การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2112 (LAW2012) ป.พ.พ.ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายต่อทําประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะให้กับนางบุญภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ความคุ้มครองตามสัญญาแบบตลอดชีพ มี บมจ.ชํานาญประกันชีวิตเป็นผู้รับประกันชีวิต จํานวนเงินเอาประกันชีวิต 2 ล้านบาท มิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ ในขณะที่ทําสัญญาประกันชีวิต นางบุญ ป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่มิได้แจ้งให้นายต่อทราบ ทั้งยังระบุในแบบคําขอเอาประกันชีวิตว่าตน สุขภาพแข็งแรงดี ต่อมานายต่อกับนางบุญหย่าขาดจากกัน และนางบุญทําหนังสือไปถึง บมจ. ชํานาญประกันชีวิต ขอให้ระบุนางสาวนวลบุตรของตนเป็นผู้รับประโยชน์และทําการเขียนข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับดังกล่าวว่า ตนประสงค์จะให้ประโยชน์แห่งสัญญาตกแก่นางสาวนวลพร้อมส่งกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นางสาวนวลเก็บรักษาเอาไว้ ปรากฏต่อมาว่านางบุญติดเชื้อ COVID-19 และถึงแก่ความตาย นางสาวนวลจึงแจ้งไปยัง บมจ.ชํานาญประกันชีวิต เพื่อขอรับเงิน ตามสัญญา แต่ถูก บมจ.ชํานาญประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า นางบุญไม่มีส่วน ได้เสียในสัญญาประกันชีวิตด้วยเหตุหย่ากับนายต่อประการหนึ่ง และสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมมียะอีกประการหนึ่ง

Advertisement

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธของ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตทั้งสองประการ ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

Advertisement

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

Advertisement

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

Advertisement

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

Advertisement

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น ไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคล อันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่ง
อาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง
ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะ ถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ในขณะทําสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย
มิเช่นนั้นสัญญาประกันภัยจะไม่ผูกพันคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้รับประกันภัยให้ต้องรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย (มาตรา 863) อีกทั้งผู้เอาประกันภัยยังมีหน้าที่จะต้องแถลงข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจ ผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ถ้าในขณะทําสัญญาผู้เอาประกันปกปิด ข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 865)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต่อทําประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะให้กับนางบุญภริยาโดยชอบ ด้วยกฎหมาย ความคุ้มครองตามสัญญาแบบตลอดชีพ มี บมจ.ชํานาญประกันชีวิตเป็นผู้รับประกันชีวิต จํานวนเงิน เอาประกันชีวิต 2 ล้านบาทนั้น ถือเป็นการทําสัญญาประกันชีวิตโดยอาศัยความมรณะของบุคคลหนึ่งตามมาตรา 889 และเมื่อนายต่อผู้เอาประกันชีวิตเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของนางบุญผู้ถูกเอาประกันชีวิต ย่อมถือว่านายต่อผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 และส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันจะต้อง มีอยู่ในขณะทําสัญญาด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะทําสัญญานายต่อมีส่วนได้เสียในชีวิตของนางบุญ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา แม้ว่าต่อมาส่วนได้เสียจะหมดไปเพราะ หย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทําให้สัญญาที่มีผลผูกพันกันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันกันในภายหลังแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตจะปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่านางบุญไม่มีส่วนได้เสียในสัญญา ประกันชีวิตด้วยเหตุหย่ากับนายต่อ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การที่นายต่อผู้เอาประกันชีวิตได้ทําประกันชีวิตบุคคลอื่น (นางบุญ) โดยมิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ไว้ ย่อมถือได้ว่าผู้เอาประกันชีวิตคือนายต่อเป็นผู้รับประโยชน์ (ฎีกาที่ 1822/2544) และการโอนประโยชน์แห่ง สัญญาประกันชีวิตให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้น เป็นสิทธิของผู้เอาประกันภัยคือนายต่อ ส่วนนางบุญเป็นเพียง ผู้ถูกเอาประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นได้ตามมาตรา 891 ดังนั้น เมื่อนายต่อกับนางบุญ หย่าขาดจากกัน การที่นางบุญได้ทําหนังสือไปถึง บมจ.ชํานาญประกันชีวิต ขอให้ระบุนางสาวนวลบุตรของตน เป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญา และได้ทําการเขียนข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับดังกล่าวว่าตนประสงค์ จะให้ประโยชน์แห่งสัญญาตกแก่นางสาวนวล พร้อมส่งกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นางสาวนวลเก็บรักษาเอาไว้ย่อมไม่มีผลทําให้สิทธิในการเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิตของนายต่อเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด และเมื่อนางบุญถึงแก่ความตาย บมจ.ชํานาญประกันชีวิตก็จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้แก่นายต่อตามมาตรา 889

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขณะที่ทําสัญญาประกันชีวิตนั้น นางบุญป่วยเป็นมะเร็ง แต่มิได้แจ้งให้นายต่อทราบ ทั้งยังระบุในแบบคําขอเอาประกันชีวิตว่าตนมีสุขภาพแข็งแรงดี จึงถือว่าเป็นกรณีที่ ผู้เอาประกันภัยและผู้ถูกเอาประกันภัยรู้แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัย
ให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตาม มาตรา 865 ดังนั้น การที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าสัญญาประกันชีวิตตกเป็น โมฆียะนั้น จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่านางบุญไม่มีส่วนได้เสีย ในสัญญาประกันชีวิตด้วยเหตุหย่าขาดกับนายต่อนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการให้เหตุผลว่าสัญญาประกันชีวิต
ตกเป็นโมฆียะนั้นชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2. นายกับเจ้าของรถยนต์ ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันวินาศภัยในความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้น กับรถยนต์นั้นกับบริษัท รวยดี ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนเงินเอาประกันภัย 5 แสนบาท และ นายกบได้ทําสัญญาประกันภัยในความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกไว้ด้วยจํานวนเงินเอาประกันภัย 3 แสนบาท โดยในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยในความเสียหายกับรถยนต์นั้นมีเงื่อนไขกําหนดไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้เอาประกันภัยนํารถยนต์นั้นไปรับจ้างหรือให้เช่า ปรากฏว่านายกบได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปรับจ้างส่งของให้กับนายเขียด วันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อของนายกบได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวนั้น ช่วงเวลาที่ไปส่งของให้กับนายเขียดเฉี่ยวชนนายอ๊อดได้รับบาดเจ็บ มีค่ารักษาพยาบาลจํานวน 50,000 บาท นายอ๊อดจึงมาเรียกให้บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากนายกบได้ทําประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ แต่ถูก บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัย จะต้องรับผิดเนื่องจากนายกบผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ข้อปฏิเสธของ บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่า จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอา
ประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกบได้นํารถยนต์ไปทําประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท รวยดีประกัน วินาศภัย จํากัด ในความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์ที่เอาประกันรวมทั้งประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นประกันภัยค้ําจุนด้วยนั้น บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สัญญาคือนายกบ (ผู้เอาประกันภัย) และบริษัท รวยดีประกัน วินาศภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย) ซึ่งตามมาตรา 887 วรรคหนึ่งนั้น สัญญาประกันภัยค้ําจุน เป็นสัญญาซึ่งผู้รับ ประกันภัยได้ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลหนึ่ง
และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

จากข้อเท็จจริง การที่นายกบได้ทําประกันภัยค้ําจุนในความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ไว้ด้วยนั้น โดยไม่ได้มีเงื่อนไขความรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายกบได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเฉี่ยวชนนายอ๊อด ได้รับบาดเจ็บมีค่ารักษาพยาบาลจํานวน 50,000 บาท นายอ๊อดจึงมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเงื่อนไขที่กําหนดห้ามไม่ให้ผู้เอาประกันภัยนํารถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่านั้น เป็นเงื่อนไขในส่วนประกันความเสียหายอันเกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอ๊อด จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดเนื่องจากนายกบผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ไม่ได้

สรุป

ข้อปฏิเสธของบริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น

ข้อ 3. นายเสริมทําสัญญาประกันชีวิตกับ บมจ. ภักดีประกันชีวิต จํานวนเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท ด้วยเหตุมรณะ ระยะเวลาการคุ้มครอง 5 ปี นายเสริมขับรถไปติดต่อธุรกิจที่จังหวัดสุรินทร์ ขณะ ขับรถถึงทางแยกไม่มีสัญญาณไฟจราจร นายเจ๋งขับรถยนต์โดยประมาท รถนายเจ๋งเสียหลักมาชน รถยนต์ของนายเสริมพลิกคว่ำเป็นเหตุให้นายเสริมเสียชีวิต บมจ. ภักดีประกันชีวิตจึงจ่ายเงิน ประกัน 2 ล้านบาท ให้นายศักดิ์ทายาทของนายเสริม แล้ว บมจ. ภักดีประกันชีวิตได้เข้าเรียกร้อง เงิน 2 ล้านบาท จากนายเจ๋ง นายศักดิ์จึงคัดค้านการเรียกร้องของ บมจ. ภักดีฯ เพราะนายศักดิ์ อยู่ระหว่างการเจรจาค่าเสียหายกับนายเจ๋งกรณีขับรถชนนายเสริมเสียชีวิต แต่ บมจ. ภักดีฯ อ้างว่า บริษัทฯ มีสิทธิเรียกร้องในการเข้ารับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า บมจ. ภักดีฯ สามารถเข้ารับช่วงสิทธิ์ในสัญญาประกันภัยนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 896 “ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียก เอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหมทดแทน จากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจํานวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย”

วินิจฉัย

สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายผู้รับประกันตกลงจะใช้เงินจํานวนหนึ่งให้แก่ผู้เอาประกันโดยอาศัยความทรงชีพหรือความมรณะของผู้เอาประกันเป็นเหตุในการใช้เงินตามมาตรา 889 และใน กรณีการประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะของผู้เอาประกันเป็นเหตุในการใช้เงินนั้น หากผู้เอาประกันไม่ได้ระบุตัว ผู้รับประโยชน์เอาไว้ เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นย่อมตกได้แก่ทายาทของผู้เอาประกัน และทายาทของผู้เอาประกัน ยังมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากบุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความมรณะแก่ผู้เอาประกันได้อีกด้วยตามมาตรา 896 โดยผู้รับประกันแม้จะได้ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตให้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิที่จะไป เรียกร้องหรือไล่เบี้ยเอากับผู้กระทําให้ผู้เอาประกันหรือผู้ถูกเอาประกันถึงแก่ความตาย เพราะการรับช่วงสิทธิ มิได้แต่เฉพาะกรณีประกันวินาศภัยตามมาตรา 880 เท่านั้น (ฎีกาที่ 3026/2540)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสริมได้ทําสัญญาประกันชีวิตกับ บมจ. ภักดีประกันชีวิต จํานวนเงิน เอาประกัน 2 ล้านบาท ด้วยเหตุมรณะนั้น เมื่อนายเสริมขับรถไปติดต่อธุรกิจที่จังหวัดสุรินทร์และได้ถูกนายเจ๋ง
ขับรถยนต์โดยประมาทมาชนรถยนต์ของนายเสริมพลิกคว่ําเป็นเหตุให้นายเสริมเสียชีวิต
นายศักดิ์ทายาท ของนายเสริมจึงมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตจาก บมจ. ภักดีประกันชีวิต จํานวน 2 ล้านบาท และ นอกจากนั้นนายศักดิ์ยังสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเจ๋งบุคคลภายนอกผู้กระทําให้นายเสริมผู้เอาประกัน ถึงแก่ความตายได้อีกตามมาตรา 896 ดังนั้น เมื่อ บมจ. ภักดีประกันชีวิต ได้จ่ายเงินประกัน 2 ล้านบาท ให้แก่ นายศักดิ์ทายาทของนายเสริม แล้ว บมจ. ภักดีประกันชีวิต จะเข้ารับช่วงสิทธิในสัญญาประกันชีวิตเพื่อเรียกร้อง เงิน 2 ล้านบาท จากนายเจ๋งไม่ได้ เพราะสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายเจ๋งตามมาตรา 896 นั้น เป็น สิทธิของทายาทผู้มรณะเท่านั้น ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่

สรุป บมจ. ภักดีประกันชีวิต ไม่สามารถเข้ารับช่วงสิทธิในสัญญาประกันภัยนี้ได้

 

Advertisement