การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3105 (LAW 3005) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นางสาวเวียงฟ้าฟ้องขอให้ขับไล่นายวังแก้วออกจากบ้านพร้อมที่ดินพิพาทของนางสาวเวียงฟ้า เนื่องจากนายวังแก้วผิดสัญญาเช่าและนางสาวเวียงฟ้าบอกเลิกสัญญาแล้ว ทั้งขอให้นายวังแก้วชําระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายแก่นางสาวเวียงฟ้า นายวังแก้วให้การต่อสู้ว่านางสาวเวียงฟ้าไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท แต่เป็นของนางเวียงดาวคุณย่าของนางสาวเวียงฟ้า ต่อมานายระฆังทองยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีอ้างว่าตนได้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน โดยความสงบ เปิดเผย และโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จึงได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทบางส่วน โดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่านายระฆังทอง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

Advertisement

ดังนี้ นายระฆังทองจะขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือ บังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวเวียงฟ้าฟ้องขอให้ขับไล่นายวังแก้วออกจากบ้านพร้อมที่ดิน
พิพาทของนางสาวเวียงฟ้าเนื่องจากนายวังแก้วผิดสัญญาเช่าและนางสาวเวียงฟ้าบอกเลิกสัญญาแล้ว ทั้งขอให้ นายวังแก้วชําระค่าเช่าที่ค้างชําระและค่าเสียหายแก่นางสาวเวียงฟ้า นายวังแก้วให้การต่อสู้ว่านางสาวเวียงฟ้า ไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท แต่เป็นของนางเวียงดาวคุณย่าของนางสาวเวียงฟ้านั้น ถือว่านายวังแก้ว ไม่ได้ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยการกล่าวอ้างว่าเป็นของนายวังแก้วแต่อย่างใด ดังนั้นการที่นายระฆังทองยื่นคําร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอ้างแต่เพียงว่า ตนได้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วน โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท บางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่าตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ครอบครอง

อีกทั้งนายระฆังทองมิได้กล่าวอ้างเลยว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับนายวังแก้วแต่อย่างใด ข้ออ้าง ของนายระฆังทองดังกล่าวเป็นกรณีที่นายระฆังทองตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับนางสาว เวียงฟ้าทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ นายระฆังทองมีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่เพียงใดก็ยังคงมีอยู่อย่างนั้น และหากศาล พิพากษาขับไล่นายวังแก้วตามคําฟ้องของนางสาวเวียงฟ้า ก็ย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของนายระฆังทอง นายระฆังทองจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลแห่งคดีนี้ จึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับ ความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ดังนั้น นายระฆังทองจะขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยการร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) ไม่ได้

สรุป นายระฆังทองจะขอเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยการร้องสอดไม่ได้

 

ข้อ 2. นายธันวาอาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และนายธันวามีที่ดินจํานวน 10 แปลง ตั้งอยู่ในจังหวัด หนองคาย ซึ่งให้เช่าปลูกอ้อย โดยนายธันวามีบุตรชาย 3 คน คือ นายจันทร์ นายอังคาร และนายพุธ ซึ่งบุตรชายทั้ง 3 คน มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเลย ส่วนภริยาเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมานายธันวาป่วยเป็นมะเร็งจึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในจังหวัดขอนแก่นเป็นเวลาหนึ่งปีและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าว นายจันทร์จึงยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัด หนองคาย ให้วินิจฉัยว่า

ก) ศาลจังหวัดหนองคายมีอํานาจรับคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ข) หากต่อมานายจันทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวา แต่นายจันทร์จัดการมรดก โดยไม่ชอบ นายอังคารประสงค์ยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์จากการเป็นผู้จัดการมรดก ของนายธันวา นายอังคารต้องยื่นคําร้องต่อศาลใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 จัตวา “คําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลําเนาอยู่ใน
เขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล มาตรา 7 “บทบัญญัติในมาตรา 4 มาตรา 4 ทวิ มาตรา 4 ตรี มาตรา 4 จัตวา… ต้องอยู่ภายใต้ บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้

(4) คําร้องที่เสนอให้ศาลก่อนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้ก็ดี
คําร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คําร้องที่เสนอให้ศาลมีคําสั่งใดที่เกี่ยวกับ การถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คําร้องขอหรือคําร้อง อื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคําสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคําพิพากษานั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก) การที่นายธันวาอาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานี และนายธันวามีที่ดินจํานวน 10 แปลง ตั้งอยู่ ในจังหวัดหนองคายซึ่งให้เช่าปลูกอ้อย โดยนายธันวามีบุตรชาย 3 คน คือ นายจันทร์ นายอังคาร และนายพุธ ซึ่งบุตรชายทั้ง 3 คน มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเลย ส่วนภริยาเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมานายธันวาป่วยเป็นมะเร็ง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ในจังหวัดขอนแก่น และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าว การที่นายจันทร์ ได้ยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น นายจันทร์จะต้องยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลที่เจ้ามรดก มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 จัตวา ซึ่งได้แก่ ศาลจังหวัดอุดรธานี ดังนั้น การที่นายจันทร์ได้ยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลจังหวัดหนองคาย ศาลจังหวัดหนองคายย่อมไม่มีอํานาจรับคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้พิจารณา

ข) หากต่อมานายจันทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวา แต่นายจันทร์จัดการ มรดกโดยไม่ชอบ นายอังคารประสงค์ยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวานั้น

ถือเป็นคําร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ไว้หรือถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้หรือขอให้ศาลมีคําสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคําสั่งหรือการอนุญาต หรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้น จึงต้องเสนอคําร้องต่อศาลในคดีที่ได้มีคําสั่ง การอนุญาต การแต่งตั้ง หรือ คําพิพากษานั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 7 (4) ดังนั้น เมื่อกรณีนี้ต้องยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกต่อ ศาลจังหวัดอุดรธานี ตามมาตรา 4 จัตวา นายอังคารจึงต้องยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์จากการเป็น ผู้จัดการมรดกของนายธันวาต่อศาลจังหวัดอุดรธานี ตามมาตรา 7 (4)

สรุป
ก) ศาลจังหวัดหนองคายไม่มีอํานาจรับคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้พิจารณา
ข) นายอังคารจะต้องยื่นคําร้องขอให้ถอดถอนนายจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกของนายธันวา
ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี

 

ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยทําสวนมีที่ดินบางส่วนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษา ขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยมิได้รุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และ ถึงแม้จําเลยจะรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จําเลยก็ได้อยู่โดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของจําเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคําพิพากษาว่าจําเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดิน

ในกรณีเช่นนี้ จําเลยจะสามารถฟ้องแย้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

วินิจฉัย

“ฟ้องแย้ง” คือ การฟ้องซึ่งจําเลยกลับฟ้องโจทก์ในคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจําเลย กล่าวคือ โจทก์เป็นผู้เริ่มคดีโดยฟ้องจําเลยก่อน แล้วจําเลยจึงได้ฟ้องโจทก์บ้างในคดีเดียวกันโดยกล่าวรวมมาในคําให้การ
แต่ฟ้องแย้งนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ถ้าฟ้องแย้งนั้น เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหากจะฟ้องแย้งไม่ได้ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม)

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยทําสวนมีที่ดินบางส่วนรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จําเลยออกจากที่ดิน จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยมิได้รุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และถึงแม้จําเลยจะรุกล้ําเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จําเลยก็ได้อยู่โดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ จําเลย จึงฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคําพิพากษาว่าจําเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดินนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยรุกล้ําเข้าไป ในที่ดินของโจทก์ แต่จําเลยให้การว่ามิได้รุกล้ํา คดีจึงมีประเด็นว่าจําเลยบุกรุก (รุกล้ํา) หรือไม่ ดังนั้น ประเด็นแรก ที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก่อนคือว่าที่ดินเป็นของโจทก์หรือจําเลยจึงค่อยมาวินิจฉัยฟ้องแย้ง และหากวินิจฉัยแล้ว

ฟังไม่ได้ว่าจําเลยบุกรุก ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ต้องพิจารณาตามฟ้องแย้ง การฟ้องแย้งของจําเลย จึงเป็นการฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ดังนั้น จําเลยจึงไม่สามารถฟ้องแย้งในกรณีดังกล่าวนี้ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม

สรุป จําเลยไม่สามารถฟ้องแย้งในกรณีดังกล่าวนี้ได้

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทําละเมิด แก่โจทก์เป็นเงินคนละ 500,000 บาท ครบกําหนดยื่นคําให้การในวันที่ 5 มีนาคม 2564 จําเลย ทั้งสองไม่ยื่นคําให้การภายในเวลาที่กฎหมายกําหนดดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม 2564 จําเลยที่ 1 มาศาล และแจ้งต่อศาลว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดีพร้อมกับยื่นคําร้องขออนุญาต ยื่นคําให้การ โดยอ้างว่ามิได้จงใจขาดนัดยื่นคําให้การ และแนบคําให้การมาด้วย ส่วนจําเลยที่ 2 ไม่ได้มาศาล ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคําร้องของจําเลยที่ 1 ต่อมาในวันที่ 19 มีนาคม 2564 โจทก์ ยื่นคําขอให้ศาลมีคําพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีจําเลยทั้งสองโดยขาดนัด หลังจากนั้น ศาลชั้นต้น ไต่สวนคําร้องของจําเลยที่ 1 และมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การ เพราะเห็นว่า การขาดนัดยื่นคําให้การเป็นไปโดยจงใจ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยทั้งสองชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์คนละ 350,000 บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้จําเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์เต็มตามฟ้อง ไม่อุทธรณ์ในส่วนของจําเลยที่ 1 ส่วนจําเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 197 “เมื่อจําเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคําให้การแล้ว จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายใน ระยะเวลาที่กําหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคําสั่งศาล ให้ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

มาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด
ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้น
เสียจากสารบบความ

มาตรา 199 “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาล ในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและดําเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมิได้แจ้งต่อศาลก็ดี หรือศาลเห็นว่าการขาดนัด ยื่นคําให้การนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรก็ดี ให้ศาลดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จําเลยอาจถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนําสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้

ในกรณีที่จําเลยมิได้ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือศาลไม่อนุญาตให้จําเลย ยื่นคําให้การตามวรรคสอง หรือศาลเคยมีคําสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ตามคําขอของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การ ตามมาตรา 199 ตรี มาก่อน จําเลยนั้นจะขอยื่นคําให้การตามมาตรานี้อีกหรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้”

มาตรา 199 ตรี “จําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น ค่าเลยนั้นอาจมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เว้นแต่

(2) คําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 1 จะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมาย บุคคลที่มีสิทธิยื่นคําขอพิจารณาคดีใหม่ จะต้องเป็นจําเลยซึ่งศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้แพ้คดีโดยขาดนัด
โดยจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวมิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้น และคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การดังกล่าวจะต้องไม่ต้องห้ามตามกฎหมายด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) และมาตรา 199 วรรคสาม

ตามข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การของจําเลยที่ 1 เป็นไป โดยจงใจ จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสองนั้น ย่อมทําให้ จําเลยที่ 1 จะขอยื่นคําให้การอีกหรือจะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคสาม

ดังนั้น เมื่อต่อมาศาลพิพากษาให้จําเลยที่ 1 แพ้คดี และแม้ว่าจําเลยที่ 1 จะมิได้ยื่นอุทธรณ์ คําพิพากษานั้นก็ตาม จําเลยที่ 1 จะมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เพราะถือว่าคําขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี (2) ประกอบมาตรา 199 วรรคสาม

กรณีของจําเลยที่ 2 การที่จําเลยที่ 2 ไม่ยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาที่กฎหมายกําหนด และ โจทก์ได้ยื่นคําขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ ศาลมีคําพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่งแล้วนั้น ต่อมาเมื่อ ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาให้จําเลยที่ 2 แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคําให้การ และจําเลยที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษานั้น จําเลยที่ 2 จึงมีคําขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 ตรี

สรุป จําเลยที่ 1 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ส่วนจําเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

 

Advertisement