การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
นักศึกษาที่ลงทะเบียนกระบวนวิชา LA 401 (รหัส 52… เป็นต้นไป) ให้ทำข้อ 1 – 3
นักศึกษาที่ลงทะเบียนกระบวนวิชา LW 406 (รหัส 51…ลงไป) ให้ทำข้อ 1 – 4
ข้อ 1 บริษัท เหลืองแดงเขียว จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองซึ่งมีสัญชาติไทยให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทางบริษัทฯได้โอนเงินค่าจ้างไปเข้าบัญชีของนายเหลืองในต่างประเทศ และในขณะเดียวกันบริษัทฯ ได้ว่าจ้างนางเขียวซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปยังประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ตกลงจ้างนางสาวแดงซึ่งเป็นนายหน้าอิสระสัญชาติไทย (ไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทฯ) ให้ทำหน้าที่นายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัท โดยบริษัท ตกลงจะโอนเงินให้นางสาวแดงที่ประเทศไทย หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า นอกจากนางเขียวกรณีนายเหลืองและนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้แต่อย่างใด จงวินิจฉัยว่าทั้งสามคนนี้มีภาระภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ
ผู้อยู่ในประเทศไทย มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย
ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ต่อเมื่อเงินได้พึงประเมินนั้น เกิดเนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทย หรือกิจการที่ทำในประเทศไทยหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคแรก)
ส่วนในกรณีที่แหล่งเงินได้เกิดขึ้นนอกประเทศ ผู้มีเงินได้จะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยต่อเมื่อผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และมีเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำในต่างประเทศหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ และได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับปีที่อยู่ในประเทศไทย (มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม)
การที่บริษัท เหลืองแดงเขียว จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างนายเหลืองให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยทางบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปเข้าบัญชีของนายเหลืองยังต่างประเทศ กรณีถือว่าเงินค่าจ้างที่นายเหลืองได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคแรก นายเหลืองจึงต้องมีหน้าที่ต้องนำเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่านายเหลืองจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ และไม่ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม
สำหรับนางเขียว ซึ่งบริษัทฯได้ว่าจ้างนางเขียวซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาของบริษัทฯ ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยบริษัทฯ ได้โอนเงินค่าจ้างไปยังประเทศมาเลเซีย กรณีถือว่าเงินค่าจ้างที่นางเขียวได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นเนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 41 วรรคแรก นางเขียวจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทยเช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินเดือนที่ได้รับนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศก็ตาม
ส่วนนางสาวแดงที่ได้รับค่าจ้างจากการเป็นนายหน้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแก่บริษัทฯ ถือเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสอง นางสาวแดงไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาเสียภาษีให้กับประเทศไทย เพราะแม้บริษัทฯ ได้โอนให้นางสาวแดงที่ประเทศไทย แต่เมื่อนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่เกิดเงินได้ นางสาวแดงจึงไม่ต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย เพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม
สรุป นายเหลืองและนางเขียวมีภาระภาษีในประเทศไทย ส่วนนางสาวแดงไม่มีภาระต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย เพราะนางสาวแดงไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย