การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 (LA 308) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายดําใช้ไม้ตีที่หน้านายเขียวเป็นเหตุให้นายเขียวได้รับอันตรายแก่กาย และทําให้แว่นตาที่นายเขียวใส่ได้รับความเสียหาย ต่อมานายเขียวได้ยื่นฟ้องนายดําในข้อหาทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุ ให้นายเขียวเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (ความผิดข้อหาทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 เป็นความผิดที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว) และข้อหาทําให้เสียทรัพย์แว่นตาของนายเขียว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 (ความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 58 เป็นความผิดต่อส่วนตัว) นายเขียวบรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกประการ ศาลตรวจคําฟ้องแล้วพบว่าฟ้องถูกต้องจึงมีคําสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.00 น. นายเขียวทราบกําหนดนัดของศาลโดยชอบ ก่อนวันนัดไต่สวน มูลฟ้อง นายดําเดินทางไปหานายเขียวเพื่อขอโทษนายเขียวและตกลงจะจ่ายเงินให้นายเขียวจน นายเขียวพอใจ เมื่อถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนายเขียวและทนายความของนายเขียวไม่ไปศาลตาม กําหนดนัด ศาลจึงมีคําพิพากษายกฟ้อง ต่อมาหลังจากศาลยกฟ้อง พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายดํา ในความผิดเรื่องเดียวกันและข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก ศาลมีคําสั่งไม่รับฟ้องทุกฐานความผิด ดังนี้ คําสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 166 “ถ้าโจทก์ไม่มาตามกําหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควร จึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดง ให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดหน้าที่ของโจทก์ไว้ว่า ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์จะต้องมาตามนัด มิฉะนั้นก็ให้ศาลยกฟ้องเสีย เว้นแต่จะมีเหตุสมควรศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ ดังนั้นตาม อุทาหรณ์ การที่นายเขียวเป็นโจทก์ฟ้องนายดําในข้อหาทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้นายเขียวเกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และข้อหาทําให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และศาลมีคําสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 09.00 น. เมื่อโจทก์ทราบ กําหนดนัดของศาลโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องไปศาลตามกําหนดนัด เมื่อโจทก์และทนายความของโจทก์ ไม่ไปศาล การที่ศาลมีคําพิพากษายกฟ้องของโจทก์ จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง

และตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 166 วรรคสาม ได้กําหนดไว้ว่า ในคดีที่ศาลได้ยกฟ้องตามวรรคหนึ่ง ดังกล่าวแล้วจะฟ้องจําเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องในคดีที่ราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ย่อม ไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว ดังนั้น ตามอุทาหรณ์เมื่อศาลได้ ยกฟ้องคดีที่นายเขียวเป็นโจทก์ และต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายดําในความผิดเรื่องเดียวกันและข้อหาเดียวกันต่อศาลอีกและศาลมีคําสั่งไม่รับฟ้องทุกฐานความผิดนั้น คําสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่แยกพิจารณาได้ดังนี้

1. กรณีความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เป็นความผิดที่มิใช่ ความผิดต่อส่วนตัว เมื่อศาลยกฟ้องในคดีที่นายเขียวเป็นโจทก์ย่อมไม่ตัดอํานาจพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้นอีก
และเมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดําในคดีนี้อีก แต่ศาลมีคําสั่งไม่รับฟ้องในฐานความผิดนี้ ดังนั้น คําสั่ง ของศาลกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. กรณีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เป็นความผิดต่อ ส่วนตัว เมื่อศาลยกฟ้องคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมไม่มีอํานาจฟ้องนายดําอีก และเมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องนายดําในคดีนี้อีก แต่ศาลมีคําสั่งไม่รับฟ้องในฐานความผิดนี้ ดังนั้น คําสั่งของศาลกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งไม่รับฟ้องของศาลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ไม่ชอบด้วย กฎหมาย ส่วนคําสั่งไม่รับฟ้องของศาลในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหาลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามประมวลกฎหมายทุกประการ) ก่อนเริ่มพิจารณา ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ จําเลยตอบว่ามีทนายความแล้ว หลังจากนั้นศาลชั้นต้น ได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจําเลยแถลง ไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงให้นัดฟังคําพิพากษา

ความปรากฏตามฟ้องว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ แต่เนื่องจากจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ทั้งมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีจึงต้องลงโทษจําเลยไปตามคํารับสารภาพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจําเลยไปตามคํารับสารภาพชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334. “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของ รวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง”

