การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายแดงทําสัญญาว่าจ้างนายดําให้ไปทําร้ายร่างกายนายเขียวซึ่งเป็นคู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท นายดําเกรงว่านายแดงจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลงกับนายแดง ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่ นายแดงและนายดําทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้นปรากฏภายหลังจากที่นายดําไปทําร้ายร่างกายนายเขียวแล้ว นายแดงกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายดําแต่อย่างใด ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดําสามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบหลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงทําสัญญาว่าจ้างนายดําให้ไปทําร้ายร่างกายนายเขียวซึ่งเป็นคู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท และนายดําเกรงว่านายแดงจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลงกับนายแดงให้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับหนึ่ง เพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่นายแดงและนายดําทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นกรณีของการทํานิติกรรมอําพรางตาม มาตรา 155 วรรคสอง กล่าวคือ ระหว่างนายแดงและนายดํานั้น ได้มีการทํานิติกรรมกัน 2 ฉบับ คือ สัญญาจ้าง และสัญญากู้ยืมเงิน

สัญญากู้ยืมเงินที่นายแดงและนายดําได้ทําขึ้นนั้น เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นนิติกรรมที่ทําขึ้นเพื่อต้องการปิดบังหรืออําพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งคือสัญญาว่าจ้าง ให้ทําร้ายร่างกายนายเขียว ดังนั้น นิติกรรมในรูปสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง โดยการสมรู้ร่วมคิดกันในระหว่างคู่กรณี และมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องนํานิติกรรมที่ถูก อําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายมาใช้บังคับระหว่างคู่กรณีตามมาตรา 155 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนิติกรรมที่ถูกอําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายนายเขียวนั้น ถือว่าเป็น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า นายดําได้ไปทําร้ายร่างกายนายเขียวแล้ว แต่นายแดงกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายดําตามสัญญาฯ นายดํา ก็ไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญาใด ๆ ได้เลย

สรุป นายดําไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้

 

ข้อ 2 นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลังหรือไม่จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 172 วรรคสอง “ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นําบทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “โมฆยกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นิติกรรมที่เป็นโมฆะจะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลัง ดังนี้ คือ

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ทําให้บุคคลใดหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิม เสมือนว่ามิได้เข้าทํานิติกรรมแต่ประการใดเลย

และในกรณีที่ต้องมีการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คู่กรณีฝ่ายที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เขาไปนั้น ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้

ตัวอย่าง ก. และ ข. ได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่งในราคา 100,000 บาท โดยทั้งสองได้ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ข. ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้กระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ดังนี้ ก. จะบังคับให้ ข. ส่งมอบที่ดินหรือ โอนที่ดินให้แก่ ก. ไม่ได้ และ ข. ก็จะบังคับให้ ก. ชําระราคาค่าซื้อขายที่ดินให้แก่ ข. ไม่ได้เช่นกัน

ในกรณีที่ ก. ได้ชําระราคาค่าที่ดินให้แก่ ข. แล้ว ดังนี้ ก. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ข. คืนเงินให้แก่ตนได้ หรือถ้า ข. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ ก. แล้ว ข. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินคืนจาก ก. ได้ โดยอาศัยหลักกฎหมาย ว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ เป็นนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอกล้าง ให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเสียเปล่าได้

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เมื่อมีการบอกล้างแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และ ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ต้องมีการคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ เช่น ทรัพย์สินที่จะต้องส่งคืนนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ฝ่ายที่ต้องส่งคืนนั้น ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินนั้น

ตัวอย่าง ก. ทํากลฉ้อฉลเอาแหวนทองเหลืองมาหลอกขายให้ ข. โดยหลอกลวงว่าเป็นแหวนทองคํา เมื่อ ข. รู้ความจริงจึงบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่เป็นโมฆยะ ดังนี้ ก. ก็ต้องใช้เงินราคาแหวนที่รับไปคืนให้ ข. และ ข. ก็ต้องคืนแหวนทองเหลืองให้ ก. หรือถ้าคืนไม่ได้ เช่น เป็นเพราะแหวนทองเหลืองนั้นสูญหายไปแล้ว ดังนี้ ข. ก็ต้องชดใช้ราคาแหวนทองเหลืองนั้นให้แก่ ก. ตามราคาของแหวนทองเหลือง

