การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

1 นายมานะได้ทําสัญญาเช่าที่ดินจากนางมานีมีกําหนดเวลา 10 ปี โดยสัญญาเช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่า เมื่อครบกําหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่านั้นให้ผู้เช่าอีก 10 ปี ตามสัญญาเช่าเดิมถ้าผู้เช่าต้องการ ต่อมาอีก 1 เดือนก่อนที่สัญญาเช่าจะครบกําหนด 10 ปี นางมานีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ซึ่งนายมานะก็รู้ว่านางมานีผู้ให้เช่านั้นตาย นายมานะจึงส่งจดหมายแจ้งความประสงค์เช่าที่ดินดังกล่าวนั้นต่อนางสาวชูใจทายาทของนางมานี เมื่อนางสาวชูใจได้รับจดหมายก็ได้ปฏิเสธในการให้นายมานะเช่าที่ดินดังกล่าวต่อ โดยบอกว่าคํามั่นในการให้เช่าของนางมานีนั้นไม่มีผลผูกพันแล้ว เนื่องจากก่อนที่นายมานะจะส่งจดหมายมาหา นางสาวชูใจนั้น นายมานะรู้อยู่แล้วว่านางมานีตาย ส่วนนายมานะก็ได้โต้แย้งว่ามีผลผูกพันต่อทายาทนางสาวชูใจต้องให้นายมานะเช่าต่อ

จงวินิจฉัยว่า นางสาวชูใจซึ่งเป็นทายาทของนางมานีต้องจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าอีก 10 ปี ให้นายมานะหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง “การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดง เจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ”

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนา อันผู้เสนอได้แสดงหรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในกรณีที่มีการแสดงเจตนาทํานิติกรรมนั้น เมื่อผู้แสดงเจตนา ได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว แม้ภายหลังผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ การแสดงเจตนานั้นก็ไม่เสื่อมเสียไป (มาตรา 169 วรรคสอง) เว้นแต่จะขัดกับเจตนาที่ผู้เสนอได้แสดง หรือหากก่อนมีการสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 360)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมานะได้ทําสัญญาเช่าที่ดินจากนางมานี้มีกําหนด 10 ปี โดยสัญญา เช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่าเมื่อครบกําหนดอายุสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่ายอมจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่านั้นให้ผู้เช่า อีก 10 ปี ตามสัญญาเช่าเดิมถ้าผู้เช่าต้องการนั้น ถือเป็นการแสดงเจตนาในลักษณะคํามั่นจะให้เช่าของนางมานี ซึ่งถือเป็นคําเสนอของนางมานี้ผู้ใช้เช่า

เมื่อต่อมาอีก 1 เดือนก่อนสัญญาเช่าจะครบกําหนด 10 ปี และก่อนที่นายมานะจะทําคําสนองตอบ ต่อคํามั่นจะให้เช่าของนางมานีนั้น นางมานีประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ซึ่งนายมานะก็รู้ว่านางมานีผู้ให้เช่าตาย

กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 360 ซึ่งมิให้นํามาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ จึงมีผลทําให้การแสดงเจตนาคือการให้คํามั่นจะให้เช่าของนางมานีเสื่อมเสียไป คํามั่นจะให้เช่าของนางมานีจึงไม่มีผลใช้บังคับ และเมื่อ นายมานะได้ส่งจดหมายแจ้งความประสงค์จะเช่าที่ดินดังกล่าวนั้นต่อนางสาวชูใจทายาทนางมานีจึงถือว่ามีแต่เพียงคําสนองของนายมานะแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยมิได้มีคําเสนอ เนื่องจากคําเสนอหรือคํามั่นจะให้เช่านั้นได้สิ้นผลไปแล้ว เมื่อนางมานีผู้แสดงเจตนาตาย ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่มีผลผูกพันนางสาวชูใจซึ่งเป็นทายาทของนางมานีแต่อย่างใด นางสาวชูใจจึงไม่ต้องจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าอีก 10 ปีให้นายมานะ

สรุป นางสาวชูใจซึ่งเป็นทายาทของนางมานี้ไม่ต้องจดทะเบียนต่ออายุสัญญาเช่าอีก 10 ปี ให้นายมานะ

 

ข้อ 2 นายเอกทําสัญญาซื้อขายที่ดินเพื่อจะดําเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ โดยนายเอก ไม่ทราบเลยว่าที่ดินที่ตนซื้อไปนั้นอยู่ในเขตประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ภายหลังจากที่นายเอกซื้อที่ดินได้ไม่นาน นายเอกได้ยื่นขออนุญาตจากทางราชการ เพื่อทําการก่อสร้างโรงงานของตน แต่ทางราชการกลับแจ้งเป็นหนังสือให้ทราบว่านายเอก ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง เนื่องจากที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นายเอก รู้สึกหนักใจเป็นอย่างมาก เพราะหากได้ทราบว่าที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นายเอกคงไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเลย

เช่นนี้ อยากทราบว่าสัญญาซื้อขายที่ดินมีผลทางกฎหมายเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ ความสําคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสําคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสําคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสําคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทําขึ้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญาซื้อที่ดินเพื่อจะดําเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษโดยไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม

ถือว่านายเอกได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นสาระสําคัญ เพราะถ้านายเอก มิได้สําคัญผิด คือทราบความจริงดังกล่าว นายเอกก็คงจะไม่ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวเลย ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดิน ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 ซึ่งนายเอกสามารถบอกล้างได้ และเมื่อนายเอกได้บอกล้างแล้ว สัญญาซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรก

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ เพราะนายเอกได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นสาระสําคัญตามมาตรา 157

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นายสมชายได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ 1 คัน จากบริษัท ไทยรถเช่า จํากัด เพื่อไปท่องเที่ยวที่จังหวัดสงขลาเป็นเวลา 20 วัน โดยตกลงค่าเช่าวันละ 4,000 บาท นายสมชาย ต้องนํารถยนต์มาคืนในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 พร้อมทั้งชําระเงินจํานวน 80,000 บาท หลังจากนายสมชายกลับมาจากจังหวัดสงขลาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 แล้ว นายสมชาย ไม่ยอมชําระค่าเช่าให้แก่บริษัทฯ โดยอ้างว่ายังไม่มีเงินแล้วจะนํามาชําระให้ในภายหลัง ทางบริษัทฯ ได้ทวงถามเรื่อยมาจนกระทั้งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษจะครบกําหนด อายุความ 2 ปี นายสมชายได้นําเงินไปชําระให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินจํานวน 8,000 บาท หลังจากนั้น ก็ไม่นํามาชําระให้อีกเลย จนกระทั้งวันที่ 1 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ ได้นําคดีมาฟ้องศาล นายสมชายต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว

อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายสมชายฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกําหนดอายุความ 2 ปี

(6) ผู้ประกอบธุรกิจในการเช่าอสังหาริมทรัพย์เรียกเอาค่าเช่า

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ เมื่อเหตุที่ทําให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ 1 คัน จากบริษัท ไทยรถเช่า จํากัด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นเวลา 20 วัน โดยตกลงค่าเช่าวันละ 4,000 บาท เป็นจํานวนเงิน 80,000 บาท ซึ่งนายสมชายต้องนํารถยนต์มาคืนในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 พร้อมทั้งชําระเงินจํานวน 80,000 บาท แต่เมื่อหนี้ถึงกําหนด นายสมชายไม่ได้นําเงินมาชําระ ดังนี้อายุความ 2 ปี จึงเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ตามาตรา 193/12 และจะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555

การที่นายสมชายได้นําเงินบางส่วนไปชําระหนี้ให้แก่บริษัท ไทยรถเช่า จํากัด เป็นจํานวนเงิน 8,000 บาท ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษจะครบกําหนดอายุความ 2 ปีนั้น การกระทําของนายสมชายลูกหนี้ดังกล่าวย่อมถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) ดังนั้น อายุความ 2 ปี จึงต้องเริ่มต้นนับใหม่ คือต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ตามมาตรา 193/15 และ จะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท ไทยรถเช่า จํากัด ได้นําคดีมาฟ้องนายสมชาย ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จึงเป็นการฟ้องในขณะที่คดียังไม่ขาดอายุความเพราะเป็นการฟ้องคดีไม่เกินวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566

การที่นายสมชายต่อสู่ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ข้อต่อสู้ของนายสมชายจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของนายสมชายที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายเอกทําจดหมายเสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายโทในราคา 2,000,000 บาทโดยข้อความตอนหนึ่งในจดหมายระบุว่า หากนายโทมีความประสงค์จะซื้อที่ดินตามคําเสนอนี้ ให้ตอบกลับมาภายใน 60 วัน เมื่อนายโทได้รับจดหมายแล้วจึงรีบโทรศัพท์ตอบกลับมายังนายเอก ความว่า นายโทตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่นายเอกได้เสนอขายมา แต่ขอลดราคาลงเหลือเพียง 900,000 บาท

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การตอบรับของนายโทภายในกําหนด 60 วันนั้น เป็นคําเสนอขึ้นใหม่หรือไม่ และสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายเอกและนายโทเกิดขึ้นแล้วหรือยัง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 357 “คําเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากําหนด ดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คําเสนอนั้น ท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป”

มาตรา 359 วรรคสอง “คําสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจํากัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่น ประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคําบอกปัดไม่รับทั้งเป็นคําเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกได้ทําจดหมายเสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นายโท ในราคา 2,000,000 บาท โดยมีข้อความตอนหนึ่งในจดหมายระบุว่า หากนายโทมีความประสงค์จะซื้อที่ดินตามคําเสนอนี้ให้ตอบกลับมาภายใน 60 วันนั้น ถือเป็นคําเสนอ และเมื่อนายโทได้รับจดหมายแล้ว จึงรีบโทรศัพท์ ตอบกลับมายังนายเอกว่า นายโทตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามที่นายเอกได้เสนอขายมา แต่ขอลดราคาลงเหลือเพียง 900,000 บาท ไม่เต็มตามราคาที่นายเอกเสนอนั้น ถือเป็นคําสนองที่มีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วย จึงถือเป็นคําบอกปัดไม่รับคําเสนอของนายเอก ทําให้คําเสนอของนายเอกเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป และให้ถือว่าคําสนองดังกล่าวของนายโทเป็นคําเสนอขึ้นใหม่ด้วย ตามมาตรา359 วรรคสอง ประกอบมาตรา 357 ดังนั้น สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างนายเอกและนายโทจึงยังไม่เกิดขึ้น สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายเอก และนายโทจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายเอกได้สนองรับคําเสนอขึ้นใหม่ของนายโทแล้ว

สรุป

การตอบรับของนายโทภายในกําหนด 60 วันนั้น เป็นคําเสนอขึ้นใหม่ และสัญญาจะซื้อจะขาย ระหว่างนายเอกและนายโทยังไม่เกิดขึ้น โดยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายเอกได้สนองรับคําเสนอขึ้นใหม่ของนายโทแล้ว

Advertisement