การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เวลา กลางวัน จําเลยได้เอารถยนต์คันหมายเลยทะเบียน กขค 123 กรุงเทพมหานคร ไปโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่ารถยนต์คันที่จําเลยลักเป็นของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย) โดยรายการตามฟ้องอื่นในคดีสํานวนดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้อง มาถูกต้องครบถ้วน

Advertisement

ให้วินิจฉัยในประเด็นต่อไปนี้

(ก) โจทก์บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่คําฟ้องของโจทก์บกพร่อง

ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ โดยบรรยายฟ้องให้
ถูกต้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้ (4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

มาตรา 158 “ฟ้องต้องทําเป็นหนังสือ และมี

(5) การกระทําทั้งหลายที่อ้างว่าจําเลยได้กระทําผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลา และสถานที่ซึ่งเกิดการกระทํานั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดี”

วินิจฉัย

ในการฟ้องคดีอาญา นอกจากคําฟ้องต้องทําเป็นหนังสือแล้ว โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องถึงการ กระทําทั้งหลายที่โจทก์กล่าวหาว่าจําเลยกระทําผิดด้วย กล่าวคือ จะต้องบรรยายถึงการกระทําผิดไว้ให้ชัดเจน ครบถ้วนขององค์ประกอบแห่งความผิดนั้น มิฉะนั้นแล้ว คําฟ้องของโจทก์จะกลายเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย กฎหมาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เวลากลางวัน จําเลยได้เอารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กขค 123 กรุงเทพมหานคร ไปโดยเจตนา ทุจริตนั้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ารถยนต์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทํานั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คําฟ้องของโจทก์จึงเป็นคําฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จึงเป็นคําฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158 (5)

(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งยกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ฟ้องขาดองค์ประกอบของ ความผิดตาม (ก) ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่ศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นเหตุให้สิทธิ นําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) ดังนั้น โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจําเลย เป็นคดีใหม่ไม่ได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้ําซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

สรุป (ก) โจทก์บรรยายฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

(ข) หากศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์จะนําคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้ เพราะจะเป็นฟ้องซ้ำ

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหาความผิดฐานทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็นในหรือริมทาง สาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 396 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท (โจทก์ บรรยายฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) ในวันนัดพิจารณาโจทก์และจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงให้นัดฟังคําพิพากษา

หากความปรากฏว่า จําเลยไม่มีทนายความและศาลชั้นต้นก็มิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความ
ก่อนอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง

ดังนี้ การพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 173 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จําเลย มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือ ในคดีที่จําเลยมีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความ หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

แต่ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก (ไม่ว่าจะเป็นโทษจําคุกที่มีกําหนดเวลาหรือเป็นโทษจําคุก ตลอดชีวิต) ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจําเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจําเลยในข้อหาความผิดฐานทิ้งซากสัตว์ซึ่ง เน่าเหม็นในหรือริมทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 396 ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และในวันนัดพิจารณาโจทก์และจําเลยมาศาล ศาลชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาไปโดยอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง โดยก่อนเริ่มพิจารณานั้นจําเลยไม่มีทนายความและศาลชั้นต้นก็มิได้สอบถามจําเลยในเรื่องทนายความเลยนั้น เมื่อคดีที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนั้นเป็นคดีที่มีระวางโทษปรับสถานเดียว มิใช่คดีที่มีอัตราโทษประหาร ชีวิตหรือคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ที่ ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่งและวรรคสองบัญญัติว่า “ก่อนเริ่มพิจารณา ให้ศาลถามจําเลยว่ามีทนายความ หรือไม่” ดังนั้น กรณีนี้ แม้จําเลยไม่มีทนายความและศาลชั้นต้นมิได้สอบถาม จําเลยในเรื่องทนายความก่อนอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังก็ตาม การพิจารณาของศาลชั้นต้นย่อมชอบด้วย กฎหมายและไม่เป็นการฝ่าฝืนตอบทบัญญัติ ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่งและวรรคสองแต่อย่างใด

สรุป การพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายโควิดซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทาง
อยู่บริเวณป้ายจอดถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 (ฟ้อง ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) ทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่า จําเลยเจตนาขับรถพุ่งชน นายโคล่าแต่พลาดไปชนนายโควิดซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทางอยู่บริเวณป้ายจอดถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจําเลยมิได้หลงต่อสู้

