การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ  ต่อมามีนาย  ค  มาขอเช่าซื้อรถยนต์  โดยนาย  ข  ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อกับนาย  ค  ไป  และนาย  ค  ได้วางเงินดาวน์ไว้  300,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1.1            นาย  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

1.2            สัญญาให้เช่าซื้อที่นาย  ข  ทำไป  มีผลเป็นเช่นไร

1.3            เงินดาวน์ที่นาย  ค  มอบให้ไว้กับนาย  ข  นั้น  นาย  ข  จะต้องโอนคืนตัวการหรือไม่  เพราะเหตุใด

1.4            หากนาย  ข  ไม่คืน  นาย  ก  ฟ้องนาย  ข  ให้คืน  นาย  ข  อ้างว่านาย  ก  ไม่มีสิทธิฟ้อง  เพราะนาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือ  ดังนี้ข้ออ้างของนาย  ข  ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ให้ท่านวินิจฉัยเป็นข้อๆ  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยทุกข้อ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  152  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  572  วรรคสอง  สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์โดยมิได้มอบหมายเป็นหนังสือ  และต่อมามีนาย ค  มาขอเช่าซื้อรถยนต์โดยได้วางเงินดาวน์ไว้  300,000  บาท  และนาย  ข  ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อกับนาย ค  ไป  

1.1            ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  นาย  ข  มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อการทำสัญญาให้เช่าซื้อนั้นเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือ  (มาตรา  572  วรรคสอง)  ดังนั้น  การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญาให้เช่าซื้อจึงต้องทำเป็นหนังสือด้วย  ตามมาตรา  798  วรรคแรก  เมื่อการตั้งตัวแทนของนาย  ก  ที่ให้นาย  ข  เป็นตัวแทนไปทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์มิได้ทำเป็นหนังสือ  จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา  798  วรรคแรก  ดังนั้นนาย  ข  จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ

1.2            เมื่อนาย  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ  ดังนั้นเมื่อนาย  ข  ได้ไปทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์กับนาย  ค  สัญญาให้เช่าซื้อดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  152  ที่มีหลักว่า  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  การนั้นเป็นโมฆะ

1.3            แม้การตั้งตัวแทนระหว่างนาย  ก  กับนาย  ข  จะมิได้ทำเป็นหนังสือ  แต่เงินดาวน์ที่นาย  ข  รับไว้จากนาย  ค  300,000  บาทนั้น  เป็นเงินที่นาย  ข  รับไว้ในฐานะตัวแทนของนาย  ก  ซึ่งเป็นตัวการ  ดังนั้นนาย  ข  จึงต้องโอนคืนให้แก่ตัวการคือนาย  ก  ตามมาตรา  810  วรรคแรก

1.4            หากนาย  ข  ไม่โอนคืนเงิน  300,000  บาท  นั้นให้แก่นาย  ก  นาย  ก  ย่อมสามารถฟ้องให้นาย  ข  โอนคืนได้  การที่นาย  ข  อ้างว่า  นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทน  มิได้ทำเป็นหนังสือตามมาตรา  798  วรรคแรกนั้น  ข้ออ้างของนาย  ข  ฟังไม่ขึ้น  เพราะระหว่างนาย  ก  ตัวการกับนาย  ข  ตัวแทนนั้น  แม้สัญญาตั้งตัวแทนจะมิได้ทำเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798

สรุป

1.1  นาย  ข  ไม่มีอำนาจทำสัญญาให้เช่าซื้อ

1.2  สัญญาให้เช่าซื้อที่นาย  ข  ทำไปมีผลเป็นโมฆะ

1.3  เงินดาวน์ที่นาย  ค  มอบให้ไว้กับนาย  ข  นั้น  นาย  ข  จะต้องโอนคืนตัวการ

1.4  ข้ออ้างของนาย  ข  ที่ว่าการตั้งตัวแทนมิได้ทำเป็นหนังสือฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ  2  นาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้ซื้อบ้านไม้สักทรงไทย  1  หลัง  ในราคาที่แพงมาก  นาย  ก  ไม่อยากให้ใครรู้ว่านาย  ก  มีเงินมาก จึงให้ซื้อโดยใส่ชื่อนาย  ข  เป็นเจ้าของไปก่อน  หลังจากนั้น  3  ปี  นาย  ก  จึงให้นาย  ข  โอนบ้านหลังดังกล่าวมาให้นาย  ก  นาย  ข  ไม่โอนให้โดยอ้างว่าบ้านเป็นชื่อของนาย  ข  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ข  จะต้องโอนบ้านให้นาย  ก  หรือไม่  และหากนาย  ข  ไม่โอน  นาย  ก  จะฟ้องให้นาย  ข  โอนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและ เข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการ ผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทนและเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้น ได้ไม่

มาตรา 810  เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้ เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ซื้อบ้านไม้สักทรงไทย  1  หลังให้แก่ตน  แต่นาย  ก  ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนมีเงินมาก  จึงให้ซื้อโดยใส่ชื่อของนาย  ข  เป็นเจ้าของไปก่อนนั้น  กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องของตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806  โดยนาย  ก  ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อได้มอบหมายให้นาย  ข  ตัวแทน  ออกหน้าเป็นตัวการ  ดังนั้น  การที่นาย  ข  ได้ไปซื้อบ้านหลังดังกล่าว  แม้นาย  ข  จะได้ซื้อบ้านในนามของนาย  ข  เอง  แต่ก็เป็นการกระทำที่ได้รับมอบหมายจากนาย  ก  ให้กระทำแทนนาย  ก  และเมื่อนาย  ก  ต้องการให้นาย  ข  โอนบ้านหลังดังกล่าวมาให้นาย  ก  นาย  ข  จึงต้องโอนบ้านหลังนั้นคืนให้แก่นาย  ก  ตามมาตรา  810  ซึ่งมีหลักว่า  เงินและทรัพย์สินที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น  ตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้นและหากนาย  ข  ไม่โอน  นาย  ก ย่อมสามารถฟ้องให้นาย  ข  โอนบ้านให้แก่ตนได้

สรุป  นาย  ข  จะต้องโอนบ้านให้นาย  ก  และหากนาย  ข  ไม่โอน  นาย  ก  ฟ้องให้นาย  ข  โอนได้

 

ข้อ  3  นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ขายที่ดินให้  และตกลงกันว่าจะให้บำเหน็จ  แต่นาย  ข  จะต้องขายให้ได้ภายในระยะเวลาปี  พ.ศ.2553  แต่นาย  ข  มาขายที่ดินได้ในเดือนมีนาคม  พ.ศ.2554  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ก  จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้นาย  ข  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845  วรรคแรก บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา  845  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่า  ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง  หรือจัดการจนเขาได้ทำสัญญากับบุคลภายนอก  และนายหน้ารับกระทำการตามนั้น  และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทำสัญญากันแล้ว  นายหน้าย่อมจะได้รับค่าบำเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าสัญญานายหน้านั้นมีการกำหนดระยะเวลาไว้เป็นที่แน่นอนว่านายหน้าจะต้องกระทำการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลานั้น  นายหน้าจะมีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อได้กระทำการให้เสร็จภายในกำหนดระยะเวลานั้นด้วย  (ฎ. 827/2523)

ตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ขายที่ดินให้  และตกลงกันว่าจะให้บำเหน็จแต่นาย  ข  จะต้องขายให้ได้ภายในระยะเวลาปี  พ.ศ.2553  นั้น  แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาว่าได้กำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนแล้วว่าจะต้องขายที่ดินให้ได้ภายในสิ้นปี  พ.ศ.2553  และหากไม่มีการผ่อนเวลาย่อมถือได้ว่าสัญญาดังกล่าวได้สิ้นสุดลง

ดังนั้นเมื่อภายในระยะเวลาปี  พ.ศ.2553  นาย  ข  ยังขายที่ดินไม่ได้โดยนาย  ข  มาขายได้เมื่อเดือนมีนาคม  พ.ศ.2554  จึงล่วงเลยเวลาที่ได้ตกลงกันไว้  เท่ากับว่า  นาย  ข  ขายที่ดินไม่ได้ตามระยะเวลาที่ตกลงไว้กับนาย  ก  จึงถือว่าสัญญานายหน้าดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว  นาย  ก  จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้นาย  ข  ตามมาตรา  845 

สรุป  นาย  ก  ไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้นาย  ข

Advertisement