การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW  1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ก. เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.      นายแดงซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร  ให้แก่นายเหลืองซึ่งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกในราคาสามล้านบาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  7  วัน  
นายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายเหลืองได้ทราบข่าวว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  แต่อยากได้บ้านหลังนั้น  นายเหลืองจึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายแดง  ณ  ที่อยู่ของนายแดง  นางเขียวภรรยาของนายแดงได้รับจดหายดังกล่าวไว้  ดังนี้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงกับนายเหลืองเกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด
 

ธงคำตอบ

Advertisement

มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ


อธิบาย  จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  จะเห็นได้ว่า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ถึงแม้ต่อมาผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไปการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง  หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตาย  หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัยปรากฏว่าก่อนที่นายเหลืองจะทำคำสนองตอบตกลงซื้อบ้านของนายแดง  นายเหลืองได้รู้อยู่แล้วว่านายแดงถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  กรณีจึงต้องตามข้อยกเว้นในมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  169  วรรคสองมาใช้บังคับ  การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายแดงจึงเสื่อมเสียไปกรณีดังกล่าวนี้  จึงไม่มีคำเสนอของนายแดง  มีแต่เพียงคำสนองของนายเหลือง  ถึงแม้ว่านางเขียวภรรยาของนายแดงได้รับจดหมายคำสนองของนายเขียวไว้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายแดงกับนายเหลืองก็ไม่เกิดขึ้น

ข้อ  2  ให้นักศึกษาอธิบายการแสดงเจตนาเนื่องจากการถูกข่มขู่มาโดยละเอียด  พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ลักษณะของการข่มขู่

มาตรา  164  การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ

การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น  จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว  ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น  การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

จากมาตรา  164  วรรคสอง  การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกข่มขู่มีลักษณะดังนี้

1       เป็นการข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดภัย  อาจเป็นภัยแก่ตัวผู้ถูกข่มขู่  หรือบุคคลในครอบครัว  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขู่ก็ได้

2       ภัยที่ข่มขู่ว่าจะเกิดขึ้นนั้นต้องเป็นภัยอันใกล้จะถึง  ภัยนั้นกำลังจะเกิดขึ้น  และผู้ถูกข่มขู่ไม่สามารถหาทางหลีกเลี่ยงป้องกันได้

3       ภัยที่ข่มขู่นั้นต้องร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว  ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น  นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำนั้น

กรณีที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

มาตรา  165  การข่มขู่จะใช้สิทธิตามปกตินิยม  ไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

การใดที่กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง  ไม่ถือว่าการนั้นได้กระทำเพราะถูกข่มขู่

แยกอธิบายดังนี้

1       การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม  หมายความว่าการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างที่ปกติคนทั่วไปเข้าใช้กัน  เช่น  เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้  ถ้ายังไม่ชำระก็ให้ทำหนังสือรับสภาพหนี้  มิฉะนั้นจะฟ้องเรียกเงินกู้ต่อศาล

2       การที่ได้กระทำไปเพราะนับถือยำเกรง  หมายถึง  ความเคารพระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่  เช่น  บุตรกับบิดามารดา  เป็นต้น

ทั้งสองกรณีนี้ไม่ถือเป็นการข่มขู่  แม้ผู้แสดงเจตนาจะเกิดความกลัวก็ตาม

ผลของการข่มขู่

มาตรา  166  การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ  แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่

จากมาตรา  164  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  166  การข่มขู่มีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆียะ  ไม่ว่าการข่มขู่จะมาจากคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง  หรือจากบุคคลภายนอกก็ตาม

 

ข้อ  3  เมื่อวันที่  15  มกราคม  2537  นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์  จำนวน  300,000  บาท  โดยมีนายพุธเป็นผู้ค้ำประกัน  การกู้เงินรายนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน  เพียงแต่ตกลงกันว่า  ถ้านายจันทร์ต้องการเงินคืนเมื่อใดให้ทวงถามก่อน  หลังจากกู้เงินไปได้  3  เดือน  นายจันทร์ได้ทวงถามให้นายอาทิตย์ชำระเงินตลอดมา  แต่นายอาทิตย์ก็ไม่นำเงินมาชำระ  จนกระทั่งอายุความฟ้องร้อง  10  ปี  ได้สิ้นสุดลง

ต่อมาวันที่  3  มกราคม  2548  นายอาทิตย์ได้รับมรดกจากป้าเป็นเงินจำนวน  100,000  บาท  จึงได้แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่นายจันทร์  จำนวน  50,000  บาท  โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  ในวันที่นำเงินมาชำระนั้นเอง  นายจันทร์ได้ให้นายอาทิตย์ทำหลักฐานเป็นหนังสือให้ตน  1  ฉบับ  มีใจความว่า  นายอาทิตย์จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่นายจันทร์อีก  100,000  บาท  ในวันที่  30  มกราคม  2548  ดังนี้อยากทราบว่า

ก.      ถ้านายอาทิตย์มาทราบภายหลังว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว  50,000  บาท  คืนจากนายจันทร์ได้หรือไม่  จงอธิบาย

ข.      เมื่อหนี้ถึงกำหนดในวันที่  30  มกราคม  2548  นายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ  นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์และนายพุธได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  193/28  การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น  ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง  ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ…แต่จะอ้างความข้อนี้เป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้

วินิจฉัย

การที่นายอาทิตย์ได้ทำสัญญากู้เงินจากนายจันทร์จำนวน  300,000  บาท  และมิได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์เลย  จนกระทั่งอายุความ  10  ปีได้สิ้นสุดลง  นายอาทิตย์จึงได้นำเงินไปชำระให้แก่นายจันทร์จำนวน  50,000  บาท  โดยไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว  ตามหลักการชำระหนี้  ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้นแล้ว  ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้  แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่ทราบว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม  เนื่องจากสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความมิได้ทำให้หนี้นั้นระงับหรือดับสูญไป  เมื่อหนี้นั้นได้ชำระไปแล้วตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้น  นายอาทิตย์จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้ว  50,000  บาท  คืนจากนายจันทร์ไม่ได้

 



เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระในวันที่  30  มกราคม  2548  นายอาทิตย์ไม่นำเงินมาชำระ  นายจันทร์จะนำคดีไปฟ้องร้องนายอาทิตย์ได้  เพราะเมื่อหนี้ขาดอายุความแล้วแม้นายอาทิตย์จะไม่ทราบ  แต่นายอาทิตย์ก็ได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ  หนังสือรับสภาพความรับผิดนั้นย่อมใช้บังคับได้
ข้อ  4  นายสมบูรณ์เขียนจดหมายถึงนายดำเกิงซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  มีข้อความว่า  “ตามที่บริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  กำหนดราคาขายแร่ดีบุกตันละ  60,000  บาท  นั้น  ข้าพเจ้าประสงค์จะซื้อแร่ดีบุกจากบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  จำนวนประมาณ  100  ตัน  แต่จะขอซื้อในวันนี้ก่อน  10  ตัน  ที่เหลือจะมาขอซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ  100  ตัน”  นายดำเกิงทำจดหมายตอบไปยังนายสมบูรณ์ว่า  “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกแก่ท่านตามที่ท่านเสนอมา”  เช่นนี้  สัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่างนายสมบูรณ์กับบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  เกิดขึ้นหรือไม่  เพียงใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาที่จะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน  และ

(2) มีความมุ่งหมายว่าถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที

วินิจฉัย

นายสมบูรณ์เขียนจดหมายแสดงเจตนาไปยังนายดำเกิงซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  มีข้อความว่า  “ตามที่บริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  กำหนดราคาขายแร่ดีบุกตันละ  60,000  บาท  นั้น  ข้าพเจ้าประสงค์จะซื้อแร่ดีบุกจากบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  จำนวนประมาณ  100  ตัน  แต่จะขอซื้อในวันนี้ก่อน  10  ตัน  ที่เหลือจะมาขอซื้อเป็นคราวๆไปจนกว่าจะครบ  100  ตัน”  เป็นข้อความที่ยังไม่แน่นอน  จึงไม่เป็นคำเสนอ  แต่เป็นเพียงคำปรารภว่าจะทำสัญญาเท่านั้น

ส่วนข้อความในจดหมายของนายสมบูรณ์ที่ว่า  “ตามที่บริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  กำหนดราคาขายแร่ดีบุกตันละ  60,000  บาท  นั้น… จะขอซื้อในวันนี้ก่อน  10  ตัน”  เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน  และเป็นที่เห็นได้ว่านายสมบูรณ์ผู้แสดงเจตนามีความมุ่งหมายว่าถ้ามีคำสนอง  สัญญาเกิดขึ้นทันที  จึงเป็นคำเสนอซื้อแร่ดีบุก  10  ตัน  ราคาตันละ  60,000  บาท

เมื่อนายดำเกิงซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  ทำจดหมายตอบไปยังนายสมบูรณ์ว่า  “บริษัทตกลงขายแร่ดีบุกแก่ท่านตามที่ท่านเสนอมา”  จึงมีผลให้เกิดสัญญาซื้อขายแร่ดีบุกระหว่าง  นายสมบูรณ์กับบริษัท  ทรัพย์ในดิน  จำกัด  จำนวน  10  ตัน  ราคาตันละ  60,000  บาท

Advertisement