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยได้หรือไม่เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย
ประกอบ

หมายเหตุ

มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิต หรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี

มาตรา 291 ผู้ใดกระทําโดยประมาท และการกระทํานั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวาง โทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ “ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคําขอ
หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสําคัญและทั้งจําเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจําเลย ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทําความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทําให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะ
ปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่
โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจําเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจําเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนนายโควิด ซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทางอยู่บริเวณป้ายจอดจนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จําเลยเจตนาขับรถพุ่งชนนายโคล่าแต่พลาด ไปชนนายโควิดซึ่งยืนรอรถโดยสารประจําทางอยู่บริเวณป้ายจอดถึงแก่ความตาย การกระทําของจําเลยจึงเป็น ความผิดฐานพยายามฆ่านายโคล่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80 บทหนึ่ง และมีความผิดฐานฆ่า นายโควิดตายโดยเจตนาโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 60 อีกบทหนึ่งนั้น ศาลจะลงโทษ จําเลยได้หรือไม่ เพียงใด แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. ความผิดบทแรกซึ่งเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายโคล่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 80 นั้น แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาจะได้ความเช่นนั้นก็ตาม แต่ศาลก็จะพิพากษา ลงโทษจําเลยในความผิดบทนี้ไม่ได้ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ มิได้กล่าวไว้ในฟ้อง และมิได้มีคําขอให้ลงโทษเกี่ยวกับการกระทําต่อนายโคล่าด้วย เนื่องจากคําฟ้องของโจทก์ บรรยายฟ้องว่าจําเลยกระทําต่อนายโควิดเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจําเลยตาม ป.วิ.อาญามาตรา 192 วรรคสี่

2. ความผิดบทหลังซึ่งเป็นความผิดฐานฆ่านายโควิดตายโดยเจตนาโดยพลาด ตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 288 และมาตรา 60 นั้น แม้คําฟ้องโจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจําเลยกระทําให้นายโควิดถึงแก่ความตาย โดยประมาท และขอให้ลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งแตกต่างกันก็ตาม แต่การต่างกัน ระหว่างการกระทําผิดโดยเจตนากับประมาทนั้นเป็นข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียด และเมื่อวัตถุแห่ง การกระทําตามฟ้องกับทางพิจารณาคือนายโควิดซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกัน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192

วรรคสาม บัญญัติว่ามิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสําคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่อง เกินคําขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และเมื่อไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จําเลยหลงต่อสู้ ดังนั้น ศาลย่อมมีอํานาจลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่านายโควิดตายโดยเจตนาโดยพลาดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 60 ตามที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษ ตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม

สรุป ศาลจะลงโทษจําเลยในความผิดฐานฆ่านายโควิดตายโดยเจตนาโดยพลาดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 288 และมาตรา 60 ได้ แต่จะลงโทษจําเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 291 ไม่ได้ ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่านายโคล่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจําเลยไม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (ฟ้องถูกต้อง ตามกฎหมายทุกประการ) จําเลยให้การปฏิเสธอ้างว่ามิได้กระทําผิด ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยาน โจทก์และจําเลยเสร็จสิ้นแล้ว พิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 295 ลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปี

(ก) โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยโดยไม่รอการลงโทษ

(ข) จําเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง อ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นําสืบมาฟังลงโทษจําเลยไม่ได้

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจําเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 193 ทวิ “ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษ อย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่ กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(1) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก
(2) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
(3) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้ หรือ
(4) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าเป็นคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมาย กําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คําพิพากษา ศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา 193 ทวิ (1) (2) (3) และ (4)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และลงโทษจําคุกจําเลย 2 ปี โดยโทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้มีกําหนด 2 ปีนั้น

(ก) การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการกําหนดโทษจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์

(ข) การที่จําเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยอ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่ นําสืบมาฟังลงโทษจําเลยไม่ได้นั้น ถือเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นการอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลได้พิพากษาให้ลงโทษจําคุกจําเลยแต่ศาลให้รอการลงโทษไว้ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 193 ทวิ (2) ที่จําเลยสามารถอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณา

สรุป ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่จะรับอุทธรณ์ของจําเลยไว้พิจารณา

Advertisement