การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางแสงจันทร์ต้องการซื้อที่ดินจากนายตะวัน ปรากฏว่านายตะวันพานางแสงจันทร์ไปดูที่ดิน ที่จะขาย เมื่อถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดินนายตะวันได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้นางแสงจันทร์โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายตะวันพานางแสงจันทร์ไปดู

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็น วัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

มาตรา 158 “ความสําคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทํานิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสําคัญผิดดังกล่าว ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็น ประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแสงจันทร์ต้องการซื้อที่ดินจากนายตะวัน และนายตะวันได้พา นางแสงจันทร์ไปชี้ดูที่ดินที่จะขายแล้วนั้น แต่ปรากฏว่าพอถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดินนายตะวันได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้นางแสงจันทร์โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายตะวันพานางแสงจันทร์ไปดูนั้น ถือว่าการแสดงเจตนาทํานิติกรรมในรูปสัญญาซื้อขายที่ดินของนางแสงจันทร์ดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิด ในทรัพย์สิน (ที่ดิน) ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เพราะเป็นการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินในแปลงซึ่งไม่ตรงกับ ความต้องการของนางแสงจันทร์ และเป็นการสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามมาตรา 156

อีกทั้งความสําคัญผิดดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนางแสงจันทร์แต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 2 นายเอกต้องการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 จากนายโท โดยนายเอกได้เจรจากับนายโท แต่นายโท ไม่เต็มใจจะขาย นายตรีบิดาของนายเอกทราบเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจของบุตรชายจึงยกปืนขึ้นจ้องขู่ให้นายโทเซ็นสัญญาขายที่ดินโดยที่นายเอกไม่ทราบถึงการข่มขู่เช่นนั้น ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินมีผลทางกฎหมายเป็นเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 164 “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทําให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทําขึ้น”

มาตรา 166 “การข่มขู่ย่อมทําให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่”

วินิจฉัย

การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หมายความว่า เป็นการใช้อํานาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทํานิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ และการข่มขู่นั้นย่อมทําการแสดงเจตนาตกเป็นโมฆียะ แม้จะเป็นการข่มขู่โดยบุคคลภายนอก (มาตรา 164 และมาตรา 166)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกต้องการซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 จากนายโท โดยนายเอก ได้เจรจากับนายโท แต่นายโทไม่เต็มใจจะขาย นายตรีซึ่งเป็นบิดาของนายเอกทราบเรื่องจึงยกปืนขึ้นจ้องขู่ให้นายโทเซ็นสัญญาขายที่ดินให้แก่นายเอกโดยที่นายเอกไม่ทราบถึงการข่มขู่ดังกล่าวนั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขาย ที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นจากความสมัครใจของนายโท แต่เกิดขึ้นเนื่องจากนายโทถูกข่มขู่ ด้วยภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจงใจให้นายโทต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นสัญญานั้นก็คง จะมิได้กระทําขึ้น ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 และแม้ว่าการข่มขู่นั้น จะได้กระทําโดยนายตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และนายเอกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะมิได้รู้ถึงการข่มขู่นั้นก็ตาม สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวก็มีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 166

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 3 นางสาวฟ้าได้ทําสัญญากู้เงินจากนายธนาธรจํานวน 1 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มีกําหนด ชําระคืนภายใน 4 เดือน ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) นางสาวฟ้าจะต้องนําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายธนาธรเมื่อใด จงอธิบาย

(ข) ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระนางสาวฟ้าไม่มีเงินไปชําระและขอขยายเวลาออกไปอีก 20 วัน โดย นายธนาธรยินยอม และมิได้มีการกําหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ระยะเวลา ที่ขยายออกไปอีก 20 วัน จะตรงกับวันใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากําหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรก แห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทําการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กําหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือน หรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่ม ระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/7 “ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกําหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวฟ้าได้ทําสัญญากู้เงินจากนายธนาธรจํานวน 1 ล้านบาท ในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 มีกําหนดชําระคืนภายใน 4 เดือนนั้น ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง การเริ่มต้นนับระยะเวลา มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน แต่ให้เริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ดังนั้นวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลา (มิใช่วันต้นแห่งเดือนคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562) ซึ่งระยะเวลา 4 เดือน ย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นตามมาตรา 193/5 วรรคสอง แต่เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ. 2563 ไม่มีวันตรงกัน คือไม่มีวันที่ 31 กุมภาพันธ์ ดังนั้น จึงต้องถือเอาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดของระยะเวลา (ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง ตอนท้าย) และนางสาวฟ้าจะต้องนําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายธนาธรในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

นายธนาธรยินยอมและมิได้มีการกําหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะ และเวลาออกไปอีก 20 วัน โดยที่

(ข) ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระนางสาวฟ้าไม่มีเงินไปชําระ และขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 20 วัน โดยที่ระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก 20 วัน จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 อันเป็นวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น (ตามมาตรา 193/7) และจะครบกําหนด 20 วัน ในวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยให้ถือตามความเป็นจริงในการคํานวณ เพราะการคํานวณนับระยะเวลาที่สิ้นสุดลงกรณีนับระยะเวลาเป็นวันนั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย วางหลักเกณฑ์ไว้ (มาตรา 193/5) อีกทั้งยังไม่อาจนําบทบัญญัติของกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับได้

สรุป

(ก) นางสาวฟ้าจะต้องนําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายธนาธรในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

(ข) ระยะเวลาที่ขยายออกไปอีก 20 วัน จะตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2563

 

ข้อ 4 นายขาวจดทะเบียนหย่ากับนางเขียว โดยนายขาวทําบันทึกข้อตกลงกับนางเขียวว่าจะยอมแบ่ง ที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้แก่เด็กชายฟ้าและเด็กหญิงส้ม ซึ่งเป็นบุตรคนละส่วนเท่า ๆ กัน โดยนายขาวจะดําเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้เป็นไปตามสัญญาเมื่อเด็กชายฟ้าและ เด็กหญิงส้มอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ต่อมาภายหลังจากที่เด็กหญิงส้มอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ นายขาวก็ยังไม่ได้ดําเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่เด็กหญิงส้มแต่อย่างใด เนื่องจากเด็กหญิงส้มติดยาเสพติดและการพนันอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ นายขาวกับนางเขียวจึงทําบันทึกข้อตกลงกันใหม่ โดยให้ที่ดินส่วนที่ตกลงแบ่งให้เด็กหญิงส้มไว้เดิม ไปให้แก่เด็กชายฟ้าบุตรชายอีกคนหนึ่งแทน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า เด็กหญิงส้มจะฟ้องบังคับให้นายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตนตามบันทึกข้อตกลง ฉบับแรกได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 “ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทําสัญญาตกลงว่าจะชําระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่า บุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนา แก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญา หาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

วินิจฉัย

ในกรณีที่มีการทําสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ถ้าบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาแก่ ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสองแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้น และคู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังไม่ได้ (มาตรา 375)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวจดทะเบียนหย่ากับนางเขียว โดยนายขาวได้ทําบันทึกข้อตกลง กับนางเขียวว่าจะยอมแบ่งที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่งให้แก่เด็กชายฟ้าและเด็กหญิงส้ม เมื่อเด็กชายฟ้าและเด็กหญิงส้มอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์นั้น บันทึกข้อตกลงระหว่างนายขาวกับนางเขียวดังกล่าวถือว่าเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงจะชําระหนี้ตามสัญญาให้แก่เด็กหญิงส้มซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อเด็กหญิงส้มมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว เด็กหญิงส้มยังไม่ได้ บอกกล่าวไปยังนายขาวให้โอนที่ดินให้ตน สิทธิของเด็กหญิงส้มที่จะเรียกให้นายขาวชําระหนี้ตามสัญญาจึงยังไม่ได้เกิดมีขึ้น เนื่องจากเด็กหญิงส้มยังไม่ได้แสดงเจตนาแก่นายขาวว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น (มาตรา 374 วรรคสอง) ดังนั้น นายขาวและนางเขียวจึงสามารถทําบันทึกข้อตกลงใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิ ของเด็กหญิงส้มในภายหลังได้ตามมาตรา 375 และเมื่อนายขาวกับนางเขียวได้ทําบันทึกข้อตกลงใหม่ โดยให้ ที่ดินส่วนที่ตกลงแบ่งให้เด็กหญิงส้มไว้เดิม ไปให้แก่เด็กชายฟ้าบุตรชายแทน เด็กหญิงส้มจึงไม่สามารถที่จะฟ้องบังคับให้นายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตนตามบันทึกฉบับแรกได้

สรุป เด็กหญิงส้มจะฟ้องบังคับให้นายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตนตามบันทึกฉบับแรกไม่ได้

 

Advertisement