มาตรา 185 วรรคหนึ่ง “ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดก็ดี การกระทําของจําเลยไม่เป็น ความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จําเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจําเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจําเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหาลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้น เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจําเลยไม่ติดใจสืบพยาน เมื่อคดีดังกล่าวมิใช่คดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาลงโทษจําเลยโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามฟ้องว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และแม้จําเลย จะให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความก็ตาม ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ และ ปล่อยตัวจําเลยไป ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยด้วยเหตุที่จําเลย ให้การรับสารภาพตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลย เนื่องจากจําเลยให้การรับสารภาพดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยไปตามคํารับสารภาพไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ร่วมกันลักรถยนต์ของกลางหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 2141 ของนายดําไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ ศาลพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเป็นคนลักรถยนต์ของกลางคันดังกล่าวของนายดํา ส่วนจําเลยที่ 2 ช่วยรับซื้อรถยนต์ของกลางจากจําเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จําเลยที่ 1 ได้มา โดยการกระทําผิด การกระทําของจําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ส่วนการกระทําของจําเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ส่วนจําเลยที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทําผิดแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จําเลยทั้ง 3 มิได้หลงต่อสู้

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เพียงใด
จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 185 วรรคหนึ่ง “ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดก็ดี การกระทําของจําเลยไม่เป็น ความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จําเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจําเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจําเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้”

มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคหก “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิดหรือ ต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทําให้ เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ถือว่า ข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่า

การที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทําหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจําเลยในการกระทําผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ได้หรือไม่ เพียงใด
แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีจําเลยที่ 1 การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 ร่วมกันลักรถยนต์ ของกลางหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 2141 ของนายดําไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) ซึ่งเป็นความผิดที่ร่วมกันกระทําผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 อยู่ในตัว จําเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเป็นคนลักรถยนต์ของกลางคันดังกล่าวของ นายดําอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาลงโทษ จําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหก

กรณีจําเลยที่ 2 แม้โจทก์จะฟ้องว่าจําเลยที่ 2 ร่วมกับจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 3 ร่วมกันลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) แต่ในทางพิจารณาข้อเท็จจริงปรากฏว่าจําเลยที่ 2 กระทําความผิด ฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 นั้น ถือว่าข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาซึ่งแตกต่างจาก ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องนั้นเป็นเพียงรายละเอียด และเมื่อจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงสามารถพิพากษาลงโทษ จําเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม

กรณีจําเลยที่ 3 เมื่อในทางพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 3 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ การกระทําความผิดแต่อย่างใด ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปล่อยตัวจําเลยที่ 3 ไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเป็นกรณีที่จําเลยมิได้กระทําผิด

สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 334 และพิพากษา ลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานรับของโจรตาม ป.อาญา มาตรา 357 ส่วนจําเลยที่ 3 ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกประการ) จําเลยให้การปฏิเสธอ้างว่าตนไม่ได้กระทําผิด ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ และจําเลยเสร็จสิ้นแล้ว พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลยอุทธรณ์ว่า ไม่ได้กระทําความผิด ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คําพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่าให้ลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 1 ปี โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษ จําเลยฎีกาว่า ไม่ได้กระทําความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของ โจทก์และจําเลย ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าคําสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 219 “ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจําเลยไม่เกินกําหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จําเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจําเลย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งรับฎีกาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้น พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 336 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี และศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คําพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่าให้จําคุกจําเลย 1 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท และการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขในเรื่องรอการลงโทษถือเป็นการแก้ไขมาก อย่างไรก็ดี แม้ศาลอุทธรณ์จะลงโทษปรับจําเลยด้วยแต่ให้รอการลงโทษจําคุกไว้โทษที่จําเลยได้รับตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงต่ำกว่าโทษที่จําเลยจะต้องรับตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น คําพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยแต่ อย่างใด คู่ความจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 4419/2540)

ตามข้อเท็จจริง การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําคุกจําเลยตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษ ถือเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนจําเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทําความผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จําเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 เช่นกัน และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตอนท้าย เนื่องจากแม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ไขในเรื่องการรอการลงโทษ ซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ผลของคําพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ส่งผลเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลย ดังนั้น คําสั่งของ ศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของโจทก์และจําเลยจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัย ป.วิ.อาญา มาตรา 219

สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาของโจทก์และจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement