การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2106 (LAW 2006) กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายโก๋ออกไปล่าสัตว์ในป่ากับนายเก่า หลังจากแยกย้ายกันไปสักพักใหญ่ นายโก๋มานั่งพักอยู่ที่ จุดนัดพบคอยนายเก๋า ระหว่างนั้นนายโก๋ได้ยินเสียงพุ่มไม้ไหวก็เข้าใจไปว่าเป็นหมูป่าโดยไม่คิดว่า เป็นนายเก๋า ทั้งที่ปกตินายเก๋มักจะชอบล้อเล่นแบบนี้อยู่เสมอ ด้วยความรีบร้อนไม่ดูให้ดี นายโก๋ ใช้ปืนยิงไปหลังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าโดนนายเก่าถึงแก่ความตาย จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโก๋

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญา ก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้ กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้

กระทําโดยประมาท ได้แก่กระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่
หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

มาตรา 62 วรรคสอง “ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 59 หรือ ความสําคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคหนึ่ง ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทําความผิด ให้ผู้กระทํา รับผิดฐานกระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทํานั้นผู้กระทําจะต้องรับโทษ แม้กระทําโดยประมาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโก๋ใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยรู้สํานึกแล้ว จึงถือว่านายโก๋มีการกระทําทางอาญา แต่การที่นายโก้ยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นนายเก่านั้น เป็นกรณีที่นายโก๋ได้กระทําไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ ของความผิด คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิงนั้นเป็นคน ดังนั้น จะถือว่านายโก๋ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทําคือการที่นายเก่าถึงแก่ความตายไม่ได้ กล่าวคือ จะถือว่านายโก๋ได้กระทําโดยเจตนาต่อนายเก๋าไม่ได้นั่นเอง (มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม)

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 59 วรรคสาม ของนายโก๋ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นการกระทําของนายโก๋ เป็นการกระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และนายโก๋ อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กล่าวคือ ถ้านายโก๋ใช้ความระมัดระวังพิจารณาให้ดี

ไม่รีบร้อนก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นนายเก๋าไม่ใช่สัตว์ เพราะนายเก๋ามักจะหยอกล้อเล่นแบบนี้เป็นประจํา ดังนั้น นายโก๋จึงต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62 วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

สรุป นายโก๋ต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 62
วรรคสอง ประกอบมาตรา 59 วรรคสี่

 

ข้อ 2. นายดําต้องการฆ่านายแดงจึงมอบปืนให้นายขาวโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอมให้ไปยิงล้อเล่นให้
นายแดงตกใจ นายขาวหลงเชื่อว่าเป็นปืนปลอม จึงยิงปืนไปที่นายแดง กระสุนปืนไม่ถูกนายแดง และไม่มีบุคคลใดได้รับอันตรายแต่อย่างใด

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายดําและนายขาวจะต้องรับผิดอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อ ได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทํา โดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น

ถ้าผู้กระทํามิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทําประสงค์ต่อผล
หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้”

มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําต้องการฆ่านายแดงจึงมอบปืนให้นายขาวโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอม ให้ไปยิงล้อเล่นให้นายแดงตกใจ นายขาวหลงเชื่อว่าเป็นปืนปลอมจึงยิงปืนไปที่นายแดง กระสุนปืนไม่ถูกนายแดง และไม่มีบุคคลใดได้รับอันตรายแต่อย่างใดนั้น นายดําและนายขาวจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่นั้น
แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายขาว

การที่นายขาวใช้ปืนยิงไปที่นายแดงโดยนายขาวหลงเชื่อว่าปืนที่ใช้เป็นปืนปลอมนั้น แม้นายขาวจะได้กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําก็ตาม แต่เมื่อนายขาวมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด คือไม่รู้ว่าการกระทําของตนนั้นเป็นการ “ฆ่าผู้อื่น” กรณีนี้จะถือว่านายขาวได้กระทําโดยประสงค์ต่อผลหรือ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้นมิได้ กล่าวคือ จะถือว่านายขาวได้กระทําโดยมีเจตนาที่จะฆ่านายแดงมิได้ (ตามมาตรา 59 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง) และเมื่อไม่ถือว่านายขาวได้กระทําโดยเจตนา นายขาวจึงไม่ต้อง รับผิดตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

