การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3109 (LAW 3009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน LAW 3009 มี 4 ข้อ
*** ส่วน LAW 3109 มี 3 ข้อ (ข้อ 1, 3 และ 4)

1 ข้อ 1. นายขาวอยู่กินกันฉันสามีภรรยากับนางสาวชมพูโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จนนางสาวชมพูมีบุตร
ที่เกิดกับนายขาวคนหนึ่งคือเด็กหญิงเทา นายขาวได้ให้การเลี้ยงดูส่งเสียเล่าเรียนและให้เด็กหญิงเทาใช้นามสกุลของตน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่นายแดงได้ขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทชนนายขาวถึงแก่ความตาย เด็กหญิงเท่าได้ฟ้องนายแดงต่อศาลเรียกให้นายแดงชดใช้เงินจํานวนหนึ่งแก่ตนเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด ดังนี้

Advertisement

(1) ค่าปลงศพของนายขาวผู้เป็นบิดา และ
(2) ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย เนื่องจากเหตุที่นายขาวตายลงนั้น ทําให้เด็กหญิงเทาต้อง ขาดไร้อุปการะจากนายขาว

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า เด็กหญิงเทาควรมีสิทธิตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด จงอธิบายโดยละเอียด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้น ทําให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง “บิดามารดาจําต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางสาวชมพูโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จนนางสาวชมพูมีบุตรที่เกิดกับนายขาวคนหนึ่งคือเด็กหญิงเท่านั้น เด็กหญิงเทาย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของนางสาวชมพู่ แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของนายขาว การที่นายขาวได้ให้การเลี้ยงดู ส่งเสียเล่าเรียน และให้ เด็กหญิงเทาใช้นามสกุลของตนนั้น ถือว่านายขาวได้รับรองโดยพฤตินัยว่าเด็กหญิงเทาเป็นบุตรของตน จึงมีผลทําให้เด็กหญิงเทามีฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิรับมรดกของนายขาว ในฐานะผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627

การที่นายแดงได้ขี่รถจักรยานยนต์โดยประมาทชนนายขาวถึงแก่ความตาย เด็กหญิงเทาจะมีสิทธิ ฟ้องนายแดงต่อศาลเรียกให้นายแดงชดใช้เงินจํานวนหนึ่งแก่ตนเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดได้หรือไม่
เพียงใด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) กรณีค่าปลงศพ สิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่นนั้น ผู้มีสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวได้จะต้องเป็นทายาทของ ผู้ตายและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วย ดังนั้น เมื่อเด็กหญิงเทาเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายขาว ผู้ตาย เด็กหญิงเทาจึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้นายแดงชดใช้เงินค่าปลงศพของนายขาวผู้เป็นบิดาได้

(2) กรณีค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย สิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ตามมาตรา 443 วรรคสามนั้น ผู้มีสิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตาม กฎหมายครอบครัวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อนายขาวมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงเทา นายขาวจึงไม่มีหน้าที่ ต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิงเทาในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตามมาตรา 1564 วรรคหนึ่ง เด็กหญิงเทาจึงไม่สามารถ ฟ้องให้นายแดงชดใช้เงินค่าขาดไร้อุปการะได้ เนื่องจากการที่นายขาวตายนั้น ไม่ทําให้เด็กหญิงเทาต้องขาดไร้อุปการะจากนายขาวแต่อย่างใด

สรุป เด็กหญิงเทาสามารถฟ้องให้นายแดงชดใช้เงินค่าปลงศพได้ แต่จะฟ้องค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้

 

ข้อ 2. นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางฝนมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายลม นายลมมีนางสาวเดือนเป็น บุตรนอกกฎหมายที่นายลมให้ใช้นามสกุล ส่วนนางสาวเดือนจดทะเบียนรับเด็กหญิงฟ้ามาเป็นบุตรบุญธรรม นางสาวเดือนเดินทางไปต่างจังหวัดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นายเมฆเดินทางไปรับศพ ของนางสาวเดือน แล้วได้เจอกับนางสาวเนปจูน นายเมฆมีความสัมพันธ์กับนางสาวเนปจูนจน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายพายุ ซึ่งนายเมฆให้เด็กชายพายุใช้นามสกุล พอนางฝนทราบข่าว จึงเกิดความโมโหเอาปืนมายิงนายเมฆถึงแก่ความตาย พอนายลมทราบข่าวก็เสียใจมากจึงล้มป่วย และถึงแก่ความตาย นายลมมีมรดกเป็นเงินสดในธนาคารจํานวน 3 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายลม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มีให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดก
แทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็น ทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายลมเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มรดกของนายลมคือเงินสดในธนาคาร จํานวน 3 ล้านบาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือนายเมฆและนางฝนซึ่งเป็นบิดามารดาในฐานะทายาท โดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) ประกอบมาตรา 1630 วรรคสอง และนางสาวเดือนซึ่งเป็นผู้สืบสันดานในฐานะ ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 ส่วนเด็กชายพายุซึ่งเป็นน้องชายร่วมบิดาเดียวกัน ของนายลมและเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (4) นั้น เมื่อนายลมเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมในลําดับก่อน ตามมาตรา 1629 ดังนั้น เด็กชายพายุซึ่งเป็นทายาทที่อยู่ในลําดับถัดลงไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายลม ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเมฆและนางสาวเดือนได้ถึงแก่ความตายก่อนนายลมเจ้ามรดกตาย
นายเมฆและนางสาวเดือนจึงไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ดังนั้น นายเมฆและนางสาวเดือน จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายลมตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาการเข้ารับมรดกแทนที่นายเมฆและนางสาวเดือนตามมาตรา 1639

กรณีของนายเมฆ เมื่อนายเมฆเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (2) และถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย แม้นายเมฆจะมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือเด็กชายพายุตามมาตรา 1643 เด็กชายพายุก็ไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่ นายเมฆได้ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 ซึ่งกําหนดให้แต่เฉพาะบุคคลซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) เท่านั้นที่เมื่อถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดาน รับมรดกแทนที่

กรณีของนางสาวเดือน แม้นางสาวเดือนจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ที่ถึงแก่ความตาย ก่อนเจ้ามรดกตาย และนางสาวเดือนมีผู้สืบสันดานคือเด็กหญิงฟ้า แต่เมื่อเด็กหญิงฟ้าเป็นเพียงบุตรบุญธรรม ของนางสาวเดือน มิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง เด็กหญิงฟ้าจึงไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นางสาวเดือนตาม
มาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ส่วนการที่นางฝนใช้ปืนยิงนายเมฆถึงแก่ความตายนั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทําให้เจ้ามรดกหรือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยเจตนา เนื่องจากนายเมฆและนางฝนเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ นายลมในฐานะทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกัน นางฝนจึงไม่ถูกจํากัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตาม มาตรา 1606 (1) ดังนั้น นางฝนจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายลมในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) และเมื่อนายลมมีทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกแต่เพียงผู้เดียวคือนางฝน นางฝนจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายลมจํานวน 3 ล้านบาทแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายลมจํานวน 3 ล้านบาท ตกได้แก่นางฝนแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 3. นายแก้วกับนางกิ่งเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อนายนิด ต่อมานายแก้ว จดทะเบียนรับนายหนุ่มเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย นายหนุ่มจดทะเบียนสมรสกับ นางสาวสวยมีบุตร 1 คน ชื่อนายแสง นายนิดมีนิสัยเกเร ลักทรัพย์และทําร้ายบิดามารดาเป็นประจํา นายแก้วจึงทําหนังสือตัดมิให้นายนิดรับมรดกของตนและมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางรักหลังจากนั้นนายหนุ่มป่วยและถึงแก่ความตาย นายแก้วทําหนังสือมอบแก่ผู้อํานวยการเขตบางรักขอถอนหนังสือตัดมิให้นายนิดรับมรดก แต่นายนิดน้อยใจบิดาจึงทําหนังสือขอสละมรดกของนายแก้ว ให้ไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางรักเช่นเดียวกัน ต่อมาอีก 6 เดือน นายแก้วถึงแก่ความตายโดยมี ทรัพย์มรดกเป็นเงิน 3 ล้านบาท นายแก้วมิได้ทําพินัยกรรมไว้ บิดามารดาถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ให้วินิจฉัยว่าทรัพย์มรดกของนายแก้วตกได้แก่ผู้ใด เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ แต่ ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1609 “การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้

ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทําโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัด มิให้รับมรดกได้ทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทําตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 1608 (1) หรือ (2) ก็ได้”

มาตรา 1612 “การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทําเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ”

มาตรา 1619 “ผู้ใดจะสละหรือจําหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายแก้วถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้ มรดกของนายแก้วคือ เงินจํานวน 3 ล้านบาท ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง และทายาทโดยธรรมซึ่ง มีสิทธิได้รับมรดกของนายแก้ว ได้แก่

1. นางกิ่ง ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายแก้วและเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะคู่สมรส ตามมาตรา 1629 วรรคสอง โดยจะได้รับมรดกในส่วนแบ่งเสมือนว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1)

2. นายนิด ซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายแก้วและเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะ ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) และแม้ว่าก่อนที่นายแก้วจะตาย นายแก้วได้ทําหนังสือตัดมิให้นายนิดรับมรดก ของตนและมอบไว้แก่ผู้อํานวยการเขตบางรักก็ตาม แต่ต่อมานายแก้วได้ทําหนังสือมอบแก่ผู้อํานวยการเขตบางรัก ถอนหนังสือตัดมิให้นายนิดรับมรดก ซึ่งเป็นการถอนโดยถูกต้องตามมาตรา 1609 ประกอบมาตรา 1608 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายนิดจึงไม่เสียสิทธิในการรับมรดกของนายแก้ว

และการที่นายนิดน้อยใจบิดาจึงได้ทําหนังสือขอสละมรดกของนายแก้วให้ไว้แก่ผู้อํานวยการ เขตบางรักนั้น แม้การสละมรดกจะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1612 ก็ตาม แต่เมื่อเป็นการสละสิทธิอันจะมีในภายหน้า ในการสืบมรดกของนายแก้วที่ยังมีชีวิตอยู่ในเวลานั้น ถือเป็นการแสดงเจตนาที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1619 การสละมรดกของนายนิดจึงไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น นายนิดจึงยังคงมีสิทธิในการรับมรดกของนายแก้ว

3. นายหนุ่ม ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายแก้ว และมีสิทธิรับมรดกของนายแก้วในฐานะ ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 แต่เมื่อปรากฏว่านายหนุ่มได้ถึงแก่ความตายก่อน เจ้ามรดกตาย นายหนุ่มจึงไม่อาจรับมรดกของนายแก้วได้เพราะไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกตายตาม มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อนายหนุ่มมีผู้สืบสันดานโดยตรงคือนายแสง ดังนั้น นายแสงจึงเข้ารับมรดกของ นายแก้วแทนที่นายหนุ่มได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ดังนั้น มรดกของนายแก้วเป็นเงินจํานวน 3 ล้านบาท จึงตกได้แก่ นางกิ่ง นายนิด และนายแสง
โดยทั้ง 3 คน จะได้รับส่วนแบ่งคนละ 1 ล้านบาท ตามมาตรา 1633

สรุป ทรัพย์มรดกของนายแก้ว จึงตกได้แก่ นางกิ่ง นายนิด และนายแสง คนละ 1 ล้านบาท

 

ข้อ 4. นายขาวมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนายดํา นายขาวจดทะเบียนสมรสกับนางเขียวมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายฟ้า นายขาวและนางเขียวได้จดทะเบียนรับนายน้ําเงินซึ่งเป็นหลานชายเป็นบุตรบุญธรรม ตามกฎหมาย และนายน้ําเงินมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนางชมพูมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิงแดง นายฟ้าทะเลาะกับนายน้ําเงินอย่างรุนแรง นายฟ้าได้ใช้ปืนยิงนายน้ําเงินถึงแก่ความตาย นายฟ้าต้องคําพิพากษาถึงที่สุดฐานฆ่านายน้ําเงินตายโดยเจตนา ต่อมานางเขียวหัวใจวายตาย หลังจากนั้นนายขาวถึงแก่ความตาย นายขาวมีทรัพย์มรดก 120,000 บาท ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายขาว

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิ
ได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดก
แทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกก้าจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายขาวถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของนายขาวจํานวน 120,000 บาท ย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรม และทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายขาวได้แก่ นายดํา นายฟ้า และนายน้ําเงิน ส่วนนางเขียวซึ่งเป็นภริยาของนายขาวย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกเนื่องจากนางเขียวได้ถึงแก่ความตายไปแล้วก่อนที่ นายขาวเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงไม่อยู่ในฐานะคู่สมรสที่จะรับมรดกของนายขาวตามมาตรา 1629 วรรคสอง

กรณีของนายดํา ซึ่งเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายขาว จึงมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาท โดยธรรมตามมาตรา 1629 (2) ประกอบมาตรา 1630 วรรคสอง โดยจะได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็น ทายาทชั้นบุตร

กรณีของนายฟ้า ซึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายขาว จึงมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) และกรณีที่นายฟ้าทะเลาะกับนายน้ําเงินซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายขาว จึงได้ ใช้ปืนยิงนายน้ําเงินจนถึงแก่ความตาย และนายฟ้าต้องคําพิพากษาถึงที่สุดฐานฆ่านายน้ำเงินตายโดยเจตนานั้น นายฟ้าย่อมไม่ถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (1) เนื่องจากนายฟ้ามิได้กระทําให้ เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายแต่อย่างใด

กรณีของนายน้ำเงิน ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายขาว จึงมีสิทธิรับมรดกในฐานะผู้สืบสันดาน ตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 และถือเป็นทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันกับนายฟ้า แต่เมื่อ นายน้ำเงินได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย นายน้ําเงินจึงไม่อาจรับมรดกของนายขาวได้ แต่เมื่อนายน้ําเงิน มีผู้สืบสันดานและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงคือเด็กหญิงแดง ดังนั้น เด็กหญิงแดงจึงมีสิทธิ์เข้ารับมรดกแทนที่ นายน้ำเงินในส่วนที่นายน้ําเงินจะได้รับตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1643

ส่วนนางชมพูเป็นภริยาของนายน้ําเงินมิใช่ผู้สืบสันดานของนายน้ําเงิน จึงเข้ารับมรดกแทนที่นายน้ำเงินไม่ได้

เมื่อผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายขาวมี 3 คน คือ นายดํา นายฟ้า และเด็กหญิงแดง และมีสิทธิ ได้รับมรดกในลําดับเดียวกัน ดังนั้น นายดํา นายฟ้า และเด็กหญิงแดง จึงได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือ คนละ 40,000 บาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายขาวจึงตกได้แก่ นายดํา นายฟ้า และเด็กหญิงแดง คนละ 40,000 บาท

 

Advertisement