การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3103 (LAW3003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหล่อทําสัญญาหมั้นกับนางสาวสวยด้วยแหวนเพชรและเงินสดจํานวน 5,000,000 บาท นายหล่อ ได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบเงินสดให้เพราะยังไม่มีเงิน ต่อมานางสาวนิดหน่อย ซึ่งเคยอยู่กินกับนายหล่อมาก่อนได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตร นายหล่อจึงจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรของตนกับนางสาวนิดหน่อย หลังจากนั้นเมื่อถึงวันจดทะเบียนสมรส นายหล่อได้ส่งมอบเงินของหมั้น 5,000,000 บาท ให้แก่นางสาวสวยตามสัญญา แต่นางสาวสวยทราบความจริงเรื่องบุตรของนายหล่อกับนางสาวนิดหน่อย

ดังนี้ ถ้านางสาวสวยไม่ยอมสมรสกับนายหล่อ นายหล่อจะเรียกของหมั้นคืนและฟ้องเรียกค่าทดแทน ต่อชื่อเสียง และการเตรียมการสมรสได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย” มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทําการในฐานะ เช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพ
หรือทางทํามาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส”

มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”

มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน
แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น”
วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหล่อทําสัญญาหมั้นกับนางสาวสวยด้วยแหวนเพชรและเงินสดจํานวน 5,000,000 บาท นายหล่อได้ส่งมอบแหวนเพชรให้แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งมอบเงินสดให้เพราะยังไม่มีเงินนั้น การหมั้น ย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง เนื่องจากได้มีการส่งมอบของหมั้น คือแหวนเพชรให้แก่หญิงคู่หมั้นแล้ว

การที่นางสาวนิดหน่อยซึ่งเคยอยู่กินกับนายหล่อมาก่อนได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตร นายหล่อจึง
จดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรของตนกับนางสาวนิดหน่อยนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443 แล้ว แต่ไม่ถือว่าเป็นการกระทําชั่วอย่างร้างแรง ของชายคู่หมั้นซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้น อันเป็นเหตุให้หญิงคู่หมั้นมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยให้ถือเสมือนว่าชายคู่หมั้นเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1444 ดังนั้น นางสาวสวยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ โดยไม่ต้องคืนของหมั้นตามมาตรา 1443

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาวสวยยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น เมื่อถึงวันจดทะเบียนสมรส นายหล่อได้ส่งมอบเงินของหมั้น 5,000,000 บาท ให้แก่นางสาวสวย แต่นางสาวสวยปฏิเสธ ไม่ยอมสมรสกับนายหล่อ จึงถือว่านางสาวสวยเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 ดังนั้น นายหล่อจึงสามารถ เรียกของหมั้นคืนได้ตามมาตรา 1439 และสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและการเตรียมการสมรสได้ตามมาตรา 1440

สรุป นายหล่อสามารถเรียกคืนของหมั้นและฟ้องเรียกค่าทดแทนต่อชื่อเสียงและการเตรียมการสมรสได้

 

ข้อ 2 นายสองเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนางพร ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายสอง กับนางพรได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม 2565 นายสองไปจดทะเบียนสมรส กับนางสาวก้อยซึ่งเป็นฝาแฝดคนพี่ โดยนายสองเข้าใจผิดคิดว่านางสาวก้อยคือนางสาวกั้งฝาแฝด คนน้องซึ่งเป็นคนรักของตน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายสองรู้ความจริงว่าตนไม่ได้สมรส กับนางสาวกั้งซึ่งเป็นบุคคลที่ตนประสงค์จะสมรสด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 นายสองจึงมายื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรส ส่วนนางพรก็ไปจดทะเบียนสมรสใหม่กับนายธวัช ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสองมายื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายสองกับนางสาวก้อยได้หรือไม่
เพราะเหตุใด

(ข) การสมรสระหว่างนางพรกับนายธวัชมีผลเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1453 “หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทําการสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่…”

มาตรา 1503 “เหตุที่ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะ ในกรณีที่คู่สมรสทําการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509

มาตรา 1505 “การสมรสที่ได้กระทําไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสําคัญผิดตัวคู่สมรส การสมรสนั้น
เป็นโมฆียะ

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะสําคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับเมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว
เก้าสิบวันนับแต่วันสมรส”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายสองและนางพรได้จดทะเบียนหย่ากันในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และนายสองได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาวก้อยในวันที่ 1 มกราคม 2565 นั้น ไม่ถือว่าเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ ตามมาตรา 1452 แต่การที่นายสองได้สมรสกับนางสาวก้อยนั้น เป็นเพราะนายสองเข้าใจผิดคิดว่านางสาวก้อย คือนางสาวทั้งฝาแฝดคนน้องซึ่งเป็นคนรักของตน จึงถือว่านายสองได้กระทําไปโดยสําคัญผิดตัวคู่สมรส ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสองกับนางสาวก้อยจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 1505 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายสองย่อมสามารถ ร้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1503

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสองได้รู้ความจริงว่าตนไม่ได้สมรสกับนางสาวกั้งซึ่งเป็นบุคคลที่ตนประสงค์จะสมรสด้วย คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 แต่ได้มายื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรส ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลาที่การสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้ว 90 วันนับแต่วันสมรส ทําให้สิทธิขอเพิกถอน การสมรสเพราะสําคัญผิดตัวคู่สมรสเป็นอันระงับไปแล้วตามมาตรา 1505 วรรคสอง ดังนั้น นายสองจึงไม่มีสิทธิ ที่จะยื่นคําร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างตนกับนางสาวก้อย

(ข) การที่นางพรได้จดทะเบียนสมรสใหม่กับนายธวัชในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นั้น ถือเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1453 เพราะหญิงที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทําการสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน แต่อย่างไรก็ตามไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการสมรส ที่ฝ่าฝืนมาตรา 1453 นั้น จะมีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้น การสมรสระหว่างนางพรกับนายธวัชจึงมีผลสมบูรณ์

สรุป
(ก) นายสองจะยื่นคําร้องขอต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายสองกับนางสาวก้อย ไม่ได้
(ข) การสมรสระหว่างนางพรกับนายธวัชมีผลสมบูรณ์

 

ข้อ 3 นายก่อและนางขวัญเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายก่อและนางขวัญทะเลาะกันอย่างรุนแรง
ทั้งสองตัดสินใจแยกกันอยู่ และนายก่อออกจากบ้านไปอยู่ต่างจังหวัดตามลําพัง ต่อมานางขวัญ ประสบอุบัติเหตุขาหัก นางขวัญยืมเงินนายอ้นจํานวน 50,000 บาท มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตน โดยนางขวัญไม่บอกนายก่อเรื่องการกู้ยืมเงิน หลังจากนั้นนายก่อได้นําบ้านที่นายก่อมีมาก่อนสมรส ไปให้บุคคลอื่นเช่า ได้ค่าเช่าเป็นเงินจํานวน 20,000 บาท นายก่อนําเงินค่าเช่าทั้งหมดไปให้นายพงษ์ น้องเขยของนายก่อยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยที่นายพงษ์ไม่ทราบว่านายก่อนําเงินค่าเช่าบ้านมาให้ตนยืม และนางขวัญก็ไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้ยืมเงินนั้นแต่อย่างใด ดังนี้

(ก) นายก่อจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ 50,000 บาท ที่นางขวัญไปกู้ยืมมาจากนายอ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) นางขวัญจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายก่อให้ยืมเงินแก่นายพงษ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่งอสังหา ริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน
สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับ
ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริต
และเสียค่าตอบแทน”
มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรส ดังต่อไปนี้

(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายก่อและนางขวัญเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย แม้นายก่อและนางขวัญทะเลาะกัน อย่างรุนแรง และทั้งสองตัดสินใจแยกกันอยู่ โดยนายก่อออกจากบ้านไปอยู่ต่างจังหวัดตามลําพังนั้น ย่อมถือว่า ทั้งสองยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ตามกฎหมาย และการที่นางขวัญประสบอุบัติเหตุขาหักจึงไปยืมเงินจากนายอ้น 50,000 บาท เพื่อมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของตน ถือเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว จึงเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 (1) ดังนั้น นายก่อจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวกับนางขวัญด้วย

(ข) การที่นายก่อได้นําบ้านที่นายก่อมีมาก่อนสมรสไปให้บุคคลอื่นเช่า นายก่อย่อมสามารถทําได้ เนื่องจากเป็นการจัดการสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (1) และมาตรา 1473 แต่เงินค่าเช่าจํานวน 20,000 บาทนั้น ถือเป็นดอกผลของสินส่วนตัว จึงเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) เมื่อนายก่อนําเงินค่าเช่าบ้านทั้ง 20,000 บาท ซึ่งเป็นสินสมรสไปให้นายพงษ์ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย ถือเป็นการทํานิติกรรมตามมาตรา 1476 (4) ที่สามีภริยา ต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายพงษ์จะเป็นบุคคลภายนอกที่กระทําการโดยสุจริต เพราะนายพงษ์ไม่ทราบว่านายก่อได้นําเงินค่าเช่าบ้านซึ่งเป็นสินสมรสมาให้ตนยืม แต่เมื่อการที่นายพงษ์ยืมเงินจากนายก่อนั้น นายพงษ์ไม่ได้เสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด จึงไม่ถือว่านายพงษ์ ได้เสียค่าตอบแทน ดังนั้น เมื่อการกู้ยืมเงินดังกล่าว นางขวัญไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม นางขวัญจึงมีสิทธิ ฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินแก่นายพงษ์ได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

สรุป
(ก) นายก่อจะต้องร่วมรับผิดในหนี้จํานวน 50,000 บาท ที่นางขวัญไปกู้ยืมมาจากนายอ้น
(ข) นางขวัญจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่นายก่อให้ยืมเงินแก่นายพงษ์ได้

 

ข้อ 4 นายสิงห์และนางสร้อยเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย นางสร้อยแอบไปคบกับนายกล้าแฟนเก่า จนทั้งสองมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งถึงขั้นร่วมประเวณีกัน เมื่อนายสิงห์ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น นายสิงห์ ได้ให้นางสร้อยเลือกว่าจะอยู่กับใคร นางสร้อยตัดสินใจว่าจะอยู่กับนายสิงห์โดยสัญญาว่าจะเลิกติดต่อกับนายกล้าตลอดไป นายสิงห์และนางสร้อยจึงกลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมโดยที่นางสร้อย ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับนายกล้าอีก 8 เดือนต่อมา นางสร้อยคลอดบุตรออกมาชื่อ ด.ญ.นิด นายสิงห์ได้ยินเพื่อนบ้านนินทาเรื่องที่นางสร้อยเคยมีชู้กับนายกล้า และสงสัยกันว่า ด.ญ.นิด อาจเป็นลูกของนายกล้า เพราะ ด.ญ.นิด มีใบหน้าที่ไม่เหมือนนายสิงห์ นายสิงห์รู้สึกอับอายและโกรธขึ้นมาอีกครั้ง ต่อมานายสิงห์ไปร่วมประเวณีกับนางสาวแก้ว โดยนายสิงห์พานางสาวแก้วไปพบกับเพื่อน ๆ และแนะนําว่านางสาวแก้วเป็นภริยาอีกคนของตน แต่นายสิงห์ไม่เคยให้เงินแก่นางสาวแก้วไว้ใช้จ่ายเพราะเห็นว่านางสาวแก้วมีฐานะดีอยู่แล้ว ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสิงห์จะฟ้องหย่านางสร้อยโดยอ้างเหตุว่านางสร้อยมีชู้ได้หรือไม่ และ ด.ญ.นิด เป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของใคร เพราะเหตุใด

(ข) นางสร้อยจะฟ้องหย่านายสิงห์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วม ประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1518 “สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทําการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว”

มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นางสร้อยภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์ ได้แอบไปคบหากับนายกล้าแฟนเก่า จนทั้งสองมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งถึงขั้นร่วมประเวณีกันนั้น ถือได้ว่านางสร้อยมีชู้แล้ว จึงเข้าเหตุที่ทําให้นายสิงห์ สามารถฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายสิงห์ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้น นายสิงห์ได้ให้ นางสร้อยเลือกว่าจะอยู่กับใคร ซึ่งนางสร้อยตัดสินใจว่าจะอยู่กับนางสิงห์โดยสัญญาว่าจะเลิกติดต่อกับนายกล้า ตลอดไป และนายสิงห์กับนางสร้อยจึงกลับมาอยู่ด้วยกันดังเดิมนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายสิงห์ได้ให้อภัยในการกระทําของนางสร้อยซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว ทําให้สิทธิในการฟ้องหย่าของนายสิงห์หมดไปตาม มาตรา 1518 ดังนั้น นายสิงห์จะฟ้องหย่านางสร้อยโดยอ้างเหตุว่านางสร้อยมีชู้อีกไม่ได้ แม้ว่านายสิงห์จะได้ยิน เพื่อนบ้านนินทาเรื่องที่นางสร้อยเคยมีชู้ก็ตาม เนื่องจากนางสร้อยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับนายกล้าอีกเลย

ส่วนบุตรคือ ด.ญ.นิด ซึ่งได้เกิดในระหว่างที่นางสร้อยเป็นภริยาของนายสิงห์ ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสร้อย และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์ตาม มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ด.ญ.นิด จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์และนางสร้อย

(ข) การที่นายสิงห์ไปร่วมประเวณีกับนางสาวแก้ว และนายสิงห์พานางสาวแก้วไปพบกับเพื่อนๆ และแนะนําว่านางสาวแก้วเป็นภริยาอีกคนของตนนั้น ถือว่านายสิงห์ได้ยกย่องผู้อื่นฉันภริยาซึ่งเข้าเหตุที่ทําให้ นางสร้อยสามารถฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) แม้ว่านายสิงห์จะไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูนางสาวแก้วเพราะไม่เคย ให้เงินนางสาวแก้วไว้ใช้จ่ายก็ตาม ดังนั้น นางสร้อยจึงสามารถฟ้องหย่านายสิงห์โดยอ้างเหตุที่นายสิงห์ยกย่อง นางสาวแก้วฉันภริยาได้ตามมาตรา 1516 (1)

สรุป
(ก) นายสิงห์จะฟ้องหย่านางสร้อยโดยอ้างเหตุว่านางสร้อยมีชู้ไม่ได้ และ ด.ญ.นิด เป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสิงห์และนางสร้อย

(ข) นางสร้อยสามารถฟ้องหย่านายสิงห์ได้

Advertisement