การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3108 (LAW 3008) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายโหระพาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า นายชะอมชิงทรัพย์ของตน ขอให้ดําเนินคดีแก่ นายชะอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนแล้ว สรุปสํานวนพร้อมความเห็นส่งไปให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการเห็นว่าความผิดที่นายชะอม กระทําเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 มิใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่นายโหระพามาร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องนายชะอมในข้อหากรรโชก ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 (พนักงานอัยการบรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกประการ) เมื่อศาลได้ตรวจคําฟ้องของพนักงานอัยการแล้วเห็นว่ายื่นฟ้องถูกต้องตามเขต อํานาจศาล และทําคําฟ้องถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติจึงประทับฟ้องไว้พิจารณา

Advertisement

ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นกําลังพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ นายโหระพาซึ่งไม่เห็นด้วยกับ พนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องนายชะอมในข้อหากรรโชก นายโหระพาจึงนําคดีมายื่นฟ้องนายชะอม ในข้อหาชิงทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (นายโหระพาบรรยายฟ้อง ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) นายดีเยี่ยมผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้พิพากษาเวรรับฟ้องได้ตรวจคําฟ้องของนายโหระพาแล้วเห็นว่ายื่นฟ้องถูกต้องตามเขตอํานาจศาล และทําคําฟ้องถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติ อีกทั้งไม่ปรากฏว่านายโหระพายื่นฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจําเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ โดยชอบ รวมถึงไม่ปรากฏว่านายโหระพาเคยจงใจฝ่าฝืนคําสั่งหรือคําพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และมีความเห็นว่า คดีนี้พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องนายชะอมเป็นจําเลยด้วยแล้ว จึงสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อน ดังนี้ การสั่งประทับฟ้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 162 “ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจําเลยโดย ข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จําเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1) ได้วางหลักไว้ว่า ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ให้ศาลไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้น พนักงานอัยการได้ฟ้องจําเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ก็ให้จัดการตามอนุมาตรา (2) กล่าวคือ ศาลไม่จําเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายชะอมในข้อหากรรโชกตาม ป.อาญา มาตรา
337 แต่นายโหระพาไม่เห็นด้วยกับพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องนายชะอมในข้อหากรรโชก นายโหระพาจึงนําคดี มายื่นฟ้องนายชะอมในข้อหาชิงทรัพย์ตาม ป.อาญา มาตรา 339 นั้น การยื่นฟ้องของพนักงานอัยการและของ นายโหระพาจึงเป็นการยื่นฟ้องคนละข้อหา กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1) ที่ ศาลจะสั่งให้จัดการตามมาตรา 162 (2) ได้ กรณีนี้ ศาลจึงอยู่ในบังคับที่จะต้องไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นายโหระพา ยื่นฟ้องนายชะอมในข้อหาชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 339 โดยจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวน มูลฟ้องก่อนไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลสั่งประทับฟ้องในคดีที่นายโหระพายื่นฟ้องนายชะอมโดยไม่มีการไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 162 (1)

สรุป การสั่งประทับฟ้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในข้อหาพยายามชิงทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบมาตรา 80 (โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกประการ) ก่อนเริ่มพิจารณา ศาลได้ถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ จําเลยตอบว่ามีทนายความ แล้ว หลังจากนั้นศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังและถามคําให้การจําเลย จําเลยให้การ รับสารภาพตามฟ้อง ทั้งโจทก์และจําเลยต่างไม่ขอสืบพยาน

ดังนี้ ศาลจะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 ผู้ใดลักทรัพย์ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อ….
ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท
ถึงสองแสนบาท

มาตรา 80 วรรคสอง ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษ ที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนด อัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะ
พอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยข้อหาพยายามชิงทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 339 ประกอบมาตรา 80 ซึ่งมีระวางโทษสองในสามส่วนของโทษจําคุกตั้งแต่ 5 ปี

ถึง 10 ปีนั้น จึงมิใช่คดีที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง ดังนั้น เมื่อคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องดังกล่าว เมื่อจําเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอํานาจที่จะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

สรุป ศาลจะพิพากษาคดีนี้โดยไม่สืบพยานหลักฐานได้

 

ข้อ 3. ในคดีอาญาเรื่องหนึ่งนายไมโลเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยลักเอาเงินของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไปจํานวน 100,000 บาท ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยให้การปฏิเสธอ้างว่าตนมิได้กระทําผิด ศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่านายไมโลโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ใช้ให้จําเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับเงินจากลูกค้า จํานวน 100,000 บาท แต่จําเลยกลับเอาเงินไปใช้ส่วนตัวไม่ส่งมอบให้โจทก์ การกระทําของจําเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้อง แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมาย
อาญา มาตรา 352

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลจะสามารถพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลัก กฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณา แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและ ทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิดหรือ ต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และ ทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะ
ปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้น มิใช่ในข้อสาระสําคัญและจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ในกรณีเช่นนี้ ศาลจะลงโทษจําเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณา
ได้ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไมโลเป็นโจทก์ฟ้องว่า จําเลยลักเอาเงินของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไป จํานวน 100,000 บาท ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อาญา มาตรา 335 (11) จําเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าตนมิได้กระทําผิด และเมื่อศาลพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า นายไมโลโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ใช้ให้จําเลย ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับเงินจากลูกค้าจํานวน 100,000 บาท แต่จําเลยกลับเอาเงินไปใช้ส่วนตัว ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามฟ้อง แต่เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อาญามาตรา 352 นั้น ถือเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกันในรายละเอียด ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม และเมื่อจําเลยให้การปฏิเสธอ้างว่าตนมิได้กระทําผิด จึงเป็นกรณีที่จําเลย มิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยฐานยักยอกตาม ป.อาญา มาตรา 352 ตามข้อเท็จจริง ที่พิจารณาได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม

สรุป ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจําเลยฐานยักยอกตาม ป.อาญา มาตรา 352 ได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยในข้อหายักยอกตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 352 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยให้การปฏิเสธอ้างว่าจําเลยไม่ได้กระทําผิดตามฟ้อง ในระหว่างพิจารณาจําเลยยื่นคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้อง จําเลยมิได้ ดําเนินการโต้แย้งคําสั่งดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตาม ทางพิจารณารับฟังได้ตามฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ลงโทษจําคุก 1 ปี โทษจําคุกรอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําเลยโดยไม่รอการลงโทษ จําเลยอุทธรณ์คําสั่ง ศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจําเลยไม่ได้กระทําผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่ กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้”

มาตรา 196 “คําสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นจนกว่า จะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยดังกล่าวไว้พิจารณา
ได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

อุทธรณ์ในส่วนของโจทก์

ตามข้อเท็จจริง การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น
ถือเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกําหนดโทษจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในข้อหายักยอกตาม ป.อาญา มาตรา 352 ซึ่งมีระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ จึงต้องห้ามอุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ

อุทธรณ์ในส่วนของจําเลย

ตามข้อเท็จจริง การที่จําเลยอุทธรณ์ว่าจําเลยไม่ได้กระทําผิดตามฟ้องนั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจ ของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้อง อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตามฟ้อง และลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี โทษจําคุกรอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี จําเลยจึงสามารถอุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (2)

และเมื่อมีอุทธรณ์ในเนื้อหาคําพิพากษา จําเลยจึงอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม ซึ่งเป็นคําสั่งระหว่างพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 196 แม้จําเลยจะมิได้โต้แย้งคําสั่งระหว่างพิจารณาไว้ก็ตาม เนื่องจากการอุทธรณ์คําสั่งระหว่างพิจารณาในคดีอาญา คู่ความไม่จําต้องโต้แย้งคําสั่งดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ในภายหลังอย่างเช่นในคดีแพ่ง (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 226)

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ แต่สามารถรับอุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นของจําเลยไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (2) และสามารถรับอุทธรณ์ในส่วนของการอุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคําร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมไว้พิจารณาได้
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 196

Advertisement