แก่นายสมปองไว้หนึ่งฉบับมีข้อความว่า นายสมชายยอมรับว่า ตนเป็นหนี้จริง แต่จะขอนําเงินส่วนที่เหลือมาชําระให้แก่นายสมปองอีก 500,000 บาท ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ครั้นถึงกําหนดวันชําระหนี้นายสมชายก็ไม่ยอมนําเงินมาชําระหนี้ให้นายสมปองอีก ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) ถ้านายสมชายทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว นายสมชายจะเรียกเงินที่ ชําระไปแล้ว 500,000 บาท คืนจากนายสมปองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) การที่นายสมชายไม่นําเงินมาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นายสมปอง จะฟ้องนายสมชายและนายสมคิดให้รับผิดในเงินจํานวน 500,000 บาท ได้หรือไม่ และ นายสมชายและนายสมคิดจะปฏิเสธการชําระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิ

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกันหรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับ สภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/28 “การชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพ ความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกําหนดอายุความ สองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายสมปองเป็นเงินจํานวน 1,00,000 บาท มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 9 มีนาคม 2552 เมื่อถึงกําหนดนายสมชายไม่นําเงินมาชําระอายุความจึงเริ่มนับ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 10 มีนาคม 2552 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกําหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนําอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จึงครบกําหนดในวันที่ 9 มีนาคม 2562 เมื่อนายสมปองไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกําหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้อง ของนายสมปองที่มีต่อนายสมชายลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายสมปองย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้ นายสมชายชําระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายสมปองฟ้องนายสมชายให้ชําระหนี้ นายสมชายย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธ การชําระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

และตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้นําเงินบางส่วนไปชําระหนี้แก่นายสมปอง รวมทั้งการที นายสมชายได้ทําหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่นายสมปองโดยมีใจความว่านายสมชายจะนําเงินจํานวนที่เหลืออีก 500,000 บาท มาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายสมชายลูกหนี้ รับสภาพหนี้ต่อนายสมปองเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุทําให้ อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 นั้น ต้องเป็นการกระทําก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การกระทําของนายสมชายจึงเป็นการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว และเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จึงวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายสมชายได้นําเงินไปชําระให้แก่นายสมปองจํานวน 500,000 บาท โดยไม่ทราบว่า สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น นายสมชายจะเรียกเงินที่ชําระไปแล้วคืนจากนายสมปองไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งที่ว่าการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมิได้ทําให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด

(ข) เมื่อนายสมชายได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือกับนายสมปองว่าจะนําเงิน จํานวน 500,000 บาท มาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิด โดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ ดังนั้นเมื่อนายสมชายไม่นําเงินมาชําระภายในกําหนด นายสมปองย่อมสามารถฟ้องให้นายสมชายชําระหนี้ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1770/2517) โดยนายสมปองจะต้องฟ้องนายสมชายภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับ สภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 แต่นายสมปองจะฟ้องนายสมคิดไม่ได้ เพราะนายสมคิดเป็นผู้ค้ำประกันเต็มที่ไม่ได้รับสภาพความรับผิดเช่นเดียวกับนายสมชาย และตามมาตรา 193/28 วรรคสองตอนท้าย ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า “ แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิม ไม่ได้” กล่าวคือ ถ้านายสมปองฟ้องนายสมคิดผู้ค้ำประกัน นายสมคิดย่อมมีสิทธิยกเอาการที่หนี้ขาดอายุความ ขึ้นต่อสู้นายสมปองได้

สรุป

(ก) นายสมชายจะเรียกเงินที่ชําระไปแล้วจํานวน 500,000 บาท คืนจากนายสมปองไม่ได้

(ข) การที่นายสมชายไม่นําเงินมาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นายสมปองสามารถฟ้องให้นายสมชายรับผิดในเงินจํานวน 500,000 บาทได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ ได้รับสภาพความรับผิดนั้น แต่นายสมปองจะฟ้องนายสมคิดผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้ ถ้านายสมปองฟ้องนายสมคิด นายสมคิดย่อมสามารถปฏิเสธการชําระหนี้ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4 นายหนึ่งได้คัดเลือกส้มเขียวหวานหยิบใส่ถุงแล้วชั่งจนได้น้ำหนัก 3 กิโลกรัม แต่เนื่องจากนายหนึ่ง ต้องการจะเดินไปซื้อเนื้อสัตว์รวมถึงผักและของใช้อื่น ๆ ในตลาดสด จึงได้ฝากส้มเขียวหวานที่ซื้อไว้กับนายสองผู้ขาย โดยเมื่อซื้อสิ่งอื่นครบถ้วนแล้วจะกลับมารับเอาส้มเขียวหวานกลับไป ปรากฏว่า ในระหว่างที่นายหนึ่งเลือกซื้อสินค้าอื่นได้มีรถกระบะวิ่งพุ่งชนร้านขายผลไม้ของนายสองเสียหายทั้งหมด ดังนี้ ถ้านายหนึ่งยังไม่ได้ชําระราคาส้มเขียวหวาน นายสองจะมีสิทธิเรียกให้นายหนึ่ง ชําระค่าส้มเขียวหวาน 3 กิโลกรัมนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 วรรคหนึ่ง “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ตกลงซื้อส้มเขียวหวานจากนายสองจํานวน 3 กิโลกรัม โดย นายหนึ่งได้คัดเลือกส้มเขียวหวานหยิบใส่ถุงแล้วชั่งจนได้น้ำหนัก 3 กิโลกรัมแล้ว แต่เนื่องจากนายหนึ่งต้องการ จะเดินไปซื้อเนื้อสัตว์รวมถึงผักและของใช้อื่น ๆ ในตลาดสด จึงได้ฝากส้มเขียวหวานที่ซื้อไว้กับนายสองผู้ขาย โดยเมื่อซื้อสิ่งอื่นครบถ้วนแล้วจะกลับมารับเอาส้มเขียวหวานกลับไปนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและ นายสองเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า

หลังจากที่ได้ทําสัญญากันเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างที่นายหนึ่งเลือกซื้อสินค้าอื่นได้มีรถกระบะวิ่งพุ่งชนร้านขายผลไม้ ของนายสองเสียหายทั้งหมด ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ทรัพย์เฉพาะสิ่งอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายหรือเสียหายไป ด้วยเหตุอันจะโทษนายสองลูกหนี้ (ในอันที่จะต้องส่งมอบส้มเขียวหวาน) มิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นย่อมตกเป็นพับ แก่นายหนึ่งเจ้าหนี้ (ในอันที่จะได้รับมอบส้มเขียวหวาน) ตามมาตรา 370 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น ถ้านายหนึ่งยังไม่ได้ชําระราคาส้มเขียวหวาน นายสองย่อมมีสิทธิเรียกให้นายหนึ่งชําระค่า ส้มเขียวหวาน 3 กิโลกรัมได้

สรุป นายสองมีสิทธิเรียกให้นายหนึ่งชําระราคาค่าส้มเขียวหวาน 3 กิโลกรัมได้

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางแสงจันทร์ต้องการซื้อที่ดินจากนายตะวัน ปรากฏว่านายตะวันพานางแสงจันทร์ไปดูที่ดิน ที่จะขาย เมื่อถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดินนายตะวันได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้นางแสงจันทร์โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายตะวันพานางแสงจันทร์ไปดู

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็น วัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

มาตรา 158 “ความสําคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทํานิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสําคัญผิดดังกล่าว ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็น ประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแสงจันทร์ต้องการซื้อที่ดินจากนายตะวัน และนายตะวันได้พา นางแสงจันทร์ไปชี้ดูที่ดินที่จะขายแล้วนั้น แต่ปรากฏว่าพอถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดินนายตะวันได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้นางแสงจันทร์โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายตะวันพานางแสงจันทร์ไปดูนั้น ถือว่าการแสดงเจตนาทํานิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขายที่ดินของนางแสงจันทร์ดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิด ในทรัพย์สิน (ที่ดิน) ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เพราะเป็นการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินในแปลงซึ่งไม่ตรงกับ ความต้องการของนางแสงจันทร์ และเป็นการสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามมาตรา 156

อีกทั้งความสําคัญผิดดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนางแสงจันทร์แต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 2 นายเอกต้องการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 จากนายโท โดยนายเอกได้เจรจากับนายโท แต่นายโท ไม่เต็มใจจะขาย นายตรีบิดาของนายเอกทราบเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจของบุตรชายจึงยกปืนขึ้นจ้องขู่ให้นายโทเซ็นสัญญาขายที่ดินโดยที่นายเอกไม่ทราบถึงการข่มขู่เช่นนั้น ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินมีผลทางกฎหมายเป็นเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 164 “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทําให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทําขึ้น”

มาตรา 166 “การข่มขู่ย่อมทําให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่”

วินิจฉัย

การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หมายความว่า เป็นการใช้อํานาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทํานิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ และการข่มขู่นั้นย่อมทําการแสดงเจตนาตกเป็นโมฆียะ แม้จะเป็นการข่มขู่โดยบุคคลภายนอก (มาตรา 164 และมาตรา 166)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกต้องการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 จากนายโท โดยนายเอก ได้เจรจากับนายโท แต่นายโทไม่เต็มใจจะขาย นายตรีซึ่งเป็นบิดาของนายเอกทราบเรื่องจึงยกปืนขึ้นจ้องขู่ให้นายโทเซ็นสัญญาขายที่ดินให้แก่นายเอกโดยที่นายเอกไม่ทราบถึงการข่มขู่ดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจากความสมัครใจของนายโท แต่เกิดขึ้นเนื่องจากนายโทถูกข่มขู่ ด้วยภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจงใจให้นายโทต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นสัญญานั้นก็คง จะมิได้กระทําขึ้น ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 และแม้ว่าการข่มขู่นั้น จะได้กระทําโดยนายตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และนายเอกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะมิได้รู้ถึงการข่มขู่นั้นก็ตาม สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวก็มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 166

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3 นางสาวฟ้าได้ทําสัญญากู้เงินจากนายธนาธรจํานวน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มีกําหนด ชําระคืนภายใน 4 เดือน ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) นางสาวฟ้าจะต้องนําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายธนาธรเมื่อใด จงอธิบาย

(ข) ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระนางสาวฟ้าไม่มีเงินไปชําระและขอขยายเวลาออกไปอีก 20 วัน โดย นายธนาธรยินยอม และมิได้มีการกําหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ระยะเวลา ที่ขยายออกไปอีก 20 วัน จะตรงกับวันใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากําหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรก แห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทําการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กําหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือน หรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่ม ระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/7 “ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกําหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวฟ้าได้ทําสัญญากู้เงินจากนายธนาธรจํานวน 1 ล้านบาท ในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มีกําหนดชําระคืนภายใน 4 เดือนนั้น ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง การเริ่มต้นนับระยะเวลา มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน แต่ให้เริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ดังนั้นวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา (มิใช่วันต้นแห่งเดือนคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562) ซึ่งระยะเวลา 4 เดือน ย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นตามมาตรา 193/5 วรรคสอง แต่เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ. 2563 ไม่มีวันตรงกัน คือไม่มีวันที่ 31 กุมภาพันธ์ ดังนั้น จึงต้องถือเอาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดของระยะเวลา (ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง ตอนท้าย) และนางสาวฟ้าจะต้องนําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายธนาธรในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

นายธนาธรยินยอมและมิได้มีการกําหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะ และเวลาออกไปอีก 20 วัน โดยที่

(ข) ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระนางสาวฟ้าไม่มีเงินไปชําระ และขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 20 วัน โดยที่ระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก 20 วัน จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 อันเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น (ตามมาตรา 193/7) และจะครบกําหนด 20 วัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยให้ถือตามความเป็นจริงในการคํานวณ เพราะการคํานวณนับระยะเวลาที่สิ้นสุดลงกรณีนับระยะเวลาเป็นวันนั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย วางหลักเกณฑ์ไว้ (มาตรา 193/5) อีกทั้งยังไม่อาจนําบทบัญญัติของกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับได้

สรุป

(ก) นางสาวฟ้าจะต้องนําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายธนาธรในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

(ข) ระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก 20 วัน จะตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2563

 

ข้อ 4 นายขาวจดทะเบียนหย่ากับนางเขียว โดยนายขาวทําบันทึกข้อตกลงกับนางเขียวว่าจะยอมแบ่ง ที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้แก่เด็กชายฟ้าและเด็กหญิงส้ม ซึ่งเป็นบุตรคนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยนายขาวจะดําเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้เป็นไปตามสัญญาเมื่อเด็กชายฟ้าและ เด็กหญิงส้มอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ต่อมาภายหลังจากที่เด็กหญิงส้มอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ นายขาวก็ยังไม่ได้ดําเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่เด็กหญิงส้มแต่อย่างใด เนื่องจากเด็กหญิงส้มติดยาเสพติดและการพนันอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ นายขาวกับนางเขียวจึงทําบันทึกข้อตกลงกันใหม่ โดยให้ที่ดินส่วนที่ตกลงแบ่งให้เด็กหญิงส้มไว้เดิม ไปให้แก่เด็กชายฟ้าบุตรชายอีกคนหนึ่งแทน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า เด็กหญิงส้มจะฟ้องบังคับให้นายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตนตามบันทึกข้อตกลง ฉบับแรกได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทําสัญญาตกลงว่าจะชําระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่า บุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนา แก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญา หาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีการทําสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ถ้าบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่ ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสองแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้น และคู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังไม่ได้ (มาตรา 375)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวจดทะเบียนหย่ากับนางเขียว โดยนายขาวได้ทําบันทึกข้อตกลง กับนางเขียวว่าจะยอมแบ่งที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้แก่เด็กชายฟ้าและเด็กหญิงส้ม เมื่อเด็กชายฟ้าและเด็กหญิงส้มอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์นั้น บันทึกข้อตกลงระหว่างนายขาวกับนางเขียวดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงจะชําระหนี้ตามสัญญาให้แก่เด็กหญิงส้มซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อเด็กหญิงส้มมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว เด็กหญิงส้มยังไม่ได้ บอกกล่าวไปยังนายขาวให้โอนที่ดินให้ตน สิทธิของเด็กหญิงส้มที่จะเรียกให้นายขาวชําระหนี้ตามสัญญาจึงยังไม่ได้เกิดมีขึ้น เนื่องจากเด็กหญิงส้มยังไม่ได้แสดงเจตนาแก่นายขาวว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น (มาตรา 374 วรรคสอง) ดังนั้น นายขาวและนางเขียวจึงสามารถทําบันทึกข้อตกลงใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิ ของเด็กหญิงส้มในภายหลังได้ตามมาตรา 375 และเมื่อนายขาวกับนางเขียวได้ทําบันทึกข้อตกลงใหม่ โดยให้ ที่ดินส่วนที่ตกลงแบ่งให้เด็กหญิงส้มไว้เดิม ไปให้แก่เด็กชายฟ้าบุตรชายแทน เด็กหญิงส้มจึงไม่สามารถที่จะฟ้องบังคับให้นายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตนตามบันทึกฉบับแรกได้

สรุป เด็กหญิงส้มจะฟ้องบังคับให้นายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตนตามบันทึกฉบับแรกไม่ได้

 

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่งทําสัญญาว่าจ้างนายสองให้ไปทําร้ายร่างกายนายสามซึ่งเป็นคู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท นายสองเกรงว่านายหนึ่งจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลงกับนายหนึ่ง ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่ นายหนึ่งและนายสองทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้นปรากฏภายหลังจากที่นายสองไปทําร้ายร่างกายนายสามแล้ว นายหนึ่งกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายสองแต่อย่างใด ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายสองสามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งทําสัญญาว่าจ้างนายสองให้ไปทําร้ายร่างกายนายสามซึ่งเป็น คู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท และนายสองเกรงว่านายหนึ่งจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลง กับนายหนึ่งให้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับหนึ่งเพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่ นายหนึ่งและนายสองทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นกรณีของการทํานิติกรรมอําพรางตาม มาตรา 155 วรรคสอง กล่าวคือ ระหว่างนายหนึ่งและนายสองนั้น ได้มีการทํานิติกรรมกัน 2 ฉบับ คือ สัญญาจ้าง และสัญญากู้ยืมเงิน

สัญญากู้ยืมเงินที่นายหนึ่งและนายสองได้ทําขึ้นนั้น เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นนิติกรรมที่ทําขึ้นเพื่อต้องการปิดบังหรืออําพรางนิติกรรม อีกอันหนึ่ง คือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายนายสาม ดังนั้น นิติกรรมในรูปสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการ แสดงเจตนาลวงโดยการสมรู้ร่วมคิดกันในระหว่างคู่กรณี และมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องนํา นิติกรรมที่ถูกอําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายมาใช้บังคับระหว่างคู่กรณีตามมาตรา 155 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนิติกรรมที่ถูกอําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายนายสามนั้น ถือว่าเป็น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า นายสองได้ไปทําร้ายร่างกายนายสามแล้ว แต่นายหนึ่งกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายสองตามสัญญา นายสอง ก็ไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญาใด ๆ ได้เลย

สรุป นายสองไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้

 

ข้อ 2 นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลังหรือไม่

ธงคําตอบ

จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 172 วรรคสอง “ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นําบทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นิติกรรมที่เป็นโมฆะจะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลัง ดังนี้ คือ

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ทําให้บุคคลใดหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้เข้าทํานิติกรรมแต่ประการใดเลย

และในกรณีที่ต้องมีการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คู่กรณีฝ่ายที่ได้โอนกรรมสิทธิ์

ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เขาไปนั้น ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้

ตัวอย่าง ก. และ ข. ได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่งในราคา 100,000 บาท โดยทั้งสองได้ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ข. ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้กระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ดังนี้ ก. จะบังคับให้ ข. ส่งมอบที่ดินหรือ โอนที่ดินให้แก่ ก. ไม่ได้ และ ข. ก็จะบังคับให้ ก. ชําระราคาค่าซื้อขายที่ดินให้แก่ ข. ไม่ได้เช่นกัน

ในกรณีที่ ก. ได้ชําระราคาค่าที่ดินให้แก่ ข. แล้ว ดังนี้ ก. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ข. คืนเงินให้แก่ตนได้ หรือถ้า ข. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ ก. แล้ว ข. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินคืนจาก ก. ได้ โดยอาศัยหลักกฎหมาย ว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอกล้าง ให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเสียเปล่าได้

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เมื่อมีการบอกล้างแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และ ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ต้องมีการคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ เช่น ทรัพย์สินที่จะต้องส่งคืนนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ฝ่ายที่ต้องส่งคืนนั้น ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินนั้น

ตัวอย่าง ก. ทํากลฉ้อฉลเอาแหวนทองเหลืองมาหลอกขายให้ ข. โดยหลอกลวงว่าเป็นแหวนทองคํา เมื่อ ข. รู้ความจริงจึงบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่เป็นโมฆียะ ดังนี้ ก. ก็ต้องใช้เงินราคาแหวนที่รับไปคืนให้ ข. และ ข. ก็ต้องคืนแหวนทองเหลืองให้ ก. หรือถ้าคืนไม่ได้ เช่น เป็นเพราะแหวนทองเหลืองนั้นสูญหายไปแล้ว ดังนี้ ข. ก็ต้องชดใช้ราคาแหวนทองเหลืองนั้นให้แก่ ก. ตามราคาของแหวนทองเหลือง

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 นางสมศรีได้ทําสัญญากู้เงินจากนางสมใจจํานวน 2 ล้านบาท มีกําหนด ชําระคืนภายในวันที่ 10 มกราคม 2551 เมื่อหนี้ถึงกําหนด นางสมศรีไม่นําเงินมาชําระ นางสมใจ ได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 2560 (ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน จะครบกําหนดอายุความ 10 ปี) นางสมใจได้ส่งจดหมายทวงหนี้ไปถึงนางสมศรีให้นําเงินมาชําระภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 มิฉะนั้นจะดําเนินคดีทางศาลต่อไป จดหมายไปถึงบ้านนางสมศรี ในวันที่ 13 ธันวาคม 2560) แต่นางสมศรีไม่อยู่บ้าน นายขาวพี่ชายของนางสมศรีเป็นคนรับจดหมาย จึงได้เปิดออกอ่าน เมื่อทราบข้อความแล้วเกรงน้องสาวจะถูกดําเนินคดีทางศาล ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 จึงได้ทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ต่อนางสมใจมีใจความว่า “ข้าพเจ้านายขาวยอมรับว่า นางสมศรีน้องสาวเป็นหนี้นางสมใจจริง และยินยอมที่จะชําระหนี้แทนนางสมศรีน้องสาวทั้งหมด ซึ่งจะนําเงินไปชําระให้ที่บ้านของนางสมใจในวันที่ 2 มกราคม 2561” ครั้นถึงกําหนดนายขาว หาเงินจํานวนดังกล่าวไม่ได้ จึงไม่ได้นําเงินไปชําระ นางสมใจจึงนําคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 28 มีนาคม 2562 นางสมศรีต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว นางสมใจอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 อยากทราบว่า ข้ออ้างของนางสมใจ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ มาตรา 193/30 บัญญัติว่า “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกําหนดสิบปี”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสมศรีได้ทําสัญญากู้เงินจากนางสมใจจํานวน 2 ล้านบาท มีกําหนด ชําระคืนภายในวันที่ 10 มกราคม 2551 นั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดนางสมศรีไม่นําเงินมาชําระอายุความจึงเริ่มต้น นับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 11 มกราคม 2551 (ตามมาตรา 193/12) และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมาย กําหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนําอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คืออายุความ 10 ปี มาใช้บังคับ ดังนั้น กรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกําหนดในวันที่ 10 มกราคม 2561

การที่นายขาวซึ่งเป็นพี่ชายของนางสมศรีได้ไปทําหนังสือรับสภาพหนี้ให้นางสมใจในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 และตกลงว่าจะนําเงินไปชําระให้นางสมใจในวันที่ 2 มกราคม 2561 นั้น แม้จะเป็นการทําหนังสือ รับสภาพหนี้ก่อนที่จะครบกําหนดอายุความก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14

