การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ฮานส์เป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสวนมะม่วงในจังหวัดอ่างทองซึ่งอยู่ติดกับที่ดินว่างเปล่าของทิม ฮานส์เห็นว่าทิมย้ายไปทํางานที่กรุงเทพฯ เป็นเวลานาน ไม่เคยกลับมาที่จังหวัดอ่างทองเป็นเวลา เกือบสิบปีแล้ว ฮานส์จึงได้ปลูกต้นมะม่วงซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุกว่าสามปีลงในที่ดินของทิม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทิมแต่อย่างใด ภายหลังต่อมาเมื่อต้นมะม่วงโตได้สองปี ทิมทราบว่าฮานส์ ได้ปลูกต้นมะม่วงกว่า 300 ต้น ในที่ดินของตน จึงห้ามไม่ให้ฮานส์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับต้นมะม่วง ที่ปลูกในที่ดินของทิมอีกต่อไป ฮานส์อ้างว่าถึงแม้ตนจะไม่ได้รับอนุญาตจากทิมก่อน แต่ต้นมะม่วง ที่อยู่ในที่ดินของทีมเพิ่งมีอายุเพียงสองปีเท่านั้น จึงยังไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และทิมสามารถถอนต้นมะม่วงไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นได้

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าฮานส์หรือทิมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วงที่พิพาทดีกว่ากัน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 144 “ส่วนควบของทรัพย์ หมายความว่า ส่วนซึ่งโดยสภาพแห่งทรัพย์หรือโดยจารีตประเพณี แห่งท้องถิ่นเป็นสาระสําคัญในความเป็นอยู่ของทรัพย์นั้น และไม่อาจแยกจากกันได้นอกจากจะทําลาย ทําให้บุบสลาย หรือทําให้ทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปทรงหรือสภาพไป

เจ้าของทรัพย์ย่อมมีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์นั้น”

มาตรา 145 วรรคหนึ่ง “ไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบกับที่ดินที่ไม้นั้นขึ้นอยู่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ฮานส์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่เป็นสวนมะม่วงและอยู่ติดกับที่ดินว่างเปล่าของทิม ได้ปลูกต้นมะม่วงซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุกว่าสามปีซึ่งถือว่าเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นลงในที่ดินของทิมกว่า 300 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทิมแต่อย่างใดนั้น ต้นมะม่วงย่อมถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทิมเจ้าของที่ดินตามมาตรา 144 วรรคสอง แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าฮานส์ได้ปลูกต้นมะม่วงไว้เพียงสองปีก็ตาม ดังนั้น เมื่อทิมทราบจึงห้ามไม่ให้ฮานส์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับต้นมะม่วงที่ปลูกในที่ดินของทิมอีกต่อไป ฮานส์จะอ้างว่าถึงแม้ตนจะไม่ได้รับอนุญาตจากทิมก่อน แต่ต้นมะม่วงที่อยู่ในที่ดินของทีมเพิ่งมีอายุเพียงสองปีเท่านั้น จึงยังไม่เป็นส่วนควบกับที่ดิน และทิมสามารถถอนต้นมะม่วงไปปลูกในที่ดินแปลงอื่นได้นั้นย่อมไม่อาจอ้างได้

สรุป ทิมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในต้นมะม่วงที่พิพาทดีกว่าฮานส์

 

ข้อ 2 นายปุ่มซื้อนาฬิกามือสองเรือนหนึ่งในราคา 150,000 บาท จากร้านขายและรับซ่อมนาฬิกาของนายตึกเพื่อนสนิทที่เปิดทําการอยู่ริมถนนรามคําแหง โดยมาเลือกซื้อในวันหยุดของร้าน และเข้าไปเลือกสินค้ากันในห้องรับแขกหลังร้าน หลังจากซื้อมาใช้ได้ 1 เดือน นายอั้มผู้เป็นเจ้าของนาฬิกา ที่แท้จริงได้ติดต่อมาที่นายปุ่มขอให้นายปุ่มนํานาฬิกามาคืนให้ตน มิฉะนั้นจะถือว่านายปุ่มและนายตึกเจ้าของร้านขายนาฬิการ่วมกันกระทําผิดฐานรับของโจรเนื่องจากเป็นนาฬิกาที่ถูกขโมยมา

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายปุ่มจะต้องคืนนาฬิกาให้แก่นายอั้มหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1332 “บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตในการขายทอดตลาด หรือในท้องตลาด หรือ จากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ไม่จําต้องคืนให้แก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย บุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินมาโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดของเอกชน หรือในท้องตลาด หรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 คือ แม้เจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงจะติดตามทวงคืน ก็ไม่จําต้องคืนทรัพย์สินให้แก่เจ้าของ เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะชดใช้ราคาที่ตนซื้อมา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปุ่มได้ซื้อนาฬิกามือสองเรือนหนึ่งในราคา 150,000 บาท จากร้านขาย และรับซ่อมนาฬิกาของนายตึกเพื่อนสนิทที่เปิดทำการอยู่ริมถนนรามคําแหงนั้น ถือเป็นการซื้อสินค้าจากร้านที่ ประกอบกิจการขายสินค้าประเภทนาฬิกา ซึ่งอยู่ในความหมายของ “พ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น” ตามนัยมาตรา 1332 แล้ว แต่อย่างไรก็ดี การที่นายปุ่มได้ไปซื้อนาฬิกาในวันที่ร้านหยุดและเข้าไปเลือกสินค้ากันในห้องรับแขก หลังร้านนั้น ย่อมถือว่าเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ดังนั้น นายปุ่มจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1332 นายปุ่ม จะอ้างมาตรา 1332 ขึ้นมาต่อสู้นายอั้มผู้เป็นเจ้าของนาฬิกาที่แท้จริงไม่ได้ นายปุ่มจึงต้องคืนนาฬิกาให้แก่นายอั้มโดยไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้ว่าตนไม่ต้องคืนจนกว่าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา

สรุป นายปุ่มจะต้องคืนนาฬิกาให้แก่นายอั้ม

 

ข้อ 3 นายมืดและนายม้วนบุตรชายครอบครองปรปักษ์ทําเกษตรกรรมในที่ดินมีโฉนดในจังหวัดสุรินทร์ของนายสว่างมาได้ 5 ปี นายมืดก็ถึงแก่กรรม นายม้วนบุตรชายของนายมืดไม่สนใจที่จะทําเกษตรต่อ และอยากไปเปิดร้านอาหารที่จังหวัดเชียงใหม่ นายม้วนจึงไปเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่ตามที่ตั้งใจ เป็นเวลา 1 ปี โดยที่มิได้กลับมาดูแลที่ดินดังกล่าวเลย ต่อมาเศรษฐกิจตกต่ำและคู่แข่งร้านอาหาร มีมาก ร้านอาหารของนายม้วนขาดทุนจนต้องปิดกิจการ นายม้วนจึงคิดกลับมาทําเกษตรบนที่ดิน แปลงเดิมของนายสว่างต่อ เมื่อนายม้วนกลับมาปลูกข้าวบนที่ดินของนายสว่างไปได้เป็นเวลา 4 ปี นายสว่างทราบเรื่องจึงมาไล่นายม้วนออกจากที่ดินของตน นายม้วนไม่ยอมออกจากที่ดินของนายสว่าง จนเมื่อนายม้วนครอบครองที่ดินของนายสว่างโดยใช้ปลูกข้าวต่อไปอีก 1 ปี นายสว่าง จึงฟ้องขับไล่นายม้วน นายม้วนอ้างว่าตนได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายสว่างเนื่องจากนายม้วนได้ครองครอบที่ดินของนายสว่างจนครบ 10 ปีแล้ว

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายม้วนจะอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายสว่างขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับนายสว่างได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1384 “ถ้าผู้ครอบครองขาดยึดถือทรัพย์สินโดยไม่สมัคร และได้คืนภายในเวลาปีหนึ่ง นับตั้งแต่วันขาดยึดถือหรือได้คืนโดยฟ้องคดีภายในกำหนดนั้นไซร้ ท่านมิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมืดและนายม้วนบุตรชายครอบครองปรปักษ์ทำเกษตรกรรมในที่ดิน มีโฉนดในจังหวัดสุรินทร์ของนายสว่างมาได้ 5 ปีนั้น ถือว่านายมืดและนายม้วนเป็นผู้ครอบครองที่ดินของผู้อื่น โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันได้เพียง 5 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามมาตรา 1382 และเมื่อนายมืดถึงแก่กรรม นายม้วนบุตรชายของนายมืดไม่สนใจที่จะทําเกษตรต่อ จึงได้ไปเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่เป็นเวลา 1 ปี โดยมิได้กลับมาดูแลที่ดินดังกล่าวเลย ย่อมถือว่านายม้วนมีเจตนาสละการครอบครองที่ดินไปโดยสมัครใจ สิทธิการครอบครองของนายม้วนจึงสิ้นสุดลงตามมาตรา 1384

เมื่อนายม้วนกลับมาปลูกข้าวบนที่ดินของนายสว่างใหม่อีกครั้งจึงต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาการครอบครองใหม่ และเมื่อปรากฏว่านายม้วนได้ครอบครองที่ดินในครั้งหลังนี้ได้เพียง 4 ปี ก็ถูกนายสว่างเจ้าของที่ดินมาไล่ แต่นายม้วนไม่ยอมออกจากที่ดินของนายสว่าง กรณีนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยไม่สงบ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อนายม้วนครอบครองที่ดินของนายสว่างโดยใช้ปลูกข้าวต่อไปอีก 1 ปี รวมเป็นเวลา 5 ปี นายสว่างก็ฟ้องขับไล่ นายม้วน ดังนี้เมื่อนายม้วนได้ครอบครองที่ดินของนายสว่างได้เพียง 5 ปี นายม้วนจะอ้างว่าตนได้ครองครอบปรปักษ์ ที่ดินของนายสว่างครบ 10 ปีแล้ว และได้กรรมสิทธิ์ที่ดินของนายสว่างแล้วขึ้นต่อสู้นายสว่างไม่ได้

สรุป

นายม้วนจะอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของนายสว่างขึ้นเป็น ข้อต่อสู้นายสว่างไม่ได้

 

ข้อ 4 ลิซ่าเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของมินนี่ปลูกบ้านอยู่ โดยลิซ่าได้ใช้ทางผ่านที่ดินของซูซี่เพื่อนสนิทของตน ซึ่งมีที่ดินติดกันกับที่ดินของมินนี่เพื่อเดินไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ และยังใช้ทางเดินรถที่อยู่ใน ที่ดินของซูซี่เป็นทางผ่านในการขับรถออกไปทำงานด้วย โดยซูซี่อนุญาตให้ลิซ่าใช้ที่ดินของตน เพื่อการดังกล่าวได้ เมื่อลิซ่าใช้ที่ดินไปได้ 12 ปี ซูซี่ต้องการย้ายทางเดินรถให้ไปอยู่อีกฟากหนึ่ง ของที่ดินซึ่งจะทำให้ลิซ่าต้องใช้เวลานานขึ้นในการผ่านที่ดินของซูซี่ออกไปสู่ถนน

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าลิซ่าจะอ้างได้หรือไม่ว่าตนเองได้ภาระจํายอมโดยอายุความแล้ว และการย้ายทางเดินรถของซูซี่ทําให้ลิซ่าได้รับความสะดวกลดลง ซูซี่จึงมิอาจกระทําได้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรม บางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1392 “ถ้าภาระจํายอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียก ให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ์นี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

วินิจฉัย

การได้ภาระจํายอมตามมาตรา 1387 โดยอายุความครอบครองปรปักษ์นั้น ถือเป็นการได้ทรัพยสิทธิ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งตามมาตรา 1401 บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตาม มาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้องใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็น เวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลิซ่าเช่าที่ดินของมินนี่ปลูกบ้านอยู่ โดยลิซ่าได้ใช้ทางผ่านที่ดินของซูซี่ เพื่อนสนิทของตนเพื่อเดินไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อและใช้ทางเดินรถที่อยู่ในที่ดินของซูซี่เป็นทางผ่านในการขับรถ ออกไปทํางานโดยซูซี่อนุญาตนั้น ถึงแม้ว่าลิซ่าจะได้ใช้ที่ดินไปได้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี แต่ลิซ่าก็ไม่ได้ภาระจํายอม โดยการครอบครองปรปักษ์เพราะเป็นการใช้ทางโดยเจ้าของอนุญาตตามมาตรา 1387 ประกอบมาตรา 1401 และมาตรา 1382 และเมื่อลิซ่าไม่ได้ภาระจํายอม ดังนั้น ซูซี่จึงสามารถย้ายทางเดินรถให้ไปอยู่อีกฟากหนึ่งของ ที่ดินได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคํานึงว่าลิซ่าจะได้รับความสะดวกน้อยลงหรือไม่ตามมาตรา 1392

สรุป

ลิซ่าจะอ้างว่าตนเองได้ภาระจํายอมโดยอายุความแล้ว และการย้ายทางเดินรถของซูซี่ทําให้ ลิซ่าได้รับความสะดวกลดลง ซูซี่มิอาจกระทําได้นั้นไม่ได้

Advertisement