การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4001 กฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ห้างหุ้นส่วนสามสหาย มีนายไรวิน นางสาวสีนวล และนางสาวแพรไหม เป็นหุ้นส่วน โดยมีนายไรวินเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ปีภาษี 2558 ห้างหุ้นส่วนสามสหายมีรายได้จากการขายสินค้าภูมิปัญญา ชาวบ้านจํานวน 20 ล้านบาท ในประเทศไทย รายได้ทั้งหมดเก็บไว้ในประเทศไทย และรายได้จากการ ส่งของไปขายยังต่างประเทศอีก 50 ล้านบาท รายได้ส่วนนี้ทั้งหมดถูกส่งไปเก็บไว้ที่เขตบริหารพิเศษ ฮ่องกง อยากทราบว่า ห้างหุ้นส่วนสามสหายจะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร จากรายได้ทั้งสองจํานวน และหากจะต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย ผู้ใดจะเป็นผู้ทําหน้าที่ยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อเสียภาษีประจําปีภาษี 2558

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 41 วรรคหนึ่ง “ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจาก หน้าที่งานหรือกิจการที่ทําในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สิน ที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ”

มาตรา 56 “ให้บุคคลทุกคนเว้นแต่ผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือน ไร้ความสามารถ ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งข้อความอื่น ๆ ภายในเดือนมีนาคมทุก ๆ ปี ตามแบบที่อธิบดีกําหนดต่อเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง ถ้าบุคคลนั้น

(1) ไม่มีสามีหรือภริยา และมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกิน 30,000 บาท

ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะนิติบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ล่วงมาแล้วเกินจํานวนตาม (1) ให้ผู้อํานวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วน หรือคณะบุคคลนั้นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในกําหนดเวลาและตามแบบเช่นเดียวกับวรรคก่อน…”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่ห้างหุ้นส่วนสามสหาย มีรายได้จากการขายสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน จํานวน 20 ล้านบาท ในประเทศไทย และรายได้จากการส่งของไปขายยังต่างประเทศอีก 50 ล้านบาทนั้น รายได้ ทั้งสองจํานวนรวม 70 ล้านบาท ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากกิจการที่ทําในประเทศไทย และเป็นเงินได้ ที่เกิดจากแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ดังนั้นห้างหุ้นส่วนสามสหาย จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับ ประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง แม้เงินได้ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ที่ต่างประเทศก็ตาม

และเมื่อห้างหุ้นส่วนสามสหายมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนายไรวินซึ่งเป็น หุ้นส่วนผู้จัดการ จะต้องยืนรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วนที่ได้รับในระหว่างปีภาษี 2558 ในฐานะตัวแทนของห้างหุ้นส่วนและผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง

สรุป ห้างหุ้นส่วนสามสหาย จะต้องนํารายได้ทั้งสองจํานวนมาเสียภาษีให้กับประเทศไทย โดยให้นายไรวินซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ทําหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี

 

ข้อ 2 ปีภาษี 2559 นายติณชาติมีรายได้จากการให้เช่าวังเก่าโดยจ่ายค่าเช่ากันเป็นรายปีจํานวน 2 ล้านบาท รายได้จากค่าออกแบบสถาปัตยกรรมซึ่งรับงานเองจํานวน 10 ล้านบาท และดอกเบี้ยเงินกู้ที่นางสาววิ ได้กู้ยืมเงินจากนายติณชาติไปจํานวน 2 แสนบาท ซึ่งจ่ายกันเป็นรายปี รวมถึงมีรายได้จากการถูก สลากกินแบ่งรัฐบาลจํานวน 1 หมื่นบาท และย่าของนายติณชาติได้เช็คเงินสดเนื่องในวันเกิด จํานวน 1 แสนบาท โดยในปีภาษีนี้นายติณชาติได้จดทะเบียนรับเด็กหญิงล้อมเพ็ชรอายุ 10 ขวบ ที่กําลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง มาเป็นบุตรบุญธรรม นอกจากนี้ ยังอุปการะเลี้ยงดูยาข้าราชการบํานาญอายุ 70 ปีด้วย เมื่อเดือนมกราคม 2559 นายติณชาติได้ทํา ประกันชีวิตกรมธรรม์ 8 ปี กับบริษัทเอไอเอประเทศไทยจํากัด มีเบี้ยประกันที่จ่ายไปจํานวน 1 แสนบาท หากปีภาษี 2559 นี้ หากนายติณชาติมีรายได้ดังกล่าวมาข้างต้น อยากทราบว่านายติณชาติมีรายได้ อันเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใดบ้าง และต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมด หรือไม่ อย่างไร และสามารถหักลดหย่อนบุตรบุญธรรมและย่าของนายติณชาติได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 40 “เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทดังต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากร ที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สําหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

(4) เงินได้ที่เป็น

(ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ย เงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่

(5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก

(ก) การให้เช่าทรัพย์สิน

(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม..

