LAW2112 (LAW2012) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 มงคลเป็นบุตรชายคนเดียวของกัมพลซึ่งเป็นเจ้าของบ้านราคา 1.5 ล้านบาท กัมพลไม่ได้อยู่ในบ้าน แต่ให้มงคลอาศัยอยู่และบอกมงคลว่าหากกัมพลตายให้บ้านหลังนี้ตกเป็นของมงคล มงคลกังวลว่าบ้านหลังนี้อาจเกิดไฟไหม้ได้รับความเสียหาย จึงทําประกันอัคคีภัยบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน ในฐานะผู้อาศัยและเป็นผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ้านต่อไปในอนาคตกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด จํานวนเงินประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการคุ้มครอง 3 ปี มงคลทําประกันภัยได้ 1 ปี เกิดไฟไหม้บ้านรวมทรัพย์สินภายในประเมินมูลค่าความเสียหายเท่ากับ 8 แสนบาท มงคลจึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายอ้างว่า มงคลไม่มีส่วนได้เสีย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทฯ รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 869 “อันคําว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดา ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”

วินิจฉัย

เนื่องจากสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านเป็นสัญญาประกันวินาศภัยตามนัยของมาตรา 869 ซึ่งถือว่า เป็นสัญญาประกันภัยประเภทหนึ่ง ดังนั้น จึงต้องนําบทบัญญัติในหมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาใช้บังคับด้วย กล่าวคือ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นด้วย สัญญาประกันภัยจึงจะมีผลผูกพัน คู่สัญญา (มาตรา 683)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มงคลทําประกันอัคคีภัยบ้านและทรัพย์สินภายในบ้านในฐานะผู้อาศัยและเป็นผู้ที่จะเป็นเจ้าของบ้านต่อไปในอนาคตกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด จํานวนเงินประกัน 1 ล้านบาท ระยะเวลาการคุ้มครอง 3 ปี และเมื่อมงคลทําประกันภัยได้ 1 ปี เกิดไฟไหม้บ้านรวมทั้งทรัพย์สินภายในประเมิน มูลค่าความเสียหายเท่ากับ 8 แสนบาทนั้น เมื่อมงคลมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้น เพราะบ้านเป็นของกัมพลซึ่งเป็นบิดาของมงคลและมงคลอยู่ในฐานะผู้อาศัยเท่านั้น ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 863 และเมื่อมงคลเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายโดยอ้างว่ามงคลไม่มีส่วนได้เสีย ข้ออ้างของบริษัทฯ จึงรับฟังได้

สรุป ข้ออ้างของบริษัท มิตรมั่นคงประกันภัย จํากัด ที่ว่ามงคลไม่มีส่วนได้เสียนั้นรับฟังได้

 

ข้อ 2 นายหมอกเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหนึ่งโดยได้นํารถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปทําสัญญาประกัน วินาศภัยกับบริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนวงเงินซึ่งเอาประกันภัย 1 ล้านบาท ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายพายุได้ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของนายหมอกโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหาย แต่นายพายุตกลงที่จะรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายหมอกโดยได้ทําสัญญาประนีประนอม ยอมความไว้ในเบื้องต้น โดยตีราคาความเสียหายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจํานวน 3 แสนห้าหมื่นบาท ปรากฏว่าหลังจากทําสัญญาประนีประนอมยอมความนายพายุมิได้มาปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับนายหมอก ดังนี้จงวินิจฉัยว่า

(ก) นายหมอกมีสิทธิเรียกให้บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนในความ
เสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) หากปรากฏว่าบริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ได้นํารถยนต์บรรทุกของนายหมอก ไปซ่อมให้โดยจ่ายค่าซ่อมนั้นไปให้กับอู่ซ่อมรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจํานวน 4 แสนบาท บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด สามารถรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้ จํานวนเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 880 วรรคหนึ่ง “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจํานวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย และของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของบุคคลภายนอก เมื่อผู้รับประกันภัยได้ใช้ ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องเอาจาก บุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมอกได้นํารถยนต์บรรทุกของตนไปทําสัญญาประกันวินาศภัยกับ บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนวงเงินซึ่งเอาประกันภัย 1 ล้านบาท ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญา ประกันภัย นายพายุได้ขับรถยนต์มาเฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกของนายหมอกโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกได้รับความเสียหายนั้น กรณีนี้ถือว่าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทําของนายพายุซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว ดังนั้น

(ก) นายหมอกย่อมมีสิทธิเรียกให้บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้ เนื่องจากแม้ว่านายพายุจะได้ทําสัญญาประนีประนอม ยอมความไว้ในเบื้องต้นแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลังจากทําสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว นายพายุ ก็มิได้มาปฏิบัติตามสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด จึงยังคงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้กับนายหมอกในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ซึ่งเป็นความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัย

(ข) การที่นายพายุตกล ที่จะรับผิดชอบใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายหมอกโดยได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความไว้โดยได้ตีราคาความเสียหายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวจํานวน 3 แสน 5 หมื่นบาทนั้น หากปรากฏว่า บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ได้นํารถยนต์บรรทุกของนายหมอกไปซ่อมให้โดยจ่ายค่าซ่อม

ให้กับอู่ซ่อมรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจํานวน 4 แสนบาท บริษัทฯ ย่อมสามารถรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้ตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง แต่บริษัทฯ จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้เพียง 3 แสน 5 หมื่นบาทเท่านั้น เพราะแม้ว่าบริษัทฯ จะสามารถเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยได้ก็ตาม แต่ก็สามารถรับช่วงสิทธิได้ไม่เกินจํานวนที่นายหมอกเจ้าของรถยนต์บรรทุกมีสิทธิเรียกร้องเอากับนายพายุได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น

สรุป

(ก) นายหมอกมีสิทธิเรียกให้บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวได้ตามสัญญาประกันวินาศภัย

(ข) บริษัท มีทรัพย์ประกันวินาศภัย จํากัด สามารถรับช่วงสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายพายุได้ 3 แสน 5 หมื่นบาท

 

ข้อ 3 นายอู๊ดทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะของตนเองไว้กับบริษัท อุ่นใจ จํากัด จํานวน เงินเอาประกัน 800,000 บาท ระบุนายวอกและนายยมเป็นผู้รับประโยชน์แต่นายอู๊ดเป็นผู้เก็บ กรมธรรม์ฉบับดังกล่าวไว้เอง ภายในอายุความคุ้มครองของสัญญาฯ นายยมและนายอู๊ดเกิดมีปากเสียงกันอย่างรุนแรง นายอู๊ดจึงแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อทําการเปลี่ยนนางหมอนเป็นผู้รับประโยชน์แทนนายยม ทําให้นายยมเกิดความคับแค้นใจอย่างมาก นายยมจึงหลอกให้นายวอกนํากล่องพัสดุ ที่บรรจุระเบิดไปมอบให้แก่นายอู๊ด โดยบอกกับนายวอกว่าข้างในกล่องเป็นเป็นพัสดุที่นายอู๊ดสั่งซื้อไว้ นายวอกจึงนํากล่องพัสดุดังกล่าวไปส่งมอบให้แก่นายอู๊ด ปรากฏว่ากล่องพัสดุดังกล่าว เกิดระเบิดขึ้นทําให้นายอู๊ดถึงแก่ความตาย เมื่อทราบถึงความตายของนายอู๊ด นายวอกและนางหมอน จึงทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอรับประโยชน์ตามสัญญาฯ แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามสัญญาฯ แก่ผู้รับประโยชน์ทั้งสองคน โดยอ้างว่าความตายของนายอู๊ดเกิดจากเจตนาฆ่าของ ผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประกันไม่ต้องรับผิด

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธของบริษัท อุ่นใจ จํากัด ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้
คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของ บุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับ ประกันภัยจําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือ
ให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอู๊ดทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะของตนเองไว้กับบริษัท อุ่นใจ จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 800,000 บาท โดยระบุให้นายวอกและนายยมเป็นผู้รับประโยชน์นั้นย่อมสามารถ ทําได้เพราะถือว่านายอู๊ดผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863 สัญญาจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อนายอู๊ดผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตายภายในอายุความคุ้มครองของสัญญาฯ บริษัทฯ จึงต้องใช้ เงินจํานวน 800,000 บาทให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นตามมาตรา 889 ประกอบมาตรา 862 สําหรับสิทธิในการได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตของผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่ผู้รับประโยชน์ได้รับมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตจากผู้เอาประกันชีวิตและได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้นตามมาตรา 891

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายอู๊ดผู้เอาประกันภัยเป็นผู้เก็บกรมธรรม์ฉบับดังกล่าวไว้เองมิได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้นายวอกและนายยม เก็บรักษาไว้ ประกอบกับนายวอกและนายยมยังมิได้แสดงความจํานงว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต โดยการทําหนังสือบอกกล่าวไปยังบริษัทฯ ผู้รับประกันภัย ดังนั้น นายอู๊ดจึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงให้นางหมอนมาเป็นผู้รับประโยชน์แทนนายยมได้ตามมาตรา 891 ซึ่งมีผลทําให้นายยมขาดจากการเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้น

และเมื่อนายยมได้หลอกให้นายวอกนํากล่องพัสดุที่บรรจุระเบิดไปมอบให้นายอู๊ดและกล่องพัสดุ ดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้นทําให้นายอู๊ดถึงแก่ความตายจึงเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกได้ฆ่าผู้เอาประกันภัยตายโดยเจตนา
มิใช่เป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2) อันจะทําให้ผู้รับประกันภัย ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด อีกทั้งนายวอกก็มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เอาประกันภัยเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่ากล่องพัสดุ ดังกล่าวเป็นพัสดุ

ดังนั้น เมื่อนายวอกและนางหมอนผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตฉบับนี้ได้ทราบถึง ความตายของนายอู๊ดผู้เอาประกันภัย จึงได้ทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ ผู้รับประกันภัยเพื่อขอรับประโยชน์ แต่บริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาฯ แก่ผู้รับประโยชน์ทั้งสองคน โดยอ้างว่าความตายของนายอู๊ดเกิดจากเจตนาฆ่าของผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ ในฐานะผู้รับประกันไม่ต้องรับผิด การปฏิเสธของบริษัทฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาฯ ให้แก่ผู้รับประโยชน์ทั้งสองคน

สรุป

การปฏิเสธการจ่ายเงินของบริษัท อุ่นใจ จํากัด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3103 (LAW3003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3103 (LAW3003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหล่อทําสัญญาหมั้นกับนางสาวสวยด้วยแหวนเพชรและเงินสดจํานวน 5,000,000 บาท นายหล่อ ได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบเงินสดให้เพราะยังไม่มีเงิน ต่อมานางสาวนิดหน่อย ซึ่งเคยอยู่กินกับนายหล่อมาก่อนได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตร นายหล่อจึงจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรของตนกับนางสาวนิดหน่อย หลังจากนั้นเมื่อถึงวันจดทะเบียนสมรส นายหล่อได้ส่งมอบเงินของหมั้น 5,000,000 บาท ให้แก่นางสาวสวยตามสัญญา แต่นางสาวสวยทราบความจริงเรื่องบุตรของนายหล่อกับนางสาวนิดหน่อย

ดังนี้ ถ้านางสาวสวยไม่ยอมสมรสกับนายหล่อ นายหล่อจะเรียกของหมั้นคืนและฟ้องเรียกค่าทดแทน ต่อชื่อเสียง และการเตรียมการสมรสได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย” มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ
หรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”

มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”

มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน
แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น”
วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหล่อทําสัญญาหมั้นกับนางสาวสวยด้วยแหวนเพชรและเงินสดจํานวน 5,000,000 บาท นายหล่อได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบเงินสดให้เพราะยังไม่มีเงินนั้น การหมั้น ย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง เนื่องจากได้มีการส่งมอบของหมั้น คือแหวนเพชรให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว

การที่นางสาวนิดหน่อยซึ่งเคยอยู่กินกับนายหล่อมาก่อนได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตร นายหล่อจึง
จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรของตนกับนางสาวนิดหน่อยนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443 แล้ว แต่ไม่ถือว่าเป็นการกระทําชั่วอย่างร้างแรง ของชายคู่หมั้นซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้น อันเป็นเหตุให้หญิงคู่หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยให้ถือเสมือนว่าชายคู่หมั้นเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1444 ดังนั้น นางสาวสวยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ โดยไม่ต้องคืนของหมั้นตามมาตรา 1443

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสวยยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น เมื่อถึงวันจดทะเบียนสมรส นายหล่อได้ส่งมอบเงินของหมั้น 5,000,000 บาท ให้แก่นางสาวสวย แต่นางสาวสวยปฏิเสธ ไม่ยอมสมรสกับนายหล่อ จึงถือว่านางสาวสวยเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ดังนั้น นายหล่อจึงสามารถ เรียกของหมั้นคืนได้ตามมาตรา 1439 และสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและการเตรียมการสมรสได้ตามมาตรา 1440

สรุป นายหล่อสามารถเรียกคืนของหมั้นและฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและการเตรียมการสมรสได้

 

ข้อ 2 นายสองเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนางพร ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายสอง กับนางพรได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2565 นายสองไปจดทะเบียนสมรส กับนางสาวก้อยซึ่งเป็นฝาแฝดคนพี่ โดยนายสองเข้าใจผิดคิดว่านางสาวก้อยคือนางสาวกั้งฝาแฝด คนน้องซึ่งเป็นคนรักของตน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายสองรู้ความจริงว่าตนไม่ได้สมรส กับนางสาวกั้งซึ่งเป็นบุคคลที่ตนประสงค์จะสมรสด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 นายสองจึงมายื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรส ส่วนนางพรก็ไปจดทะเบียนสมรสใหม่กับนายธวัช ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสองมายื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายสองกับนางสาวก้อยได้หรือไม่
เพราะเหตุใด

(ข) การสมรสระหว่างนางพรกับนายธวัชมีผลเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1453 “หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทําการสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่…”

มาตรา 1503 “เหตุที่ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะ ในกรณีที่คู่สมรสทําการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509

มาตรา 1505 “การสมรสที่ได้กระทําไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสําคัญผิดตัวคู่สมรส การสมรสนั้น
เป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะสําคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว
เก้าสิบวันนับแต่วันสมรส”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายสองและนางพรได้จดทะเบียนหย่ากันในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และนายสองได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาวก้อยในวันที่ 1 มกราคม 2565 นั้น ไม่ถือว่าเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ตามมาตรา 1452 แต่การที่นายสองได้สมรสกับนางสาวก้อยนั้น เป็นเพราะนายสองเข้าใจผิดคิดว่านางสาวก้อย คือนางสาวทั้งฝาแฝดคนน้องซึ่งเป็นคนรักของตน จึงถือว่านายสองได้กระทําไปโดยสําคัญผิดตัวคู่สมรส ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสองกับนางสาวก้อยจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 1505 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายสองย่อมสามารถ ร้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1503

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสองได้รู้ความจริงว่าตนไม่ได้สมรสกับนางสาวกั้งซึ่งเป็นบุคคลที่ตนประสงค์จะสมรสด้วย คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ได้มายื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรส ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลาที่การสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้ว 90 วันนับแต่วันสมรส ทําให้สิทธิขอเพิกถอน การสมรสเพราะสําคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับไปแล้วตามมาตรา 1505 วรรคสอง ดังนั้น นายสองจึงไม่มีสิทธิ ที่จะยื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างตนกับนางสาวก้อย

(ข) การที่นางพรได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับนายธวัชในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นั้น ถือเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1453 เพราะหญิงที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทําการสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการสมรส ที่ฝ่าฝืนมาตรา 1453 นั้น จะมีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้น การสมรสระหว่างนางพรกับนายธวัชจึงมีผลสมบูรณ์

สรุป
(ก) นายสองจะยื่นคําร้องขอต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายสองกับนางสาวก้อย ไม่ได้
(ข) การสมรสระหว่างนางพรกับนายธวัชมีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 3 นายก่อและนางขวัญเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายก่อและนางขวัญทะเลาะกันอย่างรุนแรง
ทั้งสองตัดสินใจแยกกันอยู่ และนายก่อออกจากบ้านไปอยู่ต่างจังหวัดตามลําพัง ต่อมานางขวัญ ประสบอุบัติเหตุขาหัก นางขวัญยืมเงินนายอ้นจํานวน 50,000 บาท มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตน โดยนางขวัญไม่บอกนายก่อเรื่องการกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นนายก่อได้นําบ้านที่นายก่อมีมาก่อนสมรส ไปให้บุคคลอื่นเช่า ได้ค่าเช่าเป็นเงินจํานวน 20,000 บาท นายก่อนําเงินค่าเช่าทั้งหมดไปให้นายพงษ์ น้องเขยของนายก่อยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยที่นายพงษ์ไม่ทราบว่านายก่อนําเงินค่าเช่าบ้านมาให้ตนยืม และนางขวัญก็ไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้ยืมเงินนั้นแต่อย่างใด ดังนี้

(ก) นายก่อจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ 50,000 บาท ที่นางขวัญไปกู้ยืมมาจากนายอ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) นางขวัญจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายก่อให้ยืมเงินแก่นายพงษ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่งอสังหา ริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน
สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับ
ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริต
และเสียค่าตอบแทน”
มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายก่อและนางขวัญเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย แม้นายก่อและนางขวัญทะเลาะกัน อย่างรุนแรง และทั้งสองตัดสินใจแยกกันอยู่ โดยนายก่อออกจากบ้านไปอยู่ต่างจังหวัดตามลําพังนั้น ย่อมถือว่า ทั้งสองยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ตามกฎหมาย และการที่นางขวัญประสบอุบัติเหตุขาหักจึงไปยืมเงินจากนายอ้น 50,000 บาท เพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตน ถือเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว จึงเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 (1) ดังนั้น นายก่อจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวกับนางขวัญด้วย

(ข) การที่นายก่อได้นําบ้านที่นายก่อมีมาก่อนสมรสไปให้บุคคลอื่นเช่า นายก่อย่อมสามารถทําได้ เนื่องจากเป็นการจัดการสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (1) และมาตรา 1473 แต่เงินค่าเช่าจํานวน 20,000 บาทนั้น ถือเป็นดอกผลของสินส่วนตัว จึงเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) เมื่อนายก่อนําเงินค่าเช่าบ้านทั้ง 20,000 บาท ซึ่งเป็นสินสมรสไปให้นายพงษ์ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย ถือเป็นการทํานิติกรรมตามมาตรา 1476 (4) ที่สามีภริยา ต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายพงษ์จะเป็นบุคคลภายนอกที่กระทําการโดยสุจริต เพราะนายพงษ์ไม่ทราบว่านายก่อได้นําเงินค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นสินสมรสมาให้ตนยืม แต่เมื่อการที่นายพงษ์ยืมเงินจากนายก่อนั้น นายพงษ์ไม่ได้เสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่านายพงษ์ ได้เสียค่าตอบแทน ดังนั้น เมื่อการกู้ยืมเงินดังกล่าว นางขวัญไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม นางขวัญจึงมีสิทธิ ฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินแก่นายพงษ์ได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

สรุป
(ก) นายก่อจะต้องร่วมรับผิดในหนี้จํานวน 50,000 บาท ที่นางขวัญไปกู้ยืมมาจากนายอ้น
(ข) นางขวัญจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายก่อให้ยืมเงินแก่นายพงษ์ได้

 

ข้อ 4 นายสิงห์และนางสร้อยเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย นางสร้อยแอบไปคบกับนายกล้าแฟนเก่า จนทั้งสองมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งถึงขั้นร่วมประเวณีกัน เมื่อนายสิงห์ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น นายสิงห์ ได้ให้นางสร้อยเลือกว่าจะอยู่กับใคร นางสร้อยตัดสินใจว่าจะอยู่กับนายสิงห์โดยสัญญาว่าจะเลิกติดต่อกับนายกล้าตลอดไป นายสิงห์และนางสร้อยจึงกลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมโดยที่นางสร้อย ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับนายกล้าอีก 8 เดือนต่อมา นางสร้อยคลอดบุตรออกมาชื่อ ด.ญ.นิด นายสิงห์ได้ยินเพื่อนบ้านนินทาเรื่องที่นางสร้อยเคยมีชู้กับนายกล้า และสงสัยกันว่า ด.ญ.นิด อาจเป็นลูกของนายกล้า เพราะ ด.ญ.นิด มีใบหน้าที่ไม่เหมือนนายสิงห์ นายสิงห์รู้สึกอับอายและโกรธขึ้นมาอีกครั้ง ต่อมานายสิงห์ไปร่วมประเวณีกับนางสาวแก้ว โดยนายสิงห์พานางสาวแก้วไปพบกับเพื่อน ๆ และแนะนําว่านางสาวแก้วเป็นภริยาอีกคนของตน แต่นายสิงห์ไม่เคยให้เงินแก่นางสาวแก้วไว้ใช้จ่ายเพราะเห็นว่านางสาวแก้วมีฐานะดีอยู่แล้ว ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสิงห์จะฟ้องหย่านางสร้อยโดยอ้างเหตุว่านางสร้อยมีชู้ได้หรือไม่ และ ด.ญ.นิด เป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของใคร เพราะเหตุใด

(ข) นางสร้อยจะฟ้องหย่านายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วม ประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1518 “สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทําการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว”

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นางสร้อยภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์ ได้แอบไปคบหากับนายกล้าแฟนเก่า จนทั้งสองมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งถึงขั้นร่วมประเวณีกันนั้น ถือได้ว่านางสร้อยมีชู้แล้ว จึงเข้าเหตุที่ทําให้นายสิงห์ สามารถฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายสิงห์ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น นายสิงห์ได้ให้ นางสร้อยเลือกว่าจะอยู่กับใคร ซึ่งนางสร้อยตัดสินใจว่าจะอยู่กับนางสิงห์โดยสัญญาว่าจะเลิกติดต่อกับนายกล้า ตลอดไป และนายสิงห์กับนางสร้อยจึงกลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายสิงห์ได้ให้อภัยในการกระทําของนางสร้อยซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว ทําให้สิทธิในการฟ้องหย่าของนายสิงห์หมดไปตาม มาตรา 1518 ดังนั้น นายสิงห์จะฟ้องหย่านางสร้อยโดยอ้างเหตุว่านางสร้อยมีชู้อีกไม่ได้ แม้ว่านายสิงห์จะได้ยิน เพื่อนบ้านนินทาเรื่องที่นางสร้อยเคยมีชู้ก็ตาม เนื่องจากนางสร้อยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับนายกล้าอีกเลย

ส่วนบุตรคือ ด.ญ.นิด ซึ่งได้เกิดในระหว่างที่นางสร้อยเป็นภริยาของนายสิงห์ ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสร้อย และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์ตาม มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ด.ญ.นิด จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์และนางสร้อย

(ข) การที่นายสิงห์ไปร่วมประเวณีกับนางสาวแก้ว และนายสิงห์พานางสาวแก้วไปพบกับเพื่อนๆ และแนะนําว่านางสาวแก้วเป็นภริยาอีกคนของตนนั้น ถือว่านายสิงห์ได้ยกย่องผู้อื่นฉันภริยาซึ่งเข้าเหตุที่ทําให้ นางสร้อยสามารถฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) แม้ว่านายสิงห์จะไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูนางสาวแก้วเพราะไม่เคย ให้เงินนางสาวแก้วไว้ใช้จ่ายก็ตาม ดังนั้น นางสร้อยจึงสามารถฟ้องหย่านายสิงห์โดยอ้างเหตุที่นายสิงห์ยกย่อง นางสาวแก้วฉันภริยาได้ตามมาตรา 1516 (1)

สรุป
(ก) นายสิงห์จะฟ้องหย่านางสร้อยโดยอ้างเหตุว่านางสร้อยมีชู้ไม่ได้ และ ด.ญ.นิด เป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์และนางสร้อย

(ข) นางสร้อยสามารถฟ้องหย่านายสิงห์ได้

LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายและลักษณะสําคัญของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีและรัฐธรรมนูญลายลักษณ์ อักษร พร้อมเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 รูปแบบ และให้นักศึกษาวิเคราะห์ ว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณีเหมาะสมกับระบบการเมืองการปกครองในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) หมายถึง รัฐธรรมนูญที่ ไม่ได้มีการจัดทําขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นบรรทัดฐานที่มาจากจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐ ซึ่งรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองภายใต้ บรรทัดฐานเหล่านี้แต่มิได้สถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น ย่อมหมายความว่ารัฐดังกล่าวปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

ในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหลายล้วนปรากฏตัวในรูปแบบของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีทั้งสิ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก่อตัวขึ้นโดยการรวบรวมจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองเข้าด้วยกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 การดําเนินงานของบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายล้วนอยู่ ภายใต้บรรทัดฐานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของ บรรทัดฐานที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ปกครองยอมรับและจําเป็นต้องปฏิบัติตาม โดยไม่อาจฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงเป็นผลผลิตแห่งบรรดาจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง

ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เหลือเพียงบางรัฐที่ยังคงปกครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําขึ้นในรูปแบบของเอกสารที มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถือเป็นรูปแบบของ
รัฐธรรมนูญสมัยใหม่อันเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป

นอกจากบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว ในระบบกฎหมายของ
บางประเทศ (เช่น ประเทศไทย) ยังมีการออกแบบบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่มิได้อยู่ในรูปของบทบัญญัติ ในรัฐธรรมนูญ แต่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง บทบัญญัติดังกล่าวนี้เรียกว่า “กฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งโดยทั่วไปจะปรากฏอยู่ในรูปของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสําหรับประเทศที่เป็นราชอาณาจักร)

ซึ่งแนวคิดในการออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เริ่มมาจากเจตนาในการกําหนดรายละเอียดหรือขยายเนื้อความของรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจน แน่นอนขึ้น เพื่อประโยชน์ในการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเนื่องจากผู้ร่างไม่สามารถระบุบรรดารายละเอียดปลีกย่อยลงไปในรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด จึงอาจจะกล่าวได้ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มของรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจะมีลักษณะที่แตกต่างกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร อย่างน้อย
3 ประการ ดังต่อไปนี้คือ

1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ การเมืองการปกครอง ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐจึงนําไปสู่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
ที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเจตจํานงที่จะก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการออกแบบอย่างเป็นระบบแบบแผนมาตั้งแต่แร กลไกทางการเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กลไกที่ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสีย หรือผ่านการวางแผน ให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในทางการเมืองมาแต่แรก กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่

ซึ่งผู้ร่างจะต้องทําการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบทางการเมืองการปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น เกิดจากการออกแบบอย่างเป็นระบบ ส่วนรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีนั้นเกิดจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์โดยมิได้ผ่าน การออกแบบของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ แต่ก่อตัวขึ้นเองตามวิวัฒนาการทางการเมืองการปกครองของรัฐ

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมักก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้การตีความรัฐธรรมนูญ
รวมทั้งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือทางตันในทางการเมือง ในกรณีที่เกิดปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของรัฐนั้น ๆ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ความเสี่ยงที่จะประสบกับปัญหาดังกล่าวย่อมมีน้อย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่นั้น เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่เสมอ

3 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งมักเป็นทางปฏิบัติที่อยู่ ในความควบคุมของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งมักจะถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย (โดยผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือผ่านการออกเสียงประชามติ รับรองร่างรัฐธรรมนูญ)

เมื่อพิจารณาลักษณะทั้ง 3 ประการของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีแล้วจะพบว่า รัฐธรรมนูญ ในรูปแบบดังกล่าวย่อมไม่สอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่อีกต่อไป เนื่องจากการปกครองใน
ยุคปัจจุบันนั้นให้ความสําคัญกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นหลักทั้งในทางรูปแบบและในทางเนื้อหา นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันทั้งทางด้านสังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้น อย่างรวดเร็วและมีลักษณะต่อเนื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยจึงเป็นเรื่องที่ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

 

ข้อ 2 จงอธิบายรูปแบบการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยจําแนกตามผู้ทรงอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม (Pouvcir constituant originaire) และให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่อไปนี้

(ก) อะไรคือสาเหตุหลักของปัญหาเกี่ยวกับความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบในการ
สถาปนารัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย

(ข) หากนักศึกษาเป็นผู้ทรงอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม นักศึกษาจะสถาปนารัฐธรรมนูญ
อย่างไร

ธงคำตอบ

อํานาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้นเรียกว่า “อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม” อํานาจดังกล่าวเป็นอํานาจที่ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่แต่เดิมโดยไม่ได้รับมาจากผู้ใด และเนื่องจากเป็น
อํานาจที่มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของผู้อื่น อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมจึงเป็นอํานาจที่มีลักษณะไร้ขีดจํากัด

กล่าวคือ ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญไม่ถูกผูกพันว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะต้องมีลักษณะเช่นไร หรือแม้แต่อยู่ภายใต้ กฎเกณฑ์อื่นใดในโลก

1 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการ

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบคณาธิปไตย เป็นต้น อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมอยู่ในมือของผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว

การจัดทํารัฐธรรมนูญจึงไม่มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่เป็นการจัดทําโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียวและมอบให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้ปกครองจึงเป็นผู้กําหนดสถานะและอํานาจขององค์กรผู้ใช้อํานาจรัฐ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึง สถานะและอํานาจของผู้ปกครองเองด้วย ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1814, รัฐธรรมนูญโปรตุเกส ปี ค.ศ. 1826 และรัฐธรรมนูญเสปนปี ค.ศ. 1834 เป็นต้น

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการในบางกรณีอาจนําไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ มีบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนเป็นสําคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ปกครองที่มีอํานาจ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือย่อมไม่มีเจตนาที่จะสละอํานาจดังกล่าวให้กับประชาชนหากไม่ใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในโลกปัจจุบันยังคงปรากฏการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการอยู่โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม
ซึ่งมักจะมีการทํารัฐประหารโดยกองทัพ โดยภายหลังการยึดอํานาจรัฐบาลประชาธิปไตยมักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิม และจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่โดยกองทัพหรือผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง จากนั้นผู้ก่อการรัฐประหารมักประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่ตนเองจัดทําขึ้นใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

2 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบผสม (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)

การจัดหารัฐธรรมนูญแบบผสมเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมอยู่ในมือของ ทั้งผู้ปกครองในระบอบเผด็จการและประชาชน กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการต่อสู้หรือต่อรองกัน ระหว่างผู้ปกครองเดิม (กษัตริย์หรือผู้เผด็จการ) และประชาชน (ผู้แทนประชาชนหรือคณะปฏิวัติในนามของ ประชาชน) จนได้ข้อสรุปตกลงร่วมกัน

ในอดีตการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์หรือการก่อตั้ง
ราชวงศ์ใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1830 เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมมักจะเป็นกรณีที่คณะรัฐประหารเสนอร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มิได้มาจากการร่างโดยผู้แทนของประชาชน) ให้ประชาชน เป็นผู้รับรองผ่านกระบวนการประชามติ เช่น กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2560

3 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตย

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมเป็นของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนหรือผู้แทนของประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบ ประชาธิปไตยในปัจจุบันอาจแบ่งแยกได้เป็น 2 กระบวนการหลัก ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการรับรองร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านกระบวนการประชามติ

การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตยสามารถกระทําได้ทั้งสิ้น 3 วิธี ดังนี้

วิธีที่หนึ่ง ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจึงนําร่างรัฐธรรมนูญไปเสนอให้ประชาชนรับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

วิธีที่สอง ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการประชามติอีก

วิธีที่สาม ฝ่ายบริหารซึ่งเข้าสู่ตําแหน่งด้วยวิธีการอันชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย (ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปโดยชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย) จัดทําร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และเสนอร่างดังกล่าวให้ประชาชน เป็นผู้รับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

(ก) สาเหตุหลักของปัญหาที่เกี่ยวกับความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบในการสถาปนารัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยนั้น คือการทํารัฐประหารโดยกองทัพนั่นเอง โดยภายหลังจากที่กองทัพ ได้ทําการรัฐประหารโดยการยึดอํานาจรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว มักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิม และจัดทํา รัฐธรรมนูญใหม่โดยกองทัพหรือผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง จากนั้นผู้ก่อการรัฐประหารมักประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ตนเอง จัดทําขึ้นโดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

(ข) หากข้าพเจ้าเป็นผู้ทรงอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม ข้าพเจ้าจะสถาปนารัฐธรรมนูญ ในรูปแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้น อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ดั้งเดิมย่อมเป็นของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนหรือผู้แทนของประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ และการสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นจะใช้วิธีที่ 1 คือให้มีการก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อสภาดังกล่าวได้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก็ให้นําร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปเสนอให้
ประชาชนรับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

 

ข้อ 3 หากนักศึกษาเป็นผู้ทรงอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญลําดับรอง (Pouvoir constituent derive) ท่านจะใช้อํานาจดังกล่าวให้มีผลต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หากข้าพเจ้าเป็นผู้ทรงอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญลําดับรอง (อํานาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) ข้าพเจ้าจะใช้อํานาจดังกล่าวเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการส่งเสริม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบางประเด็นดังนี้ คือ

1 ในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย ตามมาตรา 50 (7) ที่ว่าบุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยแก้ไขให้การเลือกตั้งเป็นสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวคือ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งระดับประเทศหรือ ระดับท้องถิ่น สามารถที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าเขาควรจะไปใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ ไม่ใช่กําหนดให้เป็นหน้าที่ เพราะการกําหนดว่าบุคคล “มีหน้าที่” กับคําว่า “สิทธิเลือกตั้ง” นั้นมีลักษณะเป็นการย้อนแย้งกันอยู่ ดังนั้น จึงไม่ควรจะกําหนดให้เป็นหน้าที่ ควรจะให้เป็นสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจริง ๆ เพียงแต่อาจจะกําหนดไว้ว่าถ้าเขาไม่ไปใช้สิทธิดังกล่าวแล้วเขาจะเสียสิทธิอะไรบ้างก็พอ

2 ในหมวด 7 ส่วนที่ 2 เกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะแก้ไขให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น จะไม่ให้มีสมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ทั้งนี้เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของ ประชาชนที่จะไปทําหน้าที่แทนประชาชนที่เลือกเขาจริง ๆ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อ
ของพรรคการเมืองนั้น อาจจะไม่ใช่บุคคลที่ประชาชนต้องการก็ได้

3 ในส่วนที่ 3 เกี่ยวกับวุฒิสภานั้น ประชาชนโดยตรงเท่านั้น โดยให้ถือจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีจํานวนกี่คนก็ได้ขึ้นอยู่กับจํานวน ประชาชนที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งถ้าหากสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงแล้ว ก็ถือได้ว่าจะแก้ไขสมาชิกวุฒิสภาทุกคนต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวแทนของประชาชนได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ถ้าสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการเลือกหรือจากการสรรหาของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดแล้ว การทําหน้าที่ ของสมาชิกวุฒิสภาก็จะคํานึงถึงแต่ผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เลือกตนเข้ามาเพื่อเป็นการตอบแทน โดยไม่คํานึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนแต่อย่างใด (ดังจะเห็นได้จากการที่สมาชิกวุฒิสภาไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญทั้ง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เป็นต้น)

4 การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้น นอกจากจะเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯ กําหนดไว้แล้ว จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมโดยกําหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (จํานวน พอสมควร) สามารถที่จะเข้าชื่อเพื่อถอดถอนออกจากตําแหน่งได้

5 ในหมวด 8 เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น จะแก้ไขเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีนั้นนอกจากจะ แต่งตั้งจากบุคคล งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย รวมทั้งผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอย่างน้อยกึ่งหนึ่งจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นเดียวกัน

6 ในหมวด 11 เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 204 จะแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลที่จะเข้ามาดํารงตําแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

7 ในหมวด 12 เกี่ยวกับองค์กรอิสระ จะแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลที่จะเข้ามาดํารงตําแหน่งใน องค์กรอิสระต่าง ๆ จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

และที่สําคัญที่ต้องแก้ไขแน่นอนคือในหมวดที่ 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน มาตรา 256 คือจะแก้ไขญัตติในการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อ รัฐสภานั้น ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และวาระที่ 3 การลงมตินั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภารวมกันเท่านั้น โดยไม่ต้องมีการกําหนดว่าต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะถ้าในรัฐธรรมนูญยังมีการกําหนดว่าการ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นและในเรื่องอื่น ๆ ที่ควรจะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็คงจะไม่สามารถทําได้หรือ อาจทําได้ยากแน่นอน ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน แม้จะมีการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 หลายครั้งก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อมีการเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาแล้ว มักจะไม่ผ่าน วาระที่ 1 หรือแม้จะผ่านวาระที่ 1 แต่ก็ไม่ผ่านวาระที่ 3 เนื่องจากไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 นั่นเอง (ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ต้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า สมาชิกวุฒิสภา ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเท่านั้น)

หมายเหตุ คําตอบข้อนี้นักศึกษาอาจแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นได้ แต่จะต้องเป็นความเห็น
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนด้วย

 

ข้อ 4 จงอธิบายรูปแบบการยกเลิกรัฐธรรมนูญ และให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในรูปแบบใดเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในประเทศไทย

ธงคําตอบ

รูปแบบของการยกเลิกรัฐธรรมนูญสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรง

การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรง หมายถึง การกระทําให้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งสิ้นผลไป โดยการประกาศยกเลิกโดยตรง การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรงมักเป็นผลมาจากการรัฐประหาร เนื่องจากเมื่อเกิดการรัฐประหารเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองเดิม ผู้ก่อการรัฐประหารย่อมเป็นผู้ถืออํานาจรัฐในทางข้อเท็จจริง ส่งผลให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีอํานาจยกเลิกรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น อาจกล่าว ได้ว่าโดยทั่วไปการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรงก็คือการทําให้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งสิ้นสุดลงโดยผลแห่งกําลังในทางข้อเท็จจริง

2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อม

แม้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏบทบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญเอาไว้ (เว้นแต่ ในกรณีของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งอาจกําหนดให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวสิ้นผลลงเมื่อมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับถาวร) แต่การยกเลิกรัฐธรรมนูญก็อาจเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีที่เรียกว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อม ซึ่งหมายถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการกระทําที่มิได้มุ่งหมายต่อการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่กลับส่งผล เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถจําแนกการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อมออกเป็น 4 รูปแบบดังต่อไปนี้

2.1 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญ : รัฐธรรมนูญทุกฉบับล้วนประกอบไปด้วยเนื้อหาส่วนที่เป็นสาระสําคัญซึ่งอาจแตกต่างกันในรายละเอียด แต่โดยหลักแล้วจะต้องถือว่าบทบัญญัติว่าด้วยรูปของรัฐ ระบอบการปกครอง และรูปแบบของสถาบันการเมืองเป็นสาระสําคัญของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบรรดาบทบัญญัติดังกล่าว เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ (จากสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรหรือจากราชอาณาจักร เป็นสาธารณรัฐ) เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการ อาจกระทําโดย ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งหมด เป็นต้น) หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสถาบันการเมือง (เปลี่ยนจากระบบสภาเดี่ยวเป็นระบบสภาคู่ เปลี่ยนจากระบบรัฐสภาเป็นระบบประธานาธิบดี เป็นต้น) แม้การแก้ไขเช่นว่านี้จะได้กระทําตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ทุกประการ และแม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะมิได้กําหนดข้อจํากัดในการแก้ไขบทบัญญัติส่วนใดส่วนหนึ่งไว้ก็ตาม กรณีเช่นนี้ จะต้องถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้อยู่ และเป็น การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปโดยปริยายเนื่องจากเป็นการทําลายหลักการสําคัญของรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

2.2 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ : การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องดําเนินตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กําหนดเอาไว้ในบทบัญญัติ ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเนื่องจากบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคือบทบัญญัติ ว่าด้วยการใช้อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญลําดับรอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมเป็นการทําลายอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญอันเป็นบ่อเกิดแห่งรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกําหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านกระบวนการ

ออกเสียงประชามติ แต่กลับมิได้มีการนําร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไปให้ประชาชนออกเสียง ประชามติก่อนการประกาศใช้ย่อมถือได้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยไม่เคารพบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยปริยาย

2.3 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ : การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแตกต่างจากกรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติในส่วนดังกล่าว ในกรณีนี้แม้รัฐธรรมนูญ จะมิได้บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติในส่วนดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการทําลายอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญลําดับรองซึ่งปรากฏอยู่ในรูปของบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กําหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในขั้นตอนสุดท้ายต้องผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ แต่เสียงข้างมากในรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าวเนื่องจากสร้างความยุ่งยากและความเสี่ยงในทางการเมืองในอนาคต จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกบทบัญญัติที่กําหนดให้ต้องนําร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปผ่านกระบวนการประชามติ ย่อมถือได้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยปริยาย

การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อมทั้ง 3 รูปแบบข้างต้น เป็นการพิจารณาจากแง่มุม ในทางทฤษฎี แต่การกระทําทั้ง 3 กรณีมิได้ส่งผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติแต่อย่างใด หรือกล่าว อีกนัยหนึ่งคือรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 กรณีก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดิม

2.4 การยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : การประกาศ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตรงอาจกระทําได้โดยมิต้องอาศัยกําลังทหารในนามของคณะรัฐประหารหรือกําลังของประชาชนในนามของคณะปฏิวัติ ยกตัวอย่างเช่น มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นร่างดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติโดยประชาชนและมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเติมโดยไม่จําต้องประกาศให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อพิจารณาการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อมทั้ง 4 รูปแบบแล้ว จะพบว่า 3 รูปแบบแรก เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขเพิ่มเติม บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจึงเป็นหนึ่งกลไกที่สําคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ทั้งในแง่ของการประกัน ความมั่นคงของรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับยุคสมัย และในแง่ของการหลีกเลี่ยงการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยอ้อม

สําหรับประเทศไทยนั้น การรัฐประหารนับเป็นสาเหตุแห่งการยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยตรงที่พบได้บ่อยและชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะการรัฐประหารโดยใช้กําลังทหารเข้ายึดอํานาจรัฐ ซึ่งกรณีหลังนี้มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศกําลังพัฒนาบางประเทศ การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีดังกล่าว ย่อมไม่มีประเด็นในทางกฎหมายที่สลับซับซ้อนให้พิจารณา เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง

LAW2103 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2103 (LAW2003) ป.พ.พ.ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ในพื้นที่ธุรกิจย่านใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง บริษัท เมตาแอท จํากัด โดยนายณัฐ กรรมการผู้จัดการ ทําสัญญาเช่าพื้นที่ชั้นดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์รวม 4 คูหา และได้ติดตั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลขนาดใหญ่ ประเภทไดโอดเปล่งแสง (Light-emitting diode หรือ LED) มีความสูง 8 เมตร ผู้ที่อยู่อาศัย จํานวนมากที่อาศัยอยู่ในชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์ฝั่งตรงข้ามซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับ ป้ายโฆษณาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากแสงจ้าที่มาจากการฉายภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข อ่อนเพลีย ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้สูงอายุตาพร่ามัว เพราะถูกแสง ส่องสว่างตลอดเวลาจนถึงขั้นหกล้มได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และการไปซื้อผ้าและแผ่นทึบแสงที่ทําจากวัสดุต่าง ๆ มาติดตั้งเพื่อปิดกั้นแสงจ้า นอกจากนี้ ยังพบว่าการติดตั้งสิ่งปลูกสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าวเข้าข่ายการก่อสร้างดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารอีกด้วย จากเหตุการณ์นี้ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องในทางละเมิดโดยอาศัยข้อกฎหมายใดได้บ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 444 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทําให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น ผู้ต้องเสียหายชอบ ที่จะได้ชดใช้ค่าใช้จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือ
แต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1. บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2. ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3. มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
4. มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา
ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เมตาแอท จํากัด โดยนายณัฐ กรรมการผู้จัดการ ทําสัญญาเช่าพื้นที่ ชั้นดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์รวม 4 คูหา และได้ติดตั้งป้ายโฆษณาดิจิทัลขนาดใหญ่ประเภทไดโอดเปล่งแสง (LED) ซึ่งมีความสูง 8 เมตร ทําให้ผู้ที่อยู่อาศัยจํานวนมากที่อาศัยอยู่ในชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารพาณิชย์ฝั่งตรงข้าม

ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับป้ายโฆษณาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนจากแสงจ้าที่มาจากการฉายภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข อ่อนเพลีย ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทําให้ผู้สูงอายุตาพร่ามัว เพราะถูกแสงส่องสว่าง ตลอดเวลาจนถึงขั้นหกล้มได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการไปซื้อผ้าและ แผ่นทึบแสงที่ทําจากวัสดุต่าง ๆ มาติดตั้งเพื่อปิดกั้นแสงจ้านั้น การกระทําของบริษัทฯ และกรรมการผู้จัดการ ถือเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแก่ร่างกายและอนามัย และการกระทํานั้นมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ประกอบกับเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยทําให้เดือดร้อนหรือรําคาญ ซึ่งเป็นการอันมิชอบ ด้วยกฎหมายตามมาตรา 421 ดังนั้น บริษัทและกรรมการผู้จัดการจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สําหรับ ค่าใช้จ่ายที่ผู้เสียหายต้องเสียไปตามมาตรา 444 คือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่ไปซื้อวัสดุทึบแสงมาปิดกั้น แสงจ้า รวมถึงผู้ที่ต้องรับผิดควรต้องกระทําหรือการงดเว้นที่เหมาะสมเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นอีกทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วย

ส่วนกรณีการติดตั้งสิ่งปลูกสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังกล่าวที่เข้าข่ายการก่อสร้างดัดแปลงโดย
ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องไปรับผิดต่างหากเป็นอีกส่วนหนึ่ง

สรุป จากเหตุการณ์ดังกล่าวผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องในทางละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์มาตรา 420 และ 421 โดยสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายได้ตามมาตรา 444

 

ข้อ 2 นายช่วงเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกได้มอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่นายม่วงบุตรชายไปครอบครอง และใช้สอย วันเกิดเหตุนายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเพื่อไปส่งของที่อําเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา นายพ่วงขับรถด้วยความเร็วสูงเนื่องจากเร่งรีบเพื่อที่จะไปส่งของให้ถึงอําเภอปากช่องโดยเร็ว เพราะนายพ่วงนัดกับนางสาวบ่วงแฟนสาวเอาไว้ ปรากฏว่าเวลาดังกล่าว มีช้างป่าเดินข้ามถนนมาโดยที่นายพ่วงไม่ได้ระมัดระวังทําให้นายพ่วงต้องเหยียบเบรกกะทันหัน รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทําให้นายง่วง ได้รับบาดเจ็บสาหัสและรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคัน

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายช่วง นายพ่วง และ นายม่วง ต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไป ในทางการที่จ้างนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายพ่วงลูกจ้างของนายม่วงได้ขับรถยนต์บรรทุกเพื่อไปส่งของ โดยนายพ่วง ได้ขับรถด้วยความเร็วสูง เมื่อมีช้างป่าเดินข้ามถนนมาทําให้นายพ่วงซึ่งไม่ได้ระมัดระวังต้องเหยียบเบรกกะทันหัน
รถยนต์บรรทุกจึงเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายง่วงที่ขับสวนมาอีกฝั่งหนึ่ง ทําให้นายง่วงได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถจักรยานยนต์เสียหายทั้งคันนั้น ความเสียหายแก่ร่างกายและแก่ทรัพย์สินของนายง่วงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิดของนายพ่วงตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อ ต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาได้รับความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทําของนายพ่วง ดังนั้นนายพ่วงจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วง

สําหรับนายม่วงนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่นายพ่วงทําละเมิดนั้น นายพ่วงได้ขับรถยนต์บรรทุก ของนายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อไปส่งของ จึงถือว่านายพ่วงได้ทําละเมิดในขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงาน ในทางการที่จ้าง ดังนั้น นายม่วงซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดร่วมกันกับนายพ่วงลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่ง นายพ่วงได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้นด้วยตามมาตรา 425 ส่วนนายช่วงเมื่อไม่ใช่นายจ้างของนายพ่วง
จึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายง่วง

สรุป นายพ่วงและนายม่วงต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายง่วงตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 425 ส่วนนายช่วงไม่ต้องรับผิด

 

ข้อ 3 นางอังกอร์เป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ดุตัวหนึ่ง นางอังกอร์กําลังไปเที่ยวต่างจังหวัดจึงฝากนายบังเลี้ยงสุนัขดังกล่าวไว้ชั่วคราว วันเกิดเหตุ นายบังพาสุนัขไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ โดยล่ามโซ่ไว้ อย่างแน่นหนา สุนัขตื่นผู้คนแล้วตกใจ จึงวิ่งเข้ากัดนายโชคถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโชคอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวดี มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ นายมีชัย อายุ 23 ปี ทํางานเป็นวิศวกรอยู่บริษัทแห่งหนึ่ง ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายโชคบ้างหรือไม่ และนางสาวดีกับนายมีชัยสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่ว สัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า
บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายอังกอร์ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์ดุตัวหนึ่งได้ฝากนายบังเลี้ยงสุนัขดังกล่าวไว้ ชั่วคราว ในวันเกิดเหตุ นายบังพาสุนัขไปเดินเล่นในสวนสาธารณะโดยล่ามโซ่ไว้อย่างแน่นหนา แต่สุนัขตื่นผู้คน แล้วตกใจ จึงวิ่งเข้ากัดนายโชคถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายที่เกิดกับนายโชคถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะสัตว์ ดังนั้น นายบังซึ่งเป็นผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนนายอังกอร์ จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนทาง ละเมิดตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง ส่วนนายอังกอร์ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใดเนื่องจากมิใช่ผู้ดูแลสัตว์ตามความจริงในขณะเกิดความเสียหาย

ส่วนกรณีที่นางสาวดีและนายมีชัยจะสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่
แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจาก ผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 ดังนั้น นางสาวดีซึ่งเป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายโชคจึงมิใช่ทายาท จึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพได้ ส่วน นายมีชัยซึ่งเป็นบุตรของนายโชคสามารถเรียกค่าปลงศพได้

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น เมื่อนางสาวดีไม่ใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโชค และนายมีชัยแม้จะเป็นบุตรของนายโชคแต่ได้ บรรลุนิติภาวะแล้ว ดังนั้น ทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้ที่ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดอุปการะได้

สรุป นายบังต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายโชค ส่วนนายอังกอร์ไม่ต้องรับผิด นางสาวดีไม่สามารถเรียกค่าปลงศพได้ แต่นายมีชัยสามารถเรียกค่าปลงศพได้ทั้งนางสาวดีและนายมีชัยไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

 

ข้อ 4 นายพายุเป็นเจ้าของเรือยนต์มุกนาวีที่ได้รับอนุญาตผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารในเส้นทางท่าเรือ แหลมบาลีฮาย – เกาะล้าน นายพายุและคนประจําเรือต้องถูกกักตัวเนื่องจากต้องสงสัยว่าติดเชื้อ โควิต-19 จึงไม่อาจเดินเรือโดยสารได้ จึงได้ร้องขอให้นายสมุทรซึ่งเป็นผู้ประกอบการเดินเรือที่
ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งนําเรือยนต์มุกนาวีไปรับส่งผู้โดยสารแทนตนเมื่อมีการติดต่อจองเรือเข้ามา และมีจํานวนผู้โดยสารมากพอ นายสมุทรตกลงเดินเรือให้นายพายุตามที่ร้องขอ ต่อมาในช่วง วันหยุดยาวเดือนธันวาคม นายสมุทรสั่งให้นายธรณีซึ่งเป็นลูกจ้างของตนให้ไปขับเรือยนต์มุกนาวี (เป็นผู้ควบคุมเรือ) รับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากท่าเรือแหลมบาลีฮายไปเกาะล้าน ขณะที่ใกล้ถึงเกาะล้าน นายธรณีค่อย ๆ ขับเรือเข้าสู่ท่าเรือด้วยความระมัดระวัง แต่ปรากฏว่าเรือไปชนเข้ากับหินโสโครก อย่างแรง โดยที่ตนอาจมองเห็นได้ ส่งผลให้ปั๊มน้ำเสียหาย น้ำจึงทะลักเข้าไปในเรือ ทําให้เรือมุกนาวี เอียงและค่อย ๆ จมลง แม้ว่านายธรณีและลูกเรือ (คนประจําเรือ) ได้พยายามตะโกนบอกให้ผู้โดยสาร ไปยืนรวมกันในตําแหน่งที่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด ในที่สุดเรือมุกนาวีอับปางลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่โดยสารเรือมาในเรือลํานั้น จํานวน 3 ราย จมน้ําเสียชีวิต จากเหตุการณ์นี้มีผู้ใดบ้างที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติดังกล่าว จงอธิบายตามข้อกฎหมายละเมิดที่เกี่ยวข้อง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทําไป ในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 427 “บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม”

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า
การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมุทรสั่งให้นายธรณีซึ่งเป็นลูกจ้างของตนให้ไปขับเรือยนต์มุกนาวี รับกลุ่มนักท่องเที่ยวจากท่าเรือแหลมบาลีฮายไปเกาะล้าน ขณะใกล้ถึงเกาะล้าน นายธรณีค่อย ๆ ขับเรือเข้าสู่ท่าเรือ ด้วยความระมัดระวัง แต่ปรากฏว่าเรือไปชนเข้ากับหินโสโครกอย่างแรง โดยที่ตนอาจมองเห็นได้ ส่งผลให้ปั๊มน้ำเสียหาย น้ำจึงทะลักเข้าไปในเรือทําให้เรือมุกนาวีเอียงและค่อย ๆ จมลง แม้ว่านายธรณีและลูกเรือได้พยายาม ตะโกนบอกให้ผู้โดยสารไปยืนรวมกันในตําแหน่งที่ปลอดภัยแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด จนในที่สุดเรือมุกนาวี อับปางลง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่โดยสารเรือมาในเรือลํานั้น จํานวน 3 ราย จมน้ำเสียชีวิตนั้น เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่ผู้โดยสารที่เสียชีวิตทั้ง 3 รายนั้นได้เกิดจากการกระทําโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ ของนายธรณี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นายธรณีซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือ จึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายจากการที่ผู้โดยสารที่มากับเรือเสียชีวิตทั้ง 3 ราย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น เป็นความเสียหายที่เป็นผลโดยตรงอันเกิดขึ้นจากยานพาหนะอันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกลซึ่งคือ เรือยนต์มุกนาวี

และเมื่อนายธรณีเป็นลูกจ้างของนายสมุทรซึ่งนายสมุทรเป็นผู้สั่งให้ไปขับเรือยนต์มุกนาวีรับกลุ่ม นักท่องเที่ยวดังกล่าว ดังนั้น เมื่อเกิดละเมิดขึ้นในระหว่างที่ลูกจ้างได้กระทําการงานไปในทางการที่จ้าง นายสมุทร จึงต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างคือนายธรณีตามมาตรา 425

นอกจากนี้ การที่นายสมุทรตกลงเดินเรือยนต์มุกนาวีรับเดินเรือขนส่งผู้โดยสารให้นายพายุตามที่ นายพายุได้ร้องขอ ย่อมถือว่านายสมุทรเป็นตัวแทนที่ทํากิจการให้แก่นายพายุซึ่งเป็นตัวการ เมื่อเกิดละเมิดขึ้น โดยนายสมุทรและลูกจ้างของนายสมุทรในระหว่างนั้นภายในขอบอํานาจตัวแทน นายพายุในฐานะตัวการจึงต้อง ร่วมรับผิดกับนายสมุทรในผลแห่งละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นด้วยตามมาตรา 427 ดังนั้น นายธรณี นายสมุทร และนายพายุ จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดต่อผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 3 รายดังกล่าว
ดังกล่าว

สรุป นายธรณี นายสมุทร และนายพายุ ต้องรับผิดต่อผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้ง 3 ราย

LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้ s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหมีทําสัญญาให้นายแมวกู้ยืมเงินจํานวน 200,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าถ้านายแมวมีเงินเมื่อใดค่อยนํามาชําระคืนให้แก่นายหมีที่บริษัทของนายหมี ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายแมวแวะมาทําธุระแถวบริษัทของนายหมี นายแมวจึงได้นําเงินจํานวน 200,000 บาท มาชําระคืนให้แก่นายหมี แต่นายหมีติดประชุมกับลูกค้ารายใหญ่ จึงไม่สะดวกลงมารับชําระหนี้ และขอให้นายแมวกลับบ้านไปก่อน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลัน ดุจกัน
ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 212 “ถ้ามิได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ก็ดี หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่จะชําระหนี้ได้ก่อนเวลากําหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชําระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้นหาทําให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชําระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ใครตกเป็นผู้ผิดนัด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนายแมวลูกหนี้
การที่นายหมีได้ทําสัญญาให้นายแมวกู้ยืมเงินจํานวน 200,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าถ้านายแมว มีเงินเมื่อใดค่อยนํามาชําระหนี้คืนให้แก่นายหมีที่บริษัทของนายหมีนั้น ถือเป็นหนี้ที่มีการกําหนดเวลาชําระหนี้ โดยมีเงื่อนไขไม่แน่นอน จึงมีผลเท่ากับว่าไม่ได้มีการกําหนดเวลาชําระหนี้กันไว้ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่ถึงกําหนดชําระโดยพลัน ซึ่งลูกหนี้มีสิทธิชําระหนี้ของตนได้โดยพลัน และเจ้าหนี้ย่อม มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ได้โดยพลันเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหมีเจ้าหนี้ยังมิได้เตือนให้นายแมวลูกหนี้ชําระหนี้แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่านายแมวลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง

กรณีของนายหมีเจ้าหนี้
การที่นายแมวลูกหนี้ได้แวะมาทําธุระแถวบริษัทของนายหมีในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายแมวได้นําเงินจํานวน 200,000 บาท มาชําระคืนให้แก่นายหมีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหมีติดประชุมกับลูกค้ารายใหญ่ จึงไม่สะดวกลงมารับชําระหนี้ และขอให้นายแมวกลับบ้านไปก่อน เป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชําระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้ หาทําให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าว การชําระหนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแมวมิได้มีการบอกกล่าวนายหมีล่วงหน้าแต่อย่างใด นายหมีจึงยังไม่ตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 212

สรุป ทั้งนายหมีเจ้าหนี้ และนายแมวลูกหนี้ ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

ข้อ 2 นายหนึ่งทําสัญญายืมรถยนต์จากนายสองกําหนดส่งคืนที่บ้านของนายสองในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เมื่อถึงกําหนดนัด นายหนึ่งนํารถยนต์มาคืนนายสองที่บ้าน แต่ปรากฏว่านายสองไปเที่ยวต่างจังหวัด นายหนึ่งจึงไม่สามารถคืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้ ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ขณะที่นายหนึ่ง ยังมิได้คืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้เกิดไฟไหม้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายทั้งคัน โดยไฟลุกไหม้มาจากบ้านข้างเคียงซึ่งไม่ใช่ความผิดของนายหนึ่งเลย ภายหลังจากนั้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นายสองกลับมาจากต่างจังหวัด
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายหนึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสองจากการที่ไม่มีรถยนต์ ส่งคืนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 205 “ตราบใดการชําระหนี้นั้นยังมิได้กระทําลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่”
มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”
มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งทําสัญญายืมรถยนต์จากนายสองกําหนดส่งคืนที่บ้านของนายสอง ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เมื่อถึงกําหนดนัด นายหนึ่งนํารถยนต์มาคืนนายสองที่บ้าน แต่ปรากฏว่านายสองไปเที่ยว ต่างจังหวัด นายหนึ่งจึงไม่สามารถคืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว
แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชําระหนี้โดยปราศจากมูลกฎหมายจะอ้างได้ นายสองจึงตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตาม มาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคหนึ่ง และการที่นายหนึ่งไม่สามารถคืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้นั้น ถือเป็น กรณีที่มีพฤติการณ์ภายนอกเข้ามาขัดขวางชั่วคราวตามมาตรา 205 จึงไม่ทําให้นายหนึ่งลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ขณะที่นายหนึ่งยังมิได้คืนรถยนต์ให้แก่นายสองนั้น ได้เกิดไฟไหม้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายทั้งคัน โดยไฟลุกไหม้มาจากบ้านข้างเคียงซึ่งไม่ใช่ความผิดของนายหนึ่งเลย ย่อมถือเป็น กรณีที่การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ย่อมมีผลทําให้ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้นตามมาตรา 219 นายหนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่นายสองจากการที่ไม่มีรถยนต์ส่งคืน

สรุป นายหนึ่งไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสองจากการที่ไม่มีรถยนต์ส่งคืน

 

ข้อ 3 นายกิตติเจ้าของที่ดินทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งกับนายเรื่องราคา 300,000 บาท ปรากฏว่าก่อนวันนัดโอนไม่กี่วัน นายกิตติกลับนําที่ดินดังกล่าวไปทําสัญญาจํานองกับนายพฤกษาแลกกับเงินจํานวน 250,000 บาท โดยนายพฤกษารู้ว่านายกิตติทําสัญญาซื้อขายไปกับนายเรื่องแล้ว ให้วินิจฉัยว่า นายเรืองจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้บ้าง หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ ได้ทําแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติเจ้าของที่ดินทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งกับนายเรื่องราคา 300,000 บาทนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าเมื่อนายเรืองซื้อที่ดินของนายกิตติแล้ว นายเรืองจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะ เรียกร้องให้นายกิตติปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย เมื่อนายกิตติเอาที่ดินแปลงที่ขายให้นายเรืองไปจํานองแก่นายพฤกษาก่อนวันนัดโอนไม่กี่วัน ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้นายเรืองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และนายพฤกษารับจํานองที่ดินไว้ โดยทราบแล้วว่านายกิตติได้ขายให้บุคคลอื่นไปแล้ว ซึ่งเป็นการรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้นายเรืองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วย นายเรืองจึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมจํานองดังกล่าวตามมาตรา 237

สรุป นายเรืองสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมจํานองดังกล่าวตามมาตรา 237

 

ข้อ 4 นายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินจํานวน 600,000 บาท โดยมีนายสองและนายสามเป็นลูกหนี้ร่วมกันในสัญญากู้ฉบับนี้ ครั้นเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายหนึ่งได้ฟ้องนายสองเพียงคนเดียวให้ชําระหนี้เต็มจํานวน นายสองสู้ว่า นายสองต้องรับผิดเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นความรับผิดของนายสาม ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งฟ้องเรียกให้นายสองชําระหนี้ได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินจํานวน 600,000 บาท โดยมีนายสองและนายสามเป็นลูกหนี้ร่วมกันในสัญญากู้ฉบับนี้นั้น ตามมาตรา 291 ได้กําหนดให้นายหนึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกชําระหนี้เอาจากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งจนสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก โดยลูกหนี้ทุกคนยังคงต้องผูกพันรับผิดในหนี้นั้นจนกว่าจะได้มีการชําระให้เสร็จสิ้น ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระและนายหนึ่งได้ฟ้อง นายสองเพียงคนเดียวให้ชําระหนี้เต็มจํานวน นายหนึ่งย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 291 นายสองจะต่อสู้ว่า นายสองต้องรับผิดเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครั้งหนึ่งให้เป็นความรับผิดของนายสามนั้นหาได้ไม่

สรุป นายหนึ่งสามารถฟ้องเรียกให้นายสองชําระหนี้เต็มจํานวนคือ 600,000 บาทได้

LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 “ทรัพย์สิทธิ” และ “บุคคลสิทธิ” คืออะไร มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน

ธงคําตอบ

ทรัพยสิทธิ (Real Rights) หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือ ทรัพย์สินนั้นในอันจะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้โดยตรง ซึ่งทรัพย์สิทธิดังกล่าวนี้มักจะถูกบัญญัติก่อตั้งเอาไว้ ในบรรพ 4 เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิอาศัย ภาระติดพันในอสังหา ริมทรัพย์ ภาระจํายอม เป็นต้น รวมถึงสิทธิจํานองและสิทธิจํานําด้วย

ตัวอย่างของสิทธิที่เรียกว่าทรัพยสิทธิ เช่น นาย ก. มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหนึ่ง นาย ก. ย่อมมี อํานาจตามมาตรา 1336 ที่จะใช้สอย จําหน่าย หรือเอารถคันนั้นออกให้เช่าได้ หรือถ้ามีคนเอารถยนต์ของนาย ก. ไป นาย ก. มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ เพราะทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวทรัพย์บังคับเอากับทรัพย์โดยตรง

บุคคลสิทธิ (Personal Rights) หมายถึง สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคล ซึ่งอยู่ในรูปของสิทธิเรียกร้อง ให้คู่สัญญากระทําการหรืองดเว้นกระทําการ เป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาเป็นหลัก เป็นสิทธิที่คู่สัญญาก่อตั้งขึ้น ทําให้บังคับได้เฉพาะคู่สัญญาจะไปบังคับเอาแก่บุคคลอื่นไม่ได้ เช่น นายดําทําสัญญาจ้างนายแดงมาร้องเพลง ในงานวันเกิดของตน ถึงวันงานนายแดงไม่มาร้องเพลง นายดําจะไปบังคับให้นายขาวซึ่งเป็นลูกชายของนายแดง และเป็นนักร้องเหมือนกันมาร้องเพลงแทนนายแดงไม่ได้ เพราะสิทธิที่นายดํามีต่อนายแดงเป็นเพียงบุคคลสิทธิใช้บังคับเฉพาะแก่คู่สัญญาเท่านั้น

ข้อแตกต่างระหว่าง “ทรัพยสิทธิ” และ “บุคคลสิทธิ

1 ทรัพยสิทธิจะมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน ส่วนบุคคลสิทธิจะมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทํา หรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง

2 ทรัพยสิทธิก่อตั้งขึ้นด้วยอาศัยอํานาจของกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุคคลสิทธิก่อตั้งขึ้นด้วย นิติกรรมสัญญาหรือนิติเหตุ

3 ทรัพยสิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไป ส่วนบุคคลสิทธิจะก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะที่จะต้องกระทําการหรืองดเว้นการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นไปตามความผูกพันของตนที่ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยนิติกรรมหรือโดยนิติเหตุ

4 ทรัพยสิทธิไม่อาจสิ้นสุดไปโดยการไม่ใช้ ไม่มีอายุความสิ้นสิทธิ เช่น การที่เรามีกรรมสิทธิ์ ในที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งแม้เราจะไม่ใช้เราก็ยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น ในเรื่อง ภาระจํายอมหากมิได้ใช้ 10 ปี ย่อมสิ้นสุดไป ส่วนบุคคลสิทธินั้นอาจเสียสิทธิไปโดยการไม่ใช้ เช่น สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

 

ข้อ 2 ที่ดินของนายไก่และนายไข่อยู่ติดกันโดยทิศตะวันตกของที่ดินของนายไก่ติดถนนสุขุมวิทตลอดแนว นายไก่ทําสัญญากับนายไข่เป็นหนังสือให้นายไข่ได้สิทธิในการใช้ทางเดินและถนนกว้าง 3 เมตร ซึ่งตั้งอยู่กลางที่ดินของนายไก่ในการออกสู่ถนนสุขุมวิทอย่างทางภาระจํายอม ในเวลาต่อมา นายไก่ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายช้างโดยนายช้างรับรู้ถึงสัญญาระหว่างนายไก่และนายไข่เมื่อนายช้างเข้ามาในที่ดิน นายช้างประสงค์จะย้ายทางเดินและถนนตามสัญญาระหว่างนายไก่และนายไข่ดังกล่าวไปไว้ติดทางทิศเหนือของที่ดินตลอดแนว และลดความกว้างของถนนเหลือ 2.5 เมตร เพื่อที่นายช้างจะได้สามารถสร้างบ้านหลังใหญ่พร้อมสวนดอกไม้กลางที่ดินได้ อย่างไรก็ดีนายไข่ได้ขัดขวางมิให้นายช้างดําเนินการดังกล่าว

ดังนี้ นายช้างสามารถดําเนินการตามที่ประสงค์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทําเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจําหน่ายทรัพย์สิน ของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1392 “ถ้าภาระจํายอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียก ให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทาง นิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อ บุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ทําสัญญากับนายไข่เป็นหนังสือให้นายไข่ได้สิทธิในการใช้ทางเดิน และถนนกว้าง 3 เมตร ซึ่งตั้งอยู่กลางที่ดินของนายไก่ในการออกสู่ถนนสุขุมวิทอย่างภาระจํายอมนั้น ถือเป็นกรณี ที่นายไข่ได้ภาระจํายอมซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม และโดยผลแห่งกฎหมายของนิติกรรมนี้ เมื่อไม่มีการนําไปจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ แต่ในระหว่างคู่กรณียังมีผลผูกพันกันในฐานะบุคคลสิทธิ์ ดังนั้น เมื่อนายไก่ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายช้าง แม้ว่านายช้างจะรับรู้ถึงสัญญาระหว่างนายไก่และนายไข่ นายไข่ก็จะนําการได้มาซึ่งภาระจํายอมดังกล่าวขึ้นต่อสู้ นายช้างบุคคลภายนอกไม่ได้ กล่าวคือ นายช้างไม่ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด

และเมื่อการได้ภาระจํายอมโดยทางนิติกรรมของนายไข่ไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ และไม่มีผลผูกพันนายช้างซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น เมื่อนายช้างประสงค์จะย้ายทางเดินและถนน และลดความกว้างของถนน จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1387 และมาตรา 1392 นายช้างจึงสามารถดําเนินการใด ๆ กับที่ดินนั้นได้ ในฐานะเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือที่ดินนั้นตามมาตรา 1336

สรุป นายข้างสามารถดําเนินการตามที่ประสงค์ได้

 

ข้อ 3 ป่านเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทิศตะวันออกติดที่ดินโฉนดของปุ๋ยซึ่งไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาดูแล ป่านได้ลงมือสร้างบ้านในที่ดินของตน โดยมิได้มีการเรียกช่างมารังวัดก่อนการลงมือสร้างบ้านเมื่อป่านสร้างบ้านเสร็จปรากฏว่าบางส่วนของห้องครัวได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ย โดยป่านก็ใช้ประโยชน์จากบ้านทั้งหลังรวมทั้งห้องครัวเรื่อยมา หลังจากสร้างบ้านเสร็จมาเป็นเวลา 5 ปี ปุ๋ยเพิ่งรับทราบว่าบางส่วนของห้องครัวของป่านนั้นรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน ปุ๋ยจึงเรียกให้ป่าน รื้อถอนห้องครัวส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตนออกเสีย ป่านจึงอ้างว่าตนได้ก่อสร้างบ้านโดยสุจริต ดังนั้น ปุ๋ยจะต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วนของห้องครัวให้ป่าน

ดังนี้ ป่านจะต้องรื้อถอนส่วนของห้องครัวที่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ยหรือไม่ หรือปุ๋ยจะต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วนของห้องครัวให้ป่าน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้น เป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็น ภาระจํายอมต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้ ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทําการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ์นี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1312 การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่า ก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าไม่รู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต แต่อย่างไรก็ตาม หากความไม่รู้ ดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ก่อสร้าง กฎหมายให้ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยไม่สุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ป่านสร้างบ้านลงในที่ดินของตนเองโดยไม่ได้รังวัดสอบเขตนั้น ถือเป็น กรณีที่ป่านประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบเขตที่ดินให้ดีเสียก่อนที่จะทําการปลูกสร้าง และเมื่อปรากฏว่าหลังจาก สร้างเสร็จ บางส่วนของห้องครัวได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของปุ๋ย การกระทําของป่านจึงเป็นการสร้างโรงเรือน รุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1312 วรรคสอง ดังนั้นป่านจึงต้องรื้อถอนส่วนของห้องครัวที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ย

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าป่านได้ใช้ประโยชน์จากบ้านทั้งหลังรวมทั้งห้องครัวเรื่อยมาเป็นเวลา 5 ปี ยังไม่ครบ 10 ปี ป่านจะอ้างว่าตนได้ก่อสร้างบ้านโดยสุจริต ดังนั้น ปุ๋ยจะต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วน ของห้องครัวให้ป่านนั้นหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะการได้ภาระจํายอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1401 นั้น บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้อง ใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

สรุป ป่านจะต้องรื้อถอนส่วนของห้องครัวที่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ย และปุ๋ยไม่ต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วนของห้องครัวให้ป่าน

 

ข้อ 4 หมูเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดเลขที่ 12345 ซึ่งหมูได้ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินแปลงดังกล่าว ตลอดมา ต่อมาหมูจะดําเนินการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ หมูจึงได้นําเอกสารและสัมภาระต่าง ๆ ของตนไปฝากไว้ที่บ้านของลิงซึ่งเป็นพี่ชายของตน รวมถึงโฉนดที่ดินเลขที่ 12345 ดังกล่าวด้วย ต่อมาลิงได้นําหนังสือมอบอํานาจปลอมที่มีลายมือชื่อของหมูไปดําเนินการโอนโฉนดที่ดินฉบับ ดังกล่าวให้เป็นชื่อของตน เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หมูได้ดําเนินการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ภายในบ้านที่ปลูกสร้างไว้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 และพบว่ายังมีเอกสารบางส่วนที่ยังอยู่กับลิง หมูจึงไปขอรับเอกสารคืนจากลิง และได้รับแจ้งจากลิงว่าหมูต้องย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 และลิงจะเข้าไปอยู่อาศัยแทนหมู เนื่องจากลิงได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมูโดยลิง มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดแปลงดังกล่าวมาเกิน 10 ปีแล้ว

ดังนี้ หมูต้องย้ายออกจากที่ดินตามคํากล่าวอ้างของลิงหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย การครอบครองปรปักษ์ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หมูซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดเลขที่ 12345 ซึ่งหมูได้ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา ต่อมาหมูจะดําเนินการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ หมูจึงได้นําเอกสารและสัมภาระต่าง ๆ รวมถึงโฉนดที่ดินเลขที่ 12345 ไปฝากไว้ที่บ้านของลิง ต่อมาลิงได้นําหนังสือมอบอํานาจปลอมที่มีลายมือชื่อของหมู ไปดําเนินการโอนโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวให้เป็นชื่อของตน จนเวลาผ่านไป 10 ปีนั้น การที่ลิงมีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดิน ดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยที่ยังไม่ได้ยึดถือที่ดินเลย จึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน โฉนดเลขที่ 12345 แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อลิงมิได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ลิงจึงไม่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 และเมื่อลิงแจ้งให้หมูย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 เพราะ ลิงจะเข้าไปอยู่อาศัยแทนหมู เนื่องจากลิงได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมู หมูจึงไม่ต้องย้ายออกจากที่ดินตาม คํากล่าวอ้างของลิง

สรุป หมูไม่ต้องย้ายออกจากที่ดินตามคํากล่าวอ้างของลิง

LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) ป.พ.พ.ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นางสวย ต้องการซื้อที่ดินจากนายดวง ปรากฏว่านายดวงพานางสวยไปดูที่ดินที่จะขาย เมื่อถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดิน นายดวงได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้นางสวยโดยเป็นที่ดิน คนละแปลงกับที่นายดวงพานางสวยไปดู

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

มาตรา 158 “ความสําคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทํานิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสําคัญผิดดังกล่าว ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็น ประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสวยต้องการซื้อที่ดินจากนายดวง และนายดวงได้พานางสวยไปดู ที่ดินที่จะขายแล้วนั้น แต่ปรากฏว่าพอถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขายที่ดิน นายดวงได้โอนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้ นางสวยโดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่นายดวงพานางสวยไปดูนั้น ถือว่าการแสดงเจตนาทํานิติกรรมในรูปสัญญา ซื้อขายที่ดินของนางสวยดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในทรัพย์สิน (ที่ดิน) ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เพราะเป็นการแสดงเจตนาซื้อขายที่ดินในแปลงซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของนางสวย และเป็นการสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามมาตรา 156 อีกทั้งความสําคัญผิดดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของนางสวยแต่อย่างใด ดังนั้นสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ

สรุป สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 2 นายเอกซึ่งเป็นชาวต่างชาติในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท AAA จํากัด ได้ว่าจ้างนายโทซึ่งเป็นคนไทยและเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์ของบริษัท AAA จํากัด โดยตกลงให้นายโทเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท AAA จํากัด และมีอํานาจลงนาม ร่วมกับนายเอกจึงจะผูกพันบริษัท AAA จํากัด นายโทได้นําเอกสารต่าง ๆ ที่จัดทําขึ้นเป็นภาษาไทย มาให้นายเอกลงลายมือชื่อเพื่อนําไปดําเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ตรวจสอบภายหลังปรากฏว่า นายโทหลอกให้นายเอกหลงเชื่อและเข้าใจผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้นดังกล่าวด้วยการไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่นายโทเอง ตลอดจนทําการเปลี่ยนแปลงอํานาจ กรรมการบริษัท AAA จํากัด ให้คงเหลือเฉพาะนายโทแต่เพียงผู้เดียว

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การที่นายเอกในฐานะกรรมการของบริษัท AAA จํากัด ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลง อํานาจกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท AAA จํากัด เป็นนายโทแต่เพียงผู้เดียวนั้นมีผลทางกฎหมายเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะ ของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็น วัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกซึ่งเป็นชาวต่างชาติในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัท AAA จํากัด ได้ว่าจ้างนายโทซึ่งเป็นคนไทยและเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมายให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์ของ บริษัท AAA จํากัด โดยตกลงให้นายโทเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท AAA จํากัด และมีอํานาจลงนามร่วมกับนายเอก จึงจะผูกพันบริษัท AAA จํากัด นายโทได้นําเอกสารต่าง ๆ ที่จัดทําขึ้นเป็นภาษาไทยมาให้นายเอกลงลายมือชื่อ เพื่อนําไปดําเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบปรากฏว่า นายโทหลอกให้นายเอกหลงเชื่อและเข้าใจผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้นดังกล่าว และส่งผลให้นายโทไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทําการเปลี่ยนแปลงอํานาจกรรมการบริษัท AAA จํากัด ให้คงเหลือเพียงนายโทคนเดียวนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า นายเอกในฐานะกรรมการของบริษัท AAA จํากัด ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอํานาจ กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท AAA จํากัด เป็นนายโทแต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทําโดยสําคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอํานาจกรรมการของนายโทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 1169/2562)

สรุป การที่นายเอกในฐานะกรรมการของบริษัท AAA จํากัด ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอํานาจ กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท AAA จํากัด เป็นนายโทแต่เพียงผู้เดียวนั้นมีผลเป็นโมฆะ เพราะเป็น กรณีที่นายเอกได้แสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมมาตรา 156

 

ข้อ 3 นายหนึ่งตกลงซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนายสอง ต่อมานายหนึ่งพบว่าบ้านชํารุดบกพร่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นายสองเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชํารุดบกพร่อง หลังจากนั้นนายหนึ่ง ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2562 แจ้งให้นายสองหยุดทําการแก้ไขส่วนที่ชํารุด บกพร่อง โดยนายหนึ่งจะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง อยากทราบว่านายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ นายสองรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ และภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 474 การที่นายหนึ่งนําคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ฟ้องนายหนึ่งขาดอายุความหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ยให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับ สภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ เมื่อเหตุที่ทําให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น” มาตรา 474 “ในข้อรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่ เวลาที่ได้พบเห็นความชํารุดบกพร่อง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ตกลงซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนายสอง ต่อมานายหนึ่ง พบว่าบ้านชํารุดบกพร่องในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และนายสองได้เข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชํารุดบกพร่องนั้น ย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ ล่วงไปก่อนนั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง

ต่อมาการที่นายหนึ่งให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 มิถุนายน 2562 แจ้งให้นายสองหยุด ทําการแก้ไขส่วนที่ชํารุดบกพร่อง โดยนายหนึ่งจะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเองนั้น ย่อมเป็นเหตุให้อายุความ สะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดลง อายุความจึงต้องเริ่มนับใหม่ตั้งแต่เวลานั้น คือให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ดังนั้น นายหนึ่งจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายสองรับผิด เพื่อชํารุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 และเมื่ออายุความในการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายเพื่อ ความชํารุดบกพร่องมีกําหนดอายุความ 1 ปีตามมาตรา 474 การที่นายหนึ่งนําคดีมาฟ้องวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 จึงเกิน 1 ปี ดังนั้น ฟ้องนายหนึ่งจึงขาดอายุความ

สรุป นายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้นายสองรับผิดเพื่อชํารุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 และการที่นายหนึ่งนําคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ฟ้องของนายหนึ่งจึงขาดอายุความ

 

ข้อ 4 นางสาวแตงโมทําสัญญาขายเรือสปีดโบ๊ทเก่าของตนให้แก่นางสาวแตงไท 1 ลํา ราคา 10 ล้านบาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 กําหนดส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมี ข้อตกลงกําหนดเบี้ยปรับกันไว้ว่า ถ้านางสาวแตงโมไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทให้แก่นางสาวแตงไท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวแตงโมต้องเสียเบี้ยปรับให้แก่นางสาวแตงไทเป็นเงิน 1 ล้านบาท ปรากฏว่าเมื่อถึงวันกําหนดส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท นางสาวแตงโมไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท ให้แก่นางสาวแตงไท ดังนี้ อยากทราบว่านางสาวแตงไทจะเรียกเอาเบี้ยปรับและเรือสปีดโบ๊ท จากนางสาวแตงโมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 380 วรรคหนึ่ง “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชําระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียก เอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชําระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชําระหนี้อีกต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแตงโมทําสัญญาขายเรือสปีดโบ๊ทเก่าของตนให้แก่นางสาวแตงไท 1 ลํา ราคา 10 ล้านบาท ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 และกําหนดส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีข้อตกลงกําหนดเบี้ยปรับกันไว้ว่า ถ้านางสาวแตงโมไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทให้แก่นางสาวแตงไทใน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวแตงโมต้องเสียเบี้ยปรับให้แก่นางสาวแตงไทเป็นเงิน 1 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันกําหนดส่งมอบ คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวแตงโมผิดสัญญาไม่ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท ให้แก่นางสาวแตงไทนั้น ย่อมมีผลทําให้นางสาวแตงโมจะต้องจ่ายเบี้ยปรับให้แก่นางสาวแตงไทตามที่ตกลงไว้

แต่นางสาวแตงไทไม่มีสิทธิที่จะเรียกทั้งเบี้ยปรับและเรือสปีดโบ๊ทจากนางสาวแตงโม ถ้าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ นางสาวแตงไทก็มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากนางสาวแตงโม 1 ล้านบาท แทนการส่งมอบเรือสปีดโบ๊ท เพราะ ถ้านางสาวแตงไทแสดงต่อนางสาวแตงโมว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้วก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องให้ชําระหนี้คือ การส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 แต่ถ้านางสาวแตงไทต้องการให้นางสาวแตงโมส่งมอบ เรือสปีดโบ๊ท นางสาวแตงไทก็ขาดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับเช่นเดียวกัน นางสาวแตงไทจะต้องเลือกอย่างใด อย่างหนึ่ง จะเรียกทั้งเบี้ยปรับและให้ส่งมอบเรือสปีดโบ๊ทด้วยไม่ได้

สรุป นางสาวแตงไทจะเรียกเอาเบี้ยปรับและเรือสปีดโบ๊ทจากนางสาวแตงโมไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

LAW2107 (LAW2007) กฎหมายอาญา 2 s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2107 (LAW2007) กฎหมายอาญา 2

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ผู้กํากับการสถานีตํารวจสั่งให้ ร.ต.อ.บิวกิ้น ทําหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานี ตํารวจ ร.ต.อ.บิวกิ้น นําเงินดังกล่าวไปฝากนายพีพีเพื่อนชายคนสนิทไว้ มิได้นํามาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ เวลาผ่านไป 4 เดือน ผู้กํากับการสถานีตํารวจรู้เข้า จึงสั่งให้ ร.ต.อ.บิวกิ้น นําเงิน มาคืนแก่ทางราชการ ร.ต.อ.นิ้วกั้น ก็นําเงินมาคืนจนครบถ้วน ดังนี้ ร.ต.อ.บิวกิ้น มีความผิดเกี่ยวกับการปกครองประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 147 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือ รักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษ….”

อธิบาย

องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147 ประกอบด้วย

1 เป็นเจ้าพนักงาน

2 มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด

3 เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่น หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย

4 โดยทุจริต

5 โดยเจตนา

“เจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือ รักษาทรัพย์ หากเจ้าพนักงานผู้นั้นไม่มีหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 147

“หน้าที่ซื้อ” เช่น มีหน้าที่ซื้อพัสดุหรือเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้ในสํานักงาน

“หน้าที่ทํา” เช่น มีหน้าที่ประดิษฐ์เครื่องใช้เครื่องยนต์ขึ้นใหม่ หรือมีหน้าที่ซ่อมแซม แก้ไข เครื่องใช้เครื่องยนต์ที่ชํารุดให้ดีขึ้น

“หน้าที่จัดการ” เช่น หน้าที่ในการจัดการโรงงาน จัดการคลังสินค้า เป็นต้น

“หน้าที่รักษา” เช่น เป็นเจ้าหน้าที่การเงินก็ย่อมต้องดูแลรักษาเงินที่ได้รับมานั้นด้วย

“เบียดบัง” หมายความว่า การเอาเป็นของตน หรือแสดงให้ปรากฏว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น ตัวอย่างเช่น เอาทรัพย์นั้นไปใช้อย่างเจ้าของ หรือจําหน่ายทรัพย์นั้นไป

การเบียดบังที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการเบียดบังทรัพย์ ถ้าเบียดบังเอาอย่างอื่น เช่น แรงงาน กรณีนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147 ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นก็ตาม และเป็นความผิดสําเร็จเมื่อเบียดบังเอาทรัพย์ไปแม้จะนํามาคืนในภายหลัง ก็ยังคงมีความผิด

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์ หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น ผู้กระทําจะต้องกระทําโดยมีเจตนาตามมาตรา 59 และต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วย กฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทําขาดเจตนาโดยทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.บิวกิ้น ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทําหน้าที่เก็บรักษา เงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตํารวจได้นําเงินดังกล่าวไปฝากนายพีพีเพื่อนชายคนสนิท มิได้นํามาเก็บไว้ใน ตู้นิรภัยของทางราชการนั้น เมื่อ ร.ต.อ.บิวกิ้น เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเอาทรัพย์ (เงินประกัน ตัวผู้ต้องหา) นั้นไป พฤติการณ์แสดงว่า ร.ต.อ.บิวกิ้น มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นแล้ว แม้ต่อมาในภายหลัง ร.ต.อ.บิวกิ้น จะได้นําเงินมาคืนแก่ทางราชการจนครบ การกระทําของ ร.ต.อ.บิวกิ้น ก็เป็น การกระทําที่ครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 147 ทุกประการ ดังนั้น ร.ต.อ.บิวกิ้น จึงมีความผิดฐาน เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147 (คําพิพากษาฎีกาที่ 473/2527)

สรุป ร.ต.อ.นิ้วกั้น มีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147

 

ข้อ 2 ก. เห็น ข. ถูกตํารวจจับตัวไปสถานีตํารวจข้อหาขายยาบ้าจึงมาพบ ค. แม่ของ ข. ที่บ้าน บอกให้ทราบเรื่อง ค. ตกใจขอให้ช่วยลูก ก. บอกว่าพอจะช่วยได้ต้องวิ่งตํารวจขอสองหมื่นบาทจะเอาไปให้ร้อยเวรทําสํานวนอ่อนปล่อยลูก ค. พูดว่าขอคิดดูก่อนตอนนี้ไม่มีเงินเลย ก. บอกว่าไม่เป็นไร มีเงิน เมื่อไหร่ค่อยมาให้ก็แล้วกัน ดังนี้ ก. จะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 143 “ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือ สมาชิกสภาเทศบาล โดยวิธีอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทําการหรือไม่กระทําการ ในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนตามมาตรา 143 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้

1 เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น

2 เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล

3 โดยวิธีอันทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตน

4 ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด

5 กระทําโดยเจตนา

“เรียก” หมายถึง การแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ แม้บุคคลนั้นจะยังไม่ได้ส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้ก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้รับ และผู้รับได้รับเอาทรัพย์สิน หรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

“ยอมจะรับ” หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่ผู้กระทํา และผู้กระทํา ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ก. บอก ค. ว่าสามารถช่วย ข. จากข้อหาขายยาบ้าได้โดยการวิ่งตํารวจ และขอเงิน ค. จํานวน 2 หมื่นบาท เพื่อเอาไปให้ร้อยเวรทําสํานวนอ่อนปล่อย ข. นั้น พฤติกรรมของ ก. ดังกล่าว ถือเป็นการเรียกทรัพย์สิน (เงิน 2 หมื่นบาท) จาก ค. แม่ของ ข. แล้ว และการเรียกเงินนี้เป็นการตอบแทนในการที่ ก. จะไปวิ่งเต้นร้อยเวร (ตํารวจ) ให้ทําสํานวนคดีอ่อนปล่อยตัว ข. ซึ่งเป็นวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายและได้กระทํา ไปโดยเจตนา การกระทําของ ก. ครบองค์ประกอบความผิดทุกข้อตามหลักกฎหมายข้างต้น ดังนั้น ก. จึงมี ความผิดฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนตามมาตรา 143

สรุป

ก จะมีความผิดอาญาฐานเป็นคนกลางเรียกรับสินบนตามมาตรา 143

 

ข้อ 3 นายสุดหล่อเช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัทออโต้คาร์ โดยสัญญาเช่าซื้อมีกําหนดระยะเวลา 2 ปี หลังจากเช่าซื้อไปได้ 1 เดือน นายสุดหล่อเกิดความไม่พอใจในรถยนต์ จึงใช้น้ำมันเบนซิน ราดไปที่รถยนต์ จากนั้นก็จุดไฟโยนลงไป ปรากฏว่าไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคัน ดังนั้น นายสุดหล่อมีความผิดฐานวางเพลิงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 217 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา 217 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1 วางเพลิงเผา

2 ทรัพย์ของผู้อื่น

3 โดยเจตนา

“วางเพลิงเผา” หมายถึง การกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทําด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม เช่น ใช้ไม้ขีดไฟจุดไฟเผา ใช้เลนส์ส่องทํามุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันเพื่อให้เกิดไฟ เป็นต้น ซึ่งการทําให้เกิดเพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา “ทรัพย์ของผู้อื่น”เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ดังนั้นถ้าเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นต้องกระทํา “โดยเจตนา” คือ มีเจตนาหรือมีความตั้งใจ ที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุดหล่อได้เช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัทออโต้คาร์ และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อจนกว่าผู้เช่าซื้อจะชําระราคาครบถ้วน เมื่อนายสุดหล่อยังชําระราคาไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังเป็นของบริษัทออโต้คาร์ ซึ่งถือว่าเป็นของผู้อื่น

ดังนั้นการที่นายสุดหล่อใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์และจุดไฟโยนลงไป ทําให้ไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหาย ทั้งคัน จึงถือว่านายสุดหล่อได้วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว และเมื่อนายสุดหล่อได้กระทําไปโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผล นายสุดหล่อจึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217

สรุป นายสุดหล่อมีความผิดอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217

 

ข้อ 4 นางสุดสวยเอานามบัตรที่พิมพ์ชื่อของพลตํารวจตรีสุดหล่อมากรอกข้อความว่า “ผู้ถือนามบัตรนี้ เป็นพรรคพวกกันขอให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วย” พร้อมลงชื่อพลตํารวจตรีสุดหล่อ เพื่อจะนําไปยื่นต่อ เจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ทั้งนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจาก พลตํารวจตรีสุดหล่อ ดังนี้ นางสุดสวยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงค่าตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอน ข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสาร ที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข) เต็มหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ

(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3 ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสุดสวยเอานามบัตรที่พิมพ์ชื่อของพลตํารวจตรีสุดหล่อมากรอกข้อความ ว่า “ผู้ถือนามบัตรนี้เป็นพรรคพวกกันขอให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วย” พร้อมลงชื่อพลตํารวจตรีสุดหล่อนั้น ถือเป็นการทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ เพราะข้อความในเอกสารนั้นแสดงว่า พลตํารวจตรีสุดหล่อเป็นผู้เขียน แต่ความจริงแล้ว นางสุดสวยเป็นผู้เขียน จึงเป็นลักษณะของเอกสารปลอม ซึ่งการกระทําของนางสุดสวยเป็นการกระทําที่น่าจะเกิด ความเสียหายแก่พลตํารวจตรีสุดหล่อและเป็นการกระทําโดยเจตนา อีกทั้งการทําเอกสารปลอมนั้นก็เพื่อที่จะนําไป ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ อันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทําของนางสุดสวยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง

สรุป การกระทําของนางสุดสวยมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง

LAW2108 (LAW2008) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2108 (LAW 2008) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 แมวทําสัญญาเป็นหนังสือให้หมีเช่าที่ดินของแมว สัญญาเช่ามีกําหนดเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป กําหนดชําระค่าเช่าทุกวันที่ 5 ของเดือนในอัตราเดือนละ 5,000 บาท โดยมีข้อสัญญาดังต่อไปนี้

“ข้อ 5 เมื่อครบกําหนดอายุสัญญานี้ และผู้เช่าประสงค์จะเช่าที่ดินต่อไปอีก 3 ปี ผู้เช่าต้องแจ้ง ผู้ให้เช่าภายในวันที่ 10 มกราคม 2564 โดยให้มาตกลงค่าเช่ากันใหม่” หมีได้เช่าที่ดินของแมวเรื่อยมาโดยมิได้แจ้งแมวถึงความประสงค์ที่จะเช่าที่ดินต่อไปแต่อย่างใด ในวันที่ 10 มกราคม 2565 แมวประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต หมูซึ่งเป็นบุตรชายของแมวจึงได้แจ้งให้หมี ออกจากที่ดินที่เช่าทันที โดยอ้างว่าสัญญาเช่าระงับลงแล้ว หมีไม่ยอมออกจากที่ดินที่เช่า โดยอ้างว่า ตนต้องเช่าที่ดินได้จนถึง 31 ธันวาคม 2566 โดยหมูไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกําหนดดังกล่าว ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างของหมูและหมีฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 566 “ถ้ากําหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่า คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกําหนดชําระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน”

มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกําหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกําหนดเวลา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินระหว่างแมวกับหมีมีกําหนดเวลา 3 ปี ได้ทําเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมาย และใช้บังคับได้ 3 ปี ตามมาตรา 538 และข้อความตามสัญญาเช่าข้อ 5 ที่ว่า “เมื่อครบกําหนดอายุสัญญานี้ และผู้เช่าประสงค์จะเช่าที่ดินต่อไปอีก 3 ปี ผู้เช่าต้องแจ้งผู้ให้เช่าภายในวันที่ 10 มกราคม 2564 โดยให้มาตกลงค่าเช่ากันใหม่” นั้น ข้อความที่ว่า “ให้มาตกลงค่าเช่ากันใหม่” ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะเป็นคํามั่นจะให้เช่า อีกทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าหมีได้มีการแจ้งหรือทําข้อตกลงใหม่กับแมวแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อครบกําหนดสัญญาเช่าในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หมียังคงเช่าที่ดินของแมวเรื่อยมาโดยที่แมว ไม่ได้ทักท้วงนั้น ย่อมถือว่าแมวและหมีได้ทําสัญญาเช่ากันใหม่โดยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 570 และต่อมาเมื่อแมวผู้ให้เช่าประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต สัญญาเช่าระหว่างแมวและหมีย่อมไม่ระงับ เนื่องจากมิใช่กรณีที่ผู้เช่าตาย ดังนั้น หมูซึ่งเป็นบุตรชายของแมวในฐานะทายาทจึงต้องรับช่วงต่อทั้งสิทธิและ หน้าที่ตามสัญญาที่เป็นมรดกด้วย

ดังนั้น เมื่อสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา หากหมูต้องการบอกเลิก สัญญาเช่าดังกล่าวจะต้องทําตามมาตรา 566 กล่าวคือ จะต้องบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ตัวล่วงหน้าก่อนชั่วกําหนด ระยะเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ในวันที่ 10 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่แมวเสียชีวิต การที่หมู ได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเช่าโดยให้หมีออกจากที่ดินที่เช่าทันทีโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการที่หมูอ้างว่าสัญญาเช่าระงับลงแล้วนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี การที่หมีไม่ยอมออกจากที่ดินที่เช่าโดยอ้างว่าตนต้องเช่าที่ดินได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยหมูไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกําหนดดังกล่าวนั้น ข้อกล่าวอ้างของหมีก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

สรุป ข้อกล่าวอ้างของทั้งหมูและหมีฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2 ปลาตกลงเข้าทําสัญญาเช่าอาคารหลังหนึ่งซึ่งก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จจากกุ้งเป็นเวลา 10 ปี สัญญาเช่าทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายแต่มิได้นําไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยตกลงชําระค่าเช่าทุกสิ้นเดือน เดือนละ 10,000 บาท และได้ตกลงให้ปลาจ่ายเงินกินเปล่า ให้แก่กุ้งอีก 200,000 บาท หลังจากทําการเช่าไปเป็นเวลา 4 ปี ปลาถึงแก่ความตาย กุ้งจึงเรียกให้ปูบุตรชายของปลาซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารนั้นออกจากอาคาร โดยให้เวลาขนย้ายสัมภาระต่าง ๆ ออกจากอาคารทั้งหมดภายใน 7 วัน ดังนี้ ปูต้องทําตามที่กุ้งเรียกร้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 538 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ก็ต่อเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ และถ้าเป็นการเช่า ที่มีกําหนดเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นสัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา คือ สัญญาเช่า อสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อตกลงเป็นการเพิ่มภาระขึ้นมากแก่ผู้เช่าให้ปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าปกติ โดยผู้เช่าได้ให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ให้เช่านอกเหนือไปจากค่าเช่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้เช่าจะได้เช่าทรัพย์สินเป็น ระยะเวลานาน เช่น สัญญาให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างตึกแถว เมื่อปลูกสร้างเสร็จแล้วจะยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ให้เช่า โดยผู้ให้เช่ายอมให้เช่าเป็นเวลา 10 ปี นับแต่ก่อสร้างเสร็จ เป็นต้น ดังนี้ สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 538 กล่าวคือ แม้จะไม่ได้ทําสัญญาเช่ากันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือสัญญาเช่า จะไม่ได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็สามารถใช้บังคับกันได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ปลาตกลงเข้าทําสัญญาเช่าอาคารหลังหนึ่งซึ่งก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จ จากกุ้งเป็นเวลา 10 ปี โดยตกลงชําระค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท และได้ตกลงให้ปลาจ่ายเงินกินเปล่าให้แก่กุ้งอีก 200,000 บาทนั้น ถือเป็นสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ธรรมดามิใช่สัญญาเช่าต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ทั้งนี้เพราะการจ่ายเงินกินเปล่านั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าเท่านั้น ดังนั้น สัญญาเช่าอาคารระหว่างปลากับกุ้ง จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 538 เมื่อสัญญาเช่าอาคารระหว่างปลากับกุ้งซึ่งมีกําหนดเวลา 10 ปี ได้ทําเป็น หนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แต่มิได้นําไปจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าดังกล่าว จึงสามารถใช้บังคับกันได้เพียง 3 ปี ดังนั้น ภายหลังครบกําหนด 3 ปีแล้ว ปลาผู้เช่าถึงแก่ความตาย สัญญาเช่า ย่อมระงับลง เมื่อกุ้งเรียกให้ปูซึ่งเป็นบุตรชายของปลาซึ่งอาศัยในอาคารนั้นออกจากอาคาร ปูจึงต้องทําตามที่กุ้งเรียกร้องคือต้องออกจากอาคารนั้นไป

สรุป ปูต้องทําตามที่กุ้งเรียกร้อง คือ ออกจากอาคารนั้นไป

 

ข้อ 3 อรต้องการประกอบธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ อรจึงได้ว่าจ้างปูเป้ให้มาช่วยบริการ เสิร์ฟอาหารเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 และจะจ่ายสินจ้างให้ทุกวันพุธ และอรได้ ประกาศรับสมัครหัวหน้าเชฟในเว็บไซต์รับสมัครงาน เคนจิซึ่งเป็นเชฟอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ได้เห็นประกาศดังกล่าวจึงเดินทางจากเชียงใหม่มาสมัครงานที่ร้านของอร อรพิจารณาแล้วตัดสินใจจ้างเคนจิโดยไม่มีกําหนดเวลาและจะจ่ายสินจ้างให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาร้านอาหารของอร ประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อรจึงตัดสินใจปิดร้านอาหาร และต้องการเลิกสัญญาจ้างปูเป้และเคนจิในวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) หากอรบอกเลิกสัญญาจ้างปูเป้และเคนจิ โดยต้องการให้ปูเป้และเคนจิออกจากงานทันที ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 อรสามารถทําได้หรือไม่ อย่างไร

(ข) หากเคนจิเรียกให้อรจ่ายค่าเดินทางกลับเชียงใหม่ให้แก่ตนด้วย อรต้องจ่ายค่าเดินทางให้เคนจิ ตามที่เคนจิเรียกร้องหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 581 “ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทํางานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความ อย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความใน มาตราต่อไปนี้”

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กําหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทําได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทําได้”

มาตรา 586 “ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทาง ให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลง และถ้ามิได้กําหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจําต้อง ใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่อรได้ว่าจ้างปูเป้ให้มาช่วยบริการเสิร์ฟอาหารเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น เดิมเป็นสัญญาจ้างที่มีกําหนดระยะเวลา แต่เมื่อระยะเวลาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว แต่ปูเป้ยังคงทํางานอยู่จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยอรก็ไม่ทักท้วง ให้สันนิษฐานไว้ว่าคู่สัญญาได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกัน กับสัญญาเดิม ดังนั้น เมื่ออรจะบอกเลิกสัญญาจ้างปูเป้จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 582 (มาตรา 581) คืออรจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า โดยหาการต้องการให้ปูเป้ออกจากงานทันทีในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 อรสามารถทําได้โดยจ่ายสินจ้างให้ปูเป้จนครบจํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามมาตรา 582 วรรคสอง

ส่วนกรณีของเคนจิ ซึ่งอรได้ทําสัญญาจ้างโดยไม่มีกําหนดเวลานั้น เมื่ออรต้องการบอกเลิกสัญญาจ้าง และต้องการให้เคนจิออกจากงานทันที อรก็สามารถทําได้โดยการบอกเลิกสัญญาจ้างตามมาตรา 582 เช่นเดียวกับกรณีของปูเป้ เพียงแต่กรณีของปูเป้นั้น เมื่อมีการตกลงจ่ายสินจ้างให้ทุกวันพุธ (วันที่ 16 มิถุนายน 2565 เป็นวันพฤหัสบดี) อรจึงต้องจ่ายสินจ้างให้ปูเป้ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ส่วนทางเคนนั้น เมื่อมีการตกลงจ่ายสินจ้างให้ทุกวันที่ 25 ของเดือน อรจึงต้องจ่ายสินจ้างให้เคนจิถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565

(ข) หากเคนจิเรียกให้อรจ่ายค่าเดินทางกลับเชียงใหม่ เนื่องจากเคนจิอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่นั้น เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเคนจิได้เดินทางจากเชียงใหม่มาสมัครงานที่ร้านของอรเอง เคนจิจึงมิใช่ลูกจ้างที่ผู้เป็นนายจ้าง ได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างได้ออกเงินค่าเดินทางให้ตามนัยของมาตรา 586 ดังนั้น อรซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางให้เคนจิตามที่เคนจิเรียกร้อง

สรุป

(ก) อรให้ปูเป้และเคนจิออกจากงานทันทีในวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 ได้ แต่อร ต้องจ่ายสินจ้างให้ปูเป้จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2565 และจ่ายสินจ้างให้เคนจิจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2565

(ข) อรไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางให้เคนจิตามที่เคนจิเรียกร้อง

LAW1102 (LAW1002) หลักกฎหมายเอกชน s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1102 (LAW1002) หลักกฎหมายเอกชน

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคแรก แบ่งการตีความกฎหมายออกเป็น 2 ประการ มีอะไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

“การตีความกฎหมาย” คือ การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคําไม่ชัดเจนหรือกํากวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคําของกฎหมายนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นําเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป

“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น

จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายแพ่ง จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1 การตีความตามตัวอักษร เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความหมายของกฎหมายจากตัวอักษรที่บัญญัติไว้

(1) กรณีกฎหมายบัญญัติไว้ด้วยภาษาธรรมดา ก็ต้องเข้าใจว่ามีความหมายตามธรรมดาของถ้อยคํานั้น ๆ ตามที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ (ค้นหาจากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน)

(2) กรณีกฎหมายบัญญัติไว้ด้วยภาษาเทคนิคหรือวิชาการ ก็ต้องเข้าใจตามความหมายเทคนิคหรือวิชาการนั้นๆ

(3) ผู้บัญญัติกฎหมายมีความประสงค์ที่จะให้ถ้อยคําบางคํามีความหมายพิเศษไปกว่าที่เข้าใจกันในภาษาธรรมดา หรือภาษาเทคนิคหรือวิชาการ จึงมีการกําหนดคําวิเคราะห์ศัพท์หรือบทนิยามไว้

2 การตีความตามเจตนารมณ์ เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความหมายของถ้อยคําในบทบัญญัติ ของกฎหมายจากความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายนั้น

เหตุที่ต้องตีความตามความมุ่งหมายของกฎหมาย เนื่องจากการตีความตามตัวอักษรแล้วผลของการตีความอาจยังไม่มีความชัดเจนพอ หรืออาจเข้าใจได้หลายนัย ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น สามารถดูได้จาก

(1) คําปรารภ (ของกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติ)

(2) บันทึกหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ หรือบันทึกของรัฐสภา โดยเฉพาะวาระการพิจารณาเรียงตามมาตรา (วาระ 2 วาระ 3)

(3) หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ ปกติการตีความกฎหมายจะพิจารณา (1) (2) ประกอบกัน เพื่อหยั่งทราบความมุ่งหมายอันแท้จริง หากมีความขัดแย้งกันให้ยึดเอาการตีความตามเจตนารมณ์เป็นใหญ่

 

ข้อ 2 นายฟ้าใสเป็นพนักงานขับรถไฟบรรทุกตู้สินค้า วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นายสายรุ้งพี่ชายและ นายสายฟ้าน้องชายได้เดินทางด้วยรสบัสเพื่อไปทําบุญทอดกฐินที่วัดแจ่มใส ระหว่างทางก่อนถึงวัด เป็นทางผ่านสะพานข้ามแม่น้ำ มีสัญญาณเตือนแต่ไม่มีเครื่องกั้น จุดเกิดเหตุมีรถบัสกําลังขวางทางรถไฟ จนเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัส ผู้โดยสารบางรายกระเด็นตกลงไปในแม่น้ำ ในเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และผู้บาดเจ็บประมาณ 25 ราย สูญหาย 5 ราย นายสายรุ้งได้หายไปไม่มีใคร พบศพ ส่วนนายสายฟ้าได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวที่ต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 นายสายฟ้าได้ส่งอีเมลมาหานางพระจันทร์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าตอนนี้รักษาตัวจนหายดีแล้วจะเดินทางกลับมาหานางพระจันทร์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวหรือพบเจอนายสายฟ้าอีกเลย ให้วินิจฉัยว่า

(1) มารดาของนายสายรุ้งจะไปร้องขอให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และหากได้จะไปใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

(2) นางพระจันทร์จะไปร้องขอให้นายสายฟ้าเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และหากได้จะไปใช้สิทธิ ทางศาลได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิต อยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้น ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกําหนด 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่รถไฟชนรสบัสตรงทางผ่านสะพานข้ามแม่น้ำ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ทําให้ ผู้โดยสารบางรายกระเด็นตกลงไปในแม่น้ำ และเหตุการณ์ดังกล่าวทําให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บประมาณ 25 ราย และสูญหาย 5 รายนั้น เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวทําให้นายสายรุ้งซึ่งเป็นผู้โดยสารมากับรสบัสได้หายไป ไม่มีใครพบศพ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายสายรุ้งได้หายไปในกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ตามมาตรา 61 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นกรณีที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางถูกทําลายไป ดังนั้น ระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสีย จะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญจึงต้องนับระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ดังนั้น ถ้าผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาล สั่งให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญนั้น จึงสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

สําหรับผู้มีส่วนได้เสียนั้น มารดาของนายสายรุ้งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามนัยของมาตรา 61

ดังนั้น มารดาของนายสายรุ้งสามารถที่จะไปร้องขอให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถที่จะไปใช้สิทธิ ทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

(2) การที่นายสายฟ้าได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวที่ต่างจังหวัด และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 นายสายฟ้าได้ส่งอีเมลมาหานางพระจันทร์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าตอนนี้รักษาตัวจนหายดีแล้ว และจะเดินทางกลับมาหานางพระจันทร์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวหรือพบเจอนายสายฟ้าอีกเลยนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายสายฟ้าได้หายไปในกรณีธรรมดาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่นางพระจันทร์ ได้รับการติดต่อจากนายสายฟ้าเป็นครั้งสุดท้ายทางอีเมล ดังนั้น ถ้านางพระจันทร์ซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนายสายฟ้าและถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามนัยของมาตรา 61 จะไปร้องขอให้ศาลสั่งให้นายสายฟ้าเป็นคนสาบสูญ ย่อมสามารถทําได้ แต่จะต้องรอให้นายสายฟ้าหายไปจนครบ 5 ปีก่อนตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกําหนด 5 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 โดยนางพระจันทร์จะสามารถไปใช้สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

สรุป

(1) มารดาของนายสายรุ้งสามารถไปร้องขอให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญได้ โดยเริ่มไปใช้ สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นต้น

(2) นางพระจันทร์สามารถไปร้องขอให้นายสายฟ้าเป็นคนสาบสูญได้ โดยเริ่มไปใช้สิทธิ ทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทํานิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) นายหยกอายุย่างเข้า 20 ปี ไปเยี่ยมคุณยาย คุณยายเอ็นดูยกเงินให้ 500,000 บาท โดยบิดา มารดาไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด

(2) นายเพชรคนเสมือนไร้ความสามารถ ยืมเงินจากนายพลอยพนักงานขับรถของบิดา จํานวน 200 บาท โดยนายนิลผู้พิทักษ์ไม่ได้รู้เห็นด้วยแต่อย่างใด

(3) นายแก้วเป็นคนวิกลจริตไปซื้อไข่ไก่ 1 โหล จากร้านเจ๊แดง เป็นเงิน 190 บาท ในขณะกําลัง วิกลจริต แต่เจ๊แดงไม่รู้ว่านายแก้วเป็นคนวิกลจริต

(4) นายน้ำใสคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากผู้อนุบาลให้ไปซื้อตั๋วรถไฟ มูลค่า 300 บาท เพื่อเดินทางไปเยี่ยมญาติ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆยะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 22 “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริต กลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน แล้วจึงจะทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้คือ

(1) โดยหลัก ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทําขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกําหนดให้ ผู้เยาว์สามารถทําเองได้โดยลําพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว นิติกรรม ที่จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่ อันใดอันหนึ่ง เป็นต้น

กรณีตามปัญหา การที่นายหยกอายุย่างเข้า 20 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ไปเยี่ยมคุณยาย คุณยาย เอ็นดูยกเงินให้ 500,000 บาท โดยบิดามารดาไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นนิติกรรมการให้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือค่าภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่นายหยกได้รับเงินนั้นไว้เป็นกรณีที่นายหยกผู้เยาว์ได้ทํานิติกรรม ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งตามมาตรา 22 จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทําได้ ด้วยตนเอง และมีผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม

(2) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถ จะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายเพชรคนเสมือนไร้ความสามารถได้ยืมเงินจากนายพลอย จํานวน 200 บาท โดยนายนิลผู้พิทักษ์ไม่ได้รู้เห็นด้วยแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถกู้ยืมเงิน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ดังนั้น นิติกรรมการกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 34 (3) ประกอบวรรคท้าย

(3) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรม ใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

กรณีตามปัญหา การที่นายแก้วคนวิกลจริตได้ไปซื้อไข่ไก่ 1 โหล จากร้านเจ๊แดง ในขณะที่ กําลังวิกลจริตนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ๊แดงไม่ทราบว่านายแก้วเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายไข่ไก่ระหว่างนายแก้วกับเจ๊แดงดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

(4) โดยหลักของมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆทั้งสิ้น (ต้องให้ผู้อนุบาลทําแทน) ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจาก ผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายน้ำใสคนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยการไปซื้อตั๋วรถไฟมูลค่า 300 บาท ถึงแม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายน้ำใสจะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล ก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

(1) การที่นายหยกผู้เยาว์รับเงินจากการให้ของคุณยาย 500,000 บาท มีผลสมบูรณ์

(2) การยืมเงินของนายเพชรคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นโมฆียะ

(3) การซื้อไข่ไก่ของนายแก้วคนวิกลจริตมีผลสมบูรณ์

(4) การซื้อตั๋วรถไฟของนายน้ำใสคนไร้ความสามารถเป็นโมฆียะ

WordPress Ads
error: Content is protected !!