การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายนริศ ผู้ร้องเป็นชายโดยกําเนิด ต่อมาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศเป็นหญิงและ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นริศา” ผู้ร้องต้องการใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกําเนิดมา จากเพศชายเป็นเพศหญิง

Advertisement

ดังนี้ ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็นเพศหญิง ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้จะต้อง เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคลมีสิทธิ เสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1. กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอ เป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2. กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความจําเป็น เกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาล
ตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายนริศผู้ร้องซึ่งเป็นชายโดยกําเนิด ต่อมาได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลง อวัยวะเพศเป็นหญิงและได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นริศา” ต้องการใช้สิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกําเนิดมา จากเพศชายเป็นเพศหญิง ดังนี้ ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็น เพศหญิงได้หรือไม่นั้น เห็นว่า เพศของบุคคลธรรมดาตามที่กฎหมายรับรองและถือเอาตามกําเนิดนั้น กรณีเพศหญิง ตามพจนานุกรม คือ คนที่คลอดลูกได้ แต่ผู้ร้องเป็นชายโดยกําเนิดแม้จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ เป็นหญิงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องที่จะขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกําเนิดมาได้ อีกทั้ง ไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาล เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็นเพศหญิงไม่ได้

สรุป ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ร้องเปลี่ยนเพศมาเป็นเพศหญิงไม่ได้

 

ข้อ 2. นางพุดซ้อนมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตราด และนางจําปีมีภูลําเนาที่จังหวัดชลบุรี นางพุดซ้อน ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวนห้าแสนบาทจากนางจําปี ซึ่งมีกําหนดเวลาชําระหนี้คืนภายในหนึ่งปี โดย ทั้งสองตกลงทําสัญญากู้ยืมกันที่ประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นสามเดือนนางพุดซ้อนย้ายภูมิลําเนา ไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อถึงกําหนดเวลาชําระหนี้ นางพุดซ้อนเพิกเฉยและไม่ยอมชําระเงินคืน ให้แก่นางจําปี นางจําปีประสงค์จะยื่นคําฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นางพุดซ้อนชําระหนี้ตาม สัญญากู้ยืมเงิน

ให้วินิจฉัยว่า นางจําปีจะต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 3 “เพื่อประโยชน์ในการเสนอคําฟ้อง

(1) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักร ให้ศาลแพ่ง
เป็นศาลที่มีเขตอํานาจ

(2) ในกรณีที่จําเลยไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร

(ก) ถ้าจําเลยเคยมีภูมิลําเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกําหนดสองปีก่อนวันที่
มีการเสนอคําฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลําเนาของจําเลย

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิ หรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล

มาตรา 4 ตรี “คําฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจําเลยมิได้มีภูมิลําเนาอยู่ใน ราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล

คําฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจําเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็น
การชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคําฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางพุดซ้อนมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตราดได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน ห้าแสนบาทจากนางจําปีซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยทั้งสองตกลงทําสัญญากู้ยืมกันที่ประเทศเวียดนาม และหลังจากนั้น 3 เดือน นางพุดซ้อนย้ายภูมิลําเนาไปอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ นางพุดซ้อน

เพิกเฉยและไม่ยอมชําระเงินคืนให้แก่นางจําปี และนางจําปีประสงค์จะยื่นคําฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นางพุดซ้อน ชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน นางจําปีจะต้องยื่นคําฟ้องต่อศาลใดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้นางพุดซ้อน จําเลยไม่ได้มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร และมูลคดีก็ไม่ได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่นางจําปีโจทก์ มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรี กล่าวคือ นางจําปี สามารถยื่นคําฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่ง หรือต่อศาลที่นางจําปีโจทก์มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลคือศาลจังหวัดชลบุรีหรือต่อศาลที่ทรัพย์สินของนางพุดซ้อนจําเลยซึ่งอาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในเขตศาลนั่นเอง โดยไม่ต้องพิจารณา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะไม่ใช่คําฟ้องที่มุ่งบังคับ เอากับตัวอสังหาริมทรัพย์โดยตรงและไม่ใช่คําฟ้องที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด

และแม้กรณีนี้จะปรากฏว่าจําเลยซึ่งไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร แต่เคยมีภูมิลําเนาอยู่ใน ราชอาณาจักรภายในกําหนด 2 ปีก่อนวันที่มีการเสนอคําฟ้องคือมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดตราดก็ตาม แต่นางจําปี โจทก์จะฟ้องนางพุดซ้อนจําเลยที่ศาลจังหวัดตราดตาม ป.วิ.แพ่ง 4 (1) ประกอบมาตรา 3 (2) (ก) ไม่ได้ เพราะ กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้วคือมีมาตรา 4 ตรี บัญญัติไว้ โดยเฉพาะแล้ว จึงต้องพิจารณาตามมาตรา 4 ตรี โดยไม่ต้องนําบทบัญญัติทั่วไปเรื่องเขตอํานาจศาลมาตรา 3
และมาตรา 4 มาใช้บังคับ

และเมื่อตามข้อเท็จจริงดังกล่าว นางจําปีโจทก์สามารถยื่นคําฟ้องของตนต่อศาลได้สองศาล หรือกว่านั้นตามมาตรา 4 ตรี ดังนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 นางจําปีโจทก์จึงสามารถยื่นคําฟ้องต่อศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัดชลบุรีศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

สรุป นางจําปีจะต้องยื่นคําฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดชลบุรี

 

ข้อ 3. นายศรเพชรเป็นโจทก์ยื่นคําฟ้องนายศรรามเป็นจําเลย ว่านายศรรามขับรถด้วยความประมาท ชนรถยนต์ของตนเป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย ขอให้นายศรรามชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ย นายศรรามยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าความประมาทไม่ได้เกิดจากฝ่ายตนแต่เกิดจาก นายศรเพชรเป็นฝ่ายประมาท ขอให้ศาลยกฟ้องที่นายศรเพชรฟ้องมาและพิพากษาให้นายศรเพชร ชดใช้ค่าเสียหายให้กับตนทั้งสิ้น 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลได้มีการชี้สองสถานและกําหนด ประเด็นข้อพิพาทเรียบร้อยแล้ว

ในวันสืบพยานนายศรเพชรได้ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําฟ้องโดยต้องการเพิ่มเติมค่าเสียหาย จาก 500,000 บาท เป็น 550,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องดังกล่าว ต่อมา นายศรเพชรจึงยื่นคําร้องขอถอนฟ้องที่ฟ้องนายศรราม โดยศาลได้ถามนายศรรามแล้วแต่นายศรรามไม่ได้คัดค้าน ศาลจึงมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องของนายศรเพชรแล้วศาลจะสามารถพิจารณา
ฟ้องแย้งของนายศรรามต่อไปได้หรือไม่ และหากในระหว่างพิจารณาฟ้องแย้งของนายศรรามนี้
นายศรเพชรจะฟ้องนายศรรามในเรื่องเดิมเป็นคดีใหม่จะสามารถได้ทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

มาตรา 176 “การทิ้งคําฟ้องหรือถอนคําฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น รวมทั้ง กระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคําฟ้อง และกระทําให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่ง มิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคําฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของ กฎหมายว่าด้วยอายุความ

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายศรเพชรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศรรามเป็นจําเลย ว่านายศรรามขับรถ ด้วยความประมาทชนรถยนต์ของตนได้รับความเสียหาย ขอให้นายศรรามชดใช้ค่าเสียหาย 500,000 บาทพร้อม ดอกเบี้ย นายศรรามยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าความประมาทไม่ได้เกิดจากฝ่ายตน แต่เกิดจากนายศรเพชรเป็น ฝ่ายประมาท ขอให้ศาลยกฟ้องที่นายศรเพชรฟ้องมาและพิพากษาให้นายศรเพชรชดใช้ค่าเสียหายให้กับตน ทั้งสิ้น 400,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย และศาลได้มีการชี้สองสถานและกําหนดประเด็นข้อพิพาทเรียบร้อยแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อนายศรรามได้ฟ้องแย้งมาในคําให้การด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ฟ้องแย้งของนาย ศรรามถือเป็นคําฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้น การที่นายศรเพชรได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องและศาลได้อนุญาตให้ถอน ฟ้อง การถอนฟ้องของนายศรเพชรย่อมมีผลเฉพาะฟ้องเดิมของนายศรเพชร ส่วนฟ้องแย้งนั้นศาลสามารถดําเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้

การที่ศาลอนุญาตให้นายศรเพชรถอนฟ้องนั้น การถอนคําฟ้องของนายศรเพชรย่อมมีผลตาม ป. วิ.แพ่ง มาตรา 176 กล่าวคือ ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น ทําให้นายศรเพชรกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม เสมือนหนึ่งไม่ได้มีการยื่นฟ้องเลย นายศรเพชรจึงไม่ได้มีสถานะเป็นโจทก์อีกต่อไป ดังนั้น หากในระหว่างการ พิจารณาฟ้องแย้งของนายศรราม การที่นายศรเพชรจะฟ้องนายศรรามในเรื่องเดิมเป็นคดีใหม่ นายศรเพชรย่อม สามารถทําได้ และไม่ถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สรุป เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้นายศรเพชรถอนฟ้องแล้ว ศาลสามารถพิจารณาฟ้องแย้งของ นายศรเพชรต่อไปได้ และนายศรเพชรสามารถเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายศรรามในเรื่องเดิมเป็นคดีใหม่ได้ไม่เป็นฟ้องซ้อน

 

ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจําเลยโดยอ้างว่าจําเลยจุดไฟเผาหญ้าและใบไม้ในที่ดินของจําเลย
แต่เปลวไฟได้ลุกลามเข้ามาเผาไหม้ต้นกาแฟในที่ดินของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลบังคับ จําเลยชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาท จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลได้พิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบแล้ววินิจฉัยว่าคําฟ้องโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายศาลงดสืบพยานและได้มีคําพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดี

ดังนี้ คําพิพากษาศาลดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็น
ฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัด ต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้าง ของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ในการกําหนดจํานวนเงินตามคําขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(2) ในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้
โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่ เห็นว่าจําเป็น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ในคดีแพ่ง การที่โจทก์ฟ้องจําเลยขอให้ศาลบังคับจําเลยชดใช้เงินค่าสินไหม ทดแทนความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทนั้น เมื่อจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ได้มีคําขอเพื่อให้ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ให้ศาล มีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดไป (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง) แต่ศาลจะมีคําพิพากษาหรือ คําสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การได้ก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูล และไม่ขัดต่อกฎหมาย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง) และถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ ไปฝ่ายเดียวด้วย (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องให้จําเลยชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจํานวน 1 ล้านบาทนั้น แม้ว่าจะไม่ใช่คดีเกี่ยวกับสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัว หรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ ในอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อเป็นคดีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวน ได้โดยแน่นอน เพราะคําฟ้องที่มีคําขอให้จําเลยชําระเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้น ศาลมีอํานาจพิพากษาปรับจํานวนค่าสินไหมทดแทนให้ลดน้อยลงจากคําขอท้ายคําฟ้องได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ ค่าเสียหายที่แท้จริงและเป็นค่าเสียหายที่ไม่ไกลกว่าเหตุแห่งการทําละเมิด ดังนั้น กรณีนี้จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) กล่าวคือ การที่ศาลจะมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยจําเลย ขาดนัดยื่นคําให้การได้ ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวด้วย เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลได้งดสืบพยานและได้มีคําพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดี โดยที่ศาลไม่ได้สืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) กําหนด คําพิพากษาศาลดังกล่าว จึงมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

สรุป คําพิพากษาศาลดังกล่าว มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

Advertisement