การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายชมไปทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่งแต่ไม่มีเงิน  นายเชยซึ่งเป็นเพื่อนสนิทตกลงรับเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์แทนให้  ต่อมานายชมได้นำรถยนต์คันนั้นไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทประกันภัย  โดยตกลงกันว่าถ้ารถยนต์สูญหายไป  นายชมจะได้รับชำระค่าสินไหมทดแทน  400,000  บาท  ระหว่างอายุสัญญาประกันวินาศภัย  รถยนต์สูญหายไปโดยไม่ปรากฏร่องรอย  นายชมจึงเรียกให้บริษัทประกันภัยชำระค่าสินไหมทดแทน  400,000  บาท  

บริษัทประกันภัยปฏิเสธการชำระค่าสินไหมทดแทน  โดยอ้างว่ารถยนต์คันนี้นายชมมิได้เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อ  นายเชยต่างหากที่เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อ  นายชมเพียงแต่ไปทำสัญญาเช่าซื้อ  นายชมไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันนี้  จึงไม่มีสิทธิที่จะเอารถยนต์คันนี้ไปทำสัญญาประกันวินาศภัย  บริษัทประกันภัยไม่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทน  400,000  บาทให้  ดังนี้  บริษัทประกันภัยต้องชำระค่าสินไหมทดแทน 400,000  บาท  ให้แก่นายชมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ตามปัญหา  แม้นายชมมิได้เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อ  นายเชยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อแทนให้ก็ตาม  แต่นายชมเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อ  จึงอยู่ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิที่จะครอบครองและใช้ประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือบุบสลายในรถยนต์ที่เช่าซื้อ  และเมื่อใช้เงินครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว  รถยนต์คันนั้นก็ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่นายชมผู้เช่าซื้อ  นายชมจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่มาทำสัญญาประกันวินาศภัยเมื่อรถสูญหายตามที่ตกลงไว้ในสัญญา  บริษัทประกันภัยจึงต้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้  400,000  บาท  ตามสัญญา

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องชำระค่าสินไหมทดแทน  4000,000  บาทให้แก่นายชม

 

ข้อ  2  นายสมหวังนำตึกหลังหนึ่งไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทดำในวงเงิน  200,000  บาท  และต่อมานำไปประกันไว้กับบริษัทแดงในวงเงิน  400,000  บาท  เกิดอัคคีภัยเสียหาย  250,000  บาท  อยากทราบว่าบริษัทดำและบริษัทแดงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายสมหวังหรือไม่  ถ้าต้องรับผิดจะรับผิดมากน้อยเพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  870  วรรคสาม  ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน  ท่านว่าผู้รับประกันภัยรายแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน  ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ

วินิจฉัย

ตามปัญหา  เป็นเรื่องการประกันวินาศภัยหลายรายในวัตถุเดียวกัน  และเป็นสัญญาสืบต่อเนื่องกันตามหลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีเกิดวินาศภัย  ผู้รับประโยชน์จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริง  ฉะนั้น เมื่อความเสียหายที่เกิดวินาศภัย  250,000  บาท  บริษัทดำและบริษัทแดงต้องรับผิดชอบตามลำดับต่อไปนี้   

1       บริษัทดำผู้รับประกันก่อนต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  200,000  บาท  เท่ากับจำนวนเงินที่ได้ประกันไว้  ซึ่งยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัย

2       บริษัทแดงผู้รับประกันต่อมาจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังไม่คุ้ม  50,000  บาท

สรุป  บริษัทดำรับผิด  200,000  บาท  ส่วนบริษัทแดงรับผิด  50,000  บาท  

 

ข้อ  3  เมื่อต้นปี  พ.ศ.  2535  นายดีนำนางศรีภริยาไปทำสัญญาเอาประกันชีวิตกับบริษัทไทยประกันชีวิต  ในวงเงิน  1,000,000  บาท  นายดีแถลงต่อบริษัทว่า นางศรีภริยามีสุขภาพสมบูรณ์  ซึ่งความจริงนางศรีป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม  นายดีไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน  ขณะที่ทำสัญญาประกันชีวิต  นางศรีก็นิ่งเสียไม่แถลงความจริงโดยคาดว่าจะรักษาหาย  ครั้นต่อมานางศรีได้ถึงแก่กรรมเมื่อต้นเดือนมกราคม  2541 บริษัทไทยประกันชีวิตสืบทราบว่า  นางศรีป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อนที่นายดีนำมาทำสัญญาประกันชีวิต  จึงบอกล้างนิติกรรมโมฆียกรรมนี้  เมื่อวันที่  15  มกราคม  2541  อยากทราบว่า  บริษัทไทยประกันชีวิต  มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมรายนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

หน้าที่การเปิดเผยข้อความจริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นี้เป็นหน้าที่ทั้งของผู้เอาระกันภัยและผู้ถูกประกัน  การที่นางศรีผู้ถูกเอาประกันนิ่งเสีย  ไม่เปิดเผยว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรง  หากบริษัทไทยประกันชีวิตทราบความจริงเรื่องนี้คงไม่ยอมรับทำสัญญาประกันชีวิตด้วยอย่างแน่นอน  สัญญาประกันชีวิตฉบับนี้จึงเป็นโมฆะ

แต่การบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ตามมาตรา  865  วรรคท้าย  ได้วางหลักไว้ว่า  ต้องบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันทราบมูลอันจะบอกล้างได้  หรือภายในห้าปีนับแต่วันทำสัญญาหากมิฉะนั้นแล้วเป็นอันหมดสิทธิในการบอกล้าง  สัญญาประกันชีวิตฉบับนี้ได้ทำเมื่อต้นปี  พ.ศ. 2535  นับจนบัดนี้  เกินห้าปีแล้ว  บริษัทไทยประกันชีวิตไม่มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมนี้แล้ว

สรุป  บริษัทไทยประกันชีวิตไมมีสิทธิบอกล้างนิติกรรมนี้แล้ว

Advertisement