เนื่องจากนายขาวมิใช่ลูกหนี้ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 193/14 ดังนั้น เมื่อถึงกําหนดวันที่ 2 มกราคม 2561 นายขาวไม่ได้นําเงินไปชําระให้นางสมใจ ถ้านางสมใจจะนําคดีนี้มาฟ้องร้องต่อศาลจะต้องฟ้องภายในวันที่ 10 มกราคม 2561 เมื่อนางสมใจนําคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 28 มีนาคม 2562 คดีนี้จึงขาดอายุความแล้ว ข้ออ้างของนางสมใจที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 นั้นจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของนางสมใจที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงนั้นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายผักขมตกลงซื้อข้าวสารจากโรงสีของนางผักชี 200 กระสอบ ๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 แสนบาท ซึ่งนางผักชีเจ้าของโรงสียังไม่ได้ตวงข้าวสารใส่กระสอบ ต่อมาเกิดฟ้าผ่าไฟไหม้โกดัง เก็บข้าวสารของนางผักชีได้รับความเสียหายทั้งหมด ต่อมานางผักชีได้มาทวงเงินค่าข้าวสาร2 แสนบาทจากนายผักขม ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายผักขมจะต้องชําระเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่ นางผักชีหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้น กลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 195 วรรค 2 นั้นไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายผักขมตกลงซื้อข้าวสารจากโรงสีของนางผักชี 200 กระสอบ ๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 แสนบาท ซึ่งนางผักชียังไม่ได้ตวงข้าวสารใส่กระสอบนั้น ย่อมถือว่าข้าวสารที่นายผักขม ซื้อนั้นยังมิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์ ในข้าวสารจึงยังไม่โอนมาเป็นของนายผักขมเจ้าหนี้ แต่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางผักชีซึ่งเป็นลูกหนี้ ดังนั้น เมื่อต่อมาได้เกิดฟ้าผ่าไฟไหม้โกดังเก็บข้าวสารของนางผักชีได้รับความเสียหายทั้งหมด ความเสียหายจึงตกเป็นพับแก่นางผักชีลูกหนี้ ทั้งนี้เพราะเมื่อข้าวสารยังไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง จึงไม่อาจ นําบทบัญญัติของมาตรา 370 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ (มาตรา 370 วรรคสอง)

และเมื่อไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่นายผักขมเจ้าหนี้จะต้องรับผิดตามมาตรา 370 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนางผักชีมาทวงเงินค่าข้าวสารจํานวน 2 แสนบาทจากนายผักขม นายผักขมจึงไม่ต้องชําระเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นางผักชี

สรุป นายผักขมไม่ต้องชําระเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นางผักชี

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายชัปปุยส์ต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายชนาธิปเพราะคิดว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านที่ดินแปลงนั้น ในอนาคต ปรากฏวันที่ไปจดทะเบียนโอนมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติอิรัก

นายชัปปุยส์ขอตัวกลับบ้านไปดูฟุตบอลนัดดังกล่าว และได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าพร้อมทั้ง บอกนายชนาธิปว่าจัดการกรอกข้อความได้เลยตามสะดวก นายชนาธิปจึงได้เขียนเนื้อความ ในสัญญาว่าตนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แทน วันรุ่งขึ้นนายชัปปุยส์ทราบเนื้อความในสัญญา จึงกล่าวหานายชนาธิปว่าเป็นพวกหลอกลวงหลอกขายที่ดินให้แก่ตน ให้นักศึกษาให้คําแนะนําว่า ข้ออ้างของนายชัปปุยส์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

มาตรา 158 “ความสําคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทํานิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสําคัญผิดดังกล่าว ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัปปุยส์ได้แสดงเจตนาทําสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายชนาธิป โดยสําคัญผิดว่าเป็นที่ดินแปลงที่ตนคิดว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านนั้น ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันถือว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม โดยหลักแล้วการแสดงเจตนาของนายชัปปุยส์ ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชัปปุยส์ได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าและบอกให้ นายชนาธิปจัดการกรอกข้อความได้เลยตามสะดวก ทําให้นายชนาธิปได้เขียนเนื้อความในสัญญาว่าตนขายที่ดิน อีกแปลงหนึ่งให้แทนซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงที่นายชัปปุยส์ต้องการซื้อนั้น การกระทําดังกล่าวของนายชัปปุยส์ถือได้ว่าเป็น ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายชัปปุยส์เอง ดังนั้น แม้นายชัปปุยส์จะได้แสดงเจตนาเพราะความสําคัญผิด ดังกล่าวข้างต้นก็ตาม นายชัปปุยส์ก็จะยกเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ตามมาตรา 158

สรุป ข้ออ้างของนายชัปปุยส์ฟังไม่ขึ้น ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นักศึกษาจงเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรม กับผลของการ ให้สัตยาบันโมฆียะกรรม มีอยู่อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา

176 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนี้คือ

“โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่า การนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ”

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมนั้นเมื่อมีการบอกล้างแล้ว จะมีผลดังนี้คือ

1 ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ให้ถือว่าเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทํานิติกรรมนั้น

2 ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม เช่น หากมีการส่งมอบทรัพย์สินกันก็ต้องมีการส่งคืน เป็นต้น

3 ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายแทน

4 ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้น ใต้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ตัวอย่าง เช่น อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500,000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ดังนี้ เมื่อแดงผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่ เริ่มแรก ทั้งดําและขาวจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ ดําจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ขาว และขาวก็ต้องส่งมอบ เงินค่าซื้อรถยนต์คืนให้ดํา ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันแทน เป็นต้น ส่วนผลของการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 177 ดังนี้คือ

“ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใดได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก” จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมนั้นเมื่อมีการให้สัตยาบันแล้ว จะมีผลดังนี้

1 ให้ถือว่าทํานิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่เริ่มแรก

2 คู่กรณีไม่จําต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม

3 ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก

ตัวอย่าง เช่น อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500,000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ และเมื่อแดงทราบ แดงไม่ได้บอกล้างแต่กลับให้สัตยาบันแก่นิติกรรมซื้อขายดังกล่าว ดังนี้ย่อมถือว่าสัญญาซื้อขาย

รถยนต์ระหว่างดําและขาวมีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ซึ่งต่อมาดําผู้เยาว์หรือแดงผู้แทนโดยชอบธรรมจะบอกล้าง นิติกรรมดังกล่าวนั้นอีกไม่ได้

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2546 นายกบได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเขียดเป็นจํานวน 200,000 บาท มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 24 กันยายน 2547 ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2547 นายกบได้นําเงิน มาชําระให้บางส่วนจํานวน 30,000 บาท หลังจากนั้นก็ไม่ได้นําเงินมาชําระให้อีกเลย จนกระทั่ง วันที่ 24 ธันวาคม 2547 นายเขียดได้เขียนจดหมายไปทวงถามเพื่อให้ชําระหนี้ที่ค้างอยู่จากนายกบ แต่นายกบก็ไม่นํามาชําระให้ วันที่ 25 กันยายน 2557 นายกบได้นําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกัน การกู้ยืมเงินดังกล่าว และได้นําเงินไปชําระให้นายเขียดอีกจํานวน 20,000 บาท แต่หลังจากนั้น นายกบก็ไม่นําเงินมาชําระให้อีกเลย ปรากฏว่ายังมีหนี้ค้างชําระอยู่อีกจํานวน 150,000 บาท ต่อมา นายเขียดจึงได้นําคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เพื่อให้นายกบชําระหนี้เงินกู้ที่เหลือ นายกบต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2557 แล้ว แต่นายเขียดอ้างว่าคดียังไม่ ขาดอายุความ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายกบฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป….”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/28 “การชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้ รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกําหนด อายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกบได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเขียดเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท ในวันที่ 24 กันยายน 2546 โดยมีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 24 กันยายน 2547 นั้น การที่นายกบได้นําเงินมา ชําระให้นายเขียดบางส่วนจํานวน 30,000 บาท ในวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นการชําระหนี้ในขณะที่หนี้ยัง ไม่ถึงกําหนดชําระ ย่อมไม่ถือว่าเป็นเหตุทําให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) แต่อย่างใด เพราะอายุความในหนี้ตามสัญญากู้เงินรายนี้จะเริ่มนับก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกําหนดแล้วลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ คือจะเริ่มนับ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2547 เป็นต้นไป (ตามมาตรา 193/12) และหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อไม่มีกฎหมาย กําหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความ จึงต้องนําอายุความทั่วไป คือ 10 ปี มาใช้บังคับ (ตามมาตรา 193/30) ดังนั้น หนี้รายนี้จึงครบกําหนดอายุความในวันที่ 24 กันยายน 2557 โดยมีหนี้ที่นายกบยังค้างชําระอยู่อีก 170,000 บาท

การที่นายกบได้นําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวและได้นําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายเขียดเป็นเงินจํานวน 20,000 บาท ในวันที่ 25 กันยายน 2557 ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายกับลูกหนี้รับสภาพหนี้แก่นายเขียดเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) นั้น ต้องเป็นการกระทําก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การกระทําของนายกบจึงเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 และเป็นการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว

และเมื่อนายกบได้รับสภาพความรับผิดโดยการนําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพ ความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ โดยนายเขียดสามารถฟ้องให้นายกบชําระหนี้ได้ แต่จะต้อง ฟ้องภายในอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกําหนดในวันที่ 25 กันยายน 2559 ดังนั้น เมื่อนายเขียดได้นําคดีมาฟ้องศาล ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 นายกบจะต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วไม่ได้ ข้อต่อสู้ของนายกบที่ว่าคดีขาดอายุความ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2557 จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น นายกบจะต้องรับผิดชอบในหนี้เงินกู้ที่ยังค้างชําระอยู่อีกเป็นจํานวน 150,000 บาท

สรุป ข้อต่อสู้ของนายกบฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายสมศักดิ์ทําสัญญาจะซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนางสมศรีในราคา 1,000,000 บาท ในวันทําสัญญา นายสมศักดิ์ได้มอบสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท ให้นางสมศรียึดถือไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานและเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ส่วนเงินจํานวน 1,000,000 บาท ตกลงจะชําระให้ในวันจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อถึงกําหนดนัดจดทะเบียน นางสมศรี ไม่สามารถจดทะเบียนโอนบ้านเลขที่ 12/34 ให้นายสมศักดิ์ได้ เนื่องจากนางสมศรีได้จดทะเบียน โอนขายบ้านหลังเดียวกันนี้ให้นางสมหญิงไปก่อนหน้านี้ในราคา 1,700,000บาท

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) นายสมศักดิ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับนางสมศรีได้หรือไม่ และนายสมศักดิ์จําเป็นต้องบอกกล่าวนางสมศรีก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) สร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท เป็นมัดจําหรือไม่ และนายสมศักดิ์มีสิทธิเรียกคืนสร้อยคอ ทองคําที่นางสมศรีรับไว้ได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 377 “เมื่อเข้าทําสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจํา ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจํานั้น ย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทํากันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจํานี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”

มาตรา 378 “มัดจํานั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ

(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจําละเลยไม่ชําระหนี้ หรือการชําระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะ พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ”

มาตรา 379 “ถ้าการชําระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว กรณีที่จะเป็นมัดจําตามมาตรา 377 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทําสัญญา และมัดจํานั้นอาจเป็นเงินหรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเองก็ได้ เมื่อสร้อยคอทองคําเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเองจึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจําได้

กรณีตามอุทาหรณ์ นายสมศักดิ์ทําสัญญาจะซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนางสมศรีในราคา 1,000,000 บาท และในวันทําสัญญา นายสมศักดิ์ได้มอบสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท ให้นางสมศรียึดถือไว้เพื่อ เป็นพยานหลักฐานและเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้น ถือว่าสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท เป็นมัดจําตาม มาตรา 377 เมื่อถึงกําหนดนัดจดทะเบียน นางสมศรีไม่สามารถจดทะเบียนโอนบ้านเลขที่ 12/34 ให้นายสมศักดิ์ได้ เนื่องจากนางสมศรีได้จดทะเบียนโอนขายบ้านหลังดังกล่าวนี้ให้นางสมหญิงไปแล้วนั้น ถือว่านางสมศรีไม่สามารถ ปฏิบัติการชําระหนี้ คือโอนกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นให้แก่นายสมศักดิ์ได้ การชําระหนี้ของนางสมศรีตามสัญญา จะซื้อขายจึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งนางสมศรีต้องรับผิดชอบ ดังนั้น นายสมศักดิ์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับนางสมศรีได้ทันทีโดยไม่จําต้องบอกกล่าวให้นางสมศรีไปทําการโอนกรรมสิทธิ์ให้ตนก่อนแต่อย่างใดตามมาตรา 389

ส่วนสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท ซึ่งเป็นมัดจํานั้น เมื่อการชําระหนี้ของนางสมศรีตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งนางสมศรีต้องรับผิดชอบ นางสมศรีจึงต้องส่งมอบสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาทนั้น คืนให้แก่นายสมศักดิ์ตามมาตรา 378 (3)

สรุป

(1) นายสมศักดิ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายบ้านกับนางสมศรีได้โดยไม่จําเป็นต้องบอกกล่าวนางสมศรีก่อนแต่อย่างใด

(2) สร้อยคอทองคําหนัก 5 บาทเป็นมัดจํา และนายสมศักดิ์มีสิทธิเรียกคืนจากนางสมศรีได้

 

WordPress Ads
error: Content is protected !!