กรณีของนายดำ

การที่นายดํามอบปืนให้นายขาวโดยหลอกว่าเป็นปืนปลอมให้ไปยิงนายแดงนั้น ถือเป็นกรณีที่นายดํา ได้ใช้นายขาวซึ่งเป็นบุคคลที่มีการกระทํา แต่การกระทําของนายขาวนั้นไม่เป็นความผิด และเป็นเครื่องมือในการ
กระทําความผิด การที่นายขาวใช้ปืนยิงนายแดง จึงถือว่าเป็นการกระทําของนายดําเองซึ่งเป็นการกระทําโดยอ้อม

เมื่อการกระทํานั้นได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกนายแดงและ ไม่มีบุคคลใดได้รับอันตรายแต่อย่างใด นายดําจึงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่านายแดงตามมาตรา 288 และมาตรา 80 ประกอบมาตรา 59 วรรคหนึ่ง

สรุป นายดํามีความผิดฐานพยายามฆ่านายแดงตามมาตรา 288 และมาตรา 80 ประกอบ มาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนนายขาวไม่มีความผิดเพราะขาดเจตนาในการกระทําความผิด

 

ข้อ 3. เลอสรรค์เลี้ยงสุนัขไว้ในบ้าน 3 ตัว เลอสรรค์ทํารั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูงสองเมตรและมีลูกกรงเหล็ก ต่อขึ้นไปอีกหนึ่งเมตร เลอสรรค์เขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า “ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้า เข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ” วันรบกับพวกเตะฟุตบอลอยู่บนถนนหน้าบ้านเลอสรรค์ ลูกฟุตบอลได้ เข้าไปในบ้านเลอสรรค์ วันรบได้ปีนรั้วและใช้ไม้เขี่ยลูกฟุตบอลทั้งที่เห็นข้อความติดไว้หน้าประตูรั้ว สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดข้อมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้วเข้าไปข้างใน วันรบร้องให้พรรคพวกช่วย ทรงเดชเพื่อนของวันรบได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาสุนัขบอดและยอมปล่อยข้อมือวันรบ

ดังนี้ ทรงเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์
ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”

มาตรา 68 “ผู้ใดจําต้องกระทําการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ การกระทํานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ทรงเดชได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาสุนัขบอดนั้น ย่อมถือว่าทรงเดช ได้กระทําต่อทรัพย์ของเลอสรรค์โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการกระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ซึ่งโดยหลักแล้วทรงเดชจะต้องรับผิดทางอาญา ฐานทําให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ส่วนทรงเดชจะอ้างว่าการกระทําของตนนั้นเป็นการกระทําเพื่อ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

การกระทําที่จะถือว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 68 นั้น จะต้องเป็น การกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น การที่สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดข้อมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้ว เข้าไปข้างในรั้วบ้านของเลอสรรค์นั้น ภยันตรายที่เกิดกับวันรบนั้นไม่ถือว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คือ มิใช่ภยันตรายที่เกิดจากการกระทําโดยประมาทของเลอสรรค์แต่อย่างใด เนื่องจากเลอสรรค์ได้เลี้ยงสุนัขไว้ในบ้านและได้ทํารั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูง 2 เมตร และมีซี่กรงเหล็กต่อขึ้นไปอีก 1 เมตร อีกทั้งยังได้เขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า “ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้าเข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ” ด้วย แต่ภยันตรายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความผิดของวันรบเองที่ได้ปีนรั้วและใช้ไม้เขี่ยลูกฟุตบอลทั้งที่เห็น ข้อความติดไว้หน้าประตูรั้ว จนทําให้สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้ว เข้าไปข้างใน ดังนั้น การกระทําของทรงเดชที่ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาบอดและปล่อยข้อมือวันรบนั้น

ทรงเดชจะอ้างว่าเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของวันรบให้พ้นภยันตรายเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดตามมาตรา 68 ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของทรงเดชดังกล่าว ทรงเดชอาจอ้างได้ว่าเป็นการกระทําผิดด้วย
ความจําเป็น เพราะเพื่อให้ผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนตามมาตรา 67 (2) และเมื่อการกระทํานั้นไม่เกิน สมควรแก่เหตุ ทรงเดชไม่ต้องรับโทษสําหรับความผิดนั้น

สรุป ทรงเดชมีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเป็นการกระทําความผิด ด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (2)

 

ข้อ 4. เชย ชิด และฉ่ำไปเที่ยวงานกาชาดจังหวัด พบเอกกับเพื่อนยืนอยู่ เชยมีอาวุธปืนเดินเข้าไป ถามหาเรื่องจะทําร้ายเอก แล้วทั้งสามก็ไปเที่ยวต่อ หลังจากเที่ยวงานเสร็จระหว่างทางกลับบ้าน เชย ชิด และฉ่ำพบเอกกับพวกอีก ชิดได้ชักมีดออกมาแทงเอก เอกหลบและชักปืนออกมาจะยิ่งชิด ฉ่ำเข้าแย่งปืนกับเอก ร้องบอกเชยว่า “เชยยิง ๆ” เชยได้ใช้ปืนยิงเอก ขณะเดียวกัน ชิดเข้า ขัดขวางพรรคพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอก เอกถูกยิงตาย

ดังนี้ เชย ชิด และฉ่ำ ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา

กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วม กระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 84 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด….”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เชย ชิด และฉ่ำ จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของเชย

การที่เชยใช้ปืนยิงเอกจนเอกถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าเชยได้กระทําต่อเอกโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น ดังนั้น เชยจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

กรณีของชิด

จากข้อเท็จจริง การที่เชย ชิด และไปเที่ยวงานกาชาดจังหวัด พบเอกกับเพื่อนยืนอยู่ เชยซึ่งมีอาวุธปืนได้เดินเข้าไปถามหาเรื่องจะทําร้ายเอก แล้วทั้งสามก็ไปเที่ยวต่อ หลังจากเที่ยวงานเสร็จระหว่างทางกลับบ้าน เชย ชิด และพบเอกกับพวกอีก ซิดได้ชักมีดออกมาแทงเอกนั้น ย่อมถือได้ว่าชิดและเชยมีเจตนาที่จะทําร้ายเอก ตั้งแต่แรกแล้ว และเมื่อเซยได้ใช้ปืนยิงเอก ชิดก็ได้เข้าขัดขวางพรรคพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอก แสดงว่าชิดรู้เห็น และมีเจตนาร่วมกระทําผิดกับเชย ดังนั้น เมื่อเชยยิงเอกจนเอกถึงแก่ความตาย จึงถือว่าชิดได้ร่วมกันกระทํา ความผิดกับเชย ชิดจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตามมาตรา 83

กรณีของฉ่ำ

การที่ฉ่ำได้เข้าแย่งปืนกับเอก และฉ่ำร้องบอกเชยว่า “เชยยิง ๆ” และเชยได้ใช้ปืนยิงเอกจนเอกถึงแก่ความตายนั้น การที่ฉ่ำได้ร้องบอกดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นการที่ฉ่ำได้ร้องบอกให้เชยช่วยกันทําร้ายผู้ตาย และการที่เชยได้ใช้ปืนยิงเอกย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าเชยมีเจตนาร่วมกระทําผิดกับ ดังนั้น ทั้งเชยและฉ่ำ จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 83 (ฎีกาที่ 883/2509) และกรณีนี้ ไม่ถือว่าเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84

สรุป เชยต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ชิดและฉ่ำต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา 83

Advertisement