การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3108 (LAW3008) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
ข้อแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลากลางวัน จําเลยได้พาอาวุธมีด ไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต (โดยโจทก์มิได้บรรยายในฟ้องว่าจําเลย พาอาวุธมีดไปโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วย) เหตุเกิดที่ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371

Advertisement

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

(ก) โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่คําฟ้องของโจทก์บกพร่อง ในกรณี เช่นนี้ โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง หรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา และสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจ
ข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

ในการฟ้องคดีอาญา นอกจากคําฟ้องต้องทําเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึงการ กระทําทั้งหลายที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยกระทําผิดด้วย กล่าวคือ จะต้องบรรยายถึงการกระทําผิดไว้ให้ชัดเจน ครบถ้วนขององค์ประกอบแห่งความผิดนั้น มิฉะนั้นแล้ว คําฟ้องของโจทก์จะกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจําเลย โดยบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลากลางวัน จําเลยได้พาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยโจทก์ ไม่ได้บรรยายในฟ้องว่าจําเลยพาอาวุธมีดไปโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วยนั้น คําฟ้องของโจทก์ ดังกล่าวจึงเป็นคําฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ดังนั้นฟ้องของโจทก์จึงเป็นคําฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ฟ้องขาดองค์ประกอบของ ความผิดตาม (ก) ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นเหตุให้สิทธิ นําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) ดังนั้น โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลย เป็นคดีใหม่ไม่ได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้ําซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

สรุป (ก) โจทก์บรรยายฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้อง
จําเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้ำ

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 72 ในวันนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้อง ให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงขอต่อสู้คดีและแถลงว่าจําเลยไม่มีทนายความและต้องการทนายความ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า “แม้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีระวางโทษตามที่ กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่ตาม ฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจําเลยกระทําความผิดโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ถึงโทษจําคุกก็ได้ จึงตั้งทนายความให้จําเลยไม่ได้” ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ จําเลยแถลงไม่ขอต่อสู้คดีและขอให้การรับสารภาพตามฟ้องแล้วศาลชั้นต้นให้โจทก์นําพยานตามบัญชีพยานโจทก์เข้ามาสืบจนเสร็จ จําเลยแถลงขอสืบพยาน ตามบัญชีพยานจําเลย ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่าจําเลยให้การรับสารภาพ จําเลยย่อมไม่มีสิทธิสืบพยาน จึงไม่อนุญาต คดีเสร็จการพิจารณาและนัดฟังคําพิพากษา

ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ตั้งทนายความให้จําเลย และคําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จําเลย สืบพยาน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 172 วรรคสอง “เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจําเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาล เชื่อว่าเป็นจําเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง และถามว่าได้กระทําผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้ อย่างไรบ้าง คําให้การของจําเลยให้จดไว้ ถ้าจําเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดําเนินการพิจารณาต่อไป”

มาตรา 173 วรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

โดยหลัก ในการพิจารณาคดีอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกนั้น ก่อนที่ศาลจะเริ่มทําการพิจารณาคดี ศาล ต้องถามจําเลยก่อนว่ามีทนายความหรือไม่ ซึ่งถ้าจําเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้ มิฉะนั้นกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง) ซึ่งคําว่า ก่อนเริ่มพิจารณา หมายความว่า ก่อนที่ศาลจะเริ่มพิจารณาโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังและสอบถาม คําให้การจําเลยในคดีที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 172 วรรคสองนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้าย ร่างกายโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษ จําคุกนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนการพิจารณาคดีคือ ก่อนที่ศาลจะเริ่มอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง และสอบถามคําให้การของจําเลยในคดีที่โจทก์ฟ้อง ศาลไม่ได้ถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ อีกทั้ง เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงขอต่อสู้คดีและแถลงว่าจําเลยไม่มีทนายความ และต้องการทนายความ แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ตั้งทนายความให้จําเลย จึงเป็นกรณีที่ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า “แม้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้คือจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่ตามฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจําเลยที่กระทําความผิดโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ศาลย่อมมีอํานาจ พิพากษาลงโทษจําเลยไม่ถึงจําคุกก็ได้ จึงตั้งทนายความให้จําเลยไม่ได้” นั้น คําสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะบทบัญญัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสองที่ว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก” นั้น หมายความถึง อัตราโทษตามคดีที่โจทก์ฟ้อง ไม่ได้หมายถึงโทษที่ศาลจะลงแต่อย่างใด

ความผิดฐานทําร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบ มาตรา 72 นั้น ไม่ใช่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้ จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น ดังนั้น เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศาลชั้นต้น ให้โจทก์นําพยานเข้าสืบ เท่ากับศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจให้มีการสืบพยานหลักฐาน และเมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติ ให้สืบแต่พยานหลักฐานของโจทก์เท่านั้น จึงเป็นอํานาจของจําเลยที่จะนําสืบพยานได้ด้วย ดังนั้น เมื่อโจทก์ นําพยานเข้าสืบจนเสร็จ จําเลยแถลงขอสืบพยานตามบัญชีพยานจําเลย ศาลชั้นต้นมีคําสั่งว่า จําเลยให้การ รับสารภาพ จําเลยย่อมไม่มีสิทธิสืบพยาน จึงไม่อนุญาตนั้น คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จําเลยสืบพยานจึง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ตั้งทนายความให้จําเลย และคําสั่งที่ไม่อนุญาตให้จําเลยสืบพยานไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. โจทก์บรรยายฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายดํา เป็นเหตุให้นายดําถึงแก่ความตาย
ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 291 (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) ข้อเท็จจริงจากการ สืบพยานได้ความว่า จําเลยขับรถยนต์พุ่งชนนายดําโดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายดําถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 โดยจําเลยไม่หลงต่อสู้ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่

หมายเหตุ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น ไม่ใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจําเลยขับรถโดยประมาทชนนายดํา เป็นเหตุให้ นายดําถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า จําเลยขับรถยนต์พุ่งชนนายดํา โดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายดําถึงแก่ความตายนั้น ข้อแตกต่างกันระหว่างการกระทําโดยเจตนากับประมาท ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าข้อแตกต่างเช่นว่านี้เป็นเพียงรายละเอียด ไม่ให้ถือว่าต่างกันใน สาระสําคัญ เมื่อไม่ปรากฏว่าจําเลยหลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอํานาจตามมาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง ที่จะพิพากษาลงโทษจําเลยฐานฆ่านายดําตายโดยเจตนาตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ แต่ทั้งนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม

สรุป ศาลมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมาย กําหนดไว้สําหรับความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฐานใช้อาวุธมีดแทงนายซวยได้รับบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์ และจําเลยของดสืบพยาน และศาลมีคําพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจําคุก 1 ปี โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี เนื่องจากจําเลยได้ กระทําความผิดครั้งแรกและรู้สํานึกในความผิดแห่งตน โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยโดยไม่รอการลงโทษ และจําเลยอุทธรณ์อ้างว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกัน พอสมควรแก่เหตุ เนื่องจากนายซวยได้เข้ามาทําร้ายตนก่อนจึงใช้อาวุธมีดแทงนายซวย 1 ครั้ง เพื่อป้องกันตน ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่ กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก
(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ
(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 225 “ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ความจะต้อง กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระ
แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย…”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมาย กําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คําพิพากษา ศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา 193 ทวี (1) (2) (3) และ (4)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐาน ทําร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด ฐานทําร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี โดยโทษจําคุกให้รอการ ลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการกําหนดโทษ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้

ส่วนกรณีของจําเลยที่อุทธรณ์ว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ เนื่องจาก นายซวยได้เข้ามาทําร้ายตนก่อน จึงใช้อาวุธมีดแทงนายซวย 1 ครั้ง เพื่อป้องกันตน ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องนั้น โดยหลักแล้วจําเลยย่อมอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทําของ จําเลยที่เกิดขึ้นในคดี ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 139 ทวิ (2) แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออุทาหรณ์ของจําเลย ดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงที่จําเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 ดังนั้น ศาลชั้นต้นจึงไม่สามารถที่จะรับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณาได้

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และของจําเลยไม่ได้

Advertisement