การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3107 (LAW 3007) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบกระบวนวิชานี้เป็นอัตนัยล้วน ***LAW 3107 มี 3 ข้อ (ข้อ 1, 3 และ 4)
ส่วน ***LAW 3007 มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยบุกรุกเข้ามาอยู่ในที่ดินมีโฉนดของโจทก์สองแปลงโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่ จําเลยออกจากที่ดินทั้งสองแปลงและชดใช้เงินที่โจทก์สามารถนําออกให้เช่าได้เดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โดยที่ดินของโจทก์มีราคาที่ดินแปลงละ 100,000 บาท จึงได้
จําเลยยื่นคําให้การว่าที่ดินแปลงที่หนึ่งจําเลยอยู่มาโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ส่วนที่ดินแปลงที่สองเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องขับไล่จําเลยออกจากที่ดินทั้งสองแปลง โดยที่ดินแต่ละแปลงสามารถนําออก ให้เช่าได้เพียง 500 บาท ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของ โจทก์ จําเลยเข้ามาอยู่โดยไม่มีสิทธิ ให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน และให้จําเลยชดให้เงินอันโจทก์ อาจออกให้เช่าได้เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจําเลยจะออกไปจากที่ดิน จําเลยจึง ยื่นอุทธรณ์ว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องขับไล่จําเลย ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์
ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 224 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน ในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทําความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควร อุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคํารับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดี ผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอํานาจ แล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจาก
อสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคําฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ
แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้น หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ ไม่เปิดช่องให้กระทําได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์
คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ในการห้ามคู่ความอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดี ดังนี้

1. คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจํานวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท
หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2. คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้อง ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท หรือไม่เกินจํานวนที่กําหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งอุทธรณ์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของที่ดินแปลงที่ 1 การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยบุกรุกเข้ามาอยู่ในที่ดินมีโฉนดของโจทก์ โดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าที่ดินแปลงนี้จําเลยอยู่มาโดยสงบเปิดเผย และ เจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วนั้น ถือเป็นกรณีที่จําเลยต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ ในที่ดินที่พิพาท จึงมีผลทําให้คดีฟ้องขับไล่ซึ่งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ในตอนแรกกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และ เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทคือที่ดินมีราคา 100,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 50,000 บาท เมื่อศาลได้พิพากษาให้จําเลย แพ้คดีและให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดิน ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลซึ่งถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น โดยหลักแล้วจําเลยย่อมอุทธรณ์ได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จําเลยอุทธรณ์นั้น จําเลยอุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาท ดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นประเด็นที่จําเลยมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบใน
ศาลชั้นต้น อีกทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้น จึงต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 การที่จําเลยยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์ คําสั่งรับอุทธรณ์ กรณีนี้ของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีของที่ดินแปลงที่ 2 การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยบุกรุกเข้ามาอยู่ในที่ดินของโจทก์โดย ไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณสมบัติของ แผ่นดินนั้น เมื่อจําเลยไม่ได้ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงไม่ถือว่าจําเลยต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ คดีนี้จึงเป็นคดี ฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์และมิใช่คดีมีทุนทรัพย์

เมื่อปรากฏว่าในขณะฟ้องโจทก์อ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถนําออกให้เช่าได้เดือนละ 5,000 บาท แต่เมื่อศาลชั้นต้นกําหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 2,000 บาท และโจทก์มิได้อุทธรณ์ มีเพียงจําเลยยังคงอุทธรณ์ใน ปัญหาข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ของโจทก์ ในกรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่าที่ดินพิพาท อาจให้เช่าได้เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเช่าที่ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ในขณะยื่นคําฟ้องตามคําพิพากษาของ ศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง (คําพิพากษาฎีกาที่ 8775/2555) การที่จําเลยยื่นอุทธรณ์และศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์ คําสั่งรับอุทธรณ์กรณีนี้ของศาลชั้นต้นจึง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น การที่จําเลยยื่นอุทธรณ์ว่าที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มี อํานาจฟ้องขับไล่จําเลยออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง และศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์นั้น คําสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าว ของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ 100,000 บาท จําเลยยื่นคําให้การขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจําเลยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 จําเลยได้มายื่นคําร้อง ขอเลื่อนคดี เนื่องจากพยานจําเลยป่วย ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี จําเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน แต่จําเลยได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวในทันที ศาลชั้นต้นมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศาลได้มีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้โจทก์ตามฟ้อง จําเลยยื่นอุทธรณ์คําสั่งที่ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จําเลยเลื่อนคดีภายใน 1 เดือนนับแต่ศาลพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใต้โต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น
เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่งระหว่าง
พิจารณา”

วินิจฉัย

คําสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคําสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1. จะต้องเป็นคําสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจําหน่ายคดี

2. เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทําให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทําคดีนั้นต่อไป

3. ไม่ใช่คําสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง มาตรา 227 และมาตรา 228

และเมื่อเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งนั้นทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้าน คําสั่งนั้นไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา หรือ คําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 (2)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระหนี้เงินกู้ 100,000 บาท จําเลยยื่น คําให้การขอให้ศาลยกฟ้อง ต่อมาศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจําเลยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 จําเลยได้มา ยื่นคําร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากพยานจําเลยป่วย ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีนั้น คําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ถือเป็นคําสั่งที่ศาลสั่งในระหว่างพิจารณา และไม่ใช่คําสั่งตามมาตรา 227 และมาตรา 228 จึงต้องห้ามมิให้
อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง (1) ถ้าคู่ความจะอุทธรณ์คําสั่งนั้น จะต้องโต้แย้งคัดค้านคําสั่งนั้นไว้ก่อนจึงจะสามารถอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้น มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง (2)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี จําเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน แต่จําเลย ได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวทันทีนั้น กรณีเช่นนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 ก็ตาม แต่ถือว่าจําเลยได้โต้แย้งคําสั่งนั้นไว้ในอุทธรณ์แล้ว เพราะแม้อุทธรณ์คําสั่งระหว่างพิจารณา ครั้งแรกจะไม่มีผลเป็นอุทธรณ์เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ก็ย่อมมีผลเป็นการโต้แย้งคําสั่งระหว่างพิจารณา ของศาลชั้นต้นตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง (2) แล้ว (คําพิพากษาฎีกาที่ 6273/2537) ดังนั้น เมื่อคดีดังกล่าว ศาลได้มีคําพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง จําเลยจึงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คําสั่งที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต ให้จําเลยเลื่อนคดีได้ และเมื่อจําเลยยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่มาศาลมีคําพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของจําเลย คําสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งรับอุทธรณ์ดังกล่าวของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จํานวน 5 ล้านบาท หนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ จําเลยไม่ชําระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์ 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จําเลยยื่นคําให้การแก้คดีตามกฎหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้ย้ายภูมิลําเนาไปอยู่นอก ราชอาณาจักร และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้ในราชอาณาจักร จําเลยจึงยื่นคําร้องขอต่อศาล ขอให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันเพื่อการชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

ศาลชั้นต้นส่งสําเนาให้โจทก์ โจทก์ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนจําเลยและได้ความจริงตามคําร้อง ของจําเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคําสั่งให้โจทก์นําเงินมาวางต่อศาลหรือหาประกันเพื่อการชําระค่าฤชา ธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

ดังนี้ คําสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 253 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลําเนาหรือสํานักทําการงานอยู่ใน ราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดี แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย จําเลยอาจยื่นคําร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา
ขอให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่เชื่อได้ แล้วแต่กรณี ก็ให้ศาลมีคําสั่ง ให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจํานวนและภายในระยะเวลาที่กําหนด โดยจะกําหนดเงื่อนไขใด
ตามที่เห็นสมควรก็ได้”

มาตรา 253 ทวิ “ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคําพิพากษา ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่ง ตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง จําเลยอาจยื่นคําร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ขอให้ศาลมีคําสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งสํานวนความไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คําร้องตามวรรคหนึ่ง
ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นทําการไต่สวน แล้วส่งคําร้องนั้นพร้อมด้วยสํานวนความไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

ให้นําความในมาตรา 253 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับแก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยอ้างว่า จําเลยทําสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จํานวน 5 ล้านบาท หนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ จําเลยไม่ชําระหนี้ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระหนี้แก่โจทก์ 5 ล้านบาท พร้อม ดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จําเลยยื่นคําให้การแก้คดีตามกฎหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ และในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ โจทก์ได้ย้ายภูมิลําเนาไปอยู่นอกราชอาณาจักร และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้ในราชอาณาจักรนั้น กรณีนี้จึงต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 253 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 253 วรรคหนึ่ง ที่จําเลยมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลอุทธรณ์ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา เพื่อขอให้ศาล มีคําสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ และ เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่เชื่อได้ ศาลก็มีอํานาจออกคําสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาล หรือหาประกันมาให้ตามจํานวนและภายในระยะเวลาที่กําหนดได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 253 ทวิ วรรคสามประกอบมาตรา 253 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม ในการยื่นคําร้องดังกล่าวของจําเลยนั้น เมื่อปรากฏว่าจําเลยได้ยื่นคําร้องดังกล่าว ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ และเมื่อศาลชั้นต้นส่งสําเนาคําร้องให้โจทก์ โจทก์ไม่คัดค้าน ดังนี้ ศาลชั้นต้นก็จะต้องส่งคําร้องนั้นไปให้ศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 253 ทวิ วรรคสอง ศาลชั้นต้นไม่มีอํานาจสั่งตามคําร้องขอของจําเลยแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อจําเลยได้ยื่นคําร้อง ขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคําสั่งให้โจทก์นําเงินมาวางต่อศาลหรือหาประกันเพื่อ การชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 4. ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลมีคําพิพากษาในวันที่ 16 มีนาคม 2556 ให้จําเลยชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย แก่โจทก์เป็นเงิน 8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลออกคําบังคับให้จําเลยปฏิบัติ ตามคําพิพากษาภายใน 30 วัน ครบกําหนดเวลาจําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ ต่อมาโจทก์สืบทรัพย์ ทราบว่าจําเลยมีที่ดินอยู่ 1 แปลง และมีเงินในธนาคารจํานวน 2 ล้านบาท โจทก์ขอออกหมาย บังคับคดีขอให้ยึดที่ดินและอายัดเงินในธนาคารของจําเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินของ จําเลยในวันที่ 8 มีนาคม 2565 และอายัดเงินในธนาคารในวันที่ 19 มีนาคม 2565 หลังจากนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินของจําเลยในวันที่ 24 มีนาคม 2566 จําเลยยื่นคําร้อง ต่อศาลอ้างว่าเกินกําหนดระยะเวลา 10 ปี เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถขายทอดตลาดที่ดินของจําเลยได้

ดังนี้ ข้ออ้างของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 274 วรรคหนึ่ง “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล ทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ได้รับชําระหนี้ (เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดี โดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้ หรือได้ดําเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดี โดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้ มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่ มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ซึ่งคําว่า “นับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง” ตามมาตรา 274 ดังกล่าว หมายความว่า นับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลในชั้นที่สุดในคดีนั้น และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้ร้องขอให้
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้
ดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง การที่ศาลมีคําพิพากษาในวันที่ 16 มีนาคม 2556 ให้จําเลย ชําระหนี้ตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์เป็นเงิน 8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลออกคําบังคับให้จําเลย ปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 30 วัน ครบกําหนดเวลาจําเลยไม่ปฏิบัติตามคําบังคับ ต่อมาโจทก์ (เจ้าหนี้ตาม คําพิพากษา) สืบทรัพย์ทราบว่าจําเลยมีที่ดินอยู่ 1 แปลง และมีเงินในธนาคารจํานวน 2 ล้านบาท โจทก์จึงขอ ออกหมายบังคับคดีขอให้ยึดที่ดินและอายัดเงินในธนาคารของจําเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปยึดที่ดิน ของจําเลยในวันที่ 8 มีนาคม 2565 และอายัดเงินในธนาคารในวันที่ 19 มีนาคม 2565 นั้น ย่อมถือว่าโจทก์ ได้ดําเนินการร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินและอายัดสิทธิเรียกร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษาแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นต่อไป จนแล้วเสร็จได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้นําที่ดินของจําเลยออกขายทอดตลาด ในวันที่ 24 มีนาคม 2566 จึงสามารถทําได้แม้จะเกินระยะเวลา 10 ปีแล้วก็ตาม การที่จําเลยยื่นคําร้องต่อศาล อ้างว่าเกินกําหนดระยะเวลา 10 ปีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถขายทอดตลาดที่ดินของจําเลยได้นั้น ข้ออ้างของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของจําเลยฟังไม่ขึ้น

 

Advertisement