การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3104 (LAW 3004) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดข้อหาปลอมเอกสาร (ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับ ไม่เกินหกหมื่นบาท) ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงมีคําสั่งประทับรับฟ้องคดีดังกล่าว ต่อมาจําเลยแถลงว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้และต้องโอนคดีให้ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาต่อไป

Advertisement

ให้วินิจฉัยว่า คําแถลงของจําเลยฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่ง ตลิ่งชัน ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาธนบุรี ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญามีนบุรี หรือศาลจังหวัด ได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าวพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยกระทําความผิดข้อหาปลอมเอกสาร ซึ่งมีระวางโทษ จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เมื่อคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก อย่างสูงไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท จึงถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลแขวงตาม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ซึ่งโดยหลักแล้วโจทก์จะต้องนําคดีดังกล่าวไปฟ้องยังศาลแขวงพระนครใต้ มิใช่ศาลอาญากรุงเทพใต้

การที่โจทก์ได้นําคดีดังกล่าวไปฟ้องจําเลยยังศาลอาญากรุงเทพใต้นั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ย่อมมีอํานาจใช้ดุลพินิจที่จะรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาได้ หรือจะโอนคดีไปให้ศาลแขวงที่มีอํานาจพิจารณาคดีดังกล่าว
ก็ได้ แต่เมื่อปีกฎว่าคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ใช้ดุลพินิจรับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงต้องพิจารณาคดีนี้ต่อไปโดยไม่ต้องโอนคดีไปให้ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาตามมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่จําเลยแถลงว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้ และต้องโอนคดีให้ศาลแขวงพระนครใต้ พิจารณาต่อไปนั้น คําแถลงของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป คําแถลงของจําเลยดังกล่าวฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. ท่านเข้าใจเรื่องของอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นในการไต่สวนมูลฟ้อง และมีคําสั่งในคดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) ว่าอย่างไร จงอธิบายโดยละเอียดพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้
ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้น มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25 (5)

อํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น ในการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือ

1. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดไม่เกินพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องได้ตาม
พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษา ถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) พิพากษายกฟ้องถ้าเห็นว่าคดีไม่มีมูล ซึ่งการพิพากษายกฟ้องนี้ ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น สามารถทําได้เลยโดยอาศัยอํานาจตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5)

2. คดีที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเป็นพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5) คือ อัตราโทษอย่างสูงจําคุกเกินสามปี หรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้น มีอํานาจในการไต่สวนมูลฟ้องได้ตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (3) และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ก็จะต้องมีคําสั่งในคดีอาญาตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 คือ

(1) ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษา ถ้าเห็นว่าคดีมีมูล หรือ

(2) ในกรณีที่เห็นว่าคดีไม่มีมูล ถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 29 (3) ต้องมีผู้พิพากษาอีกหนึ่งคนเข้าร่วมตรวจสํานวนลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะในศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องคนเดียวไม่ได้

ตัวอย่าง เช่น นายหล่อเป็นโจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุดรธานีข้อหาปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 ระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ กับข้อหาปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทนั้น เมื่อนายโทผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานีได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาปลอมเอกสาร ส่วนคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่มีมูลและจะพิพากษายกฟ้องข้อหาปลอม เอกสารสิทธินั้น โดยหลักแล้วนายโทผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25 (3) ที่ได้บัญญัติให้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญาได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธินั้น เป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี จึงเป็นอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิพากษาได้ตามมาตรา 25 (5) จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 26 จึงถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจําเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น ในระหว่างการทําคําพิพากษาตามมาตรา 31 (1) ดังนั้น นายโทผู้พิพากษาคนเดียวของศาลจังหวัดอุดรธานีจะ พิพากษายกฟ้องคดีข้อหาปลอมเอกสารสิทธิไม่ได้ จะต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุดรธานีตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องด้วยตามมาตรา 29 (3)

 

ข้อ 3. ในศาลจังหวัดพล โจทก์นําคดีแพ่งทุนทรัพย์ 300,000 บาท มาฟ้อง นายเมฆผู้พิพากษาศาล จังหวัดพลเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดี ได้ทําการพิจารณาคดีอยู่นั้นกรมที่ดินกลับส่ง ใบประเมินราคาที่ดินมาให้ใหม่ ทําให้ทุนทรัพย์ในคดีนี้เปลี่ยนเป็น 600,000 บาท นายเมฆจึงนํา คดีไปให้นายอนันต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกันนายอนันต์ไปราชการที่ศาลฎีกา นายสุพจน์ผู้พิพากษาอาวุโสที่มีอาวุโสมากที่สุดที่ศาลจังหวัดพลจึงนําคดีมาพิจารณาและทําคําพิพากษาร่วมกันกับนายเมฆพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี การพิจารณาและพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 9 “ในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ศาลละหนึ่งคน

เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทําการแทนตามวรรคสอง ประธานศาลฎีกาจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทําการแทนก็ได้
ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลจะเป็นผู้ทําการแทนในตําแหน่งตามวรรคหนึ่งไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา
ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้

ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษา
ศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กําหนด ไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25 (4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคา ทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ต้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์นําคดีแพ่งทุนทรัพย์ 300,000 บาท มาฟ้องที่ศาลจังหวัดพล นายเมฆผู้พิพากษาศาลจังหวัดพลเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี ในระหว่างพิจารณาคดีอยู่นั้น กรมที่ดินกลับ ส่งใบประเมินราคาที่ดินมาให้ใหม่ ทําให้ทุนทรัพย์ในคดีนี้เปลี่ยนเป็น 600,000 บาทนั้น ถือเป็นกรณีมีเหตุจําเป็นอื่น อันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (4) ในระหว่างพิจารณา เนื่องจากทุนทรัพย์ที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณา พิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว ทําให้นายเมฆไม่สามารถจะทําการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งดังกล่าวต่อไปได้

นายเมฆจึงต้องนําคดีไปให้นายอนันต์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาร่วมกัน ตามมาตรา 29 (3) ประกอบมาตรา 26

แต่เมื่อปรากฏว่านายอนันต์ไปราชการที่ศาลฎีกาจึงไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ดังนั้น ผู้ที่จะทําการแทน นายอนันต์จึงต้องเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นรองลงมาจากนายอนันต์ตามมาตรา 9 วรรคสอง และ มาตรา 28 ส่วนนายสุพจน์เป็นเพียงผู้พิพากษาอาวุโส จะไปทําการนั่งพิจารณาคดีนี้ร่วมกับนายเมฆไม่ได้ เพราะ ผู้พิพากษาอาวุโสจะเป็นผู้ทําการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 9 วรรคท้าย ดังนั้น การที่ นายสุพจน์นําคดีนี้มาพิจารณาและทําคําพิพากษาร่วมกับนายเมฆให้โจทก์ชนะคดี การพิจารณาคดีและคําพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การพิจารณาคดีและคําพิพากษาคดีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement