การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ก่อน  ตัวโจทก์ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานและจะต้องเข้าเบิกความเป็นคนแรกไม่มาศาลตามนัด  ทั้งไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ  ทั้งไม่มีพยานโจทก์คนใดมาศาลเลย  ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความโดยจำเลยไม่คัดค้าน  หลังจากศาลมีคำสั่ง  2  วัน  จึงทราบความจริงว่าในวันนับสืบพยานโจทก์นั้น  ทนายโจทก์ได้ขับรถยนต์ไปรับตัวโจทก์และพยานบุคคลอื่นๆ  เพื่อจะมาศาลแต่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตกถนน  เนื่องจากฝนตกถนนลื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส  ทุกคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้  ไม่สามารถติดต่อแจ้งศาลได้  ทำให้มาศาลไม่ได้  เคราะห์ดีที่มีผู้ผ่านมาเห็นเหตุการณ์ช่วยแจ้งเจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตได้ทัน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าโจทก์จะอุทธรณ์ขอศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี  ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  202  ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา  ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

มาตรา  203  ห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา  201  และมาตรา  202  แต่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ  คำสั่งเช่นว่านี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นอุทธรณ์ได้เสมอ  เว้นแต่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนี้  หรือกฎหมายอื่นบัญญัติเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ทั้งนี้ตามมาตรา  223

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์ขอศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี  ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปได้หรือไม่  เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มาศาลตามนัด  ทั้งไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ  ทั้งไม่มีพยานโจทก์คนใดมาศาลเลย  จึงเป็นกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณา  ซึ่งตามมาตรา  202  บัญญัติบังคับให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  เว้นแต่จำเลยจะขอให้พิจารณาต่อไป  เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่คัดค้านคำสั่งจำหน่ายคดี  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ  จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย  และผลของคำสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา  202  นี้  บทบัญญัติมาตรา  203  กำหนดห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเช่นว่านั้น  โจทก์จึงหมดสิทธิอุทธรณ์ขอเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปตามมาตรา  223

สรุป  โจทก์จะอุทธรณ์ขอเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีต่อไปไม่ได้

 

ข้อ  2  โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยว่า  โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท  จำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นเนื้อที่  50 ตารางวา  ที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาระ  20,000  บาท  โจทก์บอกกล่าวขับไล่จำเลยแล้ว  จำเลยกลับอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  จึงขอให้บังคับขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์  ศาลชั้นต้นสั่งคำฟ้องโจทก์ว่า  คำฟ้องโจทก์เป็นคดีมีทุนทรัพย์  ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่พิพาท  มิฉะนั้นจะไม่รับคำฟ้อง  ให้วินิจฉัยว่า

(ก)  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ได้หรือไม่  กรณีหนึ่ง

(ข)  หากโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง  โดยขอตัดข้อความในคำฟ้องเดิมที่ว่า  จำเลยกลับอ้างว่า  จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  ออก  นอกนั้นคงไว้ตามเดิม  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้หรือไม่  อีกกรณีหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1  ในประมวลกฎหมายนี้  ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(5) “คำคู่ความ  หมายความว่า  บรรดาคำฟ้อง  คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ

มาตรา  18  วรรคท้าย  คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227 228  และ  247

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา  228  วรรคแรกและวรรคสอง  ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คำสั่งเช่นว่านี้  คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน  นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณานั้น  มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1       จะต้องเป็นคำสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดี

2       เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล  กล่าวคือ  ศาลยังต้องทำคดีนั้นต่อไป

3       ไม่ใช่คำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227  และมาตรา  228

เมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว  คู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นตามมาตรา  226 (2)  ส่วนคำสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์  3  ประการนี้ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

(ก)  กรณีตามอุทธรณ์  กรณีคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท  มิฉะนั้นจะไม่รับคำฟ้องนั้น  แม้เป็นคำสั่งที่ศาลนั้นจะให้รับคำฟ้องไว้ก็ตาม  แต่เมื่อเป็นคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาล  นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และมาตรา  228  แล้ว  กรณีจึงถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226  วรรคสอง  ซึ่งมาตรา  226  วรรคแรก (1)  บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา  โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว  (ฎ. 421/2518) 

(ข)  คำร้องของโจทก์ที่ขอแก้ไขคำฟ้อง  โดยขอตัดข้อความในคำฟ้องเดิมที่ว่า  จำเลยกลับอ้างว่าจำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์แล้ว  ออก  ถือเป็นคำร้องที่โจทก์ขอแก้ไขข้อหาอันกล่าวไว้ในคำฟ้องที่เสนอต่อศาลแต่แรก  จึงเป็นคำคู่ความตามมาตรา  1 (5)  และมาตรา  179  คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องดังกล่าว  ย่อมมีผลเป็นคำสั่งไม่รับคู่ความตามมาตรา  18  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อตามมาตรา  228 (3)  และไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226  โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตามมาตรา  228  วรรคสอง  คือ  ภายใน  1  เดือนนับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป  ทั้งนี้แม้คดีจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาก็ตาม  (ฎ. 1488/2529)

สรุป  (ก)  โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

(ข) โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น

หมายเหตุ  กรณีตาม  (ข)  หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง  จะไม่ถือว่าเป็นคำสั่งตามมาตรา  228 (3)  แต่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามมาตรา  226  ดังนั้นหากจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวจะต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งนั้นก่อน  (ฎ. 58/2531,  ฎ. 1292 – 1293/2512)

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านและที่ดินของโจทก์  จำเลยให้การต่อสู้ว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและจำเลยก็เป็นทายาท  โจทก์จะบังคับขับไล่จำเลยไม่ได้  ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์  ศาลชั้นต้น  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าบ้านและที่ดินที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย  โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นทายาทของผู้ตาย  และมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนความที่อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลว่า  บ้านและที่ดินพิพาทมีค่าเช่าในระหว่างคดีเดือนละ  5,000  บาท  และโจทก์เป็นผู้รับไปแต่ฝ่ายเดียว  ทำให้จำเลยต้องเสียหายและเสียสิทธิไม่ได้ค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทในระหว่างคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทในระหว่างคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทมาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษา  ศาลไต่สวนสืบพยานโจทก์  จำเลยได้ข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลย  และมีคำสั่งให้โจทก์นำค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินที่พิพาทในระหว่างคดีมาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษา

ดังนี้  ท่านเห็นว่าคำสั่งของศาลที่ให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพาะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา  26  ศาลจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิ  หรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทในคดีให้ได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาหรือเพื่อความสะดวกในการบังคับคดีตามคำพิพากษา

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท  เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดีเพียงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  แต่จำเลยมิได้ฟ้องแย้งในเรื่องค่าเช่าอันเกิดจากบ้านและที่ดินพิพาทด้วย  ดังนั้นจำเลยจึงร้องขอให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไม่ได้  เพราะถ้าจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การของจำเลยเท่านั้น  จำเลยไม่เสียหายอะไร  ไม่มีผลบังคับไปถึงค่าเช่าอันเกิดจากบบ้านและที่ดินพิพาทด้วยแต่ประการใด  กรณีไม่ใช่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยตามมาตรา  264  ดังนั้น  คำสั่งของศาลที่ให้โจทก์ นำค่าเช่ามาวางต่อศาลเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยมาตรา  264  (ฎ. 1463/2515,  ฎ.1177/2524)

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้โจทก์นำค่าเช่ามาวางต่อศาลไว้ก่อนมีคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  ในกรณีดังต่อไปนี้  โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้หรือไม่  อย่างไร

(ก)  ในวันนัดฟังคำพิพากษา  โจทก์มาศาล  ส่วนจำเลยไม่มาศาล  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่โจทก์ฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ภายใน  15  วัน  นับแต่วันพิพากษา  ปรากฏว่าพ้นกำหนด  15  วันแล้ว  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

(ข) ในวันนัดฟังคำพิพากษา  จำเลยมาศาล  ส่วนโจทก์ไม่มาศาล  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่จำเลยฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  300,000  บาท   พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5  ต่อปี  นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์  และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน  30  วัน  นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้  หากจำเลยไม่ปฏิบัติจะต้องถูกยึดทรัพย์  หรือถูกจับ  และจำขังตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี  และจำเลยได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวไว้  ปรากฏว่าพ้นกำหนด  30  วันแล้ว  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

มาตรา  272  ถ้าศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งอย่างใดซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี  ก็ให้ศาลมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับในวันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง  และให้เจ้าพนักงานศาลส่งคำบังคับนั้นไปยังลูกหนี้ตามคำพิพากษา  เว้นแต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลมีคำบังคับนั้นและศาลได้สั่งให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ

มาตรา  275  ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดี  ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี

มาตรา  282  วรรคแรก  ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งใดกำหนดให้ชำระเงินจำนวนหนึ่ง  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติห้ามาตราต่อไปนี้  เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมเงินให้พอชำระตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธียึดหรืออายัด  และขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติในลักษณะนี้

วินิจฉัย

(ก)  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้หรือไม่อย่างไร  เห็นว่า  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่โจทก์ซึ่งมาศาลฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้แก่จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ภายใน  15  วัน  นับแต่วันพิพากษา  อันเป็นกรณีที่จะต้องมีการบังคับคดีแก่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษา  เมื่อจำเลยมิได้มาศาลในวันดังกล่าว  ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับส่งไปยังจำเลยตามมาตรา  272  ดังนั้น  เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้มีการส่งคำบังคับไปยังจำเลย  แม้จะพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยจะต้องไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาแล้วก็ตาม  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะต้องขอให้ศาลมีคำบังคับส่งไปยังจำเลยเพื่อกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับด้วย  หากพ้นกำหนดเวลาตามคำพิพากษาต่อไป

(ข)  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้หรือไม่อย่างไร  เห็นว่า  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้แก่จำเลยซึ่งมาศาลฟังฝ่ายเดียว  โดยพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  300,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์  และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน  30  วัน  นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกยึดทรัพย์  หรือถูกจับ  และจำขังตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีและจำเลยได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งดังกล่าวไว้แล้ว  อันเป็นกรณีที่ศาลมีคำบังคับแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามมาตรา  271, 272  แล้ว  เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับ  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาที่กำหนดให้ชำระเงินแก่โจทก์และการบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา  282  วรรคแรก  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อออกหมายบังคับคดีตามมาตรา  275  วรรคแรก  เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาต่อไป

สรุป  (ก)  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอให้ศาลมีคำบังคับส่งไปยังจำเลยเพื่อกำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติตามคำบังคับ

(ข)  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อออกหมายบังคับคดีตามมาตรา  275  เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยตามคำพิพากษาต่อไป

Advertisement