การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. ในคดีเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกันให้ชําระหนี้ตามสัญญา เงินกู้จํานวน 5 ล้านบาท ในการพิจารณาคดี จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริง ส่วนจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว โดยที่จําเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคําให้การต่อสู้ใน ประเด็นนี้ไว้ด้วย

Advertisement

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 หรือไม่ และหากศาลเห็นว่าคดีนี้ ขาดอายุความแล้วจะสามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่วามในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือ จําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลแห่งความคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

(2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1) การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นคู่ความในคดีเดียวกัน โดยเป็น โจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมนั้น หากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี และมูลความ แห่งคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แล้ว บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วม คนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่ง กระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกันโดยเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยก จากกันได้นั้น แม้จําเลยที่ 1 จะยื่นคําให้การยอมรับ แต่จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว คําให้การ ของจําเลยที่ 2 ย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการพิจารณาซึ่งได้ทําโดยคู่ความร่วมคนอื่นๆ ด้วย อีกทั้งเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งได้กระทําไปโดยไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ แต่อย่างใด

ดังนั้น หากศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แม้จําเลยที่ 1 จะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความก็ตาม

ศาลก็สามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้

สรุป คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย และถ้าศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ศาลสามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 ได้มีข้อตกลงจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจํากัดจดทะเบียน มีสํานักงานใหญ่อยู่ที่ จังหวัดกระบี่ เพื่อค้าขายเครื่องปรับอากาศ มีนายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิด และนายจัตวากับนายเบญจ เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด บุคคลทั้งห้าเป็นผู้ร่วมกัน ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนฯ โดยนายแอปเปิ้ลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายแอปเปิ้ลได้ตกลงทําสัญญาจ้างในฐานะผู้ทําการ แทนห้างหุ้นส่วนฯ อยู่ที่จังหวัดพัทลุงทางโทรศัพท์กับนายเอซึ่งเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนเด็กดีที่ จังหวัดตรัง ซึ่งขณะตกลงกันทางโทรศัพท์สําเร็จนั้นนายเออยู่ที่จังหวัดสตูล สัญญามีข้อความ กําหนดให้ห้างหุ้นส่วนฯ ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 15 เครื่อง ให้แก่นายเอในฐานะผู้ทําการแทน โรงเรียนดังกล่าวตามสถานที่และรายละเอียดที่กําหนดอย่างชัดเจนในข้อความและภาพที่ได้ส่งผ่าน โทรศัพท์ระหว่างนายเอกับนายแอปเปิ้ลนั้น ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2565 ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศสําเร็จเพียง 9 เครื่อง และไม่ดําเนินการใดต่อไปจนพ้นกําหนดเวลาตามที่ตกลงสัญญากัน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเอจะฟ้องคดีแพ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าว นายแอปเปิ้ล นายเบญจ และนายจัตวา เพื่อให้ทําตามสัญญาจ้างดังกล่าวได้หรือไม่ และศาลจังหวัดพัทลุงมีเขตอํานาจพิจารณาคดีแพ่งนี้ หรือไม่ เพราะเหตุผลอะไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1095 บัญญัติว่า

“ตราบใดห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็น
หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัด ความรับผิดได้เพียงจํานวนดังนี้ คือ…….

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อศาล ส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

และการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดี เกิดขึ้นในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้ง สิทธิอันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย นายจัตวา และนายเบญจ ได้ร่วมกันจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจํากัดเพื่อค้าขายเครื่องปรับอากาศ โดยมีนายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด และนายจัตวากับนายเบญจา เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด โดยนายแอปเปิ้ลซึ่งมีภูมิลําเนาในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น เมื่อปรากฏว่านายแอปเปิ้ลได้ตกลงทําสัญญาจ้างในฐานะผู้ทําการแทนห้างฯ อยู่ที่ จังหวัดพัทลุงทางโทรศัพท์กับนายเอซึ่งเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนเด็กดีที่จังหวัดตรัง ซึ่งขณะตกลงกันทางโทรศัพท์ สําเร็จนั้นนายเออยู่ที่จังหวัดสตูล สัญญามีข้อความกําหนดให้ห้างหุ้นส่วนฯ ต้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 15 เครื่อง ให้แก่นายเอในฐานะผู้ทําการแทนโรงเรียนดังกล่าวตามสถานที่และตามรายละเอียดที่กําหนดอย่างชัดเจนในข้อความและภาพที่ได้ส่งผ่านโทรศัพท์ระหว่างนายเอกับนายแอปเปิ้ลนั้น เมื่อปรากฏต่อมาว่าผู้รับจ้างได้ติดตั้ง เครื่องปรับอากาศสําเร็จเพียง 9 เครื่อง และไม่ดําเนินการใดต่อไปจนพ้นกําหนดเวลาตามที่ตกลงในสัญญา เมื่อสัญญาจ้างระหว่างนายเอกับนายแอปเปิ้ลเป็นสัญญาจ้างทําของและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่ต้องกระทํา ตามแบบแต่อย่างใด การกระทําของห้างฯ ที่เพิกเฉยไม่ดําเนินการให้แล้วเสร็จ เป็นเหตุให้โรงเรียนเด็กดีจังหวัดตรัง ไม่ได้รับประโยชน์คือ ไม่สามารถใช้สอยเครื่องปรับอากาศได้ทั้ง 15 เครื่อง ตามสิทธิที่มีการตกลงกันในสัญญา การกระทําของห้างฯ ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโรงเรียนเด็กดีที่จังหวัดตรังตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ดังนั้น นายเอผู้อํานวยการและในฐานะผู้ทําการแทนโรงเรียนฯ จึงมีอํานาจฟ้องคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอํานาจได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ประกอบมาตรา 4 (1) แต่อย่างไรก็ตาม นายเอจะฟ้องได้ก็แต่เฉพาะห้างหุ้นส่วนจํากัด นายแอปเปิ้ล นายส้ม นายกล้วย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น จะฟ้องนายจัตวากับนายเบญจ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1095 เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริง ว่าห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้นได้เลิกกันแล้ว

ส่วนศาลที่ถือว่าเป็นศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น ซึ่งในกรณีของการทําสัญญา สถานที่ที่ มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่เกิดสัญญาขึ้นนั่นเอง และในกรณีที่คําเสนอและคําสนองทํากันคนละสถานที่กัน เช่นกรณี ที่ผู้เสนอโทรศัพท์พูดคุยกันกับผู้สนองโดยอยู่กันคนละที่ เมื่อคําเสนอและคําสนองถูกต้องตรงกันเป็นสัญญาขึ้นมา ย่อมถือว่าทั้งสถานที่ที่ทําคําเสนอและสถานที่ที่ทําคําสนอง เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดทั้ง 2 สถานที่ ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ย่อมถือว่าทั้งจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสตูลเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล และศาลจังหวัดพัทลุงจึงเป็นศาลที่มีเขตอํานาจในการพิจารณาคดีแพ่งนี้ได้

สรุป นายเอสามารถฟ้องคดีแพ่งนี้กับห้างหุ้นส่วนจํากัดและนายแอปเปิ้ลเพื่อให้ทําตามสัญญาจ้าง
ดังกล่าวได้ แต่จะฟ้องนายจัตวาและนายเบญจซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่ได้ และศาลจังหวัดพัทลุง มีเขตอํานาจพิจารณาคดีนี้ได้

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องโดยระบุว่าจําเลยคนเดียวคือห้างหุ้นส่วนเอกโทตรี โดยมีนายเอกเป็นผู้จัดการของ ห้างหุ้นส่วน ปรากฏว่าจําเลยไม่ได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจึงไม่มีสภาพบุคคล โจทก์จึง
มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องก่อนวันนัดชี้สองสถานดังนี้

(ก) ขอแก้ไขชื่อจําเลยจากห้างหุ้นส่วนเอกโทตรีเป็นนายเอกในฐานะส่วนตัว

(ข) ขอเพิ่มเติมนายโทและนายตรีเข้ามาเป็นจําเลยร่วมในคดีเพราะต้องรับผิดร่วมกัน

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ในกรณีนี้ศาลจะสามารถอนุญาตและรับคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องของโจทก์ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 179 “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคําฟ้อง หรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้

(1) เพิ่ม หรือลด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ

(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้องเพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง หรือ

(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลัง
ที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณา และชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

มาตรา 180 “แก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาล ก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควร ที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็น
การแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องโดยระบุว่าจําเลยคนเดียวคือห้างหุ้นส่วนเอกโทตรี โดยมีนายเอกเป็น ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน ปรากฏว่าจําเลยไม่ได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจึงไม่มีสภาพบุคคล โจทก์จึงมา ยื่นคําร้องขอแก้ไขคําฟ้องก่อนวันนัดชี้สองสถาน โดยขอแก้ไขชื่อจําเลยจากห้างหุ้นส่วนเอกโทตรี (ในฐานะนิติบุคคล) เป็นนายเอก (ในฐานะบุคคลธรรมดา) เพราะห้างฯ ดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนนั้น แม้โจทก์จะได้ยื่นคําร้องขอแก้ไข คําฟ้องก่อนวันนัดชี้สองสถานตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ก็ตาม แต่การขอแก้ไขคําฟ้องของโจทก์ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ไขโดยการเพิ่มหรือลดจํานวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือสละข้อหา ในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 แต่เป็นการแก้ไขคําฟ้องเดิม โดยเปลี่ยนตัวจําเลย ดังนั้น ศาลจะอนุญาตและรับคําร้องขอแก้ไขคําฟ้องของโจทก์กรณีนี้ไม่ได้

(ข) การที่โจทก์มายื่นคําร้องขอเพิ่มเติมนายโทและนายตรีเข้ามาเป็นจําเลยร่วมในคดีเพราะ ต้องรับผิดร่วมกันนั้น กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ศาลจะอนุญาตและรับคําร้องขอเพิ่มเติมคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้ เพราะ
การที่โจทก์ยื่นคําร้องขอเพิ่มชื่อนายโทและนายตรีเข้ามาเป็นจําเลยในภายหลังย่อมถือว่าเป็นการฟ้องบุคคลอื่น เป็นจําเลยเข้ามาในคดีอีก จึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการขอแก้ไขคําฟ้องตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 แต่อย่างใด

สรุป กรณีตาม (ก) และ (ข) ศาลจะอนุญาตและรับคําขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องอ้างว่าจําเลยผิดสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาล บังคับให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 5 ล้านบาท จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ยื่น คําร้องขอให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว ในวันนัด สืบพยาน จําเลยมาศาลและแจ้งต่อศาลว่าจําเลยประสงค์จะต่อสู้คดี จําเลยจึงขออนุญาตยื่น คําให้การโดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การขาดนัดยื่นคําให้การ ของจําเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร
ศาลจึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การ ศาลจึงทําการสืบพยานโจทก์ต่อไป ต่อมาหากศาลพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีและจําเลย ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น

ดังนี้ จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 197 “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายใน ระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ”

มาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ”

มาตรา 199 “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาล ในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดําเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัด ยื่นคําให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จําเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนําสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

ในกรณีที่จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จําเลย ยื่นคําให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคําขอของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ ตามมาตรา 199 ตรี มาก่อน จําเลยนั้นจะขอยื่นคําให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้”

มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น จําเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่

(2) คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่าตามกฎหมาย บุคคลที่ มีสิทธิยื่นคําขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องเป็นจําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัด

โดยจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวมิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวจะต้องไม่ต้องห้ามตามกฎหมายด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) และมาตรา 199 วรรคสาม

จากข้อเท็จจริง โจทก์ฟ้องว่าจําเลยผิดสัญญาซื้อขายสินค้ากับโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับให้จําเลยชําระค่าเสียหายแก่โจทก์ จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ยื่นคําร้องขอให้ตนเป็น ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 197 และมาตรา 198 แล้ว และในวันนัดสืบพยาน จําเลยมาศาล
และแจ้งต่อศาลว่าจําเลยประสงค์จะต่อสู้คดีและขออนุญาตยื่นคําให้การ โดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัด แต่เมื่อ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การขาดนัดยื่นคําให้การของจําเลยเป็นไปโดยจงใจและไม่มีเหตุอันสมควร ศาลจึง มีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสองนั้น ย่อมมีผลทําให้จําเลยจะขอยื่น คําให้การอีกหรือจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม
ดังนั้น เมื่อต่อมาศาลพิพากษาให้จําเลยแพ้คดี และแม้ว่าจําเลยจะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษานั้น ก็ตาม จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าคําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม

สรุป จําเลยจะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้

Advertisement