การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1103 (LAW 1003) ป.พ.พ.ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเอกและนายโทต้องการซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง ทั้งคู่ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แปลงดังกล่าวที่สํานักงานที่ดิน แต่ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถดําเนินการได้ เนื่องจากที่ดินอยู่ภายใน กําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้รัฐบาลมีอํานาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพ เป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยจัดตั้งเป็นนิคมตามพระราชบัญญัตินี้” และมาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก หรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี” และวรรคสอง บัญญัติว่า “ภายในกําหนด ระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ด้วยเหตุนี้ ในวันเดียวกัน นายเอกและนายโทจึงตกลงทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินโดยทําเป็นหนังสือยึดไว้คนละฉบับ และไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากสัญญาประเภทนี้ไม่มีแบบบังคับให้ต้องจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด สัญญาเช่าซื้อมีข้อความตอนหนึ่งระบุถึงเงื่อนไขว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันเมื่อนายเอกได้ชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย

ให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างนายเอกและนายโทมีวัตถุประสงค์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อนายเอกได้ชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว นายเอกจะยกสัญญาเข้าซื้อเพื่อบังคับนายโทให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในการตกลงทํานิติกรรมกันนั้น วัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้น จะต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จะต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย และจะต้องไม่เป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ถ้านิติกรรมใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทต้องการซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่ง แต่เมื่อทั้งคู่ได้ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวที่สํานักงานที่ดิน ได้รับแจ้งว่าไม่สามารถดําเนินการได้ เนื่องจากที่ดินอยู่ภายในกําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ทั้งสองจึงได้ตกลงทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินโดยทําเป็นหนังสือยึดไว้คนละฉบับและไม่ได้จดทะเบียนต่อหนักงานเจ้าหน้าที่ และในสัญญามีข้อความตอนหนึ่งระบุถึงเงื่อนไขว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันเมื่อนายเอกชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนอันเป็นระยะเวลาภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายนั้น ย่อมถือว่าการกระทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวของนายเอกและนายโทในขณะที่อยู่ภายในกําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย ซึ่งตามลักษณะของสัญญาก่อให้เกิดสิทธิ เรียกร้องในอันที่จะบังคับให้นายโทจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และเสียสิทธิการครอบครองที่ดิน ซึ่งขัดกับ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิใช้ที่ดินนั้นเป็นเคหสถานและประกอบอาชีพ และตามพฤติการณ์ของนายเอกและนายโทก่อนทําสัญญาเช่าซื้อที่ดินได้ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ไม่สามารถดําเนินการได้ เนื่องจากมีข้อห้ามโอนนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสองได้ทํานิติกรรมโดยมีเจตนาต้องการโอนที่ดินกัน แม้จะมีเงื่อนไขให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วน อันเป็นระยะเวลาภายหลังพ้นกําหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายก็ตาม การกระทําของทั้งคู่ถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงข้อกําหนดห้ามโอนตามกฎหมาย

ดังนั้น นิติกรรมในรูปสัญญาเช่าซื้อของนายเอกและนายโท จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายและมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 150

และเมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างนายเอกและนายโทเป็นโมฆะ ดังนั้น เมื่อนายเอกชําระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว นายเอกจะยกเอาสัญญาเช่าซื้อขึ้นมาเพื่อบังคับให้นายโทโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ตนไม่ได้

สรุป สัญญาเช่าซื้อระหว่างนายเอกและนายโทมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และ มีผลเป็นโมฆะ นายเอกจะยกสัญญาเช่าซื้อขึ้นเพื่อบังคับนายโทให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ตนไม่ได้

 

ข้อ 2 นายจันทร์ทําสัญญาร่วมทุนกับนายอังคาร แต่เนื้อหาของสัญญาเป็นเรื่องเช่าทรัพย์อยากทราบว่าเป็นนิติกรรมอําพรางหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 155 กรณีที่จะเป็นนิติกรรมอําพรางนั้นจะต้องมีนิติกรรมที่คู่กรณีได้แสดง เจตนาทําขึ้นมา 2 นิติกรรม ได้แก่

นิติกรรมอันที่ 1 เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีได้ทําขึ้นมาและต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย แต่ได้ปิดบังหรืออําพรางไว้ไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นทราบ

นิติกรรมอันที่ 2 เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีได้ทําขึ้นมา แต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย เพียงแต่ทําขึ้นมาโดยเจตนาเพื่อลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าคู่กรณีได้ทํานิติกรรมอันนี้กัน ซึ่งนิติกรรมอันหลังนี้ตามกฎหมายถือว่าเป็นโมฆะ และให้คู่กรณีบังคับกันตามนิติกรรมอันแรกซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอําพราง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ทําสัญญาร่วมทุนกับนายอังคาร แต่เนื้อหาของสัญญาเป็นเรื่องเช่าทรัพย์นั้น เป็นกรณีที่นายจันทร์กับนายอังคารได้ทํานิติกรรมขึ้นมาเพียงนิติกรรมเดียวคือสัญญาร่วมทุน เพียงแต่สัญญาร่วมทุนดังกล่าวมีเนื้อหาของสัญญาเป็นเรื่องเข่าทรัพย์ซึ่งไม่ตรงกับชื่อของสัญญาเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของการเป็นนิติกรรมอําพรางตามมาตรา 150

สรุป

สัญญาร่วมทุนที่ทําขึ้นระหว่างนายจันทร์และนายอังคารไม่เป็นนิติกรรมอําพราง

 

ข้อ 3 นายมานะได้ทําสัญญากู้เงินนางมานี จํานวน 1 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 มีกําหนด ชําระหนี้คืนภายใน 2 ปี และนายมานะได้นําที่ดินหนึ่งแปลงไปจดทะเบียนจํานองเป็นประกันการชําระหนี้

ดังนี้ อยากทราบว่านายมานะจะต้องนําเงินจํานวน 1 แสนบาท ไปชําระหนี้ให้แก่นางมานีเมื่อใดจงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 วรรคสอง “ถ้ากําหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือนหรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทําการงานกันตามประเพณี”

มาตรา 193/5 วรรคสอง “ถ้าระยะเวลามิได้กําหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์ วันต้นแห่งเดือน หรือปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์ เดือน หรือปีสุดท้าย อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้นไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะได้ทําสัญญากู้เงินนางมานีจํานวน 1 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 มีกําหนดชําระคืนภายใน 2 ปีนั้น ตามมาตรา 193/3 วรรคสอง การเริ่มต้นนับระยะเวลา มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน แต่ให้นับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ดังนั้น วันที่ 20 สิงหาคม 2564 จึงเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา

และเมื่อวันเริ่มต้นคือวันที่ 20 สิงหาคม 2564 มิใช่วันต้นแห่งปี ดังนั้น ระยะเวลา 2 ปี ย่อมสิ้นสุดลง ในวันก่อนหน้าจะถึงปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้นคือวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ตามมาตรา 193/5 วรรคสอง นายมานะจึงต้องนําเงินจํานวน 1 แสนบาท ไปชําระหนี้ให้แก่นางมานี้ภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2566

สรุป นายมานะจะต้องนําเงินจํานวน 1 แสนบาท ไปชําระหนี้ให้แก่นางมานี ภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2566

 

ข้อ 4 นายฟ้าลั่นตกลงซื้อที่ดิน 3 ไร่ จากนายสมชาย เป็นเงิน 10,000,000 บาท โดยนายฟ้าลั่นและนายสมชายได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันและตกลงไปโอนกรรมสิทธิ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยังได้กําหนดว่า หากนายสมชายไม่อาจจะขายที่ดินให้แก่นายฟ้าลั่นได้เพราะความผิดของนายสมชายไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นายสมชายจะต้องชําระค่าปรับ ให้แก่นายฟ้าลั่นเป็นเงิน 500,000 บาท ปรากฏว่าก่อนถึงวันครบกําหนดโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 2 เดือน ทางภาครัฐได้เวนคืนที่ดินของนายสมชายทั้งแปลง เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของโครงการ ทางด่วนใหม่ที่จะมีการก่อสร้างขึ้น ต่อมาเมื่อถึงวันโอนกรรมสิทธิ์ นายสมชายไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินให้แก่นายฟ้าลั่นได้ นายฟ้าลั่นจึงเรียกร้องให้นายสมชายชําระค่าปรับ 500,000 บาท จากเหตุที่นายสมชายไม่อาจขายที่ดินให้แก่ตนได้

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายสมชายต้องชําระค่าปรับแก่นายฟ้าลั่นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่ง เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

มาตรา 372 วรรคหนึ่ง “นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชําระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชําระหนี้ตอบแทนไม่”

วินิจฉัย

มาตรา 372 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักไว้ว่า ถ้าการชําระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนตกเป็นพ้นวิสัย เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชําระหนี้ได้ ลูกหนี้ก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชําระหนี้ตอบแทน

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายฟ้าลั่นตกลงซื้อที่ดิน 3 ไร่ จากนายสมชายเป็นเงิน 10 ล้านบาท โดยนายฟ้าลั่นและนายสมชายได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน และตกลงไปโอนกรรมสิทธิ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าและในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยังได้กําหนดว่าหากนายสมชายไม่อาจขายที่ดินแก่นายฟ้าลั่นได้เพราะความผิดของนายสมชายไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นายสมชายจะต้องชําระค่าปรับให้แก่นายฟ้าลั่น เป็นเงิน 5 แสนบาทนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายฟ้าลั่นและนายสมชายถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจํานวนเนื้อที่ที่จะซื้อสําหรับนายฟ้าลั่น และการรับชําระค่าที่ดินสําหรับนายสมชาย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนถึงวันกําหนดโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินประมาณ 2 เดือน ทางภาครัฐ ได้เวนคืนที่ดินของนายสมชายทั้งแปลงเนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านของโครงการทางด่วนใหม่ที่จะมีการก่อสร้างขึ้น ทําให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นอันพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งนายสมชายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ นายสมชายลูกหนี้จึงเป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้นตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง และกรณีดังกล่าวถือได้ว่า การชําระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ตามมาตรา 372 วรรคหนึ่งด้วย ดังนั้น ในกรณีนี้นายสมชาย จะขอรับชําระค่าที่ดินไม่ได้ และนายฟ้าลั่นก็ไม่อาจจะเรียกค่าปรับจํานวน 5 แสนบาท จากนายสมชายได้ เช่นเดียวกัน เนื่องจากการชําระหนี้ตกเป็นอันพ้นวิสัยดังกล่าวนั้นเป็นเหตุให้นายสมชายไม่ต้องรับผิดชอบ

สรุป

นายสมชายไม่ต้องชําระค่าปรับแก่นายฟ้าลั่นด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

Advertisement