การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4007 นิติปรัชญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ให้อธิบายแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีปฏิฐานนิยม (Legal Positivism) และให้อธิบายว่าแนวคิดปฏิฐานนิยมในอดีตที่ยืนยันการดํารงอยู่ของกฎหมายว่ามิได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมใด ๆ เป็นผลมาจากอะไร และการพิจารณากฎหมายกับศีลธรรมในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับ การพิจารณาประเด็นความยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง โดยเปรียบเทียบกับการนําเสนอความคิดเกี่ยวกับ ความยุติธรรมของปรัชญากฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) พอสังเขป และให้แสดงความคิดเห็นว่า นักศึกษามีความเห็นอย่างไรต่อแนวคิดของจอห์น ออสติน (John Austin) ที่ถือว่ากฎหมายคือ เจตจํานงหรือความประสงค์ของผู้สั่ง หรือคือคําสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่สั่งการบังคับกับประชาชนว่า เป็นส่วนหนึ่งของความคิดเกี่ยวกับกฎหมายกับศีลธรรมตามแนวของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย

ธงคําตอบ

แนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย (Legal Positivism) ได้แก่

1 การยืนยันว่า การดํารงอยู่ของกฎหมายใด ๆ มิได้ขึ้นอยู่กับการที่มันตอบสนองหรือ สอดคล้องกับหลักคุณค่าทางศีลธรรมอันหนึ่งอันใดที่สามารถบรับใช้ได้อย่างเป็นสากลในทุก ๆ ระบบกฎหมาย

2 การยืนยันว่า การดํารงอยู่ของกฎหมายขึ้นอยู่กับการที่มันถูกสร้างขึ้นโดยผ่านการ ตกลงปลงใจของมนุษย์ในสังคม และแยกกฎหมายคืออะไร (IS) กับกฎหมายควรจะเป็นอย่างไร (Ought) ออกจากกัน โดยเด็ดขาด

3 จุดยืนเกี่ยวกับภาคบังคับของกฎหมายที่ต้องมีสภาพบังคับหรือบทลงโทษ

ผลของแนวคิดปฏิฐานนิยมในอดีตที่ยืนยันการดํารงอยู่ของกฎหมายว่ามิได้ขึ้นอยู่กับศีลธรรมใด ๆ พิจารณาได้จากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของตะวันตก ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 การกําเนิดและขยายตัวฟื้นฟู ของรัฐชาติสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงของสังคม การรวมศูนย์อํานาจอธิปไตยภายในรัฐ ความเชื่อมั่นในความจําเป็น ของรัฐที่ต้องมีอํานาจเด็ดขาด ความชอบรรรมหรือความศักดิ์สิทธิ์เด็ดขาดในการใช้อํานาจรัฐโดยอิสระไม่ต้องพึ่งพิง การสนับสนุนจากศาสนจักร และจากแนวคิดที่ว่า สิ่งที่กําหนดกฎหมายคือ อํานาจหาใช่สัจธรรมใด ๆ ไม่

การพิจารณากฎหมายกับศีลธรรมในลักษณะที่ยืนยันว่าการดํารงอยู่ของกฎหมายใด ๆ มิได้ ขึ้นอยู่กับการที่มันตอบสนองหรือสอดคล้องกับหลักคุณค่าทางศีลธรรม เป็นการยืนยันการแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด ของกฎหมายของรัฐกับจริยธรรม แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับการพิจารณาประเด็นความยุติธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า ความยุติธรรมคือความถูกต้องตามกฎหมาย เป็นความยุติธรรมตามกฎหมาย และถือว่าความสมบูรณ์ถูกต้องของ กฎหมายปรากฏจากสภาพบังคับของกฎหมาย กฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์ไม่อาจเป็นอยุติธรรมได้ เพราะสิ่งที่ถือว่าเป็น ความยุติธรรม ความอยุติธรรม หรือความถูกผิดเป็นสิ่งที่ถูกกําหนดโดยกฎหมายของรัฐ

เมื่อเปรียบเทียบกับการนําเสนอความคิดเกี่ยวกับความยุติธรรมของปรัชญกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) แล้วจะเห็นว่ามีความแตกต่างกับแนวคิดของปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย เพราะปรัชญากฎหมายธรรมชาติ ให้ความสําคัญกับคุณค่าของศีลธรรมกับกฎหมาย โดยเชื่อว่าการดํารงอยู่และความสมบูรณ์ของกฎหมายมีรากฐานจาก กฎหมายธรรมชาติหรือบรรทัดฐานทางศีลธรรมซึ่งมีผลผูกมัดการกระทําของมนุษย์โดยธรรมชาติ ยืนยันว่าธรรมชาติของมนุษย์มีเหตุผลคือ มีความสามารถในการที่จะรู้ถึงระบบระเบียบทางศีลธรรมหรือความผิดชอบชั่วดีซึ่งเป็น กฎหมายธรรมชาติได้ กฎเกณฑ์ที่ใช้ในสังคมมนุษย์ กฎหมายบ้านเมือง เกิดมาจากเหตุผลของมนุษย์ที่เป็นส่วนของ กฎหมายธรรมชาติ กฏเกณฑ์นั้นจึงควรสอดคล้องกับเหตุผลธรรมชาติ หรือกฎหมายธรรมชาติ การนําเสนอประเด็น ความยุติธรรมตามกฎหมายธรรมชาติจึงถือเป็นแก่นสารอุดมคติในกฎหมาย เป็นเสมือนเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย และเชื่อว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งเดียวกับกฎหมายธรรมชาติซึ่งเป็นหลักความถูกต้อง หรือเกณฑ์อุดมคติที่เข้าถึงได้ โดยอาศัยเหตุผลในตัวมนุษย์ จึงเป็นการยืนยันว่าความเป็นธรรม ความยุติธรรม และศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ อย่างใกล้ชิดกับกฎหมายบ้านเมือง

สําหรับแนวคิดของจอห์น ออสติน (John Austin) ที่ถือว่ากฎหมายคือเจตจํานงหรือความประสงค์ ของผู้สั่ง หรือคือคําสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ที่สั่งการบังคับกับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเกี่ยวกับกฎหมาย กับศีลธรรมตามแนวของปฏิฐานนิยมทางกฎหมายนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว ทั้งนี้เพราะเมื่อพิจารณา เกี่ยวกับกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับประชาชนในปัจจุบัน เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรต่าง ๆ แล้วจะเห็นได้ว่า เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอํานาจของรัฏฐาธิปัตย์ เท่านั้น โดยไม่คํานึงว่าประชาชนจะให้การยอมรับหรือไม่ หรือจะสอดคล้องกับศีลธรรมหรือเหตุผลทางธรรมชาติ หรือไม่ แต่เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยมีเนื้อหาที่เน้นอํานาจสูงสุดของผู้ปกครองในฐานะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์เป็นหลัก ทําให้ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ให้ความสนับสนุนระบบเผด็จการ จึงเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมที่ประชาชน จะยอมรับได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นกฎหมายที่ขาดความชอบธรรม ขาดการยอมรับจากประชาชน แต่เมื่อ เป็นกฎหมายหรือคําสั่งที่ออกโดยรัฏฐาธิปัตย์ ประชาชนก็ต้องปฏิบัติตาม มิฉะนั้นอาจจะถูกลงโทษได้

* หมายเหตุ นักศึกษาอาจแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ แต่ต้องแสดงความคิดเห็น โดยอาศัยทฤษฎีปฏิฐานนิยมทางกฎหมายของจอห์น ออสติน ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) มีแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไร การนําเสนอทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีผลประโยชน์ของรอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) อย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างแนวคิดนิติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) กับแนวคิดอรรถประโยชน์ (Utilitarianism) ของเยเรมี แบนแธม (Jeremy Bantam) พร้อมแสดงถึงข้อดี ข้อเสีย หากนําแนวคิดทั้งสอง มาประกอบการพิจารณาเป็นแนวทางเพื่อความเหมาะสมสําหรับการจัดทําร่างกฎหมายเกี่ยวกับ ผลประโยชน์สองฝ่ายของผู้ประกอบการ (นายจ้าง) และผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง)

ธงคําตอบ

ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) มีแนวความคิดเกี่ยวกับ กฎหมายที่ก่อตัวขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 ของตะวันตก ในช่วงของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากสังคมที่มีการแข่งขัน การเอาเปรียบ ความเจริญทางวัตถุ การก่อตัวของชนชั้นแรงงาน และการก่อตัวของลัทธิมาร์กซิสต์ ก่อให้เกิดปัญหา ที่ต้องได้รับการแก้ไข จากการศึกษาของนักนิติศาสตร์ในช่วงนี้จึงมีแนวความคิดในการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมมากกว่าผลประโยชน์ของสังคม โดยการมองว่าวัตถุประสงค์เป็นผู้สร้างกฎหมาย กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนอง ความต้องการของสังคม วัตถุประสงค์ของกฎหมายจึงอยู่ที่การปกป้องผลประโยชน์ของสังคม กฎหมายจึงเป็น ส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากการศึกษาข้อเท็จจริงของสังคม และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของสังคม

การนําเสนอแนวคิดทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฎีผลประโยชน์ของ รอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) โดยที่ทฤษฎีวิศวกรรมทางสังคมถูกนําเสนอโดยพาวด์ที่อธิบายรายละเอียดวิธีการ อันเป็นแนวคิดที่มุ่งสร้างกฎหมายที่เป็นการคานผลประโยชน์ด้วยการสร้างกลไกในการคานผลประโยชน์ต่าง ๆ (ได้แก่ ผลประโยชน์ปัจเจกชน ผลประโยชน์มหาชน ผลประโยชน์สังคม) ในสังคมให้เกิดความสมดุลโดยอาศัย กลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นนักวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างใหม่อันมีประสิทธิภาพในการตอบสนอง ความต้องการของประชาชน

การวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ (RosCoe Pound) กับแนวอรรถประโยชน์ (Utilitarianism) ของเยเรมี แบนแธม (Jeremy Bantam)

แนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของรอสโค พาวด์ เป็นแนวคิดในการสร้างกลไกทางกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาโดยการมองผลประโยชน์ในภาพรวมของสังคมเป็นหลัก โดยวิธีการศึกษา ข้อเท็จจริงของสังคมในสถานการณ์ที่เป็นจริงแล้วสร้างกฎหมายที่จะตอบสนองต่อความปรารถนาและความต้องการ ของแต่ละฝ่ายในลักษณะที่ก่อให้เกิดความสมดุล

แต่แนวคิดอรรถประโยชน์ของเยเรมี แบนแธม ให้ความสําคัญกับผลประโยชน์ในเชิงความสุข อันเป็นผลลัพธ์ในการตัดสินความถูกต้อง และเชื่อในความสุขหรือผลประโยชน์ของปัจเจกชนเป็นหลัก เป็นความคิด ในเชิงกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักอรรถประโยชน์ อันเป็นกฎหมายที่ก่อให้เกิดความสุขมากที่สุดแก่บุคคลจํานวน มากที่สุด แนวคิดอรรถประโยชน์จึงเป็นแนวคิดในลักษณะสุขนิยม ปัจเจกนิยม หรือเน้นความมั่นคงของปัจเจกบุคคล อย่างสูงในฐานะเป้าหมายหลักในการกําหนดกฎหมาย

สําหรับข้อดี ข้อเสีย หากนําแนวคิดทั้งสองมาประกอบการพิจารณาแนวทางเพื่อความเหมาะสม สําหรับการจัดทําร่างกฎหมายที่เหมาะสมเกี่ยวกับผลประโยชน์สองฝ่ายของผู้ประกอบการ (นายจ้าง) และผู้ใช้แรงงาน (ลูกจ้าง) นั้น มีดังนี้

กรณีแนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา

ข้อดีคือ การศึกษาปัญหา และข้อเท็จจริงของสังคม เพื่อสร้างกฎหมายที่เหมาะสมตามความ เป็นจริงและเน้นบทบาทของกฎหมายในการควบคุมระเบียบของสังคมให้เกิดความสมดุล

กรณีแนวคิดอรรถประโยชน์

ข้อดีคือ กฎหมายจะถูกกําหนดโดยพิจารณาจากความสุขหรือผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ สิ่งใดที่เป็นความสุขหรือผลประโยชน์ที่คนจํานวนมากต้องการ รัฐสามารถนํามากําหนดนโยบายและกฎหมายได้ โดยไม่ต้องพิจารณาความถูกต้องเชิงจริยธรรม

ข้อเสียคือ

1 ไม่ใส่ใจต่อความแตกต่างของบุคคล

2 ความไม่เป็นธรรมในการปรับใช้ โดยแนวคิดนี้ไม่นําพาว่าความสุขนั้นจะกระจายไปสู่สมาชิกในสังคมได้อย่างทั่วถึงหรือเสมอภาคเพียงใด

3 การปฏิเสธคุณค่าทางศีลธรรม

ดังนั้นหากนําแนวคิดอรรถประโยชน์มาปรับใช้ในการร่างกฎหมายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การพิจารณาผลประโยชน์จะตกแก่ลูกจ้างในฐานะที่เป็นคนส่วนใหญ่และจํานวนมาก ส่วนการนําแนวคิดนิติศาสตร์ เชิงสังคมวิทยามาปรับใช้ในการร่างกฎหมายระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การพิจารณาผลประโยชน์จะเกิดขึ้นได้ อย่างสมดุลระหว่างสองฝ่ายที่จะพึงได้รับ

 

ข้อ 3. ให้นักศึกษาอธิบายลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ

ธงคําตอบ

ปรัชญากฎหมายไทยในอดีตเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งมี พัฒนาการและลักษณะที่สําคัญ ดังนี้ คือ

ปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา เป็นปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมที่ยอมรับ ให้มีการปฏิเสธหรือทัดทานการใช้พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์

ลักษณะที่สําคัญของปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิม คือ ตั้งอยู่บนกระแสความคิดพื้นฐาน ในลักษณะธรรมนิยม หลักการคือกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนหลักพุทธธรรม พระธรรมศาสตร์ ทศพิธราชธรรม รวมทั้งหลักจตุรธรรมแห่งกฎหมาย เทย อันเป็นธรรมนิยมแบบพุทธ ขณะเดียวกัน ก็ถูกทับซ้อนด้วยความคิดอํานาจนิยมที่ผูกติดกับอิทธิพลความคิดฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิเทวราช และความเป็น จริยธรรมการเมืองแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผสมผสานหรือคู่ขนานกลมกลืนกันไป ธรรมนิยมแบบพุทธจะเป็น กระแสหลักในสมัยสุโขทัย เห็นได้จากมีการแปลความธรรมะออกมาเป็นกฎหมายหรือคําสั่งของพ่อขุนรามคําแหง ส่วนธรรมนิยมแบบพราหมณ์หรือแบบฮินดูก็มีอิทธิพลอย่างมากในสมัยอยุธยา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวคิดแบบธรรมนิยม มีปรากฏในหลักจตรธรรมแห่งปรัชญา กฎหมายไทยดั้งเดิม ซึ่งมีสาระสําคัญ 4 ประการ คือ

1 กฎหมายมิได้เป็นกฎเกณฑ์หรือคําสั่งของผู้ปกครองแผ่นดินที่อาจมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ตามอําเภอใจ

2 กฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรม

3 จุดหมายแห่งกฎหมายต้องเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรหรือเพื่อประโยชน์ของราษฎร

4 การใช้อํานาจทางกฎหมายของพระมหากษัตริย์ต้องกระทําบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

เหตุที่ทําให้มีการสรุปยืนยันว่าปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมยึดถือเอาธรรมเป็นใหญ่ในการปกครอง บ้านเมือง และสนับสนุนให้มีการยับยั้งหรือทัดทานการใช้ พระราชอํานาจที่ไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ ก็เพราะว่านอกจากกฎหมายต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับธรรมะหรือศีลธรรมแล้ว พระมหากษัตริย์ยังต้องตั้งอยู่ใน ทศพิธราชธรรมอันมีค่าเป็นธรรมะ 10 ประการ ที่ทําหน้าที่ควบคุมการใช้พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ด้วย

แต่อย่างไรก็ดี ปรัชญากฎหมายไทยในสมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา อาจมีลักษณะแตกต่างกันบ้าง บางประการ กล่าวคือ

ในสมัยสุโขทัย ระบบการปกครองเป็นแบบ “ปิตุราชา” (แบบพ่อกับลูก) ที่ผสมผสานวัฒนธรรม ทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดูไว้ด้วยกัน ในลักษณะที่ศาสนาพุทธมีอิทธิพลมากกว่า กฎหมายจะมีลักษณะผูกพันกับ ศาสนาพุทธที่ไม่เน้นความรุนแรง แต่จะเน้นความไว้เนื้อเชื่อใจและมาตรการทางศีลธรรมเป็นหลัก

แต่ในสมัยอยุธยา ระบบการปกครองเป็นแบบ “เทวราชา” (กษัตริย์เปรียบเสมือนเป็นตัวแทน แห่งเทพเจ้าที่อวตารลงมาสู่โลกมนุษย์) ที่แม้จะมีการผสมผสานวัฒนธรรมทางศาสนาทั้งพุทธและฮินดูไว้ด้วยกัน แต่ฮินดูจะมีอิทธิพลมากกว่า กฎหมายจะมีลักษณะที่แน่นอนมากขึ้น แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้หลักตามคัมภีร์ พระธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นหลักทางศาสนาพุทธและหลักอินทภาษ ในลักษณะความผูกพันของส่วนประกอบ 3 ส่วน ที่สําคัญคือ พระธรรมศาสตร์ พระราชศาสตร์ (บทพระอัยการ พระราชบัญญัติ พระราชกําหนด) และหลักอินทภาษ

ส่วนปรัชญากฎหมายไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง กล่าวคือ

1 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4) จะมีลักษณะคล้ายกับใน สมัยอยุธยา เพียงแต่จะเน้นความผูกพันกับศาสนาพุทธเป็นหลักมากขึ้น อิทธิพลของฮินดูจะลดน้อยลงจนมีการสร้าง กฎหมายตราสามดวงขึ้นใช้บังคับ

2 สมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังปฏิรูปประเทศ (สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน) ลักษณะของ กฎหมายไทยนั้นมิได้รับอิทธิพลทางความคิดจากปรัชญากฎหมายไทยดั้งเดิมแต่อย่างใด แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิด จากการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นสมัยใหม่แบบตะวันตกตามแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก ส่งผลกระทบให้เกิดการตีความ ธรรมะในกฎหมายให้มีลักษณะบริสุทธิ์ มนุษยนิยมมากขึ้น เกิดการคลายตัวของแนวคิดอํานาจนิยม-เทวราชา นับแต่สมัย ร.4 และทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการขยายตัวของกฎหมายที่ยอมรับสิทธิเสรีภาพ มากขึ้นนับจากการทําสัญญาเบาริงในสมัย ร.5 ที่ได้รับพลังกดดันจากอํานาจทุนภายนอก คือมหาอํานาจตะวันตก และทําให้กฎหมายไทยมีลักษณะความเป็นสากลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีการจัดทําประมวลกฎหมายและ ใช้ปรัชญากฎหมายธรรมชาติตะวันตกเป็นหลัก

Advertisement