การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหมีทําสัญญาให้นายแมวกู้ยืมเงินจํานวน 200,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าถ้านายแมวมีเงินเมื่อใดค่อยนํามาชําระคืนให้แก่นายหมีที่บริษัทของนายหมี ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายแมวแวะมาทําธุระแถวบริษัทของนายหมี นายแมวจึงได้นําเงินจํานวน 200,000 บาท มาชําระคืนให้แก่นายหมี แต่นายหมีติดประชุมกับลูกค้ารายใหญ่ จึงไม่สะดวกลงมารับชําระหนี้ และขอให้นายแมวกลับบ้านไปก่อน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลัน ดุจกัน
ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

มาตรา 212 “ถ้ามิได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ก็ดี หรือถ้าลูกหนี้มีสิทธิที่จะชําระหนี้ได้ก่อนเวลากําหนดก็ดี การที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชําระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้นั้นหาทําให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าวการชําระหนี้ไว้ล่วงหน้าโดยเวลาอันสมควร

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ใครตกเป็นผู้ผิดนัด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนายแมวลูกหนี้
การที่นายหมีได้ทําสัญญาให้นายแมวกู้ยืมเงินจํานวน 200,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าถ้านายแมว มีเงินเมื่อใดค่อยนํามาชําระหนี้คืนให้แก่นายหมีที่บริษัทของนายหมีนั้น ถือเป็นหนี้ที่มีการกําหนดเวลาชําระหนี้ โดยมีเงื่อนไขไม่แน่นอน จึงมีผลเท่ากับว่าไม่ได้มีการกําหนดเวลาชําระหนี้กันไว้ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงถือว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้ที่ถึงกําหนดชําระโดยพลัน ซึ่งลูกหนี้มีสิทธิชําระหนี้ของตนได้โดยพลัน และเจ้าหนี้ย่อม มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ได้โดยพลันเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหมีเจ้าหนี้ยังมิได้เตือนให้นายแมวลูกหนี้ชําระหนี้แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงยังไม่ถือว่านายแมวลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง

กรณีของนายหมีเจ้าหนี้
การที่นายแมวลูกหนี้ได้แวะมาทําธุระแถวบริษัทของนายหมีในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายแมวได้นําเงินจํานวน 200,000 บาท มาชําระคืนให้แก่นายหมีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายหมีติดประชุมกับลูกค้ารายใหญ่ จึงไม่สะดวกลงมารับชําระหนี้ และขอให้นายแมวกลับบ้านไปก่อน เป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีเหตุขัดข้องชั่วคราวไม่อาจรับชําระหนี้ที่เขาขอปฏิบัติแก่ตนได้ หาทําให้เจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ เว้นแต่ลูกหนี้จะได้บอกกล่าว การชําระหนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแมวมิได้มีการบอกกล่าวนายหมีล่วงหน้าแต่อย่างใด นายหมีจึงยังไม่ตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 212

สรุป ทั้งนายหมีเจ้าหนี้ และนายแมวลูกหนี้ ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

 

ข้อ 2 นายหนึ่งทําสัญญายืมรถยนต์จากนายสองกําหนดส่งคืนที่บ้านของนายสองในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เมื่อถึงกําหนดนัด นายหนึ่งนํารถยนต์มาคืนนายสองที่บ้าน แต่ปรากฏว่านายสองไปเที่ยวต่างจังหวัด นายหนึ่งจึงไม่สามารถคืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้ ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ขณะที่นายหนึ่ง ยังมิได้คืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้เกิดไฟไหม้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายทั้งคัน โดยไฟลุกไหม้มาจากบ้านข้างเคียงซึ่งไม่ใช่ความผิดของนายหนึ่งเลย ภายหลังจากนั้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นายสองกลับมาจากต่างจังหวัด
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายหนึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสองจากการที่ไม่มีรถยนต์ ส่งคืนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 205 “ตราบใดการชําระหนี้นั้นยังมิได้กระทําลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่”
มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”
มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จผลเป็นอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”
มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งทําสัญญายืมรถยนต์จากนายสองกําหนดส่งคืนที่บ้านของนายสอง ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เมื่อถึงกําหนดนัด นายหนึ่งนํารถยนต์มาคืนนายสองที่บ้าน แต่ปรากฏว่านายสองไปเที่ยว ต่างจังหวัด นายหนึ่งจึงไม่สามารถคืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว
แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับชําระหนี้โดยปราศจากมูลกฎหมายจะอ้างได้ นายสองจึงตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตาม มาตรา 207 ประกอบมาตรา 208 วรรคหนึ่ง และการที่นายหนึ่งไม่สามารถคืนรถยนต์ให้แก่นายสองได้นั้น ถือเป็น กรณีที่มีพฤติการณ์ภายนอกเข้ามาขัดขวางชั่วคราวตามมาตรา 205 จึงไม่ทําให้นายหนึ่งลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2565 ขณะที่นายหนึ่งยังมิได้คืนรถยนต์ให้แก่นายสองนั้น ได้เกิดไฟไหม้รถยนต์คันดังกล่าวเสียหายทั้งคัน โดยไฟลุกไหม้มาจากบ้านข้างเคียงซึ่งไม่ใช่ความผิดของนายหนึ่งเลย ย่อมถือเป็น กรณีที่การชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น ย่อมมีผลทําให้ลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้นตามมาตรา 219 นายหนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่นายสองจากการที่ไม่มีรถยนต์ส่งคืน

สรุป นายหนึ่งไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายสองจากการที่ไม่มีรถยนต์ส่งคืน

 

ข้อ 3 นายกิตติเจ้าของที่ดินทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งกับนายเรื่องราคา 300,000 บาท ปรากฏว่าก่อนวันนัดโอนไม่กี่วัน นายกิตติกลับนําที่ดินดังกล่าวไปทําสัญญาจํานองกับนายพฤกษาแลกกับเงินจํานวน 250,000 บาท โดยนายพฤกษารู้ว่านายกิตติทําสัญญาซื้อขายไปกับนายเรื่องแล้ว ให้วินิจฉัยว่า นายเรืองจะใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้บ้าง หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํา นิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้ บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ ได้ทําแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติเจ้าของที่ดินทําสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งกับนายเรื่องราคา 300,000 บาทนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าเมื่อนายเรืองซื้อที่ดินของนายกิตติแล้ว นายเรืองจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะ เรียกร้องให้นายกิตติปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย เมื่อนายกิตติเอาที่ดินแปลงที่ขายให้นายเรืองไปจํานองแก่นายพฤกษาก่อนวันนัดโอนไม่กี่วัน ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้นายเรืองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และนายพฤกษารับจํานองที่ดินไว้ โดยทราบแล้วว่านายกิตติได้ขายให้บุคคลอื่นไปแล้ว ซึ่งเป็นการรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้นายเรืองซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วย นายเรืองจึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมจํานองดังกล่าวตามมาตรา 237

สรุป นายเรืองสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ โดยการร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมจํานองดังกล่าวตามมาตรา 237

 

ข้อ 4 นายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินจํานวน 600,000 บาท โดยมีนายสองและนายสามเป็นลูกหนี้ร่วมกันในสัญญากู้ฉบับนี้ ครั้นเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายหนึ่งได้ฟ้องนายสองเพียงคนเดียวให้ชําระหนี้เต็มจํานวน นายสองสู้ว่า นายสองต้องรับผิดเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นความรับผิดของนายสาม ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งฟ้องเรียกให้นายสองชําระหนี้ได้หรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินจํานวน 600,000 บาท โดยมีนายสองและนายสามเป็นลูกหนี้ร่วมกันในสัญญากู้ฉบับนี้นั้น ตามมาตรา 291 ได้กําหนดให้นายหนึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกชําระหนี้เอาจากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งจนสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก โดยลูกหนี้ทุกคนยังคงต้องผูกพันรับผิดในหนี้นั้นจนกว่าจะได้มีการชําระให้เสร็จสิ้น ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระและนายหนึ่งได้ฟ้อง นายสองเพียงคนเดียวให้ชําระหนี้เต็มจํานวน นายหนึ่งย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 291 นายสองจะต่อสู้ว่า นายสองต้องรับผิดเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครั้งหนึ่งให้เป็นความรับผิดของนายสามนั้นหาได้ไม่

สรุป นายหนึ่งสามารถฟ้องเรียกให้นายสองชําระหนี้เต็มจํานวนคือ 600,000 บาทได้

Advertisement