(8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งหรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว”

มาตรา 42 “เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคํานวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้

(11) รางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสิน ของรัฐบาล…

(27) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือ คู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น”

มาตรา 47 “เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษี ให้หักลดหย่อนได้อีกดังต่อไปนี้

1 (1) ลดหย่อนสําหรับ

(ค) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้รวมทั้งบุตรชอบด้วย กฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย… คนละ 15,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกินสามคน

การหักลดหย่อนสําหรับบุตรดังกล่าว ให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะ มีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่…

(ฉ) บุตรของผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนตามเงื่อนไขใน (ค) และยังศึกษาอยู่ใน สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชนหรือโรงเรียนราษฎร์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ให้หักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท

(ญ) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้คนละสามหมื่นบาท โดยบุคคลดังกล่าวต้องมีอายุหกสิบปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ และ อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เงินได้พึงประเมินที่นายติณชาติได้รับในปีภาษี 2559 เป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภทใด และต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 รายได้จากการให้เช่าวังเก่าจํานวน 2 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 ตามมาตรา 40 (5) (ก) เพราะเป็นเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน จะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2 รายได้จากค่าออกแบบสถาปัตยกรรมจํานวน 10 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภท ที่ 6 ตามมาตรา 40 (6) เพราะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ จะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3 รายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจํานวน 2 แสนบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 4 ตามมาตรา 40 (4) (ก) จะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

4 รายได้จากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลจํานวน 1 หมื่นบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภท ที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) ไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตาม มาตรา 42 (11)

5 รายได้จากการได้รับเช็คเงินสดเนื่องในวันเกิดจากย่าของนายติณชาติจํานวน 1 แสนบาท เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ตามมาตรา 40 (8) ไม่ต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะเป็นเงิน ได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (27)

ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น นายติณชาติสามารถนําเด็กหญิงล้อมเพ็ชรซึ่งเป็น บุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อนได้ตามมาตรา 47 (1) (ค) แม้จะจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมในปีภาษี 2559 ก็ตาม (มาตรา 47 (1) (ค) วรรคท้าย) จํานวน 15,000 บาท และหักลดหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีก 2,000 บาท ตาม มาตรา 47 (1) (2)

ส่วนย่าของนายติณชาตินั้น แม้จะอายุ 70 ปี และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนายติณชาติ แต่จะนํามาหักลดหย่อนไม่ได้ เพราะมิใช่การอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้ตามมาตรา 47 (1) (ญ)

สรุป รายได้ที่นายติณชาติจะต้องนํามาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ เงินได้จากการ ให้เช่าวัง เงินได้จากค่าออกแบบ และเงินได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม โดยนายติณชาติสามารถนําเด็กหญิงล้อมเพ็ชร มาหักลดหย่อนได้ แต่จะหักลดหย่อนย่าของนายติณชาติไม่ได้

หมายเหตุ มาตรา 42 (27) เป็นบทบัญญัติใหม่ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558

 

ข้อ 3 บริษัท ยูเอสคิล จํากัด มีหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลซึ่งออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้า อาหารทะเลภายในประเทศอเมริกาและประเทศอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย บริษัทฯ มีสาขา ขนาดใหญ่ที่ประเทศอินเดียเป็นฐานการค้า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2560 สาขาดังกล่าว ได้ส่ง ลูกจ้าง ผู้ทําการแทน และผู้ทําการติดต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือของประเทศอินเดียและ ประเทศอิรัก เพื่อทําสัญญาซื้อขายอาหารทะเล เป็นเหตุให้ได้รับเงินสดจํานวน 150 ล้านบาท และ มีสิทธิได้รับเงินอีก 250 ล้านบาท ซึ่งถึงกําหนดชําระในปี พ.ศ. 2560 แต่เงินจํานวน 250 ล้านบาท ยังมิได้รับชําระจนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ. 2560 ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในรอบระยะเวลาบัญชี 2560 เงินได้ รายการดังกล่าวต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 65 วรรคหนึ่ง เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้คือ กําไรสุทธิ ซึ่งคํานวณได้ จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี”

มาตรา 66 วรรคหนึ่ง “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทํากิจการในประเทศไทยต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้”

วินิจฉัย

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะต้องเสียภาษีจากกําไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจาก กิจการที่กระทําในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่าย ทั้งนี้โดยไม่คํานึงว่าจะเป็นเงินได้จากกิจการหรือ เนื่องจากกิจการที่ได้กระทํา ณ ที่ใดไม่ว่าจะในประเทศ ายหรือนอกประเทศไทยก็ตาม จะต้องนํารายได้เหล่านั้น ทั้งหมดมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย

และในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกําไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 นั้น ให้ใช้ “เกณฑ์สิทธิ” กล่าวคือ ให้นํารายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ มารวมคํานวณเป็นรายได้ทั้งหมด แม้ว่ารายได้บางประเภทเป็นรายได้ที่ยังไม่ได้รับชําระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่เป็นรายได้ที่เกิดขึ้นและ สามารถที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ชําระหนี้ได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

ตามอุทาหรณ์ แม้ว่าบริษัท ยูเอสคิล จํากัด จะประกอบกิจการในประเทศอเมริกาและประเทศ อื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย แต่เมื่อเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจึงต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 วรรคหนึ่ง คือ จะต้องนํารายได้จากการทําสัญญา ซื้อขายอาหารทะเลที่ได้รับเป็นเงินสดจํานวน 150 ล้านบาท และที่มีสิทธิจะได้รับอีก 250 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับประเทศไทย แม้ว่าเงินจํานวน 250 ล้านบาท ซึ่งถึงกําหนดชําระในปี พ.ศ. 2560 นั้น จะยังไม่ได้รับชําระจนกระทั่งสิ้นปี พ.ศ. 2560 ก็ตาม

สรุป บริษัท ยูเอสติล จํากัด ต้องนํารายได้ที่ได้รับแล้ว 150 ล้านบาท และที่ยังไม่ได้รับ ชําระอีก 250 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชี 2560 มาคํานวณกําไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร

Advertisement