การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2006 กฎหมายอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 เด็กชายตุ้ม อายุ 30 วัน เป็นบุตรของนางตา เด็กชายตุ้มร้องไห้เป็นประจำจนนางตารำคาญ วันหนึ่งนางตาจะออกไปทำธุระ นางตาได้วานให้นางสาวตองน้องสาวมาเลี้ยงเด็กชายตุ้ม เด็กชายตุ้มร้องไห้ไม่หยุด นางสาวตองจึงเอาเหรียญสลึงใส่ปากเวลาเด็กชายตุ้มอ้าปากร้องไห้เพื่อให้หยุดร้อง นางตากลับมาเห็นเข้าก็ไม่ห้ามปรามจนเด็กชายตุ้มตัวเกร็งหายใจไม่ออก
นายสอนบิดาของเด็กชายตุ้มกลับมาบ้านทราบจากนางตาว่าเหรียญสลึงติดคอเด็กชายตุ้ม แทนที่จะนำเด็กชายตุ้มส่งโรงพยาบาล นายสอนจับสองขาเด็กชายตุ้มยกขึ้นให้ศีรษะห้อยลงเพื่อเหรียญจะได้ออกมา นายสอนยกขึ้นลงอย่างนั้นจนเด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตาย
ดังนี้ นางสาวตอง นางตา และนายสอน จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
วินิจฉัย
การที่นางสาวตองมาเลี้ยงเด็กชายตุ้มและเด็กชายตุ้มร้องไห้ นางสาวตองได้ใช้เหรียญสลึงใส่ปากเด็กชายตุ้มเพื่อให้หยุดร้อง นางสาวตองได้กระทำโดยเจตนาต่อเด็กชายตุ้ม เพราะการที่นางสาวตองใส่เหรียญสลึงในปากเด็กชายตุ้มย่อมเล็งเห็นว่าผลจะเกิดกับเด็กชายตุ้มคือเหรียญสลึงไปอุดทางเดินหายใจทำให้เด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกและถึงแก่ความตายได้ นางสาวตองจึงต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
นางตามารดาของเด็กชายตุ้มกลับมาบ้านเห็นนางสาวตองเอาเหรียญใส่ปากเด็กชายตุ้มแล้วไม่ห้ามปรามถือว่านางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำ (หมายถึง มีหน้าที่ต้องกระทำ กล่าวคือ นางตาเป็นมารดาของเด็กชายตุ้มจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายตุ้ม) เพื่อป้องกันผลนั้น (คือความตายของเด็กชายตุ้ม) เมื่อนางตาเห็นอยู่แล้วว่านางสาวตองเอาเหรียญใส่ปากเด็กชายตุ้ม ทำให้เด็กชายตุ้มหายใจไม่ออกแล้วไม่เข้าช่วยเหลือทั้งที่สามารถช่วยได้นั้น จึงถือได้ว่านางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำตามมาตรา 59 วรรคห้า และเป็นการงดเว้นกระทำการโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล (คือความตายของเด็กชายตุ้ม) ตามมาตรา 59 วรรคสอง นางตาต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง
นายสอนทราบจากนางตาว่าเหรียญสลึงติดคอเด็กชายตุ้มแทนที่จะนำส่งโรงพยาบาลกลับจับขาสองขาของเด็กชายตุ้มยกขึ้นเพื่อให้เหรียญออกจากปากเด็กชายตุ้ม และทำขึ้นลงอย่างนั้นจนเด็กชายตุ้มตายเพราะหายใจไม่ออก การกระทำของนายสอนไม่มีเจตนา ตามมาตรา 59 วรรคสอง แต่เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แต่หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ นายสอนได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ และกรณีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด นายสอนต้องรับผิดทางอาญา เพราะได้กระทำโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่
สรุป
1 นางสาวตองกระทำต่อเด็กชายตุ้มโดยเจตนา จึงต้องรับผิดทางอาญา
2 นางตากระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลที่เกิดกับเด็กชายตุ้มโดยเจตนา จึงต้องรับผิดทางอาญา
3 นายสอนกระทำต่อเด็กชายตุ้มโดยประมาท กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท นายสอนจึงต้องรับผิดทางอาญา