การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ1. นางกุหลาบและนางจําปาเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3 ก.) นายแดงบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว นางกุหลาบจึงฟ้องขับไล่นายแดงออกจากที่ดินพิพาท ต่อมา ในระหว่างพิจารณาคดี นางจําปายื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว โดยอ้างว่านางจําปา เป็นผู้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนางกุหลาบและนางกุหลาบฟ้องคดีดังกล่าวโดยไม่ได้รับ ความยินยอมจากนางจําปา นางจําปาจึงขอใช้สิทธิเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ด้วย

Advertisement

ให้วินิจฉัยว่า นางจําปามีสิทธิยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้อง ขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย”

มาตรา 58 วรรคสอง “ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อนใช้สิทธิ อย่างอื่น นอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด
และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจําเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียม อันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจําเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วย คู่ความที่ตนเข้าแทน”

วินิจฉัย

การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับ โดยคําพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง แต่ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดตาม
ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือจําเลยร่วม และจะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจําเลยเดิมไม่ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นางกุหลาบและนางจําปาเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ร่วมกัน และเมื่อนายแดงบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว นางกุหลาบจึงฟ้องขับไล่นายแดงออกจากที่ดินพิพาท ต่อมา ในระหว่างพิจารณาคดี นางจําปาได้ยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว โดยอ้างว่านางจําปาเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนางกุหลาบนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลภายนอกได้ร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดี ด้วยความสมัครใจ เนื่องจากตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ดังนั้น นางจําปาจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับนางกุหลาบได้ แต่นางจําปาจะใช้สิทธิอย่างอื่นที่มีอยู่แก่คู่ความ ฝ่ายที่ตนขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และจะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์เดิมคือนางกุหลาบไม่ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง)

สรุป นางจําปามีสิทธิยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความโดยเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) เนื่องจากตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น

 

ข้อ 2. นายเทากับนายเขียวมีภูมิลําเนาที่จังหวัดเพชรบุรี นายเทาตกลงทําสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของ นายเขียวซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยทั้งสองตกลงทําสัญญาเช่ากันถูกต้องตามกฎหมายที่จังหวัดนนทบุรี ต่อมานายเทาไม่ชําระค่าเช่าที่ดินให้แก่นายเขียวหลายเดือนติดต่อกัน นายเขียว ทวงถามให้นายเทาชําระค่าเช่า แต่นายเทาเพิกเฉยไม่ยอมชําระ นายเขียวจึงฟ้องขับไล่นายเทาให้ ออกจากที่ดินพิพาท
ให้วินิจฉัยว่า นายเขียวต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหา ริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ได้กําหนดไว้ว่า คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์ อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนา อยู่ในเขตศาล

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเท่ากับนายเขียวมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และนายเทาตกลง ทําสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของนายเขียวซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี โดยทั้งสองตกลงทําสัญญาเช่ากันถูกต้อง ตามกฎหมายที่จังหวัดนนทบุรี ต่อมานายเทาไม่ชําระค่าเช่าที่ดินให้แก่นายเขียวหลายเดือนติดต่อกัน นายเขียวทวงถามให้นายเทาชําระค่าเช่าแต่นายเทาเพิกเฉยไม่ยอมชําระ นายเขียวจึงฟ้องขับไล่นายเทาให้ออกจากที่ดินพิพาทนั้น คําฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่ดินพิพาทนั้นถือเป็นคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือ ประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น นายเขียวจึงต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นศาล ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือนายเขียวอาจยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศาลที่จําเลย มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ

และเมื่อคําฟ้องของนายเขียวอาจยื่นต่อศาลได้สองศาลคือศาลจังหวัดกาญจนบุรีและศาลจังหวัด เพชรบุรี ดังนั้น นายเขียวจะยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีหรือศาลจังหวัดเพชรบุรีศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

สรุป นายเขียวจะยื่นคําฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีหรือศาลจังหวัดเพชรบุรีศาลใดศาลหนึ่งก็ได้
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ ประกอบมาตรา 5

 

ข้อ 3. นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าทางพิพาทในที่ดินของนายมังคุดเป็นทางภาระจํายอม
ซึ่งได้มาโดยอายุความแก่ที่ดินของนายทุเรียน ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคําพิพากษาว่าทางพิพาท เป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนโดยอายุความ คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมานายทุเรียนฟ้อง
ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของ
นายทุเรียนเป็นอีกคดีหนึ่ง

ให้วินิจฉัยว่า คดีที่นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็น
ทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนนั้นเป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ํากับคดีแรกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน….”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น…”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ

1. คดีนั้นได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งแล้ว
2. คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด
3. ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
4. ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว
5. ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก

กรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
1. คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา
2. คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
3. คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
4. ห้ามโจทก์ฟ้อง
5. ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ทางพิพาทในที่ดินของนายมังคุด เป็นทางภาระจํายอมซึ่งได้มาโดยอายุความแก่ที่ดินของนายทุเรียน ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคําพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนโดยอายุความ คดีถึงที่สุด ต่อมานายทุเรียนฟ้องขอให้ศาล
พิพากษาบังคับให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนเป็นอีกคดีหนึ่งนั้น แม้คดีแรกและคดีหลังจะมีคําขอบังคับท้ายฟ้องแตกต่างกัน แต่ประเด็นที่ศาลต้องพิจารณานั้นเป็นเรื่องจาก มูลฐานเดียวกันคือเรื่องทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมหรือไม่ ซึ่งเป็นกรณีที่นายทุเรียนโจทก์สามารถเรียกร้องโดยมีคําขอให้บังคับนายมังคุดจําเลยไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภาระจํายอมในคดีแรกได้อยู่แล้ว แต่โจทก์ ไม่ได้เรียกร้องมาในคราวเดียวกันในคดีแรก แต่กลับนํามาฟ้องเรียกร้องในคดีหลัง จึงเป็นกรณีที่โจทก์รื้อร้อง ป้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และคดีแรกนั้นศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีหลังที่นายทุเรียนโจทก์ฟ้องนายมังคุดจําเลยจึงเป็นการฟ้องซ้ํากับคดีแรกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 แต่ไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สรุป คดีที่นายทุเรียนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นายมังคุดไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทาง ภาระจํายอมแก่ที่ดินของนายทุเรียนนั้นเป็นฟ้องซ้ํากับคดีแรก แต่ไม่เป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4. นายม่วงยื่นคําฟ้องว่านางชมพูขับรถยนต์โดยประมาทขนนายม่วงได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้
ค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นค่าซ่อมรถยนต์จํานวนห้าแสนบาท แต่นางชมพูไม่ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามกฎหมาย

ให้วินิจฉัยว่า

(ก) หากนายม่วงประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป นายม่วงต้องดําเนินการอย่างไร เพราะเหตุใด

(ข) หากศาลมีคําสั่งให้นายม่วงส่งพยานเอกสารเกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์มายังศาล ซึ่งศาลได้ตรวจดู
เอกสารดังกล่าวและไม่ได้สืบพยานอื่นอีก ต่อมาศาลพิพากษาให้นางชมพูชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่นายม่วงตามฟ้อง คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 197 “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายใน ระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็น
ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อ กฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้าง ของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในการกําหนดจํานวนเงินตามคําขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(2) ในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายม่วงยื่นคําฟ้องว่านางชมพูขับรถยนต์โดยประมาทชนนายม่วงได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นค่าซ่อมรถยนต์จํานวนห้าแสนบาท แต่นางชมพูไม่ยื่นคําให้การภายใน กําหนดเวลาตามกฎหมายนั้น ย่อมถือว่านางชมพูจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 ดังนั้น หากนายม่วงประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป นายม่วงโจทก์จะต้องยื่นคําขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลา ที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง

(ข) เมื่อคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด แม้โจทก์จะขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงินจํานวนห้าแสนบาท แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจ กําหนดจํานวนได้แน่นอน ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่น มาสืบได้เองตามที่ศาลเห็นว่าจําเป็นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ดังนั้น การที่ศาลมีคําสั่งให้นายม่วง ส่งพยานเอกสารเกี่ยวกับค่าซ่อมรถยนต์มายังศาล ซึ่งศาลได้ตรวจดูเอกสารดังกล่าวและไม่ได้สืบพยานอื่นอีกแล้วศาลได้พิพากษาให้นางชมพูชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายม่วงตามฟ้องนั้น คําพิพากษาของศาลดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2)

สรุป

(ก) หากนายม่วงประสงค์จะดําเนินคดีต่อไป นายม่วงจะต้องยื่นคําขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันสิ้นระยะเวลายื่นคําให้การเพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยขาดนัด

(ข) คําพิพากษาของศาลดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement