การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเทพได้รับมอบอํานาจจากนายรุ่งให้ดูแลกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้างของตน ปรากฏว่านายเทพ ติดธุระเป็นเวลาหลายเดือนจึงไม่สามารถดูแลกิจการของนายรุ่งได้ นายเทพจึงมอบอํานาจต่อโดย ได้รับความยินยอมจากนายรุ่งให้นายชัยเข้ามาดูแลกิจการของนายรุ่งแทนตน ต่อมาไม่นานนายชัย ได้ทําาคําาสั่งซื้อไม้แปรรูปจํานวน 1,000 แผ่น ในนามของนายรุ่งจากโรงงานผลิตไม้แปรรูปของตน มาขายที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างของนายรุ่ง ต่อมานายเทพได้ทําการตรวจสอบบัญชีซื้อขายสินค้าและพบว่านายชัยกําหนดราคาขายไม้แปรรูปในคําสั่งซื้อเกินกว่าราคาซื้อขายตามปกติ ทําให้นายรุ่ง ขาดทุนจากสัญญาซื้อขายไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาท นายเทพจึงรายงานบัญชี ซื้อขายสินค้าดังกล่าวไปยังนายรุ่ง เมื่อนายรุ่งทราบจึงเรียกให้นายเทพและนายชัยรับผิดแก่ตน ในความเสียหายดังกล่าว แต่นายเทพและนายชัยปฏิเสธความรับผิดต่อนายรุ่ง

Advertisement

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่านายรุ่งจะเรียกให้ใครรับผิดต่อตนได้บ้าง อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 805 “ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทํานิติกรรมอันใดในนาม ของตัวการทํากับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้น
มีเฉพาะแต่การชําระหนี้”

มาตรา 808 “ตัวแทนต้องทําการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอํานาจใช้ตัวแทนช่วงทําการได้”

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทน
จะต้องรับผิด”

มาตรา 813 “ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้ง ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้อง รับผิดแต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การหรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้ว และ
มิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบหรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง”

มาตรา 814 “ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใด กลับกันก็ฉันนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเทพได้รับมอบอํานาจจากนายรุ่งให้ดูแลกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้าง
ของตนนั้น ถือว่านายเทพเป็นตัวแทนซึ่งได้รับมอบอํานาจทั่วไปจากนายรุ่งตามมาตรา 797 ประกอบมาตรา 801 และการที่นายเทพได้มอบอํานาจต่อโดยได้รับความยินยอมจากนายรุ่ง ให้นายชัยเข้ามาดูแลกิจการของนายรุ่งแทนตนนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายเทพได้ตั้งให้นายชัยเป็นตัวแทนช่วงโดยมีอํานาจเนื่องจากนายรุ่งได้ยินยอม การตั้งตัวแทนช่วงของนายเทพจึงชอบด้วยมาตรา 808 และมีผลให้นายชัยตัวแทนช่วงต้องรับผิดโดยตรงต่อนายรุ่งตัวการตามมาตรา 814

การที่นายชัยได้ทําคําสั่งซื้อไม้แปรรูปจํานวน 1,000 แผ่น ในนามของนายรุ่งจากโรงงานผลิต ไม้แปรรูปของตนมาขายที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างของนายรุ่ง โดยกําหนดราคาขายไม้แปรรูปในคําสั่งซื้อเกินกว่า ราคาซื้อขายตามปกติ ทําให้นายรุ่งขาดทุนจากสัญญาซื้อขายไม้แปรรูปดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น ถือว่า เป็นกรณีที่ตัวแทนเข้าทํานิติกรรมในนามของตัวการทํากับตนเองในนามของตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอม
จากตัวการตามมาตรา 805 และถือว่าเป็นการกระทําโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจตามมาตรา 812 ดังนั้น นายชัยตัวแทนช่วงจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายรุ่งตัวการตามมาตรา 812 ประกอบ มาตรา 814 นายรุ่งจึงสามารถเรียกให้นายชัยรับผิดต่อตนในความเสียหายดังกล่าวได้

ส่วนนายเทพตัวแทนซึ่งได้ตั้งให้นายชัยเป็นตัวแทนช่วงนั้น เมื่อปรากฏว่านายเทพได้ทําการตรวจสอบ
บัญชีซื้อขายสินค้า และพบว่านายชัยกําหนดราคาขายไม้แปรรูปในคําสั่งซื้อเกินกว่าราคาซื้อขายตามปกติ ทําให้ นายรุ่งขาดทุนเป็นเงิน 100,000 บาท และนายเทพจึงรายงานบัญชีซื้อขายสินค้าไปให้นายรุ่งทราบนั้น ถือว่า เป็นกรณีที่ตัวแทนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจแล้ว และได้แจ้งความให้ตัวการทราบ ดังนั้น นายเทพตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 813 นายรุ่งจึงเรียกให้นายเทพรับผิดในความเสียหายดังกล่าวไม่ได้

สรุป นายรุ่งสามารถเรียกให้นายชัยรับผิดในความเสียหายดังกล่าวได้ แต่จะเรียกให้นายเทพ
รับผิดไม่ได้

 

ข้อ 2. นายเก่งแต่งตั้งนายกาจซึ่งเปิดร้านขายเมล็ดกาแฟสด เพื่อขายเมล็ดกาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีของตน จํานวน 100 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายกาจจะนําเงินค่าเมล็ดกาแฟ อาราบิก้าที่ขายได้ส่งให้นายเก่งเต็มจํานวนทุกอาทิตย์ และนายเก่งจะจ่ายค่าตอบแทนการขายให้ นายกาจกิโลกรัมละ 500 บาท นายกาจเห็นว่าราคาที่นายเก่งกําหนดต่ํากว่าราคาตลาด จึงขึ้นราคา และขายให้นายกล้า 50 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 12,000 บาท ปรากฏว่านายกล้ารับมอบ เมล็ดกาแฟอาราบิก้าไปแต่ไม่ยอมชําระค่าเมล็ดกาแฟ ดังนี้ นายกาจต้องรับผิดต่อนายเก่งจาก การที่นายกล้าไม่ชําระราคาหรือไม่ หากต้องรับผิด นายกาจจะต้องชําระเงินค่าเมล็ดกาแฟให้นายเก่งเท่าใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายตัวแทนประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อ ตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทน ประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษ”

มาตรา 840 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ ได้ราคาต่ำกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้แก่ตัวการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งแต่งตั้งนายกาจซึ่งเปิดร้านขายเมล็ดกาแฟสด เพื่อขายเมล็ดกาแฟ อาราบิก้าพันธุ์ดีของตนจํานวน 100 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายกาจจะนําเงิน ค่าเมล็ดกาแฟอาราบิก้าที่ขายได้ส่งให้นายเก่งเต็มจํานวนทุกอาทิตย์ และนายเก่งจะจ่ายค่าตอบแทนการขายให้ นายกาจกิโลกรัมละ 500 บาทนั้น ย่อมถือว่านายกาจเป็นตัวแทนค้าต่างของนายเก่งตามมาตรา 833 และการที่ นายกาจได้ตกลงรับประกันว่านายเก่งจะได้รับชําระเงินจากการขายเมล็ดกาแฟนั้น ย่อมถือว่านายกาจเป็น ตัวแทนฐานประกัน ดังนั้น เมื่อนายกาจขายเมล็ดกาแฟให้นายกล้า ปรากฏว่าเมื่อนายกล้ารับมอบเมล็ดกาแฟ
ไปแล้วแต่ไม่ยอมชําระราคาค่าเมล็ดกาแฟ นายกาจจึงต้องรับผิดต่อนายเก่งตามมาตรา 838

การที่นายกาจเห็นว่าราคาที่นายเก่งกําหนดต่ํากว่าราคาตลาด จึงขึ้นราคาและขายให้นายกล้า 50 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 12,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่นายกาจซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายในราคา สูงกว่าที่ตัวการกําหนด ดังนั้น เงินจํานวน 100,000 บาท สําหรับเมล็ดกาแฟ 50 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 2,000 บาท นายกาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนไม่ได้ จะต้องส่งมอบให้แก่นายเก่งตามมาตรา 840 ดังนั้น กรณีดังกล่าว เมื่อนายกล้าไม่ชําระราคาค่าเมล็ดกาแฟ นายกาจจึงต้องรับผิดต่อนายเก่งและจะต้องชําระเงินค่าเมล็ดกาแฟให้ นายเก่งทั้งสิ้นเป็นเงิน 600,000 บาท

สรุป เมื่อนายกล้าไม่ยอมชําระราคาค่าเมล็ดกาแฟ นายกาจต้องรับผิดต่อนายเก่งโดยจะต้องชําระเงินค่าเมล็ดกาแฟให้นายเก่งเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 600,000 บาท

 

ข้อ 3. นายเอกต้องการขายที่ดินของตนเนื้อที่ 4 ไร่ ติดถนนใหญ่ในจังหวัดเชียงราย ในราคา 5 ล้านบาท นายเอกได้ลงประกาศโฆษณาขายทาง Facebook นายโทซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ในจังหวัดเชียงราย เช่นกัน ได้อ่านโฆษณาขายที่ดินดังกล่าวใน Facebook และเห็นว่าน่าสนใจ นายโทจึงไปพานายตรี ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมรายใหญ่ไปหานายเอก และช่วยในการประสานงานเป็นอย่างดี จนกระทั่ง นายตรีทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับนายเอก โดยนายตรีวางเงินมัดจํา 5 แสนบาท และ ส่วนที่เหลือจะชําระในวันโอนกรรมสิทธิ์ วันต่อมานายโทจึงไปเรียกบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทมีสิทธิได้รับบําเหน็จ 3% จากนายเอกหรือไม่ เพราเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคหนึ่ง “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้ กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมาย แก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการ มอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบําเหน็จ หรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกัน โดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มี สัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่ ระหว่างนายเอกกับนายตรีจะได้เกิดขึ้น จากการชี้ช่องและจัดการของนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกไม่เคยตกลงให้นายโทเป็นนายหน้า ขายที่ดินของตนตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคหนึ่ง ก็ไม่ได้ เพราะการตกลงตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่า บําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้นายเอกยังไม่ได้มอบหมายให้นายโทเป็นนายหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น นายโทจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

สรุป นายโทไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

Advertisement