การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานหมิ่นประมาท โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เวลากลางวัน จําเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท ใส่ความนายเขียวต่อนายม่วงบุคคลที่สาม โดยจําเลย ได้กล่าวว่า “นายเขียวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนจากนายเทา เพื่อช่วยเหลือให้นายเทาชนะการประมูลงานก่อสร้างของหน่วยงานราชการ” โดยมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าโดยประการที่น่าจะ ทําให้นายเขียวเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

Advertisement

หากปรากฏว่า รายการตามฟ้องอื่นนอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาถูกต้องครบถ้วน ให้วินิจฉัย ในประเด็นต่อไปนี้

(ก) โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่คําฟ้องของโจทก์บกพร่องในกรณี เช่นนี้ โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการ ที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา และสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานหมิ่นประมาท โดยบรรยายฟ้องเพียงว่าจําเลยได้บังอาจ หมิ่นประมาทใส่ความนายเขียวต่อนายม่วงบุคคลที่สาม โดยจําเลยได้กล่าวว่า “นายเขียวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน จากนายเทา เพื่อช่วยเหลือให้นายเท่าชนะการประมูลงานก่อสร้างของหน่วยงานราชการ” โดยมิได้บรรยายฟ้อง ให้ปรากฏว่าโดยประการที่น่าจะทําให้นายเขียวเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังด้วยแต่ประการใด ย่อมถือว่า คําฟ้องของโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

(ข) การที่ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบ
ของความผิดนั้น ย่อมถือว่าศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง และมีผลทําให้สิทธิการนํา คดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) ดังนั้น โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลย เป็นคดีใหม่โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องอีกไม่ได้เพราะจะเป็นฟ้องซ้ําซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

สรุป (ก) โจทก์บรรยายฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์ โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลย
เป็นคดีใหม่ไม่ได้

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่น รับอันตรายสาหัส เนื่องจากผู้เสียหายประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งกฎหมายกําหนดต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปีและ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ในนัดพิจารณา โจทก์ จําเลยและทนายความจําเลยมาศาล ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังแล้ว จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง นางจันทร์มารดา ผู้เสียหายซึ่งมาศาลแถลงว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บไม่สามารถไปทํางานได้ตามปกติเจ็ดวันและหยุดพักผ่อนกว่าจะยอมไปทํางานก็เป็นเวลากว่ายี่สิบวัน ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้มีการสืบพยาน หลักฐาน โจทก์สืบพยานเสร็จโดยจําเลยไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทํา ของจําเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่คดีขาดอายุความ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้จําเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจะต้องมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยไปตาม ฟ้องโจทก์ จะทําการสืบพยานหลักฐานใด ๆ อีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 และถึงแม้ศาลชั้นต้นจะให้สืบพยานหลักฐานโดยจําเลยไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นก็จะต้องพิพากษาลงโทษจําเลยไปตามที่พิจารณาได้ความว่า การกระทําของจําเลยเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ไม่อาจพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะคดีขาดอายุความอีกได้ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ

ให้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “ในชั้นพิจารณา ถ้าจําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจําเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกําหนดอัตราโทษ อย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง”

มาตรา 185 วรรคหนึ่ง “ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทําผิดก็ดี การกระทําของจําเลยไม่เป็น ความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จําเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจําเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจําเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งกฎหมายได้กําหนดให้ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี มิใช่เป็นคดีที่ กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างต่ําไว้ให้จําคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานหนักกว่านั้น ซึ่งถึงแม้จําเลย จะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งตอนท้าย ก็บัญญัติให้ศาลต้องสืบพยานโจทก์ จนกว่าจะพอใจว่าจําเลยได้กระทําผิดจริง แต่เป็นกรณีที่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.อาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ตอนต้น ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่าศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ และคําว่า “ก็ได้” ดังกล่าวแสดงว่า เป็นบทกฎหมายให้เป็นดุลพินิจของศาล มิใช่เป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคําพิพากษาโดยไม่ต้องมีการสืบพยานหลักฐาน แต่อย่างใด ดังนั้น คดีนี้เมื่อนางจันทร์มารดาของผู้เสียหายซึ่งมาศาลแถลงว่า ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บไม่สามารถ ไปทํางานได้ตามปกติเพียง 7 วัน ไม่ใช่เกินกว่า 20 วันตามฟ้องโจทก์ จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะใช้ดุลพินิจ ให้ทําการสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นจะต้องมีคําพิพากษาลงโทษจําเลยไปตามฟ้องโจทก์ จะทําการสืบพยานหลักฐานใดอีกไม่ได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้น

และเมื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นํามาสืบนั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าการกระทําของจําเลยเป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และคดีขาดอายุความแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ศาลยกฟ้องปล่อยจําเลยไป ดังนั้น คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ คําพิพากษา ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การกระทําของจําเลยเป็น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ศาลไม่อาจพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะคดีขาดอายุความอีกได้ คําพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบนั้น จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

สรุป อุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 2 กรณีฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยว่าจ้างนายหินให้ฆ่านายละมุดและนายหินได้ฆ่านายละมุดตาย ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) มาตรา 84 (โจทก์บรรยายฟ้อง ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) แต่ทางพิจารณาฟังได้ความว่าจําเลยเป็นคนยิงนายละมุดตาย ด้วยตนเอง โดยจําเลยมิได้หลงต่อสู้

ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยในการกระทําตามที่พิจารณาได้ความหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจําเลยว่าจ้างนายหินให้ฆ่านายละมุด และนายหินได้ฆ่านายละมุดตาย ขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) มาตรา 84 แต่ในทางพิจารณาฟังได้ความว่าจําเลยเป็นคนยิงนายละมุดตายด้วยตนเองนั้น ถือเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง กล่าวคือเป็นกรณีฟ้องว่าจําเลยเป็นผู้ใช้แต่ในทาง พิจารณาปรากฏว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิดเสียเอง ดังนี้ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสําคัญแต่อย่างใด และเมื่อจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยในการกระทําตามข้อเท็จจริงที่พิจารณา ได้ความได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสอง

สรุป ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยในการกระทําตามที่พิจารณาได้ความได้

 

ข้อ 4. พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฐานใช้อาวุธปืนตีศีรษะนายสําออยได้รับอันตรายสาหัสประกอบ กรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จําเลย ให้การปฏิเสธโดยอ้างว่าป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุเนื่องจากนายสําออยได้เข้ามาทําร้ายตนก่อน จึงใช้ปืนตีศีรษะนายสําออย 3 ครั้งเพื่อป้องกันตน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลย มีเจตนาทําร้ายนายสําออยจึงใช้อาวุธปืนตีศีรษะนายสําออยขณะที่ยืนพูดคุยกับผู้อื่นเป็นเหตุให้นายสําออยได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จึงพิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ลงโทษจําคุก 3 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ ลงโทษจําคุกจําเลยให้หนักขึ้น และจําเลยอุทธรณ์อ้างว่าการกระทําของตนเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุเนื่องจากนายสําออยได้เข้ามาทําร้ายตนก่อนจึงใช้อาวุธปืนตีศีรษะนายสําออย 3 ครั้งเพื่อป้องกันตน ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจําเลยได้กระทําความผิดจริงตามฟ้อง

โดยจําเลยเป็นฝ่ายใช้อาวุธปืนตีศีรษะนายสําออยได้รับอันตรายสาหัสประกอบกรณียกิจตามปกติ ไม่ได้เกินกว่า 20 วัน จึงพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 5 ปี เมื่อพ้นโทษแล้วให้กักกันภายหลังพ้นโทษ เป็นเวลา 3 ปี โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้น จําเลยยังคงฎีกาอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเพราะนายสําออยทําร้ายจําเลยก่อน จําเลยจึงใช้ปืนตีศีรษะนายสําออย 3 ครั้งเพื่อป้องกันตนไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์และจําเลย

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของโจทก์และจําเลย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 218 “ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และ ให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจําทั้งปรับ แต่โทษจําคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจําคุกจําเลย
เกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง”

มาตรา 219 ทวิ วรรคสอง “ในการนับกําหนดโทษจําคุกตามความในมาตรา 218 และ 219 นั้น ห้ามมิให้คํานวณกําหนดเวลาที่ศาลมีคําพิพากษา หรือคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมเข้าด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 297 ลงโทษ จําคุก 3 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจําเลยได้กระทําผิดจริงตามฟ้อง ให้ลงโทษจําคุกจําเลย 5 ปี และเมื่อ พ้นโทษแล้วให้กักกันจําเลยภายหลังพ้นโทษเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคําพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะโทษที่ลงแก่จําเลยจากจําคุก 3 ปี เป็นจําคุก 5 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราด้วย ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และแม้ว่าศาลอุทธรณ์จะมีคําสั่งให้กักกันจําเลยหลังพ้นโทษอีกเป็นเวลา 3 ปี แต่กักกันนั้นมิใช่โทษเป็นเพียง วิธีการเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น และตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ทวิ วรรคสอง ก็ได้บัญญัติห้ามมิให้คํานวณ กําหนดเวลาที่ศาลอุทธรณ์มีคําสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมกับโทษจําคุกตามคําพิพากษา ดังนั้น คดีนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจําคุกจําเลยไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยหนักขึ้นนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกําหนดโทษ ของศาลอุทธรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการที่โจทก์ฎีกาและศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของโจทก์ คําสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย

ส่วนการที่จําเลยฎีกาโดยอ้างว่าศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเพราะโจทก์ทําร้าย จําเลยก่อน จําเลยจึงใช้ปืนตีศีรษะนายสําออย 3 ครั้งเพื่อป้องกันตนนั้น เป็นการฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาล ซึ่งถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จําเลยฎีกา และศาลชั้นต้นมีคําสั่งรับฎีกาของจําเลย คําสั่งของศาล ชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของโจทก์และจําเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement