LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007  กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ผู้กำกับการสถานีตำรวจสั่งให้  ร.ต.อ.สุเทพทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ  ร.ต.อ.สุเทพนำเงินดังกล่าวไปฝากพี่สาว  มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ  เวลาผ่านไป  2  เดือน  ผู้กำกับการสถานีตำรวจรู้เข้า  จึงสั่งให้  ร.ต.อ.สุเทพ  นำเงินมาคืนแก่ทางราชการ  ร.ต.อ.สุเทพก็นำเงินมาคืนจนครบ  ดังนี้  ร.ต.อ.สุเทพ  มีความผิดประการใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  147  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่  ซื้อ  ทำ  จัดการ  หรือ  รักษาทรัพย์ใด  เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน  หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

องค์ประกอบความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  147  ประกอบด้วย

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       มีหน้าที่ซื้อ  ทำ  จัดการ  หรือรักษาทรัพย์ใด

3       เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน  หรือเป็นของผู้อื่น  หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย

4       โดยทุจริต

5       โดยเจตนา

เจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือน  จากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่  ทำ  จัดการ  หรือรักษาทรัพย์  หากเจ้าพนักงานผู้นั้นไม่มีหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิด  ตามมาตรา  147

หน้าที่ซื้อ  เช่น  มีหน้าที่ซื้อพัสดุหรือเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้ในสำนักงาน

หน้าที่ทำ  เช่น  มีหน้าที่ประดิษฐ์เครื่องใช้เครื่องยนต์ขึ้นใหม่  หรือมีหน้าที่ซ่อมแซม  แก้ไข  เครื่องใช้เครื่องยนต์ที่ชำรุดให้ดีขึ้น

หน้าที่จัดการ  เช่น  หน้าที่ในการจัดการโรงงาน  จัดการคลังสินค้า  เป็นต้น

หน้าที่รักษา  เช่น  เป็นเจ้าหน้าที่การเงินก็ย่อมต้องดูแลรักษาเงินที่ได้รับมานั้นด้วย

เบียดบัง  หมายความว่า  การเอาเป็นของตน  หรือแสดงให้ปรากฏว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นตัวอย่างเช่น  เอาทรัพย์นั้นไปใช้อย่างเจ้าของ  หรือจำหน่ายทรัพย์นั้นไป

การเบียดบังที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการเบียดบังทรัพย์  ถ้าเบียดบังเอาอย่างอื่น  เช่น  แรงงาน  กรณีนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา  147  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นก็ตาม  และเป็นความผิดสำเร็จเมื่อเบียดบังเอาทรัพย์ไปแม้จะนำมาคืนในภายหลัง  ก็ยังคงมีความผิด

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์  หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น  ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยมีเจตนา  ตามมาตรา  59  และต้องมีเจตนาพิเศษ  คือ  โดยทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น  ถ้าผู้กระทำขาดเจตนาโดยทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ร.ต.อ.สุเทพซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่เก็บรักษาเงินประกันตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจ  ได้นำเงินดังกล่าวไปฝากพี่สาว  มิได้นำมาเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการนั้น  เมื่อ  ร.ต.อ.สุเทพเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเอาทรัพย์  (เงินประกันตัวผู้ต้องหา)  นั้นไป  พฤติการณ์แสดงว่า  ร.ต.อ.สุเทพมีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินนั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นแล้ว  แม้ต่อมาในภายหลัง  ร.ต.อ.สุเทพจะได้นำเงินมาคืนแก่ทางราชการจนครบ  การกระทำของ  ร.ต.อ.สุเทพก็เป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  147  ทุกประการ  ดังนั้น  ร.ต.อ.สุเทพจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา  147  (ฎ. 473/2527)

สรุป  ร.ต.อ.สุเทพมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  147

 

ข้อ  2  นายเดชไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมี  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  ไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมีแต่ประการใด  ซึ่งนายเดชก็ทราบดี  ดังนี้  นายเดชมีความผิดทางอาญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  173  ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  173  นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้  คือ

1       รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น

2       แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน  หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

3       ว่าได้มีการกระทำผิด

4       โดยเจตนา

ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน  ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย  แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น  ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว  ต้องปรับตามบทมาตรา  172  มิใช่มาตรา  173  นี้

การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  173  นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น  ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การแจ้งตามมาตรา  173  นี้  อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่  ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด  เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว  ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ  ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายเดชไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมี  ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายหมีแต่ประการใดนั้น  ถือเป็นกรณีที่นายเดชรู้ว่า  มิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของนายเดชจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  นายเดชจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  173

สรุป  นายเดชมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา  173

 

ข้อ  3  นายสาและนางสีจดทะเบียนสมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย  นายสาและนางสีได้ร่วมกันซื้อบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว  ขนาด  2  ห้องนอน  นายสาและนางสีนอนคนละห้อง  วันเกิดเหตุ  นายสาจุดบุหรี่สูบในห้องนอนแล้วเผลอหลับไป  ปรากฏว่าบุหรี่ไหม้พื้นห้องแล้วลุกลามไหม้ห้องของนายสา  นายสารู้สึกตัวตื่นขึ้นดับไฟได้ทัน  ก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ห้องของนางสีซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในเวลานั้น  ดังนี้  นายสามีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  225  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายหรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225  ประกอบด้วย

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       โดยประมาท

3       เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

กระทำให้เกิดเพลิงไหม้  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆซึ่งทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้น  โดยสิ่งที่ไหม้นั้นจะเป็นวัตถุหรือทรัพย์ของผู้อื่น  ของตน  หรือที่ไม่มีเจ้าของ  ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

โดยประมาท  หมายถึง  กระทำโดยไม่เจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่

เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หมายความว่า  จะต้องเกิดความเสียหายขึ้นจริงๆแล้วจึงจะเป็นความผิด  ถ้าไม่มีความเสียหายหรือเพียงน่าจะเสียหายก็ยังไม่เป็นความผิด  แต่ข้อสำคัญก็คือว่า  ทรัพย์ที่เสียหายนั้นจะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น  ถ้าเป็นทรัพย์ของตัวเอง  ไม่ผิดมาตรานี้

น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  หมายความว่า  เพียงแต่น่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต(ความตาย)  ของบุคคลอื่น  ก็เป็นความผิดแล้ว ดังนั้นถ้าน่าจะเป็นอันตรายแก่กาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของตนเอง  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสาจุดบุหรี่สูบในห้องนอนแล้วเผลอหลับไป  ทำให้บุหรี่ไหม้พื้นห้อง  แล้วลุกลามไหม้ห้องของนายสานั้น การกระทำของนายสาถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทแล้ว  และแม้ว่านายสาจะรู้สึกตัวตื่นขึ้น  และดับไฟได้ทันก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ห้องของนางสีซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในเวลานั้น  การกระทำของนายสาที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้น  ได้เข้าองค์ประกอบความผิดที่ว่า  น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่นแล้ว  แม้ว่าตามข้อเท็จจริงนางสีจะไม่ได้รับอันตรายใดๆก็ตาม  ดังนั้นการกระทำของนายสาจึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  225  นายสาจึงมีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา 225

สรุป  นายสามีความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225

 

ข้อ  4  นายแดงกู้เงินจากนาย  ก  จำนวน  100,000  บาท  นายแดงทำสัญญากู้ส่งมอบให้นาย  ก  เก็บรักษาไว้  วันเกิดเหตุ  นาย  ก  นำสัญญากู้ขึ้นมาอ่าน  นาย  ก  พบว่าสัญญากู้ไม่ได้ลงนามในสัญญา  นาย  ก  จึงขอให้นายขาวช่วยลงนามเป็นพยานในสัญญากู้  นายขาวจึงเซ็นชื่อลงไปในสัญญากู้และเขียนข้อความต่อท้ายว่า  “พยานผู้ให้การรับรอง”  ข้อเท็จจริงได้ความว่า  การที่นายขาวเซ็นชื่อในฐานะพยานนั้น  นายแดงผู้กู้ไม่ได้ยินยอมด้วยแต่ประการใด  ดังนี้  นายขาวมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

 1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

 ในเรื่องการปลอมเอกสาร  ที่เป็นการเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หมายความว่า  มีเอกสารที่แท้จริงอยู่แล้ว  ต่อมามีการเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไขข้อความ  เพื่อให้เข้าใจว่ามีการกระทำนั้นๆมาก่อนแล้ว  ดังนั้นการเติม  ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อกระทำต่อเอกสารที่แท้จริง  ถ้ากระทำต่อเอกสารปลอม  ย่อมไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร

เติม  หมายถึง  การเพิ่มข้อความในเอกสารที่แท้จริง

ตัดทอน  หมายถึง  ตัดข้อความบางตอนออกจากเอกสารที่แท้จริง

แก้ไข  หมายถึง  การกระทำทุกอย่างอันเป็นการแก้ไขข้อความให้ผิดไปจากข้อความเดิม

นอกจากนี้การเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไข  ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ  ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้  ถ้าหากว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

อย่างไรก็ตามจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนา  และการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  หรือประชาชนด้วย  แม้ความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม  ทั้งนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายขาวได้เซ็นชื่อลงไปในสัญญากู้  และเขียนข้อความต่อท้ายว่า  “พยานผู้ให้การรับรอง”  ถือได้ว่าเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง  และนายขาวได้กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ  เพราะนายแดงผู้กู้ไม่ได้ยินยอมด้วยแต่ประการใด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  653  วรรคแรก  เรื่องหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น  กฎหมายก็มิได้บังคับว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยานด้วยแต่อย่างใด  เมื่อมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมในหลักฐานนั้น  แม้ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยาน  ก็สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้  สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ดังนั้นการที่นายขาวเซ็นชื่อและเขียนข้อความเพิ่มเติมในภายหลัง  การกระทำดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่นายแดงผู้กู้ยืมเงินได้ นายขาวจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  (ฎ. 1126/2505)

เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา  264  วรรคแรก  จึงไม่จำต้องพิจารณาบทบัญญัติ  มาตรา  265  แต่อย่างใด  แม้สัญญากู้ยืมจะเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา  265  ก็ตาม

สรุป  นายขาวไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264265

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน  (มาตรา  149)  จงอธิบายหลักกฎหมาย  (พอสังเขป)  และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  149  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เรียกรับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ  หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด  ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น  จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน  ตามมาตรา  149  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       เป็นเจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

2       เรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

3       เพื่อกระทำการ  หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

4       โดยเจตนา

เรียก  หมายถึง  การที่เจ้าพนักงานฯแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้

รับ  หมายถึง  การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ  และเจ้าพนักงานฯได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว

ยอมจะรับ  หมายถึง  การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ  และเจ้าพนักงานฯ  ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต  แต่ยังไม่ได้รับ

การเรียก  รับ  หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง  คือ

(ก)  เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่าง  ร.ต.อ.แดง  ออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดำฆ่าคนตายโดยเจตนา  แต่  ร.ต.อ.แดงไม่ยอมจับกุมนายดำ  นายขาวจึงยื่นเงินให้ ร.ต.อ.แดง  10,000  บาท  เพื่อให้จับกุมนายดำ  ร.ต.อ.แดงรับเงินมาแล้ว  จึงจับกุมนายดำส่งสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี  ดังนี้  ร.ต.อ.แดงย่อมมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา  149

(ข)  เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง  ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่าง  นายเอกเป็นตำรวจจราจร  กำลังตั้งด่านตรวจ  พบเห็นนายโทขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค  จึงเรียกให้จอด  แล้วบอกกับนายโทว่า  “ถ้าไม่อยากถูกออกใบสั่ง  ขอเงินให้ตน 500”  ดังนี้  แม้นายโทจะไม่ได้ให้เงินตามที่นายเอกบอก นายเอกก็มีความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตามมาตรา  149  แล้ว

 

ข้อ  2  ก  ตำรวจตรวจค้นตัว  ข  โดยชอบด้วยกฎหมาย  ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในตัว  ข  คุมตัว  ข  จากที่เกิดเหตุเดินข้ามสะพานข้ามคลองไปฝั่งตรงข้ามประมาณ  30  เมตร  จึงปล่อยตัว  ข  ไป  ดังนี้  ก  ตำรวจจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก  ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ตำรวจตรวจค้นตัว  ข  แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย  แล้วไม่ยอมปล่อยตัว  ข  ทันที  แต่กลับคุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่งดังกล่าวนั้น  ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่มีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย  หรืออีกนัยหนึ่งถือเป็นการกลั่นแกล้ง  ข  ดังนั้น  จึงถือได้ว่า  ก  ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว  โดยมีเหตุจูงใจพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่  ข  และได้กระทำไปโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของ  ก  ตำรวจจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  ก  ตำรวจจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา  157

สรุป  ก  ตำรวจมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ตามมาตรา  157

 

ข้อ  3  ชาวบ้าน  20  คน  ได้จัดขบวนแห่นาคจะไปอุปสมบทที่วัดแห่งหนึ่ง  ระหว่างทางที่ขบวนแห่นาคมาถึงหน้าตลาด  จำเลยเมาสุราได้ยิงปืนขึ้นฟ้า  2  นัด  เป็นเหตุให้ขบวนแห่นาคเกิดความโกลาหลวุ่นวาย  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  207  ผู้ใดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน  นมัสการหรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ  โดยชอบด้วยกฎหมาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนตามมาตรา  207  ประกอบด้วย

1       ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชน

2       เวลาประชุมกัน  นมัสการ  หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ

3       โดยชอบด้วยกฎหมาย

4       โดยเจตนา

สำหรับการก่อให้เกิดความวุ่นวายที่จะมีความผิดดังกล่าวข้างต้นนั้น  จะต้องเกิดในเวลาประชุมกันในเวลานมัสการ  หรือในเวลากระทำพิธีกรรมและต้องเป็นเรื่องตามศาสนาด้วย  เช่น  เวลาสวดมนต์ไหว้พระ  เวลาทำพิธีบรรพชาอุปสมบท  และไม่จำกัดสถานที่ว่าจะต้องทำในสถานที่ใด  อาจจะเป็นในบ้านก็ได้  ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาแล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้า  แม้จะทำให้ขบวนแห่นาคเกิดความโกลาหลวุ่นวาย  แต่เมื่อปรากฏว่าการแห่นาคเป็นเพียงการกระทำตามประเพณีนิยม  ไม่ใช่พิธีกรรมตามศาสนา  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา  207  เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา  207  ได้นั้น  จะต้องเป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน  นมัสการ  หรือกระทำพิธีกรรมทางศาสนา

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามมาตรา  207

 

ข้อ  4  นายแดงยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน  จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินได้ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  และได้ประกาศแจกโฉนดให้ราษฎรที่ยื่นคำขอไว้มารับ  นายแดงมาขอรับแต่จำเลยยังไม่ได้มอบโฉนดให้นายแดงไป  ต่อมามีผู้มาขออายัดการออกโฉนด  จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่ออกโฉนดจึงไม่แจกโฉนด  จากการที่มีผู้มาขออายัด  จำเลยเกรงว่าโฉนดที่ออกไปแล้วนั้นจะเป็นโฉนดที่สมบูรณ์  จำเลยจึงได้ทำการลบ  วัน  เดือน  ปี  และลายเซ็นชื่อของจำเลยเอง  ซึ่งได้เซ็นไว้ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินออกเสีย  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การเติม  ตัดทอน  หรือแก้ไข  ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ  ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้  ถ้าหากว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว  ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่จำเลยลบวัน  เดือน  ปี  และลายเซ็นของจำเลยเองนั้นไม่ถือเป็นการปลอมเอกสาร  เพราะว่าเมื่อยังไม่ได้ส่งมอบโฉนดให้นายแดงไป  จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินรายนี้ออกโฉนดแล้ว  และโฉนดรายนี้ยังเป็นเอกสารที่อยู่ในความยึดถือหรือในความรับผิดชอบของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่  และถือว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  เมื่อมีเหตุเปลี่ยนแปลง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่ดำเนินการออกโฉนด  ย่อมมีอำนาจที่จะแก้ไขเสียได้  ไม่ถือเป็นการปลอมเอกสารแต่อย่างใด  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 สอบซ่อม ภาคฤดูร้อน/2547

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  รถจักรยานยนต์ของเจนจบหายไป  เจนจบเข้าใจว่าจ้อนเอาไป  เจนจบพบจ้อน  เจนจบชักอาวุธปืนที่มีกระสุนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมกับขึ้นนกจี้ศีรษะจ้อน  บังคับให้จ้อนยอมรับว่าเอารถจักรยานยนต์ของเจนจบไป  จ้อนสะบัดมือและปัดป้องอาวุธปืน  อาวุธปืนลั่นกระสุนปืนถูกหางคิ้วจ้อน  และเลยไปถูกจุ๋มแม่ค้าขายลูกชิ้นปิ้งในบริเวณนั้นตายด้วย  ดังนี้  เจนจบต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

การที่เจนจบใช้อาวุธปืนที่มีลูกกระสุนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมกับขึ้นนกจี้ที่ศีรษะจ้อน  การกระทำของเจนจบเป็นการขู่จ้อนให้ยอมรับว่าเอารถจักรยานยนต์ของเจนจบไป  เจนจบไม่มีเจนากระทำต่อจ้อนไม่ว่าจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเจตนาย่อมเล้งเห็นผลตามมาตรา  59 วรรคสอง  หากเจนจบมีเจตนากระทำต่อจ้อนย่อมทำได้อยู่แล้ว  เพราะอาวุธปืนพร้อมที่จะยิงและอยู่ในระยะกระชั้นชิดติดกันเช่นนั้น  แต่การที่เจนจบใช้อาวุธปืนจี้ศีรษะไว้ในขณะที่อาวุธปืนขึ้นนกโดยมีกระสุนบรรจุในรังเพลิง

เมื่อจ้อนสะบัดมือและปัดป้องอาวุธปืน  อาวุธปืนลั่นกระสุนปืนถูกจ้อน  ถือได้ว่าเจนจบกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งเจนจบจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  จึงเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่

และกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิดจึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ส่วนผลที่ไปเกิดกับจุ๋มมิใช่ผลซึ่งเกิดขึ้นโดยพลาดไปตามมาตรา  60  เพราะเมื่อเจนจบมิได้มีเจตนากระทำต่อจ้อนผลอันเกิดกับจุ๋มจึงมิใช่เจตนาโดยพลาดไป

สรุป

1       เจนจบต้องรับผิดต่อจ้อนเพราะได้กระทำไปโดยประมาทและกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด

2       เจนจบไม่มีเจตนากระทำต่อจุ๋มเพราะไม่เป็นการกระทำโดยพลาด

 

ข้อ  2  โตตั้งใจจะฆ่าใหญ่  โตเห็นเบิ้มยืนคุยอยู่กับน้อยซึ่งเป็นเพื่อนกับโต  โตเข้าใจว่าเบิ้มคือใหญ่คนที่ตนต้องการฆ่า  โตยกปืนเล็งไปที่เบิ้ม  น้อยเห็นโตกำลังจะยิงเบิ้มซึ่งมิใช่ใหญ่ที่โตต้องการฆ่า  น้อยรีบเข้าปัดปืนของโตเฉไป  กระสุนปืนจึงเลยไปถูกเล็กตาย  ดังนี้  โตต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

โตได้กระทำต่อเบิ้มโดยเจตนาประสงค์ต่อผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แม้ว่าโตจะต้งใจฆ่าใหญ่  แล้วโตเห็นเบิ้มยืนคุยอยู่กับน้อยซึ่งเป็นเพื่อนกับโต  โดยที่โตเข้าใจว่าเบิ้มคือใหญ่คนที่ตนต้องการฆ่า  ดังนั้น  เมื่อโตเจตนาจะกระทำต่อใหญ่  แต่ได้กระทำต่อเบิ้มโดยสำคัญผิด  โตจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำต่อเบิ้มโดยเจตนามิได้ตาม  มาตรา  61  แต่การกระทำของโตต่อเบิ้มกระทำไปไม่ตลอดจึงเป็นพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80

เมื่อโตยกปืนเล็งไปที่เบิ้มน้อยเห็นโตกำลังจะยิงเบิ้มซึ่งไม่ใช่ใหญ่ที่โตต้องการฆ่า  น้อยจึงรีบเข้าปัดปืนของโตให้เฉไป  กระสุนจึงเลยไปถูกเล็กตาย  ผลของการกระทำจึงเกิดขึ้นกับเล็กโดยพลาดไป  ดังนั้น  เมื่อโตเจตนากระทำต่อเบิ้มแต่ผลของการกระทำเกิดขึ้นแก่เล็กโดยพลาดไป  ให้ถือว่าโตเจตนากระทำต่อเล็กตามมาตรา  60

สรุป  โตเจตนากระทำต่อเบิ้มและเจตนากระทำต่อเล็กโดยพลาดไป  จึงต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  3  ก้องและหนุ่มไปเที่ยวงานเทศบาล  ระหว่างทางได้พบเต๋าเมาสุราเดินสวนมา  ก้องเดินเข้าไปหาเต๋าเพื่อทักทาย  กลับถูกเต๋าผลักล้มลง  หนุ่มเข้าไปจะช่วยประคองก้อง  เต๋าถีบหนุ่มและชักมีดปลายแหลมแทงไปที่หนุ่ม  หนุ่มเข้าแย่งมีดจากเต๋า  เต๋าเตะและต่อยก้องและหนุ่มแล้ววิ่งหนี้ไป  ก้องและหนุ่มวิ่งไล่ตาม  ก้องวิ่งไม่ทันจึงหยุดส่วนหนุ่มวิ่งตามไปทันเต๋า  ใช้ไม้ตีเต๋าถึงแก่ความตาย  

ดังนี้  ก้องและหนุ่มต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

การที่ก้องเดินเข้าไปกาเต๋านั้นเพื่อทักทายมิได้มีเจตนาจะทำอันตรายหรือสมัครใจวิวาทตามมาตรา  59  วรรคสอง  กับเต๋า  การที่เต๋าผลักก้องล้มลงไป  ถีบหนุ่ม  และชักมีดแทงหนุ่ม  เต๋าได้ก่อภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายแก่กายก้องและหนุ่มและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึงแต่เมื่อเต๋าได้วิ่งหนีไปแล้ว  ก็ไม่มีภยันตรายใดที่ก้องและหนุ่มจะต้องป้องกันอีก  การที่หนุ่มวิ่งตามไปทันเต๋าและใช้ไม้ตีเต๋าตายจึงอ้างว่าเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ไม่ได้  แต่การที่เต๋าเตะต่อยและชักมีดออกแทงหนุ่มนั้น  เป็นการข่มเหงหนุ่มอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  หนุ่มอ้างได้ว่ากระทำไปโดยบันดาลโทสะตามมาตรา  72  ส่วนก้องวิ่งไม่ทันจึงหยุด  ก้องมิได้ลงมือกระทำความผิด  ก้องไม่มีความผิด

สรุป  หนุ่มเจตนากระทำต่อเต๋า  หนุ่มอ้างป้องกันไม่ได้  คงอ้างได้แต่บันดาลโทสะ  ส่วนก้องไม่มีความผิด

 

ข้อ  4  เอก  หนึ่ง  และเก่ง  ร่วมกันพานางสาวติ๋มไปที่บ้านของเอก  หลังจากดื่มและกินกันจนอิ่มแล้ว  เอกได้ร่วมประเวณีกับนางสาวติ๋ม โดยนางสาวติ๋มยินยอม  เมื่อเอกออกจากห้องไปแล้ว  ได้ปล่อยให้หนึ่งและเก่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรานางสาวติ๋มในห้องทีละคน  โดยเอกมิได้ขัดขวางหรือห้ามปรามแต่อย่างใด  ดังนี้  เอกจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

เอกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิด  เอกไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83  (การที่เอกได้ร่วมประเวณีกับนางสาวติ๋ม  โดยนางสาวติ๋มยินยอมนั้น  เอกจึงไม่มีความผิดตามหลักที่ว่าเมื่อยอมแล้วไม่เป็นความผิด)  แต่การที่เอกมิได้ขวางหรือห้ามปรามปล่อยให้หนึ่งและเก่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรานางสาวติ๋มในห้องทีละคน  ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกแก่หนึ่งและเก่งก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา  เอกจึงมีความผิดเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป  เอกรับผิดเป็นผู้สนับสนุนมิใช่ตัวการ

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคฤดูร้อน/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เหน่งเลี้ยงสุนัขดุไว้ในบ้าน  ด้วยความรีบร้อนเหน่งเปิดประตูรั้วนำรถยนต์ออก  โดยมิได้เอาสุนัขขังกรงก่อน  สุนัขของเหน่งวิ่งตรงออกจากบ้านตรงไปจะกัดอุดมซึ่งกำลังยืนซื้อส้มตำจากช้อย  อุดมเห็นว่าจวนตัวสามารถหลีกเลี่ยงได้  จึงคว้าครกที่ช้อยกำลังตำส้มตำทุ่มไปถูกหัวสุนัข  สุนัขตายและครกของช้อยแตก

ดังนี้  อุดมและเหน่งจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

 (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

เหน่งเปิดประตูรั้วโดยไม่ได้เอาสุนัขดุของตนไปขังกรงก่อน  สุนัขจึงวิ่งออกจากบ้านไปจะกัดอุดม  ถือว่าเหน่งกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งเมื่อเหน่งจะเปิดประตู  ตามวิสัยของคนที่เลี้ยงสุนัขดุจึงมีหน้าที่ที่จะต้องนำสุนัขไปขังหรือผูกไว้เพื่อไม่ให้สุนัขออกไปจากบ้านก่อนที่จะเปิดประตู  เมื่อเหน่งไม่ได้กระทำ  เหน่งจึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ  เหน่งกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59 วรรคสี่  แต่เหน่งไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะความเสียหายยังไม่ได้เกิดจากการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจักต้องรับผิดทางอาญากรณีที่กระทำโดยประมาทต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่า  การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด

อุดมได้ใช้ครกส้มตำทุ่มถูกหัวสุนัขของเหน่ง  สุนัขตาย  อุดมไม่ต้องรับผิดฐานทำให้ทรัพย์ของเหน่งเสียหาย  เพราะอุดมกระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากการถูกสุนัขของเหน่งกัด  การที่สุนัขวิ่งออกมาจากบ้านและจะกัดอุดมนั้น  เกิดจากการประมาทของเหน่ง

ซึ่งถือว่าเป็นภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  อุดมใช้ครกทุ่มไปที่สุนัขได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  เป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  อุดมไม่มีความผิดทำให้ทรัพย์ของเหน่งเสียหาย  ส่วนกรณีที่ครกของช้อยแตกเสียหายนั้น  อุดมต้องรับผิดฐานทำให้ทรัพย์ของช้อยเสียหาย  แต่อุดมไม่ต้องรับโทษ  เพราะอุดมกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

เพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายอันใกล้จะถึง  และอุดมไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นได้โดยวิธีอื่นใดได้นอกจากจะต้องกระทำความผิดและภยันตรายนั้นอุดมมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของอุดม  และการกระทำของอุดมก็ไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ  อุดมจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(2)

สรุป  เหน่งไม่ต้องรับผิดทางอาญา  อุดมไม่ต้องรับผิดต่อเหน่ง  เพราะกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  อุดมรับผิดต่อช้อย  แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  ตามมาตรา  67(2)

 

ข้อ  2  มนตรีรับราชการอยู่ชายแดน  3  เดือนกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง  เมื่อมนตรีกลับมาบ้านจรรยาภรรยาของมนตรีเล่าให้มนตรีฟังว่า  เมื่อ  1 เดือนที่ผ่านมาสาครได้ข่มขืนกระทำชำเราจรรยา  มนตรีได้ฟังคำบอกกล่าวจากจรรยารู้สึกโกรธสาครมากจึงตามไปฆ่าสาคร  มนตรีไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าขจรเป็นสาครซึ่งตนตามฆ่า  จึงยิงขจรลูกกระสุนปืนถูกขจรบาดเจ็บแล้วยังเลยไปถูกแจ่มใสตายด้วย

ดังนี้มนตรีจะต้องรับผิดทางอาญา  อย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริง  ตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า  การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด  บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

มนตรีต้องการฆ่าสาคร  สมตรีไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าขจรเป็นสาคร  ซึ่งตนตามฆ่าจึงยิงขจร  มนตรีเจตนากระทำต่อขจรแล้ว  ตามมาตรา 59  วรรคสอง  มนตรีจึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  แม้ว่ามนตรีเจตนาจะกระทำต่อสาครแต่ได้กระทำโดยสำคัญผิดก็ตาม  มนตรีจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำต่อขจรโดยเจตนาไม่ได้  ตามมาตรา  61

เพราะมนตรีกระทำต่อขจรนั้นเป็นเจตนาประสงค์ต่อผล  แต่ที่มนตรีเจตนากระทำต่อขจรโดยเข้าใจว่าเป็นสาครนั้นเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเนื่องมาจากสาครได้ข่มเหงมนตรีอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  มนตรีจึงรับโทษน้อยลง  ตามมาตรา  72  การที่มนตรีสำคัญผิดว่าขจรคือสาคร  เป็นความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งแม้จะเกิดจากความประมาทของมนตรีก็ตาม  มนตรีต้องรับผิดต่อขจรโดยเจตนาอยู่แล้ว  เพราะตามมาตรา  61  ความสำคัญผิดนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้  ซึ่งต่างกับมาตรา  62  วรรคแรกที่แก้ตัวได้

แต่ถ้าความสำคัญผิดเกิดจากความประมาทจึงต้องรับโทษตามมาตรา  62  วรรคสอง  เมื่อมนตรีกระทำต่อขจรไปโดยบันดาลโทสะแล้ว  ผลของการกระทำไปเกิดกับแจ่มใสนั้นเป็นผลซึ่งเกิดโดยพลาดไป  แต่ตามมาตรา  60  ถือว่ามนตรีเจตนากระทำต่อแจ่มใส  ซึ่งมนตรีอ้างบันดาลโทสะตามมาตรา  72  ได้เช่นเดียวกัน  เพื่อรับโทษน้อยลง

สรุป  มนตรีกระทำต่อขจรโดยเจตนาและเจตนากระทำต่อแจ่มใสโดยพลาดไป  แต่มนตรีกระทำไปขณะบันดาลโทสะ  จึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

 

ข้อ  3  มารุตกับพวกแข่งรถจักรยานยนต์กันบนท้องถนน  สงบมีบ้านอยู่ริมถนนเกิดความรำคาญเสียงดังของรถจักรยานยนต์ที่มารุตกับพวกขับแข่งกันมา  สงบจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ของมารุตกับพวกขับแข่งกันมาลูกกระสุนปืนถูกรถจักรยานยนต์ที่มารุตขับมาล้มลง  มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนน  อาชาขับรถยนต์บรรทุกมาพอดีที่มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนนซึ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อไม่ทัน  รถยนต์บรรทุกจึงทับมารุตตาย

ดังนี้  สงบและอาชาจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

วินิจฉัย

มารุตกับพวกแข่งรถจักรยานยนต์กันบนท้องถนน  สงบมีบ้านอยู่ริมถนนเกิดความรำคาญเสียงดังของรถจักรยานยนต์ที่มารุตกับพวกขับแข่งกันมา  สงบจึงใช้อาวุธปืนยิงไปที่กลุ่มรถจักรยานยนต์ของมารุตกับพวกขับแข่งกันมา  ลูกกระสุนปืนถูกรถจักรยานยนต์ที่มารุตขับมาล้มลง  มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนน  อาชาขับรถยนต์บรรทุกมาพอดีที่มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนนซึ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อไม่ทัน  รถยนต์บรรทุกจึงทับตาย  ดังนี้  แม้สงบไม่ได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงให้มารุตตาย  แต่สงบย่อมเล็งเห็นผลว่าการใช้ปืนยิงไปที่มารุตกับพวกที่ขับรถจักรยานยนต์แข่งกันมานั้นอาจจะทำให้กระสุนปืนถูกคนตายหรือทำให้ถูกรถจักรยานยนต์แล้วเสียหลักทำให้เกิดอันตรายได้  ดังนั้น  จึงต้องถือว่าสงบเจตนากระทำต่อมารุตโดยเล็งเห็นผล  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  สงบต้องรับผิดทางอาญาต่อมารุตตามมาตรา  59  วรรคแรก  ส่วนการกระทำของอาชานั้น  อาชาไม่ต้องรับผิดทางอาญา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  เพราะอาชาไม่มีเจตนากระทำต่อมารุต  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าอาชากระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะ  (ขณะขับรถ)  เช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  แต่มารุตกระเด็นไปนอนอยู่กลางถนนซึ่งอยู่ในระยะกระชั้นชิดห้ามล้อไม่ทัน  รถยนต์บรรทุกจึงทับมารุตตาย  จึงถือไม่ได้ว่าอาชากระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่

สรุป  สงบกระทำต่อมารุตโดยเจตนา  จึงต้องรับผิดทางอาญาต่อมารุต  อาชาไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะไม่ได้กระทำต่อมารุตโดยเจตนาและไม่ได้กระทำต่อมารุตโดยประมาท

 

ข้อ  4  สดสวยโกรธเสริมศักดิ์สามี  เพราะเจ้าชู้มาก  สดสวยวานให้สมศักดิ์และสมยศน้องชายของสดสวยทั้งสองคนไปฆ่าเสริมศักดิ์ แสงทองน้องสาวของสดสวยเป็นผู้จัดหาอาวุธปืนให้สมศักดิ์และสมยศและขับรถไปส่งสมศักดิ์กับสมยศที่บ้านของเสริมศักดิ์  เมื่อสมศักดิ์กับสมยศขึ้นไปบนบ้าน  เห็นเสริมศักดิ์นอนหลับ  สมศักดิ์ยกปืนเล็งไปที่เสริมศักดิ์  สมศักดิ์เกิดความสงสารจึงไม่ลั่นไก  สมยศเห็นสมศักดิ์ไม่ยิงจึงชักปืนจะยิงเสริมศักดิ์เสียเอง  สดสวยตามมาทันด้วยความรักที่มีอยู่จึงเข้าไปผลักสมยศกระสุนปืนลั่นออกไปไม่ถูกเสริมศักดิ์  ดังนี้ สมสวย  สมศักดิ์  สมยศ  และแสงทองจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  82  ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น  แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้นฃ

มาตรา  88  ถ้าความผิดที่ได้ใช้  ได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด  แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้  ผู้กระทำได้กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้ใช้คงรับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ในมาตรา  84  วรรคสอง

มาตรา  89  ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ  ลดโทษ  หรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดคงใดจะนำเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทำความผิดคนอื่นในการกระทำความผิดนั้นด้วยไม่ได้  แต่ถ้าเหตุอันควรยกเว้นโทษลดโทษหรือเพิ่มโทษในลักษณะคดี  จึงให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน

วินิจฉัย

การกระทำของสดสวย  ตามปัญหา  สดสวยวานให้สมศักดิ์และสมยศน้องชายของสดสวยทั้งสองคนไปฆ่าเสริมศักดิ์  จึงถือว่าสดสวยได้ก่อให้สมศักดิ์กับสมยศกระทำความผิด  สดสวยจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดและต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้  ตามมาตรา  84  แต่เมื่อสมศักดิ์กับสมยศขึ้นไปบนบ้าน  เห็นเสริมศักดิ์นอนหลับสมศักดิ์ยกปืนขึ้นเล็งไปที่เสริมศักดิ์  สมศักดิ์เกิดความสงสารจึงไม่ลั่นไก  จึงถือได้ว่าสมศักดิ์ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ  และการที่สมศักดิ์ได้กระทำไปแล้วไม่ต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  สมศักดิ์จึงไม่ต้องรับโทษฐานพยายาม  ตามมาตรา  82  ซึ่งการยับยั้งการกระทำเสียเองนี้  ย่อมมีผลไปถึงผู้กระทำคนอื่นๆ  (ตัวการ  ผู้สนับสนุน  ผู้ใช้)  ในความผิดที่กระทำเพราะการยับยั้งนั้นด้วย  เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี  ตามาตรา  89  ดังนั้น  จึงมีผลไปถึงสดสวยด้วย  แต่เมื่อสมยศเห็นสมศักดิ์ไม่ยิงจึงชักปืนจะยิงเสริมศักดิ์เสียเอง  และสดสวยตามมาทันแล้วผลักสมยศ  จึงเป็นการขัดขวางให้การกระทำไม่บรรลุผล  สดสวยมีความผิด  ตามมาตรา  88  ต้องรับโทษหนึ่งในสาม  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

การกระทำของสมศักดิ์  ตามปัญหา สมศักดิ์ยกปืนเล็งไปที่เสริมศักดิ์แต่เกิดความสงสารจึงไม่ลั่นไก  สมศักดิ์ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะยับยั้งการกระทำเสียเองโดยสมัครใจ  ตามมาตรา  82  สมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่า

การกระทำของสมยศ  ตามปัญหา  สมยศชักปืนจะยิงเสริมศักดิ์เสียเองแต่สดสวยเข้าไปผลักสมยศกระสุนปืนลั่นไปไม่ถูกเสริมศักดิ์  จึงถือได้ว่าสมยศได้ลงมือกระทำแล้ว  แต่กระทำไปไม่ตลอด  จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า  ตามมาตรา  80

การกระทำของแสงทอง  ตามปัญหา  แสงทองเป็นผ็จัดหาอาวุธปืนให้สมศักดิ์และสมยศ  และได้ขับรถไปส่งสมศักดิ์กับสมยศที่บ้านของเสริมศักดิ์  จึงถือได้ว่า  แสงทองช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  แสงทองจึงเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86  แม้สมยศลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอดจึงเป็นขั้นพยายามก็ตาม  แสงทองก็ต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป 

1       สดสวยเป็นผู้ใช้ให้  (สมยศ)  กระทำความผิด  แต่ได้เข้าขัดขวางให้การกระทำไม่บรรลุผล  สดสวยมีความผิด  ตามมาตรา  88  ต้องรับโทษหนึ่งในสามตามมาตรา  84  วรรคสอง

2       สมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษฐานพยายามฆ่า

3       สมยศมีความผิดฐานพยายามฆ่า

4       แสงทองมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน 

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคซ่อม 1/2548

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ฉุยและเฉิ่ม  พักอยู่หอพักเดียวกัน  ฉุยและเฉิ่มต่างก้มลงสวมรองเท้า  ก้นของเฉิ่มไปชนถูกฉุยจึงเกิดปากเสียงกันขึ้น  ฉุยต่อยเฉิ่มล้มลงไปแล้วฉุยวิ่งหนี้ไปทางถนนใหญ่  เฉิ่มลุกขึ้นมาได้วิ่งไล่ตามไปทันกันที่ป้ายรถเมล์ประจำทาง  ฉุยจึงต่อยและเตะเฉิ่ม  เฉิ่มถอยลงพื้นถนน  ฉุยผลักเฉิ่มล้มลงไปอยู่กลางถนน  เชยขับรถยนต์รับจ้างคอยมองหาแต่ผู้โดยสารไม่เห็นเฉิ่มนอนอยู่กลางถนน  รถยนต์ของเชยชนเฉิ่มตาย

ดังนี้  ฉุยและเชยต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

วินิจฉัย

การที่ก้นของเฉิ่มไปชนถูกฉุย  เฉิ่มกระทำไปโดยไม่มีเจตนาและไม่ประมาทตามมาตรา  59  วรรคสอง  และวรรคสี่แต่อย่างใด  เฉิ่มจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  การที่ฉุยต่อยเฉิ่มแล้ววิ่งหนำไป  ฉุยได้กระทำต่อเฉิ่มโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เมื่อเฉิ่มวิ่งตามไปทันฉุย  ฉุยได้ต่อยและเตะเฉิ่มอีกจนเฉิ่มถอยลงพื้นถนน  ฉุยยังตามไปผลักเฉิ่มล้มลงไปกลางถนนจนถูกรถชนตาย  ฉุยได้กระทำไปโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญา  ตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง

ส่วนเชยคนขับรถยนต์รับจ้างได้ขับมาตามถนนแต่มองหาผู้โดยสารไม่เห็นเฉิ่มนอนอยู่กลางถนน  เชยกระทำไปโดยแปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะ  (ขณะขับรถ)  เช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ (คนที่ขับรถจะต้องมองดูถนนที่อยู่ด้านหน้า)  เมื่อเชยไม่มองดูถนนที่อยู่ด้านหน้าตน  จึงเป็นการกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง  ดังนั้น  รถยนต์ที่เชยขับมาชนเฉิ่มตายจึงเป็นการกระทำโดยประมาทของเชยตาม  มาตรา  59  วรรคสี่  เชยจึงต้องรับผิด  เพราะการกระทำโดยประมาทของเชยทำให้เฉิ่มตาม  ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง

สรุป

1       ฉุยต้องรับผิด  เพราะฉุยได้กระทำต่อเฉิ่มโดยเจตนา

2       เชยต้องรับผิด  เพราะเชยได้กระทำต่อเฉิ่มโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

 

ข้อ  2  แท่งไปเที่ยวชมงานแสดงสินค้า  แท่งเดินหลบรถเข็ญไปชนไหล่พล  พลไม่พอใจได้ชกและเตะแท่งจนแท่งล้มลงแล้วพลวิ่งหนีไป  แท่งลุกขึ้นมาได้วิ่งไล่ตามแต่คลาดกัน  แท่งพบเพิ่มคู่แฝดของพลเข้าใจว่าเป็นพล  แท่งชกเพิ่ม  เพิ่มหลบหมัดของแท่งเลยไปถูกปากของฉายที่เดินตามหลังเพิ่มมาฟันหักสองซี่  ดังนี้  แท่งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  59  วรรคสี่  กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

แท่งไปเที่ยวชมงานแสดงสินค้าแล้วเดินหลบรถเข็ญไปชนไหล่พล  แท่งไม่มีเจตนากระทำต่อพลและไม่เป็นการกระทำโดยประมาทด้วยตามมาตรา  59  วรรคสอง  และวรรคสี่  พลไม่พอใจได้ชกและเตะแท่งจนล้มลงแล้ววิ่งหนี้ไป  พลกระทำโดยเจตนาต่อแท่งตามมาตรา  59 วรรคสอง  และเป็นการข่มเหงแท่งอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  แท่งลุกขึ้นมาได้วิ่งไล่ตามแต่คลาดกัน

แท่งพบเพิ่มคู่แฝดของพลเข้าใจว่าเป็นพล  แท่งชกเพิ่ม  เพิ่มหลบทัน หมัดของแท่งไม่ถูกเพิ่มแต่เลยไปถูกฉายปากแตก  ฟันหักสองซี่ แท่งกระทำโดยเจตนาต่อเพิ่มแล้วตามมาตรา  59  วรรคสอง  แท่งจะอ้างว่าเขาสำคัญผิดว่าเพิ่มเป็นพลมาเป็นข้อแก้ตัวว่าเขาไม่มีเจตนากระทำต่อเพิ่มไม่ได้ตามมาตรา  61  และผลจากการที่แท่งกระทำโดยเจตนาต่อเพิ่มไปเกิดกับฉายด้วย

เป็นผลที่เกิดจากการกระทำโดยพลาดถือว่าแท่งเจตนากระทำต่อฉายตามมาตรา  60  แต่การกระทำของแท่งนั้นกระทำไปขณะบันดาลโทสะ  เพราะถูกพลข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา  72  แท่งมีความผิดและต้องรับโทษแต่รับโทษเพียงใดก็ได้

สรุป  แท่งกระทำโดยเจตนาต่อเพิ่มและเจตนากระทำต่อฉายโดยพลาด  แต่กระทำไปขณะบันดาลโทสะรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

 

ข้อ  3  อำนาจนั่งอยู่ติดกับแจกันลายครามของสมร  อำนาจยกปืนเล็งไปที่อุดม  อุดมเห็นเข้าพอดีจึงชักปืนออกยิงไปที่อำนาจ  ลูกกระสุนปืนถูกอำนาจได้รับบาดเจ็บ  และยังถูกแจกันลายครามของสมรแตกอีกด้วย  ดังนี้  อุดมต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

อำนาจเห็นอุดมคู่อริเดินมา  อำนาจยกปืนเล็งไปที่อุดม  อำนาจได้ลงมือกระทำโดยเจตนาแล้วตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเป็นพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80  และการกระทำของอำนาจเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  อุดมเห็นอำนาจเล็งปืนมาที่ตนจึงชักปืนออกยิงไป  ลูกกระสุนปืนถูกอำนาจได้รับบาดเจ็บและลูกกระสุนปืนยังถูกแจกันลายครามของสมรแตกด้วย  การที่อุดมยิงไปที่อำนาจผู้ก่อภัยก็เพื่อให้อุดมพ้นจากภยันตราย  และภยันตรายที่อำนาจก่อได้ใช้อาวุธปืน  อุดมก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงไปเช่นกัน  เป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของอุดมจึงเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  68  ส่วนแจกันลายครามของสมรแตกก็เป็นการกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของอุดม  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่อุดมกระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตราย  และภยันตรายนั้นอุดมก็มิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยความผิดของอุดมเอง อุดมกระทำความผิดด้วยความจำเป็นจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(2)

สรุป  อุดมกระทำต่ออำนาจโดยเจตนา  แต่อุดมไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะได้กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ส่วนแจกันของสมรแตกอุดมกระทำความผิดให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  แต่อุดมไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

 

ข้อ  4  ใหญ่ใช้ให้น้อยไปฆ่าเบิ้ม  น้อยขอยืมปืนจากนิดบอกว่าจะไปยิงเบิ้ม  น้อยได้ปืนจากนิดแล้วได้ไปรอดักยิงเบิ้ม  ก่อนที่เบิ้มจะผ่านมาใหญ่และนิดได้ไปถึงตรงที่น้อยรออยู่  ใหญ่และนิดบอกกับน้อยว่าจะช่วยดูต้นทางใด  เมื่อเบิ้มเดินมาใหญ่และนิดได้ให้สัญญาณแก่น้อย  น้อยใช้ปืนของนิดยิงเบิ้มตาย  ดังนี้  ใหญ่และนิดต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ใหญ่ใช้น้อยไปฆ่าเบิ้ม  ใหญ่ได้ก่อให้น้อยไปกระทำความผิด  ตามมาตรา  84  แต่ก่อนที่น้อยจะลงมือกระทำความผิด  ใหญ่ได้รับอาสาคอยดูต้นทางให้  ใหญ่ได้ร่วมกระทำความผิดกับน้อยโดยมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดด้วยกัน  (คือ  รู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)โดยการแบ่งหน้าที่ในการกระทำผิดร่วมกัน  ใหญ่จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83  ไม่ผิดฐานเป็นผู้ใช้  เพราะความผิดฐานเป็นตัวการเกลื่อนกลืนการใช้แล้ว

ส่วนนิดได้ให้น้อยยืมอาวุธปืน  ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเอาปืนไปยิงเบิ้ม  จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่เบิ้มกระทำความผิด  เป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  แต่ก่อนที่น้อยจะลงมือกระทำความผิดนิดได้มารับอาสาคอยดูต้นทางให้น้อยยิงเบิ้ม  นิดได้ร่วมกระทำความผิดกับน้อย  นิดต้องรับผิดฐานเป็นตัวการไม่ผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  เพราะความผิดฐานเป็นตัวการเกลื่อนกลืนการเป็นผู้สนับสนุนแล้ว

สรุป  ใหญ่และนิดรับผิดฐานเป็นตัวการ

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  เด็กชายตุ้ม  อายุ  30  วัน  เป็นบุตรของนางตา  เด็กชายตุ้มร้องไห้เป็นประจำจนนางตารำคาญ  วันหนึ่งนางตาจะออกไปทำธุระ  นางตาได้วานให้นางสาวตองน้องสาวมาเลี้ยงเด็กชายตุ้ม  เด็กชายตุ้มร้องไห้ไม่หยุด  นางสาวตองจึงเอาเหรียญสลึงใส่ปากเวลาเด็กชายตุ้มอ้าปากร้องไห้เพื่อให้หยุดร้อง  นางตากลับมาเห็นเข้าก็ไม่ห้ามปรามจนเด็กชายตุ้มตัวเกร็งหายใจไม่ออก

นายสอนบิดาของเด็กชายตุ้มกลับมาบ้านทราบจากนางตาว่าเหรียญสลึงติดคอเด็กชายตุ้ม  แทนที่จะนำเด็กชายตุ้มส่งโรงพยาบาล  นายสอนจับสองขาเด็กชายตุ้มยกขึ้นให้ศีรษะห้อยลงเพื่อเหรียญจะได้ออกมา  นายสอนยกขึ้นลงอย่างนั้นจนเด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตาย

ดังนี้  นางสาวตอง  นางตา  และนายสอน  จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

วินิจฉัย

การที่นางสาวตองมาเลี้ยงเด็กชายตุ้มและเด็กชายตุ้มร้องไห้  นางสาวตองได้ใช้เหรียญสลึงใส่ปากเด็กชายตุ้มเพื่อให้หยุดร้อง  นางสาวตองได้กระทำโดยเจตนาต่อเด็กชายตุ้ม  เพราะการที่นางสาวตองใส่เหรียญสลึงในปากเด็กชายตุ้มย่อมเล็งเห็นว่าผลจะเกิดกับเด็กชายตุ้มคือเหรียญสลึงไปอุดทางเดินหายใจทำให้เด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายได้  นางสาวตองจึงต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  และวรรคสอง

นางตามารดาของเด็กชายตุ้มกลับมาบ้านเห็นนางสาวตองเอาเหรียญใส่ปากเด็กชายตุ้มแล้วไม่ห้ามปรามถือว่านางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำ  (หมายถึง  มีหน้าที่ต้องกระทำ  กล่าวคือ  นางตาเป็นมารดาของเด็กชายตุ้มจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายตุ้ม)  เพื่อป้องกันผลนั้น  (คือความตายของเด็กชายตุ้ม)  เมื่อนางตาเห็นอยู่แล้วว่านางสาวตองเอาเหรียญใส่ปากเด็กชายตุ้ม ทำให้เด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกแล้วไม่เข้าช่วยเหลือทั้งที่สามารถช่วยได้นั้น  จึงถือได้ว่านางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น  ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำตามมาตรา  59  วรรคห้า  และเป็นการงดเว้นกระทำการโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (คือความตายของเด็กชายตุ้ม)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  นางตาต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  และวรรคสอง

นายสอนทราบจากนางตาว่าเหรียญสลึงติดคอเด็กชายตุ้มแทนที่จะนำส่งโรงพยาบาลกลับจับขาสองขาของเด็กชายตุ้มยกขึ้นเพื่อให้เหรียญออกจากปากเด็กชายตุ้ม  และทำขึ้นลงอย่างนั้นจนเด็กชายตุ้มตายเพราะหายใจไม่ออก  การกระทำของนายสอนไม่มีเจตนา  ตามมาตรา 59  วรรคสอง  แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่  นายสอนได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  และกรณีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด  นายสอนต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  และวรรคสี่

สรุป

1       นางสาวตองกระทำต่อเด็กชายตุ้มโดยเจตนา  จึงต้องรับผิดทางอาญา

2       นางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลที่เกิดกับเด็กชายตุ้มโดยเจตนา  จึงต้องรับผิดทางอาญา

3       นายสอนกระทำต่อเด็กชายตุ้มโดยประมาท  กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  นายสอนจึงต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  2  นายสมยศทราบว่า  น.ส.จิตฝัน  มีความระแวงว่ามีคนจะมาฆ่าตน  นายสมยศจึงหลอก  น.ส.จิตฝันว่ามีผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนจะมาฆ่า  น.ส.จิตฝัน  เพื่อ  น.ส.จิตฝันจะได้ไปฆ่านักเรียนหญิง  วันหนึ่ง  น.ส.จิตฝัน  เห็น  น.ส.ประภาศรีนักเรียนหญิงนั่งอยู่ในห้องเรียน น.ส.จิตฝันเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนที่จะมาฆ่าตน  น.ส.จิตฝันจึงชักมีดออกแทง  น.ส.ประภาศรี  และจะแทงซ้ำ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  เพื่อนนักเรียนได้เข้ามาขัดขวางและถูกมีดแทงได้รับบาดเจ็บไปด้วย

ดังนี้  น.ส.จิตฝันจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

น.ส.  จิตฝันใช้มีดแทง  น.ส.ประภาศรี  โดยเจตนา  เพราะ  น.ส.จิตฝันรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผล  (คือ น.ส.ประภาศรี)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเป็นพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 80  น.ส.จิตฝันจะยกความสำคัญผิดว่า  น.ส.ประภาศรีคือผู้หญิงที่  น.ส.จิตฝัน  ต้องการฆ่าเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อ  น.ส.ประภาศรีไม่ได้ตามมาตรา  61  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  เพื่อนนักเรียนได้เข้ามาขัดขวางและถูกมีดแทงได้รับบาดเจ็บไปด้วย  ดังนั้น  เมื่อ  น.ส.จิตฝันเจตนากระทำต่อ  น.ส.ประภาศรี  และผลของการกระทำไปเกิดกับ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  โดยพลาดไป  ถือว่า  น.ส.จิตฝันเจตนากระทำต่อ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  ตามมาตรา  60

นายสมยศทราบว่า  น.ส.จิตฝัน  มีความหวาดระแวงว่าจะมีคนมาฆ่าตน  จึงหลอก  น.ส.จิตฝัน  ว่ามีผู้หญิงแต่งชุดนักเรียนจะมาฆ่า  เพื่อให้ น.ส.จิตฝันไปฆ่านักเรียนหญิง  นายสมยศได้ก่อให้  น.ส.จิตฝันไปกระทำความผิด  นายสมยศจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84 วรรคแรก  เมื่อ  น.ส.จิตฝัน  (ผู้ถูกใช้)  ได้กระทำความผิดนั้นนายสมยศ  (ผู้ใช้)  จึงรับโทษเสมือนตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

สรุป  น.ส.จิตฝันเจตนากระทำต่อ  น.ส.ประภาศรีและเจตนากระทำต่อ  น.ส.เสาวรส  และ  น.ส.ราตรี  โดยพลาดไปจึงต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  3  นายนำพลหลอกนายบุญชูว่า  นายชาติชายเป็นชู้กับนางสมศรีภริยาของนายบุญชู  ซึ่งไม่เป็นความจริง  นายบุญชูเชื่อตามนั้นจึงไปทำร้ายนายชาติชาย  ขณะที่นายบุญชูใช้ไม้ตีนายชาติชาย  นายชาติชายได้ใช้มีดแทงสวนไปที่นายบุญชู  นายบุญศรีบุตรนายบุญชูอยู่ในเหตุการณ์เห็นนายชาติชายกำลังใช้มีดแทงสวนมาที่นายบุญชู  นายบุญศรีจึงใช้ไม้ตีไปที่ข้อมือของนายชาติชายเพื่อมิให้นายบุญชูบิดาได้รับอันตราย

ดังนี้  นายนำพล  นายบุญชู  นายชาติชาย  และนายบุญศรี  จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  62  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

นายนำพลหลอกนายบุญชูว่านายชาติชายเป็นชู้กับนางสมศรีภรรยาของนายบุญชู  ซึ่งไม่เป็นความจริง  นายบุญชูเชื่อตามนั้นจึงไปทำร้ายนายชาติชาย  ดังนั้น  นายบุญชูกระทำต่อนายชาติชาย  โดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง   จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่นายบุญชูกระทำไปโดยบันดาลโทสะและสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งถ้ามีอยู่จริงจะทำให้ได้รับโทษน้อยลง  ตามมาตรา  72  ประกอบมาตรา  62  วรรคหนึ่ง  นายบุญชูจึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

ขณะที่นายบุญชูใช้ไม้ตีนายชาติชาย  แล้วนายชาติชายได้ใช้มีดแทงสวนไปที่นายบุญชูนั้น  ถือว่านายชาติชายกระทำต่อนายบุญชูโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่นายชาติชายกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่นายบุญชูได้ก่อขึ้นและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ซึ่งนายชาติชายได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของนายชาติชายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  นายชาติชายจึงไม่มีความผิด

การกระทำของนายบุญศรี  นายบุญศรีบุตรนายบุญชูอยู่ในเหตุการณ์เห็นนายชาติชายกำลังใช้มีดแทงสวนมาที่นายบุญชู  นายบุญศรีจึงใช้ไม้ตีไปที่ข้อมือของนายชาติชายเพื่อมิให้นายบุญชูบิดาได้รับอันตราย  ดังนั้น  นายบุญศรีจะอ้างว่าตนกระทำไปโดยป้องกันสิทธิของผู้อื่นตามมาตรา  68  ไม่ได้  เพราะนายบุญชูเป็นผู้ก่อให้เกิดภัยขึ้นก่อนจึงไม่อาจจะอ้างป้องกันได้อยู่แล้ว  นายบุญศรีจึงอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของนายบุญชูไม่ได้  แต่นายบุญศรีอ้างว่ากระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  ได้  เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้  ผู้อื่น  คือ  นายบุญชูพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้น  ตน  คือ  นายบุญศรี  มิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน  และการกระทำของนายบุญศรีไม่เกินสมควรแก่เหตุ  ดังนั้น  นายบุญศรีมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

การกระทำของนายนำพล  ตามปัญหา  นายนำพลเป็นผู้ก่อให้นายบุญชูกระทำความผิด  นายนำพลจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84  วรรคแรก  เมื่อนายบุญชูได้กระทำความผิดแล้ว  นายนำพลจึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

สรุป

1       นายนำพลรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการ

2       นายบุญชูเจตนาทำร้ายนายชาติชายแต่ทำไปโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและบันดาลโทสะจึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

3       นายชาติชายไม่ต้องรับผิดเพราะกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

4       นายบุญศรีมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายแต่ไม่ต้องรับโทษเพราะกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

 

ข้อ  4  อาจองไปพบบรรจงที่บ้านสังเกตเห็นบรรจงท่าทางไม่สบายใจ  อาจองถามบรรจงว่ามีเรื่องอะไรไม่สบายใจ  บรรจงบอกว่าถูกวัฒนาบังคับซื้อที่ดินที่อยู่อาศัย  อาจองบอกบรรจงว่าอย่างนี้ต้องฆ่าวัฒนาบรรจงบอกว่าตนทำไม่ได้  อาจองพูดว่า  งั้นตนจะทำเอง  บรรจงกล่าวว่าดีแล้วนึกว่าช่วยตน  อาจองไปดักซุ่มยิงวัฒนา  สามารถผ่านมาพบเข้าถามอาจองว่ามาทำอะไรแถวนี้  อาจองบอกสามารถว่าอย่าเสียงดังตนมาดักยิงวัฒนา  สามารถจึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้  เมื่ออาจองยิงวัฒนาแล้วได้ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของสามารถขับพาหนีไป  รถจักรยานยนต์ที่สามารถขับขี่ไปเกิดเสียระหว่างทาง  สมัครซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจองขับรถยนต์เข้าเมื่อทราบเรื่องจึงให้อาจองและสามารถขึ้นรถและขับพาหลบหนีไป  ดังนี้  บรรจง  สามารถ  และสมัครจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

บรรจงไม่ได้ก่อให้อาจองกระทำความผิด  เพราะอาจองตกลงใจที่จะกระทำความผิดเองและบรรจงเพียงแต่ระบายความไม่พอใจให้อาจองฟังเท่านั้น  ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้อาจองกระทำความผิด  จึงไม่ถือว่าบรรจงเป็นผู้ใช้และไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  แต่การที่บรรจงไม่ได้ห้ามหรือขัดขวางอาจองแต่กลับบอกว่าดีแล้วที่ช่วยตน  จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิด  ดังนั้น  บรรจงจึงเป็นผู้สนับสนุนและต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

การกระทำของสามารถ  ตามปัญหา  เมื่อสามารถรู้ว่าอาจองมาดักยิงวัฒนา  สามารถจึงรับอาสาดูต้นทางให้  เมื่ออาจองยิงวัฒนาแล้วได้ขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของสามารถ  แล้วสามารถขับพาหนีไปด้วยกัน  ดังนั้น  ถือว่าสามารถได้ร่วมกระทำความผิดกับอาจอง  โดยมีเจตนาที่จะร่วมกระทำความผิดด้วยกัน  (กล่าวคือรู้ถึงการกระทำของกันและกัน  และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)  สามารถจึงเป็นตัวการและต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

การกระทำของสมัคร  ตามปัญหา  สมัครมาพบอาจองและสามารถ  หลังจากทั้งสองกระทำความผิดมาแล้ว  เมื่อทราบเรื่องสมัครจึงให้ความช่วยเหลือโดยขับรถยนต์พาหลบหนี  การกระทำของสมัครไม่ถือเป็นผู้สนับสนุน  เพราะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  แต่สมัครให้ความช่วยเหลือหลังจากที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว  ดังนั้น  สมัครจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86  แต่สมัครผิดฐานอื่น

สรุป 

1       บรรจงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของสามารถจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน

2       สามารถเป็นตัวการจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ

3       สมัครไม่ใช่ผู้สนับสนุนจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  แต่ผิดฐานอื่น 

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  พลเดินผ่านรถยนต์ของนิกร  เห็นดิเรกนั่งอยู่ในรถยนต์คันนั้น  เข้าใจว่าเป็นสมนึกศัตรูของพล  พลจึงใช้ปืนยิงไปที่ดิเรก  กระสุนถูกกระจกรถยนต์ของนิกรแตกและทะลุถูกดิเรกตาย  และกระสุนปืนทะลุประตูรถยนต์ออกไปถูกแห้ว  และลูกสุนัขของจอยที่แห้วอุ้มอยู่ตายด้วย

ดังนี้  พลต้องรับผิดทางอาญาอย่างใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

วินิจฉัย

พลเดินผ่านรถยนต์ของนิกรเห็นดิเรกนั่งอยู่ในรถยนต์คันนั้นเข้าใจว่า  เป็นสมนึกศัตรูของพล  พลใช้ปืนยิงไปที่ดิเรกลูกกระสุนปืนถูกกระจกรถยนต์แตกและทะลุถูกดิเรก  พลกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  (ดิเรก)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  และเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (กระจกรถยนต์ของนิกร)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  พลจะอ้างว่าไม่เจตนากระทำต่อดิเรกเพราะสำคัญผิดว่าดิเรกคือสมนึกศัตรูของพลที่พลต้องการฆ่าไม่ได้ตามมาตรา  61  ที่วางหลักว่าผู้ใดเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่งแต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด  ผู้นั้นจะยกความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่  และผลจากที่พลเจตนากระทำต่อดิเรกและทรัพย์ของนิกรไปเกิดกับแห้ว  และทรัพย์  (สุนัข)  ของจอยถือว่าพลเจตนากระทำต่อแห้วและทรัพย์ของจอยด้วยตามมาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น 

สรุป  พลต้องรับผิดทางอาญาเพราะได้กระทำโดยเจตนาต่อดิเรกและทรัพย์ของนิกร  และพลได้กระทำโดยเจตนาต่อแห้วและทรัพย์ของจอยโดยพลาดไป

 

ข้อ  2  นพชกยอดล้มลงแล้วนพเดินหนีไป  ยอดลุกขึ้นมาได้วิ่งไล่ตามทันนพ  ยอดชกนพที่ใบหน้า  นพหน้าแตกและแว่นตาที่นพสวมอยู่กระจกแตกด้วย  ดังนี้  ยอดต้องรับผิดทางอาญาอย่างใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

นพชกยอดล้มลงไปแล้วนพเดินหนี  นพได้กระทำโดยเจตนาต่อยอดและการกระทำนั้นเป็นการข่มเหงยอดอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  ยอดเมื่อถูกนพชกแล้วลุกขึ้นมาวิ่งไล่ตามไปทันนพ  ยอดชกนพที่ใบหน้า  ยอดกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  (นพ)  และแว่นตาที่นพสวมอยู่กระจกแตกยอดกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (กระจกแว่นตา)  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ยอดต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่ยอดจะรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้เพราะยอดกระทำไปเพราะบันดาลโทสะโดยถูกนพข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  ตามมาตรา  72

สรุป  ยอดกระทำโดยเจตนาต่อนพ  ยอดต้องรับผิดทางอาญาแต่รับโทษน้อยลงเพราะกระทำไปโดยบันดาลโทสะ

 

ข้อ  3  เชย  ชิด  และฉ่ำ  ไปเที่ยวงานประเพณี  พบเอกกับเพื่อนยืนอยู่  เชยมีอาวุธปืนเดินเข้าไปถามหาเรื่องจะทำร้ายเอก  แล้วทั้งสามก็ไปเที่ยวต่อ  หลังจากเที่ยวงานเสร็จระหว่างทางกลับบ้าน  เชย  ชิด  และฉ่ำพบเอกกับพวกอีก  ชิดได้ชักมีดออกแทงเอก  เอกหลบและชักปืนออกมาจะยิงชิด  ฉ่ำเข้าแย่งปืนกับเอก  ฉ่ำร้องบอกเชยว่า  เชยยิงๆ  เชยได้ใช้ปืนยิงเอก  ขณะเดียวกัน  ชิดเข้าขัดขวางพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอก  เอกถูกยิงตาย

ดังนี้  เชย  ชิด  และฉ่ำ  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

การที่เชยมีอาวุธปืนเข้าไปถามหาเรื่องเอกกับพวกก่อนและเชยได้ใช้อาวุธปืนยิงเอกในตอนหลังเป็นการแสดงว่าเชยมีเจตนาร่วมกระทำความผิด  เชยต้องรับผิดเป็นตัวการตามมาตรา  83  ที่วางหลักว่าในกรณีความผิดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ

การกระทำของชิด  ระหว่างทางกลับบ้าน  เชย  ชิด  และฉ่ำ  พบเอกกับพวก  ชิดได้ชักมีดออกแทงเอกแล้วเข้าขัดขวางพวกของเอกไม่ให้ช่วยเอกขณะเชยใช้ปืนยิงเอกพฤติการณ์ของชิดแสดงว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิด  ชิดต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตา  83  ที่วางหลักว่าในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ 

การกระทำของฉ่ำ  เมื่อชิดชักมีดออกแทงเอก  เอกหลบและชักมีดออกจะยิงชิด  ฉ่ำได้เข้าแย่งปืนกับเอกปละฉ่ำได้ร้องบอกให้เชยยิงเอก  การกระทำของฉ่ำเป็นการร้องบอกให้ช่วยกันทำร้ายเอกตามเหตุการณ์ที่ฉ่ำมีต่อเอก  เมื่อเชยใช้ปืนยิงเอก  ฉ่ำได้มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับเชย  ฉ่ำต้องรับผิดเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป  เชย  ชิด  ฉ่ำ  มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด  จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

 

ข้อ  4  จำลองจับสนธิไว้เป็นตัวประกัน  แล้วยกปืนขึ้นจะยิงวิเชียร  วิเชียรจึงใช้ปืนยิงไปที่จำลอง  ลูกกระสุนถูกจำลองและสนธิตาย  ดังนี้ วิเชียรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

จำลองยกปืนขึ้นจะยิงวิเชียร  จำลองได้ก่อภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  วิเชียรใช้ปืนยิงไปที่จำลอง  วิเชียรได้กระทำเจตนาต่อจำลองตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่วิเชียรกระทำไปเพื่อป้องกันตนเองและกระทำไปพอสมควรแก่เหตุเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  และกระสุนปืนท่าวิเชียรยิงไปที่จำลองยังถูกสนธิตายด้วย  วิเชียรกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  (สนธิ)  ตามาตรา  59  วรรคสอง  จึงเป็นความผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่วิเชียรกระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่จำลองก่อขึ้นและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  วิเชียรไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้นวิเชียรมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน  วิเชียนกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  วิเชียรไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(2)

สรุป  วิเชียรไม่ต้องรับผิดต่อจำลอง  เพราะการกระทำของวิเชียรเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  วิเชียรต้องรับผิดต่อสนธิ  แต่วิเชียรไม่ต้องรับโทษเพราะวิเชียรกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตราย

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคซ่อม ภาคฤดูร้อน/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สุขสมขับรถยนต์รับส่งนักเรียน  รถยนต์ที่สุขสมขับห้ามล้อไม่อยู่ในระยะกระชั้นชิด  สุขสมก็ทราบดีแต่ยังคงนำรถยนต์คันดังกล่าวไปรับส่งนักเรียนอีก  ขณะสุขสมขับรถยนต์มาถึงทางแยกมีสัญญาณไฟจราจรสีแดง  สุขสมห้ามล้อไม่อยู่เพราะระยกระชั้นชิด  รถยนต์ที่สุขสมขับมาชนรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมที่จอดรอสัญญาณไฟอยู่ข้างหน้าล้มลง  ส่งเสริมได้รับบาดเจ็บและรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมยังไปถูกรถยนต์ของสดใสเสียหายด้วย

ดังนี้  สุขสมจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

การกระทำ  ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

วินิจฉัย

สุขสมทราบดีว่าห้ามล้อรถยนต์ไม่อยู่ในระยะกระชั้นชิด  แต่ไม่จัดการซ่อมให้ดีตามวิสัยของผู้มีอาชีพรถยนต์รับจ้าง  เพราะการที่รถยนต์ห้ามล้อไม่ดีย่อมเกิดอันตรายได้  และตามพฤติการณ์แล้วหากสุขสมจัดการซ่อมห้ามล้อให้ดีก็ย่อมทำได้  แต่หาได้จัดการซ่อมไม่  ถือได้ว่าสุขสมอาจใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ใช้ให้เพียงพอ

ด้วยเหตุนี้  การกระทำของสุขสมจึงเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  เมื่อรถยนต์ที่สุขสมขับมาชนรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมล้มลง  และส่งเสริมได้รับบาดเจ็บ  เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยประมาทของสุขสม  ซึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  สุขสมต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ส่วนรถจักรยานยนต์ของส่งเสริมล้มไปถูกรถยนต์ของสดใสเสียหาย

เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของสุขสม  แต่การกระทำโดยประมาทที่จะต้องรับผิดทางอาญาจะต้องมีกฎหมายบัญญัติว่า  การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิดตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  สำหรับการกระทำโดยประมาทให้ทรัพย์สินเสียหายนั้น  ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด

สรุป  สุขสมต้องรับผิดกระทำโดยประมาทให้ส่งเสริมได้รับบาดเจ็บ  สำหรับรถยนต์ของสดใสที่เสียหาย  สุขสมไม่ต้องรับผิดทางอาญา 

 

ข้อ  2  นำชัยใช้ปืนขู่บังคับประทินให้ใช้ไม้ตีศีรษะสมภพ  หากประทินขัดขืนจะยิงให้ตาย  ประทินกลัวตายจึงใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะของสมภพ  สมภพหลบทัน  นำชัยจึงบอกให้ประทินตีอีก  ประทินเงื้อไม้ขึ้นตีสมภพชักมีดแทงสวนไปถูกประทินล้มลง  ไม้ที่ประทินถืออยู่ถูกเจนจบซึ่งนั่งอยู่ในบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  นำชัย  ประทิน  และสมภพจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ 

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ 

วินิจฉัย

ประทินใช้ไม้ตีไปที่ศีรษะสมภพ  ประทินได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการกระทำขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือ  สมภพ  ประทินกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ที่บัญญัติว่า  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  แต่ประทินไม่ต้องรับโทษเพราะขณะกระทำประทินอยู่ภายใต้อำนาจของนำชัย  ประทินไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  และการที่ประทินใช้ไม้ตีศีรษะของสมภพนั้นผลที่เกิดขึ้นคือสมภพได้รับบาดเจ็บ  แต่ถ้าประทินขัดขืนไม่ใช้ไม้ตีศีรษะสมภพตามคำขู่ของนำชัยแล้วประทินจะถูยิงตาย  การกระทำของประทินจึงเป็นการกระทำไม่เกินสมควรแก่เหตุ  ดังนั้น  ประทินจึงกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(1)  ประทินมีความผิด  แต่ไม่ต้องรับโทษ

การกระทำของสมภพ  สมภพกระทำต่อประทินโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันประสงค์ต่อผล  สมภพได้กระทำต่อประทินโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่สมภพกระทำไปเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ประทินได้ก่อขึ้น  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  สมภพจำต้องป้องกันสิทธิของตนเอง  และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของสมภพเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  สมภพไม่มีความผิดตามมาตรา  68  นำชัยได้มีเจตนาก่อให้ประทินกรทำความผิดด้วยวิธีบังคับและความผิดได้เกิดขึ้นตามที่ก่อ  นำชัยต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้และรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา  84

สรุป 

1       ประทินมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ  เพราะกระทำผิดด้วยความจำเป็น

2       สมภพกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ไม่มีความผิด

3       นำชัยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

 

ข้อ  3  สมยศรับราชการอยู่ชายแดนได้รับอนุญาตให้ลากลับมาเยี่ยมบ้าน  สมยศกลับมาถึงบ้าน  ส่องแสงภรรยาชอบด้วยกฎหมายของสมยศ  เล่าให้สมยศฟังว่าเมื่อเดือนก่อนหาญได้เข้ามาข่มขืนกระทำชำเราส่องแสงในบ้าน  สมยศทราบจากส่องแสงเช่นนั้นโกรธมากจึงตามไปฆ่าหาญ  สมยศพบแห้วน้องชายหาญไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าเป็นหาญจึงชักอาวุธปืนยิงแห้ว  ขณะที่สมยศยิงแห้ว  หาญออกมาเห็นเข้าพอดีจำได้ว่าสมยศเป็นสามีของส่องแสงที่ตนข่มขืนสมยศคงจะมาฆ่าตน  หาญจึงยิงสมยศได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  สมยศ  และหาญจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

สมยศต้องการฆ่าหาญ  สมยศเห็นแห้วน้องชายหาญไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าเป็นหาญ  สมยศชักอาวุธปืนออกยิงแห้ว  สมยศได้กระทำต่อแห้วโดยเจตนาปนระสงค์ต่อผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  สมยศจึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แม้ว่าสมยศเจตนาจะกระทำต่อหาญ  แต่ได้กระทำต่อแห้วโดยสำคัญผิดก็ตาม  สมยศจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำต่อแห้วโดยเจตนาไม่ได้ตามมาตรา  61  ซึ่งการที่สมยศสำคัญผิดว่าแห้วคือหาญ  เป็นความสำคัญผิดในตัวบุคคล  ซึ่งแม้จะเกิดจากความประมาทของสมยศก็ตาม  สมยศต้องรับผิดต่อแห้วโดยเจตนาอยู่แล้ว  เพราะตามมาตรา  61  ความสำคัญผิดนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้  แต่สมยศกระทำไปเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมและได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงไปขณะนั้น  สมยศกระทำไปเพราะบันดาลโทสะ  จะได้รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้  ตามมาตรา  72

ส่วนหาญเห็นสมยศกำลังยิงแห้ว  หาญจำสมยศได้ว่าเป็นสามีของส่องแสงที่ตนข่มขืนและคงจะมาฆ่าตน  หาญจึงยิงสมยศ  หาญได้กระทำต่อสมยศโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และหาญจะอ้างว่ามีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  หาญจำต้องป้องกันสิทธิของตนเองไม่ได้  และขณะนั้นหาญเองก็ไม่คิดจะป้องกันสิทธิของผู้อื่น  (แห้ว)  ด้วย  เพราะหาญเป็นผู้ก่อภยันตรายขึ้นก่อน  หาญจึงอ้างว่ากระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ไม่ได้

สรุป  สมยศกระทำความผิดทางอาญา  แต่กระทำไปเพราะบันดาลโทสะ  จึงรับโทษน้อยลง  หาญกระทำต่อสมยศโดยเจตนาและอ้างว่ากระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้

 

ข้อ  4  เฉิดโฉมเดินผ่านสมปอง  สมปองจึงพูดว่า  โอโฮ  อกภูเขาบั้นท้ายดินระเบิด  เฉิดโฉมไม่พอใจมาบ่นให้เพื่อนๆฟังว่า  อยากตีศีรษะสมปองปากไม่ดี  ชาตรีซึ่งหลงรักเฉิดโฉมอยากเอาใจเฉิดโฉมชาตรีชวนสมพงษ์ไปทำร้ายสมปอง  สมพงษ์ตกลง  ยอดทราบว่าชาจรีกับสมพงษ์จะไปทำร้ายสมปอง  ยอดจึงบอกชาตรีกับสมพงษ์ว่าอย่างวู่วาม  แล้วทั้งสามคนร่วมกันวางแผน  พอถึงเวลาไปทำร้ายสมปอง  ชาตรีไปกับสมพงษ์สองคน  ยอดไม่ได้ไปด้วย  ชาตรีตีศีรษะสมปองแล้วส่งไม้ให้สมพงษ์แล้วหลบหนีไปด้วยกัน  ดังนั้น  เฉิดโฉม  สมพงษ์  และยอด  จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

การที่เฉิดโฉมบ่นให้เพื่อนๆฟังว่าอยากตีศีรษะสมปองปากไม่ดี  แล้วชาตรีซึ่งหลงรักเฉิดโฉมอยากเอาใจเฉิดโฉม  ชาตรีจึงชวนสมพงษ์ไปทำร้ายสมปองนั้น  ถือไม่ได้ว่าเฉิดโฉมก่อให้ชาตรีกระทำความผิด  เฉิดโฉมเพียงระบายความไม่พอใจให้ฟังเท่านั้น  ดังนั้น  เฉิดโฉมจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  เพราะผู้ใช้ตามมาตรา  84  นั้น  จะต้องเป็นผู้ที่มีเจตนาก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด  แต่ตามปัญหา เฉิดโฉมไม่มีเจตนาก่อให้ชาตรีกระทำความผิด

เมื่อชาตรีชวนสมพงษ์ไปทำร้ายสมปองแล้วสมพงษ์ตกลง  ยอดทราบว่าชาตรีกับสมพงษ์จะไปทำร้ายสมปอง  ยอดจึงบอกชาตรีกับสมพงษ์ว่าอย่าวู่วาม  แล้วทั้งสามคนร่วมกันวางแผน  พอถึงเวลาไปทำร้ายสมปองชาตรีไปกับสมพงษ์สองคน  ยอดไม่ได้ไปด้วย  ชาตรีตีศีรษะสมพงษ์แล้วส่งไม้ให้สมพงษ์แล้วหลบหนีไปด้วยกัน  ดังนั้น  ชาตรีกับสมพงษ์จึงเป็นตัวการทำร้ายร่างกายสมปอง  เพราะชาตรีกับสมพงษ์ได้ร่วมกันกระทำขณะกระทำความผิดโดยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดด้วยกัน  (กล่าวคือ  รู้ถึงการกระทำของกันและกัน  และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)  ชาตรีและสมพงษ์ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

การกระทำของยอด  ยอดได้ร่วมกันวางแผนกับชาตรีและสมพงษ์  แต่ยอดไม่ได้ร่วมกระทำขณะกระทำความผิดเพราะยอดไม่ได้ไปทำร้ายสมปองด้วย  ยอดจึงเป็นผู้ที่ได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิด  ยอดต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามมาตรา  86 

สรุป 

1       เฉิดโฉมไม่มีเจตนาก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดจึงไม่ต้องรับผิด

2       สมพงษ์ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

3       ยอดต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคฤดูร้อน/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ธงต้องการฆ่ากร  ธงเข้าไปในห้องนอนของกร  ซึ่งคืนนั้นกรไปนอนค้างบ้านเพื่อน  ธงเข้าใจว่าเป็นกรจึงใช้อาวุธปืนยิงไปบนที่นอน กระสุนปืนถูกหมอนข้างทะลุผ่าห้องไปถูกนพที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  เมื่อธงเดินออกมาจากห้องนอนของกรพบพล  ธงเข้าใจว่าเป็นกรและคิดว่าที่ตนยิงไปที่ที่นอนนั้นไม่ใช่กร  ธงจึงใช้อาวุธปืนยิงพลโดยเข้าใจว่าเป็นกรตาย  ดังนี้  การกระทำของธงจะเป็นความผิดอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  81  วรรคแรก  ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด  แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด  แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

 1       การกระทำของธงต่อกร  ธงต้องการฆ่ากร  ธงเข้าไปในห้องนอนของกร  ซึ่งคืนนั้นกรไปนอนค้างบ้านเพื่อน  ธงเข้าใจว่ากรนอนอยู่จึงใช้อาวุธปืนยิงไปบนที่นอน  ธงกระทำต่อกรโดยเจตนาเพราะธงกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือกร  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การกระทำของธงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  คือ  วัตถุที่ธงมุ่งกระทำต่อนั้นเป็นที่นอนมิใช่กรคนที่ธงเจตนาฆ่า  เมื่อได้กระทำต่อที่นอน  ผลจึงมิเกิดแก่กร  ดังนั้น  จึงถือว่า  ธงพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา  81

 2       การกระทำของธงต่อนพ  เมื่อธงใช้อาวุธปืนยิงไปบนที่นอน  กระสุนปืนถูกหมอนข้างทะลุฝาห้องไปถูกนพที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  ดังนั้น  ผลจากการกระทำของกรที่เกิดกับนพจึงเป็นผลซึ่งเกิดจากการกระทำโดยพลาดไป   เพราะธงเจตนากระทำต่อกร  แต่ผลของการกระทำไปเกิดกับนพโดยพลาดไป  ถือว่าธงมีเจตนากระทำต่อนพตามมาตรา  60  เมื่อธงกระทำต่อนพโดยเจตนา  ธงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก

 3       การกระทำของธงต่อพล  เมื่อธงเดินออกมาจากห้องนอนของกร  พบพลธงเข้าใจว่าเป็นกรและคิดว่าที่ตนยิงไปที่ที่นอนนั้นไม่ใช่กร  ธงจึงใช้อาวุธปืนยิงพลโดยเข้าใจว่าเป็นกรตาย  ธงกระทำต่อพลโดยเจตนา  เพราะธงกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  แม้ว่าธงเจตนาจะกระทำต่อกร  แต่ได้กระทำต่อพลโดยสำคัญผิดว่าพลเป็นกร  ธงจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อพลไม่ได้  ตามมาตรา  61

 

ข้อ  2  สุขโกรธแค้นกรด  สุขอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะฆ่ากรดหรือไม่  โจก็ต้องการฆ่ากรด  โจไม่ทราบว่าสุขโกรธแค้นกรดอยู่  โจได้ว่าจ้างให้สุขไปฆ่ากรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง

สุขไปหาจอนที่บ้านเพื่อขอยืมอาวุธปืนไปยิงกรด  สุขเห็นจอนกำลังทำความสะอาดปืนอยู่พอดี  สุขได้บอกวัตถุประสงค์กับจอน  แต่จอนไม่ให้สุขยืมปืนและได้วางปืนไว้บนโต๊ะ  แล้วเดินเข้าไปข้างในบ้านเพื่อหยิบของ  สุขจึงหยิบอาวุธปืนนั้นเพื่อไปยิงกรด

ระหว่างทางพบจุ๋ม  จุ๋มทราบว่าสุขจะไปยิงกรด  จึงพาสุขไปส่งที่บ้านกรดและคอยสังเกตการณ์อยู่หน้าบ้านกรด  เมื่อสุขยิงกรดตายแล้วได้หลบหนีไปพร้อมกับจุ๋ม

ดังนี้  การกระทำของโจ  จอน  และจุ๋ม  ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของสุขในฐานะใด  และต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

 1       การกระทำของสุขต่อกรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง  เมื่อสุขใช้อาวุธปืนยิงกรดตาย  ความตายของกรดเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของสุข  ซึ่งสุขได้กระทำต่อกรดโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะสุขได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและขณะเดียวกันก็ประสงค์ต่อผลคือความตายของกรด  จึงต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก

 2       การกระทำของโจ  สุขโกรธแค้นกรด  สุขอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะฆ่ากรดหรือไม่  โจต้องการฆ่ากรด  แต่โจไม่ทราบว่าสุขโกรธแค้นกรดอยู่  โจได้ว่าจ้างให้สุขไปฆ่ากรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง  ดังนั้น  แม้ว่าสุขจะโกรธแค้นกรด  แต่การที่สุขตกลงใจไปฆ่ากรดนั้นเกิดจากการว่าจ้างของโจ  โจก่อให้สุขกระทำความผิดด้วยการจ้าง  โจจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84  วรรคแรก  เมื่อสุขผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นคือฆ่ากรดแล้ว  โจผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง

 3       การกระทำของจอน  สุขไปหาจอนที่บ้านเพื่อขอยืมอาวุธปืนไปยิงกรด  สุขเห็นจอนกำลังทำความสะอาดอาวุธปืนอยู่พอดี  สุขได้บอกวัตถุประสงค์กับจอน  แต่จอนไม่ให้สุขยืมปืน  แล้วได้วางปืนไว้บนโต๊ะ  แล้วเดินเข้าไปข้างในบ้านเพื่อหยิบของ  สุขจึงหยิบเอาอาวุธปืนนั้นเพื่อไปยิงกรด  ดังนั้น  จึงถือไม่ได้ว่าจอนมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่สุขกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  จอนจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

 4       การกระทำของจุ๋ม  สุขพบจุ๋มระหว่างทางที่จะไปยิงกรด  จุ๋มทราบว่าสุขจะไปยิงกรด  จึงพาสุขไปส่งที่บ้านกรด  และคอยสังเกตการณ์อยู่หน้าบ้านกรด  เมื่อสุขยิงกรดตายแล้วได้หลบหนีไปพร้อมกับจุ๋ม  ดังนั้น  จึงถือได้ว่าจุ๋มได้ร่วมกระทำขณะกระทำความผิดโดยมีเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันกับสุข  (กล่าวคือ  รู้ถึงการกระทำของกันและกัน  และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)  โดยการแบ่งหน้าที่ในการกระทำผิดร่วมกัน  จุ๋มต้องรับผิดฐานเป็นตัวการ  ตามมาตรา  83

สรุป

1       โจเป็นผู้ใช้ให้สุขกระทำความผิด  จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้  ตามมาตรา  84

2       จอนไม่ใช่ผู้สนับสนุนในการที่สุขกระทำความผิด  จึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

3       จุ๋มเป็นตัวการในการกระทำความผิด  จึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

 

ข้อ  3  อรุณจูงสุนัขเดินออกกำลังกายตอนเช้าซึ่งมีคนวิ่งออกกำลังกายไปและมาอยู่ตลอด  เมื่อสมเดชวิ่งสวนมา  สุนัขของอรุณกระโจนเข้าใส่สมเดชจนโซ่ที่จูงสุนัขหลุดจากมืออรุณ  สุนัขตรงเข้ากัดสมเดช  สมเดชกระชากไม้ค้ำยันจากคนพิการได้แล้วตีไปที่สุนัข  สุนัขขาหัก  ไม้ค้ำยันของคนพิการหัก  และคนพิการล้มลงได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  สมเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และสมเดชจะอ้างเหตุอะไรบ้าง  เพื่อยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

 (2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

 1       สุนัขของอรุณกระโจนเข้าใส่สมเดชจนโซ่ที่จูงสุนัขหลุดจากมืออรุณ  สุนัขตรงเข้ากัดสมเดช  สมเดชใช้ไม้ตีสุนัขของอรุณ  ถือว่าสมเดชได้กระทำให้ทรัพย์ของอรุณเสียหายโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  การกระทำของสมเดชครบองค์ประกอบความผิด  สมเดชต้องรับผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่สมเดชกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายอันใกล้จะถึง  สมเดชกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  สมเดชไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา  68

 2       การกระทำของสมเดชที่ทำให้ไม้ค้ำยันของคนพิการหัก  สมเดชย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดผลคือทรัพย์เสียหาย  จึงเป็นความผิดตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  แต่สมเดชกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ไม่สามารถหลีกเลี่ยงด้วยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้นสมเดชมิได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยความผิดของสมเดชเพราะสมเดชไม่ได้ยั่วหรือยุสุนัข  และกระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ  เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  สมเดชจึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

 3       กรณีสมเดชกระชากไม้ค้ำยันจากคนพิการทำให้คนพิการล้มได้รับบาดเจ็บ  เหตุผลเช่นเดียวกับข้อ  2

สรุป

1       สมเดชไม่มีความผิดฐานทำให้ทรัพย์  (สุนัข)  ของอรุณเสียหาย  เพราะเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68

2       การที่สมเดชทำให้ไม้ค้ำยันของคนพิการหัก  และคนพิการล้มลงได้รับบาดเจ็บ  จึงเป็นความผิด  แต่การกระทำของสมเดชดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  สมเดชจึงไม่ต้องรับโทษ

 

ข้อ  4  เกรียงไกรคนไทยเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย  ได้กระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ศาลประเทศซาอุดิอาระเบียพิพากษาลงโทษจำคุกเกรียงไกร  2  ปี  เกรียงไกรรับโทษจำคุกได้  6  เดือน  หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย  ดังนี้ ถ้ารัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบียร้องขอศาลไทยจะลงโทษเกรียงไกรได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร  คือ

(4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

มาตรา  10  ผู้ใดกระทำการนอกราชอาณาจักรซึ่งเป็นความผิดตามมาตราต่างๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  7(2)  และ  (3)  มาตรา  8  และมาตรา  9  ห้ามมิให้ลงโทษผู้นั้นในราชอาณาจักรเพราะการกระทำนั้นอีก  ถ้า

(1) ได้มีคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศอันถึงที่สุดให้ปล่อยตัวผู้นั้น  หรือ

(2) ศาลในต่างประเทศพิพากษาให้ลงโทษ  และผู้นั้นได้พ้นโทษแล้ว

ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาได้รับโทษสำหรับการกระทำนั้นตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศมาแล้ว  แต่ยังไม่พ้นโทษ  ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้  ทั้งนี้โดยคำนึงถึงโทษที่ผู้นั้นได้รับมาแล้ว

วินิจฉัย

เกรียงไกรคนไทยเข้าไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย  ได้กระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ดังนั้น  เกรียงไกรกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรและเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  เนื่องจากตามมาตรา  8  บัญญัติว่า  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ  (ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ  ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร  คือ  (4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290  แต่ความผิดที่เกรียงไกรได้กระทำไปนั้นเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  291  ซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา  8  ดังนั้น  ศาลไทยไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษเกรียงไกรตามมาตรา  8  ทั้งนี้  แม้ว่าศาลประเทศซาอุดิอาระเบียพิพากษาลงโทษจำคุกเกรียงไกร  2  ปี  เกรียงไกรรับโทษจำคุกได้  6  เดือน  แล้วหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย  ถ้ารัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบียร้องขอศาลไทยก็จะลงโทษเกรียงไกรอีกตามความในมาตรา  10  วรรคท้ายไม่ได้  เพราะในเมื่อความผิดที่นายเกรียงไกรกระทำคือ  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตายไม่มีบัญญัติไว้ในมาตรา  8  ซึ่งเป็นความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา  10  วรรคแรกแล้ว  จึงไม่ต้องพิจารณาตามมาตรา  10  วรรคท้าย

สรุป  ศาลไทยไม่มีอำนาจพิพากษาลงโทษเกรียงไกรอีกได้ตามมาตรา  8  แม้รัฐบาลต่างประเทศร้องขอ  ทั้งนี้  เมื่อศาลไทยไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา  8  กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องพิจารณาตามมาตรา  10  อีก

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  ปรมีต้องการฆ่าสมโชค  จึงนำอาวุธปืนมาให้สุขุมและหลอกสุขุมว่า  ปืนไม่มีลูกกระสุนให้สุขุมเอาไปแกล้งยิงขู่สมโชค  สุขุมรับปืนมาจากปรมี  เชื่อว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  สุขุมเห็นสมโชคยืนอยู่จึงยกปืนจ้องไปที่สมโชคแล้วเหนี่ยวไกปืน  ปรากฏว่าปืนมีลูกกระสุนบรรจุอยู่  ลูกกระสุนปืนถูกสมโชคตาย

ดังนั้น  ปรมีและสุขุมต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

วินิจฉัย

ตามปัญหา  สุขุมใช้ปืนจ้องไปที่สมโชคและเหนี่ยวไกปืนเพื่อแกล้งขู่สมโชค  โดยเชื่อว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  ดังนั้นจึงถือได้ว่าสุขุมกระทำไปโดยไม่มีเจตนา  เพราะสุขุมเข้าใจว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  สุขุมจึงไม่ประสงค์ต่อผล (ความตายของสมโชค)

หรือย่อมเล็งเห็นว่าจะเกิดผล  (ความตายของสมโชค)  เช่นนั้นแน่นอน  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่อาวุธปืนเป็นอาวุธที่ร้ายแรง  บุคคลในภาวะเช่นว่านั้น  (ขณะรับปืนมา)  จักต้องมี  (มีหน้าที่)  ตามวิสัยและพฤติการณ์  (ตรวจดูเสียก่อนว่ามีลูกกระสุนบรรจุอยู่หรือไม่)  เมื่อสุขุมไม่ตรวจดูเสียก่อนจึงกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง  สุขุมกระทำไปโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคสี่

และสุขุมจะต้องรับผิดในทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  ตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ส่วนปรมีต้องการฆ่าสมโชคจึงหลอกสุขุมว่าปืนไม่มีลูกกระสุน  ปรมีใช้สุขุมเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดซึ่งกฎหมายถือว่าปรมีเป็นผู้กระทำความผิดเอง  ดังนั้นปรมีจึงกระทำต่อสมโชคโดยเจตนาตามาตรา  59  วรรคสอง  และจะต้องรับผิดในทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง

สรุป  ปรมีกระทำต่อสมโชคโดยเจตนาจึงต้องรับผิดในทางอาญา  และสุขุมจะต้องรับผิดทางอาญา  เพราะกระทำต่อสมโชคโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

 

ข้อ  2  จเร  เป็นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย  ได้ออกตรวจการอยู่เวรยามของลูกน้องพบบริเวณที่อุเทนรับผิดชอบอยู่เวร  อุเทนไม่ได้อยู่ตามหน้าที่  จเรพบอุเทนจึงสอบถามดูแต่โดยดี  อุเทนกลับพูดโดยไม่ยำเกรงจเรซึ่งเป็นหัวหน้าและตรงเข้าต่อยจเร  จเรปัดป้องและชกต่อยตอบโต้ไปบ้าง  อุเทนเตะต่อยจเรจนล้มลง  พอจเรลุกขึ้น  อุเทนใช้มีดแทงไปที่หน้าท้องจเรแล้วอุเทนวิ่งหนี  จเรจึงใช้ปืนยิงไปที่ด้านหลังอุเทนหนึ่งนัด  กระสุนปืนไม่ถูกอุเทน  แต่เลยไปถูกเจนจบซึ่งวิ่งเข้ามาห้ามปรามตาย

ดังนี้  จเรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

ตามปัญหา  การที่อุเทนเข้าเตะต่อยจเรก่อน  โดยจเรพูดสอบถามดูแต่โดยดี  และจเรปัดป้องและโต้ตอบไปบ้างก็เป็นสิทธิของจเรที่จะป้องกันได้  หาจำต้องให้อุเทนทำได้แต่ฝ่ายเดียวไม่  และไม่ใช่เป็นเรื่องสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน  เมื่อจเรถูกอุเทนเตะต่อยจนล้มลง  พอลุกขึ้นก็ถูกอุเทนแทงที่หน้าท้องแล้วอุเทนวิ่งหนีไป  จเรจึงใช้ปืนยิงไปที่ด้านหลังอุเทน  ถือว่าจเรได้กระทำต่ออุเทนโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  แต่จเรทำไปเพราะถุกอุเทนข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  ทำให้จเรบันดาลโทสะและได้กระทำความผิดต่ออุเทนขณะนั้น

จเรมีความผิดแต่รับโทษน้อยเพียงใดก็ได้  ตามมาตรา  72  จเรจะอ้างว่ากระทำการป้องกันตามมาตรา  68  เพื่อไม่ต้องรับผิดไม่ได้  เพราะขณะจเรใช้ปืนยิงไปที่อุเทนภยันตรายได้ผ่านพ้นไปแล้ว  ส่วนกระสุนปืนไม่ถูกอุเทนแต่เลยไปถูกเจนจบซึ่งวิ่งเข้ามาห้ามปรามตาย  จึงเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  เพราะจเรเจตนากระทำต่ออุเทนแต่ผลเกิดขึ้นแก่เจนจบโดยพลาดไป

จึงถือว่าจเรเจตนากระทำต่อเจนจบตามมาตรา  60  เนื่องจากเจตนาเดิมของจเรกระทำไปโดยบันดาลโทสะผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปนั้น  จเรอ้างบันดาลโทสะได้

สรุป  จเรเจตนากระทำต่ออุเทนและเจตนากระทำต่อเจนจบโดยพลาด  จึงต้องรับผิดทางอาญาแต่จเรกระทำไปขณะบันดาลโทสะ  จึงรับโทษน้อยเพียงใดก็ได้

 

ข้อ  3  เลอสรรค์เลี้ยงสุนัขดุไว้ในบ้าน  5  ตัว  เลอสรรค์ทำรั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูงสองเมตร  และมีซี่ลูกกรงเหล็กต่อขึ้นไปอีกหนึ่งเมตร เลอสรรค์เขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า  ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้าเข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ

วันรบกับพวกเตะฟุตบอลอยู่บนถนนหน้าบ้านเลอสรรค์  ลูกฟุตบอลได้เข้าไปในบ้านเลอสรรค์  วันรบได้ปีนรั้วและใช้ไม้เขี่ยลูกฟุตบอลทั้งที่เห็นข้อความติดไว้หน้าประตูรั้ว  สุนัขของเลอสรรค์กระโดดกัดข้อมือวันรบและกระชากจนวันรบจะหล่นจากรั้วเข้าไปข้างใน  วันรบร้องให้พรรคพวกช่วย  ทรงเดชเพื่อนของวันรบได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัขจนตาสุนัขบอด  และยอมปล่อยข้อมือวันรบ

ดังนี้  ทรงเดชต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1)  เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  หรือ

(2)  เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อ

ภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

ตามปัญหา  ทรงเดชได้ใช้ไม้ตีและแทงไปที่หัวสุนัข  ทรงเดชได้กระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์แล้ว  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ทรงเดชจะอ้างว่ากระทำเพื่อป้องกันวันรบให้พ้นจากภยันตรายไม่ได้  เพราะการที่วันรบถูกสุนัขกัดได้รับบาดเจ็บนั้น  ไม่ใช่ภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  เพราะเลอสรรค์เจ้าของสุนัขไม่ได้ก่อให้เกิดภยันตรายนั้นโดยเจตนา  หรือประมาทแต่อย่างใด  เพราะการที่เลอสรรค์เจ้าของสุนัข  ได้ทำรั้วบ้านด้วยคอนกรีตสูงสองเมตรและมีซี่กรงเหล็กต่อขึ้นไปอีกหนึ่งเมตร  และเขียนข้อความติดไว้หน้าประตูรั้วว่า  ห้ามปีนรั้วหรือยื่นมือและเท้าเข้ามาในรั้วเพราะสุนัขดุ  นั้นเป็นการกระทำโดยใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว  (ตามมาตรา  59  วรรคสี่)

วันรบจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะป้องกันตัวเองได้  ด้วยเหตุนี้  ทรงเดชจะอ้างว่าตนกระทำไปโดยป้องกันสิทธิของผู้อื่น  ตามมาตรา 68  ไม่ได้  เพาะการป้องกันสิทธิของผู้อื่นนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อผู้จะได้รับความช่วยเหลือนั้นมีอำนาจตามกฎหมายที่จะป้องกันตัวเองได้เท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อวันรบไม่อยู่ในฐานะที่จะป้องกันตนเองได้ตามกฎหมายแล้ว  ทรงเดชก็ไม่มีอำนาจที่จะไปช่วยเหลือป้องกันวันรบได้

อย่างไรก็ตาม  ทรงเดชอ้างว่ากระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  ได้  เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้  ผู้อื่น  คือ  วันรบพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงจากการถูกสุนัขกัด  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และภยันตรายนั้น  ตน  คือ  ทรงเดชมิได้ก่อให้เกิด  เพราะความผิดของตน  การกระทำของทรงเดชถือว่าไม่เกินสมควรแก่เหตุเพราะเป็นการทำลายทรัพย์ของบุคคลหนึ่งเพื่อให้อีกบุคคลหนึ่งพ้นจากภยันตรายต่อชีวิตและร่างกาย

สรุป  ทรงเดชต้องรับผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์  แต่ไม่ต้องรับโทษ

 

ข้อ  4  คมสันต์ต้องการฆ่าวันดี  คมสันต์จ้างกำภูให้ไปฆ่าวันดี  กำภูตกลงกำภูไปขอยืมปืนจากบุญส่ง  บุญส่งให้ยืมปืนไปทั้งๆที่รู้ว่ากำภูจะใช้ปืนนั้นไปยิงวันดี  เมื่อกำภูได้ปืนและสืบทราบว่าวันดีกลับเข้าบ้านเวลา  21.00  น.  ทุกวัน  จึงเตรียมไปดักรอยิงวันดีเมื่อกลับเข้าบ้าน  ยิ่งยงทราบว่ากำภูจะไปฆ่าวันดี  จึงอาสาขับรถจักรยานยนต์ให้กำภูซ้อนท้ายและคอยดูต้นทางให้  ขณะที่กำภูและยิ่งยงดักรอยิงวันดี  กำภูเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา  21.00 น.  จึงนำปืนออกมาตรวจความเรียบร้อย  ปืนเกิดลั่นลูกกระสุนปืนไปถูกวันดีซึ่งกลับเข้าบ้านพอดีถึงแก่ความตาย  ดังนี้คมสันต์  กำภู  บุญส่ง  และยิ่งยง  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท 

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  คมสันต์ต้องการฆ่าวันดีจึงจ้างกำภูให้ไปฆ่าวันดี  และกำภูตกลงรับจ้างซึ่งในขณะที่กำภูดักรอยิงวันดีอยู่นั้น  กำภูหยิบปืนขึ้นมาตรวจความเรียบร้อยทำให้ปืนลั่นลูกกระสุนถูกวันดีตาย  เป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  กำภูจึงต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคหนึ่ง

คมสันต์จ้างกำภูไปฆ่าวันดี  คมสันต์ก่อให้กำภูกระทำความผิดด้วยการจ้าง  คมสันต์จึงเป็นผู้ใช้ให้กำภูกระทำความผิด  แต่ความผิดที่กำภูกระทำเกิดขึ้นเพราะความประมาทของกำภูมิได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนา  คมสันต์จึงมีความผิดในฐานเป็นผู้ใช้ในกรณีที่ความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทำลงจึงต้องรับโทษหนึ่งในสาม  คมสันไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย  เพราะความผิดฐานเป็นผู้ใช้จะต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น  การกระทำโดยประมาทจะมีการใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตามมาตรา  84

บุญส่งให้กำภูยืมปืนทั้งๆที่รู้ว่ากำภูจะใช้ปืนนั้นไปยิงวันดี  บุญส่งได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กำภูในการกระทำความผิดก่อนหรือหลังกระทำความผิด  แต่เนื่องจากกำภูมิได้กระทำความผิดโดยเจตนา  บุญส่งจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

ยิ่งยงอาสาขับรถจักรยานยนต์ให้กำภูนั่งซ้อนท้ายและคอยดูต้นทาง  ถือว่ายิ่งยงเป็นตัวการเพราะได้ร่วมกระทำโดยแบ่งหน้าที่กันทำ  แต่เนื่องจากวันดีตายเพราะปืนลั่นซึ่งเกิดจากการกระทำโดยประมาทของกำภู  ดังนั้นเมื่อกำภูมิได้กระทำโดยเจตนา  ยิ่งยงจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป  ดังนั้น  คมสันต์และกำภูจึงต้องรับผิดทางอาญาดังกล่าวแล้วข้างต้น  ส่วนบุญส่งในฐานะผู้สนับสนุนและยิ่งยงในฐานะตัวการไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะกำภูมิได้กระทำโดยเจตนา

WordPress Ads
error: Content is protected !!