การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2110 (LAW2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายดวงดีกู้เงินนายโชคช่วย 500,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนายดวงดีได้นํานาฬิกา ราคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นายโชคช่วยเป็นประกันการชําระหนี้ แต่นายโชคช่วยเห็นว่า หลักประกันมีราคาต่ําเกินไป จึงขอให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้น นางสาวสร้อยฟ้าจึงได้ตกลงเข้าเป็น ผู้ค้ําประกันและทําหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องส่งมอบให้นายโชคช่วยไว้แล้วด้วย ต่อมาหนี้ ถึงกําหนดชําระ นางสาวสร้อยฟ้าได้นําเงินมาชําระหนี้ 400,000 บาท เพราะทราบว่านายโชคช่วย นํานาฬิกาของนายดวงดีไปใช้และทําหาย แต่นายโชคช่วยปฏิเสธที่จะรับเงินจํานวนนี้เพราะ เห็นว่านางสาวสร้อยฟ้าชําระหนี้ไม่ครบถ้วน และต่อมาได้ทําหนังสือบอกกล่าวให้นายดวงดีและ นางสาวสร้อยฟ้าชําระหนี้ 500,000 บาท ตามที่กฎหมายกําหนดแล้ว ดังนี้ ถ้าทั้งสองคนไม่ชําระหนี้ นายโชคช่วยจะเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้ารับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 686 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน หกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนที่ หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชําระหนี้เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ

มาตรา 693 “ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชําระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงินกับ ดอกเบี้ย และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใด ๆ เพราะการค้ำประกันนั้น อนึ่งผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย”

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกัน ไม่อาจเข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จํานองก็ดี จํานําก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ แต่ก่อนหรือในขณะทําสัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ําประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียง
เท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น”

มาตรา 701 “ผู้ค้ำประกันจะขอชําระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกําหนดชําระก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชําระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดวงดีกู้เงินนายโชคช่วย 500,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ถูกต้อง และนายดวงดีได้นํานาฬิการาคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นายโชคช่วยเป็นประกันการชําระหนี้ และมี นางสาวสร้อยฟ้าได้ตกลงเข้าเป็นผู้ค้ำประกันโดยทําหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องส่งมอบให้นายโชคช่วยไว้แล้ว
ด้วยนั้น สัญญาค้ำประกันดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 680 และเมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ ผู้ค้ําประกันย่อมมีสิทธิที่จะขอชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 701 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสร้อยฟ้าผู้ค้ำประกันได้นําเงิน มาชําระหนี้ให้แก่นายโชคช่วยเพียง 400,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับจํานวนหนี้ที่ตนได้ค้ำประกันไว้ นายโชคช่วยย่อม มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับเงินจํานวนดังกล่าวได้ และเมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชําระหนี้ จึงไม่ทําให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น จากความรับผิดตามมาตรา 701 วรรคสอง กล่าวคือ นางสาวสร้อยฟ้ายังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นอยู่

ผู้ค้ำประกันนั้นเมื่อได้ชําระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ได้ (มาตรา 693) และถ้าเจ้าหนี้ได้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วง ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิ จํานอง หรือจํานํา หรือบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อน หรือในขณะทํา สัญญาค้ำประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการ กระทําของเจ้าหนี้นั้น (มาตรา 697)

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ถ้านางสาวสร้อยฟ้าได้ชําระหนี้ให้แก่นายโชคช่วยแล้ว นางสาวสร้อยฟ้า ย่อมสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของนายโชคช่วยเจ้าหนี้ได้ในสิทธิจํานําที่นายดวงดีได้นํานาฬิการาคา 100,000 บาท มาส่งมอบให้นายโชคช่วยเป็นประกันการชําระหนี้ ดังนั้น การที่นายโชคช่วยได้นํานาฬิกาของนายดวงดีไปใช้และ ทําหาย ย่อมทําให้นางสาวสร้อยฟ้าเสียหายเป็นเงินจํานวน 100,000 บาท เพราะทําให้นางสาวสร้อยฟ้าไม่สามารถ เข้ารับช่วงสิทธิของนายโชคช่วยในสิทธิจํานําดังกล่าวได้ นางสาวสร้อยฟ้าผู้ค้ำประกันจึงยังคงต้องรับผิดชําระหนี้ แทนนายดวงดีลูกหนี้เป็นเงินจํานวน 400,000 บาท ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 697

ดังนั้น ต่อมาเมื่อนายโชคช่วยได้ทําหนังสือบอกกล่าวให้นายดวงดีและนางสาวสร้อยฟ้าชําระหนี้ 500,000 บาท ตามที่กฎหมายกําหนดแล้ว ถ้าทั้งสองคนไม่ชําระหนี้ นายโชคช่วยสามารถเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้า รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้ แต่สามารถเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้ารับผิดได้เพียง 400,000 บาท ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 693 และมาตรา 697

สรุป นายโชคช่วยจะเรียกให้นางสาวสร้อยฟ้ารับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันได้ในจํานวนเงินเพียง 400,000 บาท

 

ข้อ 2. ในวันที่ 1 เมษายน 2560 นายสมหวังกู้ยืมเงินจากนายสมชายจํานวน 2 แสนบาท โดยตกลงกัน ด้วยวาจา ซึ่งมีนายสมใจนําโฉนดที่ดินของตนเองมาจดทะเบียนจํานองไว้ โดยในสัญญาจํานองนั้น นายสมใจระบุไว้ว่าเป็นการจํานองเฉพาะที่ดินไม่รวมสิ่งปลูกสร้าง พอผ่านไป 3 เดือน นายสมใจ ได้สร้างโกดังเก็บสินค้าเพื่อให้คนอื่นเช่าและเก็บค่าเช่ามาโดยตลอด ครั้นเมื่อครบกําหนดชําระหนี้ นายสมหวังผิดนัด นายสมชายจึงฟ้องบังคับจํานองเอากับที่ดินของนายสมใจขายทอดตลาด เพื่อชําระหนี้ กรณีนี้ในขณะบังคับจํานอง นายสมชายสามารถบังคับเอาโกดังขายทอดตลาดรวมไปด้วยได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง

ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่”

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระก็ให้ทําได้”

มาตรา 714 “อันสัญญาจํานองนั้น ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 718 “จํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้อง อยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจํากัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้”

มาตรา 719 “จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลัง
วันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจํานองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจํานองอาจใช้ บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 718 ได้กําหนดไว้ว่าสิทธิของผู้รับจํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับ ทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 719, 720 และ 721 และมาตรา 719 นั้น ได้กําหนดไว้ว่า สิทธิของผู้รับจํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจํานอง เว้นแต่จะได้ ตกลงกันไว้ในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง และถ้าไม่มีข้อตกลงดังกล่าว ผู้รับจํานองก็ยังมีสิทธิที่จะให้ขายเรือนโรงนั้น รวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจํานองจะใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมหวังกู้ยืมเงินจากนายสมชายจํานวน 2 แสนบาท โดยมีนายสมใจ นําโฉนดที่ดินของตนเองมาจดทะเบียนจํานองไว้นั้น แม้ที่ดินดังกล่าวจะมิใช่ที่ดินของนายสงหวังลูกหนี้ แต่เป็น ของนายสมใจก็ตาม นายสมใจก็สามารถนําที่ดินนั้นมาจํานองเพื่อประกันหนี้ที่บุคคลอื่นจะต้องชําระหนี้ได้ ดังนั้น สัญญาจํานองดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 702, 709 และมาตรา 714

และเมื่อปรากฏว่าหลังจากมีการจํานองได้ 3 เดือน นายสมใจผู้จํานองได้สร้างโกดังเก็บสินค้า เมื่อโกดังเก็บสินค้านั้นเป็นเรือนโรงที่ผู้จํานองได้ปลูกสร้างลงในที่ดินเพื่อให้คนอื่นเช่าและเก็บค่าเช่ามาตลอด
ภายหลังวันจํานอง ดังนั้น การจํานองจึงครอบไปถึงเฉพาะที่ดินแต่ไม่ครอบไปถึงโกดังเก็บสินค้า เนื่องจาก นายสมใจไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง ตามมาตรา 718 และมาตรา 719 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกําหนดชําระหนี้นายสมหวังผิดนัด นายสมชายจึงฟ้องบังคับจํานองเอากับ ที่ดินนายสมใจขายทอดตลาดเพื่อชําระหนี้นั้น กรณีนี้ในขณะบังคับจํานอง นายสมชายย่อมสามารถบังคับเอา โกดังขายทอดตลาดรวมไปกับที่ดินด้วยได้ แต่นายสมชายจะใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงเฉพาะแก่ราคาที่ดินเท่านั้นตามมาตรา 719 วรรคสอง

สรุป นายสมชายสามารถบังคับเอาโกดังขายทอดตลาดรวมไปกับที่ดินด้วยได้ แต่นายสมชายจะใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงเฉพาะแก่ราคาที่ดินเท่านั้น

 

ข้อ 3. แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท แดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวงไว้กับดําเพื่อเป็นประกันการ ชําระหนี้ ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความและแดงได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ แต่คํายังคงต้องการบังคับ ชําระหนี้จากแหวนวงนี้ ในขณะนั้นแหวนวงนี้จะขายได้ 80,000 บาท

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนวงนี้ได้หรือไม่ โดยวิธีใด และแดงต้อง รับผิดต่อดําหรือไม่หากมีหนี้ค้างชําระ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ”

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง
เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้
แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น

ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท และแดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวงไว้กับดํา เพื่อเป็นประกันชําระหนี้นั้น ถือเป็นสัญญาจํานําตามมาตรา 747 ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ แดงย่อมมีสิทธิ์ยกอายุความขึ้นปฏิเสธการชําระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานํานั้นระงับสิ้นไปตามมาตรา 759 (1) ดังนั้น ดําผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สิน ที่จํานําคือแหวนที่แดงได้จํานําไว้ได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ตามมาตรา 193/27

2. เมื่อจะบังคับจํานํา ดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่าให้ชําระหนี้และ ดอกเบี้ยภายในเวลาอันควรซึ่งดําได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว ซึ่งถ้าหากแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ดําผู้รับจํานํามี
สิทธินําแหวนของแดงออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764

3. เมื่อแหวนของแดงมีราคา 80,000 บาท ดําย่อมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ส่วนในจํานวนที่ขาดอีก 20,000 บาทนั้น เมื่อแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แดงจึงไม่ต้องรับผิดในส่วน ที่ขาดนั้นตามมาตรา 767 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/9 และ 193/10

สรุป ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงได้ โดยดําต้องปฏิบัติตามมาตรา 764 และแดงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ค้างชําระอีก 20,000 บาท

Advertisement