การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ในปีภาษี  2551  นายยูโร  ชาวเยอรมันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ได้เดินทางเข้ามาแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทยเป็นเวลา  30  วัน  ได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวน  500,000  บาท  โดยบริษัทฯผู้ว่าจ้างจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนายยูโรที่ประเทศเยอรมันภายในวันที่  30  ธันวาคม  2551  จงวินิจฉัยว่า  นายยูโรต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรให้กับประเทศไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  41  วรรคแรก  ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

วินิจฉัย

โดยหลัก  ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย  ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย  ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้นเกิดเนื่องจาก

1       หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย  หรือ

2       กิจการที่ทำในประเทศไทย  หรือ

3       กิจการของนายจ้างในประเทศไทย  หรือ

4       ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

นายยูโร  ชาวเยอรมัน  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ได้เดินทางเข้ามาแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในประเทศไทย  โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวน  500,000  บาท  ซึ่งค่าตอบแทนที่นายยูโรได้รับดังกล่าวถือว่าเป็นเงินได้  เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย  ดังนั้น  นายยูโรจึงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย  ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร  มาตรา  41  วรรคแรก  ทั้งนี้  โดยไม่คำนึงว่านายยูโรจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่  และไม่ว่าเงินได้ดังกล่าวจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม

สรุป  นายยูโรจะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ตามประมวลรัษฎากรให้กับประเทศไทย

 

ข้อ  2  ในปีภาษี  2551  เด็กชายดำอายุ  10 ปี  กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่  4  (ป.4)  ของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง  โดยมีนายเอกเป็นบิดาประกอบอาชีพรับราชการได้รับเงินเดือนตลอดทั้งปี  จำนวน  500,000  บาท  และนางโทมารดา  มีอาชีพขายของชำได้รับเงินตลอดทั้งปี  800,000  บาท  ปรากฏว่าเด็กชายดำได้รับเงินจากการถ่ายแบบโฆษณาจำนวน  200,000  บาท  นายเอกและนางโทได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  จงวินิจฉัยว่า  นายเอก  นางโท  และเด็กชายดำ  มีหน้าที่ในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  40  เงินได้พึงประเมินนั้น  คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้  รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอาการที่ผู้จ่ายเงิน  หรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆดังกล่าว  ไม่ว่าในทอดใด

(1) เงินได้เนื่องจากการจ้างงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน  ค่าจ้าง  เบี้ยเลี้ยง  โบนัส  เบี้ยหวัด  บำเหน็จ  บำนาญ  เงินค่าเช่าบ้าน  เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า  เงินที่นายจ้างชำระหนี้ใดๆซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ  และเงิน ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์ใดๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

(8) เงินได้จากการธุรกิจ  การพาณิชย์  การเกษตร  การอุตสาหกรรม  การขนส่ง  หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน

(1) ถึง (7) แล้ว

มาตรา  56  วรรคแรก  ให้บุคคลทุกคน  เว้นแต่ผู้เยาว์  หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ  ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  พร้อมทั้งข้อความอื่นๆภายในเดือนมีนาคมทุกๆ  ตามแบบที่อธิบดีกำหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง  ถ้าบุคคลนั้น

(1) ไม่มีสามีหรือภริยา  และมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน  30,000  บาท

มาตรา  56  ทวิ  เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา  56  ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา  56  มาตรา  57 มาตรา  57  ทวิ  และมาตรา  57  ตรี  ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดแสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา  40(5) (6) (7)  หรือ  (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่  ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน  ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี

เงินได้ตามมาตรา  40(5)  ตามวรรคหนึ่ง  ไม่รวมถึงเงินกินเปล่า  เงินช่วยค่าก่อสร้าง  เงินค่าซ่อมแซมค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์

การยื่นรายการตามวรรคหนึ่ง  ให้คำนวณภาษีตามมาตรา  48  โดยหักลดหย่อนตามมาตรา  47  ให้กึ่งหนึ่ง  และชำระภาษีถ้ามี  พร้อมกับการยื่นรายการนั้นต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  56

ภาษีที่ชำระตามวรรคสาม  ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา  57  จัตวา

มาตรา  57  ถ้าผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  56  วรรคหนึ่ง  เป็นผู้เยาว์  ผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ  ให้เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรม  ผู้อนุบาล  ผู้พิทักษ์  หรือผู้จัดการกิจการอันก่อให้เกิด เงินได้พึงประเมินนั้น  แล้วแต่กรณี  ต้องปฏิบัติตามมาตรา  56  วรรคหนึ่ง  และเป็นตัวแทนในการชำระภาษี

มาตรา  57  ตรี  วรรคแรก  ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น  ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี  และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี  แต่ถ้าภาษีค้างชำระและภริยาได้รับแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วันแล้ว  ให้ภริยาร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย

มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก  ถ้าภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว  ไม่ว่าจะมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วยหรือไม่  ภริยาจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40(1)  โดยมิให้ถือว่าเป็นเงินได้ของสามีตามมาตรา  57  ตรีก็ได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ถ้าสามีและภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  ให้ถือว่าเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี  แต่ภริยามีสิทธิที่จะนำเงินได้พึงประเมินประเภทที่  1  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(1)  มาแยกยื่นรายการภาษี  โดยมิให้ถือเป็นเงินได้ของสามีได้

นายเอก  นางโทและเด็กชายดำมีหน้าที่ในการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรอย่างไร  เห็นว่า  เมื่อนายเอกและนางโทได้อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี  และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้  ดังนั้น  นายเอกและนางโทสามีภรรยาต้องยื่นภาษีร่วมกัน  โดยให้เสียภาษีในชื่อของนายเอกสามี  ตามประมวลรัษฎากรมาตรา  57  ตรี  วรรคแรก  และในกรณีนี้  นางโทไม่มีสิทธิแยกยื่นรายการภาษี  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  57  เบญจ  วรรคแรก  เพราะเงินได้ที่นางโทได้รับจากการขายของชำ  ถือว่าเป็นเงินได้จากการพาณิชย์  อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  8  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(8)  มิใช่เงินได้พึงประเมินประเภทที่  1  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(1)

ส่วนเงินได้จากการถ่ายโฆษณาของเด็กชายดำ  จำนวน  2  แสนบาท  เงินได้ดังกล่าวถือว่าเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน  (1) ถึง  (7)  อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่  8  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  40(8)  ต้องยื่นชำระภาษี  ในชื่อของเด็กชายดำในฐานะเป็นผู้มีเงินได้  โดยกำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรมคือ  นายเอก  หรือนางโท  บิดามารดาเป็นผู้ดำเนินการแทน  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  56  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  57

และเมื่อนางโท  และเด็กชายดำเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่  8  ตามประมวลรัษฎากรมาตรา  40(8)  ทั้งสองคนต้องยื่นชำระภาษีแบบครึ่งปี  ในกรณีเงินได้ของนางโท  นางโทต้องเป็นผู้ยื่นรายการภาษีแบบครึ่งปีในนามของตนเอง  ภายในเดือนกันยายน  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  56  และกรณีเด็กชายดำ  ก็ต้องยื่นชำระภาษี  ในชื่อของเด็กชายดำในฐานะเป็นผู้มีเงินได้  โดยกำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรม  คือ  นายเอก  หรือนางโท  บิดามารดาเป็นผู้ดำเนินการแทน  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  56  ทวิ  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  57

สรุป  นายเอกและนางโทสามีภรรยาต้องยื่นภาษีร่วมกัน  โดยให้เสียภาษีในชื่อของนายเอกสามี  ส่วนเงินได้จากการถ่ายโฆษณาของเด็กชายดำต้องยื่นชำระภาษี  ในชื่อของเด็กชายดำในฐานะเป็นผู้มีเงินได้  โดยกำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรม  คือ  นายเอก  หรือนางโท  บิดามารดาเป็นผู้ดำเนินการแทน

และสำหรับการยื่นชำระภาษีแบบครึ่งปีนางโทต้องยื่นในนามของตนเอง  และเด็กชายดำก็ต้องยื่นชำระภาษี  ในชื่อของเด็กชายดำในฐานะเป็นผู้มีเงินได้  โดยกำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรม  คือ  นายเอก  หรือนางโท  บิดามารดาเป็นผู้ดำเนินการแทน

 

ข้อ  3  บริษัทสยามการบิน  จำกัด  ได้จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยในรอบระยะเวลาบัญชี  2551  บริษัทฯมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจากประเทศกัมพูชาไปประเทศสิงคโปร์จำนวน  10  ล้านบาท  และฝากเงินจำนวนนี้ไว้ที่ธนาคารในประเทศสิงคโปร์  และมีรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์  จำนวน  20  ล้านบาท  โดยฝากไว้กับธนาคารในประเทศไทย  จงวินิจฉัยว่าในรอบระยะเวลาบัญชี  2551  บริษัทสยามการบิน  จำกัด  มีภาระต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจากรายได้ดังกล่าวทั้งหมดอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  66  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และกระทำกิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องนำรายได้จากทั่วโลก  (Worldwide  Income Basis)  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรโดยรวมสาขาในต่างประเทศทุกสาขา   ทั้งนี้ไม่คำนึงว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น  จะนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

บริษัทสยามการบิน  จำกัด  เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  ดังนั้นในรอบระยะเวลาบัญชี  2551  บริษัทสยามการบิน  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการประกอบการทั้งหมด  กล่าวคือ  รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจากประเทศกัมพูชาไปประเทศสิงคโปร์จำนวน  10  ล้านบาท  และรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารจากประเทศไทยไปประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์  จำนวน  20  ล้านบาท  เป็นจำนวนทั้งสิ้น  30  ล้านบาท  มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  66  วรรคแรก

สรุป  บริษัทสยามการบิน  จำกัด  ต้องนำรายได้จากการประกอบกิจการทั้งหมด  30  ล้านบาท  มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

 

ข้อ  4  บริษัทอเมริกันคอมพิวเตอร์โปรแกรม  จำกัด  เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2551  ได้ส่งตัวแทนเข้ามาเซ็นสัญญาขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยกับบริษัทคอมอัจฉริยะ  จำกัด  ราคา  200  ล้านบาท  โดยบริษัทไทยคอมฯจะโอนเงินชำระราคาไปยังบริษัทอเมริกันคอมฯภายใน  1  เดือนหลังจากทำสัญญากันแล้ว  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทอเมริกันคอมพิวเตอร์โปรแกรม  จำกัด  ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ดังกล่าวตามประมวลรัษฎากรหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  มีลูกจ้าง  หรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อ  ในการประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย  ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล  เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้  เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว

วินิจฉัย

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ  และไม่มีสาขาในประเทศไทย  หากมีลักษณะตามที่ประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก  กำหนดไว้ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1       บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

2       มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน  หรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทย

3       ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินหรือผลกำไรในประเทศไทย

สำหรับหลักเกณฑ์ประการที่  3  นี้  ในกรณีที่มีการซื้อขายสินค้า  หากได้มีการทำสัญญาซื้อขายในประเทศไทยก็ถือได้ว่ามีการประกอบกิจการในประเทศไทยแล้ว  ส่วนการส่งมอบและการชำระราคา  เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติของคู่สัญญาเท่านั้น  มิใช่สาระสำคัญของสัญญา แม้จะมีการส่งมอบหรือชำระราคาในต่างประเทศก็ตาม  ก็ยังถือเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย  (ฎ.2637/2521)

บริษัทอเมริกันคอมพิวเตอร์โปรแกรม  จำกัด  เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ  ได้ส่งตัวแทนเข้ามาเซ็นสัญญาขายโปรแกรมฯ  กับบริษัทไทยคอมอัจฉริยะ  จำกัดในประเทศไทย  ราคา  200  ล้านบาท  กรณีเช่นนี้ถือว่า  บริษัทอเมริกันฯ  ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย  อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้  หรือผลกำไรในประเทศไทย  ตามประมวลรัษฎากร  มาตรา  76  ทวิ  วรรคแรก ดังนั้น  ในรอบระยะเวลาบัญชี  2551  บริษัทอเมริกันฯ  จึงต้องนำรายได้จำนวน  200  ล้านบาท  มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  ตามประมวลรัษฎากรให้กับประเทศไทย

สรุป  บริษัทอเมริกันฯ  ต้องนำรายได้จำนวน  200  ล้านบาท  มาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล  ตามประมวลรัษฎากรให้กับประเทศไทย

Advertisement