ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1
ก. มอบหมายให้ ข. ไปกู้เงินโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ข. ไปกู้เงิน ค. 500,000 บาท โดย ข. ทำสัญญาเงินกู้ไว้เป็นหลักฐานในฐานะผู้กู้ และเขียนในสัญญากู้ว่ากู้แทน ก ดังนี้ ถามว่า
(1) ข มีสิทธิลงชื่อในสัญญากู้หรือไม่ และถ้า ข ลงชื่อในสัญญากู้แล้ว การกระทำของ ข เป็นอย่างไร
(2) การกระทำของ ข ผูกพันตัวการหรือไม่ ค จะฟ้อง ก ให้รับผิดได้หรือไม่ เพราะในสัญญา ข เขียนว่ากู้แทน ก
(3) พอสรุปได้ว่า ค จะฟ้องใครให้รับผิดชดใช้เงินกู้ครั้งนี้ระหว่าง ก และ ข
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์
(1) การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น บทบัญญัติมาตรา 653 วรรคแรก บังคับว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงจะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายได้ เมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อไปทำสัญญากู้จึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก มอบหมายให้ ข ไปกู้เงินโดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ เช่นนี้ ข ย่อมไม่มีสิทธิลงชื่อในสัญญากู้เงินนั้น เพราะ ก ตั้ง ข เป็นตัวแทนไปกู้เงินโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 798 วรรคสอง ดังนั้นการที่ ข ลงชื่อไปก็เท่ากับว่า ข ลงชื่อโดยปราศจากอำนาจตามมาตรา 823 วรรคแรก
(2) เมื่อการตั้งตัวแทนฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีผลเท่ากับว่าไม่มีการมอบหมายหรือตั้งตัวแทนให้ไปทำสัญญากู้ยืม การที่ ข ไปกู้ยืมเงิน ค สัญญากู้ยืมนั้นย่อมไม่ผูกพัน ก ตัวการแต่อย่างใด เพราะเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้ถ้า ก ตัวการให้สัตยาบัน สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็อาจผูกพัน ก ได้ตามมาตรา 823 วรรคแรกตอนท้าย แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก ให้สัตยาบันแก่การกู้ยืมเงินนั้น ข จึงต้องรับผิดต่อ ค บุคคลภายนอกโดยลำพังตนเองตามมาตรา 823 วรรคท้าย แม้สัญญากู้ยืมจะระบุว่าเป็นการที่ ข กู้แทน ก ก็ตาม
(3) เมื่อสัญญากู้ยืมไม่ผูกพัน ก และ ข ต้องรับผิดโดยลำพังแล้ว ค จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้ ข รับผิดชดใช้เงินตามสัญญากู้ได้คนเดียวเท่านั้น กรณีนี้ถือว่า ข อยู่ในฐานะคู่สัญญากู้ยืมเงินตามมาตรา 653 วรรคแรกโดยตรง
สรุป
(1) ข. ไม่มีสิทธิลงชื่อในสัญญากู้ ถ้าลงไปก็เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ
(2) การกระทำของ ข ไม่ผูกพันตัวการ ค ฟ้อง ก รับผิดไม่ได้
(3) ค ฟ้อง ข ให้รับผิดได้คนเดียวเท่านั้น