การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหลังหนึ่งมีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าข้อ  5  ตกลงกันไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนด  3  ปีแล้ว 

ให้สัญญาเช่าตึกแถวนี้มีต่อไปอีก  3  ปี  และหากไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าตกลงที่จะต้องขายตึกแถวที่ผู้เช่าอยู่ให้กับผู้เช่าเป็นรายแรก  ถ้าผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติตามผู้เช่ามีสิทธิฟ้องบังคับให้ผู้ให้เช่าปฏิบัติตามสัญญาข้อนี้ได้”  ปรากฏว่าเช่ามาเพียง  1  ปี  แดงซึ่งเป็นเจ้าของตึกที่เช่าได้ยกตึกแถวนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  

เมื่อขาวเช่าตึกแถวมาครบกำหนด  3  ปี  ซึ่งตรงกับวันที่  30  เมษายน  2553  มืดได้โทรศัพท์บอกเลิกสัญญาเช่ากับขาว  แต่ขาวต้องการซื้อตึกแถวและให้มืดปฏิบัติตามสัญญาข้อ  5  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  และมืดจะต้องปฏิบัติตามความต้องการของขาวหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  3  ปี  เมื่อมีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ  ย่อมใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  538

ตามข้อเท็จจริง  ขาวเช่าตึกแถวมาได้เพียง  1  ปี  แดงซึ่งเป็นเจ้าของตึกแถวได้ยกตึกแถวหลังนี้ให้กับมืด  กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่าและขาวผู้เช่าจึงไม่ระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  มืดต้องให้ขาวเช่าอยู่ต่อไปจนครบกำหนด  3  ปี  ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสอง

สำหรับสัญญาเช่าข้อ  5  ที่ตกลงให้สัญญาเช่ามีต่อไปอีก  3  ปีนั้น  มืดไม่ต้องรับมาเพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับสัญญาเช่ามีกำหนด  6  ปี  แต่สัญญาเช่าตึกแถวเพียงแต่ทำเป็นหนังสือไม่ได้ไปจดทะเบียนจึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง  3  ปี  ตามมาตรา  538  ส่วนข้อสัญญาที่ว่า หากไม่มีการต่ออายุสัญญาเช่า  ผู้ให้เช่าตกลงที่จะขายตึกแถวให้กับผู้เช่านั้น  เป็นข้อตกลงอื่นไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสอง  มืดจึงไม่ต้องรับมาเช่นกัน  ดังนั้น  เมื่อขาวเช่าตึกแถวครบกำหนด  3  ปี  มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่าได้  โดยไม่ต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อ  5  ของสัญญาเช่าตึกแถวแต่อย่างใด

สรุป  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย  และมืดไม่ต้องปฏิบัติตามความต้องการของขาว

 

ข้อ  2

(ก)    น้ำเงินได้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์หนึ่งคัน  สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา  2  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2552  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  7  ของแต่ละเดือน  เดือนละ  20,000  บาท  ปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระค่าเช่าซึ่งตรงกับวันที่  7  มีนาคม  2553  และวันที่  7  เมษายน  2553  ดังนั้นในวันที่  25  เมษายน  2553  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีและเรียกค่าเช่าที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาท  จากเหลือง  ดังนี้  การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  มีกำหนดไว้ในมาตรา  560  กล่าวคือ  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่ถ้ากำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระไม่น้อยกว่า  15  วัน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่าจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่ารถยนต์ระหว่างน้ำเงินและเหลือง  มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน  คือทุกๆวันที่  7  ของเดือน  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าของเดือนมีนาคม  และเดือนเมษายน  2553  ยังไม่ทำให้น้ำเงินเกิดสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวได้  เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติมาตรา  560  วรรคสอง  น้ำเงินจึงต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อน  ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย  15  วัน  ดังนั้นการที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  25  เมษายน  2553  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินสามารถเรียกค่าเช่า  40,000  บาท  จากเหลืองได้  เพราะเป็นค่าเช่าที่ยังไม่ได้ชำระ 

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในวันที่  7  มีนาคม  2553  และวันที่  7  เมษายน  2553  น้ำเงินย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามมาตรา  574  วรรคแรก  โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อมาชำระก่อนแต่อย่างใด  เพราะเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ  2  คราวติดกัน  กฎหมายให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที  ดังนั้น การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่  25  เมษายน  2553  จึงชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินจะเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาทไม่ได้  จะสามารถเรียกได้เพียงค่าเสียหายที่ไม่ใช่ค่าเช่าซื้อเท่านั้น

สรุป

(ก)    การกระทำของน้ำเงินที่บอกเลิกสัญญาทันทีไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินเรียกค่าเช่าที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาทได้

(ข)   การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมาย  แต่น้ำเงินเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ชำระ  40,000  บาท  ไม่ได้ 

 

ข้อ  3  เขียวจ้างแสดมาทำงานเป็นพนักงานบัญชีโดยตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆสิ้นเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2550  แต่ไม่ได้ตกลงในสัญญาจ้างว่าจ้างกันมีกำหนดเวลานานเท่าใด  แสดทำงานมาจนถึงปี  2553  เขียวได้เพิ่มค่าจ้างให้อีกเดือนละ 500  บาท  ปรากฏว่าในวันที่  31  พฤษภาคม  2553  แสดมารับเงินค่าจ้าง  เป็นเงิน  25,500  บาท  ซึ่งเป็นค่าจ้างประจำเดือนไปแล้ว  ครั้นถึงวันที่  2  มิถุนายน  2553  เขียวพบแสดในที่ทำงาน  เขียวจึงบอกเลิกสัญญากับแสด  ดังนี้  แสดมีสิทธิทำงานถึงวันที่เท่าใด  และจะได้รับเงินค่าจ้างถึงวันสุดท้ายของการทำงานอีกเป็นเงินจำนวนเท่าใด  ท่านจงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

โดยหลัก  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือนตามมาตรา  582  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  เขียวจ้างแสดมาทำงานเป็นพนักงานบัญชี  แต่ไม่ได้ตกลงในสัญญาจ้างว่าจะจ้างกันมีกำหนดเวลานานเท่าใด  สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเขียวได้บอกเลิกสัญญากับแสดในวันที่  2  มิถุนายน  2553  ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่  30  มิถุนายน  2553  ซึ่งจะมีผลให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่  31 กรกฎาคม  2553  ตามมาตรา  582  วรรคแรก  ดังนั้น  แสดจึงมีสิทธิทำงานถึงวันที่  31  กรกฎาคม  2553  และแสดจะต้องได้รับเงินค่าจ้างในวันที่  30  มิถุนายน  2553  เป็นเงิน  25,500  บาท  กับวันที่  31  กรกฎาคม  2553  เป็นเงิน  25,500  บาท  รวมทั้งหมดเป็นเงิน  51,000  บาท  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย  หรือเขียวจะจ่ายเงินค่าจ้างให้แสดทั้งหมด  51,000  บาท  แล้วให้แสดออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา  582  วรรคสอง

สรุป  แสดมีสิทธิทำงานถึงวันที่  31  กรกฎาคม  2553  และจะได้รับเงินค่าจ้างถึงวันสุดท้ายของการทำงานอีกเป็นเงินทั้งหมด  51,000 บาท 

Advertisement