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2551 นายสมชายได้ทําสัญญากู้เงินจากนายสมปองจํานวน 1,000,000 บาท โดยมีนายสมคิดเป็นผู้ค้ำประกัน หนี้รายนี้มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 9 มีนาคม 2552 เมื่อหนี้ ถึงกําหนดชําระนายสมชายไม่มีเงินมาชําระหนี้ ซึ่งนายสมปองได้ติดตามทวงถามตลอดมาเป็นเวลา หลายปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 นายสมชายได้รับมรดกจากมารดา นายสมชายจึงได้นํา เงินไปชําระให้แก่นายสมปองจํานวน 500,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว อีกทั้งนายสมชายได้เขียนหนังสือให้แก่นายสมปองไว้หนึ่งฉบับมีข้อความว่า นายสมชายยอมรับว่า ตนเป็นหนี้จริง แต่จะขอนําเงินส่วนที่เหลือมาชําระให้แก่นายสมปองอีก 500,000 บาท ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ครั้นถึงกําหนดวันชําระหนี้นายสมชายก็ไม่ยอมนําเงินมาชําระหนี้ให้นายสมปองอีก ดังนี้ อยากทราบว่า

(ก) ถ้านายสมชายทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว นายสมชายจะเรียกเงินที่ ชําระไปแล้ว 500,000 บาท คืนจากนายสมปองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) การที่นายสมชายไม่นําเงินมาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นายสมปอง จะฟ้องนายสมชายและนายสมคิดให้รับผิดในเงินจํานวน 500,000 บาท ได้หรือไม่ และ นายสมชายและนายสมคิดจะปฏิเสธการชําระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิ

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกันหรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับ สภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/28 “การชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใด จะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”

มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพ ความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกําหนดอายุความ สองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายสมปองเป็นเงินจํานวน 1,00,000 บาท มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 9 มีนาคม 2552 เมื่อถึงกําหนดนายสมชายไม่นําเงินมาชําระอายุความจึงเริ่มนับ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 10 มีนาคม 2552 และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกําหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนําอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คือ อายุความ 10 ปีมาใช้บังคับ ดังนั้นกรณีนี้อายุความ 10 ปี จึงครบกําหนดในวันที่ 9 มีนาคม 2562 เมื่อนายสมปองไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกําหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้อง ของนายสมปองที่มีต่อนายสมชายลูกหนี้ย่อมเป็นอันขาดอายุความ นายสมปองย่อมไม่สามารถฟ้องร้องบังคับให้ นายสมชายชําระหนี้แก่ตนได้ และถ้านายสมปองฟ้องนายสมชายให้ชําระหนี้ นายสมชายย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธ การชําระหนี้นั้นได้ตามมาตรา 193/9 และมาตรา 193/10

และตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้นําเงินบางส่วนไปชําระหนี้แก่นายสมปอง รวมทั้งการที นายสมชายได้ทําหลักฐานเป็นหนังสือให้แก่นายสมปองโดยมีใจความว่านายสมชายจะนําเงินจํานวนที่เหลืออีก 500,000 บาท มาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นั้น ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายสมชายลูกหนี้ รับสภาพหนี้ต่อนายสมปองเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุทําให้ อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 นั้น ต้องเป็นการกระทําก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การกระทําของนายสมชายจึงเป็นการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว และเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28

ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จึงวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายสมชายได้นําเงินไปชําระให้แก่นายสมปองจํานวน 500,000 บาท โดยไม่ทราบว่า สิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วนั้น นายสมชายจะเรียกเงินที่ชําระไปแล้วคืนจากนายสมปองไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่งที่ว่าการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นมิได้ทําให้หนี้นั้นระงับไปแต่อย่างใด

(ข) เมื่อนายสมชายได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือกับนายสมปองว่าจะนําเงิน จํานวน 500,000 บาท มาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิด โดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ ดังนั้นเมื่อนายสมชายไม่นําเงินมาชําระภายในกําหนด นายสมปองย่อมสามารถฟ้องให้นายสมชายชําระหนี้ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1770/2517) โดยนายสมปองจะต้องฟ้องนายสมชายภายในอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับ สภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 แต่นายสมปองจะฟ้องนายสมคิดไม่ได้ เพราะนายสมคิดเป็นผู้ค้ำประกันเต็มที่ไม่ได้รับสภาพความรับผิดเช่นเดียวกับนายสมชาย และตามมาตรา 193/28 วรรคสองตอนท้าย ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า “ แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิม ไม่ได้” กล่าวคือ ถ้านายสมปองฟ้องนายสมคิดผู้ค้ำประกัน นายสมคิดย่อมมีสิทธิยกเอาการที่หนี้ขาดอายุความ ขึ้นต่อสู้นายสมปองได้

สรุป

(ก) นายสมชายจะเรียกเงินที่ชําระไปแล้วจํานวน 500,000 บาท คืนจากนายสมปองไม่ได้

(ข) การที่นายสมชายไม่นําเงินมาชําระให้แก่นายสมปองในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นายสมปองสามารถฟ้องให้นายสมชายรับผิดในเงินจํานวน 500,000 บาทได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ ได้รับสภาพความรับผิดนั้น แต่นายสมปองจะฟ้องนายสมคิดผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้ ถ้านายสมปองฟ้องนายสมคิด นายสมคิดย่อมสามารถปฏิเสธการชําระหนี้ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 4 นายหนึ่งได้คัดเลือกส้มเขียวหวานหยิบใส่ถุงแล้วชั่งจนได้น้ำหนัก 3 กิโลกรัม แต่เนื่องจากนายหนึ่ง ต้องการจะเดินไปซื้อเนื้อสัตว์รวมถึงผักและของใช้อื่น ๆ ในตลาดสด จึงได้ฝากส้มเขียวหวานที่ซื้อไว้กับนายสองผู้ขาย โดยเมื่อซื้อสิ่งอื่นครบถ้วนแล้วจะกลับมารับเอาส้มเขียวหวานกลับไป ปรากฏว่า ในระหว่างที่นายหนึ่งเลือกซื้อสินค้าอื่นได้มีรถกระบะวิ่งพุ่งชนร้านขายผลไม้ของนายสองเสียหายทั้งหมด ดังนี้ ถ้านายหนึ่งยังไม่ได้ชําระราคาส้มเขียวหวาน นายสองจะมีสิทธิเรียกให้นายหนึ่ง ชําระค่าส้มเขียวหวาน 3 กิโลกรัมนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 วรรคหนึ่ง “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ตกลงซื้อส้มเขียวหวานจากนายสองจํานวน 3 กิโลกรัม โดย นายหนึ่งได้คัดเลือกส้มเขียวหวานหยิบใส่ถุงแล้วชั่งจนได้น้ำหนัก 3 กิโลกรัมแล้ว แต่เนื่องจากนายหนึ่งต้องการ จะเดินไปซื้อเนื้อสัตว์รวมถึงผักและของใช้อื่น ๆ ในตลาดสด จึงได้ฝากส้มเขียวหวานที่ซื้อไว้กับนายสองผู้ขาย โดยเมื่อซื้อสิ่งอื่นครบถ้วนแล้วจะกลับมารับเอาส้มเขียวหวานกลับไปนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างนายหนึ่งและ นายสองเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า

หลังจากที่ได้ทําสัญญากันเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างที่นายหนึ่งเลือกซื้อสินค้าอื่นได้มีรถกระบะวิ่งพุ่งชนร้านขายผลไม้ ของนายสองเสียหายทั้งหมด ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ทรัพย์เฉพาะสิ่งอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายหรือเสียหายไป ด้วยเหตุอันจะโทษนายสองลูกหนี้ (ในอันที่จะต้องส่งมอบส้มเขียวหวาน) มิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นย่อมตกเป็นพับ แก่นายหนึ่งเจ้าหนี้ (ในอันที่จะได้รับมอบส้มเขียวหวาน) ตามมาตรา 370 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น ถ้านายหนึ่งยังไม่ได้ชําระราคาส้มเขียวหวาน นายสองย่อมมีสิทธิเรียกให้นายหนึ่งชําระค่า ส้มเขียวหวาน 3 กิโลกรัมได้

สรุป นายสองมีสิทธิเรียกให้นายหนึ่งชําระราคาค่าส้มเขียวหวาน 3 กิโลกรัมได้

Advertisement