การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ปรมีต้องการฆ่าสมโชค  จึงนำอาวุธปืนมาให้สุขุมและหลอกสุขุมว่า  ปืนไม่มีลูกกระสุนให้สุขุมเอาไปแกล้งยิงขู่สมโชค  สุขุมรับปืนมาจากปรมี  เชื่อว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  สุขุมเห็นสมโชคยืนอยู่จึงยกปืนจ้องไปที่สมโชคแล้วเหนี่ยวไกปืน  ปรากฏว่าปืนมีลูกกระสุนบรรจุอยู่  ลูกกระสุนปืนถูกสมโชคตาย

ดังนั้น  ปรมีและสุขุมต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

วินิจฉัย

ตามปัญหา  สุขุมใช้ปืนจ้องไปที่สมโชคและเหนี่ยวไกปืนเพื่อแกล้งขู่สมโชค  โดยเชื่อว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  ดังนั้นจึงถือได้ว่าสุขุมกระทำไปโดยไม่มีเจตนา  เพราะสุขุมเข้าใจว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  สุขุมจึงไม่ประสงค์ต่อผล (ความตายของสมโชค)

หรือย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดผล  (ความตายของสมโชค)  เช่นนั้นแน่นอน  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรง  บุคคลในภาวะเช่นว่านั้น  (ขณะรับปืนมา)  จักต้องมี  (มีหน้าที่)  ตามวิสัยและพฤติการณ์  (ตรวจดูเสียก่อนว่ามีลูกกระสุนบรรจุอยู่หรือไม่)  เมื่อสุขุมไม่ตรวจดูเสียก่อนจึงกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง  สุขุมกระทำไปโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคสี่

และสุขุมจะต้องรับผิดในทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ส่วนปรมีต้องการฆ่าสมโชคจึงหลอกสุขุมว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  ปรมีใช้สุขุมเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดซึ่งกฎหมายถือว่าปรมีเป็นผู้กระทำความผิดเอง  ดังนั้นปรมีจึงกระทำต่อสมโชคโดยเจตนาตามาตรา  59  วรรคสอง  และจะต้องรับผิดในทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง

สรุป  ปรมีกระทำต่อสมโชคโดยเจตนาจึงต้องรับผิดในทางอาญา  และสุขุมจะต้องรับผิดทางอาญา  เพราะกระทำต่อสมโชคโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

 

ข้อ  2  จเร  เป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย  ได้ออกตรวจการอยู่เวรยามของลูกน้องพบบริเวณที่อุเทนรับผิดชอบอยู่เวร  อุเทนไม่ได้อยู่ตามหน้าที่  จเรพบอุเทนจึงสอบถามดูแต่โดยดี  อุเทนกลับพูดโดยไม่ยำเกรงจเรซึ่งเป็นหัวหน้าและตรงเข้าต่อยจเร  จเรปัดป้องและชกต่อยตอบโต้ไปบ้าง  อุเทนเตะต่อยจเรจนล้มลง  พอจเรลุกขึ้น  อุเทนใช้มีดแทงไปที่หน้าท้องจเรแล้วอุเทนวิ่งหนี  จเรจึงใช้ปืนยิงไปที่ด้านหลังอุเทนหนึ่งนัด  กระสุนปืนไม่ถูกอุเทน  แต่เลยไปถูกเจนจบซึ่งวิ่งเข้ามาห้ามปรามตาย

ดังนี้  จเรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

ตามปัญหา  การที่อุเทนเข้าเตะต่อยจเรก่อน  โดยจเรพูดสอบถามดูแต่โดยดี  และจเรปัดป้องและโต้ตอบไปบ้างก็เป็นสิทธิของจเรที่จะป้องกันได้  หาจำต้องให้อุเทนทำได้แต่ฝ่ายเดียวไม่  และไม่ใช่เป็นเรื่องสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน  เมื่อจเรถูกอุเทนเตะต่อยจนล้มลง  พอลุกขึ้นก็ถูกอุเทนแทงที่หน้าท้องแล้วอุเทนวิ่งหนีไป  จเรจึงใช้ปืนยิงไปที่ด้านหลังอุเทน  ถือว่าจเรได้กระทำต่ออุเทนโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่จเรทำไปเพราะถุกอุเทนข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  ทำให้จเรบันดาลโทสะและได้กระทำความผิดต่ออุเทนขณะนั้น

จเรมีความผิดแต่รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้  ตามมาตรา  72  จเรจะอ้างว่ากระทำการป้องกันตามมาตรา  68  เพื่อไม่ต้องรับผิดไม่ได้  เพราะขณะจเรใช้ปืนยิงไปที่อุเทนภยันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้ว  ส่วนกระสุนปืนไม่ถูกอุเทนแต่เลยไปถูกเจนจบซึ่งวิ่งเข้ามาห้ามปรามตาย  จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  เพราะจเรเจตนากระทำต่ออุเทนแต่ผลเกิดขึ้นแก่เจนจบโดยพลาดไป

จึงถือว่าจเรเจตนากระทำต่อเจนจบตามมาตรา  60  เนื่องจากเจตนาเดิมของจเรกระทำไปโดยบันดาลโทสะผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปนั้น  จเรอ้างบันดาลโทสะได้

สรุป  จเรเจตนากระทำต่ออุเทนและเจตนากระทำต่อเจนจบโดยพลาด  จึงต้องรับผิดทางอาญาแต่จเรกระทำไปขณะบันดาลโทสะ  จึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

 

ข้อ  3  เลอสรรค์เลี้ยงสุนัขดุไว้ในบ้าน  5  ตัว  เลอสรรค์ทำรั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูงสองเมตร  และมีซี่ลูกกรงเหล็กต่อขึ้นไปอีกหนึ่งเมตร เลอสรรค์เขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า  ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้าเข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ

วันรบกับพวกเตะฟุตบอลอยู่บนถนนหน้าบ้านเลอสรรค์  ลูกฟุตบอลได้เข้าไปในบ้านเลอสรรค์  วันรบได้ปีนรั้วและใช้ไม้เขี่ยลูกฟุตบอลทั้งที่เห็นข้อความติดไว้หน้าประตูรั้ว  สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดข้อมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้วเข้าไปข้างใน  วันรบร้องให้พรรคพวกช่วย  ทรงเดชเพื่อนของวันรบได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาสุนัขบอด  และยอมปล่อยข้อมือวันรบ

ดังนี้  ทรงเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1)  เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  หรือ

(2)  เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อ

ภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

ตามปัญหา  ทรงเดชได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัข  ทรงเดชได้กระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์แล้ว  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ทรงเดชจะอ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันวันรบให้พ้นจากภยันตรายไม่ได้  เพราะการที่วันรบถูกสุนัขกัดได้รับบาดเจ็บนั้น  ไม่ใช่ภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  เพราะเลอสรรค์เจ้าของสุนัขไม่ได้ก่อให้เกิดภยันตรายนั้นโดยเจตนา  หรือประมาทแต่อย่างใด  เพราะการที่เลอสรรค์เจ้าของสุนัข  ได้ทำรั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูงสองเมตรและมีซี่กรงเหล็กต่อขึ้นไปอีกหนึ่งเมตร  และเขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า  ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้าเข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ  นั้นเป็นการกระทำโดยใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว  (ตามมาตรา  59  วรรคสี่)

วันรบจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะป้องกันตัวเองได้  ด้วยเหตุนี้  ทรงเดชจะอ้างว่าตนกระทำไปโดยป้องกันสิทธิของผู้อื่น  ตามมาตรา 68  ไม่ได้  เพาะการป้องกันสิทธิของผู้อื่นนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้จะได้รับความช่วยเหลือนั้นมีอำนาจตามกฎหมายที่จะป้องกันตัวเองได้เท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อวันรบไม่อยู่ในฐานะที่จะป้องกันตนเองได้ตามกฎหมายแล้ว  ทรงเดชก็ไม่มีอำนาจที่จะไปช่วยเหลือป้องกันวันรบได้

อย่างไรก็ตาม  ทรงเดชอ้างว่ากระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  ได้  เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้  ผู้อื่น  คือ  วันรบพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากการถูกสุนัขกัด  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้น  ตน  คือ  ทรงเดชมิได้ก่อให้เกิด  เพราะความผิดของตน  การกระทำของทรงเดชถือว่าไม่เกินสมควรแก่เหตุเพราะเป็นการทำลายทรัพย์ของบุคคลหนึ่งเพื่อให้อีกบุคคลหนึ่งพ้นจากภยันตรายต่อชีวิตและร่างกาย

สรุป  ทรงเดชต้องรับผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์  แต่ไม่ต้องรับโทษ

 

ข้อ  4  คมสันต์ต้องการฆ่าวันดี  คมสันต์จ้างกำภูให้ไปฆ่าวันดี  กำภูตกลงกำภูไปขอยืมปืนจากบุญส่ง  บุญส่งให้ยืมปืนไปทั้งๆที่รู้ว่ากำภูจะใช้ปืนนั้นไปยิงวันดี  เมื่อกำภูได้ปืนและสืบทราบว่าวันดีกลับเข้าบ้านเวลา  21.00  น.  ทุกวัน  จึงเตรียมไปดักรอยิงวันดีเมื่อกลับเข้าบ้าน  ยิ่งยงทราบว่ากำภูจะไปฆ่าวันดี  จึงอาสาขับรถจักรยานยนต์ให้กำภูซ้อนท้ายและคอยดูต้นทางให้  ขณะที่กำภูและยิ่งยงดักรอยิงวันดี  กำภูเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา  21.00 น.  จึงนำปืนออกมาตรวจความเรียบร้อย  ปืนเกิดลั่นลูกกระสุนปืนไปถูกวันดีซึ่งกลับเข้าบ้านพอดีถึงแก่ความตาย  ดังนี้คมสันต์  กำภู  บุญส่ง  และยิ่งยง  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท 

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  คมสันต์ต้องการฆ่าวันดีจึงจ้างกำภูให้ไปฆ่าวันดี  และกำภูตกลงรับจ้างซึ่งในขณะที่กำภูดักรอยิงวันดีอยู่นั้น  กำภูหยิบปืนขึ้นมาตรวจความเรียบร้อยทำให้ปืนลั่นลูกกระสุนถูกวันดีตาย  เป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  กำภูจึงต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง

คมสันต์จ้างกำภูไปฆ่าวันดี  คมสันต์ก่อให้กำภูกระทำความผิดด้วยการจ้าง  คมสันต์จึงเป็นผู้ใช้ให้กำภูกระทำความผิด  แต่ความผิดที่กำภูกระทำเกิดขึ้นเพราะความประมาทของกำภูมิได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนา  คมสันต์จึงมีความผิดในฐานเป็นผู้ใช้ในกรณีที่ความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทำลงจึงต้องรับโทษหนึ่งในสาม  คมสันไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  เพราะความผิดฐานเป็นผู้ใช้จะต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น  การกระทำโดยประมาทจะมีการใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตามมาตรา  84

บุญส่งให้กำภูยืมปืนทั้งๆที่รู้ว่ากำภูจะใช้ปืนนั้นไปยิงวันดี  บุญส่งได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กำภูในการกระทำความผิดก่อนหรือหลังกระทำความผิด  แต่เนื่องจากกำภูมิได้กระทำความผิดโดยเจตนา  บุญส่งจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

ยิ่งยงอาสาขับรถจักรยานยนต์ให้กำภูนั่งซ้อนท้ายและคอยดูต้นทาง  ถือว่ายิ่งยงเป็นตัวการเพราะได้ร่วมกระทำโดยแบ่งหน้าที่กันทำ  แต่เนื่องจากวันดีตายเพราะปืนลั่นซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทของกำภู  ดังนั้นเมื่อกำภูมิได้กระทำโดยเจตนา  ยิ่งยงจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป  ดังนั้น  คมสันต์และกำภูจึงต้องรับผิดทางอาญาดังกล่าวแล้วข้างต้น  ส่วนบุญส่งในฐานะผู้สนับสนุนและยิ่งยงในฐานะตัวการไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะกำภูมิได้กระทำโดยเจตนา

Advertisement