การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2101 (LAW2001) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 “ทรัพย์สิทธิ” และ “บุคคลสิทธิ” คืออะไร มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบให้เห็นชัดเจน

ธงคําตอบ

ทรัพยสิทธิ (Real Rights) หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือ ทรัพย์สินนั้นในอันจะบังคับเอาแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้โดยตรง ซึ่งทรัพย์สิทธิดังกล่าวนี้มักจะถูกบัญญัติก่อตั้งเอาไว้ ในบรรพ 4 เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิอาศัย ภาระติดพันในอสังหา ริมทรัพย์ ภาระจํายอม เป็นต้น รวมถึงสิทธิจํานองและสิทธิจํานําด้วย

ตัวอย่างของสิทธิที่เรียกว่าทรัพยสิทธิ เช่น นาย ก. มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหนึ่ง นาย ก. ย่อมมี อํานาจตามมาตรา 1336 ที่จะใช้สอย จําหน่าย หรือเอารถคันนั้นออกให้เช่าได้ หรือถ้ามีคนเอารถยนต์ของนาย ก. ไป นาย ก. มีสิทธิติดตามเอาคืนได้ เพราะทรัพยสิทธิเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือตัวทรัพย์บังคับเอากับทรัพย์โดยตรง

บุคคลสิทธิ (Personal Rights) หมายถึง สิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคล ซึ่งอยู่ในรูปของสิทธิเรียกร้อง ให้คู่สัญญากระทําการหรืองดเว้นกระทําการ เป็นสิทธิที่เกิดจากสัญญาเป็นหลัก เป็นสิทธิที่คู่สัญญาก่อตั้งขึ้น ทําให้บังคับได้เฉพาะคู่สัญญาจะไปบังคับเอาแก่บุคคลอื่นไม่ได้ เช่น นายดําทําสัญญาจ้างนายแดงมาร้องเพลง ในงานวันเกิดของตน ถึงวันงานนายแดงไม่มาร้องเพลง นายดําจะไปบังคับให้นายขาวซึ่งเป็นลูกชายของนายแดง และเป็นนักร้องเหมือนกันมาร้องเพลงแทนนายแดงไม่ได้ เพราะสิทธิที่นายดํามีต่อนายแดงเป็นเพียงบุคคลสิทธิใช้บังคับเฉพาะแก่คู่สัญญาเท่านั้น

ข้อแตกต่างระหว่าง “ทรัพยสิทธิ” และ “บุคคลสิทธิ

1 ทรัพยสิทธิจะมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน ส่วนบุคคลสิทธิจะมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทํา หรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง

2 ทรัพยสิทธิก่อตั้งขึ้นด้วยอาศัยอํานาจของกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุคคลสิทธิก่อตั้งขึ้นด้วย นิติกรรมสัญญาหรือนิติเหตุ

3 ทรัพยสิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไป ส่วนบุคคลสิทธิจะก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะที่จะต้องกระทําการหรืองดเว้นการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นไปตามความผูกพันของตนที่ก่อให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะโดยนิติกรรมหรือโดยนิติเหตุ

4 ทรัพยสิทธิไม่อาจสิ้นสุดไปโดยการไม่ใช้ ไม่มีอายุความสิ้นสิทธิ เช่น การที่เรามีกรรมสิทธิ์ ในที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งแม้เราจะไม่ใช้เราก็ยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ เช่น ในเรื่อง ภาระจํายอมหากมิได้ใช้ 10 ปี ย่อมสิ้นสุดไป ส่วนบุคคลสิทธินั้นอาจเสียสิทธิไปโดยการไม่ใช้ เช่น สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

 

ข้อ 2 ที่ดินของนายไก่และนายไข่อยู่ติดกันโดยทิศตะวันตกของที่ดินของนายไก่ติดถนนสุขุมวิทตลอดแนว นายไก่ทําสัญญากับนายไข่เป็นหนังสือให้นายไข่ได้สิทธิในการใช้ทางเดินและถนนกว้าง 3 เมตร ซึ่งตั้งอยู่กลางที่ดินของนายไก่ในการออกสู่ถนนสุขุมวิทอย่างทางภาระจํายอม ในเวลาต่อมา นายไก่ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายช้างโดยนายช้างรับรู้ถึงสัญญาระหว่างนายไก่และนายไข่เมื่อนายช้างเข้ามาในที่ดิน นายช้างประสงค์จะย้ายทางเดินและถนนตามสัญญาระหว่างนายไก่และนายไข่ดังกล่าวไปไว้ติดทางทิศเหนือของที่ดินตลอดแนว และลดความกว้างของถนนเหลือ 2.5 เมตร เพื่อที่นายช้างจะได้สามารถสร้างบ้านหลังใหญ่พร้อมสวนดอกไม้กลางที่ดินได้ อย่างไรก็ดีนายไข่ได้ขัดขวางมิให้นายช้างดําเนินการดังกล่าว

ดังนี้ นายช้างสามารถดําเนินการตามที่ประสงค์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทําเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจําหน่ายทรัพย์สิน ของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1387 “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจํายอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตน หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น”

มาตรา 1392 “ถ้าภาระจํายอมแตะต้องเพียงส่วนหนึ่งแห่งภารยทรัพย์ เจ้าของทรัพย์นั้นอาจเรียก ให้ย้ายไปยังส่วนอื่นก็ได้ แต่ต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่ตนและรับเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องไม่ทําให้ความสะดวกของเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทาง นิติกรรมนั้น จะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิได้จะต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถ้าฝ่าฝืนจะมีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิ ใช้กล่าวอ้างได้เฉพาะคู่สัญญาเท่านั้น ไม่สามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อ บุคคลภายนอกได้ (มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ทําสัญญากับนายไข่เป็นหนังสือให้นายไข่ได้สิทธิในการใช้ทางเดิน และถนนกว้าง 3 เมตร ซึ่งตั้งอยู่กลางที่ดินของนายไก่ในการออกสู่ถนนสุขุมวิทอย่างภาระจํายอมนั้น ถือเป็นกรณี ที่นายไข่ได้ภาระจํายอมซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม และโดยผลแห่งกฎหมายของนิติกรรมนี้ เมื่อไม่มีการนําไปจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ แต่ในระหว่างคู่กรณียังมีผลผูกพันกันในฐานะบุคคลสิทธิ์ ดังนั้น เมื่อนายไก่ได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายช้าง แม้ว่านายช้างจะรับรู้ถึงสัญญาระหว่างนายไก่และนายไข่ นายไข่ก็จะนําการได้มาซึ่งภาระจํายอมดังกล่าวขึ้นต่อสู้ นายช้างบุคคลภายนอกไม่ได้ กล่าวคือ นายช้างไม่ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด

และเมื่อการได้ภาระจํายอมโดยทางนิติกรรมของนายไข่ไม่บริบูรณ์ในฐานะทรัพยสิทธิ และไม่มีผลผูกพันนายช้างซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ดังนั้น เมื่อนายช้างประสงค์จะย้ายทางเดินและถนน และลดความกว้างของถนน จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1387 และมาตรา 1392 นายช้างจึงสามารถดําเนินการใด ๆ กับที่ดินนั้นได้ ในฐานะเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือที่ดินนั้นตามมาตรา 1336

สรุป นายข้างสามารถดําเนินการตามที่ประสงค์ได้

 

ข้อ 3 ป่านเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง ทิศตะวันออกติดที่ดินโฉนดของปุ๋ยซึ่งไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาดูแล ป่านได้ลงมือสร้างบ้านในที่ดินของตน โดยมิได้มีการเรียกช่างมารังวัดก่อนการลงมือสร้างบ้านเมื่อป่านสร้างบ้านเสร็จปรากฏว่าบางส่วนของห้องครัวได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ย โดยป่านก็ใช้ประโยชน์จากบ้านทั้งหลังรวมทั้งห้องครัวเรื่อยมา หลังจากสร้างบ้านเสร็จมาเป็นเวลา 5 ปี ปุ๋ยเพิ่งรับทราบว่าบางส่วนของห้องครัวของป่านนั้นรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตน ปุ๋ยจึงเรียกให้ป่าน รื้อถอนห้องครัวส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของตนออกเสีย ป่านจึงอ้างว่าตนได้ก่อสร้างบ้านโดยสุจริต ดังนั้น ปุ๋ยจะต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วนของห้องครัวให้ป่าน

ดังนี้ ป่านจะต้องรื้อถอนส่วนของห้องครัวที่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ยหรือไม่ หรือปุ๋ยจะต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วนของห้องครัวให้ป่าน เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1312 “บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้น เป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็น ภาระจํายอมต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้ ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทําการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทําที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้”

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

มาตรา 1401 “ภาระจํายอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นําบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิ อันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ์นี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1312 การที่จะถือว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของบุคคลอื่นโดยสุจริตหรือไม่สุจริตนั้น จะต้องดูจากขณะที่ก่อสร้างว่าผู้ก่อสร้างรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของคนอื่น ถ้ารู้ก็ถือว่า ก่อสร้างโดยไม่สุจริต แต่ถ้าไม่รู้ว่าที่ดินเป็นของบุคคลอื่นโดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองจึงสร้างโรงเรือนลงไป ครั้นภายหลังจึงรู้ความจริง ย่อมถือว่าเป็นการก่อสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยสุจริต แต่อย่างไรก็ตาม หากความไม่รู้ ดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ก่อสร้าง กฎหมายให้ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำโดยไม่สุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ป่านสร้างบ้านลงในที่ดินของตนเองโดยไม่ได้รังวัดสอบเขตนั้น ถือเป็น กรณีที่ป่านประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบเขตที่ดินให้ดีเสียก่อนที่จะทําการปลูกสร้าง และเมื่อปรากฏว่าหลังจาก สร้างเสร็จ บางส่วนของห้องครัวได้รุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของปุ๋ย การกระทําของป่านจึงเป็นการสร้างโรงเรือน รุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามมาตรา 1312 วรรคสอง ดังนั้นป่านจึงต้องรื้อถอนส่วนของห้องครัวที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ย

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าป่านได้ใช้ประโยชน์จากบ้านทั้งหลังรวมทั้งห้องครัวเรื่อยมาเป็นเวลา 5 ปี ยังไม่ครบ 10 ปี ป่านจะอ้างว่าตนได้ก่อสร้างบ้านโดยสุจริต ดังนั้น ปุ๋ยจะต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วน ของห้องครัวให้ป่านนั้นหาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะการได้ภาระจํายอมโดยอายุความครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1401 นั้น บัญญัติให้นําอายุความได้สิทธิตามมาตรา 1382 มาบังคับใช้โดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามยทรัพย์ ได้ใช้ประโยชน์ในภารยทรัพย์ โดยความสงบ เปิดเผย และมีเจตนาจะได้สิทธิภาระจํายอมในภารยทรัพย์ โดยต้อง ใช้ประโยชน์ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี

สรุป ป่านจะต้องรื้อถอนส่วนของห้องครัวที่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของปุ๋ย และปุ๋ยไม่ต้องจดทะเบียนภาระจํายอมในส่วนของห้องครัวให้ป่าน

 

ข้อ 4 หมูเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดเลขที่ 12345 ซึ่งหมูได้ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัยในที่ดินแปลงดังกล่าว ตลอดมา ต่อมาหมูจะดําเนินการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ หมูจึงได้นําเอกสารและสัมภาระต่าง ๆ ของตนไปฝากไว้ที่บ้านของลิงซึ่งเป็นพี่ชายของตน รวมถึงโฉนดที่ดินเลขที่ 12345 ดังกล่าวด้วย ต่อมาลิงได้นําหนังสือมอบอํานาจปลอมที่มีลายมือชื่อของหมูไปดําเนินการโอนโฉนดที่ดินฉบับ ดังกล่าวให้เป็นชื่อของตน เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หมูได้ดําเนินการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ภายในบ้านที่ปลูกสร้างไว้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 และพบว่ายังมีเอกสารบางส่วนที่ยังอยู่กับลิง หมูจึงไปขอรับเอกสารคืนจากลิง และได้รับแจ้งจากลิงว่าหมูต้องย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 และลิงจะเข้าไปอยู่อาศัยแทนหมู เนื่องจากลิงได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมูโดยลิง มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดแปลงดังกล่าวมาเกิน 10 ปีแล้ว

ดังนี้ หมูต้องย้ายออกจากที่ดินตามคํากล่าวอ้างของลิงหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย การครอบครองปรปักษ์ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ

1 เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์

2 ได้ครอบครองโดยความสงบ

3 ครอบครองโดยเปิดเผย

4 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ

5 ครอบครองติดต่อกันมาเป็นเวลา 10 ปี

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หมูซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดเลขที่ 12345 ซึ่งหมูได้ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมา ต่อมาหมูจะดําเนินการปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่ หมูจึงได้นําเอกสารและสัมภาระต่าง ๆ รวมถึงโฉนดที่ดินเลขที่ 12345 ไปฝากไว้ที่บ้านของลิง ต่อมาลิงได้นําหนังสือมอบอํานาจปลอมที่มีลายมือชื่อของหมู ไปดําเนินการโอนโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวให้เป็นชื่อของตน จนเวลาผ่านไป 10 ปีนั้น การที่ลิงมีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดิน ดังกล่าวเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยที่ยังไม่ได้ยึดถือที่ดินเลย จึงไม่ถือว่าเป็นการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน โฉนดเลขที่ 12345 แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อลิงมิได้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ลิงจึงไม่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 และเมื่อลิงแจ้งให้หมูย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12345 เพราะ ลิงจะเข้าไปอยู่อาศัยแทนหมู เนื่องจากลิงได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของหมู หมูจึงไม่ต้องย้ายออกจากที่ดินตาม คํากล่าวอ้างของลิง

สรุป หมูไม่ต้องย้ายออกจากที่ดินตามคํากล่าวอ้างของลิง

Advertisement