การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2112 (LAW2012) ป.พ.พ.ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายต่อทําประกันชีวิตโดยอาศัยความมรณะไว้กับ บมจ.ชํานาญประกันชีวิต จํานวนเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท ระบุนางสาวพอใจเป็นผู้รับประโยชน์ ในขณะที่ทําสัญญาประกันชีวิต นายต่อเป็นโรคมะเร็งแต่ไม่แสดงอาการ จึงไม่รู้ว่าตนเป็นโรคร้ายแรงที่ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตจะไม่รับทําสัญญา นายต่อจึงระบุในแบบคําขอเอาประกันชีวิตว่าตนสุขภาพแข็งแรงดี ทั้งนี้นางสาวพอใจทราบถึงโรคมะเร็งดังกล่าวของนายต่อแต่ปกปิดไม่แจ้งให้ บมจ.ชํานาญประกันชีวิตทราบ ปรากฏต่อมาว่า นายต่อและนางสาวพอใจทะเลาะกัน นายต่อจึงทําการเปลี่ยนแปลงนางสาวนวลบุตรของตนมาเป็นผู้รับประโยชน์แทนนางสาวพอใจ ต่อมานายต่อถึงแก่ความตายจากโรคมะเร็งดังกล่าว นางสาวพอใจ และนางสาวนวลต่างทําหนังสือไปยัง บมจ.ชํานาญประกันชีวิตเพื่อขอรับเงินตามสัญญา

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า บมจ.ชํานาญประกันชีวิตจะต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต 2 ล้านบาท หรือไม่ และถ้าหากมีความรับผิดจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของนายต่อแก่ผู้ใด ระหว่างนางสาวพอใจกับนางสาวนวล

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้

คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง
ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ในขณะทําสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย
มิเช่นนั้นสัญญาประกันภัยจะไม่ผูกพันคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผู้รับประกันภัยให้ต้องรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย (มาตรา 863) อีกทั้งผู้เอาประกันภัยยังมีหน้าที่จะต้องแถลงข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจ ผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ถ้าในขณะทําสัญญาผู้เอาประกันปกปิด ข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 865)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต่อได้ทําสัญญาประกันชีวิตโดยอาศัยความมรณะไว้กับ บมจ.ชํานาญ ประกันชีวิต จํานวนเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท ระบุนางสาวพอใจเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมสามมารถทําได้ เพราะถือว่านายต่อผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพัน คู่สัญญา ดังนั้น เมื่อนายต่อได้ถึงแก่ความตายในระหว่างอายุสัญญา บมจ.ชํานาญประกันชีวิตจึงต้องใช้เงิน 2 ล้านบาท ให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นตามมาตรา 889

และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่ทําสัญญาประกันชีวิตนั้น นายต่อผู้เอาประกันภัยเป็น โรคมะเร็งแต่ไม่แสดงอาการ จึงไม่รู้ว่าตนเป็นโรคร้ายแรงที่ บมจ. ชํานาญประกันชีวิตจะไม่รับทําสัญญา นายต่อจึงระบุในแบบคําขอเอาประกันชีวิตว่าตนสุขภาพแข็งแรงดี จึงไม่ใช่กรณีที่ผู้เอาประกันภัยปกปิดข้อความจริง หรือแถลงข้อความเท็จตามมาตรา 865 แม้ว่านางสาวพอใจซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์จะรู้ข้อความจริงแต่ก็มิได้มีหน้าที่ ตามมาตรา 865 ในการเปิดเผยข้อความจริง ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตซึ่งนายต่อทําไว้กับ บมจ.ชํานาญประกันชีวิต จึงไม่ตกเป็นโมฆียะ

การที่นายต่อและนางสาวพอใจทะเลาะกัน นายต่อจึงทําการเปลี่ยนแปลงนางสาวนวลบุตรของตน มาเป็นผู้รับประโยชน์แทนนางสาวพอใจนั้น เมื่อนางสาวพอใจผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ แห่งสัญญา สิทธิในการรับประโยชน์จึงยังไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 862 ประกอบมาตรา 891 ดังนั้น นายต่อจึง สามารถทําการเปลี่ยนแปลงนางสาวนวลบุตรของตนมาเป็นผู้รับประโยชน์แทนนางสาวพอใจได้ และเมื่อนางสาวนวล ได้ทําหนังสือบอกกล่าวไปยัง บมจ.ชํานาญประกันชีวิตเพื่อขอรับเงินตามสัญญา สิทธิในการได้รับประโยชน์ของนางสาวนวลจึงสมบูรณ์ตามมาตรา 891 ดังนั้น เมื่อนายต่อถึงแก่ความตาย บมจ.ชํานาญประกันชีวิตจึงต้องรับผิด ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต 2 ล้านบาท ให้แก่นางสาวนวล

สรุป
บมจ.ชํานาญประกันชีวิต จะต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต 2 ล้านบาท ให้แก่นางสาวนวล

 

ข้อ 2 นายบัวขาวซื้อรถเบนซ์ด้วยเงินสดราคา 3 ล้านบาท นายบัวขาวทําสัญญาประกันภัยรถเบนซ์คันดังกล่าวไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองทุกอย่าง รวมถึงตัวรถของผู้เอาประกันภัยด้วย จํานวนเงินเอาประกันภัย 2 ล้านบาท ในระหว่างที่สัญญา มีผลบังคับ นายหมอกเป็นผู้ทําให้เกิดอุบัติเหตุโดยขับรถกระบะด้วยความประมาท แซงรถบรรทุก คันหน้าเข้าไปในช่องเดินรถที่นายบัวขาวแล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด โดยนายหมอกไม่รอให้รถเบนซ์ของนายบัวขาวขับแล่นผ่านไปก่อน เป็นเหตุให้นายบัวขาวจําต้องขับรถเบนซ์หลบไป ด้านซ้ายของถนนเพื่อไม่ให้ถูกรถของนายหมอกชนประสานงากัน จึงทําให้รถเบนซ์ของนายบัวขาว พลิกคว่ำเสียหาย นายบัวขาวจึงแจ้งผู้รับประกันภัย บริษัทประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ นายบัวขาวตามทุนประกัน คือ 2 ล้านบาท แต่ปรากฏว่านายบัวขาวนํารถเบนซ์คันนั้นเข้าอู่ซ่อม และจ่ายค่าซ่อมให้แก่นายเมฆเจ้าของอู่ไป 1 ล้าน 8 แสนบาท อยากทราบว่า บริษัทประกันภัย มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจํานวน 2 ล้านบาท จากนายหมอกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 880 วรรคหนึ่ง “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 880 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก และผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อม มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น แต่ผู้รับประกันภัย สามารถเข้ารับช่วงสิทธิไปเรียกเอาแก่บุคคลภายนอกเพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้รับ
ความเสียหายจริงเท่านั้น จะเรียกเอาจากบุคคลภายนอกเกินความเสียหายจริงที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ได้รับไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่รถของนายบัวขาวผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายโดยการพลิกคว่ำนั้น เป็นผลโดยตรงมาจากความประมาทเลินเล่อของนายหมอก ซึ่งขับรถแซงเข้ามาในช่องเดินรถสวนจึงต้องถือว่า วินาศภัยดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก และการที่บริษัทประกันวินาศภัยได้ชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่นายบัวขาว 2 ล้านบาท ถือว่าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วบริษัทประกันภัยจึงสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายบัวขาวที่มีต่อนายหมอกบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัยในการเรียกร้องเอาจากนายหมอกนั้นจะต้องไม่เกินความเสียหายจริงที่นายบัวขาวได้รับจากการกระทําของนายหมอก ดังนั้น เมื่อความเสียหายที่นายบัวขาวได้รับจากการกระทําของนายหมอก คือ 1 ล้าน 8 แสนบาท บริษัทจึงเข้ารับช่วงสิทธิของนายบัวขาว ในการเรียกร้องเอาแก่นายหมอกได้เพียง 1 ล้าน 8 แสนบาทเท่านั้น ส่วนที่เกินความเสียหายอีก 2 แสนบาท นายหมอกหาจําต้องรับผิดต่อบริษัทประกันภัยแต่อย่างใดไม่

สรุป
บริษัทประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจํานวน 2 ล้านบาท จากนายหมอก แต่สามารถเรียกได้เพียง 1 ล้าน 8 แสนบาทเท่านั้น

 

ข้อ 3 นายปรีชาและนางบุญมีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นางบุญมีได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเจริญมาจํานวน 500,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในกิจการค้าของตน ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2563 นายปรีชาได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงิน เอาประกัน 700,000 บาท โดยทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ ระบุให้นางบุญมีเป็นผู้รับประโยชน์ โดยได้ชําระเบี้ยประกันไปจํานวน 100,000 บาท วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายปรีชาประสบอุบัติเหตุ ระหว่างเดินทางไปเที่ยวกับเพื่อน ทําให้นายปรีชาถึงแก่ความตาย นางบุญมีจึงแจ้งไปยังบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด เพื่อขอรับเงินประกันตามสัญญา และนอกจากนั้นนายเจริญเจ้าหนี้ของ นางบุญมีก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด ใช้เงินให้แก่นายเจริญก่อน ในฐานะเจ้าหนี้ของผู้รับประโยชน์

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนางบุญมีและ นายเจริญหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 897 วรรคสอง “ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกําหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จํานวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็น
สินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปรีชาและนางบุญมีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และนายปรีชา ได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตตนเองต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 700,000 บาท โดย ทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ และระบุให้นางบุญมีเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมสามารถทําได้ เพราะถือว่านายปรีชา ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อ นายปรีชาถึงแก่ความตาย บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จึงต้องใช้เงินตามสัญญาให้แก่นางบุญมีผู้รับประโยชน์ จํานวน 700,000 บาท ตามมาตรา 889

ส่วนกรณีที่นางบุญมีได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเจริญมาจํานวน 500,000 บาทนั้น บริษัท เมืองดี ประกันชีวิต จํากัด ไม่ต้องใช้เงินให้กับนายเจริญ เนื่องจากกรณีตามมาตรา 897 วรรคสองนั้น จะใช้กับกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตตนเองนั้นมีเจ้าหนี้ และเมื่อผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย เฉพาะจํานวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วจึงจะตกเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้สามารถเอาไปใช้หนี้ได้ แต่จากข้อเท็จจริง นายเจริญเป็นเจ้าหนี้นางบุญมีผู้รับประโยชน์ มิได้เป็นเจ้าหนี้นายปรีชาผู้เอาประกันภัย กรณีนี้จึง
ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 897 วรรคสอง

สรุป
บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาจํานวน 700,000 บาท ให้แก่ นางบุญมี แต่ไม่ต้องใช้ให้แก่นายเจริญ

Advertisement