การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลเพ่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านพิพาทราคา 300,000 บาท ซึ่งตั้งอยู่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ในเขตของศาลแพ่งและศาลแขวงพระนครเหนือ จําเลยบุกรุกเข้า ครอบครองบ้านพิพาท โจทก์แจ้งให้ออกไปแล้วแต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าบ้านพิพาท เป็นของโจทก์และขับไล่จําเลยออกจากบ้านพิพาท นายเอกผู้พิพากษาศาลแพ่งมีคําสั่งรับฟ้อง จําเลยให้การว่าบ้านพิพาทเป็นของจําเลย จําเลยมิได้บุกรุกบ้านโจทก์ นายเอกมีคําสั่งรับคําให้การ และนายเอกเป็นองค์คณะคนเดียวนั่งพิจารณาคดีจนเสร็จสิ้น แต่ก่อนทําคําพิพากษานายเอกเห็นว่า คดีอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ นายเอกจึงมีคําสั่งโอนคดีไปยัง ศาลแขวงพระนครเหนือ จงวินิจฉัยว่า

(ก) คําสั่งรับฟ้องของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) คําสั่งโอนคดีของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 19/1 วรรคสอง “ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่งอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงก็ให้ศาลนั้นพิจารณา พิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(2) ออกคําสั่งใด ๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลแพ่งว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านพิพาทราคา 300,000 บาท จําเลยบุกรุกเข้าครอบครองบ้านพิพาท โจทก์แจ้งให้ออกไปแล้วแต่จําเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าบ้านพิพาท เป็นของโจทก์และขับไล่จําเลยออกจากบ้านพิพาท และนายเอกผู้พิพากษาคนเดียวของศาลแพ่งมีคําสั่งรับฟ้องนั้น คําสั่งรับฟ้องดังกล่าวของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 24 (2) เพราะเป็นคําสั่งซึ่งมิใช่ เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี

(ข) การที่โจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลแพ่ง เมื่อคดีนี้เริ่มต้นโดยเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การนําคดีนี้ไปยื่นต่อศาลแพ่ง และศาลแข่งได้รับฟ้องไว้จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแพ่ง มิได้อยู่ในอํานาจของศาลแขวงพระนครเหนือตามมาตรา 17 ประกอบ มาตรา 25 (4) แต่อย่างไรก็ดี เมื่อจําเลยได้ยื่นคําให้การเข้าไปในคดีว่าบ้านพิพาทเป็นของจําเลย จําเลยมิได้บุกรุกบ้านโจทก์ คดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท ทําให้จากคดีไม่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีที่มี ทุนทรัพย์ และเมื่อทุนทรัพย์มีราคา 300,000 บาท กรณีนี้จึงถือว่าเป็นกรณีตามมาตรา 19/1 วรรคสอง กล่าวคือ ในขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่งอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงพระนครเหนือก็ตาม ก็ยังคงให้ศาลแพ่งพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป จะโอนคดีไปยังศาลแขวงพระนครเหนือไม่ได้ ดังนั้น การที่นายเอกมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงพระนครเหนือ คําสั่งดังกล่าวของนายเอกจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป

(ก) คําสั่งรับฟ้องของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

(ข) คําสั่งโอนคดีของนายเอกไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2 โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีอาญาอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี (ไม่มีศาลแขวงอยู่ในเขตอํานาจ) นายกรุงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมีนบุรีได้จ่ายสํานวนให้ นายแทนไทผู้พิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีและนายพุทธธรรมผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดมีนบุรี เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา หากปรากฏว่า

(ก) ในวันไต่สวนมูลฟ้องนายพุทธธรรมลําพังคนเดียวมาไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้อง กับ

(ข) ในวันไต่สวนมูลฟ้องนายแทนไทเพียงลําพังคนเดียวมาไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีไม่มีมูลจึงมีคําพิพากษายกฟ้อง

คําสั่งและคําพิพากษาดังกล่าวข้างต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 18 “ภายใต้บังคับมาตรา 19/1 ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและ คดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ เพราะผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจตาม (3) (4) หรือ (5)”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) แต่ เนื่องจากศาลจังหวัดมีนบุรีไม่มีศาลแขวงอยู่ในเขตอํานาจ โจทก์จึงนําคดีดังกล่าวมาฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรีนั้น โจทก์ย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 18 และแม้ว่าศาลจังหวัดจะต้องมีองค์คณะผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน ตามมาตรา 26 แต่มาตรา 26 อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 25 ดังนั้น ผู้พิพากษาเพียงลําพังคนเดียวจึงมีอํานาจในการ ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้ตามมาตรา 25 (3)

ส่วนคําสั่งประทับรับฟ้องของนายพุทธธรรมและคําพิพากษายกฟ้องของนายแทนไทชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ในวันไต่สวนมูลฟ้องนายพุทธธรรมผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดมีนบุรีลําพังคนเดียว มาไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องนั้น คําสั่งดังกล่าวของนายพุทธธรรมย่อมไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายพุทธธรรมเป็นเพียงผู้พิพากษาประจําศาล จึงไม่มีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา เพียงลําพังคนเดียวตามมาตรา 25 (3) และมาตรา 25 วรรคสอง

(ข) ในวันไต่สวนมูลฟ้องนายแทนไทเพียงลําพังคนเดียวมาไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีไม่มีมูล จึงมีคําพิพากษายกฟ้องนั้น คําพิพากษาดังกล่าวของนายแทนไทผู้พิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีย่อมชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้มีอัตราโทษจําคุกและโทษปรับไม่เกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียว ดังนั้น นายแทนไทจึงมีอํานาจ ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งเพียงลําพังคนเดียวได้ตามมาตรา 25 (3) และมาตรา 25 (5)

สรุป

(ก) คําสั่งประทับรับฟ้องของนายพุทธธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) คําพิพากษาของนายแทนไทชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 ในศาลฎีกานายวิจารณ์ประธานศาลฎีกา ได้จ่ายสํานวนคดีแพ่งให้กับนายวิจัย นายวิจักษณ์และนายวิษณุ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีแพ่งคดีหนึ่ง ทั้งสามได้พิจารณาคดี จนกระทั่งเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างทําคําพิพากษา นายวิจัยป่วยหนักต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงทําให้นายวิจักษณ์กับนายวิษณุไม่สามารถทําคําพิพากษาได้ จึงได้นําเอาคดีนี้ไปปรึกษานายวิจารณ์ ประธานศาลฎีกา แต่นายวิจารณ์ได้เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศพร้อมกับรองประธานศาลฎีกา อันดับที่ 1 ถึง 3 เหลือรองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 4 ถึง 6 ทั้งสองจึงตัดสินใจนําเอาสํานวนคดี ดังกล่าวไปปรึกษารองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 6 รองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 6 จึงตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายวิษณุกับนายวิจักษณ์ คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว ๆ มากมาย (1) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวิจารณ์ประธานศาลฎีกา ได้จ่ายสํานวนคดีแพ่งให้กับนายวิจัย นายวิจักษณ์และนายวิษณุ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีแพ่งคดีหนึ่ง และเมื่อทั้งสามได้ พิจารณาคดีจนกระทั่งเสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างทําคําพิพากษา นายวิจัยป่วยหนักต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น ถือว่านายวิจัยไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้ และถือว่าเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 ดังนั้น นายวิจักษณ์และนายวิษณจึงต้องนําสํานวนคดีนั้นไปให้ประธานศาลฎีกาหรือ รองประธานศาลฎีกาตรวจและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาตามมาตรา 29 (1)

การที่นายวิจักษณ์กับนายวิษณุนำสํานวนคดีนั้นไปปรึกษานายวิจารณ์ประธานศาลฎีกา แต่นายวิจารณ์ได้เดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศพร้อมกับรองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 1 ถึง 3 เหลือแต่รองประธาน ศาลฎีกาอันดับที่ 4 ถึง 6 ทั้งสองจึงตัดสินใจนําเอาสํานวนคดีดังกล่าวไปปรึกษารองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 6 และ รองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 6 ได้ตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกับนายวิจักษณ์และนายวิษณุนั้น คําพิพากษาดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 29 (1) เพราะการนําสํานวนคดีไปให้รองประธานศาลฎีกา ตรวจสํานวนเละลงลายมือชื่อทําคําพิพากษานั้นจะไม่คํานึงถึงความอาวุโสของรองประธานศาลฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะเป็นรองประธานศาลฎีกาอันดับที่ 6 ก็สามารถตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมได้

สรุป คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement