การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2010 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เหลืองอายุ  18  ปี  ซื้อรถจักรยานยนต์หนึ่งคันราคา  50,000  บาท  จากแดง  ทั้งๆที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอม  การชำระเงินกำหนดว่าให้เหลืองชำระครั้งแรก  10,000  บาท  ซึ่งเหลืองก็ได้ชำระแล้ว  ส่วนที่เหลือให้ชำระเป็นรายเดือน  เดือนละ  4,000  บาท  เป็นเวลา  10  เดือน  น้ำเงินผู้เป็นอาของเหลืองค้ำประกันหนี้รายนี้โดยรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้นตั้งแต่วันทำสัญญา  5  วัน  หลังจากนั้น  เหลืองได้รับอุบัติเหตุจากการขี่รถจักรยานยนต์คันนั้นจนต้องเข้ารับการรักษา  ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงได้ทราบเรื่องทั้งหมด

ผู้แทนโดยชอบธรรมจึงนำรถจักรยานยนต์ชำรุด  ประมาณราคาได้เพียง  5,000  บาท  ส่งมอบให้แดง  พร้อมทั้งแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขาย  และขอให้แดงคืนเงินให้ฝ่ายตน  5,000  บาท  แดงอ้างว่าฝ่ายเหลืองต่างหากที่ต้องชำระเงินให้ตน  35,000  บาท

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า

1)    น้ำเงินต้องชำระเงินให้แดงหรือไม่  เพราะเหตุใด  อย่างไร

2)    เหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องรับผิดต่อน้ำเงินหรือไม่  เพราะเหตุใด  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้ นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้

หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้ เพราะทำด้วยความสำคัญผิด หรือเพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถนั้น ก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่ เข้าทำสัญญาผูกพันตน

มาตรา  693  ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว  ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้  เพื่อต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้น

อนึ่ง  ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย

วินิจฉัย

 1)              ตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองผู้เยาว์ได้ไปซื้อจักรยานยนต์จากแดง  โดยที่ผู้แทนโดยชอบธรรมไม่ได้ให้ความยินยอม  สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะ  (มาตรา  21  และ  153)  เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างแล้ว  จึงตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก  และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้แทนโดยชอบธรรมนำรถจักรยานยนต์ชำรุดส่งมอบให้แดงซึ่งประมาณราคาได้เพียง  5,000  บาท  จึงเป็นการพ้นวิสัย  ดังนั้นเหลืองจึงต้องชดใช้เงินให้แดงจำนวน  35,000  บาท  ตามราคารถยนต์ที่ยังค้างชำระอยู่  (มาตรา  176)

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าเงินจำนวนนี้จะเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญาที่ไม่ผูกพันเหลืองลูกหนี้  เพราะเป็นผู้ไร้ความสามารถก็ตาม  แต่หนี้ที่เป็นโมฆียะนั้นถือเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง  เมื่อน้ำเงินค้ำประกันหนี้รายนี้โดยรู้ข้อเท็จจริงว่าเหลืองไร้ความสามารถในขณะทำสัญญาค้ำประกัน  ตามมาตรา  681  วรรคสาม  จึงเป็นการค้ำประกันที่สมบูรณ์  น้ำเงินผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แดงตามมาตรา  681  วรรคแรก

2)              เมื่อน้ำเงินผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แดงเจ้าหนี้แทนเหลืองลูกหนี้แล้ว  ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในอันที่จะไล่เบี้ยเอากับเหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมในต้นเงินกับดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ  เพราะการค้ำประกันนั้นได้ตามมาตรา  693  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  229(3)

สรุป 

1)              น้ำเงินต้องชำระเงินให้แดงในฐานะผู้ค้ำประกันเหลือง

2)              เหลืองและผู้แทนโดยชอบธรรมต้องรับผิดชอบต่อน้ำเงิน

 

ข้อ  2  ก  กู้เงิน  ข  โดยนำเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าไปจำนองเป็นประกันหนี้  ต่อมา  ก  ได้ชำระหนี้บางส่วนและขอปลดทรัพย์บางส่วน  คือ ปลดเฉพาะเครื่องจักรเดินเรือ  โดย  ข  เจ้าหนี้ได้ยินยอมด้วย  แต่การปลดจำนองครั้งนี้  มิได้นำความไปจดทะเบียนปลดจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนี้  ค  เจ้าหนี้ของ  ข  ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  มาฟ้องบังคับจำนองแก่  ก  โดยเรียกให้ชำระหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่แรกกู้  1,000,000  บาท  ได้หรอไม่  และ  ค  ยังเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรที่  ก  อ้างว่าไถ่ถอนไปก่อนแล้ว  ให้  ค  ด้วย  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  235  เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เรียกเงินเต็มจำนวนที่ยังค้างชำระแก่ลูกหนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนก็ได้  ถ้าจำเลยยอมใช้เงินเพียงเท่าจำนวนที่ลูกหนี้เดิมค้างชำระแก่เจ้าหนี้นั้น  คดีก็เป็นอันเสร็จกันไป  แต่ถ้าลูกหนี้เดิมได้เข้าชื่อเป็นโจทก์ด้วย  ลูกหนี้เดิมจะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาต่อไปในส่วนจำนวนเงินที่ยังเหลือติดค้างอยู่ก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี  ท่านมิให้เจ้าหนี้ได้รับมากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระแก่ตนนั้นเลย

มาตรา  717  แม้ว่าทรัพย์สินซึ่งจำนองจะแบ่งออกเป็นหลายส่วนก็ตาม  ท่านว่าจำนองก็ยังคงครอบไปถึงส่วนเหล่านั้นหมดทุกส่วนด้วยกันอยู่นั่นเอง

ถึงกระนั้นก็ดี  ถ้าผู้รับจำนองยินยอมด้วย  ท่านว่าจะโอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งส่วนใดไปปลดจากจำนองก็ให้ทำได้  แต่ความยินยอมดังว่านี้หากมิได้จดทะเบียน   ท่านว่าจะยกเอาเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกหาได้ไม่

มาตรา  746  การชำระหนี้ไม่ว่าครั้งใดๆสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วนก็ดี  การระงับหนี้อย่างใดๆก็ดี  การตกลงกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนองหรือหนี้อันจำนองเป็นประกันนั้นเป็นประการใดก็ดี  ท่านว่าต้องนำความไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเมื่อมีคำขอร้องของผู้มีส่วนได้เสีย  มิฉะนั้นท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก

วินิจฉัย

โดยหลัก  ถ้าเป็นกรณีทรัพย์ที่จำนองมีสิ่งเดียวแต่แบ่งออกเป็นหลายส่วน  การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงส่วนเหล่านั้นทุกส่วน  ซึ่งตามหลักแล้วลูกหนี้จะขอไถ่ถอนจำนองออกเป็นส่วนๆไม่ได้  เว้นแต่ผู้รับจำนองจะยินยอมด้วย  แต่ความยินยอมดังกล่าวหากไม่นำไปจดทะเบียน  จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้  (มาตรา  717)

ตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ได้ชำระหนี้บางส่วน  และขอไถ่ถอนจำนองเฉพาะเครื่องจักรเดินเรือนั้น  เมื่อ  ข  ผู้รับจำนองได้ยินยอมด้วยแล้ว ก  ย่อมทำได้  แต่เมื่อการไถ่ถอนจำนองบางส่วนดังกล่าวมิได้นำไปจดทะเบียนปลดจำนอง  จึงทำให้  ก  ไม่สามารถเอาการไถ่ถอนจำนองนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา  717  ประกอบมาตรา  746

ดังนั้น  ค  เจ้าหนี้ของ  ข  ผู้รับจำนอง  ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกจึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  ตามมาตรา  235  ฟ้องบังคับจำนองเอากับ  ก  เต็มจำนวน  1,000,000  บาทได้  และยังเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรเดินเรือคืนให้  ค  ได้ด้วย  เพราะถือว่าเครื่องจักรเดินเรือยังติดจำนองอยู่ตามมาตรา  717  ซึ่ง  ก  ผู้จำนอง  ไม่มีทางที่จะต่อสู้ได้เลย

สรุป  ค  สามารถใช้สิทธิเรียกร้องของ  ข  มาฟ้องบังคับจำนองกับ  ก  โดยเรียกให้ชำระหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่แรกกู้  1,000,000  บาท  และเรียกให้  ก  ส่งมอบเครื่องจักรเดินเรือให้  ค  ได้

 

ข้อ  3  นายแดงกู้เงินนายนก  5  ล้านบาท  โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  นายนกขอให้นายแดงหาหลักประกันมามอบไว้ด้วย นายแดงจึงนำทองคำแท่งของตนจำนวน  100  บาท  ราคา  2  ล้านบาท  มาวางเป็นการประกัน  แต่มิได้ทำหลักฐานประการใด  พร้อมกับขอให้นายไก่หาหลักประกันมาด้วย  นายไก่จึงนำทองคำแท่งของนายไก่จำนวน  200  บาท  ราคา  4  ล้านบาทมาจำนำกับนายนก  โดยมีการทำหลักฐานลงลายมือชื่อนายไก่และนายนกด้วย

ดังนี้  อยากทราบว่า  การที่นายแดงและนายไก่นำทองคำแท่งมาทำเป็นหลักประกันกับนายนก  ถือเป็นสัญญาประกันประเภทใด  และนายนกจะบังคับจากใครได้หรือไม่  หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  747  อันว่าจำนำนั้น   คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้จำนำ  ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่า ผู้รับจำนำ  เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

มาตรา  764  เมื่อจะบังคับจำนำ  ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว  ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายได้แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจำนำต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จำนำบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจำนำนั้น  บทบัญญัติมาตรา  747  มิได้กำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด  เพียงแต่มีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการจำนำ  สัญญาจำนำก็สมบูรณ์แล้ว 

ส่วนในกรณีผู้จำนำนั้นจะเป็นตัวลูกหนี้เองหรือบุคคลอื่นนำทรัพย์มาเป็นประกันการชำระหนี้ก็ได้  เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นการที่ลูกหนี้นำทรัพย์สินจำนำประกันหนี้ของตนเองเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ  ผู้จำนำจะต้องเป็นเจ้าของสังหาริมทรัพย์ที่จำนำ

ตามอุทาหรณ์  การกู้เงินของนายแดงกับนายนกมีหลักฐานการกู้ถูกต้องตามกฎหมาย  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา  653 วรรคแรก  และการที่นายแดงนำทองคำแท่งมาวางเป็นประกันการชำระหนี้นั้น  เมื่อมีการส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับผู้รับจำนำแล้ว  จึงถือว่าเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์  แม้มิได้ทำหลักฐานประการใดเลยก็ตาม

 ส่วนกรณีของนายไก่นั้น  แม้จะเป็นบุคคลภายนอก  แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้จำนำทรัพย์สินเพื่อประกันหนี้บุคคลอื่นแต่อย่างใด  เมื่อนายไก่ส่งมอบทองคำแท่งซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนำให้กับนายนกผู้รับจำนำแล้ว  จึงเป็นสัญญาจำนำตามมาตรา  747  และมีผลสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

ดังนั้น  หากหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว  นายนกเจ้าหนี้ย่อมสามารถบังคับจำนำกับทองแท่งของทั้งนายแดงและของนายไก่ได้ตามมาตรา  764

สรุป  การที่นายแดงและนายไก่นำทองคำแท่งมาทำเป็นหลักประกันกับนายนกถือเป็นสัญญาจำนำและนายนกสามารถบังคับจำนำได้จากทั้งนายแดงและนายไก่

Advertisement