การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3107 (LAW 3007) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยออกจากที่ดินพิพาท อ้างว่าจําเลยได้อาศัยที่ดินดังกล่าวของมารดาโจทก์ เมื่อมารดาโจทก์เสียชีวิต โจทก์ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวมา และไม่ประสงค์จะให้จําเลยอาศัยอีกต่อไป โจทก์ได้บอกกล่าวให้จําเลยขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท แต่จําเลยเพิกเฉยไม่ยอมขนย้าย ซึ่งที่ดิน พิพาทหากนําออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท ขอให้ศาลบังคับจําเลยให้ขนย้ายออกจาก ที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันบอกกล่าวให้ขนย้ายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 200,000 บาท จําเลยให้การต่อสู้ว่าจําเลยเป็นน้าชายโจทก์ จําเลยไม่ได้อาศัย แต่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว จําเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ปรปักษ์ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ศาลยกฟ้อง

Advertisement

ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความ โดยจําเลยยอมขนย้าย ออกจากที่ดินพิพาทภายใน 2 เดือน นับแต่ศาลมีคําพิพากษาตามยอม ส่วนโจทก์ไม่ติดใจเรียก ค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม หลังจากศาลมีคําพิพากษาตามยอมได้ 6 สัปดาห์ จําเลย จึงทราบโดยมีหลักฐานว่า ทนายจําเลยได้ร่วมมือกับฝ่ายโจทก์หลอกลวงจําเลยให้ทําสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าว จําเลยประสงค์จะอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคําพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น

ดังนี้ จําเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 138 “ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้ มีการถอนคําฟ้องนั้น และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาล จดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคําพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วย
ความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคําพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 223 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 138, 168, 188 และ 222 และในลักษณะนี้ คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นประมวล กฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด”
มาตรา 229 “การอุทธรณ์นั้นให้ทําเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคําพิพากษาหรือมีคําสั่ง ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น…..”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ของคู่ความแล้ว จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.แพ่ง
มาตรา 138 วรรคสอง กล่าวคือ

1) เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

2) เมื่อคําพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

3) เมื่อคําพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ เห็นว่า จําเลยประสงค์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคําพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น อ้างว่า ทนายจําเลยได้ร่วมมือ กับฝ่ายโจทก์หลอกลวงจําเลยให้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีเช่นนี้ เท่ากับกล่าวอ้างว่าสัญญา ประนีประนอมเกิดขึ้นจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (1) ดังนั้น จําเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 223

แต่อย่างไรก็ตาม ในการอุทธรณ์นั้นจะต้องอุทธรณ์ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาตามยอมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 229 แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า จําเลยได้ทราบถึง การหลอกลวงนั้นหลังจากที่ศาลได้มีคําพิพากษาแล้วถึง 6 สัปดาห์ ดังนั้น จําเลยจึงไม่สามารถอุทธรณ์ขอให้ศาลเพิกถอนคําพิพากษาตามยอมนั้นได้

สรุป จําเลยจะอุทธรณ์ขอให้ศาลเพิกถอนคําพิพากษาตามยอมนั้นไม่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยให้ชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวนห้าแสนบาท และยื่นคําขอให้ศาลมีคําสั่ง อายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษา จําเลยขาดนัดยื่น คําให้การ โจทก์ยื่นคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด ต่อมาศาลมีคําสั่งอายัดเงิน ในบัญชีธนาคารของจําเลย จําเลยอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวทันที หลังจากนั้นศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ต่อมาจําเลยยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าจําเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลไต่สวนและมีคําสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้วินิจฉัยว่า

(ก) จําเลยอุทธรณ์คําสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยในระหว่างพิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) โจทก์อุทธรณ์คําสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ “คําสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุด แต่ในกรณีที่ศาล มีคําสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออาจอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวได้ คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”

มาตรา 223 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 138, 168, 188 และ 222 และในลักษณะนี้ คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นประมวลกฎหมาย หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด”

มาตรา 226 “ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคําสั่ง อย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคําสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้ง ชอบที่จะอุทธรณ์คําสั่งนั้นได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคําพิพากษา หรือคําสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น
เป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคําสั่งให้รับคําฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคําสั่งอย่างใด อย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคําฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคําสั่งระหว่าง
พิจารณา”

มาตรา 228 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคําสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(2) มีคําสั่งอันเกี่ยวด้วยคําขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือ มีคําสั่งอันเกี่ยวด้วยคําขอเพื่อจะบังคับคดีตามคําพิพากษาต่อไป หรือ

คําสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคําสั่งเป็นต้นไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 5 แสนบาท และยื่นคําขอให้ศาล มีคําสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษา จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ยื่นคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด และต่อมาศาลมีคําสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยนั้น คําสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคําพิพากษา ถือเป็นคําสั่งอัน เกี่ยวด้วยคําขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 (2) จึงไม่ใช่ คําสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226 จําเลยจึงสามารถยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวได้ทันทีภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคําสั่ง หรืออาจอุทธรณ์ภายในกําหนด 1 เดือนนับแต่วันมีคําพิพากษาก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 228 ดังนั้น จําเลยจึงสามารถอุทธรณ์คําสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยในระหว่างพิจารณาได้

(ข) หลังจากศาลพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จําเลยชําระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้อง และต่อมาจําเลยได้ยื่นคําขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่าจําเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคําให้การ เมื่อศาลได้ไต่สวนแล้ว และมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่นั้น คําสั่งศาลที่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ให้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ คําสั่งดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 223 ดังนั้น โจทก์จึงจะ อุทธรณ์คําสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

สรุป (ก) จําเลยสามารถอุทธรณ์คําสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารของจําเลยในระหว่างพิจารณาได้

(ข) โจทก์จะอุทธรณ์คําสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

 

ข้อ 3. จงตอบคําถามดังต่อไปนี้

(1) โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงินกู้ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย พร้อมทั้งยื่นคําขอ คุ้มครองชั่วคราวให้มีการยึดรถยนต์เลขทะเบียน 1234 ของจําเลย เนื่องจากจําเลยกําลังจะ ขายรถยนต์คันนั้น กรณีเช่นนี้จะทําได้หรือไม่

(2) โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยโอนที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่า 500,000 บาท ของจําเลยให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งยื่นคําขอคุ้มครองชั่วคราวให้ยึดที่ดินไว้ชั่วคราว เนื่องจาก จําเลยกําลังจะขายที่ดินดังกล่าว กรณีเช่นนี้หากศาลจะไต่สวนคําร้อง ศาลจะเรียกจําเลยมา ไต่สวนด้วยได้หรือไม่

(3) การจะขอให้ศาลจับกุมกักขังจําเลยไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษานั้น จะสามารถขอได้ด้วยเหตุอะไรบ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 21 “เมื่อคู่ความฝ่ายใดเสนอคําขอหรือคําแถลงต่อศาล

(3) ถ้าประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่า คําขออันใดอาจทําได้แต่ฝ่ายเดียวแล้ว ให้ศาลมีอํานาจ ที่จะฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่น ๆ ก่อนออกคําสั่งในเรื่องนั้น ๆ ได้ เว้นแต่ในกรณีที่คําขอนั้นเป็นเรื่อง
ขอหมายเรียกให้ให้การ หรือเพื่อยึดหรือเพื่ออายัดทรัพย์สินก่อนคําพิพากษา…”

มาตรา 189 “คดีมโนสาเร่ คือ

(1) คดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท หรือ ไม่เกินจํานวนที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 254 “ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคําฟ้อง หรือ ในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคําขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคําสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใด ๆ ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา รวมทั้งจํานวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกําหนดชําระแก่จําเลย (4) ให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราว”

มาตรา 255 “ในการพิจารณาอนุญาตตามคําขอที่ยื่นไว้ตามมาตรา 254 ต้องให้เป็นที่พอใจของ ศาลว่า คําฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนําวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(4) ในกรณีที่ยื่นคําขอให้ศาลมีคําสั่งตามมาตรา 254 (4) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า เพื่อที่จะ ประวิงหรือขัดขวางต่อการพิจารณาคดีหรือการบังคับตามคําบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จําเลย หรือเพื่อจะทําให้โจทก์เสียเปรียบ

(ก) จําเลยซ่อนตัวเพื่อจะไม่รับหมายเรียกหรือคําสั่งของศาล

(ข) จําเลยได้ยักย้ายไปให้พ้นอํานาจศาลหรือซุกซ่อนเอกสารใด ๆ ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะใช้ เป็นพยานหลักฐานยันจําเลยในคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณา หรือทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นที่เกรงว่าจําเลยจะจําหน่ายหรือทําลายเอกสารหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือ

(ค) ปรากฏตามกิริยาหรือตามวิธีที่จําเลยประกอบการงานหรือการค้าของตนว่าจําเลยจะหลีกหนี หรือพอเห็นได้ว่าจะหลีกหนีไปให้พ้นอํานาจศาล”

วินิจฉัย

(1) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่โจทก์ในการขอให้ศาลมีคําสั่ง กําหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา หากโจทก์เห็นว่าโจทก์จะได้รับ ความเสียหายจากการกระทําของจําเลย โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 ได้ แต่การร้องขอตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 นั้น จะต้องมิใช่คดีมโนสาเร่

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยชําระเงินกู้ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้น เป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งถือเป็นคดีมโนสาเร่ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 189 (1) ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคําขอคุ้มครองชั่วคราวให้มีการยึดรถยนต์เลขทะเบียน 1234 ของจําเลย เนื่องจากจําเลยกําลังจะขายรถยนต์คันนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1) นั้น โจทก์จึงไม่อาจขอให้
ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวได้

(2) การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยโอนที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 จังหวัดเชียงใหม่มูลค่า 500,000 บาท ของจําเลยให้แก่โจทก์พร้อมทั้งยื่นคําขอคุ้มครองชั่วคราวให้ยึดที่ดินไว้ชั่วคราว เนื่องจากจําเลย กําลังจะขายที่ดินดังกล่าวนั้น คําขอให้ศาลยึดที่ดินไว้ชั่วคราวนั้นเป็นคําขอฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (1) และเป็นการขอคุ้มครองชั่วคราวเด็ดขาดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 21 (3) ดังนั้น เมื่อศาลจะไต่สวนคําร้อง ศาลจึง ไม่สามารถเรียกจําเลยมาไต่สวนด้วยได้

(3) การขอคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้ศาลมีคําสั่งให้จับกุมและกักขังจําเลยไว้ชั่วคราวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 254 (4) นั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 255 (4) ได้กําหนดไว้ว่า ในการพิจารณาอนุญาตตามคําขอ ที่ยื่นไว้ ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า คําฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนําวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ กล่าวคือ ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า เพื่อที่จะประวิงหรือขัดขวางต่อการพิจารณาคดี หรือการบังคับตาม คําบังคับใด ๆ ซึ่งอาจจะออกบังคับเอาแก่จําเลย หรือเพื่อจะทําให้โจทก์เสียเปรียบ

(ก) จําเลยซ่อนตัวเพื่อจะไม่รับหมายเรียกหรือคําสั่งของศาล

(ข) จําเลยได้ยักย้ายไปให้พ้นอํานาจศาลหรือซุกซ่อนเอกสารใด ๆ ซึ่งพอจะเห็นได้ว่าจะใช้ เป็นพยานหลักฐานยันจําเลยในคดีที่อยู่ในระหว่างพิจารณา หรือทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจําเลยทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเป็นที่เกรงว่าจําเลยจะจําหน่ายหรือทําลายเอกสารหรือทรัพย์สินเช่นว่านั้น หรือ

(ค) ปรากฏตามกิริยาหรือตามวิธีที่จําเลยประกอบการงานหรือการค้าของตนว่าจําเลยจะหลีกหนี หรือพอเห็นได้ว่าจะหลีกหนีไปให้พ้นอํานาจศาล”

สรุป
(1) โจทก์จะยื่นคําขอคุ้มครองชั่วคราวให้มีการยึดรถยนต์เลขทะเบียน 1234 ของจําเลยไม่ได้
(2) หากศาลจะไต่สวนคําร้อง ศาลจะเรียกจําเลยมาไต่สวนด้วยไม่ได้
(3) การจะขอให้ศาลจับกุมกักขังจําเลยไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษานั้น จะสามารถขอได้ด้วยเหตุตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 255 (4)

 

ข้อ 4. นางหงส์เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายห่านซึ่งเป็นจําเลยออกจากที่ดินพิพาท ต่อมานางหงส์และนายห่าน
ได้ตกลงทําสัญญายอมกันต่อศาลโดยนายห่านยินยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นของนางหงส์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงกันว่าให้นายท่านไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่นางหงส์
ด้วย แต่นางหงส์ก็เพิกเฉยไม่ได้ขอให้บังคับคดีภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือ คําสั่ง สิทธิของนางหงส์ที่ได้ที่ดินพิพาทต้องเสียไปหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 274 วรรคหนึ่ง “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งให้ชําระหนี้ (ลูกหนี้ตามคําพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคําบังคับที่ออกโดยคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือบุคคลที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ได้รับชําระหนี้
(เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดี โดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติแห่งภาคนี้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่ง และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา ได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้ หรือได้ดําเนินการบังคับคดีโดยวิธีอื่นไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดี โดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคําพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้ มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นภายในกําหนด 10 ปีนับแต่วันที่ มีคำพิพากษาหรือคําสั่ง ซึ่งคําว่า “นับแต่วันมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง” ตามมาตรา 274 ดังกล่าว หมายความว่า นับแต่วันที่มีคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลในชั้นที่สุดในคดีนั้น และถ้าเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาได้ร้องขอให้
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องใดไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้
ดําเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางหงส์เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายห่านซึ่งเป็นจําเลยออกจากที่ดินพิพาท ต่อมานางหงส์และนายท่านได้ตกลงทําสัญญายอมกันต่อศาล โดยนายท่านยินยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นของนางหงส์
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อตกลงกันว่าให้นายห่านไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินให้แก่นางหงส์ ด้วยนั้น เป็นกรณีที่นางหงส์ซึ่งเป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีภายในกําหนด 10 ปีนับแต่ วันที่ศาลมีคําพิพากษาตามยอม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางหงส์ได้ เพิกเฉยไม่ได้ขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ย่อมทําให้นางหงส์เสียสิทธิตามคําพิพากษา ดังนั้น สิทธิของนางหงส์ที่จะได้ที่ดินพิพาทจึงเสียไปตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง

สรุป สิทธิของนางหงส์ที่จะได้ที่ดินพิพาทย่อมเสียไป